Friday, 9 May 2025
NewsFeed

'ศิริกัญญา​-ก้าวไกล' จับพิรุธ​ ครม. ลักหลับออก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้าน

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้ประชาชนช่วยกันจับตาให้ดีคือ การประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงการคลังได้ขออนุมัติ พ.ร.ก. เงินกู้เพิ่มเติมอีก 700,000 ล้านบาท เป็นการกู้เงินเพิ่มเติมจากวงเงินกู้เดิมตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ที่ได้มีการอนุมัติงบประมาณไปเกือบเต็มวงเงินแล้ว โดย ร่าง พ.ร.ก. กู้เงินดังกล่าวเป็นเอกสารแค่ 4 หน้า กรอบแผนงานการใช้เงิน เขียนสั้น ๆ แบ่งเป็น 3 แผนเหมือน พ.ร.ก. เงินกู้เดิมทุกประการ เพียงแต่ปรับลดวงเงินลง มาแบ่งเป็น...

แผนงานด้านสาธารณสุข ลดลงเหลือ 30,000 ล้านบาท, แผนงานเยียวยาประชาชน ลดลงเหลือ 400,000 ล้านบาท และแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ลดลงเหลือ 270,000 ล้านบาท

“การออก พ.ร.ก. เงินกู้ครั้งนี้น่าเป็นห่วง เพราะโครงสร้างแผนงานและกลไกการอนุมัติโครงการแทบจะเหมือน พ.ร.ก. 1 ล้านล้านทุกประการ ดังนั้น เราคงคาดหวังได้ยากว่าใน พ.ร.ก. เงินกู้ตัวใหม่รัฐบาลจะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งบประมาณให้ดีขึ้น

“พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่รัฐบาลออกมาในปีที่แล้วเห็นได้ชัดแล้วว่า นอกจากโครงการที่เป็นเงินโอนโครงการอื่น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศอนุมัติได้น้อย การเบิกจ่ายล่าช้า ตัวโครงการไม่มีความสมเหตุสมผล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือแผนงานด้านสาธารณสุขที่งบประมาณเดิมมีการเบิกจ่ายแค่ไม่ถึง 30% อุปกรณ์การแพทย์กว่า 2,500 รายการ ในจำนวนนี้มีเครื่องช่วยหายใจ 1,000 เครื่อง งบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ 170 ล้านชิ้น ที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว ทั้งหมดนี้ยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินเลย แม้แต่เพียงบาทเดียว”

ศิริกัญญา ยังกล่าวเพิ่มเติมไปอีกว่า แผนงานฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจผ่านมาแล้ว 1 ปี เป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงานใหม่ 400,000 ตำแหน่ง, เกษตรกร 95,000 ราย มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตนเองได้, มีพื้นที่เกษตรสมัยใหม่เพิ่มขึ้น 5 ล้านไร่ พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 1.7 แสนไร่ และพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 7,900 ล้าน ลบ.ม. ก็เป็นได้แค่ลมปาก ยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

โครงการเรือธงอย่าง "โคก หนอง นา โมเดล" มีถึง 2 โครงการใช้ชื่อต่างกัน มี 2 หน่วยงานที่ทำเรื่องเดียวกัน เรื่องนี้ สตง. ได้ออกมาชี้เป้าแล้วว่าโครงการภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน มีความเสี่ยงในการใช้เงิน เพราะมีการแก้ไขไม่ว่าจะเป็น การดำเนินโครงการล่าช้ากว่าแผน หน่วยงานไม่พร้อมในการดำเนินการ และการดำเนินโครงการมีความเสี่ยงที่จะไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะมีการแก้เงื่อนไขการดำเนินงานหลังอนุมัติ เช่น ลดเป้าหมายเกษตรกร ตำบลละ 16 คน เหลือ ตำบลละ 2 คน เป็นต้น

“เรามีบทเรียนการใช้เงินกู้ของประชาชนที่ไม่มีประสิทธิภาพมาแล้ว 1 ปี ในสถานการณ์ปัจจุบัน การกู้เงินเพิ่มเพื่อเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจมีความจำเป็น แต่เราอยากเห็นการกู้แบบมีความรับผิดชอบ ที่มีการคิดเสร็จแล้ว มีรายละเอียดพร้อม มีกลไกเร่งรัดการเบิกจ่าย มีการประเมินกำลังหน่วยงานรัฐว่าไหวไหม ถ้าไม่ไหวอย่าเอาไป เสียของ! ซึ่งยืนยันอีกครั้งว่ารัฐบาลนี้ไม่มีความสามารถมากพอที่จะดูแลเงินกู้ก้อนใหม่ให้ประชาชนได้”

อีกเรื่องที่ ศิริกัญญา ทิ้งท้ายว่าให้จับตาในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการที่กระทรวงกลาโหมทำหนังสือลับมาก ด่วนมาก ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายแก้ปัญหาโควิด-19 ของกระทรวงกลาโหม

“การของบประมาณในครั้งนี้ กระทรวงกลาโหมขอใช้งบกลางประมาณ 387 ล้านบาท หลายเรื่องเป็นภารกิจของกองทัพอยู่แล้ว เช่น การสกัดกั้นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายที่บริเวณชายแดน 80 ล้านบาท การเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนามของกองทัพ 100 ล้านบาท”

“แต่ที่น่าติดใจเท่ากับส่วนที่ใหญ่ที่สุด 207 ล้านบาท ที่เป็นค่าใช้จ่ายของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ที่เป็นการใช้เงินเพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังพลในการรับมือกับสถานการณ์ชุมนุม ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับการรับมือแก้ปัญหาโควิด-19 เลย รัฐบาลต้องตอบคำถามเรื่องนี้กับประชาชนให้ชัดด้วย” ศิริกัญญากล่าวสรุป

ครม. เคาะ 3 มาตรการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจสู้ภัยโควิด-19

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุน มีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี โดยเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย เพื่อให้การลงทุนของประเทศในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ครอบคลุมการลงทุนจากทุกแหล่งเงิน และสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 
  
1.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 คาดว่าจะมีโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2563-2570 จำนวน 10 โครงการ โดยประมาณการมูลค่ารวม 260,024.08 ล้านบาท และประมาณการวงเงินลงทุนที่คาดว่าจะลงทุนในปี 2565 รวม 52,320.63 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

2.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ประมาณการแผนการใช้จ่ายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย สำหรับการลงทุนโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอนบน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก รวมจำนวนทั้งสิ้น 9,983.98 ล้านบาท 

3.) การใช้เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสิ้น 8 กระทรวง 11 หน่วยรับงบประมาณ 109 รายการ วงเงินรวม 91,705.5119 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วว่าเป็นรายการลงทุนที่มีลักษณะการลงทุนเพื่อการวางรากฐานการพัฒนาระบบน้ำ การสร้างคุณภาพชีวิตและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การลงทุนเพื่อการให้บริการด้านสาธารณสุข รวมทั้งการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ ซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินการ ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมและสามารถใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

“ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรียังมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเร่งรัดดำเนินการตามแผนการลงทุนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และแผนการลงทุนภายใต้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย พร้อมให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ พิจารณาโครงการรายจ่ายลงทุนเพื่อใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งแนวทางดังกล่าวยึดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงินขาดดุลของงบประมาณกำหนดไว้ จำนวน 700,000 ล้านบาท” นายอนุชา ฯ กล่าว

รัฐบาลยอมเฉือนรายได้ 12,015 ล. เว้นภาษีช่วยโควิด

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้านโควิด-19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศล สำหรับการนำเข้าและบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 64-31 มี.ค. 65 โดยการขยายระยะเวลาดังกล่าว คาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้จากภาษีประมาณ 15 ล้านบาท แต่จะมีประโยชน์คุ้มค่าในการช่วยสนับสนุนการรักษา การวินิจฉัย และการป้องกันโควิด-19 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน และเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ  

ขณะเดียวกัน ครม.ยังเห็นชอบร่างกฎหมายตามมาตรการภาษีอากรเพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีอากรและการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ เพื่อสนับสนุนการลดภาระหนี้ของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยประมาณการการสูญเสียรายได้จากมาตรการนี้เป็นเงินจำนวน 12,000 ล้านบาท โดยมีประโยชน์คือผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีภาระทางการเงินลดลงและมีโอกาสที่จะซื้อทรัพย์สินคืนเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปในราคาที่ไม่สูงเกินจริง

กระทรวงแรงงาน ประกันสังคม เร่งอัดเม็ดเงิน 30,000 หมื่นล้านบาท เสริมสภาพคล่องการจ้างงานในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 ให้สามารถรักษาการจ้างงาน ให้ผู้ประกันตนมีงานทำต่อเนื่องและอยู่ในระบบประกันสังคม โดยขณะนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้มีโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2563-2564) ในวงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท เพื่อให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการกู้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสภาพคล่องสถานประกอบการ และเพิ่ม ผลผลิตแรงงาน ทั้งนี้ สถานประกอบการสามารถขอรับสินเชื่อได้ไม่เกิน 15 ล้านบาท ต่อสถานประกอบการ สำหรับระยะที่ 2 นี้ 

สถานประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานระยะที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ.2561-2563 มาแล้ว หากประสงค์จะยื่นขอสินเชื่อเพิ่มจากธนาคารเดิม วงเงินที่เคยได้รับสินเชื่อ เมื่อรวมกับวงเงินสินเชื่อตามโครงการนี้ต้องไม่เกิน 15 ล้านบาท ต่อสถานประกอบการ โดยอายุสินเชื่อตามโครงการนี้มีระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระยะ 2 นั้น สถานประกอบการที่สนใจกู้ และมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี คงที่ 3 ปี และในกรณีสถานประกอบการที่สนใจกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือใช้บุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 4.75 ต่อปี และคงที่ 3 ปี สำหรับข้อกำหนดของสถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อตลอดอายุโครงการ 3 ปี ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบให้มีการเลิกจ้างลูกจ้างในสถานประกอบการ
          
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา เพื่อขอหนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการนำไปติดต่อขอยื่นกู้ กับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการฯ ปัจจุบันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถพิมพ์หนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการในระบบ e-service ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th/eservices/esv/index.jsp และเลือกหัวข้อ “ขอหนังสือรับรอง (โครงการสินเชื่อฯ)” หรือสแกน QR code ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดต่อยื่นคำขอสินเชื่อที่ธนาคารได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานเป็นโครงการฯ ที่ดำเนินงานตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2559 ที่สามารถนำเม็ดเงินไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินกองทุนประกันสังคมมาลงทุน ทางสังคม เพื่อประโยชน์ทางอ้อมแก่นายจ้าง และผู้ประกันตนได้นอกจากจะช่วยเป็นทุนหมุนเวียน และเสริมสร้างสภาพคล่องในสถานประกอบการรักษาสภาพการจ้างงานแล้ว ยังทำให้เกิดทุนหมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย

“จตุพร” ทบทวน 29 ปี พฤษภา 35 ย้ำชูโมเดลสามัคคี ปชช. ทุกฝ่ายต่อสู้เผด็จการโสมม มั่นใจ ปชช.สามัคคีกันชนะ รปห. เจ้าเล่ห์เภทุบายได้แน่ เหน็บ รบ. 7 ปี ปล่อยเกิดโกงกิน แล้วน่าไม่อายมาประกาศปราบทุจริตแห่งชาติ ลั่นเร่งไล่ “ประยุทธ์” ก่อนบ้านเมืองสูญเสียทุกอย่าง

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ peace talk โดยทบทวนบทเรียนการต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภา 35 ว่า เมื่อประชาชนทุกฝ่ายสามัคคีกัน จึงโค่นล้มเผด็จการเมื่อ 29 ปีได้สำเร็จ ดังนั้น การต่อสู้ในปัจจุบันจึงยึดโมเดลพฤษภามาขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 

“ปัญหาในวันนี้จะเอาความรู้สึกส่วนตัวหรือเอาประเทศชาติเป็นสำคัญ ในการต่อสู้มีบาดแผลและความเจ็บปวดมากมาย แต่การต่อสู้ทั้งชีวิตเราไม่เคยมีเรื่องส่วนตัว หากประชาชนไม่สามัคคีก็ไม่วันชนะ อีกทั้ง เผด็จการคณะนี้มีความแยบยลยิ่งกว่าเผด็จการพฤษภา 35 หลายขุม และทหารยุคนั้นมีความเป็นนักเลง ส่วนยุคนี้คณะ รปห. ที่เต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบาย โสมม ปล่อยให้เกิดทุจริตคอร์รัปชัน แล้วมายกการปราบทุจริตเป็นวาระแห่งชาติหน้าไม่อายมากที่สุด”

นายจตุพร กล่าวว่า ตนผูกพันกับเดือนพฤษภาต่างกรรมต่างวาระกัน ในเหตุการณ์พฤษภา 35 นั้น มีจุดพลิกผันช่วงวันที่ 17-18-19 พ.ค. แล้วไปจบลงใน 21 พ.ค. ในการยืนหยัดต่อสู้ของประชาชนที่ ม.รามคำแหง 

รวมทั้ง ตนมักเสนอให้ใช้โมเดลพฤษภา 35 มาแก้ไขปัญหาวิกฤตของไทยในขณะนี้ เพราะประชาชนทุกฝ่ายรวมมือกันต่อสู้กับเผด็จการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ตระบัดสัตย์และต้องการสืบทอดอำนาจ อย่างไรก็ตาม ทหารที่ยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2534 นั้น แกนหลักได้คุมเหล่าทัพไทยไว้หมด และเรียกตัวเองภายใต้รหัส 0143 โดยมี พล.อ.สมพงษ์ คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะ รปห.ยึดอำนาจ 

นอกจากนี้ ยังมี พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นแกนนำวางแผนยึดอำนาจครั้งนั้น เมื่อทำสำเร็จได้เสนอนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ มาเขียน รธน. เพื่อคืนอำนาจทางการเมืองและกลับสู่ประชาชนได้เลือกตั้ง 

อีกอย่าง นายมีชัย เขียน รธน. โดยเปิดประเด็นบรรจุมาตรา 27 ให้หัวหน้า รสช.มีอำนาจทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่ถูกประชาชนต่อต้าน และตนได้พบนายมีชัย ตามคำเชิญที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 2534 เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในมาตรานี้ ในที่สุดมาตรา 27 ก็ถูกยกเลิก โดยถอดออกจาก รธน. 

อย่างไรก็ตาม มาตรา 27 นั้น เป็นเพียงเกมลับลวงพราง เพราะความจริงแล้ว นายมีชัย ได้ซ่อนมาตราเกี่ยวกับที่มา "นายกฯ" ซึ่งไม่ได้มาจาก ส.ส. หรือจากเลือกตั้ง แม้ฝ่ายประชาชนชุมนุมที่ลานโพธิ์ ม.ธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง แต่นายชวน หลีกภัย ยุคนั้น บอกให้ไปแก้ไขที่สภา กระทั่งการชุมนุมยุติลง แล้วนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป  

ในช่วงนั้น คณะ รสช.ได้ตั้งพรรคสามัคคีธรรม รวบรวมนัการเมืองเขี้ยวลากดินมาสังกัด พร้อมส่งตัวแทนไปคุมพรรคชาติไทยกับพรรคกิจสังคม แล้วพรรคสามัคคีธรรม ชนะเลือกตั้งอันดับ 1 เมื่อมีนาคม 2535 แต่นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรค ไม่ได้เป็นนายกฯ เพราะเจอข้อหายาเสพติดเล่นงาน จนสถานการณ์พลิกกลับทันที 

เกมการตั้งนายกฯ คนใหม่มาสู่ตัวเลือกคือ พล.สุจินดา ซึ่งเคยประกาศก่อนหน้านี้ว่า คณะ รสช.จะไม่เป็นนายกฯ แต่ต้องมารับเป็นนายกฯ ถึงกับร่ำไห้ลาออกจาก ผบ.ทบ. พร้อมบอกว่า ต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ จากนั้นขบวนประชาชนเริ่มรวมตัวต่อต้าน นับตั้งแต่ เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วงหน้ารัฐสภา 

การชุมนุมของประชาชนในรหัส "นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง" รวมตัวครั้งใหญ่เมื่อ 17 พ.ค. ผู้คนเต็มถนนราชดำเนิน แล้วขยับเคลื่อนขบวนไปหน้ารัฐสภา แต่ถูกกำลังตำรวจ ทหาร พร้อมรถฉีดน้ำดับเพลิงแรงดันสูงมาสกัดที่ห้าแยกผ่านฟ้า แล้วในคืนนั้นประชาชนถูกกระสุนยิงจำนวนมาก 

ฝ่ายประชาชนถูกทหารยกกำลังปราบปรามอีกในบ่ายวันที่ 18 พ.ค. โดยบุกจับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำการชุมนุม ม็อบแตกกระเจิง ผู้คนกระจัดกระจายไปคนละทิศทาง ประชาชนถูกไล่ล่าถูกยิงล้มตายจำนวนมาก จนคนไปรวมตัวกันที่ ม.รามคำแหงในวันที่ 19 พ.ค. โดยประกาศเป็นสมรภูมิต่อต้านสุดท้าย เพื่อเป็นพื้นที่เรือนตายของฝ่ายประชาชน 

การต่อต้านที่ ม.รามคำแหง มีข่าวลือจะถูกทหารบุกปราบเด็ดขาด สถานการณ์ตรึงเครียดตลอดเวลา แต่ประชาชนยังต่อสู้พร้อมตาย มีคนมาร่วมชุมนุมมากมาย แน่นลามไปถึงถนนพระราม 9 และอีกด้านไปถึงแยกบางกะปิ

กระทั่ง ในหลวง ร.9 เรียกพล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง เข้าเฝ้าในวันที่ 20 พ.ค. ทำให้บรรยากาศคลี่คลายลง จนมีการสลายชุมนุมในวันที่ 21 พ.ค. จากนั้น พล.อ.สุจินดา ลาออกจากนายกฯ แลอีก 2 วันก็ได้แก้ไข รธน. 

นายจตุพร กล่าวว่า ตนนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังเพื่อต้องการบอกว่า เมื่อ 29 ปีที่ผ่านมานั้น ฝ่ายประชาธิปไตยและประชาชน ได้จับมือกันต่อต้านเผด็จการ รปห.เป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้นเมื่อประชาชนแตกแยกแล้ว อำนาจจะตกอยู่กับเผด็จการ ซึ่งสิ่งนี้เป็นโลกแห่งความจริง 

"มาใน พ.ศ.นี้ ผมจึงเชิญชวนว่า การสามัคคีประชาชน คือการสู้กับเผด็จการให้สำเร็จ ยิ่งเผด็จการแก้ปัญหาทุกมิติไม่ได้ และแก้การระบาดโควิดไม่ได้ ก็มาเปิดประเด็นปราบการทุจริตใหม่ แล้ว 7 ปีที่ผ่านมาใครเป็นรัฐบาล ก็คือประยุทธ์ แล้วการแก้ทุจริตเป็นวาระแห่งชาติจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นอะไรได้ เพราะการโกงเองหรือปล่อยให้คนอื่นโกง ก็เลวพอกันในทางปฏิบัติ" 

นายจตุพร กล่าวว่า สิ่งสำคัญการพยายามใช้เรื่องหนึ่งมากลบเรื่องหนึ่ง ไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้ว ยิ่งในช่วง 7 ปี มีการทุจริตมโหฬารที่สุด แต่ไม่มีใครจัดการได้ เพราะเต็มไปด้วยอภิสิทธิ์ชน องค์กรปราบการทุจริตยังตั้งโดยคณะ รปห.ทั้งทางตรงและอ้อม ดังนั้น ใครทุจริตและเกิดในยุคใคร ซึ่งคำตอบคือประยุทธ์ ซึ่งไม่ได้ปราบปรามเลยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา 

ส่วนการจัดหาวัคซีนยังด้อยประสิทธิภาพ จึงทำให้ประยุทธ์ไม่น่าเชื่อถือในสายตาของประชาชนเห็นชัดเจนขึ้น ดังนั้น ถ้าประชาชนรวมตัวกันได้ ก็ไม่มีใครสู้กับประชาชนได้ และประชาชนควรตาสว่างได้แล้วในช่วง 7 ปีของประยุทธ์ 

"ถ้าประยุทธ์ เป็นคนมีศักยภาพแล้ว ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่เกิด วันนี้พยายามอธิบายว่า อยู่เพื่อปกป้องสถาบัน แล้ววันนี้สถาบันได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในยุคใคร และใครใช้ประโยชน์สถาบันมาปกป้องตัวเอง มาทำลายกันมากที่สุด ลองคิดและตรวจสอบกันดูว่า ใครสร้างความเสียหายให้สถาบันมากที่สุด" 

พร้อมถามว่า การแก้ไขโควิดจนเกิดระบาด 3 ครั้งนั้น เป็นความบกพร่องของประยุทธ์นั่นเอง แม้ดึงเอาอำนาจตามกฎหมายของ รมต.มาไว้กับตัวเอง แต่ประยุทธ์ กลับขาดอย่างเดียวคือ ขาดน้ำยาในการทำงานแก้ปัญหา 

ดังนั้น การปล่อยปละละเลยให้คนใกล้ชิดไปแจ้งความ ม.112 แล้วมาต่อรองว่า ถ้าผู้ถูกกล่าวหายอมทำตามจะถอนแจ้งความให้ ซึ่งทำไม่ได้ในทางกฎหมาย จึงสะท้อนถึงการใช้อำนาจเลอะเทอะไปหมด

นายจตุพร ย้ำว่า ในวันนี้ครบรอบ 29 ปีพฤษภา 35 และพรุ่งนี้ (19 พ.ค.) ครบ 11 พฤษภา 53 และจากนั้นวันเสาร์ 22 พ.ค.จะครบ 7 ปีรัฐประหาร ดังนั้น เดือนพฤษภาจึงเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์มากมาย ตนจึงหวังว่า บทเรียนพฤษภา 35 จะทรงคุณค่าระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและเผด็จการ ถ้าประชาชนไม่สามัคคีไม่มีวันชนะเผด็จการ 

"ผมในฐานะคนเดือนพฤษภา 35 ผมต้องการพฤษภาโมเดลเพื่อสร้างความถูกต้องให้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้ จึงขอส่งเสียงถึงประชาชนทุกฝ่าย ไม่จำเป็นต้องชอบผม ขอพักความเกลียดผมไว้สักครู่ จัดการรัฐบาลประยุทธ์เสร็จ ค่อยมาเกลียดผมต่อ เพราะมิฉะนั้นบ้านเมืองนี้จะไม่เหลืออะไรเลย เราจะสูญเสียทุกอย่าง" 

มท.2 เติมของกินของใช้ตู้ปันสุขบรรเทาความเดือดร้อน ปชช. ช่วงโควิด

ที่หน้ากระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย พร้อมด้วยนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง ข้าราชการในสังกัดกรมการปกครอง ร่วมเติมของอุปโภค-บริโภคในกิจกรรม “มหาดไทยปันสุข ส่งต่อความห่วงใยสู้ภัยโควิด-19” ให้กับประชาชนที่พักอาศัยชุมชนโดยรอบกระทรวงมหาดไทย เน้นกลุ่มเป้าหมายผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส คนไร้ที่พึ่ง และผู้ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยนำเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็น ทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมกล่อง หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์และของใช้จำเป็นต่าง ๆ ใส่ในตู้ปันสุข 

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ขอทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 D-M-H-T-T-A คือ D : Distancing เว้นระยะห่าง M : Mask wearing สวมหน้ากาก H : Hand washing ล้างมือสม่ำเสมอ T : Temperature ตรวจวัดอุณหภูมิ T : Testing ตรวจหาเชื้อโควิด-19 และ A : Application Thaichana ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ เพื่อป้องกันคนในครอบครัวและป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้คนในชุมชน สังคม โดยขอให้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง และขอเชิญชวนให้ประชาชนได้ลงทะเบียนและไปฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ทั้งนี้ กรมการปกครองได้จัดกำลังสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ให้ปฏิบัติหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และกำกับดูแลแถวให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนที่มารับสิ่งของ จะใช้วิธีแจกคูปองให้กับคนในชุมชนเพื่อคัดกรองคนที่จะมารับในเบื้องต้น ขณะที่ในช่วงของการรอรับสิ่งของบริจาคจะมีการเว้นระยะห่าง วัดอุณหภูมิเพื่อไม่ให้เกิดความแออัด และจะดำเนินการโครงการนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายต่อไป

‘หมอยง’ ย้ำชัด ผู้หายป่วยจากโควิด ยังต้องฉีดวัคซีน เพราะยังกลับมาติดเชื้อได้อีก ชี้ ชี้ ถ้าเพิ่งหายป่วย 3-6 เดือน ควรได้รับอย่างน้อย 1 ครั้ง

19 พ.ค. 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘โควิด-19 วัคซีน ผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 จำเป็นที่จะต้องให้วัคซีนหรือไม่’ มีเนื้อหาว่า ในปัจจุบันทราบกันดีอยู่แล้วว่า โรคโควิด-19 เมื่อหายแล้วสามารถเป็นกลับซ้ำได้อีก ส่วนใหญ่จะเป็นหลัง 3 เดือนไปแล้ว ผู้ที่เป็น Covid-19 แล้วจึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีน หลัง 3 เดือนไปแล้ว

จากการศึกษาเบื้องต้นที่ลงพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine พบว่าการให้วัคซีนในผู้ที่หายป่วยจาก Covid-19 แล้ว การให้เพียงครั้งเดียวจะมีระดับภูมิต้านทานกระตุ้นได้สูงเท่ากับคนธรรมดาที่ไม่เคยป่วยและให้วัคซีนครบ 2 ครั้ง ผู้ที่หายป่วย ควรได้รับวัคซีนหลังจาก 3 เดือนนับจากการติดเชื้อ ส่วนจะให้ 1 ครั้งหรือ 2 ครั้ง ยังไม่ได้สรุปออกมาชัดเจน

แต่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าภูมิต้านทาน ของผู้ที่หายป่วยแล้วจะเริ่มลดลงหลัง 6 เดือนและลดลงไปเรื่อย ๆ ทางศูนย์ที่ดูแลอยู่ ขณะนี้ทำการศึกษาในผู้ที่หายป่วยในช่วง 3-6 เดือนจะให้วัคซีนกระตุ้น 1 ครั้ง และผู้ที่หายป่วยเกินกว่า 6 เดือนหรือเป็นปีแล้วจะให้วัคซีนให้ครบ 2 ครั้ง และกำลังตรวจผลภูมิต้านทาน รวมทั้งระบบหน่วยความจำ ของภูมิต้านทานอย่างละเอียด เพื่อจะได้ใช้เป็นคำแนะนำ ขณะนี้โครงการได้เริ่มแล้วดำเนินไปได้ด้วยดี และอยากเชิญชวนคนที่หายป่วยในระลอกที่ 3 นี้ เข้าร่วมโครงการได้รับวัคซีนด้วย โทร 02 256 4929

ดังนั้นอยากจะสรุปว่า ผู้ที่หายป่วยแล้วควรได้รับวัคซีนป้องกัน Covid อย่างน้อย 1 ครั้ง หรือขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่หายป่วยมาแล้ว ถ้าเพิ่งหายป่วยในช่วง 3-6 เดือน ควรได้รับอย่างน้อย 1 ครั้ง และผู้ที่หายมาแล้วเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไป ก็ควรจะได้รับวัคซีนให้ครบ 2 ครั้ง ทั้งนี้เพราะประเทศของเรามีวัคซีนในปริมาณที่จำกัด และมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่มีการติดเชื้อใน รอบที่ 3 และกำลังจะหายป่วย

ที่มา : https://www.facebook.com/yong.poovorawan


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

รมว.สุชาติ หารือ รพ.เครือข่าย สปส. เตรียมแผนกระจายวัคซีนโควิดแก่ผู้ประกันตน ดีเดย์! มิ.ย.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสถานพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ชี้แจงซักซ้อมทำความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีน
โควิด-19 แก่ผู้ประกันตนก่อนเปิดให้บริการภายในเดือนมิถุนายนนี้

ที่ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสถานพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคมเพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยมี นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กระทรวงแรงงานเพื่อกระจายให้แก่แรงงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในระยะแรก จำนวน 6 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 1.5 ล้านโดส ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดือนกรกฎาคม 2564 จำนวน 4.0 ล้านโดส ประกอบด้วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 1.5 ล้านโดส และในพื้นที่ 9 จังหวัดเศรษฐกิจอื่น 2.5 ล้านโดส และมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน โดยให้สถานประกอบการแจ้งรายชื่อที่จะฉีด และเชื่อมโยงข้อมูลกับแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม”ของกระทรวงสาธารณสุข และประสานภาคเอกชนในการหาสถานที่เพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการฉีดนั้น

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานได้สำรวจความต้องการฉีดวัคซีนผ่านระบบ Web-Service โดยมีผู้ประกันตนมาตรา 33 ประสงค์จะฉีดวัคซีนมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ กระทรวงแรงงานยังได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ทั้ง 12 เขต ได้ไปหาสถานที่ฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้ได้สถานที่ฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 45 แห่ง โดยได้จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการฉีดวัคซีนไว้พร้อมแล้ว

ซึ่งในวันนี้ได้เชิญผู้บริหารโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมจำนวน 12 แห่ง มาประชุมเพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นจะสามารถเริ่มเปิดให้บริการได้ในเดือน มิถุนายนนี้

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2565 ที่กำลังจะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภา โดยระบุว่า งบประมาณจะลดลงเหลือ 3.1 ล้านล้านบาท

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2565 ที่กำลังจะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภา โดยระบุว่า งบประมาณจะลดลงเหลือ 3.1 ล้านล้านบาท หรือลดลง 5.7% จากปี 64 ซึ่ง 5 อันดับแรกของกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุด พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือพูดได้ว่าการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลประยุทธ์ ยังเป็นเหมือนเดิม แม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

“ล่าสุดศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ได้เผยแพร่ภาพเปรียบเทียบถึงงบประมาณด้านสาธารณสุขว่าเพิ่มขึ้นและมากกว่ากลาโหม ทั้งยังพยายามอธิบายอีกว่า กลาโหมลดงบประมาณลงอย่างต่อเนื่องตั้งปีงบ 63-65 ซึ่งก็ต้องเรียนว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่ออย่างน่าละอาย เพราะมันเป็นการ “ลวงว่าลด แต่ไม่ได้ลด” 

"หากย้อนกลับไปในปีงบ 63 งบกลาโหม 2.317 แสนล้าน ถูกตัดลดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ครั้งที่ 1 เพื่อการจัดทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณกลางปี โดยนำเงินจากหลายกระทรวงไปรวมกันเป็นงบกลางแก้โควิด กลาโหมสามารถลดงบประมาณได้ถึงเกือบ 2 หมื่นล้าน ทำให้สุดท้ายงบในปีนั้นลดลงมาเหลือ 2.137 แสนล้าน ในครั้งนั้น กลาโหมเป็นกระทรวงที่ตัดลดงบได้มากที่สุด แสดงให้เห็นว่า แผนงานมีความสำคัญเร่งด่วนน้อย สามารถเลื่อนออกไปก่อนได้ และเบิกจ่ายไม่ทัน 

“แต่พอมาปี 64 กลาโหมของบมากถึง 2.236 แสนล้าน ก่อนที่จะถูกตัดลดในชั้นกรรมาธิการ ทำให้คงเหลือได้รับงบประมาณ 2.145 แสนล้าน หรือเพิ่มขึ้น 1 พันล้านบาทจากปี 63 ดังนั้น จึงเป็นการแอบอ้างอย่างหน้าด้านว่า กลาโหมลดงบจากปี 63 ที่ 2.317 แสนล้าน เหลือ 2.145 แสนล้าน เพราะในความเป็นจริงคือ งบเพิ่มขึ้นในปี 64”

พิจารณ์ อธิบายต่อไปว่า สำหรับใน ร่าง พ.ร.บ.งบ 65 แม้งบกลาโหมจะลดลง 5.24% แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าภาพรวมงบประมาณทั้งหมดที่ลด 5.66% อีกทั้ง ‘งบบุคคลกร’ ของกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น 1.7% แสดงให้เห็นว่า ถึงกองทัพอยากจะลดงบยังไงก็ลดไม่ลง ด้วยกำลังทหารที่มาก เกินกว่าจะจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพได้

นอกจากนี้ ตามเอกสารงบประมาณเล่มขาวคาดแดงของกลาโหม ด้วยข้ออ้างด้านความมั่นคง จึงทำให้ไม่สามารถเห็นรายการอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จัดซื้อได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบยอดงบประมาณในโครงการผูกพันข้ามปีของเอกสารงบประมาณปี 63-64-65 ทำให้เชื่อได้ว่า กองทัพเรือยังคงเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำต่อไป แม้ประเทศชาติจะอยู่ในวิกฤติงบประมาณ 

หนำซ้ำเมื่อส่องดูงบซื้ออาวุธแบบปีเดียว กองทัพบกตั้งงบเพิ่มขึ้น 9.23% และ กองทัพเรือเพิ่มขึ้นถึง 2.6 เท่า จากปี 64 ในส่วนของงบซื้อยุทโธปกรณ์ที่ผูกพันข้ามปี ทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ ยังมีโครงการใหม่ ที่ผูกพันงบตั้งแต่ปี 65-67 รวมมูลค่าโครงการตลอด 3 ปี อีก 9,073 ล้านบาท โดยเป็นปีงบ 65 จำนวน 882 ล้าน และ 933ล้าน ตามลำดับ นอกจากนั้น ทั้ง 3 เหล่าทัพ บวกกับกองบัญชาการกองทัพไทย ยังมีงบซื้อยุทโธปกรณ์ที่ผูกพันข้ามปี ค้างตั้งแต่ปี 60-69 อีก 70 โครงการ และเป็นงบที่ต้องจ่ายในปีงบ 65 กว่า 24,218 ล้าน 

“ผมเชื่อว่าการระบาดของโควิดจะยังไม่จบจนกว่าเราจะได้วัคซีนครบจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จะดีกว่าไหมถ้าเราจะจัดลำดับความสำคัญใหม่ ไม่ซื้อเรือดำน้ำแต่นำงบไปเพิ่มให้กับงบบัตรทองที่ถูกตัดไป 1,800 ล้านบาท จะดีกว่าไหมถ้าเราจะยอมทนใช้อาวุธเก่าไปอีกสักปี เพื่อนำงบไปช่วยนักเรียนที่ต้องเลิกเรียนกลางคันเพราะพ่อแม่ตกงานผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งถูกตัดงบไป 432 ล้านบาท จะดีกว่าไหม ถ้าเราจะไม่ซื้ออาวุธใหม่ที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศผู้ผลิตอาวุธ แต่นำเงินไปลงทุนอบรมทักษะใหม่ๆ ให้คนที่ตกงานจากภาคท่องเที่ยว ให้พวกเขาหางานใหม่ได้ง่ายขึ้น

“จะดีกว่าไหม...ถ้าเราจะมีรัฐบาลใหม่ ที่จัดงบประมาณแบบเห็นหัวประชาชนมากกว่านี้” พิจารณ์ ระบุ


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

'ชีวานนท์' ผู้นำคนพิการ ส่งขวัญกำลังใจ มอบรถเข็นวีลแชร์พร้อมถุงยังชีพในช่วงสถานการณ์โควิด-19

นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงาน ที่ปรึกษา นายมานะ โลหะวนิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร (สส.จังหวัดชันภูมิ) ลงพื้นที่ หมู่ 13 ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ นำรถเข็นวีลแชร์ที่ได้รับจากนายสายัณห์ ดีเลิศ นายกสมาคมคนพิการและถุงยังชีพที่ได้รับมอบส่งต่อจากอาจารย์ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก ‘คุณกัญจนา ศิลปอาชา’ ประธานมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย

โดยในวันนี้นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล ได้กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกหนึ่งวัน ที่มีความรู้สึกปลาบปลื้มมากกว่าวันใด ๆ คือได้มีโอกาส กลับมาทดแทนพระคุณ ‘ย่าชะลอ’ ปัจจุบันอายุ 86 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อสมัยยังวัยรุ่นนั้น ครอบครัวผมความยากจนมาก อยู่วัดตั้งแต่เด็ก พออกจากวัดก็ได้มีบ้านหลังนี้ครอบครัว ‘สุรินันท์’ มีเพื่อน ๆ และ ‘ย่าชะลอ’ ให้พักอาศัยหลับนอน ได้ให้ข้าวกิน และห่างหายไม่ได้พบกันมากกว่า 10 กว่าปี ย้อนกลับมาในวันนี้ได้นำรถเข็นวีลแชร์และถุงยังชีพที่ได้รับมาจากผู้หลักผู้ใหญ่ใจดีมามอบให้กับ ‘ย่าชะลอ’ เพื่อไว้ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ประโยคนึงที่ ‘ย่าชะลอ’ พูด คือ ขอให้เอ็งเจริญเจริญรุ่งเรืองนะลูก (น้ำตาคลอ ๆ)

สุดท้ายนี้ นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล กราบขออนุโมทนาบุญกุศลที่ได้รับจากผู้หลักผู้ใหญ่ในวันนี้ ส่งต่อไปยังทุก ๆ ท่านท่านผู้ใจบุญที่ได้ให้การช่วยเหลือคนพิการ คนชรา และผู้ด้อยโอกาส และยังขอขอบพระคุณ ที่ท่านได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าเป็นตัวแทนในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top