Monday, 19 May 2025
NewsFeed

รัฐบาลเยียวยาผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจากกรณีไฟไหม้โรงงานเม็ดโฟมพลาสติก

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุระเบิดภายในโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ซอยกิ่งแก้ว 21 หมู่ 15 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564​ ส่งผลให้ตัวอาคารของโรงงานได้รับความเสียหายถูกเพลิงไหม้หมดทั้งหลัง เนื่องจากมีสารเคมีเกิดการรั่วไหลออกมา เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัยที่เข้าดับไฟเสียชีวิต จำนวน 1 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 40 ราย และบ้านเรือนประชาชนเสียหายจากแรงระเบิดจำนวนมาก​ นายอนุชา​ นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ได้อนุมัติในหลักการจ่ายเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่เข้าช่วยดับไฟ กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ โรงงานหมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ดังนี้​ 1.กรณีนายกรสิทธิ์ ลาวพันธ์ อายุ 19 ปี เสียชีวิต ช่วยเหลือค่าจัดการศพ​ 50,000 บาท และเงินทุนเลี้ยงชีพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต 10,000​บาท รวมเป็นเงิน 100,000 บาท​ 2.กรณีบาดเจ็บช่วยเหลือเป็นเงินทุนเลี้ยงชีพ ได้แก่​ ผู้บาดเจ็บสาหัส หากต้องพักรักษาตัว ตั้งแต่ 20 วันขึ้นไป เงินทุนเลี้ยงชีพ รายละ 30,000 บาท  ผู้บาดเจ็บ หากพักรักษาตัวน้อยกว่า 20 วัน เงินทุนเลี้ยงชีพ รายละ 15,000 บาท

นายธีรภัทร กล่าวว่า สำหรับผู้บาดเจ็บ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย จะได้เร่งรัดประสานงานกับจังหวัดสมุทรปราการสำรวจและตรวจสอบรายละเอียดเจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่เข้าช่วยดับไฟ และได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป

รัฐบาลสนับสนุนถุงยังชีพกรณีต้องปิดหมู่บ้านจากการแพร่ระบาดของโควิด-19​ ไปแล้ว​ 17​ จังหวัด​ 45​ อำเภอ

นายธีรภัทร  ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลได้มีแผนดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศ และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น การติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีประสานผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  ในภาพรวม ปัญหาและอุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาในแต่ละจังหวัด รวมถึงความช่วยเหลือสนับสนุนถุงยังชีพ ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี 

ในการนี้​ นายอนุชา​ นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นชอบให้สนับสนุนถุงยังชีพให้กับประชาชน ในจังหวัดต่าง ๆ ที่คณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัดได้มีคำสั่งปิดหมู่บ้านหรือชุมชน ส่งผลให้ประชาชนและครอบครัวของประชาชนได้รับผลกระทบไม่สามารถจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคได้ โดยเห็นสมควรจัดหาถุงยังชีพ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ จากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการส่งมอบเงินจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ไปให้แก่จังหวัดที่มีมาตรการในการปิดหมู่บ้าน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 

ดำเนินการจัดซื้อจัดหาถุงยังชีพ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนในหมู่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม​ 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564​ รวมจำนวน 17 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 45 อำเภอ 106 หมู่บ้าน 10 ชุมชน​ 53​ ตำบล​ 28,241 ครัวเรือน 90,744 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,768,700 บาท (สิบเก้าล้านเจ็ดแสนหกหมื่นแปดพันเจ็ดร้อยบาทถ้วน) หากพี่น้องประชาชนต้องการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยเพิ่มเติม สามารถบริจาคเงินได้ที่กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เลขที่บัญชี  067-0-06895-0 ธนาคารกรุงไทย

ราเมศ เผย “จุรินทร์ ออนทัวร์” อุบลฯ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ “มอบโฉนดที่ดิน” ตามติด “จับคู่กู้เงิน” เปิด“พาณิชย์ลดราคา” เดินหน้าพบ เกษตรกร

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดศรีสะเกษ ว่าในวันที่ 9 ถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดการลงพื้นที่ทำกิจกรรม “จุรินทร์ ออนทัวร์” ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดศรีสะเกษ 

วันที่ 9 กรกฎาคม จะเป็นประธานเปิดและปล่อยขบวนรถโมบายพาณิชย์ลดราคา ติดตามโครงการจับคู่กู้เงิน ติดตามความคืบหน้าการเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านปากแซง จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 10 กรกฎาคม  จะมีการมอบเช็คชำระหนี้และมอบโฉนดที่ดินของกองทุนฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จากนั้นจะมีการพบเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เปิดและปล่อยขบวนรถโมบายพาณิชย์ลดราคา มอบงบประมาณโครงการบ้านพอเพียง รวมถึงพบปะประชาชน จังหวัดอำนาจเจริญ
วันที่ 11 กรกฎาคม เป็นประธานมอบเงินชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนหัวนา และเป็นประธานเปิดและปล่อยขบวนรถโมบายพาณิชย์ลดราคา พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ

นายราเมศ กล่าวว่า การลงพื้นที่ของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “จุรินทร์ ออนทัวร์” ได้รับเสียงตอบรับจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก  หัวหน้าพรรคได้เดินทางไปแล้วหลายจังหวัดและจะมีกำหนดการเดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อพบปะพี่น้องประชาชน ติดตามนโยบายต่างๆของพรรค รับฟังในทุกเรื่อง ทุกข์สุข ปัญหาต่างๆ ร่วมกันคิด และให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศให้มากที่สุด

แพทย์ ชี้ วัคซีนเชื้อตาย ซิโนแวค ป้องกันอาการหนักหลังติดเชื้อได้จริง

นพ.โชคชัย เรืองโรจน์ กุมารแพทย์ ผู้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลรอบด้านเกี่ยวกับวัคซีนโควิด กล่าวถึง เรื่องโรคโควิด และ วัคซีนโควิดตามข้อมูล ณ ปัจจุบัน ว่า

1.) ตอนนี้ประเทศไทยมีการระบาดมาก คนตายวันละหลายสิบราย ระบาดมากใน กทม. และปริมณฑล เตียงรับผู้ป่วย โดยเฉพาะ ICU ไม่พอ

2.) เชื้อไวรัส มีการกลายพันธุ์เรื่อย ๆ ปัญหาของการกลายพันธุ์คือ ทำให้มีการแพร่เชื้อและติดได้ง่ายขึ้น มีการดื้อต่อวัคซีนทุกชนิด

3.) วัคซีนที่กระตุ้นภูมิได้สูงกว่า ก็จะต้านการดื้อต่อวัคซีนของเชื้อกลายพันธุ์ได้ดีกว่า ถ้าพูดถึงความสามารถในการกระตุ้นภูมิของวัคซีนที่มีในตลาดปัจจุบัน mRNA สูงกว่า viral vector และ viral vector สูงกว่า เชื้อตาย ซึ่งภูมิที่สูงกว่า ล้อไปกับ ผลข้างเคียงที่มากกว่า แต่ผลข้างเคียงของวัคซีนทุกชนิด ยังเกิดในอัตราต่ำมาก การฉีด มีประโยชน์มากกว่าการกลัวผลข้างเคียงแล้วไม่ฉีด

4.) สายพันธุ์ที่ระบาดใหญ่ในประเทศไทยเดือนเมษา คือ แอลฟ่า ตั้งแต่มิถุนายนเริ่มมีเดลต้ามากขึ้น (ซึ่งติดง่ายและดื้อต่อวัคซีนเพิ่มขึ้น) ตอนนี้เดลต้าครองพื้นที่ กทม. แทนแอลฟ่าแล้ว และกำลังจะครองทั่วประเทศในอีกไม่นาน

5.) วัคซีนที่มีใช้ในประเทศไทยตอนนี้ คือ แอสตร้า และ ซิโนแวค ตัวที่โดนบูลลี่มาก ๆ คือ ซิโนแวค

ผลการใช้ซิโนแวค ในสถานการณ์จริงของไทยต่อเชื้อสายพันธุ์แอลฟ่า พบว่าป้องกันการติดเชื้อได้ดี 70-90% ซึ่งสูงกว่าตัวเลข 51% ที่พูด ๆ กันมาหลายเดือน

6.) ข้อมูลเฟส 3 pfizer ป้องกันติดเชื้อ 95% , ซิโนแวคป้องกันติดเชื้อได้ 51% ดูเหมือนช่องว่างเยอะ แต่เราจะเอาการศึกษาที่ต่างเวลา ต่างสถานที่ ต่างสายพันธุ์ ต่าง criteria ในการเก็บข้อมูล มาเทียบกันโดยตรงไม่ได้

ที่พอเทียบกันได้ คือ การใช้ในสถานการณ์เดียวกันที่ชิลี ดังนี้

- ลดโอกาสการตาย PZ 91.8%, SV 86.4%

- ลดโอกาสเข้า ICU PZ 98.4%, SV 90%

- ลดโอกาสติดเชื้อแบบมีอาการ PZ 90.9%, SV 63.6%

7.) การมาของเดลต้า ทำให้ซิโนแวคป้องกันการติดเชื้อได้ลดลง (ลดลงทุกวัคซีน แต่วัคซีนเชื้อตาย ต้นทุนในการกระตุ้นภูมิต่ำกว่าตัวอื่น จึงด้อยลงมากที่สุด) แต่ยังป้องกันอาการหนัก ป้องกันตายได้ดีเหมือนเดิม

8.) ในไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่รับวัคซีน 2 โดสแล้ว (ส่วนใหญ่เป็น SV) เกิด breakthrough infection (คาดว่าเป็นผลจากเชื้อเดลต้าดื้อวัคซีน และระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน ก็เริ่มต่ำลงตามเวลาที่ผ่านไป) ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่ต้องกักตัวรักษา และขาดกำลังคนทำงาน ยังไม่ทราบตัวเลขในภาพรวมที่แน่ชัด คงรอรวบรวมข้อมูล มีเสียงเรียกร้องขอกระตุ้นภูมิ (เข็ม 3) ให้บุคลากรการแพทย์ด้วยวัคซีน "ดี ๆ" ซึ่งการศึกษาการกระตุ้นเข็ม 3 ยังไม่เรียบร้อย แต่ใกล้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน

ทั่วโลก ก็มีรายงาน vaccine breakthrough infection กันทุกยี่ห้อ แต่ mRNA น่าจะ breakthrough น้อยสุด

9.) เมื่อ 3 วันก่อนมีการแชร์เอกสาร note การประชุมของคณะกรรมการด้านวิชาการ "ชุดเล็ก" 3 คณะ เรื่องการใช้ PZ บริจาค 1.5 ล้านโดส เบื้องต้น เสนอให้ระดมฉีดเข็ม1 ให้กลุ่มเสี่ยงก่อน (โดยยังไม่ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ให้ HCP)

เมื่อวาน อ.อุดม ในฐานะที่ปรึกษาแก้ไขสถานการณ์โควิดของนายก แถลงหลังประชุมกรรมการ "ชุดใหญ่" ว่าถ้าผลการศึกษาได้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกระตุ้นภูมิ จะกระตุ้นภูมิให้ HCP เป็นกลุ่มแรก ด้วย AZ หรือ PZ

10.) เกิด Dilemma ขึ้น ในการบริหารทรัพยากรที่มีจำกัด ระหว่างการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 เพื่อกันติดให้ HCP กับ ฉีดเข็ม 1 ให้กลุ่มเสี่ยง เพื่อกันตาย ต่างคนต่างมีเหตุผล แล้วแต่มุมมอง แต่ถ้าพูดในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ ย่อมมีประเด็น conflict of interest แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยุติแล้ว โดยการแถลงของ อ.อุดม

11.) ผู้เชี่ยวชาญของโลกและของไทย พูดตรงกันว่า หน้าที่หลักอันดับแรกของวัคซีนโควิด คือ ป้องกันการตายและอาการรุนแรง ซึ่งปัจจุบัน วัคซีนทุกชนิดยังทำหน้าที่หลักของมันได้ดีมาก คือประมาณ 90% แม้เชื้อจะกลายพันธุ์

12.) ประเทศไทยเตรียมแผนวัคซีน "ฟรี" สำหรับปีนี้ไว้อย่างต่ำ 100 ล้านโดส คร่าว ๆ คือ

AZ 61, PZ 20, JJ 5*2, Sputnik V น่าจะประมาณ 5, SV มากขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนวัคซีนไม่ฟรี คือ Moderna ที่รัฐเป็นตัวกลาง ช่วย รพ.เอกชน ซื้อมาขายต่อให้คนที่อยากมีทางเลือกเพิ่มขึ้น (เพราะผู้ผลิตยืนยันไม่ขายให้เอกชนโดยตรง) บริษัทบอกขายให้ได้ 5 ล้านโดส เริ่มทยอยส่งให้ได้เร็วสุดปลายปีนี้

และ Sinopharm ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้ามาขายราคาทุนให้หน่วยงานต่าง ๆ ซื้อไปฉีดให้ประชาชนฟรี นำเข้ามาแล้ว 2 ล้านโดส และน่าจะมีมาอีก

13.) ทั่วโลกขาดแคลนวัคซีนประเทศต่าง ๆ ใช้ทุกสรรพกำลังในการต่อรองแย่งชิงวัคซีนกัน วัคซีนแทบทุกชนิด ส่งล่าช้ากว่าสัญญาที่ทำไว้ทั่วโลก ประเทศที่ไม่ขาดแคลน คือ ประเทศมหาอำนาจที่ร่ำรวย และเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ที่กักตุนยอดวัคซีนไว้ตั้งแต่ช่วงวิจัย ใช้ไม่ทัน มีบางส่วนใกล้หมดอายุ หรือหมดอายุไปแล้วโดยไม่ได้ฉีด และเริ่มมีการบริจาควัคซีนมากขึ้น

14.) ประเทศไทยก็โดนผลกระทบจากการเลื่อนส่ง เช่น AZ วัคซีนหลัก เดิมคาดว่าจะได้ 61 ล้านโดสภายในปีนี้ โดยคาดว่าจะได้เดือนละ 10 ล้านโดส ตอนนี้บริษัทแจ้งว่าจัดสรรให้ได้เดือนละ 5-6 ล้านโดส ส่วน Pfizer บริษัทแจ้งว่าส่งได้อย่างเร็วสุด ปลายปีนี้

15.) ที่ผ่านมา ในบรรดา 5 วัคซีนในแผนวัคซีนฟรีของไทย มีซิโนแวคยี่ห้อเดียว ที่สามารถขยายจำนวน และเร่งเวลาส่งให้เร็วขึ้นได้ เป็นเหตุให้ต้องสั่งมาเติมส่วนที่ล่าช้าของวัคซีนอื่น

16.) ตอนนี้ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ขาย ผู้ซื้อต้องยอมทำสัญญาตามเงื่อนไขที่เสียเปรียบผู้ขาย เช่น ผู้ขายมีสิทธิ์เลื่อนส่งได้, ส่งช้ากว่ากำหนดไม่มีค่าปรับ, ถ้ารอไม่ไหว ยกเลิกได้ แต่ไม่คืนเงิน ถ้าเราไม่รับเงื่อนไข ผู้ขายไม่ง้อ มีแต่ต้องพยายามเจรจาให้เสียเปรียบน้อยที่สุด ผู้ขาย (หรืออาจจะประเทศผู้ขาย) กำหนดคิวเอง ไม่ใช่ระบบบัตรคิวที่เรียงลำดับก่อนหลังเพียงอย่างเดียว ทั่วโลกมีข่าวแซงคิว ข่าวทางลัด

17.) จำนวนและกำหนดส่งวัคซีน mRNA ที่เราจองไว้ กำหนดไว้แล้ว ว่า PZ 20 ล้าน, MDN 5 ล้าน เริ่มทยอยส่งปลายปี การดีลเริ่มต้นนับ 1 มาตั้งแต่ต้นปี ไม่ใช่รอนับ 1 หลังเซ็นสัญญาซื้อ แล้วบวกไปอีก 4 เดือนอย่างที่บางคนพูด

การเซ็นสัญญาต่าง ๆ มีกรอบระยะเวลาแต่แรกแล้ว ไม่ว่าจะเซ็นเดือน พ.ค. มิ.ย. ก.ค. หรือ ส.ค. ก็ได้ของปลายปีเหมือนเดิม มีการต่อรองเพื่อให้เสียเปรียบน้อยที่สุด

18.) สัญญาซื้อ PZ เริ่มจากคุยกันเบื้องต้น แล้วลงนามใน

- confidential disclosure agreement เซ็นแล้ว

- binding term sheet เซ็นแล้ว

- Manufacturing and supply สัญญาสุดท้าย เมื่อวาน ครม. มีมติให้ลงนามแล้ว

สัญญา confidential disclosure agreement เป็นตัวเปิดทาง ไม่เซ็นก็ไม่ขาย เซ็นแล้วก็ห้ามเปิดเผยข้อมูล เพราะผู้ขายเค้าเจรจากับแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ราคา ผลประโยชน์ ต่างกัน ที่ผ่านมา เราจึงแทบไม่รู้ข้อมูลเชิงลึกเลย คนทำงานอยู่ในภาวะพูดไม่ได้

แต่ละประเทศก็มีแนวทางเจรจาของตน เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ จำนวนดีลต่างกัน ดีลเล็กของประเทศประชากรน้อย ดีลได้ง่ายกว่าดีลใหญ่ ๆ ของประเทศประชากรเยอะ, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างกัน และการดำเนินนโยบายการเมืองโลกของประเทศมหาอำนาจ ก็มีส่วนอย่างยิ่ง

ประเทศไหน ดีลได้ด้วยข้อเสนอแลกผลประโยชน์ใดบ้าง คือสิ่งที่เราไม่อาจรู้ แต่มีข้อสังเกตว่า บางประเทศเจรจาซื้อ mRNA มานาน ไม่คืบหน้า พอมีข่าวสั่งซื้อขีปนาวุธ และ ฝูงบินจากมหาอำนาจ ดีลก็เร็วขึ้น

19.) (ความเห็นส่วนตัว) ตอนนี้คนไทยติดเชื้อวันละหลายพัน ตายวันละหลายสิบ ถ้าเลือกสิ่งที่ดีที่สุดได้ ก็ต้องหาวัคซีนกันติดมาให้มาก ๆ และเร็ว ๆ แล้วทุกอย่างจะดีตาม แต่นั่นมันความฝัน ความจริงคือ วัคซีนที่ให้ผลกันติดที่ดีที่สุดตอนนี้ ยังไม่บินมาช่วยเรา ในจำนวนและเวลาที่ทันต่อสถานการณ์

และทุกวัคซีนจะเสื่อมประสิทธิภาพกันติดไปเรื่อย ๆ เพราะไวรัสกลายพันธุ์อยู่เสมอ Herd immunity ไม่ใช่ว่าจะสร้างขึ้นได้ด้วยวัคซีนใดที่มีอยู่ในตอนนี้ แต่วัคซีนทุกชนิดยังป้องกันป่วยหนักได้ดี

ถ้าเรียงลำดับความสำคัญตามสถานการณ์ สิ่งที่ทำได้จริง คือต้องเร่งลดคนอาการหนักก่อน คนตายก็จะลด, ภาระ ICU ก็จะลด ต่อให้ติด ก็มักจะอาการน้อยซึ่งแพร่เชื้อได้น้อยกว่าคนอาการมาก ดังนั้น จึงไม่ควรต่อต้านหรือด้อยค่าการซื้อวัคซีนกันตายที่ส่งมาช่วยเราได้จริง จนกว่าทุกคนจะได้รับการกันตาย และควรจะรับรู้ร่วมกันว่า อย่าฝากความหวังไว้กับวัคซีนทั้งหมด หน้ากาก ล้างมือ ปรับวิถีชีวิต ตั้งสติ ความร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเราได้มาก ๆ

ส่วน mRNA ก็อยากให้รัฐพยายามต่อรองเอาเข้ามาเพิ่มเท่าที่ทำได้ ภายใต้เงื่อนไขที่เราไม่เสียเปรียบเกินไป ทำได้หรือไม่ได้ ก็ต้องพยายามสื่อสารสร้างความเข้าใจให้ดีกว่าที่ทำมา (แต่ประชาชนควรเข้าใจด้วยว่า การพูดอะไรล่วงหน้าต่อสาธารณะ ก่อนที่การเจรจาจะคืบหน้า จะทำให้การเจรจายากขึ้น) .

ปัญหาตอนนี้คือ คนส่วนหนึ่ง ไม่เชื่อใจว่ารัฐได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่หรือยัง ในการเอา mRNA เข้ามา รัฐต้องพยายามชี้แจงจุดนี้ให้มากขึ้น แล้วปีหน้าค่อยไปมองหาวัคซีน generation ใหม่ รวมถึงวัคซีนสัญชาติไทย ที่กำลังพัฒนากันอยู่

20. (ความเห็นส่วนตัว) วัคซีนทุกชนิดสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยชีวิตคนจากโรคระบาด แต่เรากลับเอาวัคซีนมาเป็นเหตุทะเลาะกัน บางคน แค่อาจารย์ผู้ใหญ่บางท่านพูดไม่ถูกใจ ผสมโรงกับสื่อเสี้ยม ก็ไปคุกคาม เหยียดหยามอาจารย์ซะแล้ว

อยากชวนให้พวกเราขับเคลื่อนประเทศด้วยวิธีสร้างสรรค์ ใช้พลังเชิงบวก การใช้พลังบวก ไม่ใช่สิ่งเดียวกับ การทำเป็นโลกสวย โลกสวยคือ การแสร้งมองสิ่งต่าง ๆ ว่าดีงาม น่าเห็นใจ แต่ไม่อยู่ในข้อเท็จจริงและเหตุผล

พลังบวก เช่น ความรัก ความสามัคคี ความเสียสละ ความรอบคอบ ความมีเหตุผล ความสุภาพ ความอดทน การให้อภัย การให้เกียรติ ความซื่อสัตย์ ความยั้งคิด การยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของผู้อื่น พลังเหล่านี้ จะช่วยให้เราแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติซึ่งเป็นภัยธรรมชาติได้ดีที่สุด

พลังลบ เช่น ความคิดอคติ ความโกรธ ความเกลียด ความเห็นแก่ตัว ความหยาบคาย ความกร้าวร้าว ความใจร้อน ความไม่ยั้งคิด ความบิดเบือน ความคดโกง ความชวนทะเลาะ พลังเหล่านี้ไม่ช่วยอะไร และทำลายทุกฝ่าย

เราอาจจะเข้าใจผิด ว่าพลังการด่าของเราช่วยขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งไม่จริงเลย การด่า ดูเหมือนจะได้ผลในบางเรื่อง แต่ที่มันได้ผล ไม่ใช่เพราะความกร้าวร้าวหยาบคาย มันได้ผลเพราะพลังบวกอื่น เช่น ความพร้อมเพรียงในการแสดงออก หรือคนรับฟังเค้ามองข้ามเสียงด่าของเรา แล้วเก็บเอาเนื้อความที่ซ่อนอยู่ในคำด่าไปพิจารณา

ในขณะที่เราด่าใคร ถ้าคนที่เราด่า ศีลเสมอหรือต่ำกว่าเรา สิ่งที่เราจะได้รับคือ การด่ากลับ โดยไม่มีใครสนใจเนื้อหา แถมเราก็ยุยงกัน เช่น ดี ๆ ฟาดอีก, ฟาดมากแม่ เอาอีก ๆ

หลาย ๆ ครั้ง เราด่า เพราะเราถูกปั่นให้โกรธ ความโกรธทำให้เราปิดรับข้อมูล ด่าไปโดยที่ตัวเองยังไม่เข้าใจเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งทุกวันนี้ มีสื่อเสี้ยมและบิดเบือนเต็มโลก social

ถ้าเราเชื่อว่าการด่าจะขับเคลื่อนสังคมให้ดีได้ เราก็คงต้องเชื่อว่าการดุด่า ประชดแดกดัน หรือทุบตีเด็ก จะช่วยให้เด็กรับฟังสาระที่เราต้องการบอก และปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้ ซึ่งไม่จริง

เราสามารถวิจารณ์ ตำหนิ เสนอแนะได้ตามเหตุผล และข้อเท็จจริงรอบด้าน โดยเลี่ยงการใช้ hate speech ก็สื่อสารได้รู้เรื่อง และดีกว่าการด่าหรือประชดแดกดันกันอย่างแน่นอน


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ศธ. ดันแผนแก้ปัญหา “ท้องวัยเรียน” ให้ได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม

ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ในสถานศึกษาได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม ได้ร่วมกำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติในการให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ กับกระทรวงพันธมิตร คือ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้เด็กที่ตั้งครรภ์ได้รับสิทธิครอบคลุม ทั้งบริการด้านสาธารณสุข การบริการด้านโอกาสทางการศึกษา และการบริการด้านสวัสดิการสังคม วางกรอบการทำงานออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับกระทรวง ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่หรือระดับสถานศึกษา

โดยกำหนดการบริการด้านสาธารณสุข คือ การบริการอนามัยเจริญพันธุ์ การให้ข้อมูล ความรู้ ให้คำปรึกษาด้านอนามัยเจริญพันธุ์ การให้บริการทางการศึกษา คือการเรียนการสอนในรูปแบบที่เหมาะสม ใช้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน การให้คำปรึกษา การติดตามและการส่งต่อ การให้ด้านสวัสดิการสังคมหรือการจัดหางาน การส่งเสริมและเพิ่มอาชีพ การให้บริการข้อมูลข่าวสาร การจัดครอบครัวทดแทน เป็นต้น

ด้วยความร่วมมือของทั้ง 3 กระทรวง มีเครือข่ายทั้งในระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ภาคปฏิบัติ เชื่อมั่นในการดูแลเด็กและเยาวชนจะมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จะเร่งเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษา ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. …. เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการลงนามบังคับใช้โดยเร็ว อันจะเป็นกลไกการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากสถานการณ์ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น คือเด็กวัยรุ่น อายุ 15-18 ปี จำนวน 1,000 คน จะมีเด็กวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนจำนวน 30 คน

“ปรัชญาการทำงานด้านเด็กและเยาวชน คือ การที่สามารถช่วยเด็กได้แม้เพียง 1 คน ก็สามารถลดปัญหาของสังคม ปัญหาของประเทศได้อย่างมากมาย” ดร.วีระ กล่าว


ที่มา: https://moe360.blog/2021/07/05/children-pregnant/?fbclid=IwAR1wTC7WHoRY3W9bJVvDgT52FeSKfKn-oHEg5ZsQqv8UMb5X25TBx-tXCg0

"ธนาธร" เปิดโครงการ "ก้าวหน้ากู้วิกฤตกิ่งแก้ว" ซ่อมบ้านปชช.รายได้น้อยที่เสียหายจากโรงงานระเบิดฟรี

ที่ผ่านมา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดเฟซบุ๊กไลฟ์ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประชาสัมพันธ์โครงการ “ก้าวหน้ากู้วิกฤติกิ่งแก้ว” ซึ่งคณะก้าวหน้าได้รวบรวมอาสาสมัครกว่า 30 ชีวิต เตรียมเข้าพื้นที่ซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากกรณีเหตุระเบิดสารเคมีที่โรงงานหมิงตี้ เคมีคัล บนถนนกิ่งแก้ว เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยนายธนาธร กล่าวว่า แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านมาได้ 2-3 วันแล้ว แต่ยังมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบอีกเป็นจำนวนมาก ตนในฐานะที่เป็นคนที่เคยทำงานแถวนั้น รู้สึกเสียใจต่อความสูญเสียและผลกระทบที่พี่น้องประชาชนทุกคนได้รับ ถนนกิ่งแก้วทั้งเส้นเป็นถนนเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วยร้านค้าพาณิชย์ ตลาดสด โรงงานอุตสาหกรรม และบ้านเรือนของประชาชนมากมาย เหตุการณ์โรงงานไฟไหม้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย เป็นอาสาสมัครดับเพลิง และยังมีผู้บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 30 ราย กระทบโรงงานอุตสาหกรรมโดยรอบประมาณ 1,120 โครงการ และกระทบหมู่บ้านและชุมชนเป็นจำนวน 994 หมู่บ้าน จนถึงวันนี้มีผู้แจ้งความที่ สภ.บางแก้ว เป็นจำนวน 432 คน มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายถึง 569 หลัง คณะก้าวหน้าจึงได้เริ่มโครงการ “ก้าวหน้ากู้วิกฤติกิ่งแก้ว” ขึ้นมา เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในส่วนที่คณะก้าวหน้ามีศักยภาพสามารถช่วยเหลือได้ โดยจะเป็นการเข้าไปฟื้นฟูชุมชนและบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย

นายธนาธร กล่าวต่อว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทีมงานของคณะก้าวหน้าได้เข้าไปสำรวจความต้องการและความเสียหายที่เกิดขึ้น ตั้งแต่บริเวณ ซ.กิ่งแก้ว 23-25 ซึ่งคณะก้าวหน้าได้รวบรวมอาสาสมัครได้ประมาณ 30 ราย ที่พร้อมเข้าไปซ่อมบ้านเรือนให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โครงการของเราส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เอสเอส ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในซอยกิ่งแก้ว อีกส่วนหนึ่งโดย บริษัท ไทยซัมมิท รวมถึงกลุ่มช่างที่ทำงานรับเหมาก่อสร้างในชุมชนละแวกนั้นที่กำลังขาดงานและรายได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เรานำอาสาสมัครทั้ง 3 กลุ่มนี้เข้ามารวมกันเป็นทีม ซึ่งพร้อมเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป คณะก้าวหน้าจะนำอาสาสมัครส่วนนี้เข้าไปซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนให้กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจจะสามารถซ่อมแซมบ้านเรือนด้วยตัวเองได้ และจะเข้าไปซ่อมแซมอาคารเรียน-ห้องพักครูให้กับโรงเรียนกิ่งแก้วด้วย โดยโครงการนี้คาดว่าจะสามารถสำเร็จลุล่วงได้โดยใช้เวลาไม่น่าจะเกิน 1 สัปดาห์ โดยสถานที่ที่จะใช้ในการประสานงานจะอยู่ในบริเวณโรงเรียนกิ่งแก้ว

“ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป เราจะอยู่ในชุมชนบริเวณนั้น ท่านใดต้องการเข้ามาพบปะพูดคุยกันสามารถมาพบกับเราได้ ขณะที่บ้านเรือนใดได้รับความเสียหายแล้วมีปัญหาทางเศรษฐกิจเดือดร้อนไม่สามารถซ่อมแซมได้ด้วยตัวเองก็มาบอกเราได้ หากไม่เหนือบ่ากว่าแรง พวกเราจะเข้าไปช่วยทุกท่าน” นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนเห็นว่ายังมีปัญหาอีกมากมายที่จะต้องสะสางกัน จากกรณีระเบิดและเพลิงไหม้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ สิ่งปนเปื้อนที่จะลงไปในแหล่งน้ำ รวมทั้งการเยียวยาพี่น้องประชาชนจากทางบริษัทหรือจากทางภาครัฐ ที่จะต้องเรียกร้องกันต่อไป รวมถึงการหามาตรการทางอุตสาหกรรม ที่จะควบคุมโรงงานที่มีสารเคมีไวไฟเก็บไว้เป็นจำนวนมากอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จะต้องอาศัยหน่วยงานของรัฐ แต่บางสิ่งที่พวกเราประชาชนคนละไม้คนละมือลงมือทำร่วมกันได้ เราก็อยากจะใช้ศักยภาพ ทรัพยากร และเครือข่ายที่พวกเรามีเข้าไปซ่อมแซมฟื้นฟูชุมชนให้กับคนที่ได้รับผลกระทบ 

“จากนี้ต่อไปภาครัฐก็คงจะต้องหาวิธีการที่จะเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ สืบหาต้นตอสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งจะนำมาสู่การปรับปรุงกระบวนการของภาครัฐที่เข้มงวดกับโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้นต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย แต่ในขณะเดียวกันบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดในบริเวณรอบนั้นมีจำนวนมาก นี่เป็นสิ่งที่พวกเราพอจะทำได้บ้าง เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อาจจะได้ไม่มากมายนัก แต่ผมและทีมงานคณะก้าวหน้าก็พร้อมที่จะตั้งใจอย่างเต็มที่ มีเรื่องราวอย่างไรจะมาเล่าให้ทุกท่านทราบต่อไป” นายธนาธร กล่าว

รัฐบาล ร่วมมือ สุวรรณภูมิตั้ง รพ.สนาม 5 พันเตียง พร้อมจัดทีมค้นหาเชิงรุกผู้ป่วยรอเตียงที่บ้าน 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผอ. ศบค.  ที่ให้เร่งเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการต่อสัญญาใช้สถานที่เมืองทองธานี สำหรับทำโรงพยาบาลบุษราคัมต่อไปอีกจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2564 แล้ว ทำให้มีเตียงรองรับผู้ป่วยมีอาการ (สีเหลือง)ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตลอดจนผู้ป่วยจากจังหวัดใกล้เคียงได้ประมาณ 4,000 เตียง โดยมีบุคลากรการแพทย์จากต่างจังหวัดหรือในพื้นที่ที่ไม่มีการติดเชื้อโควิด19 รุนแรง เข้ามาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแลรักษาประชาชน  

ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรคและกรมการแพทย์ประสานเครือข่ายกู้ชีพ กู้ภัย จัดทีมปฏิบัติการเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อที่รอเตียงที่บ้านในพื้นที่ กทม. เพื่อรับตัวเข้าสู่ระบบการรักษาตามระดับของอาการ  โดยโรงพยาบาลบุษราคัมจะรองรับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชนที่รอเตียงตามบ้าน นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงคมนาคมเตรียมตั้งโรงพยาบาลสนามณ อาคาร Satellite 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5,000 เตียงในระยะแรก โดยใช้พื้นที่ชั้น 2 เป็นสถานที่ทำการของแพทย์และห้อง ICU ส่วนชั้น 3 และ 4 เป็นพื้นที่สำหรับคนไข้กลุ่มสีเขียวและเหลือง คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้อีกไม่นานนี้

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ส่วนความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ทางกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลธนบุรีได้ขยายห้อง ICU ณ รพ.สนามราชพิพัฒน์ 1 เขตทวีวัฒนา เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับอาการสีแดง ประมาณ 40 เตียง โดยจะทยอยเปิดรับผู้ป่วยเข้ารักษาได้ตั้งวันพรุ่งนี้ (10 กรกฎาคม) เป็นต้นไป ขณะที่ จ.สมุทรปราการ เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนาม ณ คลังสินค้า ดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 1,200 เตียง สำหรับทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวไร้สิทธิ์ ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อโรงพยาบาล (Community Isolation) ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต โดยตั้งเป้าหมาย 20 แห่ง รองรับผู้ติดเชื้อได้ 3,000 ราย ทั้งนี้ มีการเปิดให้บริการแล้ว 2 แห่ง คือวัดสะพาน เขตคลองเตย และศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค และเปิดเพิ่มในวันนี้อีก 1 แห่ง คือ วัดปากบ่อ เขตสวนหลวง ซึ่งจะมีทีมแพทย์จาก รพ. สิรินธร เป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วยสามารถรับรองสูงสุดได้ 170 เตียง ส่วนที่เหลือจะทยอยเปิดให้ได้เร็วที่สุด และในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ก็ได้มีการเตรียมพร้อมในการเพิ่มโรงพยาบาลสนามเช่นเดียวกัน ซึ่งจะสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที 

กมธ.ไอซีที วุฒิฯ หนุน ดีอีเอส เพิ่มระบบเตือนภัยผ่านแอป “ทางรัฐ”

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเทคโนโลยี การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับตัวแทนสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล(องค์การมหาชน) หรือ DGA สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ในการให้บริการส่งเสริมสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด  - 19 รวมทั้งแนวทางการดำเนินการด้านดิจิทัลอื่นๆ
      
โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกมธ.ฯ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้นำเสนอข้อมูล และแผนงานล่าสุด นับว่าเป็นแนวทางพัฒนาดิจิทัลที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศหลายประเด็น ทำให้ทราบว่าหน่วยงานสำคัญของรัฐยังต้องการการพัฒนาทั้งทางด้านเทคโนโลยี และบุคลากรที่สนับสนุนกิจการในอนาคต ซึ่งในส่วนของกมธ. ได้ให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบดิจิทัลไอดี  
       
พล.อ.อนันตพร กล่าวอีกว่า โครงการดิจิทัลไอดี  ขณะนี้ได้ทำออกมาเป็นแอปพลิเคชั่นชื่อ “ทางรัฐ”  ซึ่งทางคณะกมธ.ฯ ได้แนะนำให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รวมไอดีอื่น ๆ ที่สำคัญเข้าไปด้วย เพื่ออำนวยความสะดวก และลดความซับซ้อนของประชาชน เช่น เชื่อมกับใบอนุญาตขับขี่ หรือ หมายเลขใบรับรองการฉีดวัคซีน และการแจ้งเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติได้ทันที เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานสารเคมีที่กิ่งแก้ว เมื่อเร็วๆนี้ 
       
ด้าน นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผอ.สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า จะรับข้อเสนอแนะของคณะกมธ.ฯ เพื่อดำเนินการต่อไป  

“ประวิตร” ลั่น ไม่ล็อกดาวน์!! 

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชน ครั้งที่ 1 ถึงกระแสข่าวการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า ไม่ล็อกๆ 

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าว ก่อนที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเป็นประธาน อยู่ระหว่างประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ถึงมาตรการคุมเข้ม6 จังหวัด

‘บิ๊กป้อม’ ประชุมติดตามแก้ปัญหา  ความเดือดร้อนปชช. ทุกกลุ่ม    มอบ ร.อ.ธรรมนัส  บูรณาการช่วยเหลือ/ลดความขัดแย้ง  ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว  เน้นสร้างความเข้าใจ  รับฟังทุกปัญหา  ร่วมกันหาทางออก

พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่า วันนี้เวลา10.00น.  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการ กำกับ ติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของมวลชน ครั้งที่ 1/2564  ผ่านระบบ Video Conference  ณ  ห้องประชุม 108  อาคาร สปน.  ทำเนียบรัฐบาล

ที่ประชุมได้รับทราบ ข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรี ต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ละกลุ่มเป็นอย่างมาก อาทิ ปัญหาที่ดิน ทำกิน ,ปัญหาหนี้สิน ,การฟื้นฟูอาชีพ ,แรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการก่อสร้างโรงงาน/โรงไฟฟ้า ที่ส่งผลกระทบ ต่อประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชน (ทุกกระทรวง) เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละกระทรวง จากนั้นคณะกรรมการกำกับติดตามฯ ได้มีการ พิจารณาเห็นชอบคณะอนุกรรมการ ติดตามการแก้ไขปัญหา จำนวน 3 คณะ เพื่อช่วยเหลือ เร่งรัด ติดตาม การดำเนินงาน ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว  ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กษ. เป็นประธานอนุกรรมการฯ ทั้ง 3คณะ เป็นผู้บูรณาการ ติดตามการแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อน ของมวลชนในภาพรวม ร่วมกับกระทรวงต่างๆ และสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การช่วยเหลือ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล 

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้ทุกกระทรวง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องให้ความสำคัญ ต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ อย่างจริงจัง โดยต้องเร่งรัดการช่วยเหลือมวลชน ทุกกลุ่ม ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว พร้อมทั้งต้องสร้างการรับรู้/ความเข้าใจให้แก่ประชาชน เพื่อให้การแก้ไขปัญหา ตรงตามความต้องการ ของมวลชน ตามกรอบของกฎหมาย ที่เป็นธรรม และมีความยั่งยืน ตลอดไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top