Wednesday, 1 May 2024
Lite

20 เมษายน พ.ศ. 2454 วันคล้ายวันเกิด ‘พล.ต. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช’ อดีตนายกฯ คนที่ 13 ของไทย ผู้ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ - ประพันธ์นวนิยายชื่อดัง ‘สี่แผ่นดิน’

พล.ต. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2454 ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เป็นโอรสของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) เป็นน้องชายของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของไทย) เรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

จากนั้นไปเรียนต่อวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และการเมือง จากวิทยาลัยควีนส์ (The Queen’s College) มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กลับมารับราชการที่กรมสรรพากร และกระทรวงการคลัง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าเป็นทหาร ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตรีในปี พ.ศ.  2531

เริ่มเล่นการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 โดยก่อตั้ง พรรคก้าวหน้า ต่อมาได้ยุบรวมกับ พรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นก่อตั้ง พรรคกิจสังคม ในปี พ.ศ. 2517 และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2518

นอกจากบทบาททางการเมือง ท่านยังมีบทบาทสำคัญในด้านหนังสือพิมพ์และวรรณกรรมอีกด้วย โดยก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ในปี พ.ศ. 2493 นอกจากนี้ยังมีผลงานทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ เรื่องแปล สารคดี และผลงานที่สำคัญได้แก่ สี่แผ่นดิน ไผ่แดง กาเหว่าที่บางเพลง ฯลฯ ท่านได้รับยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี พ.ศ. 2528 และท่านถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2538

21 เมษายน พ.ศ. 2325 วันสถาปนา ‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองหลวงของประเทศไทยในปัจจุบัน

รู้หรือไม่? วันที่ 21 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันกำเนิดเมืองหลวงของไทย นั่นคือ ‘กรุงเทพมหานคร’ โดยมีพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.54 น. จากวันนั้นถึงวันนี้กรุงเทพฯ ก็มีอายุครบ 242 ปีแล้ว

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงและนครที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเงิน การธนาคาร การพาณิชย์ การสื่อสาร และความเจริญของประเทศ ตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านและแบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี

ย้อนกลับไปในสมัยที่เกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 หลังจากนั้นมีการกอบกู้อิสรภาพจากพม่า โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ครั้นสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่1) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริว่า ฟากตะวันออกของกรุงธนบุรีมีชัยภูมิดีกว่าตะวันตก เพราะมีลำน้ำเป็นขอบเขต หากข้าศึกยกมาถึงชานพระนคร ก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ โดยสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา

พระองค์ทรงประกอบ ‘พิธียกเสาหลักเมือง’ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 9 บาท (54 นาที) ปีขาล จ.ศ.1144 จัตวาศก ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.54 น. และทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325

ทั้งนี้ พื้นที่ของเมืองหลวงแห่งนี้ แต่เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ชาวต่างชาติเรียกกันว่า ‘บางกอก’ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และที่มาของคำว่า ‘บางกอก’ นั้น มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า ‘บางเกาะ’ หรือ ‘บางโคก’ หรือไม่ก็เป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า ‘บางมะกอก’ ต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่า ‘บางกอก’

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกันเป็น ‘นครหลวงกรุงเทพธนบุรี’ และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร แต่นิยมเรียกกันว่า กรุงเทพฯ 

ต่อมามีการตั้งชื่อเมืองว่า ‘กรุงเทพมหานคร’ แปลว่า ‘พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร’ มาจากชื่อเต็มว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร เป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศไทย ไม่ได้มีสถานะเป็นจังหวัด มีพื้นที่ทั้งหมด 1,568.737 ตร.กม. มีประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 6 ล้านคน ทำให้กรุงเทพมหานครจัดเป็นเอกนคร (Primate City) มีผู้กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็น ‘เอกนครที่สุดในโลก’ เพราะมีประชากรมากกว่านครที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ถึง 40 เท่า อีกทั้งเป็นเมืองที่มีตึกระฟ้ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลกในปี พ.ศ. 2563 

22 เมษายน ของทุกปี ‘องค์การสหประชาชาติ’ กำหนดให้เป็น 'วันคุ้มครองโลก' หวังให้ผู้คนร่วมตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม

22 เมษายน ของทุกปีเป็น ‘วันคุ้มครองโลก’ (Earth Day) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ United Nations Environment Program (UNEP) เพื่อให้ผู้คนบนโลกได้ตระหนักถึงการกระทำต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ

ทั้งนี้ ผู้ที่ริเริ่มแนวคิดนี้เป็นคนแรกคือ เกย์ลอร์ด เนลสัน สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา โดยในปี พ.ศ. 2505 เกย์ลอร์ด เนลสัน ได้ขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ หยิบยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้เห็นด้วย และได้ออกทัวร์ทั่วประเทศเป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2506 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่ม ‘วันคุ้มครองโลก’

ต่อมา เนลสัน ได้ผลักดันให้มีการชุมนุม แสดงความคิดเห็นเรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับประชาชนทั่วประเทศ ทำให้เกิดเป็นกระแสตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทั่วสหรัฐอเมริกา จากนั้นในวันที่ 22 เมษายน ประชาชนชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคน ได้พร้อมใจกันชุมนุม เพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก ซึ่งผลจากการชุมนุมก่อให้เกิดการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น จนในที่สุดกำหนดให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็น ‘วันคุ้มครองโลก’ (Earth Day) 

สำหรับในประเทศไทย ได้มีการจัดให้มีการรณรงค์วันคุ้มครองโลกขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2533 ถือเป็นยุคเริ่มต้นของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังจากที่ นายสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กระทำอัตวินิบาตกรรม อาจารย์และนักศึกษารวม 16 สถาบันได้จัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของป่า และตระหนักถึงวิกฤตการณ์ทำลายสัตว์ป่าและป่าไม้ของประเทศไทย

‘เพจตี๋น้อย’ ยก ‘บิวกิ้น’ นักร้องไทยครองหัวใจแฟนคลับชาวจีน โด่งดังสุดๆ จนร้านคาราโอเกะต้องมีเนื้อร้องเป็นภาษาไทย

(19 เม.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘ตี๋น้อย’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกระแสความดังของ บิวกิ้น พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล ในประเทศจีน โดยระบุว่า…

นี่ไม่ใช่คาราโอเกะที่ไทย แต่เป็น KTV จีน (ร้านคาราโอเกะในจีนจะเรียกว่า KTV) ซึ่งโดยปกติร้าน KTV จะมีแต่เพลงจีน เพลงฝรั่ง เพลงเกาหลี หรือเพลงไทยบางเพลงที่เป็นเวอร์ชั่นภาษาจีนเท่านั้น ตี๋น้อย ไม่เคยเจอเพลงไทยที่เป็นเวอร์ชั่นภาษาไทย ในร้าน KTV จีนมาก่อน

การที่มีเพลงไทยใน KTV จีน นั่นแสดงว่า นักร้องคนนั้นต้องดังสุด ๆ ในจีนเท่านั้นถึงจะมีเพลงในร้านคาราโอเกะจีนได้ และที่สำคัญคือนี่เป็นเพลงแรก ๆ ที่เป็นเพลงภาษาไทยในร้านคาราโอเกะจีนด้วย และไม่ใช่แค่เพลง ‘แปลไม่ออก’ เท่านั้นที่มีในคาราโอเกะจีน นอกจากเพลงนี้ยังมี เพลง MR.EVERYTHING, กีดกัน ที่เป็นเพลงภาษาไทยของ คุณบิวกิ้น ใน KTV อีกด้วย

ส่วนคู่จิ้น อย่าง คุณพีพี เองก็ดังไม่น้อยหน้าในจีนเช่นกัน ในร้าน KTV มีทั้งเพลงเส้นเรื่องเดิม, FIRE BOY เป็นเพลงภาษาไทยในร้านเช่นกัน

ล่าสุดคุณบิวกิ้น ทำเมืองจีนแตก แสดงคอนเสิร์ตทั้งในเมืองหูโจว และฝูโจว ทั้งสองที่ คือสเตเดี้ยมทั้งสองเมืองเต็มความจุ กว่า 40,000 ที่นั่ง ก็เต็มทั้งสองที่ครับ

ปล.ภาพนี้ตี๋น้อยถ่ายเอง ณ ร้าน KTV แห่งหนึ่ง ณ เมืองอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีนครับ

'นก จริยา' ลาสิกขาแล้ว เผยภาพปลงผม 'จอนนี่ แอนโฟเน่' อดีตพระเอกชื่อดัง พร้อมระบุ!! อนุโมทนาสาธุ ขอให้สมความตั้งใจ พรุ่งนี้บินไปบวชที่ ‘ศรีลังกา’

(20 เม.ย.67) หลังจากที่ ‘นก จริยา แอนโฟเน่’ นักแสดงผู้จัดคนดัง ได้ลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตปกติแล้ว ล่าสุดก็ได้เผยภาพปลงผมให้ ‘จอนนี่ แอนโฟเน่’ พร้อมระบุว่า "ลาสิกขา ออกมา ส่งต่อการไป บวชปฏิบัติ @jonny_anfone วันนี้ปลงผม พรุ่งนี้เดินทางไปบวชเป็นพระภิกษุ ที่ศรีลังกา ขอให้ความตั้งใจนี้สมดั่งที่ตั้งมั่น ขออนุโมทนาสาธุด้วยค่ะ เราจะเกื้อหนุนกันในธรรม ในชีวิต อย่างคู่ชีวิตและกัลยาณมิตรต่อกัน #วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร" 

ท่ามกลางคอมเมนต์จากเพื่อน ๆ ในวงการบันเทิงว่า อนุโมทนาสาธุ , สาธุ อนุโมทนาบุญด้วย และขออโหสิกรรมเช่นกัน , กราบอนุโมทนาสาธุด้วย , อนุโมทนาสาธุ

23 เมษายน พ.ศ. 2517 วันก่อตั้ง ‘คณะมนุษยศาสตร์’ ม.สงขลานครินทร์ ครอบคลุมหลายหลักสูตร ให้นักศึกษาได้เล่าเรียน

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดสอนในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และเปิดสอนในรายวิชาทางด้านดังกล่าวให้กับนักศึกษาสาขาอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ทั้งนี้ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (Faculty of Humanities and Social Sciences, Prince of Songkla University) ได้จัดตั้งขึ้นตามโครงการ ที่ได้กำหนดไว้ใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ( พ.ศ. 2515 - 2519 ) เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2517 โดยทบวงมหาวิทยาลัยได้ อนุมัติให้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดตั้ง ‘คณะมนุษยศาสตร์’ ต่อมา ได้อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์’ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2518 เพื่อสนองนโยบายที่คณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ได้วางไว้ว่าจะให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นศูนย์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมและสังคม

25 เมษายน พ.ศ. 2148 วันคล้ายวันสวรรคต ‘สมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ และทรงกอบกู้เอกราชของชาติ

วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ประชาชนชาวไทยควรตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่พระองค์ทรงเสียสละ ต่อสู้กับข้าศึกศัตรูแม้ในยามที่ทรงประชวรหนัก ก็ยังไม่ห่วงพระวรกายยังคงทำหน้าที่ของนักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่ยอมให้ศัตรูมารุกรานบ้านเมือง จนกระทั่งสวรรคตในสนามรบ จึงได้ทำให้เหล่าทวยราษฎร์ต่างเทิดทูนถึงพระมหากรุณาธิคุณ เราชาวไทยควรรำลึกถึงพระองค์ท่าน ที่ได้ทรงเสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินไทยของเราให้ได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 มีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ พระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตรีย์ ทรงพระราชสมภพ ณ พระราชวังจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2098 พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา คือ พระสุพรรณกัลยา และสมเด็จพระเอกาทศรถ ในขณะที่พระองค์ทรงพระเยาว์ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก และทรงขอสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไปเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นตัวประกันที่หงสาวดี จนพระชนมายุได้ 15 พรรษา พระองค์จึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ. 2098 ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ณ เมืองแครง ประกาศอิสรภาพของชาติไทยโดยไม่ขึ้นกับพม่าอีกต่อไป และทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์สุโขทัย

ในรัชสมัยของพระองค์ทรงกระทำสงครามขยายพระราชอาณาจักรไทยให้แผ่ไพศาลไปในจตุรทิศ ทรงเป็นกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่และกล้าหาญ โดยพระองค์ได้กู้คืนอิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยา ช่วยกอบกู้เอกราชของชาติ ทรงผดุงความเป็นไทย ปกป้องรักษาแผ่นดินให้ปลอดพ้นภัยจากอริราชศัตรู เพื่ออิสรภาพของปวงชนชาวไทย

โดยในปี พ.ศ. 2124 ทรงแสดงแสนยานุภาพในการยกกองทัพเข้าตีเมืองคังจนได้รับชัยชนะ ต่อมาในปี พ.ศ. 2127 ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา จนได้รับชัยชนะ ทำให้พระบรมเดชานุภาพ แผ่ไพศาลไปทั่วปฐพี และปราบปรามหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ได้เมืองตะนาวศรี มะริด ทวาย ต่อมาปี พ.ศ. 2138 และ พ.ศ. 2142 ทรงยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีได้เมืองเมาะลำเลิง และเมืองตองอู จนหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวงยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวมพระชนมพรรษา 50 พรรษา

24 เมษายน ของทุกปี ‘กระทรวงมหาดไทย’ กำหนดเป็น ‘วันเทศบาล’ หวังให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงบทบาท ในฐานะผู้ให้บริการปชช.

จุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดเทศบาล เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทยใหม่ให้ทันสมัย เป็นอันเดียวกันกับนานาอารยประเทศ โดยจัดให้มีการปกครอง ส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในรูปแบบสุขาภิบาล ที่สุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2441 และได้ขยายการจัดตั้งสุขาภิบาลออกไปในท้องถิ่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ

ตอมาเมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลง การปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบ ประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 ขึ้น และได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2476 โดยได้มีการยกฐานะสุขาภิบาลขึ้นเป็นเทศบาลหลายแห่ง ต่อมาได้มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับเทศบาลหลายครั้ง จนในที่สุดได้มีการตราพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิม จึงทำให้เทศบาลเป็นองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งตั้งแต่นั้นมา

ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย จึงได้ออกประกาศลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 กำหนดให้วันที่ 24 เมษายน ของทุกปีเป็น ‘วันเทศบาล’ เพื่อระลึกถึงความสำคัญของการก่อกำเนิดเทศบาล และเพื่อให้พนักงานเทศบาลตระหนักถึงความสำคัญในบทบาทของการเป็นผู้ให้บริการประชาชน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองส่วนท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างความรัก ความผูกพัน ความสามัคคี ให้กับบุคลากรในเทศบาล เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีที่จะส่งผลเชิงบวก ต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ การให้บริการ การอำนวยความสะดวก พร้อมสร้างความเป็นธรรม ความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม โดยปัจจุบันมีเทศบาลจำนวน 2,472 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การเรียกชื่อของเทศบาลนั้นแตกต่างกันตามจำนวนประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้แก่

- เทศบาลตำบล คือ ท้องถิ่นซึ่งมีการประกาศกระทรวง มหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวง มหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย มีสมาชิก สภาเทศบาลได้ 12 คน

- เทศบาลเมือง คือ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลาง จังหวัดหรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คน ขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำ ตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะ เป็นเทศบาลเมือง พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขต ของเทศบาลไว้ด้วย มีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 18 คน

- เทศบาลนคร คือ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่ อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกา ยกฐานะเป็นเทศบาลนคร พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อ และเขตของเทศบาลไว้ด้วย มีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 24 คน

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ เทศบาลถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งต่อการให้บริการสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างดีที่สุด ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมาเทศบาลเป็นองค์กรที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ในทุกมิติตลอดช่วงชีวิต เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ความเดือดร้อนเร่งด่วน และสร้างความเจริญต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนในเขตชุมชนเมือง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ เพื่อให้การพัฒนาตรงกับความต้องการของประชาชนและเป็นรูปธรรม มีนวัตกรรมการพัฒนา และผลการปฏิบัติงานที่โดดเด่น เป็นองค์กรต้นแบบที่มีการขับเคลื่อนด้วยการสานงานต่อ ก่องานใหม่ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ทั้งหลักนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้การพัฒนาท้องถิ่นสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

รู้จัก ‘บอส - อัฒมาส อิศรางกูร ณ อยุธยา’ มือลั่นชัตเตอร์ ‘เวดดิ้งซุปตาร์’ ทั่วฟ้าเมืองไทย

เด็กหนุ่มต่างจังหวัดธรรมดาคนหนึ่งที่ชื่นชอบการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ และมีฝันว่าสักวันต้องมีแกลเลอรีจัดแสดงผลงานภาพถ่ายของตัวเองสักครั้งหนึ่งในชีวิต 

ด้วยความพยายามเดินหน้าเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำในสิ่งที่รัก ประเดิมความสำเร็จแรกกับการสร้างผลงานภาพถ่ายสถาปัตยกรรมจนเตะตานักลงทุนต่างชาติ ร่วมทุนเปิดบริษัทในประเทศไทย ดำเนินธุรกิจภาพถ่ายอสังหาริมทรัพย์แบบวิชวลสามมิติ (3D visual) และด้วยเอกลักษณ์ที่ชัดเจนด้านการถ่ายภาพในแบบ ‘Minimal style’ เรียบง่ายแต่อัดแน่นด้วยรายละเอียด ทำให้วันนี้ บอส-อัฒมาส อิศรางกูร ณ อยุธยา กลายเป็นช่างภาพขวัญใจผู้ลั่นชัตเตอร์ให้เหล่าคู่รักซุปตาของเมืองไทย

>> เด็กสายวิทย์ผู้มุ่งมั่นสู่ประธานบริษัท 

บอส-อัฒมาส อิศรางกูร ณ อยุธยา เล่าว่า “ชีวิตในวัยเด็กก็เหมือนกับเด็กผู้ชายทั่วไปที่มีความฝันหลากหลายรูปแบบ ทั้งอยากเป็นวิศวกร โปรแกรมเมอร์ เมื่อโตขึ้นความฝันเริ่มชัดเจนว่าตัวเองชอบเรื่องเทคโนโลยี จึงตัดสินใจเรียนในสาขาวิชา School of Management Technology หรือคณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยชินวัตร ระหว่างนั้นก็ทำงานอดิเรกไปด้วย อย่างการถ่ายภาพ เริ่มตั้งแต่การสแนปภาพด้วยสมาร์ตโฟนและต่อมาก็เริ่มใช้กล้องดิจิทัล โดยสิ่งที่ชอบถ่ายคือ ตึก อาคาร หรือ บ้านเรือน ต่าง ๆ เพราะชอบงาน Architecture และมองว่าสถานที่เหล่านี้มีรายละเอียดซ่อนอยู่มากมาย และยังคงมีเสน่ห์บ่งบอกถึงกาลเวลา ช่วงสมัยได้เป็นอย่างดี 

จุดเปลี่ยนของชีวิต คือช่วงที่เรียนจบได้มีโอกาสไปช่วยอินฟูเอนเซอร์สายท่องเที่ยว ‘ไปตามน้ำ’ ถ่ายภาพแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ และมีหลายโรงแรมขอภาพไปใช้ และในขณะเดียวกัน เราเองก็ได้แชร์ภาพลงบนโซเชียล จนไปแตะตานักลงทุนเจ้าของ ‘บริษัท ซิกน่า วิชวล จำกัด’ ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านภาพถ่ายอสังหาริมทรัพย์แบบวิชวลสามมิติ (3D visual) จากประเทศเดนมาร์ก ที่ชื่นชอบผลงานและชวนให้มาร่วมทุนจัดตั้งสาขาใหม่ในประเทศไทย 

>> ความ Minimal style ต้องตาเซเลปเมืองไทย

ความเรียบง่ายแต่มีดีเทลน่าจะเป็นเทคนิคการถ่ายภาพที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของผลงานได้เป็นอย่างดี เพราะจากความเคยชินในการถ่ายตึกรามบ้านช่องและอาคารต่าง ๆ ที่ไม่ต้องพูดว่าพร้อมนะครับ 1 2 3 หรือบอกให้ใครหันซ้ายนิด หันขวาหน่อย ดังนั้นภาพทุกภาพล้วนเกิดจากมุมมองและการกดชัตเตอร์ลงไปจากสิ่งที่เห็น พูดได้ว่าผลงานของเรา ทุกภาพเกิดจากการเล่าเรื่อง ณ ขณะนั้น ให้ดูเหมือนจะเรียบง่ายแต่อัดแน่นไปด้วยรายละเอียด อัดแน่นไปด้วย moment สำคัญ ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานกี่สิบปี เมื่อหยิบภาพนี้มาดูอีกครั้งก็เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปสู่บรรยากาศเหล่านั้นได้ในทันที

ความเรียบง่ายของภาพถ่ายคงเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ตรงใจหลายคน จนนำไปสู่การชักชวนของเหล่าเซเลป ศิลปินนักแสดง ให้มาช่วยเก็บโมเมนต์สำคัญอย่างวันแต่งงาน หรือ งานสำคัญต่าง ๆ โดยทั้งหมดเริ่มต้นจากการเป็นทีมช่างภาพซัพพอร์ตและขยับขึ้นมาเป็นทีมหลักที่กดชัตเตอร์ให้คนดังทั่วประเทศไทยมากมาย อาทิ เวียร์ ศุกลวัฒน์ คณารศ, แดน วรเวช-แพทตี้ อังศุมาลิน, อิฐ ปารินทร์ เจือสุวรรณ์ - ออม ปภาพินท์ วีระภุชงค์ และล่าสุด แบม ปีติภัทร - กวาง ช้องมาศ 

“ตอนแรกก็รู้สึกแปลกใจที่มีเพื่อนให้ไปถ่ายงานเวดดิ้ง เพราะเข้าใจว่ามันคนละแนวกับงานที่เราทำอยู่ แต่โจทย์ที่ได้รับมาคือ ต้องการได้ภาพแบบดิบ ๆ เรียล ๆ ซึ่งตรงกับแนวทางของเรา ที่ไม่ต้องการประดิษฐ์ภาพหรือจัดองค์ประกอบอะไรมาก เพราะเข้าใจดีว่างานแต่งงานทุกงานบ่าวสาวตั้งใจทำมาอย่างเต็มที่ ดังนั้นหน้าที่เราคือกดชัตเตอร์เก็บทุกโมเมนต์และความทรงจำให้ได้ดีที่สุด”

>> ภาพที่ดีไม่ต้องเล่าเรื่องเป็นล้านคำ แค่เพียง ‘ยิ้มได้’ ก็พอแล้ว

ในมุมมองของหลายคนอาจมองว่าภาพที่ดีคือ ภาพที่สวย คมชัด แสงสีต้องได้ หรือต้องแทนคำพูดได้เป็นล้านคำ แต่ในมุมมองของบอส ภาพที่ดีคือต้องทำให้เจ้าของภาพ ‘ยิ้มได้’ เมื่อได้เห็นภาพ เพราะเวลาเรากดชัตเตอร์ทุกครั้งเราจะถามตัวเองเสมอว่า คนที่เห็นภาพนี้จะรู้สึกอย่างไรและเราอยากให้เขาเห็นอะไรในภาพนี้ ดังนั้น การทำงานในการถ่ายภาพแต่ละครั้ง จำเป็นต้องมีการวางแผน เข้าไปดูพื้นที่หน้างาน ศึกษาทุกอย่างเกี่ยวกับเจ้าของงาน ว่าเป็นคนบุคลิกอย่างไร มีมุมไหนที่ชอบเป็นพิเศษ และกลับมาทำการบ้าน วางคอนเซ็ปต์ วางมุมมองที่ต้องการนำเสนอออกมาให้ตรงจุดและตรงใจ

>> มุมมองการถ่ายภาพกับประสบการณ์ 10 ปีที่ผ่านมา

โลกของการถ่ายภาพที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์และเทคโนโลยีตลอดเวลา ถ้าจะพูดถึงเทคนิคการถ่ายภาพที่สะสมเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ตอบได้คำเดียวว่า ‘ไม่มี’ เพราะว่าการถ่ายภาพคือ งานศิลปะ ที่ไม่มีรูปแบบหรือเทคนิคการถ่ายที่ตายตัว เพียงแต่ช่างภาพต้องหาตัวตนของตนเองให้เจอ หาลายเซ็นต์ให้กับภาพถ่ายของตัวเองให้ได้ ส่วนเทคนิคการถ่ายภาพนั้นเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันตลอดเวลา เพราะเทคโนโลยีการถ่ายภาพไม่มีวันหยุดนิ่ง เสมือนกับ ที่เรียกว่าน้ำต้องไม่เต็มแก้ว

26 เมษายน พ.ศ. 2431 ‘ในหลวง ร.5’ เสด็จฯ ประกอบพิธีเปิด ‘โรงพยาบาลศิริราช’ ทรงหวังให้ประชาชนมีที่พึ่งพิง ในยามโรคภัยมาเบียดเบียน

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2424 อหิวาตกโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (พ.ศ. 2424-2439) รวมทั้งไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์กับข้าราชการอื่นรวม 48 คน จัดตั้ง ‘โรงรักษาผู้ป่วย’ หรือ ‘โรงพยาบาลชั่วคราว’ ขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเหรียญเงินเทพดาถือพวงมาลัย เป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ตั้งโรงรักษาคนเจ็บ

ต่อมาเมื่อการระบาดของโรคยุติลง โรงพยาบาลชั่วคราวต่างก็ปิดทำการ หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญของโรงพยาบาลที่จะยังประโยชน์เมื่อประชาชนเจ็บป่วยบำบัดทุกข์ ทั้งนี้ ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย…

1.พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ 2. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ 3. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ 4. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์  5.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์, 6.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์ 7. พระยาโชฏึกราชเศรษฐี (เถียร โชติกเสถียร) 8. หลวงสิทธินายเวร (บุศย์ เพ็ญกุล) 9. ดอกเตอร์ ปีเตอร์ เคาแวน

ทั้งนี้ คณะกรรมการประชุมกันและตกลงกันว่า จะจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ วังหลัง เพราะขณะนั้นได้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า และมีต้นไม้ร่มเย็น เหมาะสมสำหรับเป็นสถานที่รักษาพยาบาลผู้ป่วย

ระหว่างที่เตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ พระราชโอรสอันประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ประชวรโรคบิดสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 ขณะมีพระชันษาเพียง 1 ปี 7 เดือน ทำให้ความเศร้าโศกมาสู่สมเด็จพระบรมราชชนกชนนีเป็นอย่างยิ่ง จึงมีพระราชดําริถึงความทุกข์ ทรมานของประชาชนทั่วไปซึ่งเจ็บไข้ได้ป่วยและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ต้องล้มตายไปเป็นจํานวนมากทุกปี

ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น จึงได้โปรดพระราชทานสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เนื่องในงานพระเมรุ รวมทั้งเครื่องใช้ เช่น ตู้ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ ที่ใช้แต่ในวันลักพระศพให้แก่โรงพยาบาลวังหลังที่กําลังก่อสร้าง พร้อมทั้งพระราชทานเงินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ จํานวน 50,000 บาท มาสมทบสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลด้วย

ในระยะแรกคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ได้จัดสร้างเรือนพักผู้ป่วยขึ้น 6 หลัง และเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ หรือที่ประชาชนขณะนั้นนิยมเรียกว่า ‘โรงพยาบาลวังหลัง’

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลศิริราช ที่ให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียมตามพระบรมราชปณิธานมาจนปัจจุบันนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top