Tuesday, 20 May 2025
PoliticsQUIZ

นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีปัญหาพี่น้องชาวกะเหรี่ยงบางกลอยว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชน การบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐานตั้งแต่ปี 2539 และปี 2554 จนมาถึง ปี 2564

ของเจ้าหน้าที่รัฐต่อพี่น้องชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเป็นการกระทำที่ไม่เคารพสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เป็นการโยกย้ายที่ไม่ชอบด้วยหลักการสากลที่รัฐบาลลงนามกับนานาอารยะประเทศ

ตนในนาม ส.ส.พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ เมื่อทราบว่ามีการใช้กฎหมายที่รุนแรง จึงได้นำเรื่องเข้าสู่กรรมาธิการสามัญ ได้แก่ กรรมาธิการ, เด็ก, เยาวชน, สตรี, ผู้สูงอายุ, ผู้พิการ, กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ, กรรมาธิการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังได้หารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีนี้

ทั้งนี้ เพื่อการแก้ปัญหาในระยะยาว พรรคก้าวไกลและเครือข่ายชาติพันธุ์พรรคก้าวไกล จึงได้ร่วมกันยกร่างกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นรูปแบบการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาค และจะนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอนกระบวนการ โดยประเด็นสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มี 2 ประเด็นหลัก คือ

1.) การยอมรับและรับรองความมีตัวตนของชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตราที่ 70 ในรูปแบบเขตวัฒนธรรมเฉพาะ หรือ เขตวัฒนธรรมพิเศษตามบริบทพื้นที่ของชาติพันธุ์ต่าง ๆ

2.) สร้างกลไกการทำงานประสานความร่วมมือ และการกำหนดแผนงานยุทธศาสตร์ต่างๆร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายมานพ กล่าวต่อว่า ส่วนงานนอกสภาผู้เเทนราษฎรตนได้ลงพื้นที่พบปะผู้นำชุมชนบางกลอย และร่วมทำงานกับเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมภาคตะวันตก และเครือข่ายภาคี save บางกลอยเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือทั้งในระยะสั้นและระยะยาวผ่านกลไกคณะทำงานภาคประชาชน และกลไกที่หน่วยงานภาครัฐแต่งตั้งขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับพี่น้องชาวกะเหรี่ยงภาคเหนือระดมข้าวสารและข้าวเปลือก จำนวน 4 ตัน ส่งมอบให้พี่น้องบางกลอยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะเร่งด่วน และล่าสุดได้ลงไปให้กำลังใจผู้ที่ถูกดำเนินคดีจำนวน 22 รายทั้งในพื้นที่ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และสถานที่ชุมนุมที่ข้างทำเนียบรัฐบาล

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ระบุว่า #อนุทินและธนาธรใครโกหกประชาชน มีเนื้อความว่า

ผมได้อ่านรายละเอียด ความขัดแย้งในคลับเฮาส์ ระหว่าง นายอนุทิน และนายธนาธร เรื่องการฉีดวัคซีน

โดยนายธนาธรกล่าวหานายอนุทินว่า โกหกประชาชน เรื่องแผนการฉีดวัคซีน ด้านนายอนุทินก็ชี้แจงไปว่า สิ่งที่นายธนาธรพูดนั้นข้อมูลเก่า

เมื่อผมติดตามศึกษา รายละเอียดเพิ่มเติมที่ทีมแพทย์แถลง ผมเชื่อนายอนุทินครับ เพราะแผนงานต่าง ๆ นั้นสามารถปรับได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ต่างจากโครงการเมย์เดย์ เมย์เดย์ 3,000 บาทถ้วนหน้า ไม่ต้องพิสูจน์ความจน มีประชาชนลงทะเบียนมา 3 ล้านคน จ่ายเงินจริงแค่ 2,427 คน ที่สำคัญ มีการเอาเงินบริจาคไปทำอย่างอื่นอีก แบบนี้ถึงจะเรียกว่า โกหกประชาชน

ขอรบกวนคุณหมอท่านใด ที่สนับสนุนนายธนาธร(เพราะหมออย่างผม เขาคงไม่ฟัง) ช่วยเตือนเขาด้วยว่า อย่าเอาการเมือง มายุ่งกับงานวิจัยทางการแพทย์ วัคซีนและการรักษาพยาบาล เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของจริยธรรม คนที่ไม่มีจริยธรรมจะไม่ค่อยเข้าใจ


ที่มา: https://www.facebook.com/1635406246730420/posts/2867414883529544/

‘เพนกวิน’ แถลงอึดอัดใจ ระหว่างศาลนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานคดีแกนนำราษฎรชุมนุม 19 กันยา ทำบรรยากาศส่อวุ่น ‘คนกรีดร้อง ปาขวดน้ำในศาล’ กร้าวจะขออดข้าวประท้วง

รายงานว่าระหว่างศาลนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานคดีแกนนำราษฎรชุมนุม 19 กันยายน ทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี แต่มีผู้เกี่ยวข้องในคดี ผู้สังเกตการณ์ และผู้เดินทางมาให้กำลังใจส่วนหนึ่งได้เข้าไปในห้องพิจารณาคดี

นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท แกนนำราษฎรนนทบุรี หนึ่งในจำเลย ให้สัมภาษณ์ถึงบรรยากาศการพิจารณาคดีว่า ภายในห้องพิจารณาคดี "เพนกวิน" นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้ขออนุญาตแถลงต่อศาลถึงความอึดอัดที่อยู่ในใจ แต่ศาลไม่อนุญาตให้พูดในที่เปิดเผย

จากนั้น มีเจ้าหน้าที่มาควบคุมตัว จึงเกิดความวุ่นวายขึ้น เพนกวินจึงประกาศความอึดอัดใจว่าเหตุใดศาลไม่ให้ประกันตัว ทั้งที่ยังไม่มีคำตัดสิน โดยเทียบเคียงกับคดี กปปส. ที่ตัดสินแล้วว่ามีความผิดแต่ได้ประกันตัว และไม่ต้องตัดผม พร้อมประกาศขอประท้วงด้วยการอดข้าว ดื่มแต่น้ำ จนกว่าจะได้รับการประกันตัว ซึ่งบรรยากาศภายในห้องพิจารณาคดีได้เกิดความวุ่นวาย มีมวลชนที่ได้เข้าไปร่วมฟังการพิจารณาระบายอารมณ์ด้วยการกรีดร้อง และเขวี้ยงขวดน้ำลงพื้น เจ้าหน้าที่จึงคุมตัวเพนกวินและจำเลย ลงไปควบคุมที่ห้องควบคุมจำเลยด้านหลัง

นายชินวัตร ระบุด้วยว่า หวังให้ศาลมีความยุติธรรม และป.อาญา มาตรา 112 เป็นข้อหาที่ทำร้ายประชาชน ส่วนตนเองในช่วงบ่าย จะถูกไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาล กรณีถ่ายรูปร่วมกับนายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ในห้องเวรชี้ และโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย อีกทั้งมีคดีละเมิดอำนาจศาลของนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง ที่ถ่ายรูปนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ ผ่านหน้าจอแล้วไปโพสต์อีกด้วย ซึ่งในส่วนของตนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่เห็นเจ้าหน้าที่มาเตือน


ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/politic/2050476

คนไทย “พร้อม” หรือ “ยังไม่พร้อม” ใช้รถยนต์ไฟฟ้า | PoliticsQuiZ EP.4

Politics QuiZ อีพีนี้จะพาทุกคนมาสำรวจความคิดเห็นคนไทยบางกลุ่ม ว่าพวกเขา “พร้อม” หรือ “ยังไม่พร้อม” ที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยตอนนี้!! 

.

รมว.สาธารณสุข การระบาดของเชื้อโควิด-19 คลัสเตอร์บางแค แต่ไม่กล้ารับปาก ได้เล่นสงกรานต์หรือไม่ รอ ทีมแพทย์รายงาน ศบค.ใหญ่ก่อนเคาะอีกที วอนประชาชนอย่าการ์ดตก

รมว.สาธารณสุข การระบาดของเชื้อโควิด-19 คลัสเตอร์บางแค แต่ไม่กล้ารับปาก ได้เล่นสงกรานต์หรือไม่ รอ ทีมแพทย์รายงาน ศบค.ใหญ่ก่อนเคาะอีกที วอนประชาชนอย่าการ์ดตก

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 คลัสเตอร์บางแค ว่า ขณะนี้ได้ให้ทีมแพทย์ลงไปตรวจเชิงรุกที่ตลาด และตามไปตรวจผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด รวมถึงชุมชนที่มีการติดเชื้อมากเป็นพิเศษ และนำผู้ที่ติดเชื้อไปเข้ารับการรักษา ที่โรงพยาบาลหลักคือโรงพยาบาลบางขุนเทียนของกทม. และในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมพร้อมให้การสนับสนุน เผื่อกรณีที่กทม. เริ่มเต็ม ก็ได้มีการจัดเตรียมสถานที่เพื่อสนับสนุนเอาไว้พร้อมแล้ว แต่ยังเชื่อว่าเราจะสามารถควบคุมอยู่ในวงจำกัดได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าคลัสตเตอร์บางแค จะส่งผลกระทบ ต่อการพิจารณาผ่อนคลายในช่วงของเทศกาลสงกรานต์หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า "ทุกอย่างจะส่งผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และอยู่ที่ความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก การพิจารณาอะไรก็ตามต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน ไม่ใช่พิจารณาอยู่บนความสนุก ที่เราทำมาทั้งหมดทุกวันนี้ก็เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย และยังต้องยึดหลักนี้อยู่

ทั้งนี้ต้องดูว่าจากช่วงนี้ไปจนถึงสงกรานต์ ที่เหลือระยะเวลาอยู่ประมาณ 1 เดือนนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสามารถควบคุมได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเราก็สามารถควบคุมได้ แต่ว่าช่วงนี้ อาจจะการ์ดตกกันบ้าง ก็ขอให้กลับมาที่เราเคยทำ คือสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างล้างมือ หากเราปฏิบัติตามหลักนี้ได้ การแพร่เชื้อก็จะถูกจำกัดวง ให้แคบมาก ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์"

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าแสดงว่าถึงเวลานี้ยังไม่กล้ารับปากประชาชนใช่หรือไม่ว่าจะได้เล่นน้ำสงกรานต์หรือไม่นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยแต่ถ้าถามอย่างนี้ตนไม่ตอบดีกว่า เพราะไม่มีการรับปากรับคำอะไรทั้งสิ้น เราทำทุกอย่าง อยู่บนความตั้งใจที่ดีที่สุด แล้วอยู่บนความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก เมื่อถามว่า ในการประชุมศบค.วันที่ 19 มีนาคมนี้ประเด็นเรื่องการผ่อนคลายเทศกาลสงกรานต์จะถูกหยิบยกเข้าไปหารือด้วยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า "ไม่ทราบ ทางศบค.จะเป็นผู้นำเสนอ เราต้องดูสถานการณ์ แต่ก็จะทำให้ดีที่สุด"

ประกันสังคม เผยโครงการ ม33เรารักกัน ตรวจสอบสิทธิ 15 - 28 มี.ค.64 กดยืนยัน 15 - 21 มี.ค.64 สำหรับผู้ยื่นทบทวนสิทธิยื่นได้ตั้งแต่ 15-28 มี.ค.64 ผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง การดูแลผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม ที่ลงทะเบียนรับสิทธิเงินเยียวยาจากรัฐบาล ผ่านโครงการ ม33เรารักกัน เข้าตรวจสอบสิทธิการรับเงินได้ตั้งแต่วันที่ 15 - 28 มี.ค. 64 ผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com และกดยืนยันตัวตนผ่านช่องทาง Application “เป๋าตัง” ในวันที่ 15 - 21 มี.ค.64

ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับวงเงินผ่าน Application “เป๋าตัง” ในวันที่ 22 , 29 มี.ค. 64 และ 5 ,12 เม.ย. 64 ครั้งละ 1,000 บาท จนครบ 4,000 บาท โดยจะสามารถเริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านร้านค้า/ผู้ประกอบการ/บริการ ในร้านธงฟ้าที่ใช้ Application “ถุงเงิน” หรือภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ได้ในวันที่ 22 มี.ค. - 31 พ.ค.64

สำหรับกรณีที่ผู้ประกันตนตรวจสอบสิทธิแล้วไม่ได้รับสิทธิตามโครงการ ม33เรารักกัน สามารถขอทบทวนสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ได้ตั้งแต่ 15 - 28 มี.ค.64 ในเวลา 06.00 - 23.00 น. โดยขอให้ผู้ประกันตนกดเข้าไปที่เมนู “ทบทวนสิทธิ” (ปุ่มสีเหลือง) หลังจากนั้นกรอกข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อใช้ในการทบทวนสิทธิให้ละเอียดชัดเจน เช่น ชื่อสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน และรหัสหลังบัตร วันเดือนปีเกิด จังหวัดที่พักอาศัย เบอร์โทรศัพท์

จากนั้นคลิ๊กปุ่ม “ขอทบทวนสิทธิ” ซึ่งผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสถานะผู้ได้รับสิทธิผ่านทางเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com พร้อมกดยืนยันตัวตนผ่าน Application “เป๋าตัง” ในวันที่ 5 - 11 เม.ย. 64 ผู้ประกันตนจะได้รับวงเงินเข้า Application “เป๋าตัง” ในวันที่ 12 เม.ย. 64 จำนวนเงิน 4,000 บาท เพื่อให้ผู้ประกันตนเริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านร้านค้า/ผู้ประกอบการ/บริการ ในร้านธงฟ้าที่ใช้ Application “ถุงเงิน” หรือภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ในวันที่ 12 เม.ย. - 31 พ.ค. 64

นายทศพล กล่าวในตอนท้ายว่า "สำนักงานประกันสังคมได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานทบทวนสิทธิ ม33เรารักกัน ที่สำนักงานประกันสังคม ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องประสานงานทบทวนสิทธิและอำนวยความสะดวกพร้อมให้คำแนะนำปรึกษารับเรื่องการลงทะเบียน ให้ผู้ประกันตนในโครงการ ม33เรารักกัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. ทุกวัน หากมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/ สาขา/ ที่ท่านสะดวก หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง)"

รมว.ยุติธรรม ปัด ไม่เคยเห็นจดหมาย ‘ทนายอานนท์’ ขอความช่วยเหลือ ชี้! ให้เจ้าหน้าที่แจงรายละเอียด ปมนำผู้ต้องขังออกนอกแดน ยามวิกาล

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการเผยแพร่จดหมายของนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และแกนนำราษฎร เพื่อขอความช่วยเหลือเนื่องจากจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายถึงชีวิต หลังถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวออกนอกเเดนในยามวิกาล ว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ทราบและยังไม่ได้รับรายงาน เพราะเป็นเรื่องรายละเอียดที่ตนไม่ได้ติดตามและยังไม่เคยได้ยิน เพราะตั้งแต่เช้าก็เตรียมตัวที่จะมาฉีดวัคซีนและประชุมครม. ดังนั้นคงต้องให้เจ้าหน้าที่ว่ากันไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าตามกฎของเรือนจำสามารถนำตัวผู้ต้องขังออกไปนอกแดนในยามวิกาลได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า "ไม่ได้ยิน และไม่ทราบเรื่องระเบียบของเรือนจำ แต่ถ้ามีความจำเป็นก็เห็นยังเข้าออกในเวลากลางคืนได้ เช่น เวลาฝากขังก็เห็นทำได้ แต่ส่วนใหญ่เขาไม่ทำกันในยามวิกาล เพราะหากเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ ก็ควรจะทำกลางวัน เว้นแต่มีกรณีจำเป็นเท่านั้น"

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีการนำจดหมายดังกล่าวมาเปิดเผยอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า "ยังไม่ได้ตรวจสอบ ที่ผ่านมาก็มีประเด็นแบบนี้เรื่อย ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เขาก็ทราบว่าเรื่องอะไรที่ควรจะชี้แจงบ้าง แต่ตนไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ"

เมื่อถามว่าในเรือนจำสามารถเขียนจดหมาย และส่งออกมาเผยแพร่ทางโซเชียลได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า "ก็ต้องผ่านผู้คุม แต่ในกรณีนี้ไม่ทราบว่าผ่านหรือไม่ ส่วนเนื้อหาจดหมายตอนหนึ่งอ้างว่าเจ้าหน้าที่จะนำตัวออกไปตรวจโควิด-19 เรื่องนี้ตนไม่ทราบจริงๆ ถ้าเอารายละเอียดทุกประเด็นมาพูดก็คงสับสน ขอให้เจ้าหน้าที่เขาตอบถ้ามีกรณีดังกล่าวจริงเพราะถือเป็นหน้าที่ของเขา"

ส.ส. ก้าวไกล บุกกรมราชทัณฑ์ จี้ตอบกรณีคุกคามผู้ต้องขังกลุ่ม ‘ม็อบ 3 นิ้ว’ กลางดึกในเรือนจำ ด้านรองอธิบดีฯแจง การตรวจโรคกลางดึกเป็น ‘เรื่องปกติ’ ส่วนชายชุดน้ำเงินไม่ติดป้ายชื่อ เป็นเรื่องของ ‘โอกาส’ ในการแต่งเครื่องแบบ

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ที่กรมราชทัณฑ์ ท่าน้ำนนท์ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนางสาวเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล, นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล, และนายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงต่อกรมราชทัณฑ์ ในกรณีเหตุการณ์คุกคามนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา “ไผ่ ดาวดิน” และนายภานุพงศ์ จาดนอก “ไมค์ ระยอง” สองผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร

โดยมีความพยายามนำตัวทั้งสองออกจากแดนคุมขังที่ 2 ในเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร ออกจากแดนคุมขังกลางดึก โดยอ้างว่าจะนำไปตรวจโรคโควิด-19 โดยเป็นการกระทำหลายระลอก มีการใช้เจ้าหน้าที่พร้อมกระบองเสริมกำลังเข้ามากดดัน และมีการนำตัวบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ใส่ชุดสีน้ำเงิน ไม่ระบุชื่อและสังกัด เข้ามาร่วมปฏิบัติการ ต่อเนื่องตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของคืนวันที่ 15 มีนาคม 2564 ไปจนถึงเวลา 03.00 น.ของเช้าวันที่ 16 มีนาคม 2564 แต่ทั้งสองปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม เนื่องจากเป็นการปฏิบัติที่ผิดปกติวิสัย ท่ามกลางข่าวลือว่าจะมีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องขังคดีการชุมนุมกลุ่มราษฎรในเรือนจำ

ซึ่งนางอมรัตน์ ได้เดินทางมาถึงกรมราชทัณฑ์ในเวลาประมาณ 14.00 น. พร้อมกับมีประชาชนผู้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เข้าร่วมสังเกตการณ์และขอรับทราบข้อเท็จจริงร่วมกับนางอมรัตน์ด้วย โดยทางกรมราชทัณฑ์ ได้ส่งนายแพทย์วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เข้าพบเพื่อรับหนังสือและอธิบายข้อเท็จจริงต่อนางอมรัตน์

โดยหนังสือของ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้เรียกร้องให้มีการตรวจสองกล้องวงจรปิดในห้องขังเรือนจำ และตรวจสอบบุคคลแปลกหน้าที่เข้าออกเรือนจำกลางดึกเมื่อคืนนี้ และขอให้ชี้แจงกับประชาชนให้เกิดความกระจ่างและความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์

ด้านนายแพทย์วีระกิตติ์ ผู้ลงมารับหนังสือ ได้พยายามอธิบายข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่ากรณีดังกล่าว ทางกรมราชทัณฑ์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้ว การตรวจหาเชื้อโควิด-19 กลางดึกในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าว รวมทั้งผู้ต้องขังในกลุ่มอื่นๆด้วย ความพยายามนำตัวผู้ต้องขังกลุ่มราษฎรทั้งสองออกจากแดน ไม่ใช่การนำออกไปที่อื่น แต่เป็นการนำไปรับการตรวจในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเอง ซึ่งมีสถานที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 อยู่แล้ว

การมีหลายระลอก เพราะระลอกแรกผู้ต้องขังเข้ามาถึงเรือนจำในเวลาประมาณ 19.00 น. เข้าไปห้องกักเดียวกันกับผู้ต้องขังที่มาจากพื้นที่เสี่ยงโดยบังเอิญ จึงได้ขอเจรจาว่าจะนำผู้ต้องขังกลุ่มราษฎรแยกไปอยู่ในห้องกักอื่นที่ยังว่างอยู่

เมื่อมีการปฏิเสธจึงต้องมีการป้องกันความปลอดภัยทางสุขภาพของผู้ต้องขัง คือการตรวจหาโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด จึงได้มีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อเข้าไปขอทำ swab เป็นเจ้าหน้าที่ ๆ มีใบประกอบโรคศิลป์ ซึ่งทั้งสองคนได้ปฏิเสธ ในขณะที่ผู้ต้องขังรายอื่นๆให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ทั้งหมดเป็นไปตามความชอบธรรมของนโยบายการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่มีการปฏิบัติกันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เมื่อทั้งหมดไม่ยอมตรวจ ทางกรมราชทัณฑ์ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรอีก เพราะไม่ต้องการที่จะเผชิญหน้า มีเพียงการนำผู้ต้องขังรายอื่นที่ได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วออกจากห้องขังนั้นไป

ส่วนบุคคลชุดน้ำเงินที่เข้ามา เป็นชุดปฏิบัติการปกติของกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำผู้ต้องขังอื่นๆที่อยู่ร่วมกันและให้ความร่วมมือออกไปจากห้องขัง ไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายหรือการกระทำอื่นใดผู้ต้องขังทั้งสิ้น

“เรื่องป้ายชื่อเนี่ยมันเป็นโอกาสที่เขาจะใส่ชุดใดๆ ซึ่งเครื่องแบบชุดนั้นผมไม่ได้สังเกต แต่ที่แน่ ๆ ไม่มีการทำร้ายหรืออะไรใดๆทั้งสิ้น เราได้บันทึกภาพ บันทึกอะไรต่าง ๆ ไว้หมด แล้วในกรณีนำไปเปรียบเทียบกับหมอหยองไม่ได้ เพราะหมอหยองไม่ได้อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพก่อนเกิดเหตุ มันเป็นความชอบธรรมในเรื่องนโยบายโควิด เพราะคุกมันมีความแออัด มีคนตั้ง 3 - 4 พันคน การตรวจโควิดเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ” นายแพทย์วีระกิตติ์กล่าว

จากนั้น นางอมรัตน์จึงได้ซักถามเพิ่มเติม กรณีนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ต้องขังระหว่างการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกรายหนึ่งจากกรณีการชุมนุมกลุ่มราษฎร ถูกแยกตัวออกไปคุมขังร่วมกับนักโทษเด็ดขาด (นักโทษประหาร) ว่าเป็นความปกติหรือไม่

นายแพทย์วีระกิตต์ ตอบเพียงว่าเป็นความปกติ เรื่องนี้เป็นเรื่องในทางปฏิบัติและทัณฑวิทยา โดยไม่อาจให้รายละเอียดของเหตุผลได้ เมื่อความพยายามอธิบายของนายแพทย์วีระกิตติ์ ยังคงไม่สามารถทำให้ประชาชนที่มาร่วมรับฟังข้อเท็จจริงเกิดความสิ้นสงสัยได้ ทั้งในกรณีข้ออ้างการตรวจโรคโควิด-19 กลางดึก และกรณีของนายพริษฐ์ จึงเกิดการโต้แย้งแสดงความไม่พอใจออกมา จนทำให้นายแพทย์วีระกิตต์รับหนังสือจากนางอมรัตน์และเดินกลับเข้าไปในกรมราชทัณฑ์ทันที

หลังจากการยื่นหนังสือ นางอมรัตน์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน และประชาชนที่มาร่วมชุมนุมติดตามการชี้แจงจากกรมราชทัณฑ์ในวันนี้ โดยระบุว่าทางเจ้าหน้าที่ได้อธิบายเบื้องต้นแล้ว ยังคงไม่มีการแสดงหลักฐานอื่นใดจากทางกรมราชทัณฑ์ แม้ทางรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะระบุว่ามีภาพหลักฐานทุกอย่างที่พร้อมนำมาแสดง ส่วนที่ยังไม่ได้รับความกระจ่างนักคือกรณีเจ้าหน้าที่ในชุดสีน้ำเงินที่ไม่ได้ติดป้ายระบุชื่อและสังกัด ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์ก็คงจะต้องออกมาแถลงสร้างความกระจ่างให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งให้สิ้นความสงสัยต่อไป

“เป็นเหตุการณ์ที่ดูแล้วไม่ปกติ เราห่วงใยในความปลอดภัยของผู้บริสุทธิ์ที่ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี ยังไม่ได้ถูกตัดสิน ยังไม่ได้เป็นนักโทษ วันนี้จึงมายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ท่านช่วยตรวจสอบกล้องวงจรปิด และตรวจสองการเข้าออก และให้ท่านได้ชี้แจงให้สังคงกระจ่างด้วยว่าเหตุการณ์นี้มันปกติหรือไม่ เพราะในยามวิกาลจะมีคนแปลกหน้าในชุดสีน้ำเงินมาพยายามนำตัวผู้ถูกคุมขังออกไป ก็ขอให้ท่านชี้แจงกับสังคมให้กระจ่างด้วย ว่าเหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?” นางอมรัตน์กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top