Friday, 9 May 2025
NewsFeed

‘กรณ์-วรวุฒิ’ เปิดตัว ‘กล้าหางาน’ ช่วยประชาชนหางาน สู้วิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 ย้ำแค่รับเงินแจกเงินคงไม่พอ เปิดเพจ-ทำงานเชิงรุกพื้นที่ บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย หวังช่วยคนไทยนับล้านมีงานทำ

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า พร้อมด้วยนายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า แถลงเปิดตัวโครงการ ‘กล้าหางาน’ เพื่อเป็นช่องทางช่วยหางานให้ผู้ที่ตกงานหรือหางานไม่ได้ มีงานทำ และเป็นช่องทางเชื่อมกับผู้ประกอบการให้ได้คนที่เหมาะสมเข้าทำงาน 

นายกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อโควิค-19 ทำให้พี่น้องประชาชนหลายล้านคน ไม่มีงานทำขาดรายได้ เป็นประเด็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสมากขึ้นเรื่อย ๆ เพียงแค่ดูผู้ได้รับผลกระทบภาคธุรกิจท่องเที่ยว จะเห็นว่าประชาชนนับล้านคน ขาดรายได้ไม่มีงานทำ ด้วยเหตุผลนี้ พรรคกล้าพยายามหาวิธีแก้ไข ผ่อนหนักให้เป็นเบา ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 ด้วยโครงการ ‘กล้าหางาน’ เพื่อเชื่อมโยงประชาชนที่หางานทำ ให้กับบริษัทห้างร้านที่ยังต้องการคนอยู่ บนเป้าหมายต้องการยื่นเบ็ดให้ประชาชนสามารถดูแลครอบครัว หารายได้ให้กับตัวเอง ดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี มั่นใจว่าจะเป็นโครงการที่ยั่งยืน ช่วยพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการหาคนมีคุณภาพ มีโอกาส มีงานทำ มีรายได้ 

“กล้าหางาน เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่อยากให้ทุกคนลองใช้ดู เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นโครงการสำคัญของพรรคกล้า เพื่อที่ตอบโจทย์ปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ เพียงแค่รับเงินหรือแจกเงินคงไม่เพียงพอ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการมีงานทำ ตามหลักเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็กของพรรคกล้า” นายกรณ์ กล่าว 

นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า โครงการ ‘กล้าหางาน’ เป็นรูปแบบการเปิดเพจเฟซบุ๊ก และเปิดกลุ่มสำหรับผู้สนใจ โดยเนื้อหามี 3 ส่วนด้วยกันคือ 

1.) ‘คนหางาน’ สำหรับคนที่ตกงานหรืออยากมีรายได้เสริม อยากมีงานทำ สามารถลงรายละเอียดส่วนตัวว่าตนเองมีคุณสมบัติอย่างไร ต้องการเงินเดือนเท่าไหร่อย่างไร เพื่อให้คนที่มาดูข้อมูล อ่านข้อมูลแล้วเรียกไปสัมภาษณ์ได้ 

2.) ‘งานหาคน’ บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ไม่ว่าขนาดใหญ่หรือเล็ก ถ้าต้องการคน สามารถมาลงข้อความที่รับสมัครบุคคลที่ต้องการได้ 

และ 3.) ข้อมูลความรู้ บทความที่เป็นประโยชน์ เช่น เทคนิคการสัมภาษณ์งานอย่างไรให้ได้งาน บทความน่าสนใจเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน พนักงานลูกจ้าง เป็นข้อมูลความรู้ที่สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มทักษะตัวเองได้ 

นายวรวุฒิ กล่าวว่า เพจ ‘กล้าหางาน’ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยจะพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพต่อไปเรื่อย ๆ จนมีผู้ใช้จำนวนมากเข้ามา ซึ่งวันนี้มีตำแหน่งงานรองรับไว้หลายตำแหน่งแล้ว และอยากจะเชิญชวนทุกคนให้ลองเข้าใช้งาน ทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น และมีทีมงานผู้กล้า (ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.) ของพรรคทั่วประเทศ เป็นทีมงานหลังบ้าน ทำงานเชิงรุกคอยติดตามว่ามีบริษัทห้างร้ายใดในพื้นที่ต้องการบุคลากร ช่วยหางานที่เหมาะสม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ ช่วยแบ่งเบาภาระและปัญหาวิกฤตแรงงานช่วงโควิด-19 ได้ 

ลิ้งค์เพจ ‘กล้าหางาน’
https://www.facebook.com/klahangarn/

ลิ้งค์กลุ่ม ‘กล้าหางาน’
https://www.facebook.com/groups/klahangarn/?ref=share
 

หัวหน้าพรรคก้าวไกล เย้ย ‘บิ๊กตู่’ ประกาศให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ ล้วนสวนทางกับพฤติกรรมที่ผ่านมา ลั่น ‘วาระแห่งชาติ’ ที่สำคัญที่สุด คือ ‘รื้อถอนระบอบประยุทธ์’ โดยเร็ว เพราะปัญหาการทุจริตที่น่าละอาย ล้วนอยู่ในรัฐบาลทั้งสิ้น

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ ว่า แท้จริงแล้ว ‘วาระแห่งชาติ’ ที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ คือ การ ‘รื้อถอนระบอบประยุทธ์’ โดยเร็วที่สุดต่างหาก

“เรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า เป็นเรื่องที่บั่นทอนศักยภาพของประเทศ เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องแก้ไขให้ได้โดยเร็ว และต้องให้ความสำคัญเพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ฟังสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ‘ต้องมุ่งสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบและต้องมีความละอาย’ อยากทราบจริง ๆ ว่าก่อนพูดได้ส่องกระจกมองตัวเองให้แล้วหรือไม่ เพราะปัญหาการทุจริตที่ควรต้องละอาย ล้วนแล้วแต่อยู่ในรัฐบาลของท่านเองทั้งนั้น

“ตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ฉีกกฎหมายสูงสุดของประเทศ ปล้นเจตนารมณ์ของประชาชน บอกว่าขอเวลาอีกไม่นาน แต่ก็เกาะเก้าอี้ไม่ยอมปล่อย ถือเป็นเรื่องที่ต้องละอายหรือไม่?

การสืบทอดอำนาจ คสช. ด้วยกลไกในรัฐธรรมนูญ มี ส.ว.ที่ คสช.เป็นผู้เลือกมาเอง แล้วให้ ส.ว. เหล่านั้นเลือกตัวเองกลับมาเป็นนายก ด้วยเสียง 100% เป็นการทุจริตประพฤติมิชอบที่ถือเป็นเรื่องที่ต้องละอายหรือไม่?

การเลือกบุคคลที่มีประวัติทุจริตประพฤติมิชอบจากการค้ายาเสพติดข้ามชาติมาเป็นรัฐมนตรี และเมื่อพบว่าผิดจริงก็ยังคงให้มีตำแหน่งต่อไป ทำให้แม้แต่กองเชียร์ของท่านเองก็กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ถือเป็นเรื่องที่ต้องละอายหรือไม่?

การที่มีพี่ใหญ่ หัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาล ใส่แหวนวงใหญ่ นาฬิกาหรูหลายสิบเรือน สุดท้ายอ้างว่า แหวนของแม่ ส่วนนาฬิกายืมมาจากเพื่อนที่ตายแล้ว ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ทำเอาเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้แต่ยิ้มแหย สื่อมวลชนขอให้เปิดเผยข้อมูลก็ส่งมาแต่กระดาษเปล่า ประชาชนส่ายหน้ากันทั้งประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ต้องละอายหรือไม่?

การไม่เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบคดี ‘บอส กระทิงแดง’ ที่บุคคลใกล้ชิดกับรัฐบาลอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนสำนวนคดี และเอื้อต่อการหลบหนี เป็นความไม่เปิดเผยและไม่โปร่งใสนี้ ถือเป็นเรื่องที่ต้องละอายหรือไม่?

หรือกระทั่งการอยู่อาศัยในบ้านหลวงใช้น้ำและไฟฟรี เป็นการ ‘รับประโยชน์อื่นใด’ ผิดกฎหมาย ป.ป.ช. มาตลอด 7 ปี พอจะมีการตรวจสอบก็บ่ายเบี่ยง อ้างต้องขอตรงนั้นตรงนี้ ถือเป็นเรื่องที่ต้องละอายหรือไม่?”

พิธา ยังระบุต่อไปว่า เรื่องที่รัฐบาลควรจะละอายใจที่สุด คือ การเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโรคโควิดทั้งสามระลอก จนเป็นเหตุให้ประชาชนคนไทยต้องประสบกับความเดือดร้อนไม่รู้จบ อันเนื่องมาจากการทุจริตภายในและความหละหลวมหย่อนยานของพวกท่าน ซึ่งเห็นได้จากกรณีบ่อนการพนันและการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และยังมีพฤติกรรมน่ากังขาอีกมากมายที่เครือข่ายระบอบประยุทธ์หรือรัฐบาลนี้ได้กระทำ เช่น การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน การใช้อำนาจโดยมิชอบ การยอมรับว่ามีการทุจริตแต่โบ้ยไปให้ข้าราชการ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทั้งไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่สง่างาม

“สิ่งที่เป็นเสาค้ำยันให้กับการทุจริตในประเทศไทยก็คือ ระบอบอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์เส้นสาย วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เป็นต้น ดังนั้นความพยายามในการที่จะขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไป เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ให้ได้ก่อน ถึงจะสามารถไปแนะนำสั่งสอนหรือเชิญชวนคนอื่นได้ มิฉะนั้นก็คงเป็นแค่ลมปากที่พูดไปวัน ๆ หาสาระไม่ได้อีกครั้งหนึ่ง

“ผมมองว่า ‘วาระแห่งชาติ’ ที่แท้จริง และเหมาะสมในเวลานี้ที่สุดก็คือ การถอนรากถอนโคน ‘ระบอบประยุทธ์’ ที่เป็นศูนย์กลางของปัญหา ซึ่งหมายถึงกระบวนการทั้งหลาย ที่ทำให้ได้มาซึ่งคนแบบประยุทธ์และคณะ เราจะต้องยุติกลไก ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การสืบทอดมรดกคณะรัฐประหารผ่านการวางกับดักไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยนั้น นำมาซึ่งผู้นำประเทศที่บ้าอำนาจ แต่ไร้ความสามารถที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย” พิธา ระบุ

ทบ.เข้มชายแดน สั่งสกัดแรงงานต่างด้าวลอบเข้าไทย ระดมเฝ้าตลอด 24 ชม.

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.ต.หญิง จุฑาทิพย์ วุฒิรณฤทธิ์ ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบก (ทบ.) กล่าวว่า จากการปฏิบัติภารกิจอย่างเข้มข้นตลอดแนวชายแดนของกองกำลังชายแดนทบ. ทุกพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในพื้นที่ตะวันตก, เหนือ และตะวันออก ล่าสุดระหว่างวันที่ 7-16 พ.ค. 64 กองกำลังป้องกันชายแดน สามารถจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 455 คน เป็นชาวกัมพูชา 68 คน เมียนมา 328 คน ลาว 19 คน จีน 7 คน อินโดนีเซีย 1 คน ไทย 67 คน รวมถึงผู้นำพาชาวไทย 16 คน ผู้นำพาชาวเมียนมา 3 คน โดยในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กองกำลังสุรสีห์ลาดตะเวนเส้นทางและได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวในพื้นที่ส่งผลให้เมื่อ 12 พ.ค.64 สามารถจับกุมแรงงานชาวเมียนมาได้ 102 ราย บริเวณพื้นที่เส้นทางธรรมชาติ จ.กาญจนบุรี และพื้นที่ภาคตะวันออก จ.สระแก้ว ในวันที่ 13 พ.ค.64 จับกุมแรงงานชาวกัมพูชาลักลอบเข้าประเทศผ่านผู้นำพา จำนวน 23 ราย

พ.ต.หญิง จุฑาทิพย์ กล่าวว่า โดยการปฏิบัติของกองกำลังชายแดนทบ.ในขณะนี้ นอกจากการตรวจสกัดเข้มบริเวณแนวชายแดน เพื่อสร้างความมั่นใจในการควบคุมสูงสุด ยังคงร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังในพื้นที่ตอนใน ด้วยมาตรการเฝ้าตรวจและคัดกรองไม่ให้แรงงานต่างด้าวสามารถลักลอบเข้ามาได้ ตลอดจนเข้าพูดคุยกับผู้ประกอบการขอความร่วมมือการจ้างงาน ผ่านการลงทะเบียนแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นการช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ได้เป็นอย่างดี โดยเป็นไปตามความห่วงใยของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในการระดมกำลังพล ทรัพยากรที่มีของทบ.เข้าช่วยเหลือประชาชนจากภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างดีที่สุด ขณะเดียวกันให้ยึดมาตรการ “พิทักษ์พล” โดยเฉพาะกองกำลังป้องกันชายแดนของทบ. ซึ่งขณะนี้ได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรให้กำลังพลด่านหน้าแล้ว 5,946 นาย ตั้งแต่ 9 มี.ค.-16 พ.ค. 64 เพื่อพร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เป็นกำลังสำคัญและเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาสต่อไป

รมว.จุติ ผนึก คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ ร่วมโครงการ “ตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 โดยใช้สุนัขดมกลิ่น” สร้างอาสาสมัครตรวจคัดกรองโควิด ผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เตรียมส่งอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เข้าร่วมโครงการ “ตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 โดยใช้สุนัขดมกลิ่น” ซึ่งอบรมโดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า มีความแม่นยำในการตรวจหาเชื้ออยู่ในระดับสูง และมีความปลอดภัยสูง

ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการนำศักยภาพของสุนัขที่มีความสามารถในการดมกลิ่นดีกว่าคนถึง 50 เท่ามาใช้ในการดมกลิ่นเหงื่อของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งยืนยันได้ว่าไม่มีการเจือปนของเชื้อไวรัส โดยนำสำลีและถุงเท้ามาใส่กระป๋องเพื่อให้สุนัขดมกลิ่น เมื่อสุนัขได้กลิ่นก็จะนั่งลงเพื่อบอกว่าคน ๆ นั้นติดเชื้อ

ที่ผ่านมาได้ทำการฝึกสุนัข พันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ 6 ตัว พบว่ามีความแม่นยำในการพบผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการสูงถึง 94.8% ซึ่งนับเป็นต้นแบบในการฝึกสุนัขเพื่องานทางการแพทย์ชุดแรก และถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในไทย ในการฝึกฝูงสุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเสริมปฏิบัติการคัดกรองปกติ เนื่องจากการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยอุปกรณ์วัดอุณหภูมิแบบต่าง ๆ เป็นวิธีการคัดกรองเบื้องต้น และได้ผลสำหรับผู้ที่ติดเชื้อและแสดงอาการแล้วเท่านั้น ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ เครื่องมือเหล่านี้ยังไม่สามารถตรวจพบได้ แต่สุนัขที่ได้รับการฝึกมาแล้วสามารถทำสิ่งนี้ได้

นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. มีเป้าหมายที่จะฝึกอบรมอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ให้ครบทุกเขต อย่างน้อยเขตละ 2 คน รวม 100 คน โดยแบ่งการอบรมเป็นรุ่น ๆ ละ 15 คน เพื่อเป็นกลไกในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถออกมาตรวจคัดกรองจากนอกชุมชนได้

โฆษก กห. ระบุ มีการปรับลดงบประมาณลงต่อเนื่องหลายปีหลังโควิด ยัน พร้อมแจงในสภา ชี้ ภารกิจหลักของทหารป้องกันประเทศ และการช่วยเหลือปชช. ในทุกเหตุภัย 

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึง กรณีพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ได้ให้ข้อสังเกตถึงงบประมาณประจำปี 65 ที่กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรมากกว่ากระทรวงสาธารณะสุขนั้น กระทรวงกลาโหมพร้อมให้ข้อมูลถึงเหตุผลความจำเป็นตามกระบวนพิจารณาของรัฐสภาที่จะมีขึ้นใน มิ.ย.64  

อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหม มีภารกิจหลักในการป้องกันประเทศและการช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่องที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถานการณ์ของโรคระบาดร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและเป็นความท้าทายร่วมกันของทุกฝ่ายที่ต้องหันหน้าช่วยเหลือกัน ซึ่งกระทรวงกลาโหม โดยทุกเหล่าทัพ ได้ตระหนักถึงภาระงบประมาณของรัฐบาล ที่จำเป็นต้องนำไปแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และเยียวยาช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบที่เกิดขึ้น 

“กระทรวงกลาโหม ได้มีส่วนร่วมพิจารณาปรับลดงบประมาณในภาพรวมของทุกเหล่าทัพลงกว่า 18,000 ล้านบาทในปี 63 และในปี 64 กระทรวงกลาโหมก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณลดลงกว่าปี 63 จำนวนกว่า 17,200 ล้านบาท ต่อเนื่องมาถึง ปี 65 ทั้งนี้ แต่ละกระทรวงก็มีภารกิจที่แตกต่างกัน และ กระทรวงกลาโหม ขอยืนยันถึงความพร้อมในทุกภารกิจเพื่อประชาชน จึงไม่อยากให้นำงบประมาณของแต่ละกระทรวงไปเปรียบเทียบกัน” พล.ท.คงชีพ กล่าว   

เฮ! สรรพากรยืดเวลาจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย-แวต ช่วงโควิด

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ออกประกาศขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับเดือนก.ค. 2564 ขยายออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ก.ค. 2564 และการยื่นแบบในเดือนส.ค. 2564 ขยายออกไปเป็นภายในวันที่ 31 ส.ค. 2564 เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมทางภาษีที่บ้าน TAX from Home ช่วยบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3, ภ.ง.ด.53 และ ภ.ง.ด.54) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30 และ ภ.พ.36) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถึงวันสุดท้ายของเดือนที่ต้องยื่นแบบฯ โดยให้เริ่มขยายเวลาสำหรับการยื่นแบบฯ ในเดือนก.พ. 2564 ถึงเดือนมิ.ย. 2564 สำหรับการขยายกำหนดเวลา การยื่นแบบฯ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในครั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

“ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการผ่านการทำธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์จากที่บ้านหรือ Tax from Home ซึ่งทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นและนานขึ้นกว่า 280,000 ล้านบาท และช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี เช่น การขยายเวลายื่นแบบฯ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบฯ ในครั้งนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการเว้นระยะห่าง หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ตามมาตรการของภาครัฐ และศบค. กำหนด” 

ทบ. สนับสนุนรัฐบาลดูแลพื้นที่แพร่ระบาดแบบเฉพาะกลุ่ม พร้อมส่งรถครัวสนามดูแลประขาชนหลังเทศกาลฮารีรายอ

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ร.อ.หญิง กัญญ์ณณัฐ พรนิพัทธ์กุล ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า กองทัพบกยังคงสนับสนุนรัฐบาลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะโรงพยาบาลสนามกองทัพบกทั้ง 12 แห่งสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ 1,632 เตียง รวมทั้งโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบก ทั้ง 36 แห่งทั่วประเทศสามารถดูแลกำลังพลและครอบครัวได้ระดับหนึ่ง

กองทัพบกยังสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์เข้าปฏิบัติที่โรงพยาบาลสนามผู้สูงอายุบางขุนเทียน และโรงพยาบาลสนามเรือนจำกลางเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 โดยเฉพาะกลุ่ม (Cluster) ใน กทม. 

ทั้งนี้กองทัพบกร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.จอส.) จัดรถครัวสนามพระราชทาน ปรุงอาหารมอบให้ประชาชนในชุมชนคลองเตย ชุมชนดุสิต เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ควบคู่กับการแจกหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ สร้างการรับรู้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

ในพื้นที่ต่างจังหวัดครัวสนามออกดูแลประชาชนในช่วงเทศกาลฮารีรายอของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ หน่วยทหารได้จัดชุดปฏิบัติการล้างสิ่งปนเปื้อน ช่วยทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ พร้อมจัดครัวสนามอาหารฮาลาล รถปันสุขนำเครื่องอุปโภคบริโภค และแจกจ่ายผลิตผลการเกษตรจากโครงการทหารพันธุ์ดีให้ประชาชนชาวไทยมุสลิมในหลายพื้นที่

ผ่อนคลายมาตรการกิจการร้านจำหน่ายอาหาร

จากที่ ศบค. ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายกิจการร้านอาหารในพื้นที่กทม. คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จึงได้ประชุมพิจารณามาตรการผ่อนคลายกิจการร้านอาหาร ให้เป็นไปตามข้อกำหนดฯ แห่ง พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 23) ที่กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งมีมติให้ร้านอาหาร สามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ ไม่เกิน 21.00 น. โดยนั่งได้ไม่เกิน 25% ของจำนวนที่นั่งปกติ จำหน่ายอาหารแบบนำไปบริโภคที่อื่นได้ (Takeaway) ไม่เกิน 23.00 น. ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน และให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

และยังคงปิดสถานที่ตามประกาศกรุงเทพมหานครปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) และ (ฉบับที่ 26) ต่อไป  

โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 17-31 พ.ค. 64  ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 29) 

#โควิดกรุงเทพ #โควิด19 #COVID19


 

ผบ.ทสส. ห่วงใยปชช. จากการแพร่ระบาดโควิด-19 คลัสเตอร์หลักสี่ เร่งส่งมอบถุงยังชีพ สนับสนุนรัฐบาล แก้ไขปัญหาในทุกมิติ

ที่กองบัญชาการกองทัพไทย ตามที่ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ จึงได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในกองบัญชาการกองทัพไทย เร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 

พล.ต.ภาณุพงศ์ สุวัณณุสส์ รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร เป็นผู้แทนกองบัญชาการกองทัพไทย มอบถุงยังชีพ จำนวน 200 ชุด ให้กับสำนักงานเขตหลักสี่เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ในพื้นที่คลัสเตอร์ชุมชน บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมีนายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยเขตหลักสี่ เป็นผู้รับมอบ 

โดยสิ่งของอุปโภค-บริโภคประกอบด้วย เจลแอลกอฮอล์ เครื่องวัดอุณหภูมิ หน้ากากอนามัย และไข่ไก่ ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงเวลาของการกักตัวต่อไป

ทั้งนี้ กองบัญชาการกองทัพไทย ยังคงเคียงข้างพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ที่ได้รับความเดือนร้อน โดยจะใช้ทุกศักยภาพที่มีในการดูแลประชาชนอย่างเต็มขีดความสามารถ พร้อมทั้งจะดำเนินการช่วยเหลือในพื้นที่อื่น ๆ อย่างต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลาย

"สุทธวรรณ" จี้ "สมศักดิ์" แก้วิกฤตคลัสเตอร์เรือนจำ ปล่อยตัวผู้ต้องขังลดแออัด และต้องได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีมาตรการจัดการกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำทั่วประเทศ ที่ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 6,853 คน ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมในเรือนจำทะลุหมื่นราย ว่านายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ต้องรีบแก้ไขวิกฤตการระบาดในเรือนจำเป็นการด่วน ที่บอกจัดการได้ รับมือไหว อยากถามว่าจัดการได้จริง ๆ ใช่หรือไม่ โดยมาตรการหนึ่งที่สามารถทำได้ คือ เร่งปล่อยตัวผู้ต้องขัง เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ กรณีผู้ต้องขังที่คดียังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และอาจพิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังที่เหลือโทษไม่ถึงสามปีแล้วติดกำไล EM เมื่อได้ออกมาแล้วต้องมีการกักตัวและได้รับการตรวจหาเชื้อ ส่วนการตรวจคัดกรองเชิงรุกยังคงต้องทำอยู่ในเรือนจำและทัณฑสถานอย่างเข้มงวด และแยกตัวมารักษาให้ถูกต้อง

น.ส.สุทธวรรณ กล่าวต่อว่า นายสมศักดิ์ ได้กล่าวไว้ว่า ทุกเรือนจำทั่วประเทศต้องมีการเตรียมความพร้อมทำโรงพยาบาลสนาม และหากเรือนจำใดไม่มีพื้นที่ในการจัดทำโรงพยาบาลสนามก็ให้วางแผนไปใช้พื้นที่ของทัณฑสถานเปิดหรือสถานกักกันนั้น ตนจึงอยากขอให้เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ที่สำคัญต้องได้มาตรฐานเดียวกับผู้ป่วยภายนอกอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ขอฝากกำลังใจไปยังเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนักในภาวะวิกฤต และให้กำลังใจกับผู้ต้องขังที่ได้รับเชื้อรวมถึงเป็นกำลังใจให้ครอบครัวผู้เกี่ยวข้องทุกคนด้วย

“ตอนนี้ทุกภาคส่วนควรเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องรีบดำเนินการแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด ช้ากว่านี้ไม่ได้แล้ว จะปล่อยให้เกิดปัญหานักโทษล้นเรือนจำ จนติดโควิด-19 กันหมดไม่ได้” น.ส.สุทธวรรณ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top