“ทิพานัน” ซัด “ธนาธร” เรื่องการรุกป่าขอให้พูดความจริง ทั้งที่มีประสบการณ์โชกโชน วอนหยุดสร้างความเข้าใจผิดให้สังคม - ชาวบางกลอย ย้ำเชื่อมั่นรัฐบาลจริงใจแก้ปัญหา ไม่เหมือนเอ็มโอยูบลายทรัสต์ปาหี่

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตจอมทอง - ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ขึ้นเวทีของกลุ่มพีมูฟและภาคีเซฟบางกลอยและกล่าวว่าป่าใดที่มีชุมชนก็จะเป็นป่าที่ยั่งยืน ป่าใดที่ไม่มีชุมชนก็มักจะเป็นป่าที่ไม่ยั่งยืน ว่า นายธนาธรคงสับสนประเภทป่าต่าง ๆ

และความหมายของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงแสดงความคิดเห็นออกมาว่าป่าที่มีชุมชนเป็นป่าที่ยั่งยืน และแนวความคิดนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นายธนาธรและครอบครัวมีประสบการณ์โชกโชน กำลังถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติกว่า 2,000 ไร่ ดังนั้นนายธนาธรจึงไม่ควรไปให้ความเห็นผิด ๆ กับสังคมและชาวบางกลอย

“ที่นายธนาธรพูดนั้นเป็นความหมายของ ‘ป่าชุมชน’ ตาม พรบ. ป่าชุมชน 2562 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า ‘ป่าชุมชนโดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษาตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน’ แต่ป่าชุมชนต้องเป็นป่านอกเขตอนุรักษ์ ดังนั้นบริเวณใจแผ่นดิน พื้นที่บางกลอยไม่สามารถจัดการในรูปแบบป่าชุมชนได้เพราะอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ เป็นป่าต้นน้ำ

ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นสวยงามทางธรรมชาติเป็นพิเศษหรือมีความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่า ที่สมควรสงวนหรืออนุรักษ์ไว้เพื่อประโยชน์ของคนในชาติหรือเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติหรือนันทนาการของประชาชนอย่างยั่งยืน” น.ส ทิพานัน กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ผืนป่าแก่งกระจานเพื่อประโยชน์ทางนิเวศน์และเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นถัดไปในอนาคตไม่เพียงแต่เพื่อคนไทย แต่ต้องการเพื่อให้เป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติจึงผลักดันให้แก่งกระจานเป็นมรดกโลก ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงและยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงมีความจริงใจที่จะอนุรักษ์ผืนป่าและคุ้มครองดูแลให้กลุ่มชาติพันธุ์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

โดยที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านโป่งลึก - บางกลอยได้รับการจัดสรรที่ดินครอบครัวละ 7 ไร่ 3 งาน มีผู้ถือครองที่ดินจำนวน 260 ราย 337 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 1,890 ไร่ และจากการเชิญทูตจาก 10 ประเทศประจำประเทศไทย IUCN ผู้แทนรัฐภาคีสมาชิกในคณะกรรมการมรดกโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ก็ได้เห็นการจัดการของเจ้าหน้าที่ การทำงาน และความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งทุกประเทศต่างก็มีความพอใจการทำงานที่ได้ไปพบเห็นมาและชื่นชมในความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

น.ส ทิพานัน กล่าวว่า "สิ่งที่นายธนาธรพูดว่า รัฐบาลไม่เห็นคุณค่าของประชาชน คนกะเหรี่ยงบางกลอยเขาอยู่ในพื้นที่มานานก่อนที่จะมีกฎหมาย ก่อนที่จะมีอุทยานเสียอีก ก็เป็นการพูดที่ขาดข้อมูลความจริง ความจุสมองและความสามารถในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของนายธนาธรคงมีจำกัดจึงไม่ทราบว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการตรวจพิสูจน์สิทธิ์ในที่ทำกินในพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน โดยดูแต่ละช่วงปีตามหลักฐานภาพถ่ายดาวเทียม เพราะก่อนจะประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ก็เป็นพื้นที่ป่าตาม พรบ.ป่าไม้ 2484 และ พรบ.รักษาป่า 2456 ด้วย และหากพบว่าประชาชนอยู่มาก่อนก็จะเป็นสิทธิ์ของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ยังจะจัดสรรที่ทำกินที่เหมาะสมให้ชาวบ้านที่ยังไม่มีที่ทำกิน ส่วนพื้นที่ที่จัดสรรแล้วแต่ทำกินไม่ได้ ก็กำลังพัฒนาที่ดิน จัดระบบสาธารณูปโภคให้ ดังนั้นรัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมทั้งกลุ่มชาวบ้านที่ต้องการใช้ประโยชน์ และประชาชนทั่วไปที่ได้ประโยชน์จากป่าแก่งกระจาน ทั้งเพื่อคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นถัดไปในอนาคตด้วย"

สำหรับที่นายธนาธรสื่อสารว่ากลุ่มชาวบ้านบางกลอยไม่ต้องการทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU กับรัฐเพราะคิดว่าจะฉีกเมื่อไหร่ก็ได้นั้น อาจเป็นเพราะกลุ่มชาวบ้านเคยได้ยินการจัดทำ MOU ปาหี่เรื่อง "บลายทรัสต์" มาแน่นอน ทั้งนี้ขอให้ชาวบ้านมั่นใจว่ารัฐบาลแตกต่างจากนายธนาธรที่พูดแล้วไม่ทำ และเหตุที่ต้องสื่อสารย้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อไม่ให้ประชาชนบางกลุ่มหลงเชื่อข้อมูลผิด ๆ จากนายธนาธร