Tuesday, 20 May 2025
NewsFeed

“นิพนธ์” ผนึกกำลัง ประปานครหลวง-องค์การจัดการน้ำเสีย MOU บูรณาการบริหารจัดการน้ำดีและน้ำเสียอย่างเป็นระบบ สร้างความยั่งยืน ยึด 3 ข้อ เน้นรับผิดชอบต่อสังคม พัฒนาองค์ความรู้ พ่วงเสริมทักษะความชำนาญ มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตและให้บริการที่เป็นเลิศต่อประชาชนทั่ว

วันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่การประปานครหลวง (กปน.) สำนักงานใหญ่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) การบูรณาการบริหารจัดการน้ำประปาและน้ำเสียอย่างยั่งยืน ระหว่างการประปานครหลวง(กปน.)และ องค์การจัดการน้ำเสีย(อจน.) โดยมีนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการ กปน.  นายพรพจน์ เพ็ญพาส ประธานกรรมการ อจน. นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการ กปน. และนายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการ อจน. เป็นผู้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ โดยมีคณะผู้บริหารจาก กปน. และ อจน. ร่วมในพิธี

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า "กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการสร้างรากฐานและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ได้กำกับดูแล มอบนโยบายให้ กปน. และ อจน. ที่เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทยให้บูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะการบริหารจัดการทั้งน้ำดีและน้ำเสียอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการให้ความรู้ในด้านการจัดการน้ำเสียให้กับชุมชน และสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ทรัพยากรน้ำและความร่วมมือระหว่างกันที่มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนโดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับกลไกการบริหารจัดการน้ำเสียของประเทศให้มีระบบ และมีเอกภาพยิ่งขึ้น  รวมถึงการลดปริมาณน้ำเสีย และการปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก"

“ การลงนามครั้งนี้จึงเป็นการร่วมบูรณาการงานของทั้ง 2 หน่วยงาน คือ กปน. และ อจน. เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการให้บริการน้ำประปาให้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ และการจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)  การพัฒนาองค์ความรู้และทักษะความชำนาญด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยี หรืออื่น ๆ ตามความเหมาะสม และระบบประเมินผล คุณภาพรัฐวิสาหกิจ (SE-AM) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการให้บริการที่เป็นเลิศแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาตอบสนองความต้องการและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน” นายนิพนธ์ กล่าว

ครม. อนุมัติทุนโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ กรอบวงเงินรวม 1,654 ล้านบาท เร่งผลิตครูฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ที่มีศักยภาพสูง สอดคล้องกับการเรียนรู้ยุคใหม่

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (24 มีนาคม 2564) ว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติทุนโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ระยะที่ 4 (พ.ศ.2560 - 2567) กรอบวงเงินรวม 1,654 ล้านบาท ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เพื่อสร้างบุคลากรครูคุณภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้าสู่ระบบได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูระดับปริญญาโทที่มีความสามารถพิเศษวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ให้เป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ยุคใหม่ มีความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้กับนักเรียนระดับระดับมัธยมศึกษา สำหรับรูปแบบและจำนวนทุนการผลิตครู แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.) ทุนระดับปริญญาตรี – โท ปีละ 150 ทุน รวม 600 ทุน ระยะเวลารับทุน 6 ปี ดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 – 2573 รวมระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี

2.) ทุนระดับปริญญาโท ปีละ 150 ทุน รวม 600 ทุน ระยะเวลารับทุน 2 ปี ดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 – 2569 รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี

โครงการนี้ใช้งบประมาณจำนวน 1,654 ล้านบาท โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จะขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีผ่านกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยการทำความตกลงในรายละเอียดร่วมกับสำนักงบประมาณต่อไป

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ คือ

1.) ส่งเสริมให้ผู้ที่มีศักยภาพระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี สมัครรับทุนโครงการเพื่อเป็นครูเพิ่มขึ้น

2.) มีครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ที่ มีศักยภาพสูงในการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น

3.) มีปริมาณครูผู้สอนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการทดแทนบุคลากรที่เกษียณอายุราชการและโยกย้ายภูมิลำเนา


ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/normal_news/473333?as=

“สงคราม” หวั่นแบงก์ชาติตั้งการ์ดสูงทำเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงเงินกู้ ผิดหวังโกดังพักหนี้หวังอุ้มนายทุนมากกว่าช่วยผู้ประกอบการตัวเล็ก

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพื่อชาติ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากมาตรการโกดังพักหนี้ที่รัฐบาลหวังเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้การที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจวงเงิน 250,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 2% หากสามารถปล่อยสินเชื่อได้จริง ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตัวจริง ตรงกลุ่มเป้าหมาย เชื่อว่าสามารถช่วยผู้ประกอบการได้

ทั้งนี้หวั่นใจว่ารัฐบาลจะเลือกช่วยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นบริษัทในเครือของนายทุนใหญ่เท่านั้น เป็การเลือกปฎิบัติส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในเครือนายทุนใกล้ชิด เข้าไม่ถึงเงินกู้ ทั้งนี้ การจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ ต้องไม่เลือกปฎิบัติช่วยเฉพาะผู้ประกอบการชั้นดี เพราะหากทำเช่นนั้นเงินกู้จำนวน 250,000 ล้านบาท จะล้มเหลวรอบ 2 เพราะไม่สามารถที่จะกู้ช่วยผู้ประกอบการได้

นายสงคราม กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ถ้าแบงก์ชาติยังตั้งเงื่อนไขในการช่วยเหลือเหมือนมาตรการจากเงินกู้พระราชกำหนด 500,000 ล้านบาท ก็จะไร้ประโยชน์ เพราะธนาคารพาณิชย์ จะช่วยเหลือแต่ลูกค้าของธนาครเป็นหลัก ไม่มีทางที่แบงก์พาณิชย์จะปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้ารายใหม่ มาตรการที่ออกมาหวั่นใจจะไม่สามารถช่วยผู้ประกอบการได้ นอกจากนี้เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่ออุ้มผู้ประกอบการรายใหญ่ และช่วยธนาคารพาณิชย์มากกว่า ดังนั้นมาตรการที่ออกมาจะเป็นการซ้ำเติมผู้ระกอบการ ที่กำลังประสบปัญหาในขณะนี้
 

‘บิ๊กตู่’ พร้อมนั่งหัวโต๊ะ ศบศ. พิจารณาแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน หลังโควิดคลี่คลาย

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งที่ 1/2564 โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เข้าร่วมการประชุม 

ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด เพื่อนำมาพิจารณาแนวทางในการกำหนดนโยบายที่ครอบคลุม ตรงจุด ในการแก้ไข ฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งการติดตามความคืบหน้าของมาตรการที่มีการดำเนินการไปแล้วเพื่อนำมาประเมินผล และประกอบกับการพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564

“คาดว่าในการประชุมครั้งนี้จะมีการพิจารณากำหนดแนวทางความเป็นไปได้ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจะมีการพิจารณาในพื้นที่นำร่องจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยรัฐบาลตระหนักถึงปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่และมีความพยายามที่จะช่วยพิจารณาแนวทางดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง 

“เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่มีสัดส่วนการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงเช่นจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามันสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นภายหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง ประกอบกับหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้แก่คนในประเทศมากขึ้น”โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังคาดว่าที่ประชุมจะได้มีการพิจารณาแนวทางเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบการธุรกิจและการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การลดข้อจำกัดในการประกอบกิจการของคนต่างด้าว การทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยเฉพาะในสาขาเป้าหมาย และการปรับปรุงระบบศุลกากรและพิธีการศุลกากร เป็นต้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ เพื่อลดขั้นตอนและต้นทุนของกระบวนการทำงาน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในระยะต่อไป

ศาลฎีกา รับคำร้อง ป.ป.ช. กรณี ‘ปารีณา ไกรคุปต์’ บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี พร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ศาลฎีกาสนามหลวง ศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม

โดยเห็นว่า ป.ป.ช. บรรยายพฤติการณ์ชัดเจน ดำเนินการครบถ้วนเกี่ยวกับระเบียบการดำเนินคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม มีคำสั่งให้รับคำร้อง ที่ผู้ถูกร้อง ค้านว่าขอให้ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ ศาลเห็นว่า พิเคราะห์คำร้องยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้ผู้ถูกร้องปฏิบัติหน้าที่ต่อเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องเเล้ว ยกคำร้องจึงมีคำสั่งให้ น.ส.ปารีณา หยุดปฏิบัติหน้าที่ เเละเเจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ พร้อมนัดไต่สวนพยานผู้ร้องอีกครั้ง 30 เม.ย. เวลา 9.30 น.

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โพสต์รูปภาพตนเอง พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ปารีณา ไกรคุปต์" เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 23 มี.ค. 64 โดยระบุว่า “ราตรีสวัสดิ์ ปารีณาพลังประชารัฐ #ปารีณาพักก่อน -รู้สึกเศร้า"

กระทรวงแรงงาน ยกระดับช่างเครื่องช่วยคนพิการ หนุนทดสอบมาตรฐาน ป้อนหน่วยผลิต

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สร้างแรงงานคุณภาพ หนุนทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ลดช่องว่างตลาดแรงงาน นายธวัช  เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กำเนิดขึ้นด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงอาทรถึงความทุกข์ของคนพิการขาขาดผู้ยากไร้ และที่ไม่สามารถเข้ารับบริการขาเทียมจากภาครัฐ 

พระองค์เสด็จ พระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภาคของประเทศอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทรงตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนขาเทียมในกลุ่มคนพิการขาขาดที่ยากไร้ เมื่อทรงทราบว่าแพทย์ไทยสามารถประดิษฐ์ขาเทียมได้จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือนับแต่นั้นมา “อย่าไปเอาเงินที่เขา มาเอาที่ฉัน” รับสั่งประโยคนี้ของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี กลายเป็นอุดมการณ์ของมูลนิธิขาเทียมฯ และได้จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นโดยมีสำนักงานแรกอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่17 สิงหาคม 2534 ด้วยทุนจดทะเบียนส่วนพระองค์ เป็นองค์กรสาธารณกุศล ที่พัฒนาเทคโนโลยีการทำขาเทียมตลอดเวลา ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่ง องค์นายกกิตติมศักดิ์ สืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ กพร.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจพัฒนากำลังแรงงานทุกกลุ่มเพื่อยกระดับทักษะฝีมือให้เป็นแรงงานคุณภาพ ทั้งฝึกอบรม และทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งได้ให้การสนับสนุนกิจการของมูลนิธิขาเทียมฯ โดยดำเนินโครงการพัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการ และจัดการฝึกอบรมสาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ รวมถึงการกำหนดและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นมา 

โดยมอบหมายให้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ (สพร.19 เชียงใหม่) ร่วมกับมูลนิธิขาเทียม จัดฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกเตรียมเข้าทำงาน สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ระยะเวลาการฝึก 700 ชั่วโมง (5 เดือน)  ตั้งแต่ปี 2558 – 2563 (5 รุ่น) จำนวน 109 คน และมีผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ระดับ 1 จำนวน 106 คน ระดับ 2 จำนวน 21 คน รวมจำนวน 127 คน และในปี 2564 ดำเนินการฝึก 6 กิจกรรม เป้าหมาย 210 คน หลังจบฝึกอบรม มูลนิธิขาเทียมจะส่งช่างไปทำงาน ณ โรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ และ เมื่อผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 2 จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในตำแหน่งพนักงานราชการ ณ โรงพยาบาลต้นสังกัด แล้วทำให้ผู้จบหลักสูตรดังกล่าวมีงานทำที่มั่นคง

ซึ่ง กพร.จะดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือก่อนส่งตัวเข้าทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้จบฝึกมีทักษะได้มาตรฐานและพร้อมที่จะให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และช่างเหล่านี้สามารถจัดทำขาเทียมที่ดีมีคุณภาพได้มาตรฐานมีผู้พิการขาขาดที่ได้รับประโยชน์ทั่วประเทศ ปีละกว่า 3,000 คน รศ.นพ.วัชระ รุจิเวชพงศธร เลขาธิการ มูลนิธิขาเทียมฯ กล่าวว่า ในนามของมูลนิธิฯ ขอขอบคุณ กพร.ที่ได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ช่างทำขาเทียม นักกายภาพบำบัด พัฒนาหลักสูตรช่างเครื่องช่วยคนพิการให้ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 

สร้างบุคลากรด้านเครื่องช่วยคนพิการ เพื่อไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงอบรมแพทย์และช่างทำขาเทียมชาวต่างประเทศ ที่มูลนิธิฯ ให้การช่วยเหลือไปตั้งโรงงานอยู่ เช่น เมียนมาร์ มาเลเชีย บังคลาเทศ สามารถช่วยเหลือคนพิการได้ทั่วโลก เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพัฒนาศักยภาพแรงงานที่เห็นเป็นรูปธรรม

นายโรมรัน จรรยา พนักงานช่างเครื่องช่วยคนพิการ เป็นพนักงานราชการของโรงพยาบาลลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เคยเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร ช่างเครื่องช่วยคนพิการ รุ่นที่ 8 กับ สพร.19 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีและภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรม และได้เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำความรู้ไปช่วยเหลือคนพิการให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุขแบบปุถุชนทั่วไปได้ คนพิการเป็นอีกกำลังแรงงานที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือ และเมื่อแรงงานมีฝีมือก็จะสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ช่างทำขาเทียมซึ่งเป็นแรงงานฝีมือที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะหยิบยื่นโอกาสที่ดีให้แก่คนพิการได้กลับมาทำงาน ดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า มีความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคฒ อธิบดี กพร.กล่าว

“วิษณุ” เผย! เคลียร์ “ชวน” แล้ว ปมเปิดสมัยวิสามัญ พิจารณาร่างประชามติ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ท้วงถึงนายวิษณุ ที่ระบุ การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเร็วเกินไป ทั้งที่ร่างพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล ว่า เรื่องดังกล่าวตนได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับนายชวนเรียบร้อยแล้วในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ โดยเป็นเรื่องการให้ประสานงานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .. ของรัฐสภา เพื่อดูว่าทางกรรมาธิการจะทำเสร็จหรือไม่ และต้องคิดเผื่อเวลาที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ รวมทั้งการออกวาระล่วงหน้า ซึ่งนายชวน และตน รับทราบเรื่องเหล่านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าสรุปแล้วจะสามารถเปิดวิสามัญในวันที่  7 - 8 เมษายนนี้ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตน ขอพบและพูดคุยกับทางกันมาธิการก่อน ซึ่งจะได้พบกันในวันเดียวกันนี้ เมื่อถามย้ำว่า ด้านนายชวนยืนยันหรือไม่ว่าเปิดวิสามัญในวันที่ 7 - 8 เมษายนนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า นายชวนไม่ได้ยืนยัน ให้แล้วแต่รัฐบาล แต่ท่านได้เสนอแนะว่าให้บอกเวลาในช่วงที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามรายละเอียดต่างๆยังไม่ขอพูดถึง เอาเป็นว่าตนได้พูดคุยกับนายชวนชัดเจนแล้ว เนื่องจากยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ จะมาพูดระบุถึงเรื่องวันที่ไม่ได้เนื่องจากยังไม่ทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกา จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม ที่จะมาพูดก่อน

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม มีการประท้วงรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Silent Strike กล่าวคือ ให้ประชาชนทุกคนอยู่แต่ในที่พักไม่ต้องออกไปทำงาน จนทำให้สาวกสามนิ้วบางคนถึงขั้นเชียร์อย่างออกนอกหน้าว่า "เนี่ยเขามี Energy ในการทำกันจริง ๆ นะ"

วันนี้ เอย่า เลยอยากมาชำแหละ และจะมาวิเคราะห์กันว่า สรุปแล้วการทำแบบนี้มัน Success หรือ Failure ต่อประชาชนเขากันแน่!!

ก่อนอื่นเลยการนัดแนะกันทำ Silent Strike นั้นใครเป็นตัวตั้งตัวตี 'ไม่สามารถบอกได้' แต่ภาพที่ออกมาจากสื่อในพม่าทั้งสื่อหลักและสื่อในเฟซบุ๊กก็ดี คือแบบ “โอ้โห….นี่มันสงบกันทั้งเมืองเลยนะนี่”

เอย่าไม่รอช้าค่ะ เพราะเราจะไม่เชื่ออะไรแค่สิ่งที่เขาป้อนให้เราเชื่อถูกไหมค่ะ เอย่าเลยได้ออกไปข้างนอกเก็บภาพมาให้ชมกันซะเลย

และนี่คือสิ่งที่เอย่าเห็นนะคะ รถมันก็ยังมี แต่มันอาจจะน้อยลง (ทีหลังอย่าเอารูปตอนเช้าๆ หรือเพิ่งหลังไฟแดงหมาดมาลงสิค่ะ มันบิดเบือนนะเจ้าคะ)

(ภาพทั้งหมดถ่ายจริง ณ วันที่ 24 มีนาคม เวลา 9.00 น. และ 15.00 น.)

นอกจากในโซเชียลที่มีการนำเสนอภาพแนวนั้นแล้ว ชาวโซเชียลรวมถึงดารานักแสดงบางคนยังแสดงภาพตนเองในสภาพที่ปิดปาก โดยมีการ Live ลงโซเชียลกันในวันดังกล่าว (24 มีนาคม 64)

สำหรับการทำ Silent Strike ครั้งนี้อ้างว่าเพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการปราบจราจลโดยใช้อาวุธ ส่งผลให้ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร รวมถึง โรงงานและบริษัทหลายแห่ง ต้องปิดบริการในวันดังกล่าว

ถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนพร้อมใจกันอยู่บ้านจริงไหม?

คงจะไม่ใช่สักทีเดียว!!

...เพราะมีทั้งคนอยากจะหยุด เนื่องจากทำตามประกาศ

...คนอยากหยุด เพราะไม่อยากทำงาน แต่ได้เงิน

...คนไม่อยากหยุด แต่ที่ทำงานปิด

แต่ยังไงซะ สำหรับคนทำงานที่แม้อยากจะหยุดงานหรือไม่หยุดงานก็ดี หากต้องหยุดงานแบบโดนบังคับเช่นนี้ ในมุมพนักงานกินเงินเดือนที่ได้รับผลกระทบเรื่องเงินเดือนจากหลายธนาคารได้ออกมาแจ้งแล้วว่าเดือนนี้จะจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน 25% ของเงินเดือนทั้งหมด ย่อมไม่ทำให้เขารู้สึกกระทบอะไรมากหรอก

แต่สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ พนักงานรายวัน คนขายของรายทางแล้วนั้น หากวันนี้เป็นวัน Silent Strike ที่ประกาศกันเพียงข้ามวัน นั่นหมายถึงครอบครัวจะขาดรายได้ไปทันที

แล้วถามกลับว่าคนเหล่านี้ จะสู้เพื่อคุณได้กี่วัน?

ใครก็ตามที่คิดการประท้วงครั้งนี้ ได้เห็นหัว เห็นค่าของ 'คนหาเช้ากินค่ำ' บ้างหรือไม่?

หากการทำ Silent Strike เพื่อต้องการจะรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจริงๆ หรือต้องการจะเช็คเรทติ้งว่าเรายังมีคนเข้าข้างเราอีกมากแค่ไหนก็ดี...เอย่าแนะนำให้ไปรวมตัวสวดมนต์ที่เจดีย์ชเวดากองหรือเจดีย์ประจำของแต่ละเมืองนะคะ

อย่างน้อยคนหาเช้ากินค่ำ เขาจะได้ออกมาขายน้ำ ขายอาหารว่าง มีรายได้บ้าง คนทำงานรับจ้างจะได้มีงานบ้าง

ไม่ใช่คิดกลยุทธ์ประท้วงอะไร ที่เหมือนเกือบจะดีแต่พังทุกทีแบบนี้...


ที่มา: AYA IRRAWADEE

นักธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่มใหญ่ บุกพบ “กรณ์” ขอให้ช่วย หลังถูก สสว.ฟ้องกราวรูด จากความเข้าใจไม่ตรงกันในการร่วมทุนและสัญญาที่ทำไว้กว่า 10 ปี

สมาพันธ์นักธุรกิจไทย นำโดย ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ผู้ประสานงานฯ นำคณะตัวแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 40 ราย เข้าพบนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค และ นายภิมุข สิมะโรจน์ ที่ปรึกษาพรรค ที่ทำการพรรคกล้า ถนนรัชดาภิเษก เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยที่เข้าร่วมทุนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และถูกฟ้องร้อง สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ที่ให้จัดตั้งกองทุนร่วมทุนในวงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเพื่อเพิ่มบริษัทให้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้มากขึ้น โดยได้มอบหมายให้ สสว.เป็นผู้ดำเนินการ และต่อมา สสว.ได้เชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกองทุน “5,000 ล้าน หุ้นส่วนใหม่ธุรกิจไทย”

โดยแจ้งเป้าหมาย 6 ข้อ ได้แก่ 1. เป็นแหล่งระดมทุนของเอสเอ็มอี ที่ปลอดภาระดอกเบี้ยจ่าย 2. ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันใดในการระดมทุน 3.ผู้ร่วมลงทุนทุกฝ่ายมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการและรับผิดชอบร่วมกัน 4.มีระบบพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาคอยแนะนำต่าง ๆ 5. สนับสนุนด้านเงินทุนให้กับเอสเอ็มอี เพื่อลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสมรวมทั้งส่งเสริมด้านการบริหารจัดการการตลาด การบัญชี และอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ เอสเอ็มอีเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และสามารถพัฒนาตนเองระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ และ 6. อื่น ๆ เพื่อเชิญชวนให้เอกชนสนใจและเข้าร่วมลงทุน 

ผู้ประสานงานสมาพันธ์นักธุรกิจไทย กล่าวว่า เอสเอ็มอี หลายรายได้เข้าร่วมกองทุนร่วมทุนดังกล่าว เนื่องจากมองวัตถุประสงค์ของการร่วมทุนเป็นโครงการที่ดี และช่วงปี 2547 ผู้ประกอบการหลายรายได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ จึงทำให้เกิดความเดือดร้อนจำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อกอบกู้ธุรกิจ จึงได้เข้าร่วมทุนด้วย ต่อมาเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองจนนำไปสู่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการของ สสว. ทำให้ไม่มีบริษัทใดเลยที่ได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเหตุให้ สสว.ฟ้องดำเนินคดีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเรียกเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าพี่เลี้ยงคืน เนื่องจากผิดสัญญาร่วมลงทุน  

“การเข้าพบคุณกรณ์และคณะในวันนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือนักธุรกิจไทยที่ถูก สสว.ฟ้องร้องทั้งหมด อยากขอให้ช่วยส่งเสียงถึงท่านนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสัญญาที่ไม่ตรงกับการเชิญชวนมาร่วมทุน โดยขอให้ สสว.ยึดปฏิบัติตามนโยบายการร่วมลงทุนในกองทุน Venture Capital Fund และจัดทำระเบียบการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาท ในความบกพร่องผิดพลาดของการบริหารจัดการกองทุนฯ อย่างเร่งด่วน และสุดท้ายขอให้มีคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้น โดยยึด ข้อเท็จจริงมากกว่า ข้อกฎหมาย เพราะ หนังสือเชิญชวนให้ร่วมลงทุน กับ เงื่อนไขในสัญญา ไม่ตรงกัน และที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้อัดฉีดเม็ดเงินหลายหมื่นล้านไปที่ สสว.เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกรงว่าอาจจะเกิดปัญหาเช่นเดียวกันกับพวกตนได้ในอนาคต” ว่าที่ร้อยตรีสมชาย กล่าว 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า “ฟังแล้วเข้าใจ ปัญหาที่เกิดขึ้น พรรคกล้าจะพยายามนำข้อเสนอของทางสมาพันธ์นักธุรกิจไทยในวันนี้ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้กำกับนโยบายโดยตรง ซึ่งพรรคกล้าเองมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี หรือคนตัวเล็กในภาคธุรกิจอยู่แล้ว เราอยากเห็นการเจรจาพูดคุยเพื่อจะหาทางออกร่วมกัน มากกว่า การหาทางออกด้วยการฟ้องร้องกันทางกฎหมาย”

"วราวุธ" ชี้!​ แก้อำนาจ ส.ว.ไม่ง่าย​ เปรียบเหมือนตัดแขน ย้ำ! ต้องหารือพร้อมเอาใจเขาใส่ใจเรา

วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ​ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา​ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า คาดว่าจะได้มีการประชุมพรรคชาติไทยพัฒนา ก่อนที่จะมีการประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 7-8 เมษายนนี้ ส่วนประเด็นที่จะแก้ไขนั้น คงต้องมีการหารือกันก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ข้อเด่นก็มี​ ข้อด้อยก็มี ต้องหาจุดร่วมที่เดินไปข้างหน้าด้วยกันได้โดยปราศจากความขัดแย้ง แต่จะแก้ประเด็นใดก็แล้วแต่ เราพูดมาเสมอว่าไม่ใช่เฉพาะแค่หมวด 1 หมวด 2 แต่ประเด็นอะไรก็แล้วแต่ที่จะแตะพระราชอำนาจหรือกระทบกระเทือนเบื้องพระยุคลบาท พรรคชาติไทยพัฒนาไม่ขอเกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาใดที่ควรต้องแก้ นายวราวุธ​ กล่าวว่า มีหลายกลไก เช่น​ กลไกการเลือกตั้งที่ปัจจุบันทำให้มีความซับซ้อน บางครั้งเมื่อมีเงื่อนไขที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้ระบบโปร่งใส แต่ก่อให้เกิดช่องทางที่ยุ่งยากในการทำงาน ต่อผู้ปฏิบัติงาน และอาจนำไปสู่การกระทำเส้นทางลัด ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย

เมื่อถามว่า ประเด็นอำนาจ ส.ว. พรรคชาติไทยพัฒนาติดใจหรือไม่ นายวราวุธ​ กล่าวว่า อันนี้ต้องมานั่งคุยกันว่าข้อดีข้อด้อยเป็นอย่างไร เพราะท้ายที่สุดเมื่อพูดถึง ส.ว. แต่ ส.ว.เป็นผู้โหวตด้วย เหมือนขอให้คน ๆ นึงตัดแขนตัวเองทิ้ง ส.ว.เองคงไม่เห็นด้วย เมื่อถามย้ำว่า สรุปแล้วประเด็นตัดอำนาจ​ ส.ว. จะไม่สามารถแก้ไขได้ใช่หรือไม่ นายวราวุธ​ กล่าวว่า ไม่ใช่แก้ไม่ได้ แต่จะแก้ประเด็นใด คงต้องเป็นเรื่องที่​ ส.ว. รับได้ด้วย เพราะอย่างไรเสีย​ ส.ว. ชุดนี้ก็มีการแต่งตั้งขึ้นมาแล้ว การจะแก้ไขอะไรที่กระทบอำนาจหรือความสำคัญของ​ ส.ว. ทิ้งเขาคงจะไม่ยอม คงต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ต้องเอาประเด็นที่เดินไปข้างหน้าหรือพบกันครึ่งทางเสียก่อน ต้องเอาใจเขาใส่ใจเรา

เมื่อถามว่าประเด็นที่ให้อำนาจ​ ส.ว. เลือกนายกฯ คงต้องปล่อยไว้ 5 ปี ตามบทเฉพาะกาลใช่หรือไม่​ นายวราวุธ​ กล่าวว่า อันนี้ต้องคุยกับทั้ง​ ส.ส.และ ส.ว. เพราะอยู่ ๆ จะตัดอำนาจเขาออก คงต้องหารือกันก่อน โดยส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ​ (ส.ส.ร.)​ คงไม่ทัน วันนี้ต่างพรรคคงมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป​ แต่ท้ายที่สุดคงไปเจอที่จุดหมายเดียวกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top