Tuesday, 20 May 2025
PoliticsQUIZ

“ทิพานัน” ซัด “ธนาธร” เรื่องการรุกป่าขอให้พูดความจริง ทั้งที่มีประสบการณ์โชกโชน วอนหยุดสร้างความเข้าใจผิดให้สังคม - ชาวบางกลอย ย้ำเชื่อมั่นรัฐบาลจริงใจแก้ปัญหา ไม่เหมือนเอ็มโอยูบลายทรัสต์ปาหี่

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตจอมทอง - ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ขึ้นเวทีของกลุ่มพีมูฟและภาคีเซฟบางกลอยและกล่าวว่าป่าใดที่มีชุมชนก็จะเป็นป่าที่ยั่งยืน ป่าใดที่ไม่มีชุมชนก็มักจะเป็นป่าที่ไม่ยั่งยืน ว่า นายธนาธรคงสับสนประเภทป่าต่าง ๆ

และความหมายของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงแสดงความคิดเห็นออกมาว่าป่าที่มีชุมชนเป็นป่าที่ยั่งยืน และแนวความคิดนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นายธนาธรและครอบครัวมีประสบการณ์โชกโชน กำลังถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติกว่า 2,000 ไร่ ดังนั้นนายธนาธรจึงไม่ควรไปให้ความเห็นผิด ๆ กับสังคมและชาวบางกลอย

“ที่นายธนาธรพูดนั้นเป็นความหมายของ ‘ป่าชุมชน’ ตาม พรบ. ป่าชุมชน 2562 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า ‘ป่าชุมชนโดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษาตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน’ แต่ป่าชุมชนต้องเป็นป่านอกเขตอนุรักษ์ ดังนั้นบริเวณใจแผ่นดิน พื้นที่บางกลอยไม่สามารถจัดการในรูปแบบป่าชุมชนได้เพราะอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ เป็นป่าต้นน้ำ

ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นสวยงามทางธรรมชาติเป็นพิเศษหรือมีความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่า ที่สมควรสงวนหรืออนุรักษ์ไว้เพื่อประโยชน์ของคนในชาติหรือเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติหรือนันทนาการของประชาชนอย่างยั่งยืน” น.ส ทิพานัน กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ผืนป่าแก่งกระจานเพื่อประโยชน์ทางนิเวศน์และเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นถัดไปในอนาคตไม่เพียงแต่เพื่อคนไทย แต่ต้องการเพื่อให้เป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติจึงผลักดันให้แก่งกระจานเป็นมรดกโลก ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงและยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงมีความจริงใจที่จะอนุรักษ์ผืนป่าและคุ้มครองดูแลให้กลุ่มชาติพันธุ์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

โดยที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านโป่งลึก - บางกลอยได้รับการจัดสรรที่ดินครอบครัวละ 7 ไร่ 3 งาน มีผู้ถือครองที่ดินจำนวน 260 ราย 337 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 1,890 ไร่ และจากการเชิญทูตจาก 10 ประเทศประจำประเทศไทย IUCN ผู้แทนรัฐภาคีสมาชิกในคณะกรรมการมรดกโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ก็ได้เห็นการจัดการของเจ้าหน้าที่ การทำงาน และความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งทุกประเทศต่างก็มีความพอใจการทำงานที่ได้ไปพบเห็นมาและชื่นชมในความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

น.ส ทิพานัน กล่าวว่า "สิ่งที่นายธนาธรพูดว่า รัฐบาลไม่เห็นคุณค่าของประชาชน คนกะเหรี่ยงบางกลอยเขาอยู่ในพื้นที่มานานก่อนที่จะมีกฎหมาย ก่อนที่จะมีอุทยานเสียอีก ก็เป็นการพูดที่ขาดข้อมูลความจริง ความจุสมองและความสามารถในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของนายธนาธรคงมีจำกัดจึงไม่ทราบว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการตรวจพิสูจน์สิทธิ์ในที่ทำกินในพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน โดยดูแต่ละช่วงปีตามหลักฐานภาพถ่ายดาวเทียม เพราะก่อนจะประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ก็เป็นพื้นที่ป่าตาม พรบ.ป่าไม้ 2484 และ พรบ.รักษาป่า 2456 ด้วย และหากพบว่าประชาชนอยู่มาก่อนก็จะเป็นสิทธิ์ของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ยังจะจัดสรรที่ทำกินที่เหมาะสมให้ชาวบ้านที่ยังไม่มีที่ทำกิน ส่วนพื้นที่ที่จัดสรรแล้วแต่ทำกินไม่ได้ ก็กำลังพัฒนาที่ดิน จัดระบบสาธารณูปโภคให้ ดังนั้นรัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมทั้งกลุ่มชาวบ้านที่ต้องการใช้ประโยชน์ และประชาชนทั่วไปที่ได้ประโยชน์จากป่าแก่งกระจาน ทั้งเพื่อคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นถัดไปในอนาคตด้วย"

สำหรับที่นายธนาธรสื่อสารว่ากลุ่มชาวบ้านบางกลอยไม่ต้องการทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU กับรัฐเพราะคิดว่าจะฉีกเมื่อไหร่ก็ได้นั้น อาจเป็นเพราะกลุ่มชาวบ้านเคยได้ยินการจัดทำ MOU ปาหี่เรื่อง "บลายทรัสต์" มาแน่นอน ทั้งนี้ขอให้ชาวบ้านมั่นใจว่ารัฐบาลแตกต่างจากนายธนาธรที่พูดแล้วไม่ทำ และเหตุที่ต้องสื่อสารย้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อไม่ให้ประชาชนบางกลุ่มหลงเชื่อข้อมูลผิด ๆ จากนายธนาธร

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “อัษฎางค์ ยมนาค” ชี้ชวนให้คนไทย “มาร่วมภูมิใจในความเป็นไทยกัน” ว่า...

อยากมาชวนให้ชมคลิปนี้ โดยเฉพาะคนไทยที่ไม่รักเมืองไทย หรือจะใช้คำว่าชังชาติก็ได้ และถูกแหกตาด้วยการพูดกรอกหูว่า เมืองไทยมีแต่สิ่งไม่ดีและล้าหลัง

คลิปนี้โรซี่ ครูสอนภาษาอังกฤษ ที่หลงรักเมืองไทยและเรียนภาษาไทยตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยที่อังกฤษ ปัจจุบันอยู่เมืองไทยมา 7 ปีแล้ว

โรซี่: สัมภาษณ์ชาวอังกฤษด้วยกัน ที่อพยพมาอยู่เมืองไทยถาวร ผู้ชายคนนี้ชื่อ ญวน

ซึ่งชื่อเขาเป็นภาษาที่ค่อนข้างแปลกหูเพราะเขาเป็นชาวอังกฤษที่มีเชื้อสายไอริชและสก๊อต

ญวน: เล่าว่าเขามาเมืองไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้วตอนเขาอายุ 17 ปี

โดยแวะเข้ามาในเมืองไทยแค่ 2 วันเท่านั้นก็ตกหลุมรักเมืองไทยทันที และบอกตัวเองว่าจะกลับมาที่เมืองไทยอีก

ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงรายและกำลังเรียนปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เอกภาษาไทย ซึ่งเค้าบอกว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุด

เขามีลูกอายุ 8 เดือนและภรรยาเป็นสาวใต้

เขาบอกว่าเขาสามารถพูดไทยกลางได้ดี แต่ภาษาเหนือฟังได้รู้เรื่องแต่พูดไม่ได้

นอกจากนี้เขายังได้ฟังภาษาใต้จากภรรยาซึ่งเป็นคนใต้อีกด้วย

เขาเลยอยากได้เพื่อนเป็นคนอีสานเพื่อจะได้รู้ภาษาไทยครบทุกภาค

โรซี่: บอกว่า 4 ภาคของไทย มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งภาษาและอาหารเป็นต้น ซึ่งต่างจากสหราชอาณาจักร ที่ประกอบด้วยสี่ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ และเวลส์ นั้นกลับไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนเหมือนสี่ภาคของไทย

โรซี่: ถามว่าเรียกใครว่าพี่หรือน้องบ้างหรือไม่

ญวน: ตอบว่าจะเรียกเฉพาะคนที่อายุมากกว่าหรือน้อยกว่ามากๆ เท่านั้นส่วนคนที่อายุใกล้กันจะไม่เรียกพี่เล่นหรือน้อง

และจะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจถ้าจะต้องเรียกใครว่าลุงหรือป้าเพราะรู้สึกว่ากำลังไปว่าเขาเป็น ”คนแก่”

เพราะวัฒนธรรมของฝรั่งจะไม่เรียกคนโดยการแบ่งตามอายุ

โรซี่: บอกว่าการที่เรียกลุงป้าน้าอาพี่น้องคือการแสดงความเคารพนับถือของผู้ใหญ่และเด็กซึ่งเป็นวัฒนธรรมของไทยที่งดงามมาก

โรซี่: ถามญวนว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ตกหลุมรักเมืองไทย และชอบอะไรในเมืองไทย

ญวน: ตอบว่า

1 อาหารไทย

2 วัฒนธรรมไทย

3 ความเป็นธรรมชาติอันสวยงามของเมืองไทย

เขายังยกตัวอย่างว่าขนาดเที่ยงคืนยังสามารถออกมาหาอาหารข้างทางที่เอร็ดอร่อยกินได้

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก

จำกันได้ใช่มั้ยว่า ใครบอกให้คนไทยเลิกเรียกกันว่า พี่น้อง ลุงป้าน้าอา เพื่อความเสมอภาค

ใครบอกให้เลิกยกมือไหว้ ใครบอกว่าการยิ้ม คือคนที่โง่เพราะไม่รู้จะพูดอะไรก็ยิ้มไว้ก่อน

แต่ความจริงจารีตประเพณีของไทยเรากลับถูกฝรั่งชื่นชม ยกย่อง สรรเสริญ

ทำไมต้องชังชาติ

ทำไมต้องดูถูกความเป็นไทย

ทำไมต่อต้านความเป็นไทย

ทำไมถึงคิดว่าต้องต่อต้านและยกเลิกความเป็นไทยเพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาค และการเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้า

เราภูมิใจในความเป็นไทยไม่ได้หรือ

อัษฎางค์ ยมนาค

ชมคลิปตามลิงค์นี้ https://fb.watch/4glo-khURq/


ที่มา: https://www.facebook.com/1234993066616474/posts/3924271071021980/

มูลนิธิรำลึก 18 พฤษภาคมแห่งนครควังจู สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ออกแถลงการณ์เรียกร้องทางการไทย หยุดคุกคามนักกิจกรรมในเรือนจำ

ความว่า มูลนิธิรำลึก 18 พฤษภาคม ขอเตือนทางรัฐบาลไทยว่า โลกกำลังจับตามองปฏิบัติการ อันน่าสงสัยของเจ้าหน้าที่ และรัฐบาลไทยในการความพยายามกระทำการ ต่อ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2017 และ นายอานนท์ นำภา ผู้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2021 กับเพื่อนนักกิจกรรมของเขา ในคืนวันที่ 15 มีนาคม 2564

ทางเจ้าหน้าที่รัฐของไทยได้ใช้ความพยายามอันน่าสงสัยถึง 3 ครั้ง เพื่อจะนำเอาตัว นายจตุภัทร์และนายอานนท์กับพวกไปยังส่วนอื่นของเรือนจำ ในเวลากลางดึกจนถึงช่วงวันใหม่ และพวกเรามีความกังวลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัย ของผู้ได้รับรางวัลทั้งสองกับเพื่อนนักกิจกรรมของเขาเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้นทางมูลนิธิฯ กับกลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติ จะจับตาปฏิบัติการของรัฐบาลไทย ที่กระทำกับพวกเขาอย่างใกล้ชิด ในโอกาสนี้ ทางมูลนิธิขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้ได้รับรางวัลของเรา และเพื่อนนักกิจกรรมของเขาในทันที

ทั้งนี้มูลนิธิรำลึก 18 พฤษภาคม แห่งนครควังจู สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เป็นมูลนิธิที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรำลึกวีรชนและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้กับโลก มูลนิธิเกิดขึ้นจากการรวมตัวของครอบครัววีรชนชาวควังจู ที่ลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารเกาหลีใต้ในปี 1980 ซึ่งทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก

และในระหว่างเรียกร้องความเป็นธรรมนั้น ก็มีผู้สละชีวิตประท้สวงรัฐบาลเกาหลีใต้ให้หันมาสนใจ และคืนความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อเกาหลีใต้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การเรียกร้องให้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และคืนความเป็นธรรมให้กับวีรชนและครอบครัวผู้เสียชีวิต ชาวควังจูก็ได้เล็งเห็นความสำคัญในการรณรงค์ เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

จึงได้มอบรางวัลสิทธิมนุษยชนฯ ดังกล่าว แก่ผู้มีผลงานในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมามูลนิธิรำลึก 18 พฤษภาคม ได้มอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้แก่ ซานาน กุสเมา ปี 2000, อองซานซูจี ปี 2004 ในบทบาทยุคที่ถูกเผด็จการทหารกักตัว, สำหรับประเทศไทย ผู้ได้รับรางวัลนี้ได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร ปี 2006, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ปี 2017 และ นายอานนท์ นำภา ปี 2021


ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/politic/2051601

'พานทองแท้' บ่นตอนพ่อเป็นนายกฯ ไปเจรจาระหว่างประเทศ เคยนั่งเครื่องไปด้วยหลายสิบครั้ง เสียดายที่ตอนนั้นไม่ได้เรียนรู้เทคนิคการเจรจาระดับสูงจากพ่ออย่างเต็มที่ ก่อนถามเสียดายโอกาสของประเทศไทยที่หายไปกันบ้างหรือเปล่า

จากเฟซบุ๊ก Oak Panthongtae Shinawatra ของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาหลบหนีคดีอาญาแผ่นดิน ได้โพสต์ข้อความเล่าความหลังว่า...

“โดนจับนั่งเครื่องไปด้วยตอนพ่อเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเจรจาระหว่างประเทศหลายสิบครั้ง #ไปเองจ่ายเองนักเลงพอ #ไม่ใช้เงินหลวง #NoDrama

ตอนนั้นยังเรียนไม่จบเพิ่ง 20 ต้น ๆ ยังไม่สนใจการเมือง จึงไม่สนใจว่าพ่อจะเจรจาอย่างไรบ้าง เพิ่งจะได้ฟังเทคนิคการเจรจาระดับสูงจากพ่อ ตอนมาฟังคลับเฮาส์พร้อมๆ กับ Tony’s FC วันนี้นี่เอง ฟังแล้วก็คิดถึง และเสียดายที่ตอนนั้นไม่ได้เรียนรู้จากพ่ออย่างเต็มที่

เพื่อน ๆ ล่ะครับ!! เสียดายโอกาสของประเทศไทย ที่หายไปกันบ้างหรือเปล่า? #tonywoodsome”


ที่มา: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000025528

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้ากลุ่มไทยภักดี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก​ เกี่ยวกับกรณี​ 'เพนกวิน'​

ผมได้เห็นภาพจริงที่เพนกวิน อาละวาดศาล ในทวิตเตอร์ของ Andrew MacGregor Marshall อดีตสื่อต่างชาติในไทย และหนีคดี 112 สิ่งที่น่าสังเกต

1.​ เพนกวินมีการอ่านเอกสารที่จัดเตรียมมาก่อน

2.​ มีการคล้องแขน ล้อมกรอบ ไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงเพนกวิน

3.​ มีการถ่ายภาพจริงออกมา และฝรั่งต่างชาติไปเผยแพร่

สิ่งที่เห็นจึงเป็นการยืนยันว่า มีการวางแผน เพื่อทำลายเครดิต นอกจากสถาบันเบื้องสูง ทหาร ยังรวมถึงสถาบันตุลาการของไทย และเผยแพร่โดยชาวต่างชาติ ซึ่งสอดรับกับภรรยาชาวฝรั่งเศส ของนักการเมืองคนหนึ่ง ก็ทำงานอ้างว่าวิจัย เพื่อทำลายสามสถาบันนี้มาก่อน

เพนกวินอาจจะเล่นสมบท และได้รับรางวัล​ "วีระรัฐบุรุษ" เพื่อเอาใจให้เหลิงในแสง แต่ก็ช่วยไม่ได้ที่ตัวเขาต้องรับกรรม

นี่คือการพิสูจน์ว่า กระบวนการนักการเมืองชั่ว ร่วมกับอาจารย์ นักวิชาการหัวรุนแรง ปั่นหัวศิษย์เลว ร่วมมือกับต่างชาติ เพื่อหวังครอบงำประเทศ ผ่านกระบวนการชักศึกเข้าบ้าน วิธีการที่เราจะชนะเขาคือ การรู้เท่าทันนั้นไม่พอ เราคนไทยต้องรักและสามัคคีกันด้วย เพื่อไม่ให้ไทยเราเป็นเหยื่ออย่างบางประเทศในตะวันออกกลาง


ที่มา : https://www.facebook.com/1635406246730420/posts/2869483936655972/

ประธานรัฐสภา ‘ชวน หลีกภัย’ เห็นใจคนคิดแก้รัฐธรรมนูญ ชี้รัฐธรรมนูญ 60 เขียนให้แก้ยาก เปิดช่องแก้รายมาตราง่ายกว่า

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. เวลา 08.05 น. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการดำเนินการต่อไปภายหลังที่ประชุมรัฐสภาลงมติโหวตไม่เห็นชอบการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในวาระ 3 ว่า จบไปแล้ว ส่วนการเสนอแก้รายมาตรานั้น คงต้องเสนอในสมัยประชุมหน้า

ขณะที่ประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับและการทำประชามติ ยังไม่มีอะไรชัดเจน ทางสภาเองก็ได้มีการหารือว่าจะมีกระบวนการในการทำอย่างไร ซึ่งยังตอบไม่ได้ แต่ถ้ากรณีที่จะทำใหม่ หากพูดตามจริงในขณะนี้หน้าตาเป็นอย่างไร จะเริ่มอย่างไร ก็คงไม่มีใครตอบได้

นายชวน กล่าวว่า "หลังจากปิดสมัยประชุมในวันนี้ ตนจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปศึกษารายละเอียด ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เน้นย้ำว่าจะต้องทำประชามติเสียก่อน ว่าจะต้องมีกระบวนการอย่างไร ซึ่งเราจะต้องดู ต้องตั้งคำถามอย่างไร เพราะในรัฐธรรมนูญไม่มีระบุ"

"เมื่อถามว่าจำเป็นต้องถามกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่องการทำประชามติ นายชวน กล่าวว่า เป็นงานด้านบริหาร ศาลก็วินิจฉัยไปตามข้อกฎหมายแต่วิธีการปฏิบัติไม่แน่ใจว่าศาลทราบหรือไม่"

เมื่อถามว่าเป็นไปไม่ได้แล้วใช่หรือไม่ที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายชวน กล่าวว่า "ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญเขียนเพื่อไม่ให้แก้ไข หลักๆ คือเขียนเพื่อให้แก้ยากที่สุด ฉะนั้นไม่ง่ายตั้งแต่ต้น ก็เห็นใจคนที่คิดจะแก้ไขเพราะเราจะเห็นว่าการแก้มันยากมาก เงื่อนไขต่าง ๆ เช่น การลงคะแนนเสียงของสมาชิก หรือวุฒิสภาต้องไม่น้อยกว่าเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายแต่ด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือไม่ต้องการให้แก้ แต่ก็ไม่ถึงกับขั้นแก้ไม่ได้เลย หากมีการแก้รายมาตราอาจจะง่ายกว่า แต่ทางศาลรัฐธรรมนูญไปตีความว่าการแก้จะมีผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญ 2560"

‘เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส’ เหน็บ ‘บางพรรค’ เล่นใหญ่ใจไม่ถึง แสดงละครหลอกประชาชน ทำทีโวยวาย สุดท้ายหลบไม่ลงคะแนน เย้ยนักเลือกตั้งยอมเผด็จการสืบทอดอำนาจต่อ

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. เวลา 08.30 น.ที่รัฐสภา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงการลงมติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า เป็นความประสงค์ของผู้มีอำนาจ ที่ยึดอำนาจมา เขียนรัฐธรรมนูญและ ตั้งศาลรัฐธรรมนูญเอง ฝ่ายค้านพยายามทำเต็มที่ที่สุดแล้ว

แต่มีขบวนการเหนี่ยวรั้งตลอดเวลา และนักการเมืองก็ยอมให้ยึดอำนาจของเราไปให้ศาลตามที่เขาต้องการ เพื่อให้ ส.ว.250 คนเลือกนายกฯ ต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นการสืบทอดอำนาจตามที่วางแผนเอาไว้ แต่ก็อยู่ที่ฝ่ายการเมืองทั้งที่มาจากการเลือกตั้งยังไปสนับสนุนเผด็จการกันอีก

"เมื่อคืนก็แสดงบทบาทไม่เอาอย่างนั้นอย่างนี้ โวยวายในสภาแล้วก็หลบไม่ลงคะแนน ควรจะลงคะแนนแม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะแพ้ก็ยังดูดี ไม่ใช่มาเล่นบทหลอกลวงประชาชนไปวัน ๆ เพราะต้องใช้เสียง ส.ว .84 คนเขาไม่ยกให้หรอก มีเพียง 2 เท่านั้นที่ยกให้ แม้ฝ่ายค้านจะยกเต็มที่เท่าไหร่ก็แพ้ เราก็ต้องรอเลือกตั้งกันใหม่ และให้พี่น้องประชาชนตัดสินใจ จะปล่อยบ้านเมืองเป็นอย่างนี้หรือ" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

ตัวถ่วงประชาธิปไตย 'ชัยธวัช' ชี้ คนไทยรู้สึกแล้ว ส.ว.ไม่จำเป็น ย้ำ สภาเดี่ยว - ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ - องค์กรอิสระ เป็นเรื่องสำคัญ ต้องชัดเป็นคำถามพ่วงในประชามติด้วย

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2564 ที่อาคารรัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลังมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในสมัยประชุมวิสามัญ ในการพิจารณาเเก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย ในวาระ 3 มีมติโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาเเละสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎรฝั่งรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่โหวตรับร่างดังกล่าว

นายชัยธวัช กล่าวว่า จากเมื่อวานนี้ (17 มี.ค. 64) ที่มติสภามีการการคว่ำวาระที่ 3 ของร่างเเก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการเเสดงให้เห็นชัดเจนว่า อุปสรรคที่สำคัญในการขัดขวางการเปลี่ยนผ่านจากระบอบคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) มาสู่ระบอบประชาธิปไตย คือ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เเละสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎรฝั่งรัฐบาลจำนวนหนึ่ง

ซึ่งมีเจตนาที่ไม่ต้องการให้ที่จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( สสร.) ขึ้นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น ประเด็นที่อ้างว่าจะต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น

“พฤติการณ์ที่ผ่านมามันชัดเจนมาโดยตลอดว่า ผู้มีอำนาจร่วมมือกับสว.เเละ ส.ส.จำนวนหนึ่ง พยายามเตะถ่วงมาโดยตลอดให้นานที่สุด ให้ประเทศไทยอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับคสช. (2560) ให้ยาวนานที่สุด เเละไม่มีความต้องการที่จะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ดังนั้นประเด็นเรื่องจะทำประชามติ หรือไม่ทำประชามติ หรือต้องทำประชามติตอนไหน เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น เมื่อวานคือ บทสรุปของกระบวนการที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน เเละการที่พรรคร่วมรัฐบาล( ภูมิใจไทย ) จำนวนหนึ่งออกจากห้องประชุมสภาผู้เเทนราษฎรโดยไม่ร่วมลงมติในวาระ 3 และให้เหตุผลว่าควรจะมีการเลื่อนวาระที่ 3 ออกไปก่อน

เพื่อไปถามศาลรัฐธรรมนูยอีกครั้งเพื่อให้มีความชัดเจนนั้น อันนี้ก็เป็นเพียงข้ออ้างเช่นกัน เเละยิ่งเป็นการทำให้หลงทิศหลงทาง เพราะจะทำให้เป็นการเตะถ่วงยืดเยื้อไปอีกนานไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็ไปหลอกคว่ำ หลอกประชาชนในท้ายที่สุด ยิ่งเป็นการสร้างความเสียหาย เสียโอกาสสำหรับสังคมไทยในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปอีก อย่างกรณี ที่อ้างว่าควรจะเลื่อนไปก่อน เเล้วไปถามศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความอีกครั้ง ก็จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเสนอร่างเเก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในลักษณะคล้ายกันก็จะไม่สามารถกระทำได้ในสมัยประชุมหน้า คือจะยืดไปอีก เพื่อไปเริ่มในเดือนพฤศจิกายน ยิ่งเป็นการหลอกต้มประชาชนนานเกินไป" นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า "ประเด็นสำคัญไม่ใช่ควรจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ หรืออ้างว่าไม่ต้องการที่จะร่วมสังฆกรรมเพื่อล้มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยมือตนเอง เเต่ควรจะไปถามเเกนนำรัฐบาล โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เเละพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเเละหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่า จะรับผิดชอบอย่างไรกับการหักหลังประชาชนเช่นนี้ พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคหากมีความจริงใจจริง ๆ ต้องการผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริงๆ ต้องถามความรับผิดชอบจากเเกนนำพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี เเละหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ"

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการคว่ำร่างเเก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เมื่อวานนี้เเล้ว ( 17 มีค 64 ) โดยอ้างว่าต้องไปถามประชาชนก่อนผ่านการทำประชามติ ดังนั้น ก็ถือว่าเป็นความผิดชอบของรัฐบาล หลังจากที่พระราชบัญญัติประชามติ พ.ศ.... ที่จะพิจารณาในวันนี้ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเเละมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย หลังจากนี้รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบที่จะต้องจัดทำประชามติโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นคนตัดสินใจ ลงมติทั้งประเทศเห็นชอบหรือไม่ ที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เเล้วให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ผ่านการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

นอกจากนั้น อาจมีความจำเป็นต้องถามในประเด็นที่สำคัญ เป็นคำถามพ่วงไปด้วย เช่น ประชาชนเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้มีสมาชิกวุฒิสภา ( สว.) อยู่ต่อไป หรือเห็นชอบหรือไม่ที่จะต้องมีการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญเเละองค์กรอิสระอื่น ๆ เพราะเป็นประเด็นใหญ่ที่เสียงของประชาชนมีความชอบธรรมที่สุดที่จะลงมติ โดยในเช้าวันนี้ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีการประชุมหารืออีกครั้ง

"ต้องยอมรับว่าจนถึงปัจจุบันนี้ ประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมี ส.ว อีกเเล้ว การมี ส.ว.กลับเป็นตัวถ่วงในการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ นอกจากจะถามว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ คำถามประเภทนี้อาจจำเป็นที่จะต้องถามคำถามพ่วงไปด้วย" ชัยธวัช กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top