นำร่องแล้ว 29 โรงเรียน โดยเอกชนร่วมพัฒนาเครื่องมือเอไออัจฉริยะ Data and Impact Assessment, Monitoring and Development System วิเคราะห์การเรียนรู้ของนักเรียน ผ่านข้อสอบตามตัวชี้วัด และแบ่งเบาภาระงานของครู

การนำปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาอยู่ในระบบการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้น จะช่วยสร้างการเรียนรู้ของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น โดยการใช้ข้อมูลมาสร้างข้อสอบที่เหมาะสมกับศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน ( Personalized Test ) เพื่อประเมินการเรียนรู้ให้ตรงจุดที่สุด

ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการด้านการศึกษา อย่าง ดร.ดาริกา ลัทธิพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ถ้าห้องเรียนมี AI Video Analytics แบบ Real-Time จะเป็นอย่างไร ?

เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์โรคระบาด เทคโนโลยี AI สามารถวัดอุณหภูมิร่างกายได้ตลอดเวลา ใครมีไข้สูงจะแจ้งเตือนทันที  หรือระหว่างการสอน AI จะช่วยตรวจดูและแจ้งเตือนว่า มีเด็กคนไหนถอดหรือสวมหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้องมั้ย อาจารย์ก็สามารถเข้าไปกำชับเรื่องสวมหน้ากากได้

AI Video Analytics ยังเข้ามาทดแทนระบบเช็กชื่อเข้าเรียนแบบเดิมที่ทั้งเสียเวลา และตัดปัญหาเช็กชื่อแทนเพื่อน รวมทั้งมีระบบวิเคราะห์ Attention & Learning Engagement จากพฤติกรรมของผู้เรียน เช่น ในห้องมีใครหลับมั้ย มีเด็กก้มหน้าเล่นเกม เล่นมือถืออยู่กี่คน ซึ่งไม่ใช่การจับผิดนะคะ แต่เป็นการบอกให้อาจารย์รู้ว่าสอนแบบนี้ไม่เวิร์ก ตอนนี้เด็กเริ่มเบื่อแล้ว ควรปรับวิธีการสอนหรือหากิจกรรมอื่นมาแทรก เพื่อยกระดับผลลัพธ์ของการเรียนรู้ และสร้างแรงจูงใจให้ผู้สอนมีการปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

การเรียนออนไลน์ก็เช่นกัน อีกไม่นานเราคงได้เห็นการใช้ AI มาวิเคราะห์พฤติกรรมมากขึ้น เช่น สอนอยู่มีเด็กหายไปมั้ย Active อยู่กี่คน หรืออาจจะถึงขั้นตรวจจับทิศทางการมองเพื่อดูว่าเด็กกำลังโฟกัสกับเนื้อหาอยู่หรือไม่

นอกจากนั้น AI สามารถเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า ในแต่ละคลาสมีรูปแบบหรือกิจกรรมการเรียนรู้แบบไหนที่เวิร์ก ทำให้เด็กสนใจและมีส่วนร่วม หรือแต่ละวิชาเด็กฟังอาจารย์ได้นานแค่ไหน เพื่อปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงออกแบบหลักสูตร และการประเมินผลให้เหมาะสม

สุดท้ายเมื่อมีข้อมูลมากพอเราสามารถต่อยอดการจัดการเรียนการสอนให้ Personalized มากขึ้นได้อีกด้วย โดย AI จะวิเคราะห์ว่าแต่ละคนชอบอะไร สนใจเรื่องไหน ทำให้มุ่งไปสู่แหล่งข้อมูลต่างๆ หรือคนที่สนใจคล้ายกัน เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ได้ นำไปสู่แนวคิด Peer to Peer Learning หรือเพื่อนสอนเพื่อนได้อีก

อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยี AI Video Analytics มาใช้ยังมีความท้าทายอีกมาก นอกจากเรื่องเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่จะต้องแรงและเสถียร ยังมีเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกตั้งคำถามถึงความปลอดภัย อย่างการจดจำใบหน้า หรือเก็บข้อมูลส่วนตัวมีขอบเขตแค่ไหน เป็นต้น แต่ยังไงเราก็เชื่อว่าในอนาคตจะได้เห็นการประยุกต์ใช้ AI Video Analytics ในแวดวงการศึกษามากขึ้นแน่นอน และตัวเทคโนโลยีก็คงถูกพัฒนาขึ้นไปอีก จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามการเกิดขึ้นของนวัตกรรมหรือแนวทางใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

เรื่อง: ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Program Director THE STUDY TIMES


อ้างอิง: https://www.beartai.com/news/promotion-news/338295
https://www.facebook.com/100050671411071/posts/381974183501626/?d=n