วิเคราะห์ ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ 3 กลุ่ม ‘วัคซีนโควิด-19’ ที่อนุญาตให้ใช้ฉุกเฉินในมนุษย์ By ‘หมอยง’

สัญชาติญาณโดยอัตโนมัติของมนุษย์ทุกคนที่มี คือ "การเอาตัวรอด"

อารมณ์ว่าถ้าภัยมาถึงตัว ไม่ว่าจะ "ภัยเล็ก" หรือ "ภัยใหญ่" เราจะพยายามหาวิธีดิ้นรน เพื่อให้มันผ่านพ้นไปให้ได้ แม้วิธีการนั้นมันจะ "ชัวร์" หรือ "มั่วนิ่ม" ก็ไม่ติดขัดอันใด

ผลลัพธ์ของวัคซีนโควิด-19 ก็เช่นกัน ตอนนี้ เริ่มมีการนำเข้าวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของประเทศต่างๆ จากหลายบริษัทผู้ผลิตมาใช้กันมากขึ้น

นี่คือ "ทางรอด" แต่มันก็มี "ทางร่วง" แทรกปนมา เพราะกระแสของผลข้างเคียงต่าง ๆ นานาที่เป็นข่าว จากวัคซีนของบางประเทศ เช่น ฉีดไปอีก 8 วันกลับมาติดเชื้อใหม่ หรือฉีดไป แพ้หนัก ตายเลย

มันก็เลยเป็นอะไรที่เริ่มแยกไม่ออก ระหว่าง "ความเสี่ยง" กับ "ความซวย" ว่าตกลงผลของมันดีหรือร้ายกันแน่

พอเป็นแบบนี้ มันก็เลยเกิดกระแสวิจารณ์ในวงกว้างทั้งทั่วโลก และรวมถึงในประเทศไทย ที่กังวลในผลลัพธ์ที่อาจกระทบชีวิตพอสมควร

เพราะต้องยอมรับว่าการเร่งผลิตวัคซีนในครั้งนี้มีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงสูง...

สูงยังไง?

อย่าลืมนะว่าระยะเวลาการพัฒนาและทดสอบวัคซีนส่วนใหญ่โควิด-19 ในครั้งนี้ ‘สั้นมาก’ แค่ 10 เดือน ก็เริ่มเห็นนำวัคซีนเวอร์ชั่นต่างๆ ออกมาปล่อยของกันให้ว่อน

ซึ่งในความเป็นจริงนั้นกลุ่มวัคซีนของ "โรคอุบัติใหม่" ในอดีตก่อนหน้านี้ ยังต้องใช้เวลาพัฒนาและทดสอบกันร่วม 2 - 5 ปี ขึ้นไปเลย นั่นก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าวัคซีนที่ได้มานั้นใช้ได้ผล ปลอดภัย และป้องกันเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ไปเป็นชนิดย่อยๆ ได้ครอบคลุมที่สุด

แต่กับโควิด-19 มันต่างกัน!!

เพราะนี่คือโจทย์ที่ "ทิ้งเวลา" นาน ๆ ไม่ได้ วัคซีนจากแต่ละประเทศ ถูกดันออกมาเพื่อแข่งกับเวลา

• เวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

• เวลาที่จำนวนผู้เสียชีวิตไม่มีหยุดหย่อน

• และเวลาเดิมพันด้วยเศรษฐกิจของโลกใบนี้ที่หยุดชะงักไปเพราะไวรัสทำพิษ

มันจึงกลายเป็นการบีบแบบไม่มีทางเลือกนอกจากเร่งทำมันออกมาให้เร็วที่สุด

เอาเป็นว่าสุดท้าย ถ้ามันหมดทางเลือก เราก็ต้องยอมฉีด แต่จะฉีดทั้งทีก็ต้องรู้สรรพคุณ "ข้อดี - ข้อเสีย" ของแต่ละเวอร์ชั่นวัคซีนไว้บ้างก็ดี ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณยศ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงหลักการทำงาน และข้อดี ข้อเสีย ของวัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิดไว้อย่างน่าสนใจ

โดยหมอยง ระบุว่า "วัคซีนมีหลายชนิด ขณะนี้ที่อนุญาตให้ใช้ในมนุษย์ในภาวะปกติและฉุกเฉินที่ผ่านการทดลองมี 3 กลุ่ม และ 2 ใน 3 กลุ่ม ก็เป็นวัคซีนที่จะใช้จริงกับคนไทยด้วย"

1.) mRNA วัคซีน เช่น วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ / Moderna

วัคซีนชนิดนี้จะเป็น mRNA ที่ถูกห่อหุ้มด้วย lipid nanoparticle เมื่อฉีดเข้าไปที่กล้ามเนื้อ particle จะเข้าสู่ เซลล์กล้ามเนื้อ mRNA จะถูกถอดออก ใน cytoplasm หรือของเหลวในเซลล์ แล้วmRNA จะเข้าสู่ ribosome ทำการสร้างโปรตีน ตามรูปแบบที่กำหนด messenger RNA

ดังนั้น RNA ที่ใส่เข้าไปจะต้องมี Cap, 5’ UTR, spike RNA, 3’UTR และ poly A tail อยากให้พวกเราสนใจวิทยาศาสตร์ จะเข้าใจง่ายขึ้น ในรูปแบบที่กล่าวถึงโรงงาน ribosome จะสร้างโปรตีนตามกำหนดและ ส่งผ่านออกทาง golgi ออกสู่นอกเซลล์

โปรตีนที่สร้างออกมาจะเป็นแอนติเจนไปกระตุ้นร่างกายสร้างแอนติบอดี ที่เป็นภูมิต้านทานต่อโรคโควิด 19

ข้อดี >> วัคซีนชนิดนี้ทำได้ง่าย และเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว เพราะทำในโรงงาน กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูง

ข้อเสีย >> อยู่ที่ว่า RNA สลายตัวได้ง่าย เก็บที่อุณหภูมิต่ำมากๆ และวัคซีนชนิดนี้เป็นชนิดแรกที่ใช้ในมนุษย์ อาการข้างเคียงหลังฉีดพบได้บ่อยกว่า วัคซีนที่ทำโดยชนิดเก่า เช่นมีไข้ ปวดเมื่อย และผลระยะยาวคงต้องรอการศึกษาต่อไป เช่นติดตามเป็นปีหรือหลายปี

2.) ไวรัสvector (ของอังกฤษ, AstraZineca และรัสเซีย Spuknic V)

วัคซีนนี้จะใช้วิธีการเอาสารพันธุกรรมของไวรัส ใส่เข้าไปในไวรัสที่จะเป็นเวกเตอร์ หรือ ตัวฝากนั่นเอง ที่ใช้อยู่เป็น adenovirus, vesicula stomatitis virus ไม่ก่อโรคในคน

การใส่เข้าไปเข้าใจว่าเป็น cDNA ของ covid 19 เพื่อให้ไวรัส vector ส่งสารพันธุกรรม ของ covid-19 เข้าไปในเซลล์มนุษย์ เมื่อเข้าไปแล้ว ไวรัสจะถอดรูปพันธุกรรมที่ส่งเข้าไป จะต้องเข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ เพื่อลอกแบบ และเปลี่ยนให้เป็น mRNA ออกมาในไซโตพลาสซึม แล้วส่วนของ mRNA จะไปที่ ไรโบโซม เพื่อทำการสร้างโปรตีน ตามรูปแบบที่กำหนดไว้ คือ spike โปรตีน ส่งผ่านออกมาทาง golgi ออกนอกเซลล์เช่นเดียวกับ mRNA

โปรตีนที่ส่งออกมา จะทำหน้าที่เป็นแอนติเจนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี ต่อเชื้อโควิค 19

ข้อดี >> วัคซีนชนิดนี้ผลิตได้จำนวนมากได้ง่าย เพราะทำจากโรงงาน เป็น DNA จะมีความคงทนกว่า จึงสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2 - 8 องศา ราคาจะถูก เพราะทำได้จำนวนมาก

ข้อเสีย >> วัคซีนนี้เป็นชนิดใหม่เช่นเดียวกัน ผลระยะยาวจึงยังไม่ทราบ และ จะต้องคำนึงอีกประการหนึ่งคือขั้นตอนที่ผ่านนิวเคลียสของเซลล์ เราไม่ทราบว่าจะมีการรวมตัว integrate กับ DNA ของมนุษย์หรือไม่ หวังว่าคงไม่ ผลระยะยาวก็คงต้องติดตามต่อไป

3.) วัคซีนเชื้อตาย (ของจีน Sinovac, Sinopharm)

วิธีการผลิตจะใช้หลักการกับวัคซีน ที่ทำมาแต่ในอดีตเช่น วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนโปลิโอ พิษสุนัขบ้าและอื่นๆอีกหลายชนิด

นักวิทยาศาสตร์จะใช้เชื้อโควิด 19 เพราะเลี้ยงบน Vero cell เซลล์ชนิดนี้ ใช้ทำวัคซีนหลายชนิดเช่นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และใช้กันมานานมาก อย่างที่เราฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

เมื่อเพาะได้จำนวนไวรัสจำนวนมาก ก็จะเอามาทำลายฤทธิ์หรือฆ่าเชื้อให้ตายแล้วนำมา formulation ใส่สารกระตุ้นภูมิต้านทาน

ข้อดี >> วัคซีนชนิดนี้ โดยวิธีการทำจะเป็นวิธีที่เรารู้กันมาแต่โบราณ ในเรื่องความปลอดภัย เป็นเชื้อตายสามารถให้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ ภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อไม่ไปเพิ่มจำนวน แต่การกระตุ้นภูมิต้านทานจะได้ระดับต่ำกว่าวัคซีนที่กล่าวมาจากข้างต้น

ข้อเสีย >> ของวัคซีนชนิดนี้คือการผลิตจำนวนมาก จะทำได้ยาก เพราะไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสก่อโรค จะต้องเพาะเลี้ยง ในห้องชีวนิรภัยระดับสูง ต้นทุนในการผลิตจะมีต้นทุนสูง ไม่สามารถลดราคาลงให้ถูกลงได้ ในทำนองเดียวกันการผลิตจำนวนมากของวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย ก็จะมีขีดจำกัดด้วย