ใครสนใจอยากเรียนจิตวิทยาต้องรู้ จิตวิทยามีกี่สาขา เปิดที่ไหน ต้องสอบอะไรบ้าง? ไปดูกัน!!

เสพข่าวมากไป เสพสื่อมากไป กระทบจิตใจมากอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะวัยรุ่นยุคนี้ ที่เรื่องราวมากมายประดังประเดเข้ามา การตั้งคำถามถึงวิธีการรับมือและแก้ไขภาวะจิตใจที่แปรปรวนนี้จะทำได้อย่างไร ไม่เพียงเท่านั้นความสนใจอยากเรียนด้านจิตวิทยาก็มีมากขึ้นด้วย 

ก่อนอื่นมารู้จักประโยชน์ของจิตวิทยาก่อน 
 1. ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ เช่น ความต้องการ การแก้ปัญหา การปรับตัว อารมณ์และความรู้สึกในสถานการณ์ต่างๆ

 2. ช่วยในการแก้ปัญหาทางจิต รู้จักวิธีรักษาสุขภาพจิตได้ดี สามารถเอาชนะปมด้อยต่างๆ รู้วิธีแก้ปัญหาและปรับตัวอย่างเหมาะสม ขจัดความขัดแย้งในใจได้และความวิตกกังวลได้

 3. สามารถเข้าใจ ตัดสินใจ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลในสังคม

 4. ช่วยในการวางแผนการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม

จิตวิทยามีหลายสาขานะ รู้ยัง?

จิตวิทยาคลินิก
เมื่อเราเรียนจบสาขานี้มา สามารถเข้าไปทำงานในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนในตำแหน่ง นักจิตวิทยาคลินิก ทำหน้าที่ให้การปรึกษา พูดคุย ช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีสุขภาพจิตไม่ปกติไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีความเครียดจากการทำงาน ผู้ที่มีความวิตกกังวล ไปจนถึงการบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ให้ทุกคนคืนสู่สภาพจิตใจที่สมบูรณ์และปรับตัวเข้ากับสังคมได้ 

หนทางในการเป็นนักจิตวิทยาคลินิกก็อาจจะต้องฝ่าฟันกันพอสมควร ถึงแม้จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย รวมถึงเรียนครบจบ 4 ปีแล้ว แต่ก็ต้องอบรมหลักสูตรฝึกอบรมเฉพาะทาง (Internship) จัดโดยคณะกรรมการวิชาชีพสาขาจิตวิทยาคลินิก อย่างน้อยเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อสอบใบประกอบโรคศิลปะด้วย
 

จิตวิทยาชุมชน
หากจิตวิทยาคลินิกคือ Healer จิตวิทยาชุมชนก็ถือเป็น Protector เพราะเน้นไปที่การป้องกันและส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละบุคคลให้ดีขึ้น และเมื่อทุกคนเข้มแข็ง ก็จะนำพาให้ชุมชนแข็งแกร่งตามไปด้วย โอ้โห ภารกิจของคนเรียนสาขานี้ยิ่งใหญ่จริง ๆ

เมื่อจบสาขานี้ เพื่อนๆ สามารถเป็นนักวิชาการที่ศึกษาและพัฒนาชุมชนได้นะ บางคนก็เน้นทำงานฝึกอบรม หรือเป็นนักสังคมสงเคราะห์ตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งบริษัทเอกชน และหน่วยงานรัฐบาลเปิดรับอยู่เยอะเลย เรียนไปไม่ตกงานชัวร์ๆ

จิตวิทยาพัฒนาการ
เพื่อนๆ ที่สนใจเกี่ยวกับผู้คนในแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก วัยรุ่น หรือผู้สูงอายุ ขอแนะนำสาขานี้เลยจ้ะ เพราะศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่จนถึงวัยชรา โดยมีแนวคิดที่ช่วยส่งเสริมให้วัยนั้น ๆ มีความสุขและมีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ที่สุด แต่ในประเทศไทยจะเน้นไปที่จิตวิทยาวัยรุ่นกันซะเยอะ สามารถต่อยอดเป็นคุณครูแนะแนวได้อยู่นะ หรือจะทำงานคู่กับคุณหมอเด็กและวัยรุ่นก็ได้เช่นกัน

จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
สาขานี้เป็นอีกสาขาที่มองเห็นภาพอาชีพหลังเรียนจบได้ค่อนข้างชัดเจน โดยศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของเหล่าพนักงานในองค์การทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงปัจจัยทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน การสรรหา การคัดเลือก การพัฒนาและการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ เอาเป็นว่าจบสาขานี้ไป เท่ากับก้าวขาเข้าสู่แผนกทรัพยากรบุคคล หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า HR ไปแล้วข้างหนึ่ง

สี่สาขาที่เรายกตัวอย่างมานั้น เป็นสาขาของภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งในมหาวิทยาลัยอื่นๆ อาจมีสาขามากกว่านี้ เช่น สาขาจิตวิทยาการแนะแนว สาขาจิตวิทยาสังคม สาขาจิตวิทยาการทดลอง เป็นต้น

นักจิตวิทยา VS จิตแพทย์
เราเชื่อว่าเพื่อนๆ จำนวนไม่น้อยต้องสับสนอลหม่านกับสองอาชีพที่ดูคล้าย แต่ก็มีความต่างนี้แน่นอน ขอสรุปง่ายๆ เลยว่า จิตแพทย์นั้นเริ่มต้นจากการเรียนคณะแพทยศาสตร์เป็นเวลา 6 ปี จากนั้นจึงมีการต่อวิชาเฉพาะทางด้านจิตเวชอีกหลายปี เมื่อจบมาเป็นจิตแพทย์แล้ว ก็จะเน้นที่การรักษาทางกายภาพสมองของผู้ป่วย โดยสามารถสั่งจ่ายยาเพื่อช่วยปรับสมดุลเคมีในสมองของผู้ป่วยได้ โดยจิตแพทย์จะพูดคุยกับผู้ป่วยและทำการรักษาแต่ละครั้งอาจใช้เวลาไม่นานมากนัก 

ในขณะที่ นักจิตวิทยา นั้นใช้เวลาในรั้วมหาวิทยาลัยจำนวน 4 ปีในระดับปริญญาตรี ซึ่งวุฒิที่ได้มีทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ ขึ้นอยู่กับคณะและมหาวิทยาลัยที่จบมา โดยนักจิตวิทยานั้นจะมีการบำบัดผู้ป่วยด้วยการพูดคุยและให้คำปรึกษา (โดยไม่สามารถจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้) ในระยะเวลาแต่ละครั้งยาวนานกว่าจิตแพทย์มาก ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการพูดคุยกันมากกว่า 1 ชั่วโมงเลยทีเดียว 

อยากเรียนจิตวิทยา มีคณะอะไร ที่ไหนบ้าง
มีเยอะแยะมากมายเลือกกันได้เต็มที่เลยล่ะ แต่คณะที่ใช้ชื่อว่า “จิตวิทยา” เต็มๆ เลยมีอยู่ที่เดียวในประเทศไทยคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ วิชาจิตวิทยาจะเป็นสาขาหนึ่งในคณะต่างๆ เช่น
คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยนเรศวร
คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ต้องสอบวิชาอะไร ถึงจะเป็นคนที่ใช่สำหรับคณะจิตวิทยา
นี่แหละ ความยากมันอยู่ตรงนี้ ! เพราะจิตวิทยาแต่ละที่มีเกณฑ์การรับที่แตกต่างกัน เช่น คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ใช้ GAT และวิชาสามัญ 4 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย (09) สังคมศึกษา (19) ภาษาอังกฤษ (29) และคณิตศาสตร์ โดยเลือกสอบ คณิตศาสตร์ 1 (39) หรือ คณิตศาสตร์ 2 (89) ก็ได้ ในขณะที่คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ไม่สนวิชาสามัญเลย เน้นที่ GAT และเลือกสอบได้ทั้ง PAT 1 หรือ PAT 2 (หรือจะยื่นคะแนน GAT อย่างเดียวก็ได้) แต่เกรดเฉลี่ยต้องอย่างน้อย 3.00 (แม่เจ้า เยอะไปไหนเนี่ย) ดังนั้น เพื่อนๆ ต้องเลือกสอบให้ดีๆ จะได้เข้ามหาวิทยาลัยที่ชอบ หรือไปเรียนสะดวกได้ยังไงล่ะ

นอกจากการสอบแล้ว เพื่อนๆ ต้องสำรวจตัวเองด้วยนะ ว่าตัวเองมีนิสัยชอบอยู่กับคนอื่นๆ ชอบให้คำปรึกษาพูดคุยกับคนที่มีปัญหา หรือสังเกตพฤติกรรมของคนรอบตัวหรือเปล่า เพราะลักษณะนิสัยนี้อาจช่วยให้เพื่อนๆ สนุกกับการเรียนจิตวิทยาที่เน้นเรื่องการวิเคราะห์และเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ เพราะลำพังความเก่งในวิชาวิทยาศาสตร์นั้นไม่สามารถบอกได้ว่าเพื่อนๆ เหมาะกับคณะนี้ได้เต็ม 100% อย่าลืมสำรวจตัวเองให้ดีๆ ก่อนเลือกเรียนคณะนี้นะ จะบอกให้

เรื่อง: ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Program Director THE STUDY TIMES


อ้างอิง: https://smarterlifebypsychology.com/2019/11/12/จิตวิทยามีประโยชน์จริง/
https://blog.startdee.com/อยากเรียนจิตวิทยา