Sunday, 19 May 2024
Region

นราธิวาส-รมว.ศึกษาเร่งจัดงบฉุกเฉินกว่า47ล้านฟื้นฟูโรงเรียนน้ำท่วม197โรง ส่วนน้ำท่วมตลาดมูโนะใกล้คลี่คลายกรมชลเร่งนำBIG BAGปิดทางน้ำ

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ นายสุทธิชัย ขรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะ ได้เดินทางมายังโรงเรียนบ้านตือระมิตรภาพที่ 172 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจแก่ครูและบุคลากรทางศึกษา รวมทั้งรับฟังการบรรยายสรุปความเสียหายแก่โรงเรียนที่อยู่ในเขตตรวจราชการที่ 8 ประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะน้ำท่วมขังในช่วงวันที่ 25 ถึง 27 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา โดยสรุป มีโรงเรียนถูกน้ำท่วมขัง จำนวน 197 โรง มีนักเรียน ครูและบุคคลากรทางการศึกษาได้รับความเดือดร้อน จากสภาวะน้ำท่วมบ้านพักอาศัย โดยแยกเป็นนักเรียน จำนวน 14,645 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 342 คน ในเบื้องต้นจากการสำรวจความเสียหายและได้ประเมินเป็นจำนวนเงิน 47,420,787 บาท โดยทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการโอนเงินเพื่อเข้าดำเนินการฟื้นฟูในเบื้องต้น จำนวน 260.000 บาท เพื่อให้สถานศึกษาหรือโรงเรียนที่ได้รับความเสียหาย สามารถเปิดการเรียนการสอนชั่วคราวได้ตามปกติ

ต่อมา น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบถุงยังชีพ แก่ตัวแทนผู้อำนวยการพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 12 เขตทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งตัวแทนผู้อำนวยการพื้นที่มัธยมศึกษาทั้ง 3 เขตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมจำนวน 500 ชุด เพื่อนำไปมอบช่วยเหลืออีกทอดหนึ่งแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะน้ำท่วมในครั้งนี้

นอกจากนี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ยังได้มอบเงิน จำนวน 30,000 บาท แก่นายอับดุลฮาลี มะ ซึ่งเป็นพ่อตาของนายนภดล มะลิลา พนักงานราชการโรงเรียนบ้านนิคมพัฒนา 10 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ที่เสียชีวิตพร้อมครอบครัวและเครือญาติรวม 7 คน ขณะขับรถยนต์บนคอสะพานบ้านโนนสมบูรณ์ ม.5 ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส และคอสะพานได้ทรุดตัวไปพร้อมกับรถยนต์ เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา ซึ่งได้นำ ด.ญ.นูรฟาราเดีย มะลิลา อายุ 5 ปี ติดสอยห้วยตามมาด้วย โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ต่อมา น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายและให้กำลังใจแก่ครูและบุคคลากรทางการศึกษา ที่ทุกคนเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง แต่ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ให้การอบรมเยาวชนให้เติบโตเป็นคนดี ตนจะเร่งพิจารณาดำเนินการในส่วนชองเงินงบประมาณฉุกเฉิน ในการฟื้นฟูโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วมขังโดยเร็วใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้กลับมาเปิดการเรียนการสอนได้เต็มรูปแบบ

ลำพูน - มอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”

จังหวัดลำพูนประกอบพิธีการมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับช่างทอผ้า และผู้ผลิตผ้าทุกกลุ่มทุกเทคนิค ได้นำลายผ้าพระราชทานไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอด เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น 

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565  ที่ห้องประชุมจามเทวี ชั้น 4 ศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน  ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานในพิธีการมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” โดยมี นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน  นางปนัดดา เนาวรัตน์  ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำพูน ปลัดจังหวัดลำพูน นายอำเภอทุกอำเภอ พัฒนาการจังหวัดลำพูน หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการช่างทอผ้า ผู้ผลิตผ้าทุกกลุ่มทุกเทนิคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีฯ

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ถวายความเคารพเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณวรี นารีรัตนราชกัญญา เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายความเคารพเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณวรี นารีรัตนราชกัญญา  จากนั้นประธานกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณวรี นารีรัตนราชกัญญา     ที่ทรงพระราชทานแบบลายผ้า“ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” พระราชทานให้กับกลุ่มทอผ้าจังหวัดลำพูน จำนวน 8 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองลำพูน  อำเภอแม่ทา  อำเภอป่าซาง  อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอลี้  อำเภอเวียงหนองล่อง  อำเภอทุ่งหัวช้าง และ อำเภอบ้านธิ  

จากนั้นประธานในพิธีฯยืนประจำจุดที่กำหนด เจ้าหน้าที่เชิญแบบผ้าลายพระราชทานวางบนพาน  หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดลำพูน ขึ้นรับมอบแบบลายผ้าพระราชทาน เบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณวรี นารีรัตนราชกัญญา ตามลำดับ  นายอำเภอและคู้สมรสหรือบุคคลที่เหมาะสมทั้ง 8 อำเภอ ขึ้นรับแบบลายผ้าพระราชทานเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณวรี นารีรัตนราชกัญญา ตามลำดับ เป็นอันเสร็จพิธี

ลำปาง-มทบ.32​ ให้การต้อนรับ​ จก.กร.ทบ. เยี่ยมชมศูนย์บัญชาการควบคุมไฟป่าส่วนหน้า (อำเภอแม่ทะ)

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 เวลา 09.00 น. พลตรีอโณทัย ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32  และคณะผู้บังคับบัญชา  ให้การต้อนรับ พลโทนิรันดร  ศรีคชา เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก/หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก พร้อมคณะทำงานฯ  และผู้แทน WANG โอกาสเดินทางเยี่ยมชมศูนย์บัญชาการควบคุมไฟป่าส่วนหน้า (อำเภอแม่ทะ) จังหวัดลำปาง พร้อมปิดการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านการดับไฟป่าระหว่างกองทัพบกกับกองทัพบกสหรัฐอเมริกา Bush Fire SMEE 2022 ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3  

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากความห่วงใยของกองทัพบกในสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ที่จำเป็นต้องบูรณาการและทุ่มเททั้งกำลังใจ กำลังกาย ยุทโธปกรณ์ต่างๆ ร่วมกัน ทุกภาคส่วนให้สามารถ ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลดี ลดการเกิดไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี มีอากาศที่สดใส และเพื่อให้ลำปางไร้ปัญหาไฟป่าหมอกควันต่อไป    

"นิพนธ์" ลงพื้นที่ มอบนโยบายเร่งรัดขจัดความยากจนภาคใต้ ชงจังหวัดจับมือ อปท.ปรับแผนดันงบประมาณ กระจายทรัพยากรแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

วันนี้ 3 มีนาคม 2565  ที่โรงแรม บุรีศรีภู คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมพิธีเปิดและมอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่  โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีทุกกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการในสังกัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ ฯลฯ เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย

โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่  เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดทำฐานข้อมูล การบันทึกข้อมูล และการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศในทุกมิติได้อย่างแท้จริง

นายนิพนธ์ กล่าวว่า กับดักความยากจนคือกลไกซ้ำเติมที่ทำให้คนจนลืมตาอ้าปากได้ยาก ภารกิจนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ ทั้งยังต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับเงื่อนเวลา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้เร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผ่านกลไกของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ซึ่งได้บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกระทรวงมหาดไทยก็มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ จนลงไปสู่ท้องที่ท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนและหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน 

ตนมองว่า ในการแก้ไขปัญหาขจัดความยากจน ลดความความเหลื่อมล้ำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น ท้องถิ่นท้องที่เป็นกลไกสำคัญของกระทรวงมหาดไทยที่ต้อง“บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชน หากมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน จังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัด อำเภอโดยนายอำเภอ สามารถประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้ อาจจะใช้โอกาสการประชุมประจำเดือน หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นวาระพิเศษ ในการพูดคุย ปรับแผนพัฒนาท้องถิ่น โดยใช้สัดส่วนงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งสัดส่วนโครงสร้างมาดูแลในส่วนนี้ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายการขจัดปัญหาความยากจน ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้มีการแก้ไขกฎหมายหลายๆ ฉบับ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความคล่องตัวในการดูแลพี่น้องประชาชนมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น

นายนิพนธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ตนในฐานะประธานคณะทำงานช่วยอำนวยการพิจารณากลั่นกรองแผนงานโครงการ อ.ก.บ.ภ. ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน  ทราบดีว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรรลงมานั้น ได้รับการจัดสรรลงมาอย่างจำกัด ทั้งนี้ ในส่วนของงบพื้นที่หรืองบประมาณบริหารจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ งบฟังก์ชันของกระทรวงต่างๆ เชื่อว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถบริหารได้ แต่สิ่งที่อยากเน้นย้ำ คือ การประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนร่วมกันในการดึงงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาใช้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งหากสามารถนำงบประมาณในส่วนนี้มาปรับใช้ได้อย่างทันท่วงที ก็จะเป็นนิมิตหมายใหม่ในการพัฒนาประเทศต่อไป

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ภาคใต้ที่ควรให้ความสำคัญและเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหา หากแต่ควรเกิดขึ้นในทุกๆ ภูมิภาคของประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้แต่อย่างใด และพร้อมดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เน้นย้ำการลงพื้นที่ไปคลุกคลีกับชาวบ้านเรื่องเรื่องสำคัญ เพราะถือเป็นจุดเชื่อมระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับพี่น้องประชาชน หากสามารถรับสารจากพื้นที่ขึ้นมาแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ก็จะเกิดเป็นผลรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว นอกจากจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยแล้วนั้น ยังเป็นการช่วยสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่และสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย 

เทศบาลตำบลศรีบัวบาน ร่วม มูลนิธิพระพุทธสันติธรรม และ มูลนิธิสุทธาธรรมสถาน มอบเตียงสนามกระดาษ จำนวน 50 เตียง เพื่อใช้ในศูนย์ CI

ลำพูน - เทศบาลตำบลศรีบัวบาน ร่วมกับ มูลนิธิพระพุทธสันติธรรม และมูลนิธิสุทธาธรรมสถาน มอบเตียงสนามกระดาษ จำนวน 50 เตียง เพื่อใช้ในศูนย์ CI อำเภอเมืองลำพูน

ที่ศูนย์พักคอยและแยกกักตัวในชุมชน หรือ Community Isolation : CI เทศบาลตำบลศรีบัวบาน ค่ายลูกเสือหริภุญไชย ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน นายจรูญ คำปันนา นายกเทศมนตรีตำบลศรีบัวบาน ร่วมกับ นายอนุกูล ชวพงศ์ ผู้แทนมูลนิธิพระพุทธสันติธรรม และมูลนิธิสุทธาธรรมสถาน ผู้แทน บริษัท SCG จำกัด พร้อมด้วยคณะทำงาน ร่วมมอบเตียงสนามกระดาษ จำนวน 50 เตียง โดยได้รับการประสานงานของเทศบาลตำบลศรีบัวบาน โดยได้รับเกียรติจากนายโยธิน ประสงค์ความดี นายอำเภอเมืองลำพูน เป็นผู้รับมอบ โดยมี สาธารณสุขอำเภอ(สสอ.)เมืองลำพูน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (.อบจ.) ลำพูน เขตอำเภอเมืองลำพูน, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาเทศบาล ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

อบจ. พระนครศรีอยุธยา รับโล่ห์ผ่านการประเมินการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ 3 มีนาคม ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชัน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายทวี เสริมภักดีกุลรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานพิธีเปิดการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและประโยชน์สุขของภูมิภาค กรณีศึกษาภาคกลางตะวันตกและพร้อมมอบโล่รางวัลให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ผ่านการประเมินการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระดับเข้าถึง เป็นองค์กรแห่งประโยชน์สุข โดยโดยนางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการพร้อมรับโล่ห์ผ่านการประเมินการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระดับเข้าถึง เป็นองค์กรแห่งประโยชน์สุข

มทบ.32​ ร่วมฟังเทศน์มหาชาติ บุญตั้งธรรมหลวงเวียงละกอนฯ 

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 น. พลตรีอโณทัย​ ชัยมงคล​ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 มอบหมายให้ พันเอกวิชาญ ศรีภัทรางกูร รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ร่วมพิธีเปิดโครงการตั้งธรรมหลวงเวียงละกอน จังหวัดลำปาง (เทศน์มหาชาติ) ครั้งที่ 18 ประจำปีงบประมาณ 2565 ระหว่างวันที่ 3 - 4 มีนาคม 2565 ณ อาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง ตำบลศาลา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง  ซึ่งจัดโดยจังหวัดลำปาง ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดลำปาง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง  พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามและภูมิปัญญาของบรรพชน ในการทำบุญตั้งธรรมหลวง ให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ภายในงานมีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาประกอบด้วย พิธีอาราธนาพระอุปคุต การแสดงพระธรรมเทศนา “เทศน์มหาชาติ” กิจกรรมส่งเสริมองค์ความรู้ด้านศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตชาวล้านนาที่สำคัญ  

อาชีวศึกษาเชียงใหม่ จัดนิทรรศการวิชาการ "ร้อยหัตถาบูรณาการสานสู่วิชาชีพ"

วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่  จัดงานวันวิชาการ "ร้อยหัตถาบูรณาการสานสู่วิชาชีพ" ครั้งที่ 12โดยมีนายวีระพันธ์  ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดงาน  นายสมบัติ นาหลวง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ กล่าวรายงาน ณ บริเวณหน้าอาคาร 7 วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ มีแขกผู้มีเกียรติ คณะครู และนักเรียน นักศึกษา ร่วมงาน

นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า งานวันวิชาการ "ร้อยหัตถาบูรณาการสานสู่วิชาชีพ"ครั้งที่ 12 เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ได้แสดงผลงาน ถือว่ามีความสำคัญในการส่งเสริมให้มีเจตคติต่ออาชีพ มีความมั่นใจและภาคภูมิใจในตนเองต่อการเรียนสายวิชาชีพ การจัดทำโครงงานการสร้างและพัฒนาผลงานโดยบูรณาการความรู้ทักษะจากศาสตร์ต่าง ๆ ในสาขาวิชาชีพที่ศึกษา ตามกระบวนการด้วยความรับผิดชอบ มีวินัย มีคุณธรรม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ขยัน อดทน สามารถทำงานเป็นรายบุคคลหรือทำงานเป็นกลุ่มให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด อีกทั้งสามารถนำเสนอผลงานด้วยรูปแบบต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานวันวิชาการ "ร้อยหัตถาบูรณาการสานสู่วิชาชีพ" ครั้งที่ 12 จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้สำเร็จการศึกษาที่มีคุณภาพ

นายสมบัติ นาหลวง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ กล่าวว่าการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มุ่งเน้นการปฏิบัติจริง และจัดการเรียนการสอนได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการและวิธีการดำเนินงาน มีทักษะการปฏิบัติงานตามแบบแผนในขอบเขตสำคัญและบริบทต่างๆ ที่ต้องใช้การตัดสินใจ การวางแผน การแก้ไขปัญหาและการปฏิบัติงานในบริบทใหม่ๆ รวมทั้งรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ เจตคติและกิจนิสัยที่เหมาะสมในการทำงาน

‘องคมนตรี’ ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ‘ด้านการผลิตครู - การยกระดับการศึกษา - การพัฒนา Soft Skill’ ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เดินทางตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ พร้อมร่วมรับฟังการสรุปงานด้านการผลิตและพัฒนาครู การยกระดับคุณภาพการศึกษาของทุกคณะ โครงการพัฒนา Soft Skill ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม การพบผู้แทนนักศึกษาร่วมรับฟังเสียงสะท้อนด้านการจัดการเรียนการสอน เพื่อน้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สู่การลงมือปฏิบัติจริง ตลอดพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการดำเนินงานพัฒนาท้องถิ่น และให้ความร่วมมือกับจังหวัดอย่างแน่นเฟ้น เพื่อขับเคลื่อนฟื้นฟูผลกระทบด้านต่างๆ กระตุ้นเศรษฐกิจและการสร้างความสามัคคี

โดยได้บูรณาการเข้ากับการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความพร้อมต่อการพัฒนาตนเองและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยมี นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิชัย ศรีขวัญ นายกสภามหาวิทยาลัย ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคใต้ 4 แห่ง ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับและร่วมประชุม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ณ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

ในโอกาสนี้ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ได้ร่วมรับฟังการบรรยายสรุปในหัวข้อยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและการพัฒนาครูของคณะครุศาสตร์ ในประเด็นการจัดการเรียนการสอน การยกระดับคุณภาพการศึกษา การวิเคราะห์ SWOT ของคณะครุศาสตร์ ซึ่งคณะครุศาสตร์ได้มีการพัฒนาหลักสูตรการเน้นผลิตบัณฑิตครูและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาที่มีความเป็นเลิศในวิชาชีพและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นสู่มาตรฐานสากลสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษาที่มีคุณภาพให้เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาของสังคมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

‘เทศมนตรีหัวหิน’ เจ๋ง!! คว้ารางวัลชนะเลิศดีเด่น ระดับประเทศ ทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ จากนายกตู่

(4 มี..65) ประจวบคีรีขันธ์ - ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร กระทรวงสาธารณสุข, นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองหัวหิน เข้ารับโล่เกียรติคุณ “ชนะเลิศระดับทอง (ดีเด่น)” ทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ” (MERIT MAKER) ระดับประเทศ ประจำปี 2564 จากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้มอบรางวัลและกล่าวแสดงความยินดี พร้อมกันนี้ นายพงษ์ดนัย เทพวนิลกร หัวหน้าหน่วยกู้ภัยสว่างหัวหินธรรมสถาน ได้นำผลงานที่คว้ารางวัลชนะเลิศในครั้งนี้มาร่วมจัดแสดงด้วย

นายอนุทิน กล่าวว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเด็ก 3 เรื่องหลัก คือ ว่ายน้ำเป็น ลอยตัวในน้ำหรือรอให้คนมาช่วยได้ การออกกำลังกายและการเรียน 2 ภาษา โดยเรื่องป้องกันการจมน้ำ สธ.ดำเนินงานตามมติสหประชาชาติร่วมมือกับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ ดำเนินงานป้องกันการจมน้ำและสร้างทีม “ผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ” (MERIT MAKER) ซึ่งช่วยลดการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กได้ร้อยละ 56 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากเดิมเด็กจมน้ำเสียชีวิตปีละ 1,500 คน เหลือ 658 คนในปี 2564 เรามีเครือข่ายฝึกฝนดูแลอบรมเด็กเล็กทั้งในโรงเรียนหรือตามสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งรูปแบบการช่วยเหลือมีแต่ต้องให้ประชาชนใส่ใจกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะถึงเวลาเราคงอ่านศึกษาไม่ทัน จากการครองสติต่างๆ จึงต้องมีการศึกษาการช่วยเหลือหรือเอาตัวรอดจากเหตุฉุกเฉินก่อน ซึ่งจะให้กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต ทำการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนว่าการจะไปเที่ยวที่ไหนหรือไปไหนก็ตาม ให้มองเรื่องความปลอดภัย สอดส่องว่าหากมีเหตุฉุกเฉินจะทำอย่างไร ประตูทางออกฉุกเฉิน อุปกรณ์ช่วยชีวิตอยู่ที่ไหน เช่น ชูชีพในเรือ ค้อนทุบกระจกในรถ หลักเดียวกับการออกจากบ้านที่เราพกยาดมยาหม่อง เจลแอลกอฮอล์ หรือเรื่องของภูมิปัญญาการช่วยการจมน้ำ เช่น หากไม่มีชูชีพก็สามารถหาขวดมาเย็บรวมกันเพื่อทำตัวช่วยลอยน้ำก่อนได้ เป็นต้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top