Friday, 16 May 2025
PoliticsQUIZ

รมว.แรงงาน เล็งช่วยผู้ประกันตน "ประกันสังคมมาตรา 33" ประมาณ 11 ล้านคน จ่ายเยียวยา 4 พันบาท 1 เดือน เร่งถกคลังสรุปตัวเลขและงบประมาณ ชงเข้าครม.สัปดาห์หน้า

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานหารือสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว เกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือ ผู้ประกันตน ในระบบ ประกันสังคมมาตรา 33 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ได้รับเงินเยียวยา 3,500 หรือ 4,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยเบื้องต้นจะใช้เงื่อนไขเหมือนกับโครงการเราชนะ ว่า ต้องเป็นแรงงานสัญชาติไทย และมีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท

ทั้งนี้ สศช.จะนำรายละเอียดข้อมูลกลับไปหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อสรุปตัวเลขและงบประมาณ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุป หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ เบื้องต้นมีจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ประมาณ 11 ล้านคน คิดเป็นงบประมาณที่ต้องใช้กว่า 40,000 ล้านบาท

‘ทิพานัน’ ชี้ หาก "ก้าวไกล" ยื่นญัตติแก้ไขยกเลิก มาตรา 112 เข้าข่ายโทษยุบพรรค เหตุถูกชี้นำ ย้อน ‘ปิยบุตร’ เผด็จการทางความคิด ไล่ไทม์ไลน์ ตอนเป็น ส.ส. ก็ไม่ยกเลิกมาตรา 112 ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ภายหลังจากที่พรรคก้าวไกลมีมติดำเนินการเพื่อแก้ไขยกเลิกกฎหมายอาญา ม.112 และมี ส.ส.พรรคก้าวไกลบางคนออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและจะไม่ออกเสียงลงมติดังกล่าว

และหลังจากนั้น นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาฯพรรคอนาคตใหม่ และเลขาธิการคณะก้าวหน้าก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวหัวข้อว่า [ ส.ส. ต้องเป็น “ผู้แทน” ของราษฎร มิใช่ “พนักงานของรัฐ” ] พร้อมแฮชแท็ก “ยกเลิก112” นั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 29 แห่ง พรป. พรรคการเมือง 2560 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”

ซึ่งหากพรรคก้าวไกลและสมาชิกยังคงดำเนินการยื่นญัตติและลงมติเพื่อแก้ไขยกเลิกกฎหมายดังกล่าวแล้ว ก็จะเป็นการชัดเจน มีผลให้นายปิยบุตรต้องโทษตามมาตรา 108 คือ จำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 100,00-200,00 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

"นอกจากนี้ สำหรับพรรคก้าวไกลหากยังคงเดินหน้าดำเนินการยื่นญัตติและลงมติเพื่อแก้ไขยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ก็อาจจะเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 28 แห่ง พรป. พรรคการเมือง 2560 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม” ทำให้ต้องได้รับโทษยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92(3) และคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 92 วรรคท้าย" น.ส. ทิพานัน กล่าว

น.ส. ทิพานัน กล่าว จากการแสดงออกของนายปิยบุตรเองนั้น แสดงให้เห็นลักษณะของการเผด็จการทางความคิด และเป็นที่น่าเสียดายที่นายปิยบุตรไม่สามารถควบคุมโทสจริตของตนเองได้จนมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการพยายาม ควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้พรรคการเมือง และ ส.ส. ดำเนินการแก้ไขยกเลิกกฎหมายอาญา ม.112 ในสภา

น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า นอกจากนี้การชี้นิ้วประณาม ส.ส. ว่า “..ส.ส. ก็เป็นเพียงคนที่หายใจไปวันๆ เพื่อตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ เงินทอง อำนาจ ของตนเท่านั้น หาก ส.ส. ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ..” ซึ่งในที่นี้หมายถึงการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแฮชแท็กในโพสต์ดังกล่าวแล้ว ก็ขอให้นายปิยบุตรย้อนดูการกระทำของตัวเองว่าที่ผ่านมาในขณะที่เป็น ส.ส. นั้น นายปิยบุตรก็เข้าข่ายเป็น ส.ส. ที่หายใจไปวันๆ เพื่อตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ เงินทอง อำนาจ ของตนเอง และคิดว่า ส.ส. เป็น “อาชีพ” ตามที่ว่าคนอื่นหรือไม่ อยากให้ศึกษาสุภาษิตไทยที่ว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” ด้วย

หากไล่ตามไทม์ไลน์ นายปิยบุตรก็กลับไปกลับมาในประเด็นดังกล่าวและหยุดเคลื่อนไหวแก้ไขยกเลิกกฎหมายเพื่อดำรงความเป็น ส.ส. ของตัวเองไว้ ดังนี้

เมื่อ 17 ม.ค. 2555 นายปิยบุตรในฐานะนักวิชาการได้เข้าร่วมลงชื่อในคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 และเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด

เมื่อ 27 มี.ค. 2561 เมื่อเข้ามาเป็นนักการเมือง ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่เพื่อสมัครเป็น ส.ส. ก็ประกาศหยุดเคลื่อนไหว และเคยให้สัมภาษณ์ ว่า “ขอยืนยันว่าจะไม่นำเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาเกี่ยวข้องกับพรรค และไม่นำไปผลักดันในพรรค”

เมื่อ 8 เม.ย. 2561 ยืนยันอีกครั้งโดยนายธนาธร ว่า หากเป็นนายกฯ ไม่คิดแก้ ม.112 แม้นายปิยบุตรเคยเคลื่อนไหวก็ตาม

ต่อมาเมื่อนายปิยบุตร ไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งแล้ว นายปิยบุตรก็กลับมาเคลื่อนไหวการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอีกและยังพยายามชี้นำ ครอบงำ ส.ส. ให้ผลักดันแก้ไขกฎหมายดังกล่าวด้วย โดยเมื่อ 14 ม.ค. 64 ได้ออกมาโพสต์ข้อความยอมรับเองว่า “กลางเดือนมีนาคม 2561 สมัยผมเริ่มก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ผมยอม “กลืนเลือด” ตัดสินใจขัดแย้งกับมโนธรรมสำนึกของผมอย่างสิ้นเชิงมาแล้ว ด้วยการประกาศว่า ไม่มีนโยบายแก้ 112 ทั้งนี้ ก็เพื่อขจัดอุปสรรคขัดขวาง ให้พรรคก่อตั้งได้ ให้พรรคได้ไปต่อ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้ เพื่อฝ่าแรงเสียดทานจนไปสู่การลงเลือกตั้งได้ และด้วยหวังว่าเขาจะปรานีให้พรรคอนาคตใหม่ได้ต่อสู้ทางการเมือง”

คำพูดตามไทม์ไลน์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่านายปิยบุตร ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่หายใจไปวันๆ เพื่อตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ เงินทอง อำนาจ ด้วยหรือไม่ น.ส. ทิพานัน กล่าว

นครราชสีมา พบผู้สูงอายุ 610 ราย ถูกเรียกเบี้ยยังชีพคืนย้อนหลัง ด้านผู้ว่านครราชสีมา เร่งหาทางช่วยเหลือด้านกฎหมายและการเยียวยาด่วน

ก่อนหน้านี้มีข่าวพบผู้สูงอายุจำนวน 13 ราย ในพื้นที่ ต.จอหอ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ถูกเทศบาลตำบลจอหอ เรียกเก็บเงินค่าเบี้ยยังชีพคืนย้อนหลัง ตามคำสั่งของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง หลังจากตรวจพบว่าผู้สูงอายุเหล่านั้นได้รับเงินบำนาญพิเศษมาก่อนแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

ทางเทศบาลตำบลจอหอ จึงได้มีหนังสือเรียกเก็บเงินคืนย้อนหลัง ทั้งเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย โดยให้ผ่อนชำระรายเดือน ใน 3 เดือนแรก ในอัตราเงินที่สูง บางรายเดือนละ 18,000 บาท

หลังจากนั้นก็ให้ผ่อนชำระในอัตราลดหย่อนลงมาจนครบ ซึ่งมีผู้สูงอายุ จำนวน 9 รายที่ยอมจ่ายเงินคืน ขณะที่อีก 4 ราย ปฏิเสธการจ่ายคืน เนื่องจากเป็นเงินจำนวนมากไม่มีเงินมาจ่ายคืน ทำให้ทางเทศบาลตำบลจอหอ ต้องส่งเรื่องฟ้องไปยังศาลแขวงนครราชสีมา เพื่อพิจารณาคดีทางแพ่ง

ต่อมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งการให้สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด และสำนักงานคลังจังหวัด ทำการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุที่ถูกเรียกเงินเบี้ยยังชีพคืนในพื้นที่ทั้ง 32 อำเภอ เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือเยียวยา และช่วยเหลือทางด้านกฎหมายอย่างเร่งด่วน

ล่าสุด วันนี้ (29 มกราคม 2564) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เผยว่า ทำการสำรวจในระบบในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาทั้ง 32 อำเภอ มีผู้สูงอายุที่ถูกเรียกเก็บเบี้ยยังชีพคืนทั้งหมดจำนวน 610 ราย ซึ่งตามระเบียบการเรียกเงินคืนนั้นก็มีแนวทางในการผ่อนปรน คือ ผ่อนจ่ายเป็นรายเดือน โดยหากผ่อนจ่าย หมดไม่เกิน 1 ปี จะไม่เสียดอกเบี้ย หากเกิน 1 ปี จะเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อย 7.5 ต่อปี

ส่วนผู้สูงอายุจำนวน 610 ราย ที่ต้องถูกเรียกเบี้ยผู้สูงอายุคืนย้อนหลังนั้น ขณะนี้กำลังตรวจสอบมียอดจำนวนเงินเท่าไร มีจ่ายคืนแล้วจำนวนกี่ราย

อย่างไรก็ตามทางหน่วยงานภาครัฐเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนและพร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

สำหรับประเด็นการเรียกคืนเบี้ยยังชีพย้อนหลังนี้ ทางกรมบัญชีกลางได้ให้ท้องถิ่นทุกพื้นที่ สำรวจตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2562 ก่อนจะพบผู้สูงได้รับเงินทับซ้อน จึงมีการเรียกเก็บคืน บางรายก็ยอมผ่อนจ่ายตามระเบียบ แต่ก็มีบางรายไม่มีจ่ายคืน จึงทำให้ทางท้องถิ่นจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกเก็บเงินคืน

ผลการศึกษาของกลุ่มคลังสมองชั้นนำออสเตรเลีย ชี้ ไทยติด Top 10 รับมือโควิดดี บราซิลจัดการแย่สุดในโลก นิวซีแลนด์ครองอันดับ 1

สถาบันโลวีแห่งซิดนีย์ ใช้ 6 เกณฑ์ เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันแล้ว จำนวนผู้เสียชีวิต และการตรวจหาเชื้อ เพื่อดูว่าประเทศต่างๆ จัดการกับการระบาดของโควิดได้ดีแค่ไหน พบว่า นิวซีแลนด์รับมือได้ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก คุมการระบาดได้ด้วยการปิดประเทศ ล็อกดาวน์เข้มงวดแต่เนิ่นๆ พร้อมรุกตรวจหาเชื้อเช่นเดียวกับเวียดนาม ไต้หวัน ไทย ไซปรัส รวันดา ไอซ์แลนด์ ออสเตรเลีย ลัตเวีย และศรีลังกาที่ติดกลุ่ม Top 10 เช่นกัน

ส่วนประเทศที่รับมือได้แย่สุดอยู่ในอันดับ 98 ได้แก่ บราซิล ตามมาติดๆ ด้วยเม็กซิโก โคลอมเบีย อิหร่าน และสหรัฐ

ทั้งนี้ การเผยแพร่รายงานฉบับดังกล่าว ได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้รวมอยู่ในการจัดอันดับ เนื่องจากสถาบันโลวีให้เหตุผลว่า เพราะข้อมูลสำคัญๆ หลายด้านไม่ได้รับการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ


ที่มา . https://interactives.lowyinstitute.org/features/covid-performance/#rankings

ศาลอาญาธนบุรีพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ‘ไอซ์ หีบเหล็ก’ กักขังหน่วงเหนี่ยว ฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน และอำพรางศพ พร้อมให้ชดใช้ค่าสินไหม 2.9 ล้าน ให้มารดากับบุตรผู้เสียชีวิต

ศาลอาญาธนบุรีอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.585/2563 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดโจทก์ และน.ส.ศึกษาพร ไชยเชษฐ มารดากับบุตร เป็นโจทก์ร่วมที่ 1,2 ฟ้องนายอภิชัย องค์วิศิษฐ์ หรือ "ไอซ์ หีบเหล็ก" เป็นจำเลย ฐานฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ,ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย, ร่วมกันลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพ เพื่อปิดบังการตายและข้อหาร่วมกันทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพ

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 4-6 ส.ค.2562 จำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขัง น.ส.วรินทร์ธรณ์ ไชยเชษฐ หรือกุ๊กกิ๊ก ผู้ตายไว้ในห้องพักของจำเลย แล้วฆ่าผู้ตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายจนถึงแก่ความตาย ต่อมาจำเลยกับพวกร่วมกันขุดหลุมและฝังศพผู้ตายเพื่อปิดบังการตาย หรือเหตุแห่งการตายและเป็นการทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพ โดยไม่มีเหตุอันสมควร

เหตุเกิดที่แขวงและเขตบางแค กทม. ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199,289,310,366/3 ริบของกลาง ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.201/2563, อ.1140/2563 และ ย.1831/2563 ของศาลนี้

จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพ เพื่อปิดบังการตายและข้อหาร่วมกันทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ แต่รับว่าทำร้ายร่างกายผู้ตายเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยบันดาลโทสะ และรับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ โดยศาลอ่านคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังเรือนจำพิเศษธนบุรี

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยแล้ว เห็นว่า ความผิดฐานร่วมกันลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพ เพื่อปิดบังการตายและข้อหาร่วมกันทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพ กฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว

ส่วนความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั้น เห็นว่าแม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยทำร้ายน.ส.วรินทร์ธรณ์หรือกุ๊กกิ๊ก และนำผู้ตายใส่ในกล่องเหล็กทึบจนเสียชีวิต แต่มีพยานที่รู้เห็นและเบิกความยืนยันพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุที่จำเลยทำร้ายผู้ตาย โดยใช้ท่อนเหล็กทุบศีรษะและลำตัว ทั้งใส่กุญแจมือที่ข้อมือและข้อเท้าและบังคับให้น.ส.วรินทร์ธรณ์หรือกุ๊กกิ๊กเข้าไปนอนในกล่องเหล็กทึบ

และพฤติการณ์หลังจากที่ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่รับว่าทำร้ายผู้ตายและบังคับผู้ตายให้นอนในกล่องเหล็กทึบ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าทำร้ายน.ส.วรินทร์ธรณ์ หรือ กุ๊กกิ๊ก โดยบันดาลโทสะเพราะผู้ตายต้องการเลิกความสัมพันธ์กับจำเลยและกลับไปหาสามีผู้ตายนั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม

จึงไม่ใช่การกระทำโดยบันดาลโทสะ ที่จำเลยอ้างว่าจับผู้ตายเหวี่ยงไปถูกชั้นวางของทำให้ดัมเบลที่วางอยู่บนชั้นตกใส่ผู้ตายก็ไม่น่าจะมีน้ำหนักกระแทกรุนแรงถึงขนาดทำให้เสียชีวิต ประกอบกับรายงานการตรวจศพที่แพทย์สรุปสาเหตุการตายว่า มีเลือดออกในช่องอกขวาได้รับบาดเจ็บรุนแรง ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่น่าเชื่อถือ

พฤติการณ์ที่จำเลยรีบนำศพน.ส.วรินทร์ธรณ์หรือกุ๊กกิ๊กไปลักลอบฝัง แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้ว่าตนกระทำผิดร้ายแรงและประสงค์จะปกปิดความผิดดังกล่าว พยานแวดล้อมกรณีของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีน้ำหนักเพียงพอที่ชี้ชัดว่า จำเลยใช้ท่อนเหล็กทุบตีทำร้ายผู้ตายจนได้รับบาดเจ็บรุนแรง มีเลือดออกในช่องอกแล้วบังคับให้น.ส.วรินทร์ธรณ์หรือกุ๊กกิ๊ก ลงไปนอนขดตัวภายในกล่องเหล็กทึบ ขนาดความกว้างประมาณ 40 ซม. ยาวประมาณ 70 ซม. สูงประมาณ 45 ซม. และปิดฝากล่องคล้องด้วยกุญแจไว้

โดยน.ส.วรินทร์ธรณ์ หรือ กุ๊กกิ๊ก อยู่ในสภาพนอนขดตัวงอเข่าชิดอก จนไม่สามารถขยับตัวหรือหายใจได้โดยสะดวก ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานขณะอยู่ภายในกล่องเหล็กทึบ แม้ผลการตรวจสภาพศพของแพทย์ไม่สามารถชี้ชัดว่าผู้ตายขาดอากาศหายใจ เนื่องจากศพมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากเสียชีวิตเป็นเวลานานทำให้อวัยวะภายในเสื่อมสลายก็ตาม

การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเล็งเห็นผลว่า น.ส.วรินทร์ธรณ์ หรือ กุ๊กกิ๊ก อาจถึงแก่ความตายได้ ถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสอง และเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขัง น.ส.วรินทร์ธรณ์ หรือ กุ๊กกิ๊ก เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และการที่จำเลยบังคับให้ผู้ตายลงไปนอนขดตัวภายในกล่องเหล็กทึบขนาดเล็กจน น.ส.วรินทร์ธรณ์ หรือ กุ๊กกิ๊กถึงแก่ความตายนั้น ถือได้ว่าเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน หรือ โดยกระทำทารุณโหดร้าย จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตามฟ้อง

ในคดีส่วนแพ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยทรมาน หรือ โดยกระทำทารุณโหดร้ายและฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่เป็นมารดาและบุตรของผู้ตาย

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 366/3 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 289(6), 310 วรรคสอง เมื่อเพิ่มโทษและลดโทษจำเลยตามกฎหมายแล้ว คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.201/2563, อ.1140/2563 และย.1831/2563 ของศาลนี้ ริบของกลาง กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 1,700,000 แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และเป็นเงิน 1,200,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาคดีของไอซ์ หีบเหล็ก จำเลยคดียาเสพติดและฆาตกรรมหญิงสาวต่อเนื่องไป 3 สำนวนแล้ว ประกอบด้วย เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 คดีหมายเลขดำ ย.199/2563 ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน, กัญชา และอาวุธปืน พิพากษาจำคุกเป็นเวลา 10 ปี 5 เดือน ปรับ 564,750 บาท

กับเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 คดีหมายเลขดำ อ.586/2563 ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองและข่มขืน พิพากษาจำคุก 11 ปี 4 เดือน และวันที่ 25 ม.ค.2564 คดีหมายเลขดำที่ ย.941/2563 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 25 ปี ปรับ 750,000 บาท


ที่มา : https://mgronline.com/crime/detail/9640000009093

รมว.แรงงาน แจงยอดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ตามมติ ครม. วันที่ 29 ธันวาคม 2563 หลังผ่านครึ่งทางของการลงทะเบียนออนไลน์ ตั้งแต่ 15 ม.ค. 64 เป็นต้นมา มีแรงงานต่างด้าวยื่นบัญชีรายชื่อแล้ว ทั้งสิ้น 251,755 คน

ละต้องเข้าตรวจคัดกรองโควิด-19 พร้อมจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายใน 16 เม.ย. 64 ย้ำ ผู้ที่ยังไม่ดำเนินการ รีบยื่นบัญชีฯ ก่อนหมดเขต 13 ก.พ. 64

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวมาโดยตลอด ด้วยแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการผลิต เชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะปัจจุบันที่ประเทศไทยต้องพบกับการระบาดระลอกใหม่ ของเชื้อโควิด – 19 จำเป็นต้องผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน ทุกระดับในสังคม เพื่อมีส่วนร่วม มีบทบาท ในการช่วยกันเร่งเยียวยาเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวโดยเร็ว

“กระทรวงแรงงาน ได้แก้ปัญหาด้านแรงงานต่างด้าว โดยบริหารจัดการให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ได้อยู่และทำงานในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาขาดแคลนแรงงานและสามารถตรวจสอบควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งผลตอบรับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ตามมติครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 เป็นไปในทิศทางที่ดีมาก มีผู้ลงทะเบียนประมาณวันละกว่า 15,000 คน

ทั้งนี้ ขอย้ำเตือนแรงงานต่างด้าว และนายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ที่ยังไม่แจ้งบัญชีรายชื่อให้รีบดำเนินการยื่นบัญชีฯ ผ่านระบบออนไลน์ภายในวันที่ 13 ก.พ. 64 หากพ้นกำหนดจะไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้ และไม่สามารถอยู่ในประเทศไทย เพื่อทำงานได้อีกต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ทางอิเล็กทรอนิกส์ https://e-workpermit.doe.go.th ของกรมการจัดหางาน ณ วันที่ 29 มกราคม 2564 มีคนต่างด้าวยื่นบัญชีรายชื่อแล้วรวม 251,755 คน แบ่งเป็นกรณีคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง ซึ่งมีนายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 62,415 ราย เป็นคนต่างด้าว จำนวน 236,223 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 142,932 คน กัมพูชา 67,945 คน และลาว 25,346 คน และกรณีคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง โดยคนต่างด้าวแจ้งข้อมูลด้วยตนเอง จำนวน 17,882 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 9,671 คน กัมพูชา 6,904 คน และลาว 1,307 คน

“ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 เห็นชอบการทบทวนแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 กำหนดให้คนต่างด้าวทั้งที่มีนายจ้าง และยังไม่มีนายจ้างที่ยื่นบัญชีรายชื่อฯแล้ว เข้าตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 กับโรงพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยค่าใช้จ่ายในการตรวจโรคดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ส่วนการตรวจสุขภาพโรคต้องห้าม 6 โรค และประกันสุขภาพ

หากมีเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการพร้อมกับการตรวจคัดกรองโรคโควิด – 19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ให้ไปดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่เกินวันที่ 18 ตุลาคม 2564

พร้อมทั้งดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการตรวจโรคโควิด – 19 เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศ และส่งข้อมูลให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

เมื่อคนต่างด้าวได้รับการรับรองผลว่าไม่เป็นโรคโควิด - 19 และผ่านการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ดังกล่าวแล้ว กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้าง ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวในระบบออนไลน์ https://e-workpermit.doe.go.th ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 และคนต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติและรับบัตรประจำตัว

คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ ที่กรมการปกครองหรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ส่วนคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง ให้ไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร.38/1) ตามวิธีการที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เมื่อมีนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ประสงค์จะรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงาน ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และคนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยุ่ด้านหลัง ณ สถานที่ ที่กรมการปกครองหรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 “ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ

ทำความรู้จัก ‘รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ’ รถพระราชทานเคลื่อนที่ตรวจวิเคราะห์ผล COVID-19 แบบรวดเร็ว แม่นยำ ปลอดภัย รู้ผลการตรวจภายใน 2 ชั่วโมง สามารถทำงานแบบ One Stop Service ผลงานจากคณะวิศวะ จุฬาฯ เพื่อสนองพระราชดำริ นำร่องตรวจที่ NBT และสมุทรสาคร

จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกสองที่พบผู้ติดเชื้อและประชาชนในกลุ่มเสี่ยง ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย การตรวจวิเคราะห์โรค COVID-19 ด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ และมีความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์สูงสุด เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม มีเทคโนโลยีที่เข้าช่วยเหลือประชาชนในการตรวจวิเคราะห์โลก โดยเพจเฟซบุ๊กจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ว่า…

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงให้ความสำคัญในการวิเคราะห์ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยการสร้าง ‘รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ’ (Express Analysis Mobile Unit) เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ ออกตรวจวิเคราะห์ผล COVID-19 นอกโรงพยาบาลหรือหน่วยงาน ช่วยลดปัญหาการขนส่งตัวอย่างและระยะเวลา ในการรอผลวิเคราะห์จากการขนส่งตัวอย่างกลับมาวิเคราะห์ที่หน่วยงาน โดยได้พระราชทาน ‘รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษต้นแบบ’ ออกใช้งานคู่กับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ในการค้นหาเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จในสถานที่จริงที่สถานีโทรทัศน์ NBT เป็นงานแรก และล่าสุดถูกนำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครซึ่งเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19

‘รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ’ เป็นรถต้นแบบที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ บริษัท เอนจินไลฟ์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดยทีมสตาร์ทอัพที่บ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชน มีพื้นที่ใช้สอย 16.8 ตารางเมตร ประกอบด้วย 3 ห้องหลัก ได้แก่ ห้องสกัดสารพันธุกรรม ห้องเตรียมน้ำยาวิเคราะห์ และห้องวิเคราะห์ผลด้วยเทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลีเมอเรส (PCR)

นอกจากนี้ยังมีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า และห้องบัฟเฟอร์เพื่อควบคุม และป้องกันการรั่วไหลของเชื้อโรค พร้อมเครื่องมือที่ติดตั้งภายในรถ ได้แก่ ตู้ปลอดเชื้อ ตู้ปฏิบัติงานพีซีอาร์ (PCR cabinet) เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยา โพลีเมอเรส (real-time PCR), ตู้แช่แข็ง -20 องศาเซลเซียส ตู้ทำความเย็น 4 องศาเซลเซียส ช่องส่งตัวอย่าง เครื่องเขย่าผสมสาร เครื่องปั่นเหวี่ยงตกตะกอน ไมโครปิเปต (Micropipette) ระบบยูวีฆ่าเชื้อ ระบบสื่อสารสองทาง ระบบกล้องวงจรปิด และเครื่องล้างมือแอลกอฮอล์อัตโนมัติ ทั้งนี้สามารถนำไปใช้วิเคราะห์เชื้ออื่นๆ ที่วิเคราะห์ด้วยเทคนิค PCR และใช้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที การจัดสร้างรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษต้นแบบนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ใช้งบ 7.5 ล้านบาทต่อคัน

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ น้อมรับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการผลิตรถคันนี้ สามารถทำงานแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว (One Stop Service) โดยนำความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ให้ได้มาตรฐานในระดับเดียวกับห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค เพื่อความปลอดภัยสูงสุด โดยสามารถรู้ผลการตรวจภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ช่วยลดความกังวลแก่ผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า การสร้างนวัตกรรมไม่ได้เริ่มได้ในวันเดียว คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้พัฒนานวัตกรรมมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 สามารถปรับเปลี่ยนนวัตกรรม เช่น หุ่นยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ได้ ทั้งนี้ไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ยังคงพัฒนาหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เกิดระบบ Telemedicine ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ด้าน ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้พัฒนารถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ กล่าวว่า ความพิเศษของรถคันนี้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและความแม่นยำเทียบเท่ากับห้องปฏิบัติการทั่วไป โดยได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย การเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ตัวอย่างที่รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษจะทำให้ทราบผลการตรวจวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว อุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

“การออกแบบรถต้นแบบเริ่มตั้งแต่ พ.ย.63 หลัง ช่วงที่ COVID-19 ยังไม่ระบาดระลอก 2 ใช้ระยะเวลาในการผลิตรถต้นแบบ 2 เดือน รถคันนี้ตอบโจทย์การนำไปใช้งานได้จริง สะดวก ปลอดภัย ให้ผลการตรวจที่ถูกต้องสูงสุด”

ขณะที่ นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ ใช้ร่วมกับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย เพื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ช่วยลดปัญหาในการขนส่งตัวอย่างสิ่งส่งตรวจเข้ามาในกทม.หรือจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องใช้เวลานาน การทำงานภายในรถเหมือนระบบสายพานโรงงาน ทั้งการสกัดเชื้อและการวิเคราะห์ คาดว่าใน 8 ชั่วโมงสามารถตรวจตัวอย่างได้ 800–1,000 ตัวอย่าง การนำรถลงไปใช้งานจริงในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครในครั้งนี้จะทำให้เกิดความปลอดภัย และยุติปัญหาการระบาดของโรคในจ.สมุทรสาครให้เร็วที่สุด

ที่มา: https://www.chula.ac.th/news/38055/?fbclid=IwAR1K0CtXvbybdpY8KQzbS9srWFBvyOvRFaZf7K2PrGcdqbG0-U49YthcaIE

โดนเด็กย้อน!! ‘ธนกร’ แซะ ‘เฉลิม’ หลังอัดรัฐ ‘ตั้งผู้เฒ่าแก้ปัญหาบ่อน ชาติหน้าก็แก้ไม่ได้’ ขุด!! สมัยเพื่อไทยบ่อนเต็มบ้าน ไม่เห็นย้ายใครได้

ธนกร’ ย้อนแรง ‘เฉลิม อยู่บำรุง’ สมัยรัฐเพื่อไทย ‘บ่อนเต็มเมือง’ ไม่เห็นย้ายใครได้ โว ‘บิ๊กตู่’ ย้ายจริงคนทำผิด ชี้ คนเกษียนยังทำงานได้ หากทุกฝ่ายช่วยกัน

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย โจมตีรัฐบาลว่าตั้งคนเกษียณแก้ปัญหาบ่อน ชาติหน้าก็แก้ไม่ได้ ว่า…


“สมัยพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลมีบ่อนเต็มไปหมดใช่หรือไม่ แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว. กลาโหม แก้ปัญหาบ่อนอย่างเป็นระบบ ลงโทษเด็ดขาด ย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับผู้บัญชาการ และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนแนวคิดเปิดบ่อนพนันถูกต้องตามกฎหมายก็มีคณะกรรมการศึกษาข้อดีข้อเสียอยู่ เพราะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สุดท้ายก็อยู่ที่ประชาชน”


นายธนกร กล่าวว่า ร.ต.อ.เฉลิม เสมือนคนเกษียณแล้วแต่ยังมีไฟอยู่ ดังนั้นอย่าดูถูกคนเกษียณ เพราะแต่ละคนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่ยอมรับของสังคม เชื่อว่าชาตินี้แก้ได้อย่างแน่นอน ไม่ต้องรอชาติหน้า หากทุกฝ่ายช่วยกัน ส่วนที่บอกว่าคนมีอำนาจใหญ่โตหากินกับบ่อนการพนัน ไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่ตนมั่นใจในตัวพล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะจัดการเด็ดขาดโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประชาชนเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งต้องคุมเข้ม และหวังว่า ร.ต.อ.เฉลิม คงไม่ใช้มุขเดิมมาตำหนิตนว่าเป็นมวยไม่มีราคา ม้าไม่มีชั้นอีก

ใครสอน ก็ไม่เคยจำ!! ‘ดร.นิว’ เปิดคอร์ส สอนวิทยาศาสตร์พื้นฐานของ ‘วัคซีน’ เน้นป้อนความรู้สู่ ‘ธนาธร’ หวังรู้แม่น ก่อนป้ายสีสถาบันฯ

คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจว่า ผมเป็นวิศวกรเคมี แต่ไปทำปริญญาเอกด้านการจำลองเชิงกลของโมเลกุลทางเคมีและไปทำวิจัยหลังปริญญาเอกด้านเมมเบรนกับชีวเคมีมาด้วย ผมจึงมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนอยู่พอสมควร ทั้งในเชิงของชีวเคมี และวิศวกรรมเคมี

ผมได้ฟังธนาธรออกมาพูดเรื่องวัคซีนอย่างใส่ร้ายป้ายสีเพื่อพยายามด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่เคยทำมาสม่ำเสมอไม่เปลี่ยนแปลง

แต่ที่ไม่น่าประหลาดใจเลยสำหรับผมก็คือการที่ธนาธรพูดเรื่องวัคซีนอย่างปราศจากความเข้าใจวิทยาศาสตร์พื้นฐานเอาเสียเลย ซึ่งก็คงเป็นอย่างที่ธนาธรกล่าวถึงวิชา Thermodynamics ว่าเรียนไม่รู้เรื่องเลย ทำข้อสอบไม่ได้เลย ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจบปริญญาตรีมาได้อย่างร่อแร่อย่างไรบ้าง

ผมเองก็กลัวคนไทยจะหลงเชื่อคนโง่ที่ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ก็จำเป็นที่จะต้องเขียนอธิบายเรื่องวิทยาศาสตร์พื้นฐานของวัคซีนให้คนที่ดีแต่พูดสร้างความเสียหาย ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองได้หายโง่กันเสียที และให้คนไทยได้รู้เท่าทันธนาธร เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหรือวัคซีนทางปัญญาให้กับประชาชนอีกทางหนึ่ง

การวิจารณ์แบบมั่ว ๆ ตาม ๆ กันของธนาธรและลิ่วล้อ แสดงถึงเจตนาต่ำตมในการบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์โดยขาดความรู้และสติปัญญา แม้ว่าบริษัท Siam Bioscience จะไม่ได้ผลิตวัคซีนโดยตรง แต่บริษัท Siam Bioscience ผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) ซึ่งสามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงนำมาใช้เป็นวัคซีนได้อีกด้วย

ยาสำคัญที่บริษัท Siam Bioscience ได้รับการรับรองแล้วผลิตอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ยาฮอร์โมนอีริโทโพอิติน (Erythropoietin) สำหรับกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง รักษาภาวะโลหิตจางจากไตวายเรื้อรัง และ ยาฟิลกราสทิม (Filgrastim) สำหรับกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขาวควบคู่กับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) รวมถึงไวรัสเวกเตอร์ (Viral vectors) ที่ถูกนำมาใช้เป็นวัคซีนสำหรับไวรัสโควิดด้วยเช่นกัน

การขาดทุนของบริษัท Siam Bioscience มาจากการลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) ภายใต้เจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะให้ประชาชนชาวไทยสามารถได้รับยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงในราคาที่ถูกลง สร้างความมั่นคงทางยา และดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่บริษัท Astrazeneca เลือกบริษัท Siam Bioscience เป็นฐานในการผลิตวัคซีนโควิดพร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพิ่มเติมให้อีกด้วย

ดังนั้นการออกมาบิดเบือนให้ร้ายบริษัท Siam Bioscience เพื่อให้กระทบสถาบันพระมหากษัตริย์ในครั้งนี้ เป็นการแพร่เชื้อโรคแห่งความโง่ แทนที่จะช่วยกันสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตให้กับประชาชน แต่คนเหล่านี้กลับปิดกั้นไม่ให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลความรู้ทางเทคโนโลยีชั้นสูงที่ทันสมัย ด้วยยัดเยียด การบิดเบือนเรื่องความมั่นคงทางสุขภาพและชีวิตของประชาชนชาวไทยให้กลายเป็นเรื่องล้มเจ้าตามที่พวกเขาต้องการ

...ไวรัสโควิด-19 หน้าตาเป็นอย่างไร?
ไวรัสเป็นอนุภาคชีววัตถุขนาดเล็ก มีโครงสร้างพื้นฐานประกอบด้วยสารพันธุกรรมหรือกรดนิวคลีอิกและโปรตีนห่อหุ้ม ต้องอาศัยอยู่ในสิ่งมีชีวิตในการเพิ่มจำนวน โดยไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้เองในธรรมชาติ

ในกรณีของไวรัสโควิด SARS-CoV-2 มีสารพันธุกรรมชนิด RNA เป็นไวรัสแบบมีเปลือก ซึ่งมีเปลือกไขมันห่อหุ้มแกนกลางที่เป็น RNA กับโปรตีนอีกชั้นหนึ่ง จึงไม่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน แสงแดด ตลอดจนสารละลายไขมัน เช่น แอลกอฮอล์ และน้ำสบู่

นอกจากนี้เปลือกไขมันนี้ยังมีปุ่มโปรตีนยื่นออกมาโดยรอบ เรียกว่า สไปค์ (Spike) ที่เป็นกลไกสำคัญในการเกาะและแทรกซึมเข้าสู่เซลล์ชนิดที่มีโปรตีนตัวรับชื่อว่า ACE2 อยู่บนผนังเซลล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์ในระบบทางเดินหายใจ และรูปร่างของโปรตีนสไปค์นี่เองที่เป็นที่มาของชื่อโคโรนาไวรัสเพราะมีรูปร่างดูคล้ายมงกุฎ

...ภูมิคุ้มกันไวรัสคือวัคซีน
ไวรัสโควิดแพร่ระบาดผ่านทางระบบทางเดินหายใจ เมื่อร่างกายได้รับไวรัสโควิด ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา หากสามารถผลิตภูมิคุ้มกันได้เพียงพอ ร่างกายก็จะสามารถต้านทานไวรัสโควิดได้ ตลอดจนไม่มีการแสดงอาการใด ๆ

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนติดไวรัสโควิดแล้วไม่แสดงอาการป่วย ในขณะที่บางคนแสดงอาการป่วย

การรับเชื้อไวรัสโควิดโดยตรงแล้วปล่อยให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจึงถือเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิต ดังนั้นวัคซีนจึงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องได้รับเชื้อไวรัสตามธรรมชาติ และเมื่อมีโอกาสได้รับเชื้อไวรัส ไวรัสก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอแล้ว

...เทคโนโลยีวัคซีนแบบดั้งเดิมในการผลิตวัคซีนโควิด-19
ในปัจจุบันวัคซีนโควิดมีหลายชนิด ตั้งแต่แบบที่เป็นเทคโนโลยีวัคซีนดั้งเดิม เช่น

ประเภทหนึ่ง วัคซีนแบบเชื้อเป็น (Live Attenuated Vaccine)mคือ การนำไวรัสที่อ่อนฤทธิ์จนไม่สามารถก่อโรคได้เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และ

ประเภทสอง วัคซีนแบบเชื้อตาย (Inactivated vaccine) คือ การนำไวรัสที่ตายแล้วมากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

สำหรับไวรัสโควิดขณะนี้มีแค่เพียงวัคซีนแบบเชื้อตายเท่านั้น เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่และการทำให้ไวรัสอ่อนฤทธิ์มีความยุ่งยากและซับซ้อนกว่า

แม้วัคซีนแบบเชื้อตายจะผลิตขึ้นมาจากเชื้อตายที่ไม่ก่อโรคซึ่งมีความปลอดภัย แต่วัคซีนแบบเชื้อตายมีราคาแพง เพราะอาศัยเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิตจำนวนมากในการผลิต จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตที่มีความปลอดภัยสูง ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนโควิดของบริษัท Sinovac และ Sinopharm จากประเทศจีน

...พันธุวิศวกรรมกับเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตวัคซีนโควิด-19
แต่เทคโนโลยีชั้นสูงสมัยใหม่ โดยเฉพาะพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งในด้านการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน จึงไม่จำเป็นต้องใช้อนุภาคของเชื้อไวรัสทั้งอนุภาค หากแต่สามารถนำส่วนหนึ่งส่วนใดของอนุภาคไวรัสมาใช้ผลิตวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้

ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยพบว่าปุ่มโปรตีนที่ยื่นออกมาโดยรอบของไวรัสโควิด หรือ สไปค์ เป็นกลไกสำคัญในการเกาะและแทรกซึมเข้าสู่เซลล์ชนิดที่มีโปรตีนตัวรับชื่อว่า ACE2 อยู่บนผนังเซลล์ จึงจัดได้ว่าเป็นแอนติเจน (Antigen) หรือ สิ่งแปลกปลอมที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี (Antibody) นั่นก็คือ ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เอง โดยแอนติบอดีสามารถระงับและป้องกันการทำงานของสไปค์เหล่านี้ได้

เมื่อสไปค์ไม่สามารถใช้เกาะและแทรกซึมเข้าสู่เซลล์ดังกล่าว ไวรัสโควิดก็จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนและหมดฤทธิ์ไปในที่สุด เป็นไปตามหลักการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ ดังนั้นส่วนหนึ่งส่วนใดของอนุภาคไวรัสจึงสามารถนำมาทำเป็นวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีได้

...เทคโนโลยีขั้นสูงสมัยใหม่ในการผลิตวัคซีนนี้ แบ่งได้เป็นสามประเภท
ประเภทหนึ่ง วัคซีนแบบใช้โปรตีน (Protein-based Vaccine) คือ การนำโปรตีนของไวรัสโควิดโดยเฉพาะส่วนของสไปค์มาฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยสามารถใช้ยีสต์ แบคทีเรีย หรือพืชบางชนิด เช่น ใบยาสูบ ในการผลิตโปรตีนของไวรัสโควิดได้ วัคซีนชนิดนี้สามารถผลิตได้ง่าย มีความรวดเร็ว ราคาไม่แพง แต่อาจต้องใช้สารเสริมฤทธิ์ (adjuvant) เพื่อช่วยกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนโควิดของบริษัท Novavax จากประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้บริษัท Baiya Phytopharm ของไทยเองก็กำลังวิจัยและพัฒนาวัคซีนแบบใช้โปรตีนด้วยความร่วมมือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประเภทสอง วัคซีนแบบใช้สารพันธุกรรมกรดนิวคลีอิก (Nucleic-acid Vaccine) แบ่งออกเป็นสองประเภท คือวัคซีน RNA (RNA Vaccine) และ วัคซีน DNA (DNA Vaccine)


สำหรับไวรัสโควิด วัคซีนที่มีความคืบหน้าจนเริ่มมีการฉีดแล้ว คือ การนำสารพันธุกรรม mRNA (Messenger RNA) ของสไปค์มาฉีดในการสร้างภูมิคุ้มกัน การใช้วัคซีนชนิดนี้เป็นการใช้ครั้งแรกในมนุษย์จึงถือได้ว่าอาจมีความเสี่ยงในระยะยาวเนื่องจากเป็นการฉีดสารพันธุกรรมโดยตรง อีกทั้งยังจำเป็นต้องอาศัยอุณหภูมิที่เย็นจัด -20 องศา ถึง -70 องศา ในขบวนการขนส่ง รวมไปถึงราคาที่ค่อนข้างแพงของวัคซีน แม้จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีผลเคียงข้างในอนาคตหรือไม่ จึงนับว่ามีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย และที่ประเทศนอร์เวย์พบผู้เสียชีวิตถึง 29 ราย ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนโควิดของบริษัท Pfizer/BioNTech และ Moderna จากประเทศสหรัฐอเมริกา
ประเภทสาม วัคซีนแบบใช้ไวรัสเวคเตอร์ (Viral Vector Vaccine) คือ การใส่สารพันธุกรรมของไวรัสจากสไปค์เฉพาะส่วนที่กระตุ้นภูมิต้านทาน เข้าไปในไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ก่อโรคในมนุษย์ แล้วนำมาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา โดยวัคซีนประเภทดังกล่าวมีการผลิต และศึกษาวิจัยในมนุษย์แล้ว เช่น วัคซีนอีโบล่า เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนโควิดของบริษัท AstraZeneca จากประเทศอังกฤษ
ประเทศไทยโชคดีที่มีฐานการผลิตวัคซีนโควิดเป็นของตัวเอง เนื่องจากบริษัท AstraZeneca ได้คัดเลือกให้บริษัท Siam Bioscience ของประเทศไทย ที่มีศักยภาพในด้านบุคลากรและกำลังการผลิตที่มากถึง 200 ล้านโดส ตลอดจนความพร้อมในการรองรับเทคโนโลยีในการผลิตชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) ให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 และเป็นฐานการผลิตเพียงแค่บริษัทเดียวในภูมิภาคอาเซียน ทั้งหมดเป็นเพราะการลงทุนมหาศาลของบริษัท Siam Bioscience ในการวางรากฐานของเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงสำหรับการผลิตชีววัตถุคล้ายคลึง ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าการผลิตยาสามัญทั่วไปเป็นอย่างมาก โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ให้คนไทยได้เข้าถึง ยาชีววัตถุ ในราคาถูกและปลอดภัย
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะพระราชวิสัยทัศน์อันยาวใกลในพระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ที่ทรงเสี่ยงลงทุนในการผลิตยาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงมาก และทรงยึดถือหลักการขาดทุนคือกำไรเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม และการสืบสานต่อยอดพระราชดำริและงานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงงานพระราชทานนี้ทำให้ไทยเราได้เปรียบหลายประเทศ ทำให้เรารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ ทำให้เราพึ่งพาตนเองได้
ภาษิตจีนได้กล่าวไว้ว่า กินน้ำ อย่าลืมคนขุดบ่อ และ ลูกหลานกตัญญู โชคดี เช่นเดียวกับที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กล่าวไว้ว่า เกิดเป็นคุณ ต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ขอขอบคุณทีมไทยแลนด์และสยามไบโอไซนส์ ที่ทำงานหนัก เสียสละที่ทำงานนี้เพื่อประเทศชาติ และขอกราบสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้



ที่มา:
https://mgronline.com/daily/detail/9640000008646
อ้างอิง:
Ewen Callaway. Nature. (April 28, 2020). The race for coronavirus vaccines: a graphical guide. https://www.nature.com/articles/d41586-020-01221-y
MANUEL CANALES et al. National Geographic. (October 14, 2020). INVASION AND RESPONSE.https://www.nationalgeographic.com/magazine/2020/11/explore-how-coronavirus-attacks-the-body-and-how-the-body-fights-back/
British Embassy Bangkok. GOV.UK. (October 12, 2020). Thailand joins forces with AstraZeneca on COVID-19 vaccine manufacturing.https://www.gov.uk/government/news/thailand-joins-forces-with-astrazeneca-on-covid-19-vaccine-manufacturing--2

รพ.ศิริราชวอนบริจาคด่วน หลังเลือดขาดแคลนหนัก เหตุโควิด-19 กระทบแรง ห่วง 1 ก.พ.นี้ เปิดให้บริการรักษาเต็มรูปแบบ อาจไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้

เผยเลือดสำรองจะใช้ได้ไม่เกิน 4-5 วัน ซ้ำเลือดหมู่ A และ O ยังมีน้อยกว่าเลือดสำรองหมู่อื่น สามารถติดต่อบริจาค ศูนย์รับบริจาคเลือดศิริราช อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ชั้น 3 รพ. ศิริราช ทุกวัน เวลา 08.30 - 16.00 น. (ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-414-0100 , 0 2-414-0102

รศ.พญ. ปาริชาติ เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการบริการรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะการบริจาคเลือดได้เพียงวันละ 60-100 ถุง ขณะที่ความต้องการใช้เลือดของผู้ป่วยวันละประมาณ 120-180 ถุง บางวันสูงถึง 200 ถุง คาดว่าเลือดสำรองจะใช้ได้ไม่เกิน 4-5 วัน ซ้ำเลือดหมู่ A และ O ยังมีน้อยกว่าเลือดสำรองหมู่อื่น และยิ่งหนักใจวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ โรงพยาบาลศิริราชจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ยิ่งลำบากแน่นอน อาจทำให้ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง

จึงขอเชิญชวนผู้ใจบุญทุกท่านร่วมบริจาคเลือดช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่รอการผ่าตัด รวมถึงผู้ป่วยโรคเลือดที่จำเป็นต้องใช้เลือด หากท่านมีสุขภาพดี และไม่มีความเสี่ยง มาร่วมช่วยชีวิตคนไทยด้วยกัน ซึ่งศูนย์รับบริจาคเลือดศิริราชมีระบบคัดกรองอย่างปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยวัดอุณหภูมิทั้งเจ้าหน้าที่และผู้บริจาค รวมทั้งทำความสะอาดอุปกรณ์และสถานที่อย่างสม่ำเสมอ

สำหรับท่านที่ต้องการบริจาคเลือด ขอให้เตรียมร่างกายให้พร้อม โดยพักผ่อนเพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง น้ำหนัก 48 กิโลกรัมขึ้นไป และต้องไม่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคลมชัก โรคหัวใจหรือเคยเจ็บแน่นหน้าอก เป็นต้น

ทั้งนี้ สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ แต่ขอให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่มีไขมันสูง งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่เข้าข่ายผู้มีความเสี่ยงติด COVID-19 สามารถติดต่อบริจาคเลือดได้ที่ ศูนย์รับบริจาคเลือดศิริราช อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ชั้น 3 รพ. ศิริราช ทุกวัน เวลา 08.30 - 16.00 น. (ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-414-0100 , 02-414-0102



ที่มา: https://www.naewna.com/local/549119


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top