Saturday, 24 May 2025
Southern

สงขลา - รัฐบาลสั่ง ผลักดันนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อขับเคลื่อนยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตประชาชน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ จ.สงขลา จะมีทั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และ เมืองต้นแบบที่ 4

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ วีดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม และมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุม เพื่อหารือขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและกรอบแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ และกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายดำเนินงานขับเคลื่อนพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 10 พื้นที่ชายแดน ได้แก่ ตาก สระแก้ว มุกดาหาร ตราด สงขลา หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส และ เชียงราย เมื่อปี 2558 เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน จัดระเบียบความมั่นคงชายแดน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้ประโยชน์จากการค้าชายแดนและการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

สำหรับ ศอ.บต. ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครอบคลุม 5 จังหวัด ประกอบด้วย สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสนั้น ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ เพื่อสนองนโยบายในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล ขับเคลื่อนให้ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เป็นเมืองการค้าชายแดน อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเมืองท่องเที่ยวและพึ่งพาตนเอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเมืองเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน และ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

โดยหนึ่งในวาระพิจารณาในที่ประชุมวันนี้ มีการหารืออนุญาตให้เทศบาลตำบลสำนักขาม ใช้ที่ราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ดำเนินการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลากับด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2 และขอเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ราชพัสดุของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วย

สำหรับความคืบหน้าของเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ หรือ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ซึ่งเป็นหนึ่งความหวังของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการแก้ปัญหาการว่างงานของคนในพื้นที่และเป็นแหล่งงานของผู้จบการศึกษาใหม่ นั้น แหล่งข่าวได้เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ระหว่างทำข้อตกลงให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ในการทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการที่จะให้ เมืองต้นแบบที่ 4 มี อุตสาหกรรมชนิดไหนบ้าง และไม่ต้องการอุตสาหกรรมชนิดไหน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนเพราะอุตสาหกรรมที่เอกชนผู้ลงทุนเสนอมาในแผนเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมติ ครม. มีความชัดเจนว่า อุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในเมืองต้นแบบที่ 4 หรือ เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จะไม่มีอุตสาหกรรมหนักที่เป็น ปิโตรเคมี  ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือน ก็จะได้คำตอบจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะได้ผลสรุปที่ชัดเจนเพื่อการเดินหน้าในการขับเลื่อนโครงการดังกล่าว ตามมติ ครม. และการสั่งการของ นายกรัฐมนตรี

แต่อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวได้กล่าวว่า ในส่วนของผู้ลงทุนเองก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชุมชนทั้ง 3 ตำบลมาโดยตลอด รวมทั้งได้ทำโครงการต่างสร้างสังคมในชุมชนตามที่คนในชุมชนต้องการ และในส่วนของผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ( มหาชน ) ก็ได้มีการลงนาม เอ็มโอยู กับกลุ่มทุนในต่างประเทศ และในประเทศ ที่สนใจในการที่จะมาลงทุนในอุตสาหกรรม พลังงาน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

ยะลา – บุคลากรทางการแพทย์ ทหาร ตำรวจ สื่อมวลชน ในพื้นที่อำเภอเบตง ฉีดวัคซีนซิโนแวคกันโควิด-19 เข็มแรก

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.64 ที่โรงพยาบาลเบตง อ.เบตง จ.ยะลา  แพทย์หญิงปัทมพันธ์  อนันตาพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตง  นายวงศ์วิทย์  อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง นำสื่อมวลชนใน อ.เบตง จ.ยะลา รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร นำโดย พ.ต.อ.เอกชัย พราหมณกุล ผกก.สภ.เบตงและ  ร.อ.เอกชัย ชัยสาลี ผู้บังคับกองร้อย ป้องกันชายแดนที่ 4  นำกำลังพลชุดเฝ้าตรวจชายแดน เข้ารับวัคซีนซิโนแวคป้องกันโควิด-19 โดยมีเจ้าหน้าที่และประชาชน กลุ่มเสี่ยง มารับการฉีดวัคซีนในวันนี้จำนวน 240 คน

ด้านนายเอก ยังอภัย ณ สงขลา กล่าวว่า ขอให้พี่น้องประชาชนขาวอำเภอเบตงทุกท่านได้ร่วมมือร่วมใจกันมา ลงทะเบียนจองวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ต่อต้านกับไวรัสโควิด -19 และเมื่อวัคซีนมาถึงก็จะได้รับการฉีดวัคซีนกันทุกคน โดยขณะนี้ได้เปิดจองในกลุ่มของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ซึ่งสามารถลงทะเบียนจองได้แล้วถึง 31 พฤษภาคม 2564 ตาม 4 ช่องทางที่สะดวก ประกอบด้วย รพ. ที่ท่านมีประวัติการรักษา อสม. รพ.สต. ใกล้บ้าน ไลน์หมอพร้อม และ QR-code ชาวยะลาจองวัคซีนโควิด-19 ทั้งนี้เพื่อตนเองครอบครัวและคนที่เรารักตลอดจนเพื่อจังหวัดยะลาของเรา

ขณะที่ ในส่วนประชาชนทั่วไปที่กลุ่มอายุ 18-59 ปี และสนใจในการฉีดวัคซีนนั้น ขณะนี้ทางจังหวัดยะลาก็ได้เปิดจองแล้วเช่นกัน ซึ่งสามารถจองได้ 3 ช่องทาง คือ รพ. รพ.สต. คลินิกหมอครอบครัวใกล้บ้าน อสม. และ QR-code ชาวยะลาจองวัคซีนโควิด-19  ยกเว้นไลน์หมอพร้อม  นอกจากนี้ รพ.ทุกแห่งในจังหวัดยะลา ก็ยังได้เปิดสายด่วนจองวัคซีนโควิด- 19 แล้วก็สามารถโทรจองและสอบถามรายละเอียดได้ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ อสม. จิตอาสา ที่จะลงพื้นที่ไปเคาะประตูบ้านของพี่น้องประชาชนและบริการจองถึงหน้าบ้าน

อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ดีที่สุดคือการฉีดเข้าร่างกายเร็วที่สุด โควิด -19 จะป่วยหรือตาย วัคซีนจะช่วยลดการป่วยและรอดจากการเสียชีวิต จองก่อนได้สิทธิ์ฉีดก่อน ถึงเวลาช่วยชาติ เป้าหมายคือ ยะลาต้องชนะ คนยะลาต้องปลอดเชื้อไวรัสโควิด-19


ภาพ/ข่าว  ธานินทร์  โพธิทัพพะ / ปื๊ด เบตง

ชุมพร - ระบาดหนัก 3 อำเภอ โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease)

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.30 น. นายสัตวแพทย์พิชัย โพธิ์กระสังข์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ กล่าวว่า ท่านธงชัย หนังสือ ปศุสัตว์จังหวัดชุมพร ได้สั่งการให้ผมได้นำคณะลงพื้นที่บ้านนาย สุรชัย อินทจักร 52 หมู่ที่ 5 ตำบล ตากแดด อำเภอ เมืองชุมพร พร้อมกับ นายพรชัย อินทร์คำดี หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชุมพร สัตวแพทย์หญิงกิจตาภรณ์ แสงจันทร์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ อิสมาแอล ยุมาดีน นายสัตวแพทย์ประจำหน่วย HHU จังหวัดชุมพร พบ มีวัวจำนวน 8 ตัว มีแม่วัว 1 ตัว มีอาการขาบวมและเป็นตุ่มตามผิวหนังจึงทำการรักษาตามอาการ และทำการเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจหาโรค โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) โดยจะได้รับผลการตรวจอีก 3-5 วัน ในวันนี้ได้ทำการฉีดพ้นยาฆ่าแมลงในเบื้องต้น

จากรณีดังกล่าว นายสัตวแพทย์พิชัย โพธิ์กระสังข์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ กล่าวว่า ในการแพร่ระบาดของโรค“ลัมปี สกิน” โค กระบือ เป็นการแพร่ระบาดของไวรัส“ลัมปี สกิน” ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่มี แมลงดูดเลือด ได้แก่ยุง แมลงวัน เหลือบ และเห็บ เป็นพาหะนำโรค และไม่มีการแพร่ระบาดมาสู่คน   ได้ประชาสัมพันธ์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่เลี้ยงโค-ควาย ให้เฝ้าระวัง ซึ่งจะมีผล เช่น น้ำนมลดลง(สูงสุดถึง 40%) ส่วนโคขุนจะมีอัตราการเจริญเติบโตต่อวันลดลง(ในระยะเวลา 1-2 เดือนช่วงที่เป็นโรค) และหากโคมีอายุน้อยถ้ามีอาการรุนแรงก็คือการเสียชีวิตในที่สุด และในพื้นที่ทีมีการแพร่ระบาดใน 3 พื้นที่ของจังหวัดชุมพร เช่น อำเภอท่าแซะ อำเภอปะทิว และ อำเภอเมือง ทั้งนี้ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชุมพรก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบหมดแล้วเป็นการหยุดยังในการแพร่ระบาดของโรค  ไม่ให้การแพร่ระบาดเป็นวงกว่างจนไปถึง 14 จังหวัดภาคใต้ได้

กรณีทำการรักษาโคที่ป่วยก็มักหายช้า ดังนั้น จึงขอให้ผู้เลี้ยงใช้มาตรการป้องกันที่แนะนำดังนี้คือ 1.ให้งดนำเข้าวัวหรือควายจากต่างพื้นที่เข้าฟาร์มโดยเด็ดขาด  2. ให้กำจัดแมลงดูดเลือดในฟาร์มโดยการพ่นสารกำจัดแมลงที่คอกและตัวสัตว์ เช่น สารไซเปอร์เมทริน สารแอลฟ่าไซเพอร์เมทริน สารเดลตาเมทริน หรือ สารอะมิทราซ ซึ่งค่อนข้างมีความปลอดภัยและไม่ตกค้างในน้ำนม หรือใช้หลอดไฟไล่แมลง หรือก่อกองไฟ ไล่แมลง 3. เมื่อพบโคที่สงสัยว่าจะเป็นโรค “ลัมปี สกิน” ก็ให้รีบแจ้งหมอหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทราบเพื่อจะได้เข้าไปดูแล เพื่อวินิจฉัยควบคุมโรค   หากพบวัว - ควาย ที่สงสัยว่าจะเป็นโรค “ลัมปี สกิน”  ก็ควรรีบแยกสัตว์ตัวนั้นออกจากฝูง แล้วแจ้งให้ปศุสัตว์เข้ามาควบคุมโรค และผู้เลี้ยงควรกำจัดแมลง

นายพรชัย อินทร์คำดี กล่าวว่า จังหวัดชุมพรพบการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือในพื้นที่ อำเภอท่าแซะ อำเภอปะทิว และอำเภอเมืองชุมพร เกิดขึ้นในสัตว์ชนิดโคเนื้อ อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคในพื้นที่ดังกล่าวเป็นวงกว้างมาขึ้น เนื่องจากโรคนี้มี แมลงดูดเลือด ได้แก่ยุง แมลงวัน เหลือบ และเห็บ เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ และการเคลื่อนย้ายโค กระบือมีชีวิตจากพื้นที่เกิดโรคไปยังพื้นที่อื่น จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไปยังท้องที่จังหวัด อื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค และกระบือเป็นอย่างมาก จังหวัดชุมพร จึงออกประกาศ 1ให้ท้องที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอในจังหวัดชุมพร เป็นเขตโรคระบาด ชนิดโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ในสัตว์ชนิดโค และกระบือ 2 ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์ ภายในเขตโรคระบาดเว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่ประจำเขต ประกาศ ณ วันที่ 21พฤษภาคม 2564 โดย นายสัมฤทธิ์ กองเงินรองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ทางด่านกักกันสัตว์ชุมพร  จึงจัดกำลังลงตรวจสอบ 24 ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) อย่างเต็มกำลังต่อไป


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

ชุมพร - มทบ.44 สร้างฝายน้ำล้นขึ้น ก็เพื่อเป็นการชะลอน้ำ กักเก็บน้ำ แก้ปัญหาน้ำหลาก

ตามโครงการของกองทัพบก สร้างฝายน้ำล้นขึ้น ก็เพื่อเป็นการชะลอน้ำ กักเก็บน้ำ แก้ปัญหาน้ำหลาก เป็นการสร้างความชุ่มชื่นให้กับระบบนิเวศน์ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ ได้มีน้ำใช้ประโยชน์ เมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง หรือประสพช่วงฝนทิ้งช่วง ทำให้ได้มีน้ำใช้สำหรับการเกษตร

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564,10.00 น. พล.ต.เสนีย์ ศรีหิรัญ ผบ.มทบ.44  เป็นประธานในพิธีส่งมอบฝายน้ำล้นให้กับผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ บ.ห้วยแห้ง ม.2 ต.วิสัยใต้ อ.สวี จ.ชุมพร  โดยโครงการสร้างฝายน้ำล้น ดังกล่าว ทาง มทบ.44 ได้ดำเนินการตามโครงการของกองทัพบก คือ "โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สืบสาน พระราชปณิธาน " เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และถวายความจงรักภักดี แด่ พระบาทสมเด็จ พระมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ,สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง ,พระบาทสมเด็จพระวชิระเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชน และส่วนราชการต่าง ๆ มีส่วนร่วม และเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้เกิดภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการอนุรักษ์และฟื้นฟู รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานความพอเพียงให้เกิดความยั่งยืน การดำเนินการ การสร้างฝายน้ำล้นขึ้น ก็เพื่อเป็นการชะลอน้ำ กักเก็บน้ำ แก้ปัญหาน้ำหลาก เป็นการสร้างความชุ่มชื่นให้กับระบบนิเวศน์ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ ได้มีน้ำใช้ประโยชน์ เมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง หรือประสพช่วงฝนทิ้งช่วง ทำให้ได้มีน้ำใช้สำหรับการเกษตร

พล.ต.เสนีย์  ศรีหิรัญ  ผบ.มทบ.44 กล่าว มณฑลทหารบกที่ 44 ได้จัดกำลังพลจิตอาสาของหน่วยร่วมกับ ภาคส่วนต่าง ๆ และประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีต ในพื้นที่บริเวณ บ้านห้วยแห้ง หมู่ที่ 2 ตำบลวิสัยใต้ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เพื่อแสดงออกและถวายความจงรักภักดี แด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิดิ์ พระบรมราชินีนาณ พระบรมราชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระวชิร เกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โดยพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากการกักเก็บน้ำ


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธีรายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร  

ประจวบฯ – คุมเข้ม โรงงานสับปะรดกระป๋อง และตลาดพื้นที่หัวหิน ช่วยสอดส่องแม่ค้าต่างพื้นที่

วันที่ 27 พ.ค. นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และคณะกรรมการโรคติดต่อ ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอหัวหิน ว่าข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 24 พฤษภาคม 64 จากรายงานพบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 1,596 ราย เสียชีวิต จำนวน 4 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดในอำเภอหัวหิน จำนวน 1,169 ราย รองลงมาคือ อ.ปราณบุรี และ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 212 ราย และ 119 ราย ตามลำดับ กำลังรักษาในโรงพยาบาลจำนวน 318 ราย ออกจากโรงพยาบาลแล้ว 1,274 ราย การระบาดในระลอกใหม่นี้สาเหตุเริ่มต้นมาจากสถานบันเทิง มีการกระจายเข้าสู่โรงงานสับปะรดกระป๋อง บริษัท ควอลิตี้ ไพน์แอปเปิล โปรดักส์ จำกัด (QPP) ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน ทำให้ยอดผู้ป่วยของจังหวัดสูงขึ้นอีกครั้ง และต่อเนื่องจนพบผู้ป่วยในโรงงานสับปะรดกระป๋อง บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ต.หนองพลับ อ.หัวหิน

จากการสอบสวนโรคในผู้ป่วยรายที่ 1,288 และ 1,413 ทำงานที่บริษัทโดลไทยแลนด์ จำกัด มีประวัติเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยยืนยันจากโรงงานสับปะรดกระป๋อง QPP ซึ่งมีการระบาดในก่อนหน้านี้ หลังพบผู้ป่วยในโรงงานสับปะรดกระป๋องบริษัท โดลฯ สำนักงานสาธารณสุข จ.ประจวบฯ สาธารณสุขอำเภอหัวหิน และโรงพยาบาลหัวหิน ได้ร่วมกันวางแผนมาตรการควบคุมจำกัดวงจรการแพร่ระบาดโรคทันทีร่วมกับผู้บริหารบริษัท โดลฯ โดยนำผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เป็นแรงงานต่างด้าวหลายร้อยคน มากักตัวในโรงงาน ถึงล่าสุดวันที่ 24 พ.ค.64 พบผู้ป่วยทั้งหมด 56 ราย เป็นชาวไทย 10 ราย เมียนมาร์ 46 ราย

ขณะที่ นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯได้ลงนามในคำสั่งประกาศจังหวัดที่ 5213/2564 ให้จัดตั้งสถานที่กักกันโรคผู้มีความเสี่ยงสูง14 วัน ภายในโรงงานของบริษัท โดลไทยแลนด์ จำกัด โดยโรงงานสามารถเปิดสายการผลิตสับปะรดกระป๋องได้ตามปกติ เนื่องจากการปิดโรงงานจะมีปัญหาการกระจายตัวของแรงงานไปพื้นที่อื่น ทำให้ยากกับการควบคุม สำหรับบริษัทโดลฯจะใช้แนวทางการบริหารจัดการนำผู้ป่วยติดเชื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จากนั้นจะกักตัวแรงงานเมียนมากว่า 1,500 คนตลอด 24 ชั่วโมงไว้ในหอพักของโรงงานฯ เพื่อให้ชุมชนรอบโรงงานปลอดภัย หากสถานที่กักกันไม่เพียงพอประกาศคำสั่งได้กำหนดสถานที่ภายใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตวังไกลกังวล และโรงแรมแอทเดอร่า ต.หินเหล็กไฟ โดยห้ามมีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเด็ดขาด หากฝ่าฝืนมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับบริษัทโดลฯมีพนักงานกว่า 3,900 คน เป็นแรงงานเมียนมากว่า 1,500 คน แรงงานชาวไทย 2,400 คน ล่าสุดมีการติดตามแรงงานเมียนมาจำนวนมากกลับไปกักตัว ส่วนสายการผลิตในโรงงานจะมีแรงงานไทย 1,900 คน ทำงานตามปกติ

นายพรหมพิริยะ กล่าวอีกว่า บริษัทโดลฯมีพื้นที่กว้างขวางกว่าบริษัทอื่น ซึ่งในส่วนนี้จะสามารถควบคุมคนที่จะเข้าสู่ quarantine ในการกักกันไปอยู่ในที่พักเฉพาะ แต่ในขณะเดียวกันในสายการผลิต บริษัทโดลฯจะต้องปรับสายการผลิตลงจากเดิม 2 รอบ เหลือ 1 รอบ คนที่ไปปฏิบัติงานน่าจะ 1,000 คนเศษ อันนี้ก็ดำเนินการตามปกติของโรงงานเขา ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลใกล้ชิดในส่วนนี้อยู่ ส่วนเรื่องตลาดต่างๆ เป็นหัวใจสำคัญที่เราจะต้องดูแลซึ่งจะเห็นได้ว่าแรกๆจะเริ่มเกิดจากตลาดกุ้งสมุทรสาครไปตลาดบางแค ไปตลาดปทุมธานี ไปตลาดบางใหญ่และตลาดอื่น ๆ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่พี่น้องประชาชนจะต้องระมัดระวังดูแลตนเอง ขณะเดียวกันท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯได้แจ้งให้ที่ทำการปกครองจังหวัดดำเนินการดูว่าตลาดเป็นของใคร ใครเป็นเจ้าของบ้าง ซึ่งจะต้องร่วมไม้ร่วมมือในการรักษาความสะอาด และกำหนดควบคุมการดูแลตลาด ต้องมีการทำความสะอาดทุกวันในส่วนนี้ก็ต้องฝากผู้ที่เป็นเจ้าของตลาดให้ช่วยดำเนินการ ส่วนแม่ค้าเร่ แม่ค้าจร ก็ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลว่าใครมาจากไหน มาจากพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ก็ได้ฝากให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ซึ่งได้มีหนังสือแจ้งไปว่าให้ช่วยดูแลในส่วนนี้ด้วย" นายพรหมพิริยะ กล่าว

ด้าน นพ.สุริยะ กล่าวถึงกรณีขยะติดเชื้อจากที่เกิดขึ้นจากสถานที่กักตัว โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลหัวหินว่า เราได้ดำเนินการตามมาตรฐานอยู่ก็คือ ถ้าส่วนที่เป็นโรงพยาบาลสนามที่ราชมงคลฯหรือพื้นที่ต่างๆเรามีบริษัทกำจัดขยะติดเชื้อที่มีคอนแทคอยู่ เราได้ดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะเป็นบริษัทเดียวกันกับที่มาเก็บขยะของของโรงพยาบาลหัวหิน และโรงพยาบาลปราณบุรี จะมาเก็บที่โรงแรมที่ราชมงคลรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันที่ไปเก็บที่โรงแรมหัวหินแกรนด์  และส่วนที่บริษัทโดลเองเพิ่งจะเริ่มต้น ยังไม่ได้คุยเรื่องนี้ แต่ทิศทางก็เป็นทำนองเดียวกัน คือให้บริษัทนำไปกำจัดให้หมด ซึ่งมันมีกระบวนการในการจัดการอยู่แล้ว โดยนำไปกำจัดที่ จ.สมุทรสาครในการทำลายเชื้อ ในอดีตที่ผ่านมาที่เราทำคือ ได้รวมตัวกันหลายโรงพยาบาลในการที่จะเลือกบริษัท จากนั้นก็อยู่ที่บริษัทเองว่าเขามีกระบวนการที่จะจัดการขยะอย่างไร แล้วก็ตกลงสัญญากันว่าจะให้ทำแบบไหน ทาง จ.สมุทรสาครเองก็จะช่วยคุมให้ ณ ตอนนั้น ส่วนตอนนี้เองเกิดการระบาดที่จังหวัดสมุทรสาครยังบอกไม่ได้ว่าระบบมันยังดีเหมือนเดิมหรือเปล่า เพราะว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้ว โดยตามกติกาที่กำหนดไว้ เขาจะมาเก็บสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง โดยจะมาเก็บทุกวันอาทิตย์เท่าที่ทราบ แล้วก็ครั้งหนึ่งไม่เกิน 500 กิโลกรัมด้วยรถขนของเขา แต่ถ้าสมมุติว่าขยะที่มันเกิน เขาก็จะค้างไว้อีกอาทิตย์หนึ่งแล้วค่อยเข้ามา เรื่องเก็บอยู่ที่เขา เพราะว่าเขามีคิวที่จะเก็บจังหวัดอื่นๆ ไล่เรียงตามคิวอยู่เหมือนกัน


ภาพ/ข่าว  นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์ / 4เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

กระบี่ - ปชช.ต่อคิวยาว แห่รับของบริจาค สุดเศร้าของบริจาค มีจำกัด บางคนกลับด้วยความผิดหวัง

วันที่ 28 พ.ค.64 การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบการระบาดของไวรัสโควิด 19 ยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ ออนเซน แอนสปา ถ.นาเตย ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.กระบี่ นายกฤชกร ศิลปวิสุทธิ์ปธ.กรรมการ บ.เอทีโคโค่ ฟรุ๊ต จำกัด พร้อมด้วยนายทวัฒพงษ์ หรือครูเดช บุญชิน ผู้บริหารออนเซนกระบี่ และกลุ่มเพื่อน ๆ ได้ร่วมกันแจกถุงยังชีพ สู้ภัยโควิด-19 ให้แก่ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 235 ชุด โดยมีชาวบ้านที่ทราบข่าวมายืนเข้าแถวรอ ยาว กว่า 200 เมตร โดยมี จนท.มูลนิธิประชาสันติสุขกระบี่ มาช่วยเหลือตรวจวัดอุณภูมิ และแจกเจลล้างมือ ก่อนเข้ารับสิ่งของบริจาคทุกคน

นายทวัฒพงษ์ หรือครูเดช กล่าวว่า ทาง ออนเซนกระบี่ และเพื่อน ๆ ได้ร่วมกันเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด 19 ขึ้น ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่าน โดยทำข้าวกล่องบริจาค ซึ่งก็มีบรรดาผู้ใจบุญ และเพื่อน ๆ ได้ร่วมกันบริจาคสิ่งของและเงิน สมทุน จำนวนหนึ่ง โดยมีการทำขอ้าวกล่องแจกไปทั้งสิ้นกว่า 1 หมื่นกล่อง และในวันนี้ 28 พ.ค.ครบ 1 เดือนเศษ ทางออนเซนและกลุ่มเพื่อน ๆ ได้จัดชุดยังชีพแจก จำนวน 235 ชุด พร้อมกับปิดศูนย์ฯชั่วคราว และขอขอบคุณผู้มีอุปการะคุณทุกท่าน จนทำให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นไปด้วยดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีผู้ที่มารับของบริจาคบางคน ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ แต่มารับของบริจาคด้วย ทาง จนท.ไม่สามารถให้ได้ เนื่องจากของบริจาคมีจำนวนจำกัด จนท.ต้องจัดให้กับผู้ที่ลงทะเบียนไว้ก่อนทำให้ผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ ต้องกลับไปด้วยความผิดหวัง เป็นภาพที่เห็นแล้วสุดที่จะน่าสงสาร


ภาพ/ข่าว  ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน

พังงา – ปิดจ๊อบโรงพยาบาลสนามพังงา หลังส่งผู้ป่วย 2 รายสุดท้ายกลับบ้าน ไม่พบผู้ป่วยใหม่ 12 วันต่อเนื่อง

เมื่อเวลา10.00 น.วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ที่โรงพยาบาลสนามพังงา 1 โรงยิมเนเซี่ยมสนามกีฬา อบจ.พังงา พญ.สิรินาฏ พัฒนพิชัย ผอ.โรงพยาบาลสนามฯพร้อมด้วยทีมแพทย์-พยาบาล ร่วมมอบหน้ากากอนามัย ข้าวสาร ของที่ระลึกและคู่มือการปฏิบัติตัวให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากคลัสเตอร์ อบต.มะรุ่ย 2 รายสุดท้ายของจังหวัดพังงา ที่เข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนาม โดยทั้งคู่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ได้กักตัวอยู่ที่โรงแรมพังงา เบย์ รีสอร์ท และที่ อบต.มะรุ่ย และได้ตรวจพบเชื้อจากการตรวจครั้งที่2 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เป็นผู้ป่วยรายที่ 66-67 ของจังหวัดพังงา ที่ได้รับเชื้อจากที่ทำงานใน อบต.มะรุ่ย ซึ่งทั้ง 2 รายเป็นผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ

 

โดยแพทย์ได้ให้คำแนะนำการปฏิบัติตนในการกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยให้กักตัวเองที่บ้านอีก1อาทิตย์ ต้องสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ หลีกเลี่ยงไปที่ชุมชน หลังจากนั้นก็ออกไปทำงานได้ตามปกติ และหลังจากนี้ประมาณ3-6 เดือนให้เข้ารับวัคซีนได้ ทางผู้ป่วยได้กล่าวขอบคุณทีมแพทย์-พยาบาลที่ให้การดูแลรักษาเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลสนาม ตอนแรกเข้ามานั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่ได้รับการดูแลจนรู้สึกอบอุ่น อาหารก็อร่อยทุกมื้อ โดยทางทีมแพทย์พยาบาลได้มอบดอกกุหลาบแสดงความยินดีกับผู้ป่วย2รายสุดท้ายพร้อมกับเดินไปส่งขึ้นรถและโบกมือส่งเสียงอำลากันอย่างอบอุ่น

พญ.สิรินาฏ พัฒนพิชัย เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสนามพังงา1 ได้รับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการและมีอาการเล็กน้อยมาดูแลรวม 26 ราย เป็นผู้ชาย6ราย ผู้หญิง 20 ราย หลังจากนี้ทางโรงพยาบาลสนามจะปิดดำเนินการ แต่จะเตรียมพร้อมต่อไว้อีก 1 เดือน เผื่อจะมีผู้ป่วยรายใหม่ขึ้นมาอีก สำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามจะต้องกักตัวเองประมาณ5วัน ก่อนจะทำการตรวจหาเชื้ออีกครั้งเพื่อไปปฏิบัติงานตามปกติ ในส่วนของการรับวัคซีนนั้นจะช่วยลดความรุนแรงของโรค จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนที่มีสิทธิฉีดวัคซีนไปลงทะเบียน ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

สำหรับสถานการณ์การเกิดโรคโควิด-19 ของจังหวัดพังงา ประจำวันที่  30 พฤษภาคม 2564  ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 12 วันต่อเนื่อง มีผู้ป่วยสะสมรวม 67 ราย  รักษาตัวหาย จำนวน 66 ราย  เสียชีวิต 1 ราย


ภาพ/ข่าว  อโนทัย งานดี

ชุมพร - ปลัดจังหวัดชุมพร นำทีมลงพื้นที่ตรวจกำกับติดตามงานในหน้าที่เชิงรุก 8 อำเภอ เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาพัฒนาชุมพรให้สามารถหยุดยั้งโควิด-19 โดยฉีดวัคซีนครบไม่น้อยกว่า 70%

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 นายพิทักษ์ พิศสิริวัฒนสุทธิ์ ปลัดจังหวัดชุมพรได้นำทีมที่ทำการปกครองจังหวัดชุมพร, ศอ.ปส.จ.ชพ., ศอ.จอส.พระราชทานจังหวัดชุมพร,หัวหน้าชุด ฉก.โชคชัย,ผบ.ร้อย อส.จ.ชพ.ที่1 รวมทั้งงานนิติการและสอบสวนได้ลงพื้นที่ตรวจกำกับและติดตามงานในหน้าที่ปลัดจังหวัด เพื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปตามนโยบาย ระเบียบ กฎหมาย ข้อสั่งการ ของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครองและ 5 วาระเร่งด่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ในพื้นที่ทั้ง 8 อําเภอ ดังนี้  วันที่ 31 พ.ค. - 4 มิ.ย. 2564 วันที 31 พ.ค.64 พื้นที่ อ.เมืองชุมพร , อ.สวี ,อ.ท่าเเซะ และ อ.ปะทิว วันที่  1 มิ.ย.64 พื้นที่ อ.ทุ่งตะโก และ อ.พะโต๊ะ  วันที่  4 มิ.ย.64 พื้นที่ อ.ละเเม และ อ.หลังสวน

โดยมีนายอำเภอ ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ปกครอง สมาชิก อส. พนักงานราชการ ลูกจ้าง และลูกจ้าง(TST) ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปผลการปฏิบัติราชการของแต่ละอำเภอ ซึ่งได้เน้นย้ำให้อำเภอปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับนโยบายของ รัฐบาล ระเบียบ กฎหมาย หนังสือสั่งการของ กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง และจังหวัดชุมพร อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะ 10 โครงการสำคัญสู่การเป็นกรมการปกครองวีถีใหม่ “10 Flagships to DOPA New Normal 2021" และในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19 ) ขอให้ร่วมมือ บูรณาการ สานพลังร่วมกันของหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ (ชุมพรทีม) เฝ้าระวัง ป้องกันตามประกาศ คำสั่งและมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

โดยใช้กฎกติกาของหมู่บ้าน/ชุมชน การบังคับใช้กฎหมาย, การเร่งรัดลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้อย่างน้อย 70% ของจำนวนประชากร ,การตรวจคัดกรองหมู่บ้าน /ชุมชน( Re X -Ray) ในเชิงรุก,การขับเคลื่อน ศปก.อ./ทม. ,การเฝ้าระวังพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น ตลาด สถานประกอบการ ล้งผลไม้ แคมป์คนงาน ชุมชนแรงงานต่างด้าว และการหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย การลักลอบเล่นการพนัน ปัญหายาเสพติด การแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ เม.ย.64 เป็นต้น และการขับเคลื่อน วาระเร่งด่วน 5 วาระของจังหวัดชุมพร  ทั้งนี้ได้กำชับให้มีความสามัคคี “ปกครองทีม” ช่วยกันขับเคลื่อนพัฒนาและแก้ไขปัญหา การขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด งบเงินกู้ 405.6 ล้านบาท โดยใช้กลไก กบอ. กบต. ชปต.และ อปท.เพื่อให้ชุมพร เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  เป็นประตูสู่ภาคใต้ ทุกครัวเรือนได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบรวมทั้งประชากรแฝง สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก/ท้องถิ่นและสังคมได้ภายใน ก.ย.64 นี้

ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรได้ฝากเน้นย้ำการขับเคลื่อน 5 วาระเร่งด่วนซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ให้นายอำเภอเป็นผู้ขับเคลื่อนโดยใช้กลไกของปกครอง กลไกหมู่บ้านเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและให้วิเคราะห์สถานการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยการร่วมมือบูรณาการสานพลังให้ชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่แก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชน “ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น”


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธีรายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

สตูล - ร.5 พัน.2 จัดกิจกรรมจิตอาสา “มีแล้วแบ่งปัน” ตามนโยบายของ ทบ.

พ.อ.ศุภชัย สงสังข์ ผบ.ร.5 พัน.2 และ คุณณัฐวิภา สงสังข์ ประธานสมาคมแม่บ้าน ทบ. สาขา ร.5 พัน.2 พร้อมด้วยกำลังพลและสมาชิกแม่บ้านจิตอาสาพระราชทานของหน่วย ร่วมกับ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ บ้านวังพะเนียด จัดกิจกรรมจิตอาสา “มีแล้วแบ่งปัน” ตามนโยบายของ ทบ. เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

โดยดำเนินการจัดตั้งรถครัวสนามประกอบอาหารปรุงสุก แจกให้ประชาชนพร้อมทั้งน้ำดื่ม หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้แก่ผู้ที่เดินทางมารอรับ พร้อมนำอาหารปรุกสุก อุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด ถุงยังชีพ และยาเวชภัณฑ์ ไปมอบให้แก่ผู้ป่วยติดเตียงและผู้ด้อยโอกาส ตามโครงการ Army Delivery เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไวรัส Covid-19  เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ณ ม.5 บ้านวังพะเนียด ต.เกตรี อ.เมือง จ.สตูล


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี  ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

สงขลา - ม.อ. พร้อม !! เตรียมพื้นที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ดีเดย์ 7 มิ.ย. นี้ รองรับ 1,000-2,000 คนต่อวัน

ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย นายแพทย์บุญประสิทธิ์ กฤตย์ประชา รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาคุณภาพ รองศาสตราจารย์ นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ นพ.กิตติพงศ์ เรียบร้อย รองคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ.ธารทิพย์ แสงสุวรรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมสุขภาพบุคลากร ตลอดจนทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมถวายสักการะ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ พร้อมเยี่ยมชมและให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ในการทดลองระบบการให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชนกลุ่มสูงอายุ และ 7 กลุ่มเสี่ยงฯ ณ ศูนย์กีฬาและสุขภาพ (โรงยิม) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในสภาวการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การฉีดวัคซีนถือเป็นการป้องกันการติดเชื้อ ควบคู่กับมาตรการการป้องกันอย่างเข้มงวด ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ดำเนินการในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปีนี้ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนามรวม 4 วิทยาเขต ขอบคุณทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทุกคนที่ร่วมกันทำงาน ถือเป็นความเสียสละและความตั้งใจที่จะช่วยเหลือสังคม ตามปณิธานของมหาวิทยาลัย “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง" ขอให้ทุกคนปฎิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เพื่อดูแลประชาชน ตลอดจนบุคลากร และนักศึกษาที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน มหาวิทยาลัยมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่าย เพื่อสนับสนุนภารกิจการฉีดวัคซีนให้ลุล่วงไปด้วยดี

โดยในวันนี้ (4 มิ.ย. 64) เป็นการให้บริการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แก่บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ และเพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป สำหรับกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตเรื้อรัง, โรคระบบประสาท, โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเลือกโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และได้วัน-เวลา รับวัคซีนในระบบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเริ่มทำการฉีดวัคซีนวันแรกในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 โดยผู้มารับวัคซีนควรมา ณ สถานที่ฉีดก่อนเวลา 30 นาที ตามวันและเวลาที่นัดไว้ นำบัตรประชาชนพร้อมใบยินยอมฯ ที่กรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว หากยังไม่มี สามารถดาวน์โหลดใบยินยอมได้ที่ http://medinfo2.psu.ac.th/pr/consent_vaccine.pdf หรือ QR Code และผู้รับวัคซีนควรแต่งกายด้วยชุดที่สะดวกต่อการฉีดวัคซีน (สามารถเปิดแขนได้สะดวก)

สำหรับขั้นตอนการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะมีขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมเอกสาร (ใบยินยอมฯ / ประวัติ),ลงทะเบียน (โดยใช้บัตรประชาชน), วัดไข้ / ความดัน / ชีพจร, ซักประวัติ / บันทึกข้อมูล, รอฉีดวัคซีน, ฉีดวัคซีน, พักสังเกตอาการ 30 นาที, รับบัตรนัดเข็มที่ 2 / เอกสาร

โดยผู้รับวัคซีนที่มีวันและเวลานัดกับทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ให้เดินทางไปรับวัคซีนได้ที่ ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการจัดสถานที่สำหรับจอดรถไว้รองรับผู้ฉีดวัคซีนไว้ ณ ลานจอดรถโรงยิมและริมถนนโดยรอบ หรือประชาชนทั่วไปที่เดินทางมาด้วยรถสาธารณะ มีรถรับ – ส่ง บริเวณศาลารอรถตรงข้ามร้านกาแฟ บินหลาบลู (ด้านข้างโรงพยาบาลสงขลานครินทร์) ซึ่งรถจะวนมารับทุก ๆ 30 นาที นอกจากนี้ ผู้ป่วยรถเข็น พระภิกษุสงฆ์ และผู้พิการ สามารถวนรถเพื่อส่งผู้รับวัคซีนได้ ณ ทางเข้าตรงข้ามโรงช้าง และจอดรถบริเวณลานจอดรถตรงข้ามโรงช้าง ทั้งนี้ ผู้รับวัคซีนควรเตรียมตัวให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ และปฏิบัติตามคำแนะนำก่อน – หลัง การรับวัคซีน

หากผู้รับวัคซีนมีอาการที่สงสัยว่าเป็นอาการแพ้วัคซีน เช่น ผื่น ลมพิษ ปากบวม ตาบวม หน้ามือ เยื่อบุจมูกอักเสบ อาเจียน ปวดท้อง แน่นหน้าอก หรือไม่แน่ใจว่าเป็นอาการข้างเคียงหรือแพ้ สามารถโทรสอบถามได้ที่

- ศูนย์เภสัชสนเทศ โทร.074-451314 เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น.

- ห้องยาผู้ป่วยนอก โทร.074-451303 เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น.

- ห้องยาฉุกเฉิน โทร.074-451309 ตลอด 24 ชั่วโมง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top