Sunday, 11 May 2025
PoliticsQUIZ

กองทัพเรือ เดินหน้าส่งมอบโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ให้กระทรวงสาธารณสุข รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ชลบุรี รวม 320 เตียง หลังยอดผู้ติดเชื้อระบาดระลอกใหม่พุ่งสูง

พล.ร.ท.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ ส่งมอบโรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว ซึ่งในอยู่ความรับผิดชอบของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นผู้รับมอบที่โรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่มีความรุนแรงกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่จ.ระยอง และจ.ชลบุรี พบการติดเชื้อขยายเป็นวงกว้าง กองทัพเรือได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นและเร่งให้การสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยจากการติดเชื้อกรณีเกินขีดความสามารถในการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลหลักในพื้นที่จ.ระยอง จ.ชลบุรี และจ.จันทบุรี โดยใช้สถานที่ของกองทัพเรือที่ห่างไกลจากชุมชน และไม่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่

พล.ร.ท.เชษฐา กล่าวต่อว่า สำหรับโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 กองทัพเรือได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารฝึกของศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว ใช้อาคารฝึกที่ 13-16 สำหรับเป็นที่พักผู้ป่วย และอาคารฝึกที่ 2 เป็นอาคารอำนวยการสำหรับเจ้าหน้าที่ สามารถรองรับผู้ป่วยได้รวม 320 เตียง โดยรับผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาและสังเกตอาการจากโรงพยาบาล กรณีอาการไม่รุนแรงให้มาพักรักษาและติดตามอาการต่อเนื่องจนกว่าผลตรวจจะเป็นลบหรือไม่พบเชื้อแล้ว แต่หากพบว่ามีอาการหนักขึ้นก็จะถูกส่งตัวกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลหลักทันที

อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกองทัพเรือ 3 แห่งซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้รวม 726 เตียง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (เกล็ดแก้ว) จ.ชลบุรี จำนวน 320 เตียง โรงพยาบาลสนาม ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จ.ชลบุรี จำนวน 174 เตียง และโรงพยาบาลสนาม สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จ.จันทบุรี จำนวน 232 เตียง

ตัวแทนร้านนวดร้านสปา ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอผ่อนผันให้เปิดบริการได้ หลังกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งให้ปิด ยืนยัน ที่ผ่านมาปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดนสั่งปิดกลุ่มแรก แต่ให้เปิดเป็นกลุ่มสุดท้าย

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย นำโดย นายพิทักษ์ โยทา เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ศบค. ผ่านสำนักงานเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

โดยเรียกร้องให้ผ่อนผันให้ร้านนวด ร้านสปา เปิดบริการได้หลังกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งให้ปิดสถานที่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โควิด-19 โดยยืนยันว่าที่ผ่านมาร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านสปา ได้ ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง จำกัดผู้ใช้บริการบริการและไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด จึงไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาเป็นกลุ่มแรกที่ถูกสั่งปิด และให้เปิดเป็นกลุ่มสุดท้าย

นายพิทักษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันร้านนวด ร้านสปา ทั่ว กทม. มี 1,700 ร้าน ส่วนทั่วประเทศมี 15,000 ร้าน ปิดถาวรไปแล้ว 11,280 ร้าน เพราะไม่มีทุนไปต่อ เหลือเพียง 4,000 กว่าร้าน ก็ทำตามมาตรฐานทุกอย่าง ดังนั้นอยากให้รัฐบาลผ่อนผันให้เปิดบริการเพื่อให้พนักงานมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

แต่หากไม่ผ่อนผัน ก็เรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยา หรือออกคำสั่งยกเว้นค่าเช่าตึก จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะที่ผ่านมาการช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้งเรื่องเงินกู้ซอฟโลน หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง ก็ไม่สามารถเข้าถึง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วันนี้ พบเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 66 ราย ติดเชื้อเพิ่มอีก 365 คน ภาพรวมผู้ติดเชื้อยังมีแนวโน้มสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายปกครอง วางแผนร่วมกันเข้าไปตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่สมุทรสาครเพิ่ม

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (ศบค.) แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อ 365 คน แยกเป็นติดเชื้อในประเทศ 250 คน จากการค้นหาเชิงรุก 99 คน พบจากสถานที่กักกันตัวของรัฐ 16 คน รวมติดเชื้อสะสม 9,331 คน หายป่วยแล้ว 4,418 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 66 ราย

โดยผู้เสียชีวิตเป็นชายไทย อายุ 63 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จ.พระนครศรีอยุธยา อาชีพขับรถรับส่งแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง โดยวันที่ 27 ธ.ค.63 มีอาการป่วย ไอ มีน้ำมูก เข้ารับการรักษาในรพ.สมุทรสาคร พบออกซิเจนในเลือดตกเหลือ 76% อาการปอดอักเสบและตรวจพบเชื้อ โควิด-19 และเข้ารับการรักษาในรพ.

ต่อมาวันที่ 30 ธ.ค.มีอาการหอบหืด และใส่ท่อช่วยหายใจ จากนั้นย้ายเข้าห้องผู้ป่วยหนัก(ไอซียู) แต่อาการยังไม่ดีขึ้นและมีอาการไตวายต้องฟอกเลือด จนถึงวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา หัวใจหยุด แพทย์ทำการช่วยชีวิต ก่อนจะเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวและระบบภายในล้มเหลว เมื่อเวลา 13.08 น.

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ภาพรวมของผู้ติดเชื้อยังมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ถ้ายังประคองตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่สามหลักไปได้ต่อเนื่อง ก็ยังมีทรัพยากรและบุคลากรเพียงพอในการรักษาดูแล แต่หากจำนวนมากขึ้นไปถึงหลักพันก็น่าเป็นห่วง และมีตัวอย่างเหตุเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่ไปถึงขั้นว่าหากพบผู้ที่มีอาการป่วยมากและทรัพยากรไม่พอ ต้องรักษาและเสียชีวิตอยู่ที่บ้านพัก จึงต้องร้องขอให้ทำตามมาตรการสาธารณสุข สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ของศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปก.สธ.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าคลัสเตอร์ของผู้ติดเชื้อจากบ่อนไก่ จ.อ่างทองไปจ.นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ถึง 38 คน

โดยพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ชายประมาณ 5 เท่า และส่วนใหญ่ไม่มีอาการป่วย 68% มีอาการป่วย 32 % โดยอยู่ในช่วงอายุ 45- 54 ปี ส่วนคลัสเตอร์ที่จ.ระยอง กระจายตัวไปจากบ่อนการพนันไปถึง 7-8 อำเภอ รวมทั้งจ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ชลบุรี

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อวัยช่วงวัยทำงาน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.63 และในวันที่มา 4 ม.ค.64 ซึ่งการติดเชื้อกระจายตัวไปในหลายพื้นที่หลายตำบล ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีโรงงานกว่า 1 หมื่นแห่ง ในจำนวนนี้มี 100 แห่ง ที่ต้องเข้าไปสืบสวน

นอกจากนั้นยังมีตลาดอื่น ๆ นอกจากตลาดกลางกุ้ง ที่จะต้องเข้าไปตรวจคัดกรอง ทางกระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายปกครอง จึงวางแผนร่วมกันที่จะเข้าไปตรวจคัดกรองในเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น เพื่อควบคุมโรคและการทำงานจะสำเร็จได้เมื่อประชาชนช่วยร่วมมือกัน

จงภูมิใจเถิด ที่เกิดบนผืนดินไทย หลังพบประเทศศิวิไลซ์อย่างญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 122 คนทั่วประเทศ เหตุเกิดเพราะอาการทรุดหนักจากโควิด-19 เพราะต้องรักษาตัวเองที่บ้าน

ญี่ปุ่น อาจจะเป็นประเทศในฝันของคนต่างชาติ ที่ทั้งอยากไปเที่ยว และอยากไปอยู่แบบยาวๆ เพราะหลงใหลในทุก ๆ มิติของความเป็นญี่ปุ่น ทั้งที่เที่ยว อาหารการกิน อากาศ ความสะอาด และวินัยของคนในประเทศ

แต่มันก็ไม่ได้มีมุมดี ๆ ทั้งหมด เพราะทราบหรือไม่ว่าในญี่ปุ่น แม้คุณจะรู้สึกไม่สบาย แต่ต้องใช้เวลาสักระยะ ก่อนที่คุณจะได้เข้ารับการรักษาในสถาบันทางการแพทย์ได้

ไม่นานมานี้มีข่าวการเสียชีวิตรวมตัวเลข 122 รายจากทั่วประเทศญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลที่น่าสะเทือนใจ เพราะตัวเลขจำนวนดังกล่าว คือ กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อโควิด และมีอาการลุกลามแบบฉับพลันภายในที่พักอาศัยของตน โดยผู้ป่วยเหล่านี้คาดว่าถูกปฏิเสธจากพยาบาล เพราะมองว่ายังไม่หนักหนา

ปัญหานี้เป็นจุดอ่อนที่โผล่ออกมาของระบบสาธารณสุขญี่ปุ่นที่ต้องประสบกับโควิดระบาดเมื่อต้นปีก่อน โดยสมาคมการแพทย์เฉียบพลันญี่ปุ่น และ สมาคมการแพทย์ฉุกเฉินญี่ปุ่น เคยให้ข้อมูลตรงกันว่า บรรดาห้องฉุกเฉินตามโรงพยาบาลปฏิเสธที่จะรับผู้ป่วยที่มีอาการเส้นเลือดตีบ หัวใจวาย และ อาการบาดเจ็บภายนอก เนื่องจากมีภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จนล้นมือ

ช่วงแรก ๆ ญี่ปุ่นสามารถควบคุมการระบาดได้ จึงไม่เกิดปัญหาใด ๆ แต่เมื่อแกะรอยเส้นทางระบาดไม่ได้ จึงเริ่มเผยให้เห็นจุดอ่อนในระบบสาธารณสุข ซึ่งเคยมีชื่อเสียงว่า มีระบบประกันสุขภาพที่มีคุณภาพ และ ค่ารักษาอยู่ในราคาเหมาะสม แต่ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญตำหนิรัฐบาลที่ไม่เตรียมการให้พร้อม ปล่อยให้อุปกรณ์การแพทย์ขาดแคลน

ญี่ปุ่นขาดแคลนตั้งเตียงผู้ป่วย บุคลากร และ อุปกรณ์ แต่ต้องรับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด แม้แต่ผู้ป่วยที่อาการไม่หนักมาก ทำให้โรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วย โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลช่วยดูแล

บุคลากรทางการแพทย์ต้องใช้หน้ากากอนามัย N95 แบบรียูส หรือนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนโรงพยาบาลในโอซากาต้องขอรับบริจาคเสื้อกันฝนพลาสติก มาใช้ใส่ป้องกันเชื้อในโรงพยาบาล

ที่สำคัญ ญี่ปุ่นมีห้องไอซียูในอัตราส่วนเพียง 5 ห้องต่อประชากร 1 แสนคน เทียบกับเยอรมนีที่มี 30 ห้อง สหรัฐฯ มี 35 ห้อง และ อิตาลีมี 12 ห้อง

ด้าน ศาสตราจารย์ คาซึฮิโระ ทาเทดะ แห่งมหาวิทยาลัยโทโฮ ซึ่งเป็นประธานของสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงอาการของผู้ป่วยในญี่ปุ่นว่า "แม้ว่าอาการจะดูไม่รุนแรง แต่ก็มีบางกรณีที่อาการจะแย่ลงกะทันหัน ในกรณีนั้นจำเป็นต้องสร้างระบบ เพื่อรับการรักษาที่สถาบันทางการแพทย์โดยเร็วที่สุด”

สุดท้ายแล้ว คนไทยบางคนที่ชอบบอกว่าเมืองไทยไม่มีอะไรดีเลยนั้น ข่าวนี้น่าจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐในประเทศ ที่สามารถดูแลผู้ป่วย กักกัน แกะรอย และรักษาจนหายได้ ไม่ได้ปล่อยให้คนที่ติดเชื้อ ต้องดูแลตัวเอง และตายคาบ้านเสียเท่าไร...


ที่มา: https://www3.nhk.or.jp/news/html/20210106/k10012798701000.html?utm_int=all_side_ranking-social_001

https://www.prachachat.net/world-news/news-451578

เพจ : ครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่น

รัฐบาล ยืนยันผู้เข้าร่วมโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ที่เลื่อนการจองที่พัก - ยกเลิกการจอง หรือ จองแล้วแต่ไม่ได้เข้าพัก ยังคงได้รับสิทธิ์ส่วนลด 40% โดยไม่เสียสิทธิ์ เตรียมประชุมขยายระยะเวลาโครงการฯ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2564

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีข้อร้องเรียนของประชาชนในการเลื่อนการจองที่พักที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แล้วทางโรงแรมแจ้งว่าเป็นการเสียสิทธิ์ร่วมโครงการนั้น กรณีนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการที่มีการเลื่อนการจองที่พักออกไป หรือยกเลิกการจอง รวมถึงการจองห้องพักแต่ไม่ได้เข้าพัก ต่างยังคงได้รับสิทธิ์ส่วนลด 40% เช่นเดิม โดยไม่เสียสิทธิ์แต่อย่างใด

และขณะนี้ธนาคารกรุงไทย กำลังแก้ไขระบบเพื่อรองรับการเลื่อน หรือยกเลิกการจองที่พัก เมื่อมีการเลื่อนจองห้องพัก โรงแรมสามารถรับเรื่องไว้ได้ก่อน และขอให้โรงแรมแจ้งการเลื่อนในระบบต่อไป เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่

ทั้งนี้รัฐบาล ได้ขอความร่วมมือสมาคมโรงแรมไทยและผู้ประกอบการโรงแรมที่พักที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันทุกแห่ง รวมถึง Online Travel Agency (OTA) ที่เข้าร่วมโครงการให้พิจารณาการช่วยรักษาสิทธิ์ในรูปแบบการคืนเงิน หรือการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์ โดยการออก Voucher ของโรงแรมให้แก่นักท่องเที่ยวไว้กลับมาใช้บริการภายหลัง ส่วนนักท่องเที่ยวที่ได้ชำระเงินไปแล้ว โดยที่การคืนเงินหรือการขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์นี้ ระบบจะไม่ตัดสิทธิ์การใช้ห้องพักของนักท่องเที่ยว และคืนสิทธิ์เข้าสู่ระบบของโครงการฯ เพื่อให้นักท่องเที่ยวคนอื่นได้ใช้สิทธิ์ต่อไป

สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ปัจจุบันมีประชาชนลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 7.3 ล้านคน ผู้ประกอบการโรงแรมที่พักลงทะเบียนทั้งสิ้น 8,514 แห่ง โดยรวมมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬาโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างพิจารณานำเสนอที่ประชุมครม. ขยายระยะเวลาโครงการฯออกไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2564

ภาคเอกชน ดัน 4 ข้อเสนอ ส่งรัฐบาลพิจารณา แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ประกอบด้วย บังคับใช้มาตรการรัฐอย่างเคร่งครัด, ใช้งบประมาณช่วยเหลือ , เร่งรัดวัคซีน และเร่งรัดการเจรจาการค้าทวิภาคี

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุม เห็นชอบให้จัดทำข้อเสนอ 4 เรื่องเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ประกอบด้วย

1.) ควบคุมการแพร่ระบาดและบังคับใช้มาตรการต่างๆ ที่ประกาศออกมาอย่างเคร่งครัด ควบคุมดูแลที่อยู่ของคนงานต่างด้าวให้เหมาะสม และเร่งจับผู้กระทำผิด ทั้งเรื่องบ่อนการพนัน และการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

2.) เสนอให้ภาครัฐเร่งใช้งบประมาณช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด 2 แสนล้านบาท เช่น ต่ออายุโครงการคนละครึ่งเพิ่มใช้จ่ายต่อคนเป็น 5,000 บาท และลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

3.) เร่งรัดวัคซีนให้สามารถได้มาตามกำหนดเวลาและมีปริมาณที่เพียงพอ โดยจัดลำดับผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อนหลังอย่างเหมาะสม

4.) เร่งรัดการใช้และการเจรจาการค้าทวิภาคี รวมถึงการให้สัตยาบันลงนามข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป)

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (6 มกราคม พ.ศ.2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 365 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 9,331 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 รายรวมยอดผู้เสียชีวิต 66 ราย รักษาหายเพิ่ม 21 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,418 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4,847 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 365 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากเอธิโอเปีย 2 ราย ,ตุรกี 2 ราย ,เยอรมนี 2 ราย ,แคนาดา 1 ราย ,อิสราเอล 1 ราย ,สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย ,มาเลเชีย 1 ราย ,สหรัฐอเมริกา 6 ราย

ผู้ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 250 ราย

ผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว (คัดกรองเชิงรุกในชุมชน) 99 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 172 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 383 ราย รักษาหายแล้ว 362 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 7.8 แสน ราย รักษาหายแล้ว 6.46 แสน เสียชีวิต 23,109 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.23 แสน ราย รักษาหายแล้ว 99,449 ราย เสียชีวิต 509 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.28 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.11 ราย เสียชีวิต 2,766 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.8 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.48 แสน ราย เสียชีวิต 9,321 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,749ราย รักษาหายแล้ว 58,517 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,504 ราย รักษาหายแล้ว1,339 ราย เสียชีวิต 35 ราย

อินโดนีเซีย จัดทัพตำรวจและทหารกว่า 8 หมื่นนาย คุ้มกัน ‘วัคซีนโควิด-19’ เต็มอัตราศึก แต่วัคซีนถูกส่งถึงสนามบินซูการ์โน-ฮัตตา จนถึงบริษัทเภสัชภัณฑ์ในจังหวัดชวาตะวันตก

พ.ต.อ รุสดี ฮาร์โตโน โฆษกตำรวจอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า อินโดนีเซียจัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารรวม 83,566 นาย ไปปฏิบัติงานคุ้มกันวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) นับตั้งแต่วัคซีนถูกส่งถึงสนามบินซูการ์โน-ฮัตตา เพื่อนำไปส่งมอบให้ไบโอ ฟาร์มา (Bio Farma) บริษัทเภสัชภัณฑ์ในจังหวัดชวาตะวันตก และจัดสรรไปยังหลายภูมิภาคทั่วประเทศ

ฮาร์โตโน กล่าวว่า งานคุ้มกันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการร่วมระหว่างบุคลากรกองทัพ ตำรวจ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำกับดูแลระเบียบสาธารณสุข และส่งเสริมโครงการฉีดวัคซีนของประเทศให้ประสบความสำเร็จ

อินโดนีเซียจะเริ่มโครงการฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 วันที่ 13 ม.ค. นี้ และตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชาชน 181.5 ล้านคนจนถึงปี 2022

การฉีดวัคซีนระยะแรกจะมีขึ้นช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2021 โดยจะจัดสรรวัคซีนให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 1.3 ล้านคน คนงานบริการสาธารณะ 17.4 ล้านคน และผู้สูงอายุ 21.5 ล้านคน ส่วนการฉีดวัคซีนระยะที่ 2 จะมีขึ้นช่วงเดือนเมษายน 2021-มีนาคม 2022 โดยจะจัดสรรวัคซีนให้คนกลุ่มเสี่ยง 63.9 ล้านคน และประชาชนกลุ่มอื่นอีก 77.4 ล้านคน


Cr : www.xinhuathai.com

เอกอัครราชทูตมองโกเลีย ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ยืนยันพร้อมสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างกันอย่างรอบดาน พร้อมเร่งเจรจาทวิภาคีฟื้นเศรษฐกิจ

นายทูมูร์ อามาร์ซานา (H.E. Mr. Tumur Amarsanaa) เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตฯ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมองโกเลียมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีการจัดตั้งกลไกการประชุมความร่วมมือทวิภาคีไทย-มองโกเลีย การจัดทำแผนงานร่วม (Work Plan) ระยะเวลา 5 ปี ตลอดจน ความร่วมมือทางวิชาการและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันมากขึ้นภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ยืนยันรัฐบาลไทยพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับเอกอัครราชทูตฯ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันให้ก้าวหน้าอย่างรอบด้าน

เอกอัครราชทูตฯ กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่สละเวลาให้เข้าเยี่ยมคารวะ ยินดีที่ได้ดำรงตำแหน่งในประเทศไทย ยืนยันพร้อมสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างไทยกับมองโกเลียให้มีความก้าวหน้าต่อไป โดยเฉพาะด้านวิชาการ การแพทย์ และสาธารณสุข นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ชื่นชมการทำงานอย่างแข็งขันของรัฐบาลไทยเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมองโกเลียสนใจขอร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการ และด้านวัคซีนกับไทยด้วย

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคี โดยเฉพาะการเร่งรัดหาข้อสรุปความตกลงที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาให้มีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศภายหลังสถานการณ์โควิด-19 และการส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนด้านการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าด้านเกษตรกรรม และการลงทุนระหว่างกันมากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน

โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความเชื่อมั่นของภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในมองโกเลีย ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากการขยายการลงทุนในมองโกเลียอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้ขอให้รัฐบาลมองโกเลียช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชนไทย โดยรัฐบาลไทยพร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนมองโกเลียเช่นกัน

วิเคราะห์ ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ 3 กลุ่ม ‘วัคซีนโควิด-19’ ที่อนุญาตให้ใช้ฉุกเฉินในมนุษย์ By ‘หมอยง’

สัญชาติญาณโดยอัตโนมัติของมนุษย์ทุกคนที่มี คือ "การเอาตัวรอด"

อารมณ์ว่าถ้าภัยมาถึงตัว ไม่ว่าจะ "ภัยเล็ก" หรือ "ภัยใหญ่" เราจะพยายามหาวิธีดิ้นรน เพื่อให้มันผ่านพ้นไปให้ได้ แม้วิธีการนั้นมันจะ "ชัวร์" หรือ "มั่วนิ่ม" ก็ไม่ติดขัดอันใด

ผลลัพธ์ของวัคซีนโควิด-19 ก็เช่นกัน ตอนนี้ เริ่มมีการนำเข้าวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของประเทศต่างๆ จากหลายบริษัทผู้ผลิตมาใช้กันมากขึ้น

นี่คือ "ทางรอด" แต่มันก็มี "ทางร่วง" แทรกปนมา เพราะกระแสของผลข้างเคียงต่าง ๆ นานาที่เป็นข่าว จากวัคซีนของบางประเทศ เช่น ฉีดไปอีก 8 วันกลับมาติดเชื้อใหม่ หรือฉีดไป แพ้หนัก ตายเลย

มันก็เลยเป็นอะไรที่เริ่มแยกไม่ออก ระหว่าง "ความเสี่ยง" กับ "ความซวย" ว่าตกลงผลของมันดีหรือร้ายกันแน่

พอเป็นแบบนี้ มันก็เลยเกิดกระแสวิจารณ์ในวงกว้างทั้งทั่วโลก และรวมถึงในประเทศไทย ที่กังวลในผลลัพธ์ที่อาจกระทบชีวิตพอสมควร

เพราะต้องยอมรับว่าการเร่งผลิตวัคซีนในครั้งนี้มีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงสูง...

สูงยังไง?

อย่าลืมนะว่าระยะเวลาการพัฒนาและทดสอบวัคซีนส่วนใหญ่โควิด-19 ในครั้งนี้ ‘สั้นมาก’ แค่ 10 เดือน ก็เริ่มเห็นนำวัคซีนเวอร์ชั่นต่างๆ ออกมาปล่อยของกันให้ว่อน

ซึ่งในความเป็นจริงนั้นกลุ่มวัคซีนของ "โรคอุบัติใหม่" ในอดีตก่อนหน้านี้ ยังต้องใช้เวลาพัฒนาและทดสอบกันร่วม 2 - 5 ปี ขึ้นไปเลย นั่นก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าวัคซีนที่ได้มานั้นใช้ได้ผล ปลอดภัย และป้องกันเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ไปเป็นชนิดย่อยๆ ได้ครอบคลุมที่สุด

แต่กับโควิด-19 มันต่างกัน!!

เพราะนี่คือโจทย์ที่ "ทิ้งเวลา" นาน ๆ ไม่ได้ วัคซีนจากแต่ละประเทศ ถูกดันออกมาเพื่อแข่งกับเวลา

• เวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

• เวลาที่จำนวนผู้เสียชีวิตไม่มีหยุดหย่อน

• และเวลาเดิมพันด้วยเศรษฐกิจของโลกใบนี้ที่หยุดชะงักไปเพราะไวรัสทำพิษ

มันจึงกลายเป็นการบีบแบบไม่มีทางเลือกนอกจากเร่งทำมันออกมาให้เร็วที่สุด

เอาเป็นว่าสุดท้าย ถ้ามันหมดทางเลือก เราก็ต้องยอมฉีด แต่จะฉีดทั้งทีก็ต้องรู้สรรพคุณ "ข้อดี - ข้อเสีย" ของแต่ละเวอร์ชั่นวัคซีนไว้บ้างก็ดี ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณยศ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงหลักการทำงาน และข้อดี ข้อเสีย ของวัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิดไว้อย่างน่าสนใจ

โดยหมอยง ระบุว่า "วัคซีนมีหลายชนิด ขณะนี้ที่อนุญาตให้ใช้ในมนุษย์ในภาวะปกติและฉุกเฉินที่ผ่านการทดลองมี 3 กลุ่ม และ 2 ใน 3 กลุ่ม ก็เป็นวัคซีนที่จะใช้จริงกับคนไทยด้วย"

1.) mRNA วัคซีน เช่น วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ / Moderna

วัคซีนชนิดนี้จะเป็น mRNA ที่ถูกห่อหุ้มด้วย lipid nanoparticle เมื่อฉีดเข้าไปที่กล้ามเนื้อ particle จะเข้าสู่ เซลล์กล้ามเนื้อ mRNA จะถูกถอดออก ใน cytoplasm หรือของเหลวในเซลล์ แล้วmRNA จะเข้าสู่ ribosome ทำการสร้างโปรตีน ตามรูปแบบที่กำหนด messenger RNA

ดังนั้น RNA ที่ใส่เข้าไปจะต้องมี Cap, 5’ UTR, spike RNA, 3’UTR และ poly A tail อยากให้พวกเราสนใจวิทยาศาสตร์ จะเข้าใจง่ายขึ้น ในรูปแบบที่กล่าวถึงโรงงาน ribosome จะสร้างโปรตีนตามกำหนดและ ส่งผ่านออกทาง golgi ออกสู่นอกเซลล์

โปรตีนที่สร้างออกมาจะเป็นแอนติเจนไปกระตุ้นร่างกายสร้างแอนติบอดี ที่เป็นภูมิต้านทานต่อโรคโควิด 19

ข้อดี >> วัคซีนชนิดนี้ทำได้ง่าย และเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว เพราะทำในโรงงาน กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูง

ข้อเสีย >> อยู่ที่ว่า RNA สลายตัวได้ง่าย เก็บที่อุณหภูมิต่ำมากๆ และวัคซีนชนิดนี้เป็นชนิดแรกที่ใช้ในมนุษย์ อาการข้างเคียงหลังฉีดพบได้บ่อยกว่า วัคซีนที่ทำโดยชนิดเก่า เช่นมีไข้ ปวดเมื่อย และผลระยะยาวคงต้องรอการศึกษาต่อไป เช่นติดตามเป็นปีหรือหลายปี

2.) ไวรัสvector (ของอังกฤษ, AstraZineca และรัสเซีย Spuknic V)

วัคซีนนี้จะใช้วิธีการเอาสารพันธุกรรมของไวรัส ใส่เข้าไปในไวรัสที่จะเป็นเวกเตอร์ หรือ ตัวฝากนั่นเอง ที่ใช้อยู่เป็น adenovirus, vesicula stomatitis virus ไม่ก่อโรคในคน

การใส่เข้าไปเข้าใจว่าเป็น cDNA ของ covid 19 เพื่อให้ไวรัส vector ส่งสารพันธุกรรม ของ covid-19 เข้าไปในเซลล์มนุษย์ เมื่อเข้าไปแล้ว ไวรัสจะถอดรูปพันธุกรรมที่ส่งเข้าไป จะต้องเข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ เพื่อลอกแบบ และเปลี่ยนให้เป็น mRNA ออกมาในไซโตพลาสซึม แล้วส่วนของ mRNA จะไปที่ ไรโบโซม เพื่อทำการสร้างโปรตีน ตามรูปแบบที่กำหนดไว้ คือ spike โปรตีน ส่งผ่านออกมาทาง golgi ออกนอกเซลล์เช่นเดียวกับ mRNA

โปรตีนที่ส่งออกมา จะทำหน้าที่เป็นแอนติเจนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี ต่อเชื้อโควิค 19

ข้อดี >> วัคซีนชนิดนี้ผลิตได้จำนวนมากได้ง่าย เพราะทำจากโรงงาน เป็น DNA จะมีความคงทนกว่า จึงสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2 - 8 องศา ราคาจะถูก เพราะทำได้จำนวนมาก

ข้อเสีย >> วัคซีนนี้เป็นชนิดใหม่เช่นเดียวกัน ผลระยะยาวจึงยังไม่ทราบ และ จะต้องคำนึงอีกประการหนึ่งคือขั้นตอนที่ผ่านนิวเคลียสของเซลล์ เราไม่ทราบว่าจะมีการรวมตัว integrate กับ DNA ของมนุษย์หรือไม่ หวังว่าคงไม่ ผลระยะยาวก็คงต้องติดตามต่อไป

3.) วัคซีนเชื้อตาย (ของจีน Sinovac, Sinopharm)

วิธีการผลิตจะใช้หลักการกับวัคซีน ที่ทำมาแต่ในอดีตเช่น วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนโปลิโอ พิษสุนัขบ้าและอื่นๆอีกหลายชนิด

นักวิทยาศาสตร์จะใช้เชื้อโควิด 19 เพราะเลี้ยงบน Vero cell เซลล์ชนิดนี้ ใช้ทำวัคซีนหลายชนิดเช่นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และใช้กันมานานมาก อย่างที่เราฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

เมื่อเพาะได้จำนวนไวรัสจำนวนมาก ก็จะเอามาทำลายฤทธิ์หรือฆ่าเชื้อให้ตายแล้วนำมา formulation ใส่สารกระตุ้นภูมิต้านทาน

ข้อดี >> วัคซีนชนิดนี้ โดยวิธีการทำจะเป็นวิธีที่เรารู้กันมาแต่โบราณ ในเรื่องความปลอดภัย เป็นเชื้อตายสามารถให้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ ภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อไม่ไปเพิ่มจำนวน แต่การกระตุ้นภูมิต้านทานจะได้ระดับต่ำกว่าวัคซีนที่กล่าวมาจากข้างต้น

ข้อเสีย >> ของวัคซีนชนิดนี้คือการผลิตจำนวนมาก จะทำได้ยาก เพราะไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสก่อโรค จะต้องเพาะเลี้ยง ในห้องชีวนิรภัยระดับสูง ต้นทุนในการผลิตจะมีต้นทุนสูง ไม่สามารถลดราคาลงให้ถูกลงได้ ในทำนองเดียวกันการผลิตจำนวนมากของวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย ก็จะมีขีดจำกัดด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top