Wednesday, 21 May 2025
NewsFeed

สมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ บุคคลสร้างสรรค์แห่งปี คนดีของแผ่นดิน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567

ที่สโมสรกองทัพบก ห้องเทวกรรมรังรักษ์ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน กรุงเทพมหานคร สมาคมสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสังคม จัดงานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ภายใต้โครงการ บุคคลสร้างสรรค์แห่งปี คนดีของแผ่นดิน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ณ สโมสรกองทัพบก 

นายอภิรัฐ กุนกันไชย นายกสมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม จัดโครงการ มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ภายใต้โครงการ บุคคลสร้างสรรค์แห่งปี คนดีของแผ่นดิน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 โดยมีทางคณะผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์ จำนวน 8 องค์กรเข้าร่วมในโครงการครั้งนี้ อาทิ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์สยามโฟกัสไทม์ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ 4 เหล่าทัพ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ ผู้บริหาร TODAY NEWS ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ ผู้บริหาร หนังสือพิมพ์ ข่าวกระทรวง  ผู้บริหาร สำนักข่าว ทั่วไทย New ผู้บริหาร สำนักข่าว ข้าราชการไทย ผู้บริหาร สำนักข่าว วิหคนิวส์ ชมรมสื่อออนไลน์สร้างสรรค์ 

ภายในงานยังได้รับเกียรติจากท่าน พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 อดีตราชองครักษ์พิเศษ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งเป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ แก่บุคคลที่ทำคุณประโยชน์เเก่สังคม จำนวน 38ท่าน

ได้แก่ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี อดีตนายทหารนักบินกองทัพอากาศ นายยุคล วิเศษสังข์ พิธีกร ผู้ดำเนินรายการข่าวสถานีโทรทัศน์ เนชั่นทีวี นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ นักกฎหมาย นักวิชาการด้านกฎหมาย ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยภาคที่ 4 นางสาวกิรัน บาลา ชานเกอร์ ประธานมูลนิธิ กิรัน แคร์ เป็นต้น

โดยทางด้าน นายอภิรัฐ กุนกันไชย นายกสมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม ในฐานะผู้ริเริ่มจัดงาน กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาส จัดโครงการ บุคคลสร้างสรรค์แห่งปี คนดีของแผ่นดินครั้งที่ 1 โดยร่วมกับ พันธมิตร 8 องค์กรสื่อ ร่วมกันจัดงานขึ้นในครั้งนี้ โดยรางวัลนี้ที่มอบให้แก่บุคคลที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่า และเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคคลที่อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน ผลักดันให้สังคมพัฒนาไปข้างหน้า เปรียบเสมือนเสาหลักของสังคมเป็นผู้เสียสละอุทิศตนทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนรุ่นต่อไป

สแกนสิงคโปร์ 70% ของคนส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลาง ไม่รวยพอจะซื้อบ้าน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่แพงมากในสิงคโปร์

(6 มี.ค.67) จากเพจ 'สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา' ได้โพสต์ข้อความแชร์มุมมองของคนสิงคโปร์ ที่คนชาติอื่นมักมองว่ามีฐานะกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะไม่จริงเสมอไป จากช่อง YouTube 'Asian Boss' ไว้ว่า...

70% ของคนสิงคโปร์เป็นคนชนชั้นกลาง ไม่รวยพอจะซื้อบ้านซึ่งถือเป็นสิ่งที่แพงมากในสิงคโปร์

บ้านสามห้องนอนพื้นที่ใช้สอย 135 ตารางเมตร ราคาอยู่ที่ 37 ล้านบาท คนสิงคโปร์ส่วนมากซื้อไม่ไหว และไม่คิดว่าชาตินี้จะมีทางซื้อไหว

ถ้าคิดจะซื้อบ้านจริง ๆ ชนชั้นกลางสิงคโปร์มองว่าต้องไปหาซื้อที่ประเทศอื่น เช่น ไทย, เวียดนาม, อินโดฯ

แม้แต่คนที่ทำงานในวงการแพทย์ (ทำงานด้านฉายรังสี) บอกเองว่า ไม่น่าจะมีปัญญาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตัวเอง ถ้าป่วยหนักถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล

ดู ๆ แล้วชนชั้นกลางไทยสบายกว่าชนชั้นกลางสิงคโปร์ โอกาสมีบ้านหลังเล็กมีมากกว่าคนสิงคโปร์ที่ถ้าไม่รวยจริงอยู่คอนโดทุกคน

มองได้ว่าสิงคโปร์คล้าย ๆ เกาหลี คือ ทำประเทศพัฒนาไปเร็วมาก จนคนส่วนมากรวยตามไม่ทัน 

รัฐบาลได้โม้ว่าประเทศเจริญ แต่คนในประเทศไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตอยู่สบาย อยู่เพื่อทำงาน ไม่ได้อยู่เพื่อสบาย

เวลาคนเกาหลีหรือสิงคโปร์โม้เรื่องประเทศ ให้ถามว่ามีบ้านอยู่ป่าว หน้าจะจ๋อยขึ้นมาทันที

'ดร.หิมาลัย' แชร์มุมมอง!! หลัง 'วุฒิสภา' ลงมติลับขวาง 'บิ๊กจ้าว' นั่ง 'ป.ป.ช.' เหตุใดจึงยกเกณฑ์เทียบตำแหน่ง 'ผบช.น.' ไม่เทียบเท่า 'อธิบดี' มาชี้วัด

จากกรณี วุฒิสภา ลงมติลับ มีมติ 88 ต่อ 80 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ไม่เห็นชอบให้ 'บิ๊กจ้าว' พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทน พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีต กรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดย สว.ส่วนหนึ่ง มองว่า ตำแหน่ง 'ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล' ไม่เทียบเท่าได้กับตำแหน่ง 'อธิบดี' และคุณสมบัติต่างๆ ไม่เข้าเกณฑ์นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี/ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระราหู ได้ให้ความเห็นทางกฎหมาย ตอบโต้ สว.ส่วนหนึ่ง ที่เห็นว่า ตำแหน่ง ผบช.น ไม่เทียบเท่าอธิบดี ระบุว่า...

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนต่างๆ เกี่ยวกับกรณีการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช. ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว  

โดยตามข่าวมีการกล่าวอ้างว่าที่ประชุมวุฒิสภาได้ถกเถียงปัญหาขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ได้รับการสรรหาเป็น ป.ป.ช.ของ พล.ต.ท.ธิติฯ เพราะ มาตรา 9 วรรคสอง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ระบุว่า...

“ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าไม่น้อยกว่า 5 ปี” 

แต่ตำแหน่ง ผบช.น. นั้น สว.หลายคนเห็นว่าไม่สามารถเทียบเท่าได้กับตำแหน่งอธิบดี 

ทั้งนี้ แม้จะอ้าง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 และระเบียบ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 ให้ตำแหน่ง ผบช.น. สามารถเทียบเท่าอธิบดีได้นั้น แต่ สว.หลายคนเห็นว่า พ.ร.บ. และระเบียบ ก.ตร. ดังกล่าวใช้บังคับแค่หน่วยงานตำรวจหรือทหาร ไม่ครอบคลุมถึงองค์กรอิสระ ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติไม่เห็นชอบ พล.ต.ท.ธิติฯ ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ด้วยคะแนน 88 ต่อ 80 ไม่ออกเสียง 30 ถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา 

ด้วยความเคารพต่อมติที่ประชุมของวุฒิสภา หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ปรากฏตามเนื้อหาข่าวข้างต้น โดยมีการยกประเด็นเรื่องการขาดคุณสมบัติของ พล.ต.ท.ธิติฯ ผบช.น. มาเป็นประเด็นในการพิจารณา โดยเห็นว่าตำแหน่ง ผบช.น. ไม่สามารถเทียบเท่าได้กับตำแหน่งอธิบดี นั้น กระผมด้วยความบริสุทธิ์ใจขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้...

*** 1. พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 

มาตรา 9 วรรคสอง (2) บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ด้วย...

*** 2. รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี...”    

มาตรา 12 บัญญัติว่า “เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา 9 ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย...

- ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
- ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
- ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
- บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 

ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา...”

มาตรา 16 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด 

พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 

- มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ 'ส่วนราชการ' หมายความว่า หน่วยงานของรัฐในฝ่ายพลเรือน ทหาร หรือตำรวจ ที่มีกฎหมายกำหนดให้มีฐานะหรือเรียกว่าส่วนราชการ
- มาตรา 4 ในการพิจารณาเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี อย่างน้อยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้...

(1) เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามกฎหมายอื่น
(2) เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ว่าส่วนราชการนั้นจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่
(3) เป็นตำแหน่งประเภทบริหารซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการบังคับบัญชา บริหารงาน บริหารงานบุคคล และบริหารงบประมาณของส่วนราชการนั้น ซึ่งไม่รวมถึงหน้าที่และอำนาจในฐานะผู้รับมอบอำนาจ

มาตรา 5 เพื่อประโยชน์ในการเทียบตำแหน่งตามพระราชบัญญัตินี้ ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลตามกฎหมายของแต่ละส่วนราชการวางระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี สำหรับใช้กับข้าราชการในส่วนราชการของตน โดยการวางระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในมาตรา 4 รวมทั้งมีหน้าที่และอำนาจในการเทียบตำแหน่งข้าราชการในส่วนราชการของตนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนั้น ...”

*** 3. ระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563    

*** 4. การพิจารณาเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี ให้เป็นตามหลักเกณฑ์ ดังนี้...

- เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามกฎหมายอื่น
- เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการตามกฎหมายไม่ว่าส่วนราชการนั้นจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่
- เป็นตำแหน่งประเภทบริหารซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการบังคับบัญชา บริหารงาน บริหารงานบุคคล และบริหารงบประมาณของส่วนราชการนั้น ซึ่งไม่รวมถึงหน้าที่และอำนาจในฐานะผู้รับมอบอำนาจ โดยสามารถพิจารณาได้จากภารกิจ อำนาจหน้าที่ ลักษณะงานที่ปฏิบัติตามที่ปรากฎในกฎหมาย และได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตามกฎหมายว่าด้วยการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ

เมื่อพิจารณา มาตรา 9 วรรคสอง (2) ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดคุณสมบัติของผู้ได้รับการสรรหา มี 2 กรณี คือ...

(1) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี  หรือ 
(2) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี 

ซึ่งในกรณีของข้อ 1. รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี ไม่มีประเด็นหรือข้อสงสัย 

แต่ในกรณีของข้อ 2. รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นั้นเห็นว่า เนื่องจากหน่วยงานทางราชการของประเทศไทยมีหลายหน่วยงาน ซึ่งมีโครงสร้างและมีชื่อเรียกหัวหน้าส่วนราชการแตกต่างกันไป และไม่ได้มีชื่อเรียกตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการว่าอธิบดี และบางหน่วยงานมีลักษณะของโครงสร้างหน่วยงานที่ใหญ่โต มีหน่วยงานหรือส่วนราชการในสังกัด และกำลังพลภายใต้การบริหารงานและการบังคับบัญชาจำนวนมาก แต่ละหน่วยย่อยได้รับการจัดสรรงบประมาณ สามารถบริหารงบประมาณได้เองโดยตรง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองทัพบก กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ ฯลฯ ซึ่งมีกำลังพลหลักแสนนาย 

ซึ่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า คือ ตำแหน่งใดบ้าง จึงต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 ที่มีเจตนารมณ์ในการประกาศใช้คือ เป็นหลักเกณฑ์กลางในการเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการอื่นกับตำแหน่งอธิบดี เพื่อให้การปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ มีความสอดคล้องกัน ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 3 ที่ให้นิยามของคำว่า 'ส่วนราชการ' (หมายถึง หน่วยงานของรัฐในฝ่ายพลเรือน, ทหาร หรือตำรวจ ที่มีกฎหมายกำหนดให้มีฐานะหรือเรียกว่าส่วนราชการ) กับมาตรา 4 (หลักเกณฑ์การพิจารณาเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี) และ มาตรา 5 (กำหนดให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลตามกฎหมายของแต่ละส่วนราชการวางระเบียบที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี) 

โดยในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก.ตร. ได้ออกระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 แล้ว ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 ทุกประการ โดยได้กำหนดบัญชีตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี ซึ่งได้รับอนุมัติจาก ก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อ 27 เม.ย.63 และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการเทียบตำแหน่ง ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อ 16 มี.ค.63 สรุปได้ว่า...

'ตำแหน่งระดับ' >> "ผู้บังคับการ, ผู้บัญชาการ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี ซึ่งเมื่อระเบียบดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการเทียบตำแหน่งแล้ว (คณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ.ฯ) บัญชีตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย่อมใช้บังคับได้เป็นการทั่วไป เทียบได้กับหน่วยงานหรือส่วนราชการอื่นตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว 

การที่ สว. เห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับแค่หน่วยงานตำรวจหรือทหาร ไม่ครอบคลุมถึงองค์กรอิสระนั้น จึงไม่อาจเห็นพ้องด้วย 

ดังนั้น ข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ย่อมเป็นผู้มีคุณสมบัติ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2661 มาตรา 9 วรรคสอง (2) 

นอกจากนี้ ในประเด็นอำนาจหน้าที่ของผู้พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.ป.ดังกล่าว กำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด โดยที่คณะกรรมการสรรหา ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ป.ดังกล่าวประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรรมการสรรหาแต่ละท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายที่สำคัญของประเทศและมีตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงาน 

ดังนั้น หากมีประเด็นปัญหาข้อขัดข้องเรื่องการเทียบตำแหน่งอันเป็นประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ได้รับการสรรหา ย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาที่จะพิจารณาเทียบตำแหน่งจนได้ข้อยุติและเป็นที่สุด 

ทั้งนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ออกมาใช้บังคับเมื่อปี พ.ศ.2561 ส่วน พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 ได้ออกบังคับใช้ปี พ.ศ.2562 ภายหลัง พ.ร.ป.ฯ ดังกล่าว ซึ่งหลักการพิจารณาออกกฎหมายแต่ละฉบับ จะต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองตรวจทานเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เนื้อหาหรือข้อความขัดหรือแย้ง กับกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ก่อนหน้าแล้ว

เมื่อ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 มาตรา 3 ได้ให้นิยามของคำว่า 'ส่วนราชการ' หมายความว่า หน่วยงานของรัฐในฝ่ายพลเรือน, ทหาร หรือตำรวจ ที่มีกฎหมายกำหนดให้มีฐานะหรือเรียกว่าส่วนราชการ จึงสอดคล้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 9 วรรคสอง (2) ที่บัญญัตติว่า ...

"......หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี" แล้ว ... กระผมจึงเห็นว่า พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 และ ระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 ครอบคลุมถึง องค์กรอิสระอื่นๆ ซึ่งรวมถึง ป.ป.ช. ด้วยการที่ สว. พิจารณาว่า พ.ร.บ.ฯ และระเบียบ ตร. ดังกล่าวซึ่งเทียบตำแหน่ง 'ผู้บังคับการ' และ 'ผู้บัญชาการ' ให้เทียบเท่าอธิบดีนั้นไม่สามารถใช้บังคับเป็นการทั่วไปได้ 

กระผมเห็นว่าเป็นการตีความที่แคบจนเกินไป!! ... ทำให้ผู้มีคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเหลือเพียงตำแหน่ง ผบ.ตร. ซึ่งจะต้องดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 5 ปี และหมายความรวมถึงข้าราชการฝ่ายทหารที่เป็นผู้นำสูงสุดของหน่วยด้วย ซึ่งตามประวัติศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ถึง 5 ปี มีเพียงคนเดียว ทั้งตามมาตรา 9 วรรคสอง (2) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ใช้คำว่า ..อธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า... ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า ไม่ได้ประสงค์ที่จะจำกัดแต่เฉพาะหัวหน้าหน่วยงานเท่านั้น 

ดังนั้น การพิจารณาตีความคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช. จึงควรที่จะพิจารณาตีความอย่างกว้างเพื่อเปิดโอกาสให้กับบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งในด้านความมั่นคง และด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อทำหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐและประเทศชาติต่อไป  

อนึ่ง การลงบทความของกระผมครั้งนี้ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นในเชิงกฎหมาย ไม่ได้พาดพิงหรือต้องการกระทำให้บุคคลใดได้รับความเสียหาย หรือเสื่อมเสียชื่อเสียงแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการแสดงออกในแง่มุมของกฎหมายที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมโดยรวม ตลอดจนเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ขอบคุณครับ

'สภาพัฒน์ฯ' เผย!! ค่าจ้างแรงงานโดยภาพรวมถูกลง 0.2% ผลจากการขาดทักษะ แต่ยังดีที่อัตราว่างงานลดลงตาม

(6 มี.ค. 67) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ตัวเลขการว่างงานของตลาดแรงงานไทยโดยภาพรวมกำลัง ‘ปรับตัวดีขึ้น’

โดยอัตราการว่างงานของแรงงานไทยมีการปรับตัวลดลงเหลือเพียง 0.81% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ส่งผลให้ปัจจุบันตัวเลขอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.98% ซึ่งเทียบเท่าได้กับระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19

หากใครยังไม่ทราบก่อนหน้านี้ตัวเลขการว่างงานของไทยอยู่มากกว่า 1% มาโดยตลอด และเพิ่งกลับร่วงลงต่ำกว่า 1% ในเร็ว ๆ นี้

จำนวนผู้มีงานทำในไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อนหน้า และจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลา (OT) หรือผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่ที่ 6.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.1%YoY

อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างแรงงานในภาพรวมไตรมาส 4 ปี 2566 กลับ ‘ลดลง’ 0.2%YoY อยู่ที่ 15,382 บาทต่อคนต่อเดือน โดยค่าจ้างเฉลี่ยที่ลดลงอาจเป็นผลมาจากปัญหาแรงงานไทยขาดทักษะที่นายจ้างต้องการ

'กระทรวงอุตฯ' ขานรับ!! กระแสธุรกิจ Wellness & Medical บูม เร่งยกระดับ 'ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ' ภาคใต้ฝั่งอันดามันเต็มสูบ

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าเสริมศักยภาพผู้ประกอบการภาคใต้ฝั่งอันดามันผ่านหลักสูตร Digital Literacy เร่งยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่ พร้อมคัดเลือกต้นแบบความสำเร็จ 10 กิจการ สร้างความพร้อมด้านการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ คาดภายใน 1 ปี จะสามารถสร้างยอดขายและรายได้โดยรวมให้กับพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 30 ล้านบาท

(6 มี.ค.67) นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังที่ได้รับมอบหมายจาก นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นประธาน เปิดงานกิจกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพ ด้วย Digital Marketing ภายใต้กิจกรรมสร้างการรับรู้ SME ให้ดีพร้อมด้วยดิจิทัล (Digital Literacy) ให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ (Wellness & Medical) ว่า...

ปัจจุบันประเทศไทยได้พัฒนาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) อย่างจริงจัง และรัฐบาลมีแนวทางนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาด้านดิจิทัล และการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างชัดเจน โดยเริ่มต้นจากทักษะความรู้พื้นฐานในการประกอบอาชีพไปจนถึงทักษะทางเทคนิคและทักษะการบูรณาการ อันจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเตรียมพร้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital literacy ด้วยการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาประยุกต์ปรับใช้และนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ (Wellness & Medical) ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ รวมถึงเป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพ หรือ Medical Hub ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนเป็นอันดับ 8 ของโลก สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศกว่า 2.3 ล้านล้านบาท และคาดว่าใน 4 ปีข้างหน้านี้จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจ Medical Tourism และ Wellness Tourism ของประเทศไทยที่จะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการด้วย Digital Marketing จึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าผลักดันและยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ (Wellness & Medical) ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ผ่านการจัดงานการพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพด้วย Digital Marketing ภายใต้กิจกรรมสร้างการรับรู้ SMEs ให้ดีพร้อมด้วยดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถนำองค์ความรู้และทักษะด้านการตลาดออนไลน์ไปปรับใช้กับธุรกิจและทำให้มีช่องทางขายที่หลากหลายเพิ่มขึ้น โดยการจัดทำสื่อดิจิทัลสำหรับการสื่อสารประชาสัมพันธ์การทำตลาดผ่านช่องทาง Online & Offline Platforms เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการแก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังได้ร่วมกับ บริษัท ไทยคิงดอม แอดไวเซอร์ จำกัด และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จัดทำ Website : www.andamandigitalwellness.com เพื่อเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ทำการตลาด นำเสนอสินค้าและบริการแก่ลูกค้าเป้าหมายในรูปแบบ Sale Page ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นต้นแบบความสำเร็จ จำนวน 10 กิจการ ให้มีความพร้อมในการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เปิดกว้างสู่สากล

ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 1 ปีจะทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมนำความรู้ไปใช้ต่อยอดธุรกิจ และสามารถสร้างยอดขาย มีรายได้โดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 30 ล้านบาท

‘สภาฝรั่งเศส’ รับรองสิทธิ ‘การทำแท้ง’ ในรัฐธรรมนูญ หลังออกกฎหมายอนุญาตทำแท้ง เมื่อกว่า 50 ปีก่อน

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐสภาฝรั่งเศสเห็นชอบแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้ ‘การทำแท้ง’ เป็นเสรีภาพของพลเมืองภายใต้กฎหมายสูงสุด ถือเป็นชาติแรกของโลก

ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่บัญญัติเสรีภาพการทำแท้งไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายสูงสุดของประเทศ นั่นหมายความว่า สิ่งอื่นใดจะมาล้มล้างเสรีภาพนี้ไม่ได้

โดยหลักการทางกฎหมาย เสรีภาพคือภาวะโดยอิสระของมนุษย์ แม้จะไม่มีกฎหมายรับรองหรือคุ้มครองไว้ บุคคลก็ยังคงมีเสรีภาพนั้น เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา ที่ไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องนับถือศาสนาใด และทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกศาสนาที่จะนับถือ

ในทำนองเดียวกัน เสรีภาพในการทำแท้งนี้ก็หมายความว่า ทุกคนมีเสรีภาพในการตัดสินใจทำแท้ง โดยที่ใครก็มาละเมิดความคิดหรือบังคับไม่ให้ทำไม่ได้

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส จะต้องมีเสียงข้างมาก 3 ใน 5 ซึ่งในการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายทำแท้งให้เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภานิติบัญญัติจากสภาสูงและสภาล่างของรัฐสภาฝรั่งเศส ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ถึง 780 ต่อ 72 เสียง

การลงคะแนนเสียงล่าสุดถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการนิติบัญญัติ หลังก่อนหน้านี้วุฒิสภาฝรั่งเศสและรัฐสภาต่างเห็นชอบการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอย่างท่วมท้นเมื่อต้นปีนี้

การแก้ไขระบุว่า เพื่อให้ “การทำแท้งเป็นเสรีภาพที่พลเมืองในฝรั่งเศสจะได้รับอย่างแน่นอน” แต่ผู้ร่างกฎหมายบางกลุ่มเรียกร้องให้มีการเรียกการทำแท้งอย่างชัดเจนว่าเป็น ‘สิทธิ’ ไม่ใช่แค่เสรีภาพ

ฝ่ายนิติบัญญัติยกย่องความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็นหนทางสร้างประวัติศาสตร์ให้กับฝรั่งเศสในการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของการสนับสนุนสิทธิการเจริญพันธุ์ ขณะที่อิสระในการทำแท้งกำลังถูกคุกคามในสหรัฐฯ และบางส่วนของยุโรป เช่น ฮังการี

หลังจากการโหวต หอไอเฟลก็สว่างไสวด้วยคำว่า ‘ร่างกายของฉัน ทางเลือกของฉัน’

นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส กาเบรียล แอตทาล กล่าวก่อนการลงคะแนนเสียงว่า ฝ่ายนิติบัญญัติเป็น ‘หนี้’ ผู้หญิงทุกคนที่ในอดีตเคยถูกบังคับให้ทนทำแท้งผิดกฎหมาย และบอกว่า “เหนือสิ่งอื่นใด เรากำลังส่งข้อความถึงผู้หญิงทุกคน ร่างกายของคุณเป็นของคุณเอง”

ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง กล่าวว่า รัฐบาลจะจัดพิธีอย่างเป็นทางการเพื่อเฉลิมฉลองการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ในวันที่ 8 มี.ค. ซึ่งเป็นวันสิทธิสตรีสากล

ฝรั่งเศสออกกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งเป็นครั้งแรกในปี 1975 หลังจากการรณรงค์ที่นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ซิโมน เวล

ในฝรั่งเศส การทำแท้งเป็นเรื่องที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง สมาชิกสภานิติบัญญัติหลายคนที่ลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขนี้ไม่ได้ทำเช่นนั้นเพราะพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง แต่เพราะพวกเขารู้สึกว่ามาตรการนี้ไม่จำเป็น โดยสิทธิการเจริญพันธุ์ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว

การลงคะแนนเสียงครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 25 ที่รัฐบาลฝรั่งเศสแก้ไขรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐในปี 1958

คริสตจักรคาทอลิกเป็นหนึ่งในไม่กี่กลุ่มที่ประกาศต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดย Pontifical Academy for Life ซึ่งเป็นหน่วยงานของวาติกันซึ่งมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวจริยธรรม กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ในยุคของสิทธิมนุษยชนสากล เราไม่มี ‘สิทธิ’ ที่จะปลิดชีวิตมนุษย์”

รู้จัก 'แกส' ฝรั่งหัวใจไทย แม้อุบัติเหตุทำสูญเสียขา แต่ไม่เคยท้อ ทำเบอร์เกอร์เลี้ยงชีพ แถมรวยน้ำใจให้ฟรี 'คนพิการ-ยากไร้-วันเกิด'

(6 มี.ค.67) “ผมไปวิ่งที่เดิมนะ เป็น 10 ไมล์ ประมาณ 18 กม. วิ่งสบาย แต่มีปัญหานิดหนึ่ง ไม่รู้ทำไม เหมือนไม่แข็งแรงเท่าไหร่ หัวหมุนด้วย ไม่หมุนมาก ที่อังกฤษอากาศหนาวมากด้วย เดินประมาณ 500 เมตร ล้ม เอ้า ทำไมล้ม ไม่เมานะ ไอเป็นนักมวย ไอคลีนมาก ผมเดินเล่นอีก ล้มอีกแล้ว เดินเล่นอีก ล้มที่ทางรถไฟ เราก็นอนหลับนาน ประมาณ 15 นาที เวลาผมตื่นแล้ว มีเสียงแบบเหล็ก ซีดดดดดด รถไฟใช่มะ เราก็จะตัวสั่นๆๆ ผมรู้รถไฟกำลังจะมา ผมยกตัว แต่ไม่คอมพลีท ชนขา 2 ขาเลย โชคดีนะ ไม่ใช่คอครับ”

'แกเร็ธ เพย์น' หรือ 'แกส' อดีตนักมวยชาวอังกฤษ ย้อนเหตุการณ์ขณะวิ่งออกกำลังกายเพื่อชกป้องกันแชมป์ในวันรุ่งขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ที่ทำให้เขาต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างไปพร้อมกับจบอาชีพนักมวยตั้งแต่นั้น และต้องใส่ขาเทียมที่ทำด้วยเหล็ก ก่อนหันมาประกอบอาชีพนักบิน แม้ไร้ขา

“คุณลุงสอนเป็นนักบิน ผมมีไลเซ่นอายุ 17 นะ พอเสียขา ไม่รู้จะทำอะไร ลุงบอก ลองดู คุณบินเก่งมาก เวลาผมไม่มีขา ปกติมีคนนั่งด้วยกัน แต่เป็นผู้ช่วย เวลาผมบิน ลงแลนดิ้ง ไม่มีปัญหา คุณเป็นคนจริง เป็นนักบินจริง ไม่มีปัญหา”

ระหว่างยังเป็นนักบิน แกสได้มาพบรักกับสาวไทย 'ปุ๊ก' ไอรีน เพย์น ก่อนตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งปุ๊กเผยเหตุผลที่ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กับแกสว่า “คุยถูกคอ ไปด้วยกันได้ ปกติปุ๊กจะไม่ใช่คนหวานๆ แล้วเขาเป็นคนตลก แล้วปุ๊กเป็นคนลักษณะแบบนี้อยู่แล้ว เลยรู้สึกว่า มันคงสนุกดี มีคนแบบนี้อยู่ในชีวิต”

หลังเกิดสถานการณ์โควิดระบาด แกสตัดสินใจเลิกอาชีพนักบิน และหันมาใช้ฝีมือการทำอาหารของตนเองประกอบอาชีพใหม่ คือ ทำเบอร์เกอร์ขาย หลังภรรยาชมว่าอร่อยดีและชวนให้ลองทำขาย

“ตอนแรกสองคนไปขายที่ตลาดเล็กๆ ที่นิมิตใหม่ ไปประมาณ 30 ชิ้น ไม่ถึง 20 นาที ก็หมด ...รอบที่สอง เอาไปอีก ประมาณ 40-50 หมดอีก”

ปัจจุบัน แกสและปุ๊กจะขับรถปิคอัพออกจากบ้านมาทำเบอร์เกอร์ขายที่ย่านวงแหวนรามอินทรา หน้าร้านสะดวกซื้อ หมู่บ้านมัณฑนา โดยจุดขายเป็นรถพ่วงข้างเล็กๆ ชื่อร้าน 'Captains Corner Burgers' โดยทำเบอร์เกอร์กันสดๆ ตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง ซึ่งเบอร์เกอร์มีหลายแบบให้เลือก ขายทุกวันพุธถึงอาทิตย์ ตั้งแต่ 8 โมงถึงบ่ายโมงครึ่ง

แม้แกสจะพิการ ต้องใส่ขาเทียมในการเดินและทำงาน แต่เขาสามารถทำทุกอย่างได้ไม่แพ้คนปกติ ทั้งยกของหนัก และยืนทำเบอร์เกอร์เป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน แม้ทรมานจากการปวดขาตลอดเวลาที่ใส่ขาเทียม แต่แกสก็ยังคงมีความสุขกับการทำงาน และพร้อมทำงานหนักเพื่อลูก 

ปัจจุบันแกสมีลูกชาย 2 คน คนแรกชื่อ โคดี้ วัย 9 ขวบ ส่วนคนเล็กชื่อ อัลฟี่ 2 ขวบกว่า ซึ่งมีภาวะดาวน์ซินโดรม “อัลฟี่เป็นเด็กพิเศษ เป็นเด็กดาวน์ซินโดรม ขาไม่แข็งแรง มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ พูดไม่ได้ ผมรักลูกมากๆ ลูกเป็นลูก ลูกเป็นดาวน์ ลูกจะเป็นอะไรก็ได้ ผมก็รักแน่นอน”

ลูกค้าชื่นชม 'แกส' เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ยอมแพ้ความพิการ!

“ผมคิดว่าเขาขยันกว่าหลายคนที่มีพร้อม เขาไม่ได้คิดว่าตัวเองมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตหรือการทำมาหากิน เป็นตัวอย่างที่ดี”

เบอร์เกอร์ของแกส ไม่ได้มีดีแค่ความอร่อย แต่เขายังมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมสังคมอีกด้วย “ตอนนี้ทุกอย่างก็ยากนะ คนไม่มีเงินเยอะ ผมพูดที่ร้านด้วย คนไม่มีเงิน ผมบอกมากินฟรี ไม่เอาตังค์เลย คนพิการก็มากินฟรี ผมชอบช่วยคนอื่น วันเกิดคนก็มากินฟรี คนมีเงิน เงินไม่พอ คุณเก็บเงินเอาไว้” 

แม้ไร้ขา แต่แกสเป็นคนที่เต็มที่กับทุกสิ่งที่ทำ ไม่ว่าเรื่องงาน เรื่องลูก หรือวันพักผ่อนจากการทำงาน ที่เขามักไปเล่น 'พารามอเตอร์' ซึ่งช่วยให้เขาบินได้อย่างมีความสุขกลางอากาศกับวิวทิวทัศน์ที่กว้างไกล ซึ่งเขาพร้อมสอนให้คนที่สนใจอีกด้วย

ปัจจุบัน แกสไม่เพียงทำงานหนักเพื่อลูกเพื่อครอบครัว แต่เขายังไลฟ์สดอัดคลิปให้กำลังใจผ่านโซเชียล ให้คนที่กำลังท้อมีแรงใจสู้ชีวิตต่อไป อย่าไปกลัวชีวิต ชีวิตเรา เรากำหนดได้ พิการก็ยังสู้ได้ ทำอะไรได้เหมือนคนปกติ ทุกคนสู้ได้ชนะได้ “ผมชนะได้ ชนะทุกวัน คุณก็ชนะได้”

ติดตามเรื่องราวหัวใจนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้ความพิการของ 'แกส' ได้ทางรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน 'คุณพ่อ...ยอดนักสู้' วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม 2567 เวลา 9.00-9.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ News1 (IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211) และ เฟซบุ๊ก / ยูทูบ : ฅนจริงใจไม่ท้อ

(หากท่านใดสนใจอุดหนุนเบอร์เกอร์ของแกส แวะไปได้ที่ย่านวงแหวนรามอินทรา ร้านอยู่หน้าร้านสะดวกซื้อ หมู่บ้านมัณฑนา ร้าน Captains Corner Burgers / หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เฟซบุ๊ก Captains Corner Burgers And Kebabs)

‘กรณ์’ ชี้!! สิงคโปร์ดีล ‘Taylor Swift’ จัดคอนฯ ไม่ใช่เรื่องแปลก ถือเป็นการแข่งขัน-กระตุ้น ศก.ปกติ แต่ ‘ไม่น่ารัก’ ในสายตาเพื่อนบ้าน

(6 มี.ค. 67) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij’ ระบุว่า…

“วันนี้ลูกสาว text มาแจ้งว่าเพื่อนที่สิงคโปร์ชวนไปดู Taylor Swift คืนวันศุกร์นี้ (ค่าตั๋วเท่าไรพ่อไม่กล้าถาม) ลูกสาวดีใจมาก รีบจองตั๋วเครื่องบินซึ่งก็แพงอีก แต่ซื้อตั๋วได้ถูกลงหน่อยโดยยอมเปลี่ยนเครื่องที่หาดใหญ่ ส่วนการนอนคงต้องนอนบ้านเพื่อนเพราะอยู่โรงแรมไม่ไหวแน่

“ทำให้นึกถึงดราม่าระหว่างผู้นำประเทศเรื่องเงื่อนไข ‘exclusivity’ ที่สิงคโปร์เจรจาไว้กับทีมงาน Taylor Swift (ว่าในภูมิภาคนี้ต้องเล่นที่สิงคโปร์เท่านั้น)

“ล่าสุดเห็น ลีเซียนลุง นายกฯ สิงคโปร์ให้สัมภาษณ์ว่ายุทธศาสตร์นี้ “…จากมุมมองสิงคโปร์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตเท่านั้น แต่ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวและความปรารถนาดีจากทั่วทุกภูมิภาคด้วย ผมไม่เห็นว่าทำไมถึงจะไม่ทำล่ะ” (จาก The Standard)

“ผมเห็นด้วยนะ ถ้าให้ผมเปรียบเทียบ ประเทศต่าง ๆ (เราด้วย) ยังพร้อมแย่งการลงทุนไม่ให้ไปประเทศเพื่อนบ้านด้วยการ ‘ตัดราคา’ ภาษีให้นักลงทุน หรือเราพร้อมสร้าง land bridge เพื่อแย่งลูกค้าจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ฯลฯ ทั้งหมดเป็นการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ปกติ…แม้จริงอยู่อาจจะถูกคนมองว่า ‘ไม่น่ารัก’ ก็ตาม

“ตามจริงอะไรที่กลุ่ม ASEAN ทำด้วยกันได้เราควรทำ หากแข่งกันทุกเรื่อง เราทุกคนจะเสียประโยชน์ แต่การชิงไหวชิงพริบคงต้องมีบ้างเป็นธรรมดา

ส่วนกระแส Taylor Swift ช่วงนี้ ทำให้คนรุ่นผมนึกถึงระดับความคลั่งสมัยที่ Michael Jackson มาทัวร์ไทย (มาพีคที่บ้านเราเลยด้วย) ทุกรุ่นก็มี moment ของเขา เที่ยวนี้สิงคโปร์เขาคว้า moment นั้นได้ คราวหน้าหากเราเตรียมตัวให้ดี โอกาสอาจจะเป็นของเรา

'กสทช.-AIS' เดินหน้าสร้างระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ แจ้งสารพัดภัยเจาะจงเฉพาะพื้นที่เกิดเหตุด่วนเหตุร้ายได้ทันที

(6 มี.ค. 67) ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเหตุการณ์รุนแรงไม่คาดคิด เช่น เหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับกิจการโทรคมนาคม จึงทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยจากภาครัฐแบบเจาะจงพื้นที่ (Cell Broadcast Service) โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO)

ทั้งนี้ ระบบแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจงพื้นที่ดังกล่าว จะเป็นการส่งข้อความเตือนภัยแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครื่องในบริเวณนั้น แตกต่างจากระบบ SMS ทั่วไป เพราะไม่จำเป็นต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารข้อมูลเตือนภัยทำได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งพื้นที่เกิดเหตุ โดยประชาชนไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใดๆ

“การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast Service ซึ่ง กสทช.เริ่มต้นกับ AIS ในวันนี้ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ (Command Center) เพื่อเป็นเครื่องมือหรือช่องทางในการเตือนภัยได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยมีระบบเตือนภัยได้มาตรฐานสากลสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความปลอดภัยทางสังคมให้กับประเทศต่อไป” ประธาน กสทช. กล่าว

นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “เราได้ร่วมทำงานกับ กสทช. และภาครัฐ ในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระบบเตือนภัยของประเทศตามมาตรฐานสากล นั่นคือ เทคโนโลยี Cell Broadcast Service หรือ ระบบสื่อสารข้อความตรงไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ซึ่งระบบนี้มีความเหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากสามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้น ๆ ในเวลาเดียวกัน ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pop UP Notification) แบบ Near Real Time Triggering เพื่อให้สามารถรับรู้สถานการณ์ได้ทันที โดยล่าสุดได้ทดลอง ทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าว ได้ผลตามเป้าหมายที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะขยายผลเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป”

โดยโครงสร้างของการนำเทคโนโลยี Cell Broadcast Service มาใช้งานนั้น แบ่งเป็น 2 ฝั่ง

ฝั่งที่ 1 : ดำเนินการและดูแล โดย ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator) และ การอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)

ฝั่งที่ 2 : ดำเนินการและดูแล โดย ผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความ ไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และ การบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)  

KIA เจรจา 'ไทย' ลุยตั้งโรงงานผลิตรถอีวี คาด!! สเกลกำลังผลิต 2.5 แสนคันต่อปี

(6 มี.ค. 67) สำนักข่าว Reuters รายงานว่า บริษัท KIA Corp กำลังเจรจากับประเทศไทยเพื่อที่จะตั้งโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศไทย โดยมีการเจรจากันอย่างจริงจังและมีการยื่นข้อเสนอให้กับรัฐบาลไทย หลังจากมีรายงานว่า KIA ไม่เห็นด้วยกับการลงทุนตั้งโรงงานในไทย 

อย่างไรก็ตาม ทาง BOI ได้ออกมาแสดงความเห็นในเดือน ม.ค. 2024 ว่า KIA กำลังพิจารณาการลงทุนในประเทศไทย 

ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมาตรการจูงใจ อย่าง EV 3.5 การลดหย่อนภาษี และมาตรการอื่น ๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคตามแผนของรัฐบาล โดยตั้งเป้าที่จะมี EV ในประเทศประมาณ 30% ของการผลิตต่อปีจำนวน 2.5 ล้านคัน ภายในปี 2030

ตลาดรถยนต์ไทย ซึ่งผูกขาดมายาวนานโดยผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นอย่าง Toyota และ Honda ได้ดึงข้อผูกพันด้านการลงทุนกว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์ จากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเพื่อสร้างโรงงานผลิต

ด้านบางกอกโพสต์ รายงานว่า KIA มีแผนจะเปิดโรงงานที่มีกำลังผลิต 2.5 แสนคันต่อปี โดยขณะนี้ KIA มีศูนย์บริการในประเทศแล้วกว่า 19 แห่ง และจะเปิดเพิ่มในปี 2024 อีก 26-30 แห่ง พร้อมทั้งในปี 2024–2026 ก็เปิดรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกมา โดยล่าสุดเปิดตัว KIA EV9 รถ SUV ไฟฟ้า 100% และจะเปิดตัว EV5 อีกรุ่นในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 ปีนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top