Wednesday, 14 May 2025
NewsFeed

กระทรวงท่องเที่ยวหั่นเป้ารายได้ทั้งปีเหลือ 8.5 แสนล้าน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งหมด 8 หน่วยงาน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงผลกระทบด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือนม.ค. ที่ผ่านมา และอีกระลอกในเดือนเม.ย.64 ทำให้การเดินทางลดลง จึงทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จำเป็นต้องปรับลดเป้าหมายการท่องเที่ยวใหม่อีกครั้ง โดยคาดว่าทั้งปีประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเหลือเพียง 8.5 แสนล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 1.2 ล้านล้านบาท  

ทั้งนี้การปรับลดเป้าหมายลงมาในครั้งนี้ แยกออกเป็น การท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย เดิมกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีเอาไว้ 160 ล้านคน-ครั้ง ลดลงเหลือ 120 ล้านคน-ครั้ง คิดเป็นเงินรายได้ 5.5 แสนล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดิมตั้งไว้ว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ 6.5 ล้านคน ลดเหลือ 4 ล้านคน หรือคิดเป็นรายได้ประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิมเล็กน้อย โดยหวังว่านักท่องเที่ยวในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วจะเริ่มทยอยเข้ามาได้ตั้งแต่ 1 ก.ค.64 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การปรับตัวเลขเป้าหมายลงในครั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจปรับเป้าหมายใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะสถานการณ์บริเวณชายแดนหากดีขึ้นรายได้น่าจะกลับมามาก แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด

กระทรวงแรงงาน เผยปีงบ 64 คนหางานได้บรรจุงานทั่วประเทศแล้ว 152,158 คน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยยอดผู้สมัครงานใช้บริการหางาน 191,564 คน บรรจุงานแล้ว 152,158 คน หรือร้อยละ 79.43 แนะสมัครด้วยตนเองผ่านเว็บ smartjob สะดวก ไม่มีค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยงจากการเดินทาง 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยสถานการณ์การว่างงานของคนไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมาก ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทราบสถานการณ์เป็นอย่างดีและไม่เคยนิ่งนอนใจ ได้กำชับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตลอดว่า ยิ่งมีคนว่างงานมากขึ้น เจ้าหน้าที่ของเรายิ่งต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อให้คนไทยมีงานทำ มีรายได้ สามารถรับมือจนวิกฤติโควิด-19 นี้ผ่านพ้นไป

“จากสถิติผู้สมัครงานที่ใช้บริการจัดหางานกับกรมการจัดหางานในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา (ตุลาคม 2563-มีนาคม 2564) มีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 191,564 คน ได้รับการบรรจุงาน 152,158 คน หรือร้อยละ 79.43 แบ่งเป็นใช้บริการ ณ พื้นที่กรุงเทพมหานคร 39,495 คน บรรจุ 31,948 คน หรือร้อยละ 80.89 ปริมณฑล 19,075 คน บรรจุ 14,773 คน หรือร้อยละ 77.45 ภาคกลาง 47,708 คน บรรจุ 42,163 คน หรือร้อยละ 88.38 ภาคเหนือ 26,827 คน บรรจุ 21,509 คน หรือร้อยละ 80.18 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 30,540 คน บรรจุ 22,344 คน หรือร้อยละ 73.16 และ ภาคใต้ 27,919 คน บรรจุ 19,421 คน หรือร้อยละ 69.56 โดยสามารถใช้บริการจัดหางาน ณ พื้นที่ที่ต้องการทำงานหรือเลือกสมัครงานผ่านช่องทางการให้บริการจัดหางานรูปแบบออนไลน์ด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ smartjob.doe.go.th หรือ ไทยมีงานทำ.com ได้ตามที่สะดวก โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สะดวกรวดเร็ว และลดความเสี่ยงของโรคโควิด-19 จากการเดินทางไปที่สาธารณะ ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว 

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ได้สั่งการ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดให้บริการประชาชนที่ว่างงาน ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน กลุ่มเปราะบาง ตลอดจนผู้ต้องการหางานทำทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงความลำบากของคนหางานให้มาก

“ทั้งนี้ กรมการจัดหางานมีการนำบริการที่ครอบคลุมภารกิจทุกด้านของกรมการจัดหางาน เข้าหาประชาชนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งบริการของรัฐ ทั้งด้านข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน การให้บริการจัดหางาน รวมทั้งการแนะแนวอาชีพ แนวทางการประกอบอาชีพอิสระ และฝึกอาชีพอิสระ ที่เน้นการให้บริการตรงถึงระดับตำบล ชุมชน และครัวเรือนที่ยากจน โครงการจัดหางานเชิงรุกเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ศูนย์บริการจัดหางาน Part-Time  โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน (Co-Payment) ตลอดจนสนับสนุนเงินกู้โดยคิดดอกเบี้ย 0% แก่กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน” นายไพโรจน์ฯ กล่าว

ศบค.มท. รายงาน 36 จังหวัด บังคับสวมหน้ากากเมื่ออยู่นอกบ้าน

วันที่ 23 เมษายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) รายงานจังหวัดที่มีคำสั่งกำหนดมาตรการให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหสถาน จำนวนรวม 36 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย

ภาคกลางและภาคตะวันออก 9 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี นครปฐม (ไม่มีบทลงโทษ) ปราจีนบุรี เพชรบุรี ระยอง สมุทรสาคร สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง

ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ตาก พิษณุโลก (ไม่มีบทลงโทษ) เพชรบูรณ์ แพร่ (ไม่มีบทลงโทษ) ลำพูน (ไม่มีบทลงโทษ) สุโขทัย และอุตรดิตถ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี และอุบลราชธานี

ภาคใต้ 10 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา (ไม่มีบทลงโทษ) ระนอง สตูล และสุราษฎร์ธานี

อเมริกัน แอร์ไลน์ กรุ๊ป อิงค์ เปิดเผยยอดขาดทุนสุทธิ 1.3 พ้นล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยมีรายได้อยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 53% เมื่อเทียบรายปี และความสามารถในการบรรทุกผู้โดยสาร (available seat miles - ASMs) ทั้งหมด ลดลง 39% เมื่อเทียบรายปี

รายงานระบุว่า ณ สิ้นไตรมาสแรก อเมริกัน แอร์ไลน์มีสภาพคล่องทั้งสิ้นอยู่ที่ราว 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์ และทางสายการบินคาดว่า ในไตรมาส 2 จะมีสภาพคล่องทั้งสิ้นราว 1.95 หมื่นล้านดอลลาร์

เมื่อประเมินจากแนวโน้มปัจจุบัน อเมริกัน แอร์ไลน์คาดว่า ความสามารถในการบรรทุกผู้โดยสารในไตรมาส 2 จะลดลง 20-25% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2562 ขณะที่รายได้รวมจะลดลงราว 40% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2562

นายดั๊ก พาร์กเกอร์ ประธานกรรมการบริหารของอเมริกัน แอร์ไลน์กล่าวว่า “หากมองไปข้างหน้าโดยประเมินจากสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรก เราจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์ ซึ่งเรายังคงเชื่อมั่นว่า การเพิ่มเครือข่าย การพัฒนาบริการที่มุ่งเน้นความต้องการของลูกค้า และมาตรการที่มีประสิทธิภาพซึ่งเรานำมาปฏิบัตินั้น จะเป็นสิ่งที่สร้างหลักประกันว่า อเมริกัน แอร์ไลน์ จะฟื้นตัวขึ้นอย่างแน่นอน”

ที่มา: https://www.infoquest.co.th/2021/80430


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

“บิ๊กป้อม” ขอบคุณ จนท.และชมรมคนริมน้ำช่วยกำจัดผักตบชวา/วัชพืช ป้องกันน้ำหลากฤดูฝน - ลดผลกระทบการสัญจร พร้อมกำชับ จนท.ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง ภายใต้ New Normal เคร่งครัด

เมื่อ 26 เมษายน พ.ศ.2564  พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่า วันนี้  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม./ผอ.กอนช. ได้กล่าวขอบคุณ เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ และชมรมคนริมน้ำ ซึ่งเป็นจิตอาสาชุมชน ได้ร่วมกันกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานหลักของภาครัฐ ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่สำคัญอย่างยิ่งมีประชาชนจากชมรมคนริมน้ำ จำนวนมากที่ได้ให้ความร่วมมือ ร่วมใจในการดำเนินกิจกรรมกำจัดผักตบชวา และวัชพืช ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ด้วยดี  สำหรับพื้นที่ที่ได้ดำเนินการกำจัดแล้ว และกำลังดำเนินการอยู่ ในขณะนี้ อาทิ บริเวณ แม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท ,แม่น้ำลพบุรีและคลองพระครู อ.บางปะหัน  ,แม่น้ำน้อย อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ในการเดินเรือสัญจรทางน้ำ,การระบายน้ำ และการป้องกันน้ำเน่าเสีย จากความหนาแน่นของผักตบชวา และวัชพืช 

พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับ เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน ที่รับผิดชอบดังกล่าวให้เร่งรัดกำจัดผักตบชวา และวัชพืชให้หมดไป อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่ดำรงวิถีชีวิตอยู่ริมแม่น้ำลำคลองและต้องใช้การสัญจรทางน้ำ พร้อมขอให้ ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงาน และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้มาตรการ ของ สธ.อย่างเคร่งครัด ในขณะนี้ด้วย และขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือด้วยดี ตลอดมา

เทพไท ชื่นชม รัฐบาลใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท แจกเงินเยียวยาได้หมด 100% ดีกว่าใช้เงินป้องกันโควิด-19

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การตรวจสอบการใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ว่าตนได้ติดตามและตรวจสอบ เรื่องการใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทอย่างใกล้ชิด และได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ชี้แจงความคืบหน้าของการใช้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทต่อประชาชน แต่ก็เงียบหายไป ไม่มีคำชี้แจงใดๆจากฝ่ายรัฐบาล จึงได้ติดตามขอข้อมูลจาก ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบ ติดตามการใช้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท 

ได้พบความจริงว่า ในส่วนของเงินกู้ 1 ล้านล้านนี้ ประกอบด้วย 3 แผนงาน หรือกลุ่มโครงการ คือ 1.แผนงานที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 45,000 ล้าน 2.แผนงานที่เกี่ยวกับการเยียวยา ชดเชย และช่วยเหลือประชาชนรวมถึงเกษตรกร จำนวน 600,000 ล้าน และ 3.แผนงานที่เกี่ยวกับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และกระตุ้นการบริโภค จำนวน 355,000 ล้าน 

ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ ก็คือเงินกู้ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับอนุมัติวงเงินไปกว่า 20,000  ล้าน แต่เบิกจ่ายไปเพียงกว่า 5,000 ล้านเท่านั้น (25%) แต่โครงการช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินอนุมัติ 170,000 ล้าน เบิกจ่าย 159,077 ล้าน (93.58%) แต่แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน วงเงินอนุมัติ 9,408 ล้าน เบิกจ่ายเพียง 735 ล้าน (7.82%)

อยากจะตั้งข้อสังเกตการเตรียมการความพร้อมด้านสถานพยาบาลและการเตรียมการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน(โควิด-19) ที่ได้รับวงเงินอนุมัติราว 11,500 ล้าน แต่มีการเบิกจ่ายเพียง 55 ล้านเท่านั้น นับว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการใช้เงินกู้เพื่อรองรับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างสิ้นเชิง

เมื่อติดตามและตรวจสอบการใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทของรัฐบาล จะพบข้อเท็จจริงว่า 
1.) งบประมาณด้านสาธารณสุข ที่ใช้รับมือกับโรคไวรัส โควิด-19 มีการเบิกจ่ายน้อยมาก รัฐบาลตั้งอยู่ในความประมาท ประเมินผิดพลาดคิดว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 จะไม่กลับมาระบาดอีก จึงชะล่าใจไม่มีการเร่งรัดการใช้เงินให้เป็นไปตามเป้าหมาย 

2.) งบประมาณด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการเร่งรัดจ่ายเกือบครบ 100% แสดงว่ารัฐบาลได้ใช้เม็ดเงินดังกล่าวในการหาเสียงสร้างความนิยมให้กับรัฐบาล จึงมีการระดมเงินแจกเงินให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว 

3.) งบประมาณที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย รัฐบาลทบทวนโครงการต่าง ๆ ที่ยังไม่มีการใช้เงิน ให้นำเม็ดเงินทั้งหมดมารวมกัน เพื่อใช้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งหมดมาใช้ในการซื้อเครื่องมือตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ซื้อวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งหมด และซื้ออุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ

ราเมศ เผย จุรินทร์ ย้ำ! ทุกภาคส่วนของพรรค ลุยช่วย ปชช สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์เต็มที่

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ว่า
ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ได้สั่งการให้บุคลากรของพรรคทุกคน ในทุกพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ ดูแลผู้ที่ลำบากในสถานการณ์ขณะนี้ ประชาชนจะสะดวกและคุ้นเคยกับบุคลากรของพรรคในพื้นที่อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว หากเมื่อต้องการความช่วยเหลือแล้วได้หาทางช่วยกันก็จะช่วยแบ่งเบา คลี่คลาย ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างมาก 

ด้วยพรรคมีบุคลากรครบทุกพื้นที่ มี ส.ส. อดีต ส.ส. อดีต ผู้สมัคร สาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำแต่ละเขตทั่วประเทศ จะร่วมประสานกันทำงานกับส่วนกลางและรัฐมนตรีของพรรคที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่และเต็มรูปแบบ ขณะนี้ทุกคนต้องร่วมมือกันช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ 
หัวหน้าพรรคได้ย้ำให้ทุกองคาพยพของพรรคขับเคลื่อนตามแนวทางดังกล่าวเต็มที่ ติดขัดส่วนไหนให้ประสานหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค รองหัวหน้าพรรคที่รับผิดชอบแต่ละภาคได้ทุกคน

เมื่อวานนี้พรรคนำโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค นางสาวจิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองเลขาธิการพรรค นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ได้เปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 (ศปฉ.ปชป.) เพื่อช่วยประสานคลี่คลายปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อตกค้างได้ให้เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด ก็จะทำงานร่วมกันกับทุกพื้นที่ ที่ทำการพรรคส่วนกลางยังเปิดทำการไม่มีวันหยุด เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือประชาชน ประชาชนสามารถใช้บริการได้ตลอดเวลา

นายราเมศกล่าวต่อว่า จากที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายโดยพรรคได้เปิดศูนย์บริการกฎหมายสู้ภัยโควิด 19 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ขณะนี้ก็ยังดำเนินการอยู่ ประชาชนยังใช้บริการช่องทางนี้อยู่ ผ่านทางโทรศัพท์สายตรงกับนักกฎหมายของพรรค โดยให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีความเดือดร้อนในเรื่องกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก บางคนต้องถูกเลิกจ้างถูกพักงานเนื่องจากกิจการได้ปิดลงชั่วคราวหรือถึงขั้นไม่ได้ผ่อนจ่ายในภาระต่างๆจนถูกฟ้องคดี มีปัญหาหนี้สินที่จะถูกฟ้องหรือถูกฟ้องแล้ว รวมถึงการมีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิต่างๆของรัฐที่ประชาชนพึ่งมีพึ่งได้ หรือบางรายมีหนี้สินเมื่อไม่มีรายได้ก็ต้องการประนอมหนี้หรือชะลอคดีไว้ก่อน และการช่วยร่างสัญญาต่างๆที่เร่งด่วน รวมถึงการสอบถามข้อปฏิบัติตนในพื้นที่ต่างๆ สิทธิที่พึงจะได้รับ ปัญหาข้อร้องเรียนอิ่นๆที่ผ่านมามีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก 

ขณะนี้ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าการช่วยกันคนละไม้ละมือ เพื่อก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน พรรคขอเป็นกำลังใจและอยู่เคียงข้างประชาชนรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือ ประชาชน และทุกคนมีส่วนช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้ทุกคน โดยการปฎิบัติตนอย่างเคร่งครัดในการป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่รวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมากในขณะนี้ คนไทยจะสามัคคีมีวินัย จับมือกันก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน พรรคขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน

ปลัดสปน. สั่งเข้ม เพิ่ม เวิร์ก ฟรอม โฮม เป็น 95% - ขยายเวลาถึง 14 พค.

เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด เรื่องการปฏิบัติงานภายในที่พักและปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) มีการแพร่ระบาดในวงกว้างทั่วประเทศไทย โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ โดยยังคงส่งผลต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ 

นายธีรภัทร กล่าวว่า ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้กำหนดให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สปน. ปฏิบัติงานภายในที่พัก (Work from Home) ต่อเนื่องระหว่างวันที่ 16 - 30 เมษายน 2564 (จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90) นั้น เมื่อรัฐบาล และ ศบค. ได้ดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ โดยพบว่าสาเหตุสำคัญ คือการติดเชื้อในที่ทำงาน จึงขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ สปน. ปฏิบัติงานภายในที่พัก (Work from Home) และใช้การประชุมผ่านระบบทางไกล (Video Conference) รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของ ศบค. และตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 

นายธีรภัทร กล่าวว่า จึงขอให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สปน. ปฏิบัติงานภายในที่พัก (Work from Home) อย่างต่อเนื่องสูงสุด (จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95) ระหว่างวันที่ 26 เมษายน - 14 พฤษภาคม 2564 โดยให้ดำเนินการ คือ ให้รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนัก กอง ศูนย์ ตรวจสอบ และสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายในที่พักอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้ง รายงานผลการปฏิบัติงานให้ กองการเจ้าหน้าที่ทราบทุกวัน เพื่อประมวลผลรายงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทราบตามแนวทางที่ได้ปฏิบัติมา

นายธีรภัทร กล่าวว่า สำหรับงานบริการประชาชน การประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานตามกฎหมาย ขอให้พิจารณาดำเนินการประชุมผ่านระบบทางไกล (Video Conference) ทุกการประชุม , งานรับเรื่องราวร้องทุกข์และการขึ้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภค ขอให้ดำเนินการผ่านช่องทางทั้งโทรสายด่วน 1111 การส่งทางไปรษณีย์ เวปไซต์และระบบออนไลน์ที่กำหนดไว้

นายธีรภัทร กล่าวว่า ให้ติดตามสถานการณ์โควิด-19 และข่าวสารที่เกี่ยวข้องจาก ศบค. ทุกวัน รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับคนในครอบครัวและญาติมิตร อย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตัวตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง , ขอให้ปฏิบัติงานอยู่ในที่พักเท่านั้น โดยหลีกเลี่ยงการเดินทาง สำหรับบุคคลที่เคยเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง กิจกรรมที่เสี่ยง ขอให้เน้นย้ำมาตรการกักกันตนเอง (Self Quarantine) อย่างเคร่งครัด หากมีอาการน่าสงสัย ให้เข้ารับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลในพื้นที่ทันทีและแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบด้วย

นายธีรภัทร กล่าวว่า สปน.สนับสนุนการปฏิบัติงานของศบค. ในการติดตามสถานการณ์และควบคุมการลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี จึงได้ให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วยประสานงาน ติดตามและสนับสนุนการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกจังหวัด ผ่านระบบการประชุมทางไกล แล้วนำข้อมูลที่ได้เสนอ ศบค. เพื่อบูรณาการและสนับสนุนการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นายธีรภัทร กล่าวว่า ขอให้ผู้ที่จะร้องทุกข์และเสนอแนะความคิดเห็น และผู้ขอขึ้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภค ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มาที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านโทรสายด่วน 1111 (24 ชั่วโมง) รวมทั้งส่งทางไปรษณีย์ เวปไซต์ และไลน์ อีกทั้งมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ ยกระดับการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ประสานความร่วมมือกับสื่อมวลชนทุกสาขา เพื่อติดตามในภาพรวมของสถานการณ์และแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ผช.โฆษกทร. เผย มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า ขอเชิญร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ “เพื่อผู้ป่วยไวรัสโควิด-19”

นางสาว ปรียาดา บัวสมบุญ (หมอพลอย) ผู้ช่วยโฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดย โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ได้เร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการรักษาผู้ป่วยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน 
      
"ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด บุคลากรทางการแพทย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และได้อุทิศตนทำงานอย่างหนักเพื่อฝ่าภาวะวิกฤตในครั้งนี้ นอกจากนี้เรายังคงต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพเป็นจำนวนมาก จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาชนร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์เพื่อผู้ป่วยไวรัสโควิด-19" 
    
ผู้ช่วยโฆษกกองทัพเรือกล่าวต่อไปว่า เงินที่ได้รับจากการบริจาค จะนำไปจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ได้แก่ 

1.) Hi flow oxygen ผู้ใหญ่ จำนวน 10 เครื่อง
2.) เครื่อง end tidal co2 จำนวน 4 เครื่อง 
3.) สาย collugate ของ hi flow จำนวน 100 ชุด

โดยอุปกรณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่ทางโรงพยาบาลต้องการเป็นการเร่งด่วน ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามรายการที่แจ้งไว้ หรือบริจาคเงินผ่านมูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า “เพื่อผู้ป่วยไวรัสโควิด-19”   ทั้งนี้สามารถร่วมบริจาคได้ที่ ศูนย์รับบริจาค โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ หมายเลขโทรศัพท์ 02 475 2576 และ 06 3442 2614 หรือบริจาคผ่านบัญชีธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชี “มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า” เลขที่บัญชี 040-2-00002-0 มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดย โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่มอบให้กับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกท่านด้วยดีตลอดมา

เร่งเสนอแผนดึงนักลงทุนชง “บิ๊กตู่” ไฟเขียว

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดการลงทุนในประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ ทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ จะเร่งเสนอแผนการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และแนวทางการแก้ปัญหาอุปสรรคที่เป็นรูปธรรมให้กับที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) พิจารณา โดยมีทั้งเป้าหมายในการชักจูงการลงทุนและในเรื่องของการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค หลังจากรับฟังความเห็นและประชุมออนไลน์กับนักลงทุนต่างประเทศเป็นระยะ ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ระยะเวลาในการจัดทำแผนงานเชิงปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน 

“การทำงานของคณะทำงานชักจูงการลงทุนในประเทศไทยก็ยังทำงานต่อเนื่อง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดนี้จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเนื่องจากการระบาดรอบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยแต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และในหลายประเทศขณะนี้แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปมากแล้วแต่ก็ยังเผชิญกับการแพร่ระบาด ก็จะประสบปัญหาเหมือนกัน เช่นในชิลีที่มีการฉีดไปแล้วกว่า 50% ก็ยังมีการระบาดเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในแต่ละวัน”  

ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า ขณะนี้ทุกประเทศมีการแข่งขันกันอยู่โดยเฉพาะในอาเซียน ธุรกิจที่จะเข้ามาคือกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เป็นกลุ่มธุรกิจ 5จี และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราต้องการให้เข้ามาลงทุนจะมาก่อน และการเข้ามาลงทุนของแต่ละประเทศจะดึงเอาอุตสาหกรรมชั้นนำแต่ละประเทศ เช่น ในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหลายประเทศมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้มาก เช่น ประเทศจีน ส่วนที่เป็นสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ก็กำลังดูในส่วนของประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top