ชาวโลกคงได้ทราบแล้วว่า ชาวอังกฤษเริ่มต้นใช้ชีวิตปกติแล้วในวันจันทร์ที่ 19 ก.ค. ซึ่งถูกเรียกขานเป็น 'วันเสรีภาพ' (Freedom day)
โดยรัฐบาลยกเลิกข้อจำกัดเว้นระยะห่างเพื่อควบคุมไวรัสเกือบทั้งหมด รวมถึงกฎบังคับสวมหน้ากากอนามัย ขณะนักวิทยาศาสตร์เตือนยอดติดเชื้ออาจพุ่งถึงวันละแสนคน จากยอดปัจจุบันเฉลี่ยวันละ 50,000 ราย
การยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของอังกฤษ ทำให้ไนท์คลับและสถานที่ในร่มอื่น ๆ ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการเต็มความจุ และข้อกำหนดทางกฎหมายเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยและการทำงานจากบ้านถูกยกเลิก
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ 'บอริส จอห์นสัน' ซึ่งถูกกดดันจนต้องยอมกักตัวเองหลังจากรัฐมนตรีสาธารณสุข 'ซาจิด จาวิด' ติดเชื้อโควิด-19 กล่าวปกป้องการตัดสินใจของรัฐบาลที่ยุติมาตรการล็อกดาวน์ที่ใช้มาปีกว่าและยกเลิกข้อกำหนดเกือบทั้งหมด ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของอังกฤษยังสูงถึงวันละ 50,000 ราย น้อยกว่าแค่อินโดนีเซียและบราซิลเพียง 2 ประเทศ โดยระบุว่าสัปดาห์นี้เริ่มต้นวันหยุดปิดภาคเรียนฤดูร้อนของอังกฤษ ซึ่งถือเป็น 'แนวกันไฟอันล้ำค่า'
เขากล่าวในวิดีโอถ้อยแถลงว่า หากไม่เปิดประเทศในตอนนี้ ก็จะต้องไปเปิดในฤดูใบไม้ผลิ หรือฤดูหนาว ที่สภาพอากาศเอื้อต่อการแพร่เชื้อไวรัส
"ถ้าเราไม่ทำเสียตอนนี้ เราก็ต้องถามตนเองว่า แล้วเราจะทำเมื่อไหร่ ฉะนั้นนี่คือเวลาที่เหมาะสม แต่เราต้องทำด้วยความระมัดระวัง เราต้องจดจำว่าไวรัสยังคงอยู่" จอห์นสัน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในทางการสาธารณสุขนั้น ก็คงไม่เห็นดีเห็นงามด้วยกับเรื่องนี้ โดย ศาสตราจารย์นีล เฟอร์กูสัน จากอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน เตือนว่า ทิศทางนี้จะทำให้อังกฤษก้าวไปบนเส้นทางที่จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 100,000 คน เนื่องจากยังคุมการระบาดสายพันธุ์เดลตาไม่ได้
ปัจจุบัน อังกฤษมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 7 ของโลก ที่ 128,789 ราย และคาดการณ์ว่าอีกไม่ช้าอังกฤษจะมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มขึ้นกว่าช่วงสูงสุดระหว่างการระบาดระลอกที่ 2 เมื่อต้นปีนี้
ถึงกระนั้น อังกฤษ ก็มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงกว่าเพื่อนบ้านในทวีปยุโรปมาก โดยประชากรวัยผู้ใหญ่ 87% ฉีดวัคซีนแล้ว 1 โดส และมากกว่า 68% มีภูมิคุ้มกันเต็มที่หลังฉีดแล้ว 2 โดส อัตราการเสียชีวิตปัจจุบันอยู่ที่วันละประมาณ 40 คนเท่านั้น เป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงพีคในเดือนมกราคม ที่ตายมากกว่าวันละ 1,800 คน
ความสำเร็จของโครงการวัคซีน ซึ่งรัฐบาลเสนอฉีดให้ผู้ใหญ่ทุกคนในประเทศอย่างน้อยคนละ 1 โดส ทำให้รัฐบาลอังกฤษมั่นใจว่าสามารถบริหารความเสี่ยงของการรักษาในโรงพยาบาลได้ แม้นักวิทยาศาสตร์และอีกหลายคนจะยังคงไม่เห็นด้วยก็ตาม
แม้จะมีผู้คัดค้าน แต่ก็มีผู้คนไม่น้อยที่ยินดีกับการได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ รวมถึงนักเที่ยวราตรีที่ต่อแถวด้านนอกไนท์คลับไฟเบอร์ในเมืองลีดส์ ซึ่งนักเที่ยวเข้าไปแดนซ์กันแน่นฟลอร์โดยไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัย นักเที่ยวคนหนึ่งบอกว่า ในเมื่อไม่ได้ฉลองปีใหม่ ก็ควรออกมาฉลองเสียหน่อย มันเหมือนกับการเริ่มต้นบทใหม่
เรื่องนี้สะท้อนอะไร? ทำไม 'อังกฤษ' ถึงกล้าให้ ประชาชน กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ทั้ง ๆ ที่มีการติดเชื้อโควิดร่วม ๆ วันละ 50,000 ราย
ภาพของการไล่ฉีดวัคซีน เพื่อยับยั้งเชื้อแบบวิ่งไล่ตาม อาจจะไม่ใช่ทางออกในการทำให้วิถีชีวิตและเศรษฐกิจกลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือไม่? เรื่องนี้น่าคิด!!
บทบาทของวัคซีนจะกลายเป็นเพียงตัวยับยั้งความอันตรายถึงชีวิตของผู้ติดเชื้อ แต่ไม่ใช่คำตอบในการกอบกู้ 'ความปกติ' ของประเทศกลับมา
แน่นอนว่า หลาย ๆ คนคงไม่ชื่นชมกับการปลดล็อกมาตรการเช่นนี้ และต้องการให้ช่วยกันทุบกราฟผู้ติดเชื้อและตายให้ลงมาก่อน แล้วค่อยว่ากันต่อไป ซึ่งอาจจะใช่ แต่เอาเข้าจริง ก็ทำได้เฉพาะแค่ช่วงล็อกดาวน์เท่านั้น
แต่เราเริ่มเห็นวัฏจักรของการติดเชื้อที่วนกลับมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะ 'ป้องกัน' หรือ 'ประมาท'
ฉะนั้น หากมองกรณีศึกษาของอังกฤษว่าทำไมจึงยกเลิกมาตรการโควิด จึงเป็นสิ่งที่น่าคิด เพราะเชื่อเถิดว่าประเทศระดับแนวหน้าอย่าง อังกฤษ หรือ สิงคโปร์ ไม่น่าคิดหรือตัดสินใจทำอะไรแบบง่าย ๆ แน่นอน เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ ที่รัฐต้องปกป้องดูแล ประชาชน
แนวคิดในการ Treat โควิดให้เหมือนไข้ตามฤดูกาลปกติแบบ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งก็มีเสียชีวิตกันทุกปี อาจจะชัดขึ้นในหลายประเทศใช่ไหม?
การอยู่ร่วมกันกับโรค และเลิกวิ่งหนีด้วยการปิด ๆ เปิด ๆ มาตรการ หรือไล่ตามด้วยวัคซีนที่ไม่รู้จะตามทันเมื่อไร อาจไม่ทันใจต่อสถานการณ์ความเก็บกดของคนในประเทศ ใช่หรือเปล่า?
ถ้าเป็นแบบนั้น หากวันนี้รัฐบาลแต่ประเทศจะวางแผนให้คนอยู่ร่วมกับโควิด เท่ากับยอมรับในวิถี New Normal หรือความปกติแบบใหม่ค่อนข้างชัด โดยต่อจากนี้ บางอาชีพ บางกิจกรรม บางธุรกิจจะหายไปกับการมาของโควิด และทดแทนด้วยสิ่งใหม่
วิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคม ความคิด ความเชื่อ จะเปลี่ยนไป
เอาเข้าจริง ๆ ตอนนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ผิดปกติ บวกกับโรคระบาดใหม่ ๆ แต่ประเทศไทยยังไม่เจอถึงขั้นนั้น
แต่เราจะเตรียมการอย่างไร? จะมีการริเริ่มผุดแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยยุทธศาสตร์แบบไหนกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเผชิญมาก่อนไว้ได้แค่ไหน เพราะการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบทุกคนไม่ว่าจะฐานะการเงิน ฐานะทางสังคม ระดับการศึกษา อาชีพ ชัดมากแล้ว
ฉะนั้น เราจะมองเหตุการณ์ของอังกฤษในครั้งนี้ เป็น 'ความประมาท' เป็นการ 'ถอดใจ' หรือ 'วางแผน' อนาคตไว้แบบไหน อยู่ที่สติล้วน ๆ
อ้างอิง : https://www.thaipost.net/main/detail/110337
โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9