Friday, 16 May 2025
PoliticsQUIZ

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (30 มกราคม พ.ศ. 2564)

ผู้ติดเชื้อวันนี้ 930

เสียชีวิตสะสม 77

ผู้ติดเชื้อสะสม 17,953

หายป่วยแล้ว 11,505

 

อาเซียน

ประเทศบรูไน 180

ประเทศกัมพูชา 463

ประเทศอินโดนีเซีย 1.05 ล้าน

ประเทศลาว 44

ประเทศมาเลเซีย 2.04 แสน

ประเทศพม่า 1.4 แสน

ประเทศฟิลิปปินส์ 5.21 แสน

ประเทศสิงคโปร์ 59,449

ประเทศเวียดนาม 1,657

'เสี่ยหนู'​ ปลื้ม!! ชื่นชม 'เชียงราย'​ คุมโควิด-19 เริ่ด!! พร้อมยึดเป็นต้นแบบปรับใช้สมุทรสาคร ย้ำ!! บุคลากรทางการแพทย์ตื่นตัวและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป

'เสี่ยหนู' เยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรการแพทย์ พร้อมชื่นชม จ.เชียงราย ควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี ขอยึดเป็นแนวคิดมาดูแลผู้ติดเชื้อ จ.สมุทรสาคร พร้อมให้บุคลากรทางการแพทย์ตื่นตัวอยู่เสมอ เป็นต้นแบบปฏิบัติตัวให้กับคนไทย ไม่จัดเลี้ยงสังสรรค์ สร้างความเชื่อมั่นระบบสาธารณสุข

ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ​ ม.ล.นพ.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โควิด-19 และตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1

พร้อมกันนี้ ยังได้นำวัสดุอุปกรณ์ป้องกันร่างกายส่วนบุคคล ได้แก่ หน้ากากอนามัย 20,000 ชิ้น, หน้ากาก N95 12,000 ชิ้น, ชุด Cover all 400 ชุด, เฟซชิลด์ 1,120 ชิ้น และเจลแอลกอฮอล์ มอบให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด

นายอนุทิน​ กล่าวว่า การลงพื้นที่วันนี้มาให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อคนไทย โดยเฉพาะขอชื่นชมจังหวัดเชียงรายที่สามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในระลอกใหม่ได้เป็นอย่างดี​ จากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนและทุกภาคส่วน มีการตรวจจับผู้ติดเชื้อที่รวดเร็วไม่เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง (ข้อมูล ถึงวันที่ 30 มกราคม 2564)

พบผู้ติดเชื้อ ใน จ.เชียงราย รวม 65 ราย ในจำนวนนี้มีเพียง 1 ราย ติดเชื้อภายในจังหวัดจากการสัมผัส ซึ่งในวันนี้ผู้ติดเชื้อที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลรายสุดท้ายแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว และจะนำระบบการดูแลผู้ติดเชื้อของ จ.เชียงราย มาเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการเตียงดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพื่อลดความแออัดที่ จ.สมุทรสาคร

สำหรับสถานการณ์โควิด 19 ในเขตสุขภาพที่ 1 (ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ภาคเหนือ) สามารถควบคุมได้ดีเช่นกัน จากการเน้นค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง ชุมชนเสี่ยง ประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น พ่อค้าอาหารทะเล, แรงงานต่างด้าว, นักท่องเที่ยว/ญาติ ที่เดินทางมาจาก กทม.และพื้นที่ควบคุมสูงสุด, คนขับรถขนส่งสินค้า, พนักงานสถานบันเทิง และมีสถานกักตัวที่รัฐจัดให้ จำนวน 31 แห่ง รองรับได้ 2,152 เตียง เข้ารับการกักตัวไปแล้วกว่า 1,600 คน

ซึ่งการระบาดในระลอกใหม่มีผู้ติดเชื้อทั้งเขตสุขภาพรวม 100 คน ทั้้งหมดรักษาหายและกลับบ้านได้แล้ว ภาพรวมผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับสีเขียว ขณะนี้เริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

"ขอมอบเป็นนโยบายให้บุคลากรสาธารณสุขทุกคนต้องเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตัวที่ดีให้กับประชาชนไม่จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ เลี่ยงการดื่มสุรา เนื่องจากพบว่าต้นเหตุสำคัญของการแพร่เชื้อโควิด-19 มาจากการรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเกิดการปฏิบัติตามและเฝ้าระวังตนเอง

ส่วนเรื่องวัคซีนที่กำลังมาเป็นการฉีดวัคซีนครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องมีความปลอดภัย มีระบบควบคุมติดตามหลังการฉีด และทุกคนที่สมัครใจต้องได้รับวัคซีน เพื่อเร่งปรับให้ประเทศเข้าสู่สถานการณ์ปกติให้เร็วที่สุด" นายอนุทินกล่าว

ยอดติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 103 ล้านคน ‘หมอธีระ’ ระบุมีโอกาสเห็นการระบาดในไทยที่รุนแรงขึ้นไปอีกได้ หลังจากผ่อนคลายมาตรการ 1 ก.พ.นี้ เชื่อยังมีผู้ติดเชื้อไม่รู้ตัวอีกมากในสังคม แนะออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ไม่กินดื่มในร้าน ซื้อกลับบ้านปลอดภัยกว่า

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Thira Woratanarat’ ระบุว่า

สถานการณ์ทั่วโลก 31 มกราคม 2564 ทะลุ 103 ล้านไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 542,482 คน รวมแล้วตอนนี้ 103,067,009 คน ตายเพิ่มอีก 13,591 คน ยอดตายรวม 2,226,554 คน

อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 169,432 คน รวม 26,631,590 คน ตายเพิ่มอีก 3,471 คน ยอดตายรวม 449,916 คน

อินเดีย ติดเพิ่ม 19,631 คน รวม 10,746,871 คน

บราซิล ติดเพิ่ม 58,462 คน รวม 9,176,975 คน

รัสเซีย ติดเพิ่ม 19,032 คน รวม 3,832,080 คน

สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 23,275 คน รวม 3,796,088 คน

อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลายหมื่นต่อวัน

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

อีก 3 วัน สาธารณรัฐเชคจะแตะหลักล้าน ในขณะที่เนเธอร์แลนด์จะใช้เวลาอีกราว 1 สัปดาห์จะแตะล้านเช่นกัน เป็นประเทศที่ 20 และ 21 ตามลำดับ

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

เมียนมาร์ เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลายร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง เวียดนาม และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่กัมพูชา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

...สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 349 คน ตายเพิ่มอีก 10 คน ตอนนี้ยอดรวม 139,864 คน ตายไป 3,125 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2%...

วิเคราะห์จากข้อมูลที่มี..

ประเทศที่มีการระบาดซ้ำ ยังไม่มีประเทศใดที่สามารถกดให้การระบาดจนหมดไปได้แบบระลอกแรก

ส่วนใหญ่แล้วจะประสบปัญหาเรื่องเศรษฐกิจสังคม และข้อจำกัดด้านทรัพยากรในระบบสุขภาพ ทำให้มาตรการต่างๆ ที่ดำเนินไปจะทำได้อย่างมากคือกดการระบาดให้ต่ำลง

มีทั้งที่กดไม่ได้ แล้วระบาดรุนแรงขึ้นไปอีก

และมีทั้งที่กดลงมาได้ แต่จะมีจำนวนการติดเชื้อต่อวัน เป็นหลักสิบ หลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ

เคยเล่าให้ฟังแล้วว่า ช่วง 4 สัปดาห์แรกของการระบาดซ้ำนั้นเป็นช่วงเวลาทองที่จะกดการระบาด หากทำสำเร็จจะมีโอกาสระบาดซ้ำรุนแรงน้อยกว่าระลอกแรก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลักคือ การดำเนินมาตรการเคร่งครัดเฉียบขาดอย่างทันเวลา, การตรวจคัดกรองโรคอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง, และความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้หากทำได้ทั้งสามองค์ประกอบ ก็จะมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น โดยจากสถิติที่ติดตาม พบว่า มีประเทศที่รุนแรงน้อยกว่าระลอกแรก 12% ในขณะที่ส่วนใหญ่จะระบาดซ้ำรุนแรงกว่าระลอกแรก เฉลี่ยแล้วจะมียอดติดเชื้อสูงสุดต่อวันมากกว่าเดิม 5 เท่า และสู้ยาวนานกว่าเดิมอย่างน้อย 2 เท่า

เคยคาดการณ์เพื่อให้เตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้วว่า หากเราเป็นแบบประเทศส่วนใหญ่ 88% นั้น จะมีโอกาสตรวจพบติดเชื้อต่อวันสูงราว 940 คน และสู้ยาวราว 88 วัน หรือสามเดือน เพื่อหวังให้เราวางแผนการใช้ชีวิต และเตรียมรับมืออย่างมีสติ ภายใต้ข้อมูลความรู้ที่มีไว้เพื่อเป็นไฟส่องนำทาง

พรุ่งนี้จะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ ขอให้ดำรงชีวิตโดยเน้นความปลอดภัยนะครับ เพราะสัจธรรมคือ หากมีการเคลื่อนที่ของประชากรมากขึ้น การแพร่เชื้อรับเชื้อจะมีโอกาสมากขึ้น และด้วยข้อมูลที่ชี้ให้เห็นข้างต้นว่า น่าจะยังไม่จบศึกสงคราม จะมีผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว และใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในสังคมอยู่อีกจำนวนไม่น้อย หากทุกคนป้องกันตัวเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นคนที่จะติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้ออยู่ก็ตาม โอกาสติดเชื้อแพร่เชื้อกันก็จะน้อยลง แต่หากไม่ป้องกัน เพิกเฉย ละเลย รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน ก็จะมีโอกาสเห็นการระบาดที่รุนแรงขึ้นไปอีกได้

หากประเมินตามเงื่อนเวลา จุดตัดสินลักษณะการระบาดในอนาคตของเรา จะอยู่ในช่วงกลางมีนาคมเป็นต้นไป หากสามารถกดการระบาดให้จำนวนติดเชื้อต่อวันเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็จะมีช่วงเวลาที่ระบาดแบบน้อยๆ ไปเรื่อย ๆ ได้นานหน่อย แต่หากขยับหลักขึ้นไปจากสิบเป็นร้อยจากร้อยเป็นพันหรือเป็นหมื่น ระยะเวลาปลอดการระบาดรุนแรงก็จะน้อยลงตามลำดับ ทุกหลักที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ระยะเวลาปลอดการระบาดรุนแรงสั้นลงประมาณ 3 สัปดาห์

ขณะนี้หลายประเทศมักเจอระบาดระลอกสอง แต่มีถึง 13 ประเทศแล้วที่ประสบปัญหาระลอกสามครับ ทั้งนี้ 12 ประเทศ (92.3%) มีการระบาดซ้ำที่หนักกว่าเดิม

หวังว่าพวกเราจะร่วมด้วยช่วยกัน ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด

ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างจากคนอื่นหนึ่งเมตร

ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ไม่กินดื่มในร้านหากไม่จำเป็นจริงๆ ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า

คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ต้องหยุดเรียนหยุดงานแล้วรีบไปตรวจรักษา

สวัสดีวันอาทิตย์ครับ


ที่มา : เพจ Thira Woratanarat

สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจ พบประชาชนส่วนใหญ่กังวลผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด - 19 แต่พร้อมฉีด ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ - ไบโอเอ็นเทค คนรู้จักมากสุด

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “คนไทยกับวัคซีนโควิด-19” จำนวน 1,570 คน สำรวจวันที่ 22 - 29 มกราคม 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนรู้จักวัคซีนไฟเซอร์ - ไบโอเอ็นเท็ค (Pfyzer- BioNTech) มากที่สุด ร้อยละ 64.27 รองลงมาคือ อ๊อกฟอร์ด-แอสตราเซเนกา (Oxford-Astrazeneca) ร้อยละ 52.55

ขณะที่ สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ ผลข้างเคียงของวัคซีน ร้อยละ 82.71 โดยต้องการจะฉีดวัคซีน แต่ขอดูผลข้างเคียงก่อน ร้อยละ 65.99 ทั้งนี้ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะป้องกันโควิด-19 ได้ ร้อยละ 63.88 และหลังจากฉีดวัคซีนแล้วจะยังดูแลสุขภาพตัวเองเหมือนช่วงที่ผ่านมา ร้อยละ 60.83

เรื่องวัคซีนโควิด -19 เป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายตั้งคำถามต่อการบริหารงานของรัฐบาล เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินงานของหลายประเทศต่างมีความคืบหน้าอย่างมากในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด

ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลใจทั้งในเรื่องยี่ห้อวัคซีน ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง กระบวนการจัดซื้อ ความล่าช้า ราคา และความโปร่งใส นับว่าเรื่องวัคซีนโควิด-19 เป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลอย่างยิ่งในการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน

นายวิทวัส รัตนถาวร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า จากผลสำรวจในเรื่อง “คนไทยกับวัคซีนโควิด-19” บ่งชี้ได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทั้งในด้านของประสิทธิภาพ ราคา และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลังจากการได้รับวัคซีน

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ยังส่งผลกระทบโดยตรงกับความเชื่อมั่นของประชาชนในด้านความปลอดภัยของวัคซีน โดยสะท้อนจากผลสำรวจ ที่พบว่า ประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนมากถึงร้อยละ 82.71 ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานทางภาครัฐ ที่ต้องดำเนินการเร่งชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ที่มีความแตกต่างกันของแต่ละบริษัท

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ แต่ประชาชนยังคงต้องมีการดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเชื้อโควิด-19 จะยังไม่ได้หายไปในระยะเวลาอันสั้นนี้ การฉีดวัคซีนมีจุดมุ่งหมายในการป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง

อีกทั้งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อลง ดังนั้นการป้องกันตนเองโดยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวันต่อไป

ร่วมด้วยช่วยกัน! กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถกกระทรวงการคลัง ชงมาตรการภาษี จูงใจผู้ประกอบการลดขยะพลาสติก แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม หลังพบปัจจุบันไทยมีปริมาณขยะพลาสติก 1.6 ล้านตันต่อปี รีไซเคิลได้ 2 แสนตันเท่านั้น

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลัง ถึงมาตรการทางภาษี เพื่อส่งเสริมเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการก่อขยะพลาสติก

อันจะเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้หลายประเทศทั่วโลกต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจ ก่อให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มนโยบายลดการใช้ถุงพลาสติก โดยขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ งดบริการถุงพลาสติก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและประชาชนเป็นอย่างดี ทำให้เห็นว่าแนวโน้นการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาถุงพลาสติกเป็นไปในทิศทางที่ดี

โดย กระทรวงทรัพยากรฯ มีเป้าหมายงดการนำเข้าเศษพลาสติกต่างจากต่างประเทศ ให้ได้ภายในปี 2569 จากเดิมที่ตั้งเป้าจะงดการนำเข้าเศษพลาสติกภายในปี 2570 ซึ่งจะทำให้ขยะพลาสติกในประเทศถูกบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยระหว่างนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมีกระบวนการค่อยๆปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะของประชาชน เพื่อการบริหารจัดการที่ดี เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกอยู่ประมาณ 1.6 ล้านตันต่อปี สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ประมาณ 2 แสนตัน ดังนั้นหากมีการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ ก็จะสามารถนำขยะพลาสติกกลับใช้ใหม่ได้มากกว่า 2 แสนตัน แม้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่มากขึ้น แต่การคัดแยกขยะ ก็จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

ศาล ชี้ ‘ธนาธร’ ไลฟ์วัคซีนโควิดฯ ผิด พ.ร.บ.คอมฯ สั่งปิดกั้น-ลบโพสต์คณะก้าวหน้าที่ทำการเผยแพร่ออกจากระบบแล้ว ส่วนม.112 ตำรวจปอท.อยู่ระหว่างดำเนินคดี ‘พุทธิพงษ์’ ยัน ยึดตามกฎหมายไม่ละเว้น

ภายหลังจากเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 ที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มอบหมายทีมกฎหมายไปแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี( บก.ปอท.) ให้ดำเนินคดีกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิดที่พาดพิงสถาบันหลัก ผ่านเพจคณะก้าวหน้า ฐานความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) พร้อมกับได้ยื่นให้ศาลพิจารณาการกระทำดังกล่าว

ล่าสุด ศาลอาญาได้ตรวจสอบ พบเว็บไซต์ เผยแพร่ข้อความภาพและคลิปวีดีโอ ที่มีเนื้อหาอันเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร ปรากฎใน 3 URLs (รายการ) ประกอบด้วย

1.) https://progressivemovement.in.th/article/3258/

2.) https://youtube/Oq7KPO5TBc8

3.) https://fbwatch/3aiaDnGJTi/

โดยพบว่าเป็นโพสต์ผ่านทางเพจเฟซบุ๊คและยูทูปของคณะก้าวหน้า

ศาลจึงอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) ประกอบมาตรา 20 มีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ การไลฟ์สดของนายธนาธร เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงสั่งระงับการทำให้แพร่หลาย 3 URLs ดังกล่าว

นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า สำหรับคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ได้ยื่นแจ้งความนายธนาธรต่อ บก.ปอท.ไว้นั้น ต้องติดตามความคืบหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท.และที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าอยู่ระหว่างตรวจสอบหลักฐานดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ยืนยัน เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไม่สามารถละเว้นได้

‘สิระ’ งานเข้า!!! ‘ศรีสุวรรณ’ เตรียมบุกกกต.จี้สอบปม ‘สิระ’ แจกข้าวสาร - หน้ากากอนามัยช่วงโควิด เกินมูลค่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า ตามที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พลังประชารัฐ แจกข้าวสาร 1 หมื่นถุงๆ 5 กิโลกรัม ให้ประชาชนชาวหลักสี่ จตุจักร ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 เมื่อเดือนเม.ย. - พ.ค.63

ที่ผ่านมา และช่วงใหม่ 2564 จำนวน 1 หมื่นถุง รวมถึงแจกหน้ากากอนามัย 2 หมื่นชิ้น เพื่อใช้ป้องกันการแพร่ระบาด ในนามกลุ่มเพื่อนสิระ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ เมื่อตรวจสอบราคาขายในตลาดจะตกถุงละ 79 บาท รวมเป็นเงิน 1,580,000 บาท ส่วนหน้ากากอนามัยประมาณ 5 หมื่นบาท รวมเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 1,630,000 บาท

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นสิ่งที่ดีและสามารถทำได้ เมื่อมีเหตุอันสมควรและเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ แต่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการให้ตามประเพณีหรือเมื่อมีเหตุอันสมควร

และการยื่นคัดค้านเกี่ยวกับการบันทึกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป พ.ศ. 2561 กำหนดโดยมีราคาหรือมูลค่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะให้ได้ไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่าจำนวนที่กำหนดกฎหมายกำหนดให้นำไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป ซึ่งการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค.62 กกต.กำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส. แต่ละคนได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

ซึ่งการแจกข้าวและหน้ากากอนามัย ของนายสิระ มูลค่าประมาณ 1,630,000 บาท เกินกว่าที่ กกต.กำหนด จึงอาจเป็นเหตุทำให้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป นายสิระอาจไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกเพราะแค่ค่าสมัครอย่างเดียวก็ 1 หมื่นบาทแล้ว ดังนั้นทางสมาคมฯจะนำพยานหลักฐานมอบให้กกต.

เพื่อสั่งการให้เลขาธิการ กกต.ตรวจสอบและบันทึกไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป ตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนด ในวันจันทร์ที่ 1 ก.พ.นี้เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน กกต. ศูนย์ราชการ

‘ธนกร’ โต้ ‘เพื่อไทย’ ชี้เศรษฐกิจทรุดเพราะโควิด-19 ลั่น ‘บิ๊กตู่’ ทำดีที่สุดแล้ว แจงยิบทุกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจได้แน่ แต่ต้องใช้เวลา แขวะอย่าจ้องแต่จะค้านไปทุกเรื่อง ย้อนเอาเวลาไปประสานรอยร้าวในพรรคก่อนดีกว่า

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่าทำเศรษฐกิจทรุดต่อไปอีก 10 ปีว่า พรรคเพื่อไทยเอาเวลาไปประสานรอยร้าวภายในพรรคก่อนจะดีกว่า เพราะหลังจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ลาออกไป ทำให้เกิดรอยร้ายในพรรคถึงขนาดนายพิชัย นริพทะพันธ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่เผาผีกับนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย

ตนบอกหลายครั้งแล้วว่าเศรษฐกิจแย่เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกระทบทั่วโลก พล.อ.ประยุทธ์ทำดีที่สุดแล้ว มาตรการเยียวยาต่างๆ ก็สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ แต่ต้องใช้เวลา ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยหลายอย่างรัฐบาลก็ดูอยู่ ไม่ว่าจะเป็น

1.) เร่งปรับโครงสร้างภาษีให้เก็บเงินคนรวยมากขึ้นเพื่อมาช่วยคนจน ในภาวะที่คนจนกำลังลำบากนี้ รัฐบาลได้ศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินการจำเป็นต้องอาศัยช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม หลักความเป็นธรรมทางภาษี พิจารณาข้อดีข้อเสีย ขีดความสามารถในแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง และความยั่งยืนทางการคลังประกอบกัน

2.) เร่งหารายได้เข้ารัฐเพิ่มจากทางอื่นนอกจากภาษีนั้น ปัจจุบันมีการดำเนินการหารายได้เข้ารัฐเพิ่มเติมนอกจากรายได้จากภาษีอย่างต่อเนื่อง เพราะคำนึงถึงการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

3.) เร่งปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มราชการ หรือ Digitalization รวมถึงการใช้ระบบบล็อกเชน ซึ่งจะแก้ปัญหาได้หลายอย่าง รวมถึงปัญหาระบบศุลกากรที่นักลงทุนต่างประเทศร้องเรียน ปัญหาการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว รัฐบาลมีการปรับปรุงและพัฒนาระบบต่าง ๆ เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร ท่าเรือต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

4.) เร่งส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มเอกชน เร่งส่งเสริมการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีสมัยใหม่ เร่งสร้างยูนิคอร์น ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศ และ เร่งเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างประเทศ สำหรับการเก็บภาษี Platform ต่างประเทศนั้น รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ จากต่างประเทศ (e-Service)) (ร่างพระราชบัญญัติฯ) โดยรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ ในวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ความคืบหน้าล่าสุดร่างพระราชบัญญัติฯ อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมาย

และ 5.) ลดภาษีที่จะช่วยเหลือประชาชนได้ เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล รัฐบาลได้ช่วยเหลือโดยการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในอัตราต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว ทั้งที่มีการปล่อยความร้อนสูงกว่าน้ำมันเบนซิน แต่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า เพื่อสนับสนุนราคาน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ การจำหน่ายน้ำมันดีเซลในท้องตลาดมีการนำไบโอดีเซลมาผสมในสัดส่วนต่าง ๆ ซึ่งน้ำมันไบโอดีเซลไม่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลที่ผสมไบโอดีเซลในท้องตลาดถูกลงด้วย

นายธนกร กล่าวด้วยว่า ส่วนนโยบายด้านการเงิน การช่วยเหลือ SMEs ในภาพรวม รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือ SMEs มาโดยตลอด โดยการให้แหล่งเงินต้นทุนต่ำควบคู่ไปกับการกำหนดกลไก ลดความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนและมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งกลไกดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือ SMEs ในต่างประเทศ โดย SMEs ที่ได้รับความช่วยเหลือควรเป็น SMEs ที่มีศักยภาพทางธุรกิจ (Commercial Viability) แต่ประสบปัญหาจาก โควิด-19 เท่านั้น

ทั้งนี้ หากภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือ SMEs ทั้งระบบ ซึ่งรวมถึง SMEs ไม่มีศักยภาพหรือ อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้าง ก็อาจส่งผลให้ภาครัฐมีภาระทางการคลังในอนาคตที่มากเกินความจำเป็น และ SMEs กลุ่มที่ไม่มีศักยภาพก็ยังคงจะเสียเวลาและต้นทุนไปกับการดำเนินธุรกิจที่ไม่สามารถอยู่รอดได้แทนการใช้เวลาและทรัพยากรไปกับการปรับเปลี่ยนและเริ่มธุรกิจใหม่ที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ดังนั้น การเพิ่มวงเงินค้ำประกันหนี้เสียที่พรรคเพื่อไทยเสนอโดยไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกการดำเนินการนั้น อาจไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับ SMEs และประเทศโดยรวม เนื่องจากอาจเป็นเพียงการเพิ่มวงเงินของรัฐบาลเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่สถาบันการเงิน เช่น หากเสนอให้รัฐบาลเพิ่มวงเงินค้ำประกันหนี้เสียอีกร้อยละ 10 ของวงเงินรวมของโครงการ 900,000 ล้านบาท จะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกถึง 90,000 ล้านบาท เป็นต้น แต่ข้อเสนอนั้นไม่มีกลไกที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพเพื่อยืนยันว่า SMEs กลุ่มเป้าหมายแต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากโควิด-19 จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากเงินงบประมาณที่รัฐบาลใช้เพิ่ม ดังนั้น ในการเสนอให้มีการเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันอาจจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน เพื่อให้แนวทางที่เสนอมาก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศและ SMEs อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณากลไกเพิ่มเติมในการให้ความช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างตรงจุด (Targeted) คุ้มค่ากับเงินงบประมาณ (Cost Effective) และเห็นผลได้จริง (Effective) และเหมาะสมกับสถานะหรือบริบทของ SMEs นอกจากนี้ สำหรับประเด็นเงิน 900,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan และ พ.ร.ก. BSF นั้น หากพรรคเพื่อไทยได้ศึกษา พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับแล้ว จะพบว่า เงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช้สินทรัพย์ของ ธปท. แต่เป็นเพดานวงเงินที่ ธปท. สามารถใช้อำนาจในฐานะธนาคารกลางเพื่อจัดสรรสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบการเงิน และนำไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. 2 ฉบับเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อเสนออะไรที่เป็นประโยชน์รัฐบาลก็รับฟัง แต่ไม่ใช่ค้านไปทุกเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ทำอะไรก็ผิดไปหมด ตนคิดว่าไม่ถูกต้อง และอยากบอกว่าพล.ประยุทธ์อยู่แล้วประเทศดีขึ้น ไม่ได้อยู่แบบถ่วงความเจริญปล่อยให้มีการทุจริตคอรัปชันเหมือนรัฐบาลในอดีต

‘ยุทธพงศ์’ อัด ‘บิ๊กตู่’ บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว ทำราคา ‘พริก - ลอตเตอรี่’ พุ่งสูง เปิดสถิติข้อมูลพาณิชย์พบพริกแพงขึ้น 4 เท่า ซัดรัฐบาลไม่ใส่ใจหามาตรการช่วยดูแลราคาสินค้าให้ประชาชน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 ม.ค. ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่าวันนี้รัฐบาลล้มเหลวทุกเรื่อง วันนี้มีประเด็นพริกเม็ดละ 1 บาท ตอนเช้าตนไปซื้อพริกจินดาที่ตลาด ราคา 12 บาท ได้ 22 เม็ด และพริกขี้หนูที่คนส่วนใหญ่ใช้บริโภคเป็นหลัก ตนตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ช่วงเดือน ม.ค.63 ราคาพริกจินดาเฉลี่ยอยู่ที่ขีดละ 4.50 บาท ช่วงเวลาเดียวกันปี 64 ราคาเฉลี่ยขีดละ 17 บาท

ซึ่งราคาพริกสูงขึ้นถึง 4 เท่า คำถามคือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม บริหารประเทศอย่างไรคนเดือดร้อนไปหมด นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ บอกมีผลงานประทับใจ ตนคิดว่าประทับใจมากจริงๆราคาพริกยังขึ้นมาถึง 4 เท่า แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ใส่ใจ ไม่มีมาตรการอะไรที่มาช่วยดูแลราคาสินค้าให้ประชาชน

นายยุทธพงศ์ ยังกล่าวถึงปัญหาการค้าสลากเกินราคาของผู้ค้ารายย่อย ว่า เกิดจากต้นทางคือยี่ปั๊วที่ขายสลากให้ผู้ค้ารายย่อยในราคา 90 - 93 บาท ทั้งที่ต้นทุนจริงอยู่ที่ 70 บาท ทำให้ผู้ค้ารายย่อยต้องมาขายเอากำไรในราคา 100 บาท พอขายเกินราคาก็ถูกตำรวจล่อซื้อจับปรับ 2,000 บาท ถ้าไม่อยากถูกจับต้องจ่ายเงินค่าส่วยลอตเตอรี่ งวดละ 300 บาท ซึ่งคนขายลอตเตอรี่ไม่ได้ขายพื้นที่เดียว ไม่ว่าจะเดินไปขายในเขตพื้นที่ไหนก็ต้องจ่ายส่วยให้แต่ละพื้นที่

โดยเฉพาะงวดวันที่ 1 ก.พ.นี้ มีเลขดัง คือ 36 และ 63 เลขชุด 5 ใบ ขาย 750 บาท ถามว่าแต่ละงวดกองสลากพิมพ์ลอตเตอรี่ทั้งหมด 1 ล้านเล่ม เล่มละ 100 ใบ ต้นทุนจริงๆ 70 บาท ยี่ปั๊วเอามาขาย 90 บาท งวดหนึ่งจะมีผลประโยชน์ประมาณ 2,000 ล้านบาท

"ผู้ค้ารายย่อยไปรอกดตู้ธนาคารกรุงไทย แต่กดไม่ได้เพราะไม่มีให้กด ทำให้ต้องมาซื้อลอตเตอรี่หน้ากองสลากไปขาย นายกฯบอกว่าจะดูแลกองสลากให้ เคยมอบหมายให้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ดูแลกองสลาก ก็ไม่เห็นแก้ปัญหาได้ วันนี้ทุกคนเดือดร้อน คนขายลอตเตอรี่ไม่มีใครอยากถูกจับหรือต้องจ่ายส่วย เพราะคนเหล่านี้ยากจนลำบากอยู่แล้ว แต่ทุกคนจำเป็นต้องขาย ถามว่านายกฯในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ปัญหาลอตเตอรี่ยังแก้ไม่ได้แล้วจะไปแก้อะไรได้ จึงขอเรียกร้องให้นายกฯแก้ปัญหาเรื่องนี้" นายยุทธพงศ์ กล่าว

ขนส่งฯ เปิดแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue ให้สิทธิผู้ที่จองคิวล่วงหน้าทำใบขับขี่วันที่ 4 - 31 ม.ค. 64 เลือกจองคิวใหม่ได้ตั้งแต่ 1 ก.พ. - 15 มี.ค. 64 ส่วนผู้ที่จองคิววันที่ 1 ก.พ. 64 เป็นต้นไป เข้ารับบริการตามวันและเวลาที่นัดหมายตามปกติ

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กระทรวงศึกษาธิการ และกรุงเทพมหานคร พิจารณาเปิดการเรียนการสอนของสถานศึกษา โดยให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงให้กรมการขนส่งทางบกผ่อนคลายการควบคุมการให้บริการด้านใบอนุญาตขับรถ เพื่อให้สำนักงานขนส่งทุกแห่งกลับมาเปิดให้บริการด้านใบอนุญาตขับรถและผู้ประจำรถได้ตามปกติทุกกระบวนงาน ทั้งการขอรับใบอนุญาตขับรถใหม่ และการต่ออายุใบอนุญาตที่ต้องเข้าอบรมที่สำนักงานขนส่ง แต่จำกัดจำนวนผู้เข้ารับบริการในแต่ละช่วงเวลาตามมาตรการ Social Distancing โดยได้กำหนดช่วงเวลาการให้บริการ ดังนี้

1.) ผู้ที่จองคิวล่วงหน้า ไว้ในวันที่ 4 - 31 มกราคม 2564 ให้สิทธิเข้าจองคิวใหม่ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น. ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2564 ทางแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th ของกรมการขนส่งทางบก

2.) ผู้ที่จองคิวล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ให้เข้ารับบริการตามวันและเวลาที่นัดหมายได้ตามปกติ

3.) ผู้ที่ไม่เคยเข้าระบบจองคิวมาก่อน ให้เริ่มจองคิวตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th ของกรมการขนส่งทางบก

ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของโรค ในการต่ออายุใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล ใบอนุญาตขับรถขนส่ง และใบอนุญาตขับรถสาธารณะ แนะนำให้อบรมผ่านระบบ e-Learning ได้ทาง www.dlt-elearning.com และนำผลการอบรมติดต่อสำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเข้าอบรมที่สำนักงานขนส่ง

พร้อมกันนี้ ให้สำนักงานขนส่งทุกแห่งติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเป็นไปตามประกาศจังหวัดหรือประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนการดำเนินการของโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง ให้เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบกมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถสิ้นอายุเกิน 1 ปี หรือ 3 ปี ในช่วงที่กรมการขนส่งทางบกงดการอบรม ประกอบด้วย 1.) ใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ สิ้นอายุเกิน 1 ปี ระหว่างวันที่ 4 มกราคม - 31 มีนาคม 2564 ได้รับการยกเว้นการทดสอบข้อเขียน 2.) ใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ สิ้นอายุเกิน 3 ปี ระหว่างวันที่ 4 มกราคม - 31 มีนาคม 2564 ได้รับการยกเว้นการทดสอบขับรถ 3.) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก สิ้นอายุเกิน 3 ปี ระหว่างวันที่ 4 มกราคม - 31 มีนาคม 2564 ได้รับการยกเว้นการทดสอบขับรถ

ส่วนเอกสารประกอบคำขอรับหรือต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือผู้ประจำรถ เช่น ใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ คำขอที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ผลผ่านการอบรมจากระบบ e-Learning ที่สิ้นอายุ อนุโลมให้ใช้ประกอบการดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 เช่นเดียวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ผ่อนผันการบังคับใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง กับผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่สิ้นอายุแล้ว ยังสามารถใช้แสดงตนได้ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป การดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขหลักเกณฑ์ใหม่ โดยจะต้องใช้ใบรับรองแพทย์เป็นเอกสารประกอบในการดำเนินการ

ทั้งการขอรับใบอนุญาตขับรถใหม่ การเปลี่ยนชนิด และการต่ออายุ โดยใบรับรองแพทย์ ต้องเป็นไปตามแบบมาตรฐานของแพทยสภา มีสองส่วนคือ ส่วนที่ผู้ขอรับรองสุขภาพตนเองและส่วนของแพทย์ตรวจรับรอง ซึ่งจะต้องแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นไม่มีโรคประจำตัวหรือสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถตามที่แพทยสภากำหนด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top