Friday, 16 May 2025
NewsFeed

“ผบ.ทสส.” เผย เข้าพบ นายกฯ ถามความพร้อม รพ.สนาม ห่วงชายแดนไทย-มาเลเซีย หลังคนไทยแห่กลับ เกรงรองรับไม่เพียงพอ ชี้! กองทัพนำงบช่วยโควิดไปเยอะ งบปี65 โดนตัด 11 % ยัน!กองทัพไม่มีไปเบิกงบกลางมาแก้โควิด หลังฝั่งการเมืองเสนอหั่นงบกลาโหม นำไปอุดหนุนจัดหาวัคซีนแท

เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2564 พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)  ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) เปิดเผยถึงการหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงเช้า (19เม.ย.) ว่า นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามผลการปฏิบัติของ ศปม. และ รพ.สนาม ในภาพรวม ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ 

โดยขณะนี้ยังไม่มีปัญหาใด ๆ เช่น การจัดจุดตรวจเพิ่มเติม เป็นต้น ซึ่งที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ได้มอบหมายให้ ศบค.ชุดเล็ก ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในการควบคุมการปฏิบัติและการเพิ่มมาตรการต่างๆ โดยที่ประชุม ศบค. ได้เน้นการขอความร่วมมือประชาชน โดยยังไม่อยากให้มีข้อบังคับใดๆขึ้นมา เพราะเกรงว่าจะเกิดกระแสต่อต้านจากลุ่มต่าง ๆ ขึ้น

“นายกรัฐมนตรี ห่วงใยพื้นที่แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย เพราะมีคนไทยเดินทางกลับมาเยอะในช่องทางต่างๆ จึงห่วงจำนวนคนที่กลับเข้ามา จะไม่เพียงพอในการรองรับ” พล.อ.เฉลิมพล กล่าว

เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองมีข้อเสนอให้หั่นงบกองทัพ 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อมาหนุนการจัดหาวัคซีนโควิด พล.อ.เฉลิมพล กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติ ยังไม่มีอะไร เพราะงบประมาณปี 2564 ทางกองทัพได้นำงบมาช่วยเหลือโควิดไปเยอะ พร้อมย้ำว่ากองทัพไม่มีการไปเบิกใช้งบกลางในการแก้ปัญหาโควิด ในส่วนงบประมาณกองบัญชาการกองทัพไทย ปี 2565 ถูกตัดไป 11 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเยอะพอสมควร แต่กองทัพก็อยู่ได้ ในส่วนเหล่าทัพยังไม่มีการตัดยอดเงินในโครงการที่ไม่ได้เป็นงบผูกพัน ซึ่งตนเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

“รอง นรม.” สั่งเตรียมรับน้ำมากกว่าปกติต้นฤดูฝน และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำแล้ง

เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2564 พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกฯ  เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตรียมความพร้อมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 64 ซึ่งคาดการณ์ว่าช่วง เม.ย.- ก.ย. 64 ต้นฤดูฝนจะมีฝนมากกว่าค่าปกติ  เพื่อลดความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงจากสถิติการเกิดอุทกภัย ที่เกิดปัญหาซ้ำ จากน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่งและดินโคลนถล่ม

พล.อ.ประวิตร’ ยังได้กำชับ ขอให้ ทส.และ มท. ทำงานร่วมกับ สทนช.อย่างใกล้ชิด ประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นำสถิติข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลฝนคาดการณ์ในระบบ One Map กำหนดพื้นที่เสี่ยงนำ้ท่วมและพื้นที่ฝนทิ้งช่วง พร้อมกับปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวมทั้งเขื่อนระบายน้ำ  เพื่อกำหนดมาตรการรับมือในการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ รองรับน้ำหลาก รวมทั้ง ให้เร่งขุดคูคลองและกำจัดผักตบชวา รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำตลอดลำน้ำสายหลัก  พร้อมกันนี้ให้พิจารณาเก็บกักรองรับน้ำในคราวเดียวกัน ทั้งการจัดทำแหล่งน้ำในพื้นที่และการเก็บน้ำใต้ดิน เพื่อรองรับการคาดการณ์ของฝนทิ้งช่วงที่จะเกิดขึ้น ระหว่าง ก.ค.- ก.ย. 64 

สำหรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ขอให้เฝ้าระวังโดยให้ทบทวนและวางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณนำ้ต้นทุนและแหล่งน้ำในพื้นที่ให้เพียงพอในทุกกิจกรรม ทั้งการอุปโภคและบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตรกรรม และการอุตสาหกรรม โดยต้องไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค เพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่มีนำ้เพียงพอสำหรับประกอบอาชีพในภาพรวม

“ชวน” เผย ยังไม่ฉีดวัคซีนต้านโควิด บอกรอบุคลากรทางการแพทย์ฉีดให้ครบก่อน ย้ำต้องระมัดระวังตนเอง เข้มพื้นที่สภาฯ หลังหยุดยาวสงกรานต์

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยภายในสภาฯ เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนักระลอกใหม่ ภายหลังจากหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ว่า ที่ผ่านมาทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้สั่งการไปหมดแล้ว โดยให้เพิ่มความเข้มงวด และมีการทำงานจากบ้าน หรือเวิร์ค ฟอร์ม โฮม ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีข้าราชการสภาฯ คนใดติดเชื้อ

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับส.ส. ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สภาฯ นั้น ได้ดำเนินการระหว่างวันที่ 16 - 30 เม.ย. โดยมีผู้เข้าชื่อแจ้งความประสงค์สมัครใจจะฉีดประมาณ 200 คน แต่จากการสอบถามรองนายกรัฐมนตรีโดยตรงทราบว่ามีแพทย์ในพื้นที่ต่างจังหวัดยังไม่ได้ฉีด เพราะวัคซีนไม่เพียงพอ แต่เชื่อว่าเมื่อกระบวนการผ่านคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วก็น่าจะทั่วถึง เพราะเท่าที่รับฟังทราบว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ก็น่าจะฉีดวัคซีนได้หมด

เมื่อถามว่า ส่วนตัวได้ฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง นายชวน กล่าวว่า ตนรอให้บุคลากรทางการแพทย์ฉีดวัคซีนให้ครบก่อนทุกคน ซึ่งตนก็ได้สอบถามไปว่าเขาจะได้ฉีดกันเมื่อไหร่ เขาก็บอกว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ไม่งั้นจะหาว่านักการเมืองเอาไปก่อน ขณะที่บุคลากรผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อยังไม่ได้ฉีด ตนจึงรอให้เขาเรียบร้อยก่อน

“ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่ฉีดแล้วจะติดเชื้อ เราต้องระมัดระวังตัวเอง ก็เห็นใจส.ส. ที่มีความเสี่ยง เพราะสัมผัสคนเยอะ และไปออกงานต่าง ๆ เกือบทุกวัน แต่คนที่เสี่ยงกว่าพวกเราก็มี คือบุคลากรทางการแพทย์แนวหน้า ทั้งนี้วิธีที่ดีที่สุดคือทุกคนอย่าหวังพึ่งวัคซีนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพึ่งตัวเอง หลีกเลี่ยงไม่ไปอยู่ในเหตุการณ์ที่อาจจะติดเชื้อได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและช่วยสังคมส่วนรวม ส่วนส.ส. ฉีดแล้วเมื่อพบกับชาวบ้านเขาจะมั่นใจหรือไม่ ผมมองว่าขาวบ้านไม่ได้สนใจว่าส.ส. ฉีดหรือไม่ฉีด เพราะอยากมาจับมือและอยากมาอยู่ใกล้มากกว่า” นายชวน กล่าว

เมื่อถามว่า ขณะนี้กระบวนการนำเข้าวัคซีนยังเป็นไปได้น้อย ทางสภาฯ มีกระบวนการใดช่วยประสานนำวัคซีนเข้ามาเพิ่มเติมได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า สภาฯ คงไม่ไปเกี่ยวข้องและสภาฯ ไม่ได้เป็นผู้นำเข้ามา

เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ได้โพสต์เรื่องราวดี ๆ หลังจากถนนในกรุงทาลลินน์เมืองหลวงของเอสโตเนียได้ถูกปิดเพื่อให้กบและคางคกหลายพันตัวเดินทางข้ามฟากได้อย่างปลอดภัยจากรถยนต์

เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ได้โพสต์เรื่องราวดี ๆ ของประเทศเอสโตเนีย หลังจากถนนในกรุงทาลลินน์เมืองหลวงของเอสโตเนีย ได้ถูกปิดในยามค่ำคืนช่วงเดือนเมษายน เพื่อให้กบและคางคกหลายพันตัวได้เดินทางข้ามฟากได้อย่างปลอดภัยจากรถยนต์

ทั้งนี้กบและคางคกเหล่านั้น ต้องเดินทางเพื่อไปผสมพันธุ์ในแหล่งน้ำที่เป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ของพวกมันที่อยู่อีกฟากถนน และต้องเดินทางกลับมาอีกฟากเพื่อหลบหนาว ซึ่งต้องทำซ้ำ ๆ เป็นวัฏจักรชีวิต แต่ก็มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ

แม้เมื่อเข้าฤดูใบไม้ผลิ จะมีบรรดาอาสาสมัครมาพาพวกมันข้ามถนน เนื่องจากพื้นผิวถนนที่อบอุ่นทำให้สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอย่างพวกมันเชื่องช้าขึ้น โดยช่วยไว้ได้ถึง 97,000 ตัวในปีก่อนหน้า และปีที่แล้วอีก 2,000 ตัวบนถนนทาลลินน์

แต่ด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้การช่วยเหลือดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ในปีนี้ การปิดถนนจึงเป็นเพียงวิธีเดียวสำหรับช่วยสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างพวกมัน

ทั้งนี้ ทาลลินน์กำลังพิจารณาสร้างอุโมงค์ใต้ถนนเพื่อให้กบและคางคกข้าม หรือไม่ก็จัดหาสระน้ำในด้านที่พวกมันอยู่เพื่อหลบในฤดูหนาวต่อไปอีกด้วย


ที่มา:

https://www.facebook.com/208675086547938/posts/953080775440695/

https://www.reuters.com/business/environment/estonian-capital-closes-road-so-breeding-frogs-toads-can-cross-2021-04-15/

เป็นกระแสอีกครั้งหลังจากโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ข้อความของนายต่อตระกูล ที่โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 63 ถึงกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ระบุว่า...

กลับมาเป็นกระแสในโลกออนไลน์อีกครั้ง หลังจากโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ข้อความของ นายต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 63 ถึงกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ระบุว่า...

จีนรายงานว่ามีการติดเชื้อระหว่างกินอาหารในร้านห้องแอร์ และการติดเชื้อในรถโดยสารแอร์

กรณีในร้านอาหารนี้ แอร์ พัดเชื้อไวรัส กระจายไปติดไกล จาก 1 คนกระจายไปติด 8 คน ที่นั่งคนละโต๊ะได้

กรณีในรถทัวร์แอร์ นั่งนาน 5 ชั่วโมง ถึงคนป่วยหลบไปนั่งข้างหลังรถแล้ว ก็ยังกระจายไปติดคนที่นั่งข้างหน้าและข้างหลังรวม 7 คนกระจายไปไกลสุดถึง 4.5 เมตร มี 1 คนติดได้แม้จะขึ้นรถมาหลังผู้ป่วยลงจากรถไปแล้ว !

ระวังการอยู่ในห้องแอร์ สาธารณะ ที่แออัด ต้องใส่เครื่องป้องกันต่าง ๆ ให้ครบเหมือนอยู่ในโรงพยาบาล

ผมเตรียมใส่ mask ขึ้นเครื่องบิน และตั้งใจจะไม่เปิดหน้ากากออกมากินอะไร ตลอดเวลาบนเครื่องด้วย

ตอนนี้ยังไม่สมควรจะไปนั่งกินอาหารในห้องแอร์ เพราะแอร์เป่าเชื้อมาใส่ปากและจมูกเราได้ รวมทั้งบนเครื่องบินด้วย จึงไม่แปลกใจทำไมคนเดินทางจึงติดกันเยอะ

ที่สาธารณะ ที่เป็นห้องแอร์ อย่าถอดหน้ากากแม้แต่วินาทีเดียว


ที่มา: https://www.naewna.com/local/566919

พม. เชิญชวนบริจาคสิ่งของจำเป็น ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง ที่เดือดร้อนจากโรคโควิด-19 ระลอกใหม่

วันนี้ 19 เมษายน พ.ศ.2564 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถนนกรุงเกษม สะพานขาว กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ ที่ขยายวงกว้างในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศและส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทั้ง เด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ทั้งนี้ ตนจึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เร่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ตามภารกิจของกระทรวง พม. พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งประชาชนและอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่ 

นายจุติ กล่าวว่า สำหรับช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์ กระทรวง พม. โดย อพม. ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ได้เข้าสำรวจชุมชนและตรวจสอบกลุ่มเปราะบาง พบว่า มีผู้ประสบความยากลำบากเพิ่มมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมไปถึงเรื่องของการขาดแคลนอาหาร ยา น้ำดื่ม นม และผ้าอ้อม เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคอาหารและสิ่งของที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง อาทิ น้ำดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผ้าอ้อมสำหรับเด็กแรกเกิด คนพิการ และผู้สูงอายุ นมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ เป็นต้น ซึ่งกระทรวง พม.โดยพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัด จะได้นำของบริจาคพร้อมทั้งอาหารปรุงสุก ไปมอบให้กับกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า  สำหรับประชาชนที่ต้องการร่วมบริจาคสิ่งของและเงิน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง สามารถบริจาคได้ที่ ศูนย์รับบริจาคกระทรวง พม. อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. หรือติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสังคม ผ่านสายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด

ดีอีเอส สั่งการ NT ติดไวไฟ-ซีซีทีวี หนุน รพ.สนาม

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และเป็นการป้องกันการแพร่ระบาด จึงได้มอบหมายให้ นางสาว อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ประสานงานไปยัง บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ให้ดำเนินการสนับสนุนติดตั้งระบบ Internet Wi-Fi ระบบโทรศัพท์ IP Phone รวมถึงระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ให้บริการกับเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ใช้ในการติดต่อสื่อสาร โดยพร้อมอำนวยความสะดวกในการใช้งานให้กับ รพ.สนามทุกแห่ง ที่แจ้งความประสงค์เข้ามาที่ NT

โดยนับตั้งแต่สถานการณ์ระบาดโควิดรอบล่าสุด เริ่มแพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น NT ได้เข้าไปสนับสนุนภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในส่วนของรถพยาบาลเคลื่อนที่และหน่วยคัดกรองผู้ป่วย รพ.สนาม รวมถึงสถานกักกันโรคแห่งรัฐ (SQ) สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ดำเนินการไปแล้วในหลายจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

และล่าสุดระหว่างวันที่ 17 -18 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้เข้าไปช่วยติดตั้งและประสานงานอีกหลายจังหวัด ได้แก่ 1. รพ. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย รองรับประมาณ 200 เตียง 2. รพ.สนาม มรภ.ราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา ประมาณ 250 เตียง 3. รพ.สนาม มรภ.ร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด ประมาณ 200 - 250 เตียง 4. รพ.สนาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ รองรับ 200 เตียง 5. รพ.มหาวิทยาลัยพะเยา รองรับวอร์ดคนไข้ชั้น 2 และโถงทางเดิน 6. รพ.สมุทรปราการ มรภ.ธนบุรี สมุทรปราการ ทำ รพ. สนาม กับ Hospitel 7. รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ขยายเตียงเพิ่ม 500 เตียง 8. รพ.สนามเอราวัณ 1 บางบอน ของ กทม. 9. รพ.สนาม ของ รพ. กลาง 10. รพ.สนาม ของ รพ. วชิรพยาบาล และ 11. รพ.สนาม จ.ขอนแก่น ตั้งที่ อบจ. ขอนแก่น

ทั้งนี้ หน่วยงานสาธารณสุข และ รพ.สนาม ที่มีความต้องการให้ NT เข้าไปสนับสนุนการติดตั้งระบบสื่อสารอินเทอร์เน็ต และ CCTV ในภารกิจป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) โทร. 02-5001111
“ภารกิจดังกล่าว เป็นงานหนึ่งที่กระทรวงดิจิทัลฯ สนับสนุนได้ อีกทั้งยังจะช่วยประสานงานกับผู้ให้บริการมือถือและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เข้ามาช่วยติดตั้ง Wi-Fi ที่ รพ.สนามให้อีกด้วย ท้ายสุดนี้กระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัด รวมถึง NT ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ และผู้ป่วย ผ่านพ้นวิกฤตนี้โดยเร็ว” นายชัยวุฒิกล่าว

ทำใจทุเรียนปีนี้แพงแน่ คาดราคาพุ่งกก.140 บาท

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยแนวโน้มราคาทุเรียนในปีนี้ ว่า จะมีราคาที่ปรับสูงขึ้น โดยประเมินราคาไว้ที่กก.ละ 130 - 140 บาท ส่งผลให้คนไทยอาจได้กินทุเรียนแพงกว่าปีที่แล้ว เพราะปีนี้กำลังซื้อจากจีนเพิ่มมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังจากโควิด และความต้องการบริโภคทุเรียนในประเทศยังมีต่อเนื่อง แต่ผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอความต้องการ เนื่องจากเกิดพายุฝนนอกฤดูกาลทำให้ทุเรียนอ่อนพลัดหล่นจากต้นเสียหายจำนวนมาก

ทั้งนี้ประเมินว่า ในปีนี้ ผลผลิตทุเรียนจะมีถึง 1.28 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15.44% จากปีก่อน หลังจากเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนแทนพืชชนิดอื่น ทั้ง ลองกอง เงาะ และยางพารา เนื่องจากราคาทุเรียนช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ประกอบกับปีนี้มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยและปริมาณน้ำเพียงพอต่อการผลิต แต่ก็พบว่าผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ราคาทุเรียนปีนี้จะเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9.23% โดยมีราคา กก. 100 - 140 บาท หรือเฉลี่ย กก.ละ 120 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่เพิ่มต่อเนื่อง 6 ปีติดต่อกัน เมื่อเทียบกับปี 58 ที่ราคาเพียง กก. 50 บาท

สำหรับความต้องการบริโภคทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์ทุเรียนภายในประเทศปีนี้จะมี 513,437 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.89% เช่นเดียวกับการส่งออกมีปริมาณ 761,659 ตัน เพิ่มขึ้น 11.64% อย่างไรก็ตาม ยอดการส่งออกยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยทำได้เพียง 30% ของความต้องการตลาด และยังสามารถเติบโตได้อีกถึง 70% ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะเพาะปลูกทุเรียนกันเพิ่ม

ทบ.เข้าช่วยเหลือ ปชช. บริจาคโลหิต 13 ล้านมิลลิลิตร พร้อมแจกน้ำ 4.1 ล้านลิตร /ซ่อมสร้างบ้านผู้ยากไร้ 277 ใน มี.ค. กำลังชายแดนเข้มจับกุมเข้าเมืองผิดกฎหมาย 1,134 คน ลุยยึดยาบ้า 27 ล้านเม็ด, ไอซ์ 652 กก.

เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2564 ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า กองทัพบกยังคงต่อเนื่องในการช่วยเหลือประชาชนในมิติต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ โควิด-19 โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ผู้ด้อยโอกาส หรือในภาวะที่เกิดภัยพิบัติ  ทั้งนี้ ในปัจจุบัน หน่วยทหารได้เข้าดูแลประชาชนในหลายด้าน ได้แก่ การบริจาคโลหิตภายใต้โครงการ “บริจาคโลหิตจิตอาสาเพื่อชาติ”  เพื่อเป็นการช่วยสำรองโลหิตไว้ให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย เนื่องจากโลหิตสำรองของสภากาชาดไทยมีปริมาณลดลงจากผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19 โดยกำลังพลจิตอาสา ครอบครัว และประชาชน ได้ร่วมบริจาคโลหิต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมดูแลและช่วยเหลือสังคม มาตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. จนถึงปัจจุบัน ได้ปริมาณโลหิตรวม 12,922,690 มิลลิลิตร และมีกำลังพลจิตอาสาร่วมบริจาคแล้ว 33,268 นาย  ทั้งนี้ กองทัพบกจะดำรงความต่อเนื่องในการร่วมบริจาคโลหิตให้กับสถานพยาบาล เพื่อให้มีปริมาณโลหิตสำรองที่เพียงพอต่อความต้องการ

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในปัจจุบันหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และประชาชนได้รับความเดือนร้อนในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ กองทัพบกจึงได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายภายใต้โครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง” ดำเนินการแจกจ่ายน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภคให้กับประชาชนที่ประสบภัยแล้งตามพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 63 จนถึงปัจจุบัน ได้แจกจ่ายน้ำรวมทั้งสิ้น 4,130,000 ลิตร ในพื้นที่ 34 จังหวัด และกองทัพบกยังคงเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ถิ่นทุรกันดารที่ยากต่อการเข้าถึง ในลักษณะการเติมน้ำในที่เก็บน้ำชุมชน ทั้งนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งสามารถติดต่อได้ที่หน่วยทหารใกล้บ้านท่าน หรือติดต่อศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก โทรศัพท์ 02-297-7648

สำหรับการซ่อมแซมบ้านเรือนให้กับประชาชนตามที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่เป็นผู้ยากไร้ไม่มีที่อยู่อาศัย และผู้ประสบวาตภัยในพื้นที่ต่าง ๆ โดยใช้ทหารชุดช่างของกองทัพบกเข้าดำเนินการนั้น สำหรับส่วนแรก ได้ดำเนินการโครงการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ยากไร้และด้อยโอกาส ภายใต้โครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดีด้วยหัวใจ” มาตั้งแต่ ปี 2561 และได้รับการสนับสนุนวัสดุก่อสร้างจากภาคเอกชน ล่าสุด กองทัพบกได้ส่งมอบบ้านให้ประชาชนผู้ยากไร้ตามชุมชนต่าง ๆ แล้ว 277 หลัง รอส่งมอบอีก 10 หลัง และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก  81 หลัง รวมถึงการสร้างสวนหย่อม 27 แห่ง เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ จากการที่เกิดพายุฤดูร้อนในช่วงเดือน เมษายน 64 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ กองทัพบกได้เข้าช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนให้กับผู้ประสบวาตภัย ใน 6 จังหวัด ได้แก่  จ.อุบลราชธานี, นครพนม, อุดรธานี, ศรีสะเกษ, พิษณุโลก และ เชียงราย  โดยดำเนินการซ่อมแซมบ้านแล้ว จำนวน 1,750 หลัง และอยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 277 หลัง เพื่อให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติต่อไป

สำหรับการทำงานในพื้นที่ชายแดน กองกำลังป้องกันชายแดนกองทัพบก ยังคงเข้มมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 รวมถึงการสกัดกั้นยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย และการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและไม่ผ่านการคัดกรอง โดยในห้วงเดือนมี.ค. 64 ที่ผ่านมา สามารถจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 218 ครั้ง  จับกุมผู้กระทำผิด 1,134 คน (ไทย 202 คน, กัมพูชา 36 คน, เมียนมา 803 คน, ลาว 45 คน, เวียดนาม 10 คน,จีน 37 คน, มาเลเซีย 1 คน และผู้นำพาชาวไทย 37 คน)

นอกจากนี้กองกำลังชายแดนได้ตรวจพบการกระทำผิด พ.ร.บ.ยาเสพติด 125 ครั้ง จับกุมผู้กระทำผิดได้ 127 คน ยึดได้ของกลาง ยาบ้า 27,345,325 เม็ด , ไอซ์ 652 กก. , กัญชา 2,457.23 กก. , พืชกระท่อม 1,415 กก., ฝิ่น 7.54 กรัม, เฮโรอีน 60.8 กก.และ เคตามีน 6.5 กก.  โดยมีผลการปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ กองกำลังสุรสีห์ ลาดตระเวนตรวจยึด ไอซ์ 50 กก. ที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 64 และ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดยาเสพติดในพื้นที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ สามารถยึดยาบ้า 932,000 เม็ด และไอซ์ จำนวน 52 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 64

กรมเจ้าท่า ประกาศมาตรการคุมเข้มลดจำนวนการเดินเรือเข้าพื้นที่เสี่ยงในเขตควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด และลดให้บริการช่วงเวลา 23.00-04.00 น. ตั้งแต่ 18 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยหลังลงนามในประกาศกรมเจ้าท่าที่ 75/2564 เรื่อง การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2564 และต่อมาได้มีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2564 และข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ได้กำหนดให้ส่วนราชการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่อย่างเร่งด่วน

กรมเจ้าท่าได้ออกประกาศกำหนดแนวทางในการเดินทางเข้าประเทศไทยสำหรับเจ้าของเรือ ผู้ครอบครองเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสาร เพื่อปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ดังนี้

1.) ประกาศของกรมเจ้าท่าฉบับใดที่เกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ให้ใช้ประกาศนี้บังคับ

2.) มาตรการสำหรับผู้ประกอบการเดินเรือ เจ้าของเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ

(1.) พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวการเดินเรือตามความจำเป็นให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ ในการให้บริการผู้โดยสารระหว่างจังหวัดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เมษายน 2564

(2.) ควบคุมดูแลให้ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสาร ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข D-M-H-T-T-A โดยเว้นระยะห่างและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น (D-Distancing) สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย (M-Mask wearing)

(3.) ตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้เพียงพอและทั่วถึง พร้อมควบคุมดูแลผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสารต้องทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือล้างมือบ่อยๆ (H-Hand washing)

(4.) จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (T-Temperature) และตรวจหาเชื้อ (T-Testing) แอปพลิเคชันไทยชนะ และหมอชนะ (A-Application) แก่ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสาร ก่อนลงเรือโดยสาร

(5.) ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามประกาศกรมเจ้าท่าที่ 8/2564 เรื่องกำหนดให้ผู้ประกอบการเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ เจ้าของเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ และผู้โดยสารปฏิบัติ กรณีมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2564 ที่ไม่ได้กำหนดไว้ในประกาศนี้อย่างเคร่งครัด

3.) มาตรการสำหรับผู้ประกอบการท่าเรือ

(1.) ขอความร่วมมือให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางในช่วงนี้โดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงเสี่ยงเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ ตาก นครปฐม นครราชสีมา นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ระยอง สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี และอุดรธานี

(2.) ดำเนินการตรวจสอบและกำกับดูแลผู้โดยสารให้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขและมาตรการอื่นๆ

4.) มาตรการสำหรับผู้โดยสาร

(1.) ขอความร่วมมือประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางทางน้ำหรือโดยสารระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำในช่วงเวลานี้ และหลีกเลี่ยงไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด

(2.) ขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขและมาตรการอื่น ๆ

5.) ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือและผู้โดยสาร ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่จังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของแต่ละจังหวัดกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

6.) ขอให้ผู้ประกอบการเรือโดยสาร เจ้าของเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือที่ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในเขตอำเภอเมืองในจังหวัดและส่วนภูมิภาค พิจารณาปรับลดการให้บริการในช่วงเวลาตั้งแต่ 23.00-04.00 น.

ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่จะคลี่คลายลง หรือมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top