Friday, 5 July 2024
NewsFeed

‘รมว.ปุ้ย-SME D Bank' ผนึกพันธมิตร 'ภาครัฐ-มหาวิทยาลัย' ปั้นผู้ประกอบการยุคใหม่เปี่ยมศักยภาพ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 

เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 'ส่งเสริมและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs พร้อมเข้าสู่แหล่งทุนควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน' ระหว่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank โดย นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดย ดร.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดย ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการสำนักงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดย ดร.สุพัตรา จันทนะศิริ คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ณ อาคารปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ สามารถปรับตัวตามเทรนด์โลกปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังเตรียมพร้อมเข้าถึงแหล่งทุนได้ด้วย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพ ผลักดันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นรากฐาน จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมกันเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างอนาคตที่สดใสและยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND  

“กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานภายใต้กำกับ มุ่งเน้นสร้างประโยชน์แก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยแนวคิด 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' หมายถึง 'รื้อ ลด ปลด' สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการให้มากที่สุด ควบคู่กับ 'สร้างสิ่งใหม่ๆ' ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการสร้าง 'ความรู้' เพราะเมื่อมีความรู้แล้ว จะทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ และใช้ทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญไม่ว่าจะมีวิกฤตใด ๆ เกิดขึ้นอีกในอนาคต ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย จะปรับตัว ก้าวตามทัน สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้านนายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือผู้ที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งความร่วมมือระหว่างธนาคารกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและสถาบันการศึกษาในครั้งนี้ จะนำความเชี่ยวชาญและศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน มาเชื่อมโยงให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยครบวงจรอย่างไร้รอยต่อ เพื่อยกระดับสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอียุคใหม่สู่การเป็น Smart SMEs ตั้งแต่การเติมความรู้ด้านการเงิน หรือ Financial Literacy ทักษะการบริหารธุรกิจ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่อยอดธุรกิจ และการเตรียมพร้อมเข้าสู่แหล่งทุน 

ทั้งนี้ เมื่อผู้ประกอบการมีความพร้อมแล้ว และต้องการเงินทุน สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจาก SME D Bank ที่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อไว้รองรับ ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่กับได้รับการพัฒนา ผ่านแพลตฟอร์ม 'DX by SME D Bank' (dx.smebank.co.th) ช่วยผู้ประกอบการต่อยอดยกระดับธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนั้น ยังได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการภาครัฐต่าง ๆ ที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มโอกาส ขยายตลาดและผลักดันเข้าถึงนวัตกรรมสมัยใหม่ด้วย 

👉รู้หรือไม่ เมื่อไทยมี 'SPR' แล้ว จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG หมดไปด้วย

👉รู้หรือไม่ เมื่อไทยมี 'SPR' แล้ว จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG หมดไปด้วย

ทุกวันนี้นอกจากจะมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงแล้ว ยังการใช้เชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซอีกด้วย ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันมีการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน 2 ชนิดคือ ก๊าซ LPG  และก๊าซ LNG 

LPG (Liquefied Petroleum Gas) เป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ได้จากการแยกน้ำมันดิบในโรงกลั่นน้ำมัน และได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติ มีสถานะเป็นได้ทั้งของเหลวและก๊าซ สามารถแปรสภาพจากของเหลว โดยขยายตัวเป็นก๊าซได้ถึง 250 เท่า น้ำหนักเบากว่าน้ำ แต่หนักกว่าอากาศ มีคุณสมบัติให้ค่าความร้อนสูงเพราะประกอบไปด้วย Propane และ Butane จึงมีคุณสมบัติในการเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถติดไฟง่าย และเป็นพลังงานที่มีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ก๊าซ LPG ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายและเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง 

ปัจจุบันประชาชนคนไทยใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงหลักในการหุงต้มประกอบอาหาร เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับยานพาหนะ และใช้ในการให้ความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้ก๊าซ LNG หรือหม้อไอน้ำขนาดใหญ่ (Steam Boiler) ที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง 

LNG (Liquefied Natural Gas) หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว คือ ก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรสภาพจากสถานะก๊าซให้กลายเป็นของเหลว โดยลดอุณหภูมิลงจนเหลือประมาณ -160 องศาเซลเซียส เพื่อสะดวกในการขนส่งไปยังที่ต่าง ๆ ที่มีระยะทางไกล ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทางเรือ และก่อนจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง LNG จะถูกทำให้ระเหยกลับมาสู่สถานะก๊าซอีกครั้งก่อนนำไปใช้งาน คุณลักษณะสำคัญของ LNG คือเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีพิษ และไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน เมื่อ LNG รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมจะระเหยกลายเป็นไอแพร่กระจายในอากาศได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการตกค้างในน้ำหรือดิน การรั่วไหลของ LNG ที่จะก่อให้เกิดการลุกไหม้ขึ้นได้นั้น ต้องมีความเข้มข้นของการระเหยของ LNG ในบรรยากาศอยู่ในช่วงระหว่าง 5%-15% รวมทั้งจะต้องมีแหล่งกำเนิดไฟในบริเวณใกล้เคียงด้วย ประเทศไทยใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์  (NGV)

แนวคิดของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการจัดตั้ง SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ในประเทศไทยขึ้นนั้น นอกจากการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วยังให้มีการสำรองก๊าซพลังที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเช่น ก๊าซ LPG และ LNG อีกด้วย 

ปัจจุบันนี้ก๊าซ LPG มียอดร่วมการจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 280,000 ตันต่อเดือน ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ค้าก๊าซ LPG จัดเก็บสำรองก๊าซ LPG 1% โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบายในการเพิ่มอัตราสำรองก๊าซ LPG เป็น 2% แต่ผู้ค้าก๊าซ LPG ของไทยไม่เห็นด้วย โดยอ้างจากรายงานการศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซปิโตรเลียม) ของ คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา (เมษายน พ.ศ. 2567) ซึ่งสรุปว่า นโยบายการรักษาระดับปริมาณเก็บสำรองก๊าซ LPG ที่ 1% ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับการใช้ในภาคครัวเรือน 

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซ LPG เองได้ การเก็บสำรองก๊าซ LPG มากเกินไปจะทำให้ไม่สามารถนำก๊าซที่มีอยู่ออกมาใช้ได้ และต้องเพิ่มการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

เช่นเดียวกับก๊าซ LNG ไทยบริโภคก๊าซ LNG ราว 125,453,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 55-60% ของเชื้อเพลิงทุกประเภทรวมกัน โดยก๊าซ LNG ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด (100%) ได้มาจากอ่าวไทยราว 63% จากเมียนมาราว  16% และก๊าซ LNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศ 21% โดยที่ก๊าซ LNG จากอ่าวไทยเริ่มมีปริมาณลดลงและอาจจะหมดไปในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า จึงต้องมีการนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

แต่ปัจจุบันไทยมีคลัง LNG รองรับการนำเข้าก๊าซ LNG ทางเรือของเอกชนโดยบริษัท PTTLNG อยู่ 2 แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง (LMPT 1) มีถังเก็บก๊าซ LNG ขนาด 160,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 ถัง และแห่งที่ 2 อยู่ที่บ้านหนองแฟบ จังหวัดระยอง (LMPT 2) ซึ่งมีถังเก็บก๊าซ LNG ขนาด 250,000 ลูกบาศก์เมตร 2 ถัง และ ขนาด 160,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 ถัง ซึ่งพอใช้เพียง 1-2 วันหากเกิดกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซ LNG จากอ่าวไทยและเมียนมา  

ข้อมูลที่นำเสนอมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ไทยมีความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซมากกว่าด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเสียด้วยซ้ำไป ดังนั้น SPR ของไทยที่จะเกิดขึ้นจึงต้องรวมการสำรองก๊าซ LPG และ LNG เอาไว้ด้วย เมื่อมีระบบ SPR ภาครัฐมีการจัดเก็บสำรองก๊าซ LPG เองในระดับปริมาณที่เหมาะสม ย่อมส่งผลต่อราคาจำหน่ายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศอย่างแน่นอน เมื่อภาครัฐเป็นผู้ถือครองก๊าซ LPG รายใหญ่ที่สุดจะลดพลังอำนาจทางธุรกิจของเหล่าบรรดาผู้ค้าก๊าซ LPG ลง ทั้งยังเป็นการป้องกันการกักตุนก๊าซ LPG ในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซ LPG ของผู้ค้า LPG ได้อีกทางหนึ่งด้วย 

ในกรณีของก๊าซ LNG ซึ่งเป็นก๊าซพลังงานที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้า การมีระบบ SPR ในการสำรองก๊าซ LNG จะเกิดความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า และทำให้การคำนวณราคาค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปรมีความเสถียรคงที่ขึ้นในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานจากเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซ LNG อีกด้วย 

ดังนั้นเมื่อไทยมีการตั้งระบบ SPR ครบวงจรพลังงานแล้วก็จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG ในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานจากเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซระยะสั้นค่อย ๆ ลดลง จนหมดไปในที่สุด 

โรงพยาบาลตำรวจ ร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม สมาคมแพทย์ทหารแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ประจำปี 2567 ลงพื้นที่นำทีมแพทย์พยาบาล ตรวจสุขภาพทั่วไป พร้อมแจกสิ่งของเครื่องใช้ อาหารเครื่องดื่ม ให้เด็กนักเรียน และประชาชน จ. ประจวบคีรีขันธ์

วันพุธที่ 19 มิถุนายน 2567 ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านคลองน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พลอากาศโท เพชร เกษมสุวรรณ เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ/ประธานสมาคมแพทย์ทหารแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8)/นายกสำรอง,พล.ต.ท.บุญยรัสน์ พุกกะเวส กรรมการกีฬา สมาคมแพทย์ทหารแห่งประเทศไทย, พล.ต.ต.เอกลักษณ์ ดีรุ่งโรจน์ นายแพทย์ (สบ 6) โรงพยาบาลตำรวจ,  พล.ต.ต.หญิง รชยา บุรพลพิมาน ผู้บังคับการกองอำนวยการ โรงพยาบาลตำรวจ, พ.ต.อ. หญิง ศิริกุลศรีสง่า โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ ร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม สมาคมแพทย์ทหารแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ประจำปี 2567

ครั้งนี้ลงพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคลองน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทางสมาคมและหลายหน่วยงานที่เข้าร่วมกิจกรรมนำชุดแพทย์เคลื่อนที่ 4 เหล่า ให้บริการ

ตรวจโรคทั่วไป ตรวจฟัน ตรวจตา คัดกรองโรคหัวใจ ตรวจศัลยกรรม ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 200 โดส ให้เด็กนักเรียนและประชาชน พร้อมมอบสิ่งของ อุปกรณ์จำเป็น, อุปกรณ์กีฬา, ตู้ยาสามัญประจำบ้านพร้อมยา จำนวน 2 ตู้, ชั้นใส่หนังสือ ให้กับโรงเรียนนำไปใช้ประโยชน์ 

โดย มูลนิธิ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว สนับสนุนกระเป๋าสะพาย (ประถม) 101 ใบ, พล.ต.ต.หญิง กรทอง การพานิช ผู้บังคับการโรงพยาบาลตำรวจ สนับสนุนไก่ทอด KFC 100 กล่อง,บริษัทวิริยะ ประกันภัยสนับสนุนเครื่องเขียน และอุปกรณ์การเรียนการสอน บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริจาค ถั่วมารูโจ้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือ เป็นขวัญกำลังใจให้กับเด็กนักเรียน และประชาชนในพื้นที่

พลอากาศโท เพชร เกษมสุวรรณ เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ/ประธานสมาคมแพทย์ทหารแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวขอบคุณนายกสมาคมแพทย์ทหารแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ท่านเดิม ที่ริเริ่มโครงการดีๆให้สานต่อ  และขอขอบคุณบุคลากรสมาคมแพทย์ทั้ง 4 เหล่า ที่มาร่วมสร้างบุญกุศล ช่วยเหลือสังคมในครี้งนี้ โดยมอบอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์กีฬา สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น สำหรับเด็กนักเรียน และประชาชนผู้ยากไร้ รวมไปถึงทีมแพทย์พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทั้ง4เหล่าทัพที่จัดกิจกรรมให้บริการตรวจโรคกับประชาชน สร้าง ความสุขและรอยยิ้มให้กับทุกคน

สำหรับโรงเรียนในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 มีทั้งสิ้น 11 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคลองน้อย มีครู  และบุคลากร 11 คน นักเรียน 149 คน ส่วนใหญ่มีฐานะยากจนขาดแคลนอุปกรณ์ในการพัฒนาการเรียนการสอน จำเป็นต้องได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่ใจดี และผู้มีจิตศรัทธา ที่เล็งเห็นความสำคัญมาจัดกิจกรรมให้ โรงเรียนซาบซึ้งใจ และขอบพระคุณสมาคมแพทย์ทหารแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์และทุกหน่วยงานที่ให้ความอนุเคราะห์จัดกิจกรรมดีๆในครั้งนี้

การออกหน่วยแพทย์สี่เหล่าครั้งนี้มียอดผู้ลงทะเบียน 336 คน 

- ฉีดวัคซีน
ประชาชนทั่วไป 189 คน 
ครูตชด 11 คน รวม 200 คน 

-คัดกรองผู้ป่วยเหนื่อยอ่อนเพลียง่ายทำ EKG 30 คน echo 20 คน
ผลตรวจปกติให้คำแนะนำตามอาการ 

-ตรวจโรคศัลยกรรมปรึกษาปวดท้องจุกเสียดกรดไหลย้อน 22 คน ให้คำปรึกษาไทรอยด์ 1 คน

- ตรวจอัลตราซาวด์ 11 คน
โรคที่พบไขมันพอกตับ 
มดลูกโต 
เนื้องอกมดลูก 
ไตเสื่อม 

-ตรวจตายอด 210 คน

-ตรวจโรคทั่วไป 72 คน

-ถอนฟัน 47
เคลือบฟูโอไรด์ 42 

-ใบสั่งยา 85 ใบ

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ สื่อสารองค์กร และโฆษกโรงพยาบาลตำรวจ ขออนุญาตเผยแพร่ภาพและข่าวประชาสัมพันธ์ที่มีภาพบุคคลในกิจกรรมดังกล่าว

"ศูนย์กลางข่าวสาร ประสานฉับไว ใส่ใจบริการ เพื่อตำรวจและประชาชน“

#กิจกรรมเพื่อสังคม สมาคมแพทย์ทหารแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
#สมาคมแพทย์ทหารแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
#PGH
#โรงพยาบาลตำรวจ
#ศูนย์ประชาสัมพันธ์สื่อสารองค์กรและโฆษกโรงพยาบาลตำรวจ

รรท.รอง ผบ.ตร. ขับเคลื่อนงานพิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง วาง 10 มาตรการ 3 มิติงาน มุ่งยกระดับประเทศไทยสู่ระดับ Tier 1

วันนี้ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล ที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง พร้อมกับการนำประเทศไทยไปสู่ระดับกลุ่มที่ 1 (Tier 1) ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมุ่งหวังให้ ตร. มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาล มาสู่การปฏิบัติ โดยจัดตั้งศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) และมอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เป็น ผอ.ศพดส.ตร. เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้มอบนโยบายพร้อมขับเคลื่อนและติดตามผลการปฏิบัติกับหน่วย บช.น., ภ.1-9, บช.ก., บช.สอท., สตม., สยศ.ตร., สทส., จต. และ วน. เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ใน 3 มิติงาน 10 มาตรการ ดังนี้

มิติด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย ต้องเร่งรัดให้มีผลการจับกุมคดีการกระทำความผิด
เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ อย่างน้อย บช. ละ 3 คดีต่อเดือน และให้ชุดจับกุมสืบสวนขยายผลไปสู่ความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง โดยต้องมีความละเอียดรอบคอบในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน กรณีจับกุมคนต่างด้าวเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานภาคประมง ทั้งในอุตสาหกรรมบนบกและทางทะเล ให้พิจารณานำกลไกการส่งต่อ NRM (National Referral Mechanism) มาใช้ในกระบวนการคัดแยกเหยื่อ เพื่อขยายผลคดีการหลอกลวงและการบังคับใช้แรงงาน สำหรับประมงผิดกฎหมาย เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในรูปแบบแรงงานประมงและแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าประมง นอกจากการตรวจกลางทะเล ให้ บก.รน. ขยายผลการสืบสวนในกลุ่มผู้ใช้แรงงานด้านประมงนี้ด้วย โดยประสานข้อมูลกับ 22 จว. ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล และนำกลไกการส่งต่อระดับชาติ มาใช้กับการจับกุมเรือประมงไม่ปรากฏสัญชาติด้วย ในคดีค้ามนุษย์ทุกคดี ให้พนักงานสอบสวนประสานกับอัยการแผนกคดีค้ามนุษย์โดยใกล้ชิด ก่อนมีความเห็นทางคดี และส่งสำนวนคดี เพื่อการสั่งคดีที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ นอกจากนี้ทุก สน./สภ.ต้องรายงานผลตามแบบ ปคม.01 และบันทึกข้อมูลลงระบบ E-AHT ให้ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นปัจจุบัน

มิติด้านการคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย ภายใต้หลักการสากลและเท่าเทียม ให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจ และคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายภายใต้กลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ให้มีความพร้อม มีการคัดแยกผู้เสียหายค้ามนุษย์ทุกราย 
ก่อนส่งตัวให้ สตม. ผลักดันส่งกลับประเทศ เน้นการบูรณาการแสวงหาความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม NGOs รวมถึงการนำเทคโนโลยี ลดปัญหาการทำงานที่ล่าช้า และให้ทุกหน่วยให้ถือปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติ ตร. กรณีคนต่างด้าว เป็นผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาในคดีอาญา หรือถึงแก่ความตายโดยผิดธรรมชาติอย่างเคร่งครัด
   
มิติด้านการป้องกัน เน้นการสร้างภาคีเครือข่าย เฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์แบบมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน มีการทำงานเชิงรุก และให้ความสำคัญในคดีการบังคับใช้แรงงาน บริการภาคประมง และการนำคนมาขอทานให้มากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการดำเนินโครงการ D.A.R.E 2 C.A.R.E อย่างต่อเนื่อง และให้ บก.รน. และ ภ.จว. ที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล 22 จว. ให้ประสานการปฏิบัติร่วมกับศูนย์รับแจ้งเรือเข้าออก PIPO (Port In Port Out) อย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้ความสำคัญกับการปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบใหม่ทางออนไลน์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
 
พล.ต.ท.ประจวบฯ รรท.รอง ผบ.ตร. กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังว่าการระดมสรรพกำลัง ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทุกภาคส่วน ในการเร่งรัดปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมงจะประสบผลสำเร็จ ตอบสนองนโยบายรัฐบาล เสริมสร้างความเสมอภาค เท่าเทียม และรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ประชาชนและสังคมมีความสงบเรียบร้อยสืบไป

‘ธปท.’ เปิดตัวธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ ‘ในหลวง ร.10’ ชนิดราคา 100 บาท 10 ล้านฉบับ เปิดให้แลก 23 ก.ค.นี้

(20 มิ.ย.67) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสแลกธนบัตรไว้เป็นที่ระลึก และมีส่วนร่วมในการแสดงความจงรักภักดี

โดย นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ธปท. จัดทำธนบัตรที่ระลึกในชนิดราคา 100 บาท จำนวนทั้งสิ้น 10 ล้านฉบับ โดยธนบัตรได้รับการออกแบบเป็นแนวตั้ง เพื่อให้พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความโดดเด่น งดงาม มีความพิเศษแตกต่างจากธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป และได้จัดพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง บนวัสดุพอลิเมอร์ เพื่อให้มีความทนทาน รวมทั้งมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงอย่างครบถ้วน

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ธนบัตรที่ระลึกนี้สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยจ่ายแลกในราคาฉบับละ 100 บาท พร้อมกันนี้ ธปท. ได้จัดทำแผ่นพับสำหรับธนบัตรที่ระลึกดังกล่าว จำนวน 2 ล้านชุด เพื่อจำหน่ายในราคาชุดละ 10 บาท โดยรายได้จากการจำหน่ายแผ่นพับทั้งหมด จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจ สามารถติดต่อขอแลกธนบัตรที่ระลึกนี้ได้ที่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และที่ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

‘กรมประมง’ จัดอบรมผู้ควบคุมเรือไทย ในโครงการ ‘ไต๋รักษ์ชาติ’  หวังยกระดับความรู้-เพิ่มพูนทักษะ-สร้างการยอมรับในระดับสากล

(20 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมประมง ได้จัดโครงการ ‘ฝึกอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมเรือประมงไทย เพื่อการจัดการประมงที่ยั่งยืน (ไต๋รักษ์ชาติ) รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม คามิโอ แกรนด์ จังหวัดระยอง เป็นโครงการนำร่อง

ทั้งนี้ กรมประมงในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลทรัพยากรทางด้านการประมงของประเทศไทย ตระหนักถึงบทบาทและคุณค่าของ ‘ผู้ควบคุมเรือ’ หรือ ‘ไต๋’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำประมง เป็นผู้หาปลา และเป็นหนึ่งในผู้สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ให้แก่มวลมนุษยชาติ ‘ไต๋’ เป็นอาชีพที่มีคุณค่า มีเกียรติและศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับอาชีพอื่น และในขณะเดียวกันยังเป็นอาชีพที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผู้จัดการเรือประมง ที่จะพาภาคประมงไทยพัฒนาไปสู่เจ้าสมุทรอีกครั้งหนึ่ง

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เจ้าของเรือประมงพาณิชย์กว่าร้อยละ 90 จ้าง ‘ไต๋’ เป็นผู้ควบคุมเรือเพื่อออกทำการประมง ในแต่ละปี ‘ไต๋’ สามารถทำการประมงมีผลจับกว่า 1.3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 71,500 ล้านบาท 

ดังนั้น ‘ไต๋’ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการประมง การบริหารจัดการทรัพยากรประมง รวมถึงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำ

เพื่อให้ภาคการประมงไทยบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นจึงเป็นการติดอาวุธความรู้ให้แก่ ‘ไต๋’ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ ทั้งองค์ความรู้ด้านมาตรการการจัดการทรัพยากรประมง ด้านการจัดการประมงทะเล ด้านกฎหมายประมง ด้านกระบวนงานที่สำคัญในภาคการทำประมง รวมถึงกฎหมายประมงระหว่างประเทศ กฎหมายในระดับภูมิภาค และพันธสัญญากับองค์กรต่างๆ (RFMO) ให้แก่ ‘ไต๋’ ล้วนแล้วเเต่จะสร้างประโยชน์ให้กับไต๋เรือ เพิ่มพูนทักษะ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

สำหรับโครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมเรือประมงไทย เพื่อการจัดการประมงที่ยั่งยืน (ไต๋รักษ์ชาติ) รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม คามิโอ แกรนด์ จังหวัดระยอง เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรองรับ ‘ไต๋’ เรือประมงพาณิชย์ นายท้ายเรือ และชาวประมง ที่ทำการประมงในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 50 คน

โครงการฯ ได้เชิญวิทยากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน และคณะทำงานร่วมเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล (sea food task force) มาร่วมบรรยายในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีการฝึกปฏิบัติภาคสนามการปฐมพยาบาลและการใช้เวชภัณฑ์สำหรับใช้ในเรือ ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม และยังมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม Environmental Justice Foundation หรือ EJF เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการฝึกอบรมในครั้งนี้อีกด้วย

อธิบดีกรมประมงกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร ‘ไต๋รักษ์ชาติ’ แล้ว ‘ไต๋’ และผู้เข้ารับการอบรม จะมีความรู้และความเข้าใจในการบริหารจัดการภาครัฐ กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างถูกต้อง จะสามารถลดข้อผิดพลาดและป้องกันการกระทำความผิดในภาคการประมงที่ไม่ได้ตั้งใจได้อย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรของไทยให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตได้ การจัดฝึกอบรมในรูปแบบเช่นนี้ จะมีการขยายขอบเขตไปอบรมให้แก่ผู้ทำการประมงพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง ตอนล่างและฝั่งทะเลอันดามัน โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามกำหนดการจัดฝึกอบรมในครั้งต่อไป จากทุกช่องทางสื่อสารของกรมประมง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ หรือกองบริหารจัดการเรือประมงและทำการประมง กรมประมง เบอร์โทรศัพท์ 02-562-0600

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชวนเที่ยวงาน “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จากแล็บสู่ชีวิต Medical Sciences Innovations: From Lab to Life”

เริ่มแล้วงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 32 ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 โดยมีแนวคิดหลักคือ “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จากแล็บสู่ชีวิต Medical Sciences Innovations: From Lab to Life” ในระหว่างวันที่ 5 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี 

เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เครือข่ายสุขภาพด้านต่างประเทศและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์งานวิชาการให้มีความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศไทย    

สำหรับกิจกรรมในงานประกอบด้วยการสัมมนาทางวิชาการ การเสวนาโดยวิทยากรจากชาวไทยและต่างประเทศ อาทิ เรื่องการเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดการควบคุมการติดเชื้อ โดย ดร.โยชิฮารุ มัตสึอุระ ศูนย์การศึกษาและการวิจัยโรคติดเชื้อ (CiDER) สถาบันวิจัยโรคจุลินทรีย์ (RIMD) มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

“ความหลากหลายของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในเอเชีย” โดย ดร.ยูกิฮิโระ อาเคดะ ผู้อำนวยการภาควิชาแบคทีเรียวิทยา สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น

“การใช้ CAR-T Cell ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือด” โดย ศ.นพ.เจียนเซียง หวาง รองผู้อำนวยการสถาบันโลหิตวิทยา สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน, ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรงพยาบาลโรคเลือด,ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิกแห่งชาติโลหิตวิทยา ประเทศจีน

“การควบคุมกำกับการใช้ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงโมโนโคลนอลแอนติบอดีในการรักษาโรคไข้เลือดออก” โดย ดร.เพ็ดดี เรดดี้ และ ดร.อนิรุธา โปเตย์ จากสถาบันเซรุ่มอินเดีย

นอกจากนี้ยังมีคณาจารย์จากโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช,โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศิริราชพยาบาล, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่จะมาบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ด้านการรักษา การศึกษาวิจัย 

รวมทั้งยังมีภาคเอกชนมาร่วมแชร์ประสบการณ์ เช่น เรื่อง เถ้าแก้น้อย "วัยรุ่นพันธุ์แลปสู่นวัตกรรมพันล้าน" โดย ดร.วิสุทธิ์ วีระกุลพิริยะ จาก บริษัท เถ้าแก่น้อยฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) และยังมีหน่วยงานอื่นๆที่น่าสนใจอีกหลายหน่วยงาน
การนำเสนอและประกวดผลงานทางวิชาการ

ในงานมีการเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักวิชาการได้มีเวทีนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์โดยเฉพาะในปีนี้นอกจากงานวิชาการในเชิงลึกแล้ว มีการเปิดเวทีให้งานประเภท Routine to Research ที่มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในงานประจำ มาร่วมนำเสนอผลงานด้วย

การจัดงานครั้งนี้มีผลงานที่ส่งเข้าร่วม 426 เรื่องแบ่งเป็นการนำเสนอผลงานวิชาการ การนำเสนอด้วยวาจา 47 เรื่อง โปสเตอร์ 211 เรื่อง R2R 168 เรื่อง และการนำเสนอผลงานทางวิชาการของผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น และผู้ได้รับรางวัล DMSc award ตลอดจน อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนระดับชาติ
การแสดงเทคโนโลยีทางการแพทย์

มีการจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อให้ที่ผู้สนใจเข้าร่วมงานได้เยี่ยมชมความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ในปัจจุบัน อาทิ
- บูทนิทรรศการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แสดงผลงานดังนี้
* ด้านชันสูตรโรค แสดงการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้านโรคติดเชื้อโรคไม่ติดเชื้อและโรคทางพันธุกรรมในทุกช่วงวัยของคนไทย (เกิดจนตาย) ตลอดจนการวิจัยพัฒนาและการให้บริการที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง: Advanced therapeutic medicinal products

* ด้านคุ้มครองผู้บริโภค จัดแสดงการคุ้มครองผู้บริโภคใส่ใจทุกช่วงวัยของชีวิต
* ด้านสมุนไพร แสดงกระบวนการวิจัยพัฒนาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร
* ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน แสดงงานวิทยาศาสาตร์การแพทย์ชุมชนจากแล็บสู่คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในชุมชน โดยการดำเนินการของ อสม.นักวิทย์และศูนย์แจ้งเตือนภัย รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ OTOP/SME ด้านอาหารและเครื่องสำอางจากสมุนไพร

- นอกจากนี้ยังมีบูทจากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนอื่นๆอีกกว่า 100 บูท อาทิองค์การเภสัชกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หน่วยชีวสนเทศทางการแพทย์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท Engine Life คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี สมาคมการค้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ เอส เอ็มอี ฯลฯ ที่จะมาจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข เทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ร่วมงาน

ขอเชิญชวนผู้สนใจ เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนเข้าร่วมงานและเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในงานดังกล่าว ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน พ.ศ.2567 ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี สามารถเข้าร่วมงานฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และสำหรับเภสัชและนักเทคนิคการแพทย์สามารถเก็บสะสมคะแนนการศึกษาต่อเนื่องได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่….

โทรศัพท์ :  0 29510000 เว็บไซต์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ : www.dmsc.moph.go.th
FB : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

‘วิชัย ทองแตง’ แชร์ 3 เคล็ดไม่ลับปั้น Startup ไทยให้แกร่ง ‘พันธมิตร-เครือข่าย-ควบรวม’ ต้องปึ้ก!! ในยุคโลกหมุนไว

(20 มิ.ย.67) จากช่อง ‘GodfatherOfStartup’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอช่วงหนึ่งจากโครงการ ‘Chiangmai Web3 City And Metaverse เปิดสปอตไลท์ส่องหา Unicorn’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2565 ณ สถานที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเทศบาลตำบลแม่เหียะ โดยคลิปดังกล่าวเป็นการบรรยายของ 'คุณวิชัย ทองแตง' Godfather of Startup ซึ่งมีเนื้อหาที่ให้มุมมองสำคัญต่อ Startup ไทยไว้อย่างน่าสนใจมากๆ โดยเนื้อหาในวันนั้นมีรายละเอียดดังนี้...

“เมื่อได้ฟังข้อสรุปสุดท้ายของท่านรัฐมนตรี (คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้น) ที่ว่า ‘เดินเร็วหรือเดินช้า ไม่สำคัญเท่าเดินให้ถูกทาง การจับมือเดินร่วมกัน ของพวกเราในครั้งนี้ จะเป็นการจับมือเดินเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ดีกว่าเดิม และ Startup ของไทยเหล่านี้ คือ อนาคตที่ประเทศมองข้ามไม่ได้” ถ้อยคำจากคุณวิชัยที่ต้องการส่งสารไปถึง Startup ไทย

คุณวิชัย ยังได้กล่าวต่ออีกว่า “หลายท่านคงจะเคยอ่านหนังสือ 2 เล่มของผม (‘ลงทุนสไตล์ วิชัย ทองแตง’ และ ‘ปั้นหุ้น’) ผมอยากจะแนะนำให้กลับไปอ่านดูหน่อย แล้วเราจะเข้าใจบริบทของการทำธุรกิจเพื่อนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดทุนได้อย่างถูกต้อง เพราะคำตอบทั้งหลายอยู่ในหนังสือสองเล่มนี้หมดแล้ว”

ในวันนั้น คุณวิชัย ยังได้เผยถึงเศรษฐกิจช่วงดังกล่าวด้วยว่า “ช่วงนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจขาลง ทำให้ Startup หลายรายเริ่มปลดพนักงานออก เพื่อเก็บเงินสดเอาไว้ในมือ ดังนั้นผมจึงอยากจะนำสูตรหนึ่งมาแชร์เป็นเคล็ดลับเพื่อความมั่นคงแก่บรรดา Startup โดยผมอยากให้จับตามอง 3 สิ่ง ได้แก่ Recession (ภาวะเศรษฐกิจถดถอย) / Inflation (เงินเฟ้อ) และ Stagflation (ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว)...

“เราหนี 3 สิ่งนี้ไม่ได้ในช่วงเวลานี้ ยังไงเราก็ต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจกำลังถดถอย และเงินเฟ้อขึ้นสูง อย่างวันนี้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไป 7.1% เมื่อปี 2013 เงินเฟ้อ 12% ว่างงาน 9% แต่ที่น่ากลัวคือ เรากำลังเจอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันระหว่าง ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ เงินเฟ้อ บวกกับ GDP ประเทศลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน แถมคนว่างงานมีเพิ่มขึ้น ของแพงขึ้น นี่เป็นสิ่งที่พวกเราควรต้องระวัง ศึกษาให้ถ่องแท้ จะมามัวตกใจไม่ได้ ต้องมีแผนสำรองใหม่ๆ อยู่ตลอด เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง ไม่ต้องคาดหวังสูง แต่ต้องเดิน ต้องปลุกใจ ให้กล้า เผชิญหน้า ท้าทาย ไม่ว่าจะยากแค่ไหน”

เกี่ยวกับประเด็น Startup ที่เป็นคนรุ่นใหม่มีความปรารถนาสูงส่งในการสร้างความฝันอันยิ่งใหญ่ของตนเองแค่ไหน? คุณวิชัย ได้กล่าวในฐานะผู้กำลังปลุกปั้น Startup / SMEs และบริษัทที่จะมีศักยภาพเติบโตด้วยว่า “ก็ต้องถามกลับว่า พวกเรายังคงรักษาความฝันนี้ไว้หรือเปล่า เคยมีคำกล่าวจากอดีตประธานาธิบดีเยอรมนี (Angela Merkel) เคยบอกไว้ว่า [กำแพงเบอร์ลิน ไม่สามารถจำกัดความคิด ความเป็นตัวตนความฝัน และจินตนาการของฉัน เธอบอกให้พังกำแพงแห่งความเขลาและจิตใจที่คับแคบ ให้กับสิ่งที่มันมิอาจเป็นอยู่เช่นนั้นได้ตลอดไป เราต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง]” 

ในวันนั้น คุณวิชัย ยังได้ให้หลักการสำคัญผ่านคีย์เวิร์ดที่เรียกว่า ‘2G’ ไว้ด้วยว่า “ผมขอฝาก 2G เล็ก ที่จะทำให้กลายเป็น 2G ใหญ่ ไว้ดังนี้ ได้แก่ 1.Growth และ 2.Gain คุณต้องสามารถสร้างกำไรและการเติบโตให้ได้ เพราะถ้าคุณสร้าง Growth ได้แปลว่าคุณเข้าใจตลาด เข้าใจเส้นทางของธุรกิจ และถ้าคุณเข้าใจ Gain ได้ แสดงว่าคุณมีความสามารถในการบริหาร หรือก็คือถ้าคุณมี 2 องค์ประกอบนี้เมื่อไร โอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนให้ไปต่อได้อย่างรวดเร็วจะเกิดขึ้น บาง Startup สตาร์ทเท่าไหร่ก็ไม่อัป ส่วนบาง Startup พออัปแล้ว แต่ก็ไม่ต่อไม่ถูก ฉะนั้นต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า ‘What’s Next’ คำถามนี้ใช้ได้กับทุกๆ ธุรกิจ แล้วเราจะทำยังไงกันต่อไป”

เกี่ยวกับประเด็น ‘What’s Next’ ของ Startup คุณวิชัยก็ได้ให้หลักการสำคัญเพื่อสร้าง 2G ให้ใหญ่ขึ้นได้ด้วยว่า “เราต้อง ‘Collaboration’ หรือ ทำงานร่วมกัน หาพันธมิตร เพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน จับมือกันเติบโต ต่อมาคือ ‘Connection’ ทุกคนล้วนมีคอนเน็กชัน จะมากน้อยแค่ไหนเพียงใดไม่สำคัญ อยู่ที่คุณจะขยายเครือข่ายของตัวเองได้หรือไม่ เพราะนี่คือการลดทอนความเสี่ยงทางธุรกิจที่สำคัญอย่างมาก และสุดท้าย ‘Mergers & Acquisition’ หรือ การควบรวม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสูตรที่สามารถทำให้เราไปสู่เป้าหมายของความสำเร็จได้เร็วขึ้น ยกตัวอย่างที่ผมเองได้ตัดสินใจควบรวมกับกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นการ M&A ที่ใหญ่มาก นั่นก็เพราะหากเราต้องการอะไรบางอย่าง (Wealth) เราก็ต้องยอมสูญเสียอะไรบางอย่าง ถ้าต้องการที่กระโดดให้ไกลกว่าเดิม ก็ต้องพร้อมที่จะย่อเข่า”

ท้ายสุด คุณวิชัย ยังได้ฝากถึง Startup รุ่นใหม่ด้วยว่า “แม้ความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็ขอให้ความเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ทำลายคุณธรรม 3 ข้อ ได้แก่...

1. เราจะไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น
2. เราจะเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดี มีคุณธรรม
3. เราจะแบ่งปันความรู้และโอกาสให้กับผู้ที่ด้อยกว่า

พวกเราจงกระตุ้นตัวเองอยู่เสมอ เพื่อการก้าวไปข้างหน้า”

‘ศาลอาญา’ พิพากษาจำคุก ‘เสี่ยวเป้า’ 3 ปี  ฐานร่วมม็อบ 3 นิ้ว ร้องเพลงหมิ่น-ใส่ร้ายสถาบันฯ

(20 มิ.ย.67) บัญชี X ของ ‘TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

ศาลอาญาพิพากษาคดี #ม112 ของ ‘เสี่ยวเป้า’ เหตุร้องเพลง ‘โชคดีที่มีคนไทย’ หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 65 เห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือจำคุก 2 ปี

เห็นว่าจำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน ไม่ได้มีพฤติการณ์เป็นแกนนำ ให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา ไว้ 2 ปี คุมประพฤติ 1 ปี รายงานตัวต่อศาลทุก 3 เดือน และบำเพ็ญประโยชน์ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้กรณีดังกล่าว วรินทร์ทิพย์ วัชรวงษ์ทวี หรือ ‘เสี่ยวเป้า’ อายุ 53 ปี ถูกแจ้งกระทำความผิดในข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุร้องเพลง ‘โชคดีที่มีคนไทย’ บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2565 โดยมี ‘อานนท์ กลิ่นแก้ว’ แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีที่ สน.ประชาชื่น

โดยพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา คือ วรินทร์ทิพย์ ได้ร้องเพลงชื่อว่า ‘โชคดีที่มีคนไทย’ บริเวณหน้าเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ และมีการไลฟ์สดผ่านช่องยูทูป ผู้กล่าวหาเห็นว่ามีเนื้อหาใส่ร้ายป้ายสี หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายทําให้พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 และรัชกาล 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ

‘เจ้าของร้านฟู่โหย่ว’ ชี้แจงหลังเกิดดรามา ‘เก็บค่านั่งรอไรเดอร์’ ยัน!! ไม่เคยสั่งให้ติด พร้อมแก้ไข ‘เปลี่ยนผู้จัดการ-จัดระบบใหม่’

(20 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี โซเชียลฯ วิจารณ์กรณีที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ขายข้าวมันไก่สิงคโปร์ ถนนผดุงพานิช ในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ติดป้ายบริเวณประตูระบุว่า ‘ไรเดอร์รอในร้าน ค่าบริการ 10 บาทค่ะ’ ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์จากกลุ่มไรเดอร์ส่งอาหาร และลูกค้าในร้านมองว่าทางร้านใจแคบหรือไม่ที่ให้ไรเดอร์ไปรอด้านนอกซึ่งอากาศร้อนจัด และไรเดอร์รายหนึ่งได้ระบายว่า ‘ทำเกินไปหรือเปล่าครับ ผมจะไม่รับ (ออเดอร์) ร้านนี้อีก ทำเกินไปไม่เห็นใจไรเดอร์เลย ที่นี่ร้อยเอ็ด’

ต่อมาทางร้านได้ออกมาโพสต์ข้อความชี้แจงในประเด็นดรามาที่เกิดขึ้นซึ่งทางร้านเผยว่า ไม่ได้เจตนา แต่เพื่อปรามไม่ให้เข้ามานั่งในร้าน อ้างรักษาความปลอดภัยลูกค้า และมีพื้นที่คับแคบ ย้ำยังไม่เคยเก็บเงินใด ๆ

ล่าสุดวันนี้ เพจ ‘ข้าวมันไก่สิงคโปร์ฟู่โหย่ว’ ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งรอบนี้เป็นทางเจ้าของร้านได้ออกมาชี้แจงผ่านเพจ โดยได้ระบุข้อความว่า…

“ดิฉัน น.ส.พัชราภรณ์ เป็นเจ้าของร้านฟู่โหย่ว”

“ขออนุญาตชี้แจง กรณีที่ทางร้านเรียกรับเงินกับไรเดอร์ ที่เข้ามานั่งรอรับอาหาร และต่อมามีการลงในโซเชียล และมีผู้เข้าแสดงความคิดเห็นนั้น ดิฉันขอชี้แจงรายละเอียดดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567”

“ดิฉันได้มาเปิดร้านที่ร้อยเอ็ด หลังเปิดร้านค้า ดิฉันได้ว่าจ้างพนักงานเข้ามาดูแลกิจการแทน เนื่องจากดิฉันมีเรียนและมีกิจการอย่างอื่นที่ต้องดูแล นานๆดิฉันจึงจะเดินทางมาดูแลธุรกิจเป็นบางครั้งคราว”

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดิฉันต้องกราบขอโทษลูกค้าและไรเดอร์อย่างมากที่ทำให้เกิดเรื่องราวไม่ดีเกิดขึ้น ดิฉันไม่ได้ทราบการติดป้ายนี้แต่อย่างใด และไม่เคยสั่งให้ติด เมื่อได้ทราบข่าว ดิฉันก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะรีบจัดการแก้ไข และเปลี่ยนผู้จัดการร้านใหม่และระบบในร้านใหม่ทั้งหมด”

“ตั้งแต่บัดนี้ ขอโทษพี่ไรเดอร์และทุกท่านที่ทำให้เดือดร้อนและที่ทำให้ทุกท่านรู้สึกไม่ดีทุกคนคะ ทางเราจะรีบจัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้และดูแลไรเดอร์เหมือนลูกค้าเรา”

“ขอบพระคุณค่ะ พัชราภรณ์ (เจ้าของร้านฟู่โหย่ว)”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top