Tuesday, 2 July 2024
NewsFeed

‘Peace Corps’ หน่วยงานสันติภาพของ ‘สหรัฐอเมริกา’ ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ผ่านอาสาสมัครหนุ่มสาวชาวอเมริกัน

กว่า 60 ปีมาแล้ว ในยุคที่สงครามเย็นยังคงคุกรุ่นและรุนแรง นอกจากการเสริมสร้างและพัฒนากำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรแล้ว โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้จัดตั้งหน่วยงานภาคพลเรือนเพื่อการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่นำโดยสหภาพโซเวียตขนานกันไปด้วย หน่วยงานพลเรือนหนึ่งซึ่งมีบทบาทในภารกิจนี้ และยังดำรงคงอยู่จนทุกวันนี้ก็คือ ‘Peace Corps’ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ‘หน่วยงานสันติภาพ’ แต่โดยทั่วไปแล้วมักนิยมเรียกชื่อหน่วยงานด้วยชื่อภาษาอังกฤษทับศัพท์

(ประธานาธิบดี John F. Kennedy กับเหล่าอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ เมื่อ 28 สิงหาคม 1961) 

ทั้งนี้ ‘Peace Corps’ เป็นหน่วยงานและโครงการอิสระของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่จัดหา ฝึกอบรม และจัดส่งอาสาสมัครเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 1961 ตามคำสั่งผู้บริหาร 10924 (Executive order (10924)) ของประธานาธิบดี John F. Kennedy และได้รับฉันทานุมัติจากสภาคองเกรสในเดือนกันยายน 1962 โดยรัฐบัญญัติ ‘Peace Corps’ 

(‘Sargent Shriver’ ผู้อำนวยการคนแรกของ ‘Peace Corps’ กับประธานาธิบดี Kennedy)

โดยผู้อำนวยการคนแรกของ ‘Peace Corps’ คือ ‘Sargent Shriver’ ผู้เป็นน้องเขยของประธานาธิบดี John F. Kennedy เอง โดย ‘Shriver’ เขาเป็นสามีของ ‘Eunice Kennedy Shriver’ จึงเป็นบิดาของ ‘Maria Shriver’ อดีตภรรยาของ ‘Arnold Schwarzenegger’ พระเอกคนเหล็ก อดีตผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

(‘Walter Reuther’ ประธานสหภาพ Auto Workers ผู้เสนอแนวคิด ‘Peace Corps’)

แนวคิดของ ‘Peace Corps’ เกิดจากในปี 1950 ‘Walter Reuther’ ประธานสหภาพ Auto Workers ได้นำเสนอในบทความเรื่อง ‘ข้อเสนอสำหรับการปฏิบัติการเชิงรุกด้วยสันติภาพโดยรวม’ ว่า สหรัฐฯ ควรจัดตั้งหน่วยงานอาสาสมัครเพื่อส่งเยาวชนอเมริกันไปทั่วโลกเพื่อภารกิจด้านมนุษยธรรม และโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนา โดยสุนทรพจน์ของ ‘Reuther’ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ระบุว่า...

“ผมพูดมานานแล้วว่าผมเชื่อว่าคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันที่ได้รับการฝึกฝนให้ร่วมกับคนหนุ่มสาวอื่น ๆ ในโลกจะถูกส่งไปต่างประเทศมากขึ้นด้วย ตำราเรียน อุปกรณ์สำหรับการพัฒนาต่าง ๆ และชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้คนช่วยเหลือให้สามารถพึ่งตนเองด้วยเครื่องมือแห่งสันติภาพ แทนที่คนอเมริกันหนุ่มสาวอีกจำนวนหนึ่งที่จะต้องถูกส่งไปพร้อมกับอาวุธสงคราม”

ในเดือนสิงหาคม 1960 หลังการประชุมแห่งชาติของพรรคเดโมแครตประจำปี ‘Walter Reuther’ ได้ไปพบกับ John F. Kennedy ที่เพื่อหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้งของเคนเนดีและการจัดบุคลากรของฝ่ายบริหารในอนาคต ซึ่ง Kennedy ได้ให้คำมั่นที่จะสร้างหน่วยงานของฝ่ายบริหารที่จะกลายเป็นหน่วยสันติภาพ โดย Kennedy ได้ประกาศแนวคิดสำหรับองค์กรดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 1960 ในการกล่าวสุนทรพจน์ในการรณรงค์ในช่วงดึกที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในเมืองแอนอาร์เบอร์บนบันไดของอาคาร Michigan Union ต่อมาเขาได้ขนานนามองค์กรนี้ว่า ‘Peace Corps’ 

วันที่ 1 มีนาคม 1961 ประธานาธิบดี Kennedy ลงนามคำสั่งบริหารที่ 10924 เพื่อเริ่มการก่อตั้งองค์กร ‘Peace Corps’ อย่างเป็นทางการ ด้วยความกังวลเกี่ยวกับกระแสความรู้สึกแห่งการต่อต้านสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้นในโลกที่สาม ประธานาธิบดี Kennedy มองว่า ‘Peace Corps’ เป็นวิธีการตอบโต้มุมมองแบบเหมารวมต่อกรณี ‘Ugly American’ (อเมริกันที่น่าชัง) และ ‘Yankee imperialism’ (ลัทธิจักรวรรดินิยมแยงกี้ ‘แยงกื้’ เป็นคำแสลงที่ใช้เรียกชาวอเมริกัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียหลังจากได้รับเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคม

จนกระทั่งประมาณปี 1967 ผู้สมัครเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะต้องผ่านการทดสอบวัดระดับ ‘ความถนัดทั่วไป’ (ความรู้ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับอาสาสมัคร ‘Peace Corps’) และความถนัดทางภาษา โดยวันที่ 28 สิงหาคม 1961 อาสาสมัครกลุ่มแรกได้ออกเดินทางไปยังกานาและแทนกันยิกา (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแทนซาเนีย) โครงการนี้ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 22 กันยายน 1961 และภายในระยะเวลา 2 ปี มีอาสาสมัครมากกว่า 7,300 คน ทำงานใน 44 ประเทศ และเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 คนในเดือนมิถุนายน 1966 ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ขององค์กรแห่งนี้

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่มีอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ เข้ามาปฏิบัติงานอาสาสมัคร ตั้งแต่ปี 1962 มีอาสาสมัครมากกว่า 5,600 คนปฏิบัติงานในประเทศไทย อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ มากมาย ตั้งแต่การศึกษา การพัฒนาชนบท สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันนี้ อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ยังทำงาน 2 โครงการหลักคือ การศึกษา และการพัฒนาเยาวชน การดำเนินการตามภารกิจของ Peace Corps สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างชาวไทยและชาวอเมริกันที่ทำงานร่วมกันในด้านมิตรภาพและการพัฒนา

โครงการการศึกษาในประเทศไทย อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา โดยจะร่วมสอนกับครูชาวไทยในห้องเรียน ช่วยแนะนำแนวทางและกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่มีความหลากหลาย และช่วยเหลือนักเรียนฝึกหัดการใช้ภาษาอังกฤษกับอาสาสมัครเจ้าของภาษา พื้นที่ปฏิบัติงานของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทตามจังหวัดต่าง ๆ ยกเว้นกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล ในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลหรือมีทรัพยากรน้อยกว่าโรงเรียนอื่น ๆ โครงการนี้สนับสนุนความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ และมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ครูในโรงเรียนประถมศึกษาของไทยได้ปรับปรุงและประยุกต์ใช้แนวทางการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในห้องเรียนภาษาอังกฤษและวิชาอื่น ๆ และเพื่อออกแบบบทเรียนและสื่อที่สร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนหลักสูตรบูรณาการ นอกจากนี้แล้ว อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันมากมายในด้านการศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ในโครงการเชิงสร้างสรรค์ของโรงเรียนขนาดเล็ก

โครงการเยาวชนเพื่อการพัฒนา (The Youth in Development : YinD) อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดึงดูดเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกลให้เตรียมพร้อมสำหรับบทบาทผู้ใหญ่ของพวกเขา โครงการ YinD นี้สอดคล้องกับมุมมองของรัฐบาลไทยที่เห็นว่าเยาวชนเป็นทรัพยากรที่ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรง และมีส่วนร่วม นอกจากนี้ โครงการนี้ยังช่วยให้เยาวชนได้รับรู้และพัฒนาทรัพยากรของตนอย่างเต็มที่ทั้งภายในและภายนอก นำไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จ เยาวชนหมายถึงผู้ที่มีอายุ 9-15 ปีสำหรับโครงการนี้ และได้รับความเห็นชอบจากพันธมิตรภาครัฐ อาสาสมัครทำงานในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ซึ่งเยาวชนเข้าถึงทรัพยากรของเมืองใหญ่ได้น้อย ดังนั้น งานส่วนใหญ่ของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ในโครงการ YinD คือการช่วยให้เยาวชนเปิดใจและพัฒนาทักษะที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางอาชีพและชีวิตสำหรับเยาวชนเหล่านั้น โดยปัจจุบันมีอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จำนวน 43 คนยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศไทย

สำหรับเป้าหมายอย่างเป็นทางการของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ คือการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา โดยการจัดหาชาวอเมริกันหนุ่มสาว ที่มีทักษะในสาขาต่าง ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ การเป็นผู้ประกอบการ การเสริมสร้างศักยภาพของสตรี และการพัฒนาชุมชน อาสาสมัครคือพลเมืองชาวอเมริกันซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งได้รับการมอบหมายให้ทำโครงการเฉพาะในบางประเทศตามคุณสมบัติและประสบการณ์ของอาสาสมัครเหล่านั้น หลังจากการฝึกอบรมทางเทคนิคเป็นเวลา 3 เดือน สมาชิกอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะรับความคาดหวังให้ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 2 ปี หลังจากนั้นพวกเขาอาจขอขยายเวลาอาสาสมัครได้ อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ได้รับคำแนะนำให้เคารพประเพณีท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง เรียนรู้ภาษาในพื้นที่ปฏิบัติงาน และปรับตัวใช้ชีวิตในสภาพที่ของประเทศที่ปฏิบัติงานได้

ในปีแรก ‘Peace Corps’ มีอาสาสมัคร 900 คนใน 16 ประเทศ และขึ้นถึงจุดมากที่สุดในปี 1966 ด้วยจำนวนอาสาสมัคร 15,556 คนใน 52 ประเทศ หลังจากการลดงบประมาณในปี 1989 จำนวนอาสาสมัครลดลงเหลือ 5,100 คน แม้ว่าเงินงบประมาณจะเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมาและนำไปสู่การเติบโตอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 ภายในวันครบรอบ 50 ปี ในปี 2001 มีอาสาสมัครมากกว่า 8,500 คนทำงานใน 77 ประเทศ นับตั้งแต่ก่อตั้งอาสาสมัครหนุ่มสาวชาวอเมริกันมากกว่า 240,000 คนได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ และทำงานใน 142 ประเทศ

(Carol Spahn ผู้อำนวยการ ‘Peace Corps’ คนปัจจุบัน)

Carol Spahn ผู้เคยเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ปฏิบัติงานในประเทศโรมาเนียระหว่างปี 1994 ถึง 1996 เป็นผู้อำนวยการ ‘Peace Corps’ คนปัจจุบัน และ ‘Peace Corps’ ได้รับงบประมาณปีละ 410.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15,114.61 ล้านบาท) น่าเสียดายที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ‘Peace Corps’ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างสูงและให้ประสิทธิผลอย่างมากในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ด้วยยังคงยึดติดกับ ‘นโยบายเรือปืน’ (Gunboat Policy) อยู่จนทุกวันนี้ หากสหรัฐฯ ใช้งบประมาณสำหรับกิจการ ‘Peace Corps’ เพียง 10% ของงบประมาณทางทหาร มั่นใจว่า  แน่นอนที่สุด จะมีประเทศต่าง ๆ และประชาชนพลโลกเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ด้วยความเต็มใจและด้วยความจริงใจมากขึ้นอย่างมากมาย

🔎ยกเครื่องพลังงานไทยด้วยกฎหมายในการจัดตั้ง ‘SPR’ ฉบับแรกของไทย โดยรองฯ พีระพันธุ์

หลังจากคนไทยต้องฝากความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงกับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนมาอย่างนี้ยาวนาน วันนี้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เร่งผลักดันให้จัดตั้ง SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ในประเทศไทยขึ้น จากเดิมบริษัทเอกชนผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องเป็นผู้จัดเก็บน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์ไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 25-36 วัน เป็นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจัดเก็บน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 50 วันตามมาตรฐาน IEA หรือ 90 วันเช่นเดียวกับประเทศสมาชิก IEA ส่วนใหญ่ (ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกสมทบของ IEA) 

แม้จะมีน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 25-36 วัน แต่น้ำมันเชื้อเพลิงเหล่านั้นถือครองโดยเอกชน (เป็นการสำรองน้ำมันตามกฎหมายของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543) รัฐบาลจึงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือบริหารจัดการได้ นอกจากเกิดเหตุฉุกเฉินและมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ อาทิ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก จึงจะเข้าไปควบคุมจัดการน้ำมันสำรองที่มีอยู่ได้ และวิกฤตน้ำมันที่ผ่านมามากมายหลายครั้งได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นที่รัฐต้องถือครองน้ำมันสำรองในรูปแบบของ SPR ด้วยตนเองเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน 50 วันเป็นอย่างน้อยหรือ 90 วัน ซึ่งจะทำให้ไทยมีความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับที่เข้มแข็งทัดเทียมนานาอารยประเทศ และเป็นหลักประกันที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติโดยรวม

มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ประกอบด้วยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายและด้านพลังงานในสาขาต่าง ๆ ร่วมกันหารือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน เพื่อทำการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และศึกษาวิธีการและรูปแบบการสำรองน้ำมันในต่างประเทศ เพื่อกำหนดเป็นแนวทาง ‘การสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อความมั่นคงและรักษาระดับราคาโครงสร้างราคาใหม่’ ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านพลังงาน จากการศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินการสำรองน้ำมันในรูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยพิจารณาผลการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมถึงประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และเยอรมนี ถึงมีจุดแข็งและข้อได้เปรียบการสำรองน้ำมันในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อวางรูปแบบ (Model) ของ SPR ที่จะเกิดขึ้นให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการระบบ SPR เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการและนโยบายที่จะลดผลกระทบด้านพลังงาน และเพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน และเป็นธรรมกับภาคประชาชนในอนาคตต่อไป 

แนวคิดเกี่ยวกับ SPR เบื้องต้นคือการกำหนดนโยบายการเก็บสำรองน้ำมันโดยภาครัฐ เพื่อให้สามารถนำน้ำมันที่มีการเก็บสำรอง มาใช้ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศให้ลดลงในช่วงที่ราคาน้ำมันขึ้นสูง ในลักษณะที่คล้ายกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้วิธีการเก็บเงินเข้าออก และปรับอัตราการจัดเก็บน้ำมันแต่ละประเภทให้มีความเหมาะสมในแต่ละช่วง 

โดยใช้เงินที่มีอยู่ในกองทุนน้ำมันฯ ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันไม่ให้สูงจนเกินไป ซึ่งจะเป็นรูปแบบเดียวกับการสำรองน้ำมันโดยภาครัฐ จะใช้น้ำมันสำรองที่มีอยู่ในคลังออกมาจำหน่ายเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันแทน ไม่ต้องใช้เงินเหมือนเช่นกองทุนน้ำมันฯ ตลอดจนให้มีการศึกษาถึงปริมาณที่เหมาะสมอัตราการของการเก็บสำรองน้ำมันโดยผู้ค้ามาตรา 7 เพื่อเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยทำให้ราคาน้ำมันในประเทศสามารถลดลงได้

ปัจจุบันการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยเป็นการสำรองโดยภาคเอกชนโดยกำหนดให้เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ที่มีปริมาณการค้าแต่ละชนิด หรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่ 2,374,768 บาร์เรล (100,000 เมตริกตัน) ขึ้นไป หรือเป็นผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่เพียงชนิดเดียวที่มีปริมาณการค้าปีละตั้งแต่ 1,187,384 บาร์เรล (50,000 เมตริกตัน) ขึ้นไป (ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543) 

ทั้งนี้การกำหนดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองตามกฎหมายจะอ้างอิงจากปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการจัดหาน้ำมันดิบรวมระยะเวลาในการขนส่งจากแหล่งจัดหาหลัก (แหล่งตะวันออกกลาง) มายังประเทศไทย เพื่อให้มีน้ำมันสำรองเพียงพอรองรับวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นไม่คาดคิดอยู่ตลอดเวลา 

ในปี พ.ศ. 2566 ตามข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงานระบุว่า ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 มีหน้าที่สำรองน้ำมันดิบในอัตราร้อยละ 5 และน้ำมันสำเร็จรูปในอัตราร้อยละ 1 ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งปี หรือคิดเป็นอัตราสำรองเทียบเท่ากับปริมาณการใช้ 22 วัน (น้อยกว่า 25-36 วันตามข้อมูลที่มีการเผยแพร่) โดยมีกรมธุรกิจพลังงานเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้รับแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บน้ำมันสำรองตามกฎหมายคงเหลือรายวัน การตรวจวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองตามกฎหมาย ณ คลังน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่งทั่วประเทศ ในกรณีที่มีความจำเป็น ภาครัฐโดยกรมธุรกิจพลังงานสามารถสั่งให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 งดจำหน่าย หรือให้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่สำรองไว้ตามกฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ในปริมาณไม่เกินกว่า 20% ของปริมาณสำรองตามกฎหมาย เพื่อให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ หลังจากนั้น ผู้ค้าต้องเก็บสำรองน้ำมันให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนดเช่นเดิม

จะเห็นได้ว่า การมี SPR นั้นจะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อหลายภาคส่วน แน่นอนที่ผลกระทบทางบวกย่อมเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนคนไทย ในขณะที่เอกชนผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงย่อมได้ผลกระทบทางลบทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ SRP เลย ดังนั้นจึงต้องมีการยกร่างและออกกฎหมายใหม่ขึ้นมา ซึ่งต้องผ่านรัฐสภาทั้งสภาผู้แทนฯและวุฒิสภาฯ ดังนั้นหากมีการพิจารณาร่างกฎหมาย SPR ประชาชนคนไทยต้องช่วยกันสนับสนุนกฎหมาย SPR ให้สามารถประกาศใช้ให้สำเร็จให้จงได้ เพราะการเก็บสำรองน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ในปริมาณที่มีความเหมาะสมและมากพอย่อมจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศสามารถลดลงได้อีกนั้นเอง

‘Bitkub’ ผนึก ‘Celo’ เสิร์ฟความรู้ 'สินทรัพย์ดิจิทัล-บล็อกเชน' เตรียมความพร้อมคนไทย เข้าสู่ยุค ‘Web 3.0’ ได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.67) บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการ Bitkub Exchange ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลสัญชาติไทย และบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ผู้ให้บริการ Bitkub Academy ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล ประกาศความร่วมมือกับ Celo Foundation ผู้พัฒนาเครือข่ายบล็อกเชน Celo เพื่อส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนและเตรียมความพร้อมคนไทยเข้าสู่โลกในยุค Web 3.0 ควบคู่ไปกับความยั่งยืน

โดยความร่วมมือนี้มีความตั้งใจพัฒนาความรู้ให้เข้าถึงได้ง่ายและแพร่หลายยิ่งขึ้นผ่าน Celo Foundation ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเครือข่ายบล็อกเชน Celo ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้งานได้สะดวกและเน้นการใช้งานที่ยั่งยืนด้วยการเป็นเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบ

นายสุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด เปิดเผยว่า “การเตรียมความพร้อมคนไทยให้มีทักษะที่จำเป็นและสามารถแข่งขันได้ในโลกยุค Web 3.0 เป็นเป้าหมายของการดำเนินงานที่สำคัญของ Bitkub Academy โดยการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายบล็อกเชนชั้นนำของโลกรายต่าง ๆ เป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่หลากหลายและมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน โดย Bitkub Academy กับ Celo Foundation มีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีบล็อกเชนและ Web 3.0 ให้เข้าถึงได้ง่ายและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความรู้ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

นายอรรถกฤต ชิมผลาพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด กล่าวเสริมว่า “Bitkub Exchange มีความยินดีที่เกิดความร่วมมือกับ Celo Foundation ในครั้งนี้ ในฐานะศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เรามีความตั้งใจที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในโลกสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังพัฒนา ซึ่ง Celo Foundation เป็นมูลนิธิที่สนับสนุนความรู้และการใช้งานบล็อกเชน รวมถึงมีธรรมาภิบาลในด้านความยั่งยืนอีกด้วย เรามั่นใจว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้เทคโนโลยี Web 3.0 สามารถเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้สำหรับคนไทยทุกคน”

Angelo Kalaw, Ecosystem Strategy and Innovation Lead จาก Celo Foundation กล่าวเสริมว่า “เรารู้สึกยินดีสำหรับความร่วมมือกับ Bitkub ในครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยขยายการใช้งานระบบนิเวศบล็อกเชนของ Celo เข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเพิ่มการใช้งานเทคโนโลยี Web 3.0 ไปทั่วภูมิภาค นอกจากนี้ เรายังมุ่งกระจายความรู้เกี่ยวกับ Regenerative Finance (ReFi) และพาผู้ใช้งานอีกหลายล้านคนเข้าสู่โลก Web 3.0 ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการสร้างชุมชนผู้ใช้งาน Celo หรือ “เกาะ Celo” DAO ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน”

เนื้อหาดังกล่าวมาจาก บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด จัดทำร่วมโดย บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.

‘อโกด้า’ เผย ‘ข้อมูลการค้นหาที่พัก’ ของ 'นทท.ไทย' ช่วงต้นฤดูฝน พบ 'เมืองรอง' อยู่ในลิสต์ค้นหาเพื่อไปท่องเที่ยว 'เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า'

(19 มิ.ย.67) อโกด้า แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการท่องเที่ยว รายงานข้อมูลการค้นหาที่พักในช่วงต้นฤดูฝน จากข้อมูลพบว่า เมืองรองกำลังได้รับความสนใจในกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยเพื่อเดินทางไปสถานที่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก โดยการค้นหาที่พักในเมืองรองผ่านอโกด้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงต้นฤดูฝน

จากข้อมูลพบว่า จังหวัดเมืองรองที่นักเที่ยวชาวไทยค้นหามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จันทบุรี, นครศรีธรรมราช, นครนายก, ราชบุรี และเชียงราย ตามลำดับ

โดยจังหวัดเมืองรองเหล่านี้มีที่เที่ยวที่หลากหลาย เที่ยวได้ไม่จำเจ ตั้งแต่การออกเที่ยวเพื่อดื่มดำไปกับธรรมชาติ จนถึงการไปชิมอาหารรสชาติพื้นเมือง สถิติการค้นหาเมืองรองมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึง 23% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน

โดยจากทั้ง 5 เมืองรองที่ถูกค้นหามากที่สุด นครนายก เป็นจังหวัดที่มียอดการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ซึ่งการค้นหาเมืองรองที่เพิ่มขึ้นนี้ ชี้ให้เห็นถึงเทรนด์การท่องเที่ยวที่นักเดินทางต้องการค้นหาประสบการณ์ที่ยังไม่เคยสัมผัสมาก่อนจากเมืองรองมากขึ้น

‘Nvidia’ ขึ้นแท่นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก ล้ม Microsoft เพียงไม่กี่วันหลังจากที่เพิ่งแซง Apple

(19 มิ.ย. 67) Nvidia ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐฯ โค่นบัลลังก์ยักษ์ใหญ่ ‘ไมโครซอฟท์’ กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) หลังโปรเซสเซอร์ระดับไฮเอนด์ที่บริษัทผลิตได้กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วงชิงความเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยีเอไอ

โดยราคาหุ้น Nvidia ไต่ขึ้นอีก 3.5% ไปอยู่ที่ 135.58 ดอลลาร์สหรัฐ/หุ้น ส่งผลให้มูลค่าตลาดพุ่งสูงแตะระดับ 3.335 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพียงไม่กี่วันหลังจากที่ Nvidia เพิ่งจะสามารถก้าวแซง ‘แอปเปิล’ ขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ของโลกได้

สำหรับมูลค่าตลาดของไมโครซอฟท์อยู่ที่ 3.317 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาหุ้นปรับลดลง 0.45% ขณะที่หุ้นแอปเปิลร่วงลงกว่า 1% ทำให้บริษัทมีมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ 3.286 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้อานิสงส์ความแรงของหุ้น Nvidia จะทำให้ดัชนีหุ้นหลักอย่าง S&P 500 และ Nasdaq พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่นักลงทุนบางคนเริ่มกังวลว่ากระแสความบูมของเอไออาจอันตรธานหายไปอย่างรวดเร็ว หากปรากฏสัญญาณการลงทุนที่ลดลง

Nvidia กลายเป็นบริษัทที่มีการซื้อขายมากที่สุดในวอลล์สตรีท ด้วยอัตราการหมุนเวียนซื้อขายต่อวัน (daily turnover) เฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับราว ๆ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในกรณีของแอปเปิล ไมโครซอฟท์ และเทสลา ตามข้อมูลจาก LSEG

ราคาหุ้น Nvidia พุ่งขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวในปีนี้ เมื่อเทียบกับหุ้นไมโครซอฟท์ที่ขยับขึ้นเพียง 19% โดยมีปัจจัยสำคัญจากกำลังการผลิตโปรเซสเซอร์ระดับคุณภาพเยี่ยมที่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ท่ามกลางความพยายามของยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ เมตา และอัลฟาเบ็ทซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google ที่แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เอไอออกสู่ท้องตลาด

การที่ชิปเอไอของ Nvidia ถูกมองว่ามีคุณภาพสูงกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ และเป็นที่ต้องการอย่างมากนั้น ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า Nvidia คือ ‘ผู้ชนะรายใหญ่ที่สุด’ ในสงครามการแข่งขันด้านเอไอ ณ เวลานี้

“Nvidia กำลังได้รับความสนใจในเชิงบวกอย่างมาก และบริษัทก็เดินเกมหลายอย่างได้ถูกต้อง แต่ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็อาจกระทบต่อมูลค่าหุ้น ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องระวังเช่นกัน” โอลิเวอร์ เพิร์ช รองประธานอาวุโสของ Wealthspire Advisors ในนครนิวยอร์ก ให้ความเห็น

มูลค่าตลาดของ Nvidia ขยายตัวจาก 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลาเพียง 9 เดือนเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ก่อนใช้เวลาอีกเพียง 3 เดือนในการไต่ระดับสู่หลัก 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือน มิ.ย.

ทั้งนี้ ผู้บริหาร Nvidia เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อเดือน พ.ค.ว่า อุปสงค์ชิปเอไอ Blackwell ของทางบริษัทน่าจะสูงเกินกำลังผลิต ‘ไปจนถึงปีหน้า’

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่แล้ว Nvidia ได้แตกหุ้นในอัตรา 10 ต่อ 1 โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ในความเคลื่อนไหวที่คาดว่าจะทำให้หุ้นของบริษัทชิปเอไอแห่งนี้เป็นที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนมากขึ้นไปอีก

'เศรษฐา' ร่ายยาว!! ของบ 3.75 ลลบ.เติมเศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพ พร้อมคำมั่น!! ปลายปี 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ถึงมือประชาชน

(19 มิ.ย.67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท โดยในปีนี้ไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลัง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลการของบประมาณว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2568 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณฯ 2567 มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ ผ่านการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรม บนการพัฒนา 6 พื้นฐานสำคัญ มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณ ในการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 มีการปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ประมาณการไว้ในแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2568-2571 โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การขยายตัวของการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ จากความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และสร้างความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2568  คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7–1.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 

“ในช่วงปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงตั้งแต่ระดับฐานราก กระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การสั่งผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้กับภาครัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศต่อไป” นายกฯ กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand เป็นเป้าหมายของการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของ 8 ด้านได้แก่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการแพทย์
และสุขภาพ ศูนย์กลางเกษตรและอาหาร ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และศูนย์กลางการเงิน บนการพัฒนา 6 พื้นฐานที่สำคัญได้แก่ การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเพื่อความโปร่งใส ความเสมอภาคเท่าเทียม ความสะอาดและปลอดภัย ระบบขนส่งที่เข้าถึงและสะดวก การศึกษาและเรียนรู้สำหรับทุกคน พลังงานสะอาดและมั่นคง

กลยุทธ์ของการมุ่งไปสู่ 8 ศูนย์กลาง คือการต่อยอดจุดแข็งของประเทศด้านต่างๆ เช่น สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ทักษะของคนไทย โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนต่อยอดให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาคและของโลกได้ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ, อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร, อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน เป็นต้น

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ครึ่งปีแรกของปี2567 แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยว
เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศทั้งปีมากกว่า 36.7 ล้านคน กลับไปสู่ระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และรัฐบาลมีแผนที่จะทำให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวผ่านการเฟ้นหาจุดเด่น จัดเทศกาล กิจกรรม คอนเสิร์ต หรือการแสดงต่างๆ เพื่อเพิ่มระยะเวลาการพำนัก และค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของนักท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศมากยิ่งขึ้น ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการบิน โดยรัฐบาลจะเดินหน้าขยายโครงข่ายสนามบินทั่วประเทศเพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น และขยายกำลังความสามารถในการขนส่งทางอากาศ การขนส่งควบคุมอุณหภูมิ และเชื่อมต่อไปยังการขนส่งทางรถ ราง และเรืออย่างครบวงจร ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งจากไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และเชื่อมต่อ
ไปยัง Land Bridge เพื่อไปทั่วโลกได้ 

ส่วนเกษตรกรรมและอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยรัฐบาลมีมาตรการที่จะดูแลภาคส่วนนี้ตั้งแต่ต้นน้ำโดยการบริหารจัดการน้ำ ดิน พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การแปรรูป และดูแลบริหารอย่างครบวงจร ทำให้ภาคเกษตรและอาหารแข็งแรงยิ่งขึ้น

นายกฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาหนี้สินยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินสูงกว่าร้อยละ 91.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และยังมีภาระหนี้นอกระบบ โดยรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ย และจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่ทำผิดกฎหมาย เพื่อคืนอิสรภาพให้กับพี่น้องประชาชนที่เคยตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่รู้จบ ส่วนในภาคธุรกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินว่าใน SMEs จำนวนกว่า 3.2 ล้านราย มีเพียงไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน ทำให้ต้องอาศัยแหล่งสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ด้านการใช้จ่ายจำเป็นในการหมุนเวียนประจำวัน และการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ ส่งผลให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง การเจริญเติบโตในภาค SMEs อยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อในกลุ่ม SMEs มีการขยายตัวติดลบร้อยละ 5.1 ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 1 ของปี 2567

นายเศรษฐา กล่าวว่า ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร (สุทธิ) การขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 3,022,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 135,700 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรร
เป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,887,000 ล้านบาท ประกอบกับเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 865,700 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

นายกฯ กล่าวอีกว่า ฐานะการคลังนั้น หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีจำนวน 11,474,154.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.37 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมาย
ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มีจำนวน 430,076.3 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม บริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด 

ทั้งนี้ ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 224,483.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก                         

นายเศรษฐา กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,752,700 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,704,574.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 72.1 รายจ่ายลงทุน จำนวน 908,224 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.2 ซึ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปี และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 150,100 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,198.7 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ในส่วนของยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ได้กำหนดไว้ผ่าน 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้...

ยุทธศาสตร์ ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 405,412.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาความมั่นคง เช่นการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 398,185.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน ผลักดันการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน 
 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 583,023.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ปฏิรูประบบการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรมสู่อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพการกีฬาสู่ความเป็นเลิศและได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยให้ได้มาตรฐานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการแข่งขันในตลาดโลก  

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 923,851.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐาน บริการสาธารณะอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ สนับสนุนการเตรียมความพร้อมสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย เพิ่มศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมและกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน พัฒนาระบบสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งสร้างหลักประกันสวัสดิการ สำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย  จำนวน 137,291.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.7 ของวงเงินงบประมาณ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และสร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว 

และ ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 645,880.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม

นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินการภาครัฐนั้นรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 659,053.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ  แบ่งเป็นแผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจะเป็นจำนวน 248,800.0 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และเงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง รวมถึงการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงวินัยทางการคลัง และแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 410,253.7 ล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ

“งบประมาณฯ 2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท มีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 865,700 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณปีนี้จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ จำนวน 908,224 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 27.9 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย” นายเศรษฐากล่าว

'อาจารย์อุ๋ย ปชป.' ยินดี!! ไทยสมัครเป็นสมาชิก BRICS สะท้อนการรับมือระเบียบโลกใหม่จากหลายขั้วได้อย่างเหมาะสม

(19 มิ.ย. 67) จากกรณีที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส.กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ผมเห็นด้วยและขอแสดงความยินดีกับการที่ไทยแสดงความจำนงเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ซึ่งจนถึงปัจจุบันประกอบด้วย บราซิล, อินเดีย, จีน, แอฟริกาใต้, อิหร่าน, อียิปต์, เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมีขนาดเศรษฐกิจถึงร้อยละ 28.3 ของโลก และมีจำนวนประชากร ร้อยละ 45.5 ของประชากรโลก โดยรัฐสมาชิกจะยึดถือหลักการความเสมอภาค มีผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่แทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่บัญญัติไว้ในกฎบัตร ASEAN 

โดยการเป็นสมาชิกนี้จะทำให้ไทยได้ประโยชน์ในหลายด้าน อาทิเช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีโลก เพิ่มบทบาทของไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสของไทยในการมีส่วนร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ที่มีความยุติธรรมมากขึ้น เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า ทุนสำรอง การสื่อสารข้อมูล คุ้มครองการลงทุน ส่งเสริมการลงทุน ทลายกำแพงการค้า (Trade Barrier) และค้าขายด้วยสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ 

นอกจากนี้เรายังเพิ่งแสดงความจำนงขอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วกว่า 30 ประเทศ ในยุโรปและอเมริกา และเราก็ยังคงเป็นสมาชิก APEC อยู่ด้วยซึ่งมีทั้งสหรัฐอเมริกา, จีน และรัสเซีย เป็นสมาชิกเช่นกัน ดังนั้น ใครจะมาบอกว่าเราเลือกข้าง คงไม่ใช่ แต่เป็นการแสวงหาโอกาสเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ 

ด้วยสภาวการณ์ของโลกปัจจุบันที่มีความแปรปรวนและยืดหยุ่นสูง ประกอบกับเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทย การรักษาสมดุลระหว่างขั้วอำนาจโลกอย่างเหมาะสมและมียุทธศาสตร์เท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาก้าวหน้าอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก ผมขอให้กำลังใจรัฐบาลในเรื่องนี้และขอให้รัฐบาลใช้โอกาสอันมีค่านี้ สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทยและคนไทยครับ ด้วยความปรารถนาดี"

‘โซเชียล' สงสัย!! ทริปบุคลากรมหาลัยในภาคอีสาน จัด 'สัมมนา-ดูงาน' ที่ภูเก็ต แต่ทำไมดูเหมือนไปเที่ยว

(19 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังเพจเฟซบุ๊ก ‘ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน’ โพสต์ข้อความ ถึงบุคลากรมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เดินทางไปสัมมนาดูงานที่ ภูเก็ต จำนวน 40 ชีวิต รวม 4 วัน 3 คืน 

โดยเนื้อความในโพสต์ ได้ระบุว่า… 

"สัมมนาทางทะเล คณะ... ขนบุคลากรกว่า 40 คน ไปดูงานสัมมนา 4 วัน 3 คืน ที่ภูเก็ต เมื่อวันที่ 15-18 พ.ค. 67 เริ่มทริปบินตรงจากขอนแก่นมุ่งสู่ภูเก็ต วันแรกเอาฤกษ์เอาชัยพากันไปไหว้พระ เดินดูเมืองเก่า ซื้อของฝาก เช้าวันต่อมาแวะไปดูงานที่ ม.สงขลานครินทร์ จนถึงบ่าย”

“วันที่ 17 พ.ค. 67 นั่งเรือชมวิวไปเกาะพีพี อ่าวมาหยา พร้อมดำน้ำดูปะการัง ตบท้ายมื้อค่ำด้วยโชว์ภูเก็ตแฟนตาซี และวันสุดท้ายไปลอดถ้ำ พายเรือแคนูที่พังงา แล้วบินกลับพร้อมความรู้ทางทะเลสุดฉ่ำ"

'มิสเตอร์เอทานอล' เตือนรัฐบาลอย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรกว่า1ล้านครัวเรือน

“อลงกรณ์”ห่วงอุตสาหกรรม
เอทานอลล่มสลายเกษตรกรล่มจม
เสนอ 5 มาตรการเดินหน้าอุตสาหกรรมเอทานอล

วันนี้นายอลงกรณ์ พลบุตร ฉายา“มิสเตอร์เอทานอล”(Mr.Ethanol)และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค“อลงกรณ์ พลบุตร”เรื่อง อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อเกษตรกร“แสดงความกังวลต่อนโยบาย”เอทานอล“ของกระทรวงพลังงานพร้อมเสนอ 5 มาตรการเดินหน้าอุตสาหกรรมเอทานอลโดยมีข้อความดังต่อไปนี้

อลงกรณ์ขับรถไถจากสวนจิตรลดาบุกทำเนียบรัฐบาลในเดือนกันยายนปี2544เพื่อโปรโมทโครงการเอทานอลจนคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในสัปดาห์ถัดมา

”อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานสะอาดจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรไทย“

ผมกังวลใจที่ทราบว่ากระทรวงพลังงานจะไม่สนับสนุนเอทานอลน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากอ้อยและมันสำปะหลังโดยการจำหน่ายน้ำมันจะเหลือเพียง น้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์95 (E10) ทั้งที่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) สนับสนุนE20จะทำให้
การใช้เอทานอลลดลงถึง50%กระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมเอทานอลที่ประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี2544จนปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานเอทานอล28โรงมีกำลังการผลิต 6.8 ล้านลิตรต่อวัน เป็นอันดับ 7 ของโลก ซึ่งทุกวันนี้ผลิตเพียง3.1-3.2 ล้านลิตรต่อวัน หากในอนาคตปรับเหลือแค่ E10 ก็จะลดลงไปอีก50% อาจถึงการล่มสลายของอุตสาหกรรมเอทานอลและเกษตรกรล่มจม

“เมื่อปี2543เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันประเทศไทยกระทบรุนแรงเพราะนำเข้าน้ำมันถึง90% ผมเสนอให้ประเทศไทยผลิตน้ำมันเอทานอล(แอลกอฮอล์)จากพืชซึ่งมีโรงงานต้นแบบของในหลวงในวังสวนจิตรลดาจึงได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ.(ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์)เป็นประธานโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชในต้นปี2544และเสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรี(ฯพณฯ.ชวน หลีกภัย)ให้ความเห็นชอบให้ผลิตเอทานอลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่19 กันยายน 2544 เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ลดคาร์บอนและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยชาวไร่มันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นน้ำมันเอทานอลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจนได้รับฉายา”มิสเตอร์เอทานอล“ 

นับเป็นเวลากว่า20ปีที่อุตสาหกรรมเอทานอลเติบโตและมีน้ำมันแก๊สโซฮอล์(เบนซิน-แก๊สโซลีนผสมเอทานอล-แอลกอฮอล์)จำหน่ายทุกปั้มทั่วประเทศ มีน้ำมัน E10 E20และE85 (EคือEthanol, E10คือเอทานอล10%เบนซิน90% E20และE85มีส่วนผสมเอทานอล 20%และ85%) โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ยอมรับการปรับแต่งเครื่องยนต์และอุตสาหกรรมน้ำมันก็ให้การสนับสนุน

การที่รัฐบาลปัจจุบันโดยกระทรวงพลังงานจะลดการส่งเสริมสนับสนุนจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเอทานอลและเกษตรกรชาวไร่อ้อยชาวไร่มันสำปะหลังประสบความเดือดร้อนอย่างรุนแรงเพราะเพียงแค่มีข่าวว่าจะลดเหลือเพียงน้ำมันE10ชาวไร่ก็ถูกกดราคาแล้ว

ผมจึงขอเสนอมาตรการให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานพิจารณา ดังต่อไปนี้
1. ส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานและยังคงจำหน่ายน้ำมัน E85
2. ขยายเวลาการบังคับ “มาตรการยกเลิกชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 รอบ2 เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ก็เป็นราคาตามกลไกตลาดโลกและต้นทุนของเอทานอลอยู่แล้ว โดยกองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้นำเงินไปช่วยชดเชยราคาแต่อย่างใด และยังเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ อีกด้วย
3. ส่งเสริมเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมให้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้ อาทิ ไบโอพลาสติก,อุตสาหกรรมยา,อุตสาหกรรมสีทาบ้านและอุตสาหกรรมเคมี เป็นต้นโดยแก้ไขหรือยกเลิก พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 เพราะปัจจุบันเอทานอลไม่สามารถนำมาใช้ด้วยเกรงจะถูกนำไปผลิตเป็นเหล้าเถื่อนกระทบบริษัทผลิตเหล้าและองค์การสุราทั้งที่มีมาตรการป้องกันได้เหมือนการนำเอทานอลมาใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง

4. ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมไบโอรีไฟนารี่(Biorefinery)คืออุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าเอทานอล
5. เพิ่มศักยภาพการส่งออกเอทานอล โดยภาครัฐสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต(Productivity)ของโรงงานและชาวไร่ให้มีผลผลิตสูงขึ้นสามารถแข่งขันชิงตลาดโลกได้
ประเทศของเราผลิตเอทานอลได้เกือบ7ล้านลิตรต่อวันแต่กลับหยุดส่งออกเอทานอลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 หรือ11ปีมาแล้วโดยรัฐบาลขณะนั้นออกมาตรการระงับการส่งออกด้วยเกรงเอทานอลจะไม่พอใช้ในประเทศ โดยยกเว้นให้ส่งออกเป็นบางกรณี เช่น เดือนมีนาคม 2557 มีการส่งออกจำนวน 4 ล้านลิตรและเดือนธันวาคม 2563 ส่งออกเพียง 5.4 หมื่นลิตร มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และอังกฤษ ปัจจุบันกำลังการผลิตใช้เพียงครึ่งเดียวเหลือวันละ 3 ล้านลิตร หากส่งออกได้ก็จะเพิ่มกำลังผลิตได้เต็มกำลังการผลิตจริง 

“รถจดทะเบียนสะสมมีกว่า 44 ล้านคัน ส่วนรถไฟฟ้ามีแสนกว่าคัน ดังนั้นน้ำมันสำหรับรถสันดาปภายในยังมีความต้องการอีกมาก การผลิตน้ำมันชีวภาพ(Biofuel)ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงานและรัฐบาลใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาดีเซลและแก๊สกว่าแสนล้านบาทโดยไม่ได้อุดหนุนราคาแก๊สโซฮอลล์มิหนำซ้ำกลับจะทำลายรากฐานของการพึ่งพาตัวเองของประเทศที่เราสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลจนเติบใหญ่เป็นอันดับ7ของโลกและช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เรามาไกลเกินกว่าจะหันหลังกลับ ผมขอให้กระทรวงพลังงานและรัฐบาลทบทวนนโยบายเสียใหม่ อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรกว่า1ล้านครัวเรือน “

‘IMD’ ปรับอันดับขีดความสามารถไทยปี 67 ขึ้น 5 อันดับ ขยับสู่อันดับ 25 จาก 30 วิ่งแซงมาเลเซียที่อยู่อันดับ 34

(19 มิ.ย. 67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าได้รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเขตเศรษฐกิจ 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งจัดอันดับโดย International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2566

โดยในส่วนของประเทศไทย อันดับของประเทศไทยดีขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 30 ในปี 2566 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 25 ในปีนี้ โดยอันดับของประเทศไทยยังถือว่าดีที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วใน 2 ด้าน คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับดีขึ้นมากที่สุดถึง 11 อันดับ จากอันดับที่ 16 มาอยู่อันดับที่ 5 เนื่องจากในทางการคลังเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากเดิม

ขณะที่ด้านประสิทธิภาพภาครัฐปรับเพิ่มขึ้น 3 อันดับ จาก 23 มาอยู่ที่ 20 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อยู่ในอันดับ 43 เท่าเดิม และด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ คงที่อยู่ในอันดับที่ 24

ส่วนในภาพรวมของเศรษฐกิจในอาเซียน จากเขตเศรษฐกิจในสมาชิกประชาคมอาเซียนรวม 10 เขตเศรษฐกิจ ยังคงมีเพียง 5 เขตเศรษฐกิจ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ที่ได้รับการจัดอันดับโดย IMD

ซึ่งเขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงสุดของอาเซียนในปี 2567 ยังคงเป็นสิงคโปร์อันดับ 1 และเป็นที่น่าสนใจว่าทั้งไทย และอินโดนีเซีย ต่างสามารถพัฒนาอันดับขีดความสามารถขึ้นมาสูงกว่ามาเลเซียในปีนี้ โดยไทยได้รับการจัดอันดับ ที่ 25 และอินโดนีเซียที่ อันดับ 27 ในปีนี้ ตามมาด้วยมาเลเซีย อันดับ 34 และฟิลิปปินส์ อันดับ 52 ตามลำดับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top