Sunday, 12 May 2024
Lite

‘สวนสมดุล’ พื้นที่เชื่อมคนเมืองกับธรรมชาติเข้าด้วยกัน

ต้องยอมรับว่าวันนี้สังคมโลกในปัจจุบัน เริ่มตระหนักและพูดถึงเรื่องการให้ความสำคัญกับการต่อสู้/ฝ่าฟันปัญหาโลกร้อนและภาวะเรือนกระจกกันตั้งแต่ระดับโลก, ประเทศ มาสู่ชุมชน ภายใต้บริบทแห่งการสร้างสังคมสีเขียว ปลอดมลพิษ และลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล เพื่อทะนุถนอมดูแลโลกใบนี้ให้อยู่กับมนุษยชาติต่อไปอีกนานแสนนานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การฟูมฟักสังคมสีเขียว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคนี้ ยุคที่ทุกอย่างอิงแนบไปกับภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการผลิต และเผาผลาญทรัพยากรมหาศาล เพื่อได้มาซึ่งผลลัพธ์แห่งการแข่งขัน รวมทั้งผู้คนที่ขาดความเข้าอกเข้าใจในธรรมชาติ จนหลงลืมว่าชีวิตควรแนบชิดกับธรรมชาติในบางจังหวะ ที่หากทำได้มากเท่าไร ก็อาจจะเป็นแรงเหวี่ยงสำคัญในการปลุกจิตสำนึกแห่งความรักในโลกได้อย่างจริงจังขึ้น

การชวนมนุษย์ให้ค่อยๆ หลุดเข้ามาสู่โลกที่เป็นมิตร โลกที่เต็มไปด้วยกลิ่นแห่งอายแห่งชีวิตที่คลอเคล้าบนวิถีธรรมชาติ จึงเป็นบทบาทของผู้ที่พร้อมจะสละตนมาเนรมิตบางสิ่งด้วยความตั้งใจ แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ของสังคม

ด้วยเหตุนี้ THE STATES TIMES จึงอยากพาผู้คนที่ยังขาดจังหวะชีวิตกับวิถีธรรมชาติ มาเริ่มต้นจากการสูดอากาศที่ ‘สวนสมดุล’ หรือ ‘Somdul Agroforestry Home’ อีกหนึ่งสถานที่ตอบโจทย์ผู้คนที่อยากซึมซับในวิถีแห่งธรรมชาติใกล้กรุง เพื่อปรับความสมดุลให้ชีวิต ผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย ภายใต้จุดเด่นแห่งการพัฒนาเกษตรกรรมเชิง ‘วนเกษตร’ ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เรียกว่า ‘ความสุขอย่างยั่งยืน’

'เอี่ยม' อติคุณ ทองแตง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Somdul Agroforestry Home’ ได้อธิบายคุณค่าแห่ง 'สวนสมดุล' ไว้อย่างน่าสนใจกับยูทูบช่อง ‘Health Addict’ โดยระบุว่า…

‘Somdul Agroforestry Home’ หรือแปลเป็นภาษาไทยก็คือ ‘วนเกษตร’ เป็นการทําเกษตรที่พึ่งพาอาศัยรวมอยู่กับป่า จุดเริ่มต้นของที่นี่ (สวนสมดุล) เริ่มมาจากกลุ่มคนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมาทั้งหมดเป็นกลุ่มนักอนุรักษ์ มีความรักในธรรมชาติเป็นพื้นฐาน และก็เริ่มมองหาธุรกิจ ที่สามารถจะอยู่ร่วมกับป่า ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งเขียว ๆ รอบ ๆ ตัวเรา

“บทสรุปที่เลือกปักหมุดใน 'วนเกษตร' เพราะผมอยากทําให้คนอื่นเห็นว่า ใครๆ ก็สามารถทําได้เหมือนกัน และเราสามารถนำผลผลิตเชิงวนเกษตรมาใช้ในเชิงธุรกิจได้” คุณเอี่ยมเกริ่น

คุณเอี่ยม อธิบายนิยามคำว่า ‘สมดุล’ เพิ่มด้วยว่า “ที่มาของคําว่าสมดุล มาจากการสร้างความสมดุลระหว่างวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ กับ คนที่ใช้ชีวิตในเมือง ที่ยังเดินห้าง กินอาหารทั่วไป ซึ่งผมเชื่อว่าสองฝั่งนี้ ใช่ว่าจะไปด้วยกันไม่ได้ มันสามารถมาบรรจบกัน และสร้างความสมดุลได้ คนเมืองก็สามารถสร้างสีเขียว ๆ สามารถปลูกต้นไม้ สามารถดูแลระบบนิเวศรอบ ๆ เมืองได้เหมือนกัน...

“ยิ่งไปกว่านั้น เราอยากจะสร้างโลกสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งยังเลือกใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เกิดแรงบันดาลใจ และทําให้เห็นว่าการเลือกใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่จําเป็นต้องหนีห่างไปจากธรรมชาติ หรือออกไปจากระบบนิเวศสีเขียว เพราะที่สุดแล้ว มันพึ่งพากันได้”

เมื่อข้ามผ่านคอนเซปต์แห่ง 'สวนสมดุล' ก็ได้เวลาที่คุณเอี่ยม จะอธิบายพื้นที่และหน้าที่ต่าง ๆ ในสวนแห่งนี้ โดยเขาเล่าไอเดียที่สอดแทรกในทุกๆ ส่วนของสวนสมดุลไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

“ที่นี่จะใช้ส่วนที่เป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร เป็นจุดสื่อสาร เพราะเป็นจุดที่จับต้องได้ง่าย ทุกคนที่มาก็ต้องกิน ต้องดื่ม และเราก็จะพูดเกี่ยวกับเรื่องวัตถุดิบจากธรรมชาติ วัตถุดิบออร์แกนิก หรือวัตถุดิบปลอดสารที่เรา (สวนสมดุล) ได้มาจากสิ่งที่เราปลูกเอง โดยข้างนอกรอบ ๆ จะใช้เป็นโชว์รูม ปลูกไม้ใหญ่ ๆ และต้นไม้เล็ก ๆ ร่วมกันกับการทําสวนเกษตรอินทรี...

นอกจากนี้ ก็จะมีเวิร์กช็อปเกี่ยวกับเรื่องกาแฟ คุณภาพดี, การศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศ, พาเด็กดูนก, เก็บไข่ไก่ ได้ไปสัมผัสกับไก่ที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่เคยสัมผัส...

"สำหรับไก่ที่เลี้ยงจะเป็นไก่ไข่ และใช้สำหรับในโซนคาเฟ่ทั้งหมด สิ่งที่สําคัญที่สุดของการเลี้ยงไก่คืออาหาร เราจะใช้เป็นอาหารไก่อินทรีย์ที่ทํามาจากพวกพืชอินทรีย์ทั้งหมด มีข้าวโพดอินทรีย์ ใบข้าว" 

นอกจากในโซนคาเฟ่ สวนปลูกพืช และฟาร์มไก่ไข่แล้ว คุณเอี่ยม ยังได้พูดถึงการเลี้ยงผึ้งชันโรง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของที่นี่ด้วย 

"สำหรับเจ้าผึ้งชันโรง เป็นเหมือนเครื่องตรวจวัดสารเคมี เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีความไวต่อสารเคมีมาก หากในพื้นที่รอบ ๆ มีระดับความรุนแรงของสารเคมีมากเกินไป รังผึ้งชันโรงก็จะร่อแร่ และอาจจะตายยกรังได้ ฉะนั้นหากมีรังผึ้งชันโรงที่สมบูรณ์ แข็งแรง ก็หมายความว่า พื้นที่รอบ ๆ ปลอดภัยจากสารเคมีนั่นเอง...

"โดยการเลี้ยงผึ้งชันโรงนั้น ต้องเลี้ยงแบบกระจายตัว ต้องวางห่าง ๆ กันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่หลากหลาย อาจจะได้ผลผลิตมากถึง 2-4 เท่าเลย เนื่องจากชันโรงเป็นแมลงตัวเล็ก สามารถตอมดอกไม้เล็ก ๆ หรือสมุนไพร เป็นตัวช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีววิทยา และเมื่อได้ศึกษาลงรายละเอียดแล้ว ก็พบว่าผึ้งชันโรงไม่ได้ดุร้ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ พวกมันน่ารัก และไม่ได้จ้องจะทำร้ายด้วย เท่านั้นยังไม่พอ ผึ้งชันโรงยังมีประโยชน์มาก ๆ และหากสูญพันธุ์ไป โลกก็จะขาดนักผสมพันธุ์เกสร จะขาดอาหาร และสุดท้ายมนุษย์ก็จะสูญพันธุ์ตามไปในที่สุด"

เมื่อถามถึงเรื่องผลตอบแทนจากการทำสวนสมดุล? คุณเอี่ยม กล่าวว่า “การที่ทําธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมในยุคนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เนื่องจากคนที่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม อาจจะยังมีไม่มากพอ ส่งผลให้รายได้ที่จะวนกลับมาเลี้ยงชีพก็ยังไม่ได้เยอะมาก เรียกว่าต้องทนลําบากในช่วงแรกพอสมควร เพื่อหวังผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

คุณเอี่ยม กล่าวเสริมว่า “แต่ในขณะเดียวกันผมรู้สึกว่าผม ‘จําเป็น’ ต้องทํา เพื่อที่อย่างน้อยเราจะได้เป็นต้นแบบ และทําให้คนอื่นเห็นว่าสามารถทําได้จริง ๆ และหากเราสำเร็จและมีเครือข่ายอื่น ๆ ที่ทําไปด้วยกันกับเรา คนที่จะทําตามหลัง ก็จะไม่ยากลำบากอย่างที่เราเป็นแล้ว”

ในช่วงท้าย คุณเอี่ยมได้ตอกย้ำเรื่องความสมดุลไว้อีกว่า “หัวใจหลักของความสมดุลที่ดีในการใช้ชีวิต อยู่ที่ระบบนิเวศ ถ้าเกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์หรือสามารถดูแลตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์ เราก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากระบบนิเวศนั้น ๆ ได้ความร่มเย็นกลับมา ได้อากาศที่ดีกลับมา เป็นผลพลอยได้ที่ทุกคนมักจะลืม เพราะมัวแต่โฟกัสที่ผลกําไรของมันว่าจะเป็นยังไง ให้ผลผลิตแบบไหน ซึ่งผมมองว่าเรื่องระบบนิเวศ เป็นเรื่องผลกระทบในระยะยาว ไม่ได้เห็นชัดเจนรวดเร็ว อาจจะไม่ใช่เพื่อรุ่นเรา แต่เพื่อรุ่นลูกหรือหลานของเราในอนาคต"

***FYI
‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home
ตั้งอยู่ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ไม่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวา จากวัดบางพลับ มาอีกประมาณ 500 เมตร
เปิด วันจันทร์-อังคาร 09.00-17.00 น. วันพุธ-อาทิตย์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)
สอบถาม โทร. 098-362-9894 หรือ facebook.com/somdulhome 

‘ตาหลอย’ วัย 70 ปี ปลื้มสุดขีด วิ่งลงเล่นน้ำทะเล ที่เกาะช้าง เผย ประทับใจ หาดสวย-น้ำใส เกิดมาเพิ่งเคยเห็น

(9 มี.ค.67) เวลา 08.30 น. คุณตาหลอย ทาพิลา อายุ 70 ปี ชาว อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เดินทางถึงเกาะช้าง จ.ตราด แล้ว โดยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด เป็นเจ้าภาพในการดูแลการเดินทาง ที่พักและอาหารทั้งหมด โดยจุดแรก เจ้าหน้าที่พาตาหลอยมาเข้าที่พักเช็กอินโรงแรม มารีน่า แซน โรงแรมหรู 5 ดาว บ้านคลองสน จ.ตราด หลังจากนั้นพนักงานโรงแรมได้พานั่งรถกอล์ฟไปยังชายหาดทันที

เมื่อคุณตาหลอยลงจากรถกอล์ฟ ได้รีบเดินไปยังชายหาดด้วยท่าทางดีใจ วิ่งไปเล่นน้ำอย่างสมใจอยาก ได้เล่นน้ำตามความฝันที่ไม่เคยได้สัมผัสตั้งแต่เกิดมาจนอายุ 70 ปี ซึ่งคุณตาหลอยใช้เวลาเล่นน้ำประมาณ 15 นาทีเท่านั้น เพราะเกรงว่าจะมีอาการป่วย

คุณตาหลอยบอกความรู้สึกว่า วันนี้ได้เห็นเกาะช้าง ได้เห็นน้ำทะเล ได้เล่นน้ำทะเลอย่างที่ตั้งใจไว้ และเกินฝันที่คาดไว้ เพราะแรกตั้งเป้าหมายไว้ว่าแค่อยากจะขี่ซาเล้งมาให้เห็นแค่เกาะช้าง เห็นน้ำทะเลเท่านั้น แต่ไม่ได้ข้ามฝั่งไปเกาะช้าง แต่วันนี้ชาวตราดให้การต้อนรับและช่วยเหลืออย่างดี จนทำให้ได้มาเล่นน้ำทะเลเกาะช้างในวันนี้ ประทับใจน้ำทะเลสวยเหมือนมรกต น้ำทะเลใส ไม่มีขยะ วันนี้ต้องขอบคุณสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตราด ที่ดูแลที่พัก อาหาร และขอบคุณท่าเรือเฟอร์รี่เกาะช้างที่ให้นั่งเรือข้ามฟากฟรี

อย่างไรก็ตาม สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตราดจะพาคุณตาหลอยไปบ้านสลักคอก พายเรือมาด รับประทานอาหารกลางวันที่ร้านแสงอรุณ และมื้อเย็นที่โรงแรมอัยยะปุระ

เปิดประวัติ ‘โรตารี่’ อายุยาวนานกว่า 100 ปี ความภาคภูมิใจของมาสด้า โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะ ‘เครื่องยนต์ลูกสูบสามเหลี่ยม’ แรงไม่ซ้ำใคร

(9 มี.ค.67) วันเสาร์สุดสัปดาห์แบบนี้ THE STATES TIMES จะขอพาทุกท่าน ย้อนเวลา ไปหาเครื่องยนต์ที่ถือได้ว่า เป็นตำนานที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ‘มาสด้า’ นั่นก็คือ ‘เครื่องโรตารี่’

ต้นกำเนิดของเครื่องยนต์โรตารี่ เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อปี 1919 เมื่อ มร. เฟลิกซ์ แวนเคิ้ล (Mr. Felix Wankel) มีความคิดริเริ่มที่จะสร้างเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำแบบเครื่องยนต์ลูกสูบทั่วๆไป โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก 'เครื่องจักรเทอร์ไบน์' จนกระทั่งออกมาเป็นรูปร่างคล้ายเครื่องยนต์ 4 จังหวะ จุดระเบิดด้วยการหมุนรอบตัวเอง และได้ทำการทดลองมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถออกแบบเป็น 'ลูกสูบสามเหลี่ยม' ขึ้นมา และเมื่อ มร. เฟลิกซ์ แวนเคิ้ล ได้เข้าทำงานในสถาบัน TES (Technical Institute of Engineering Study) จึงได้พัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในรถเพื่อการพาณิชย์ โดยนำโปรเจกต์นี้ไปเสนอต่อบริษัท NSU Motorenwerke AG ซึ่งเป็นบริษัทผลิตมอเตอร์ไซค์ และได้พัฒนาเครื่องยนต์โรตารี่ควบคู่กันไป ทำให้ 'เครื่องยนต์โรตารี่' เครื่องแรกถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1957 โดยใช้ชื่อว่า DKM 54 ในรถมอเตอร์ไซค์ รุ่น 50 ซี.ซี. สามารถทำความเร็วได้ถึง 192.5 กม./ชม. ที่สำคัญสามารถคว้าชัยชนะในรายการ 'World Grand Prix Championship' ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาให้กับผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก

ในปี 1961 Mr.Tsuneji Matsuda ประธาน บริษัท Toyo Kogyu (โตโย โคเกียว) ผู้ผลิตรถยนต์จากแดนอาทิตย์อุทัยภายใต้ชื่อ 'มาสด้า' ได้ทำการซื้อลิขสิทธิ์มาพัฒนาใหม่ จนกระทั่งในเดือนเมษายน ปี 1963 Mr. Keichi Yamamoto ก็ได้ทำการพัฒนาขึ้นมาสำเร็จ แต่ยังพบข้อบกพร่องบางอย่างเกี่ยวกับ Apex Seal และ Oil Seal ซึ่งเสียหายง่าย จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท Nippon Piston Ring & Oil Seal Co. เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้สำเร็จ

ต่อมาในปี 1967 #มาสด้าก็ได้สร้างความฮือฮาขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวรถคันแรก ที่ใช้ #เครื่องยนต์โรตารี่ ด้วย 'รุ่น Cosmo Sport 110S' ซึ่งเป็นรถยนต์มาสด้ารุ่นแรก ที่ใช้เครื่องยนต์โรตารี่หลังจากนั้นจึงได้เริ่มผลิตและจำหน่ายรถยนต์เครื่องยนต์โรตารี่ ตามออกมาอีกหลายรุ่น อาทิ แฟมิเลีย โรตารี่คูเป้ (R100 ในต่างประเทศ) ซาวันน่า(RX-3) #RX-7 และรุ่นยูโนส คอสโมมาสด้าถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกและรายเดียว ที่ประสบความสำเร็จในการใช้เครื่องยนต์โรตารี่ ในเชิงพาณิชย์จนถึงปัจจุบันโดยเริ่มมาจากการใช้เครื่องยนต์โรตารี่ในรถยนต์รุ่น Cosmo Sport 110S และทำให้ต่อมารถยนต์มาสด้าหลายรุ่น ก็ได้นำเอาเครื่องยนต์โรตารี่มาใช้

นับจากรถยนต์มาสด้า ที่ใช้เครื่อง โรตารี่ ปรากฏโฉมออกสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาร่วม 50 ปี ของเครื่องยนต์นี้ที่ถูกผลิตและจำหน่ายไปทั่วโลกมากกว่า 2 ล้านคัน ซึ่งในระหว่างนั้นทาง มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่นมีโอกาสผลิตรุ่นพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี จึงได้เปิดตัวมาสด้า #RX-8รุ่นพิเศษ ในตลาดญี่ปุ่น โดยรุ่นพิเศษนี้ได้รับการพัฒนามาจากรุ่น RX-8 Type S(เกียร์ธรรมดา 6 สปีด) และ Type E(เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด) ถึงแม้ว่าเครื่องยนต์โรตารี่ จะได้หยุดการผลิตไปในบางช่วงเวลาเนื่องจากความเข้มงวดในบางตลาด แต่มาสด้าก็ไม่เคยที่จะหยุดพัฒนาและวิจัย

จนกระทั่งวันนี้ตำนานที่ถูกเล่าขานมาอย่างยาวนาน ได้ถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง นั่นคือ เครื่องยนต์โรตารี่ เจเนอเรชั่นใหม่ ที่มีชื่อเรียกว่า SKYACTIV-R หรือ เครื่องยนต์โรตารี่ที่แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของมาสด้า ในการกล้าที่จะก้าวสู่ความท้าทายใหม่ๆ และกล้าที่จะต่างด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด โดยได้พัฒนาขึ้นเป็นรถสปอร์ตต้นแบบ มาสด้าRX-Vision ที่ใช้เครื่องยนต์โรตารี่ เจเนอเรชั่นใหม่ สกายแอคทีฟ-อาร์ เป็นขุมพลังในการขับเคลื่อน ซึ่ง มาสด้า มอเตอร์คอร์ปอเรชั่น ได้เผยโฉมเป็นครั้งแรกในงาน โตเกียว มอเตอร์ โชว์ เพื่อสะท้อนถึงวิสัยทัศน์แห่งอนาคต ด้วยการเป็นรถสปอร์ตวางหน้า และขับเคลื่อนล้อหลังที่มาพร้อมรูปลักษณ์หรูหรางดงามตามแบบฉบับ โคโดะ ดีไซน์ อันเลื่องชื่อของมาสด้า

นี่คือเรื่องราวความเป็นมาบางส่วนเกี่ยวกับเครื่องยนต์โรตารี่ อันเป็นต้นกำเนิดของรถสปอร์ตมาสด้าหลากหลายรุ่น และส่งผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

‘ฟลุค-นาตาลี’ ฉลองวิวาห์อย่างยิ่งใหญ่ หลังเลื่อนมานานเพราะโควิด ทำให้ ‘น้องนาตาชา’ ลูกสาวสุดที่รัก ได้มาร่วมงานแต่งงานของพ่อแม่ด้วย

(9 มี.ค.67) หลังจากที่คู่รักคู่หวาน ‘ฟลุค’ เกริกพล มัสยวาณิช และ ‘นาตาลี เจียรวนนท์’ เข้าพิธีหมั้นและมงคลสมรสแบบประเพณีไทยเมื่อต้นปี 2563 แต่ต้องเลื่อนงานพิธีฉลองมงคลสมรสออกไปนานถึง 4 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด

ล่าสุดมีข่าวดีรับปีมังกร เมื่อ ‘ฟลุค’ และ ‘นาตาลี’ ถือฤกษ์ดีจูงมือกันเข้าสู่พิธีฉลองมงคลสมรสในวันนี้ที่ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ท่ามกลางบรรยากาศของความรักแสนอบอุ่นสไตล์สวนอังกฤษ ซึ่งเต็มไปด้วยดอกไม้โทนสีชมพูสีโปรดของเจ้าสาว

ทั้งนี้ก่อนที่งานฉลองในช่วงเย็นจะเริ่มขึ้น เจ้าบ่าวและเจ้าสาว ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงความรู้สึกหลังรอคอยมานานถึง 4 ปี โดย ‘ฟลุค’ กล่าวก่อนว่า “นานมากจริงๆ กว่าจะถึงวันนี้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะว่าได้มีน้องนาตาชามาด้วย”

ด้าน ‘นาตาลี’ เสริมว่า “จริงๆ งานนี้ต้องเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์โลกที่มีโรคระบาดโควิดทำให้เราต้องเลื่อนมา ในที่สุดก็มาเป็นวันนี้

แต่ว่าเราจัดงานแต่งตอนเช้าไปแล้วเหลือแค่งานฉลองที่จะมีขึ้นในวันนี้ แล้วก็ต้องขอบคุณพี่ฟลุคด้วยที่ให้สิทธิ์เรา 100% เราก็จัดการเต็มที่อยากให้งานออกมาดีที่สุด”

ในส่วนของชุดเจ้าสาว เจ้าบ่าวสุดหล่อเผยว่า “ที่โหดสุดคือชุดเจ้าสาว หลายคนจะคิดว่าจัดงานแพง แพงครับ แต่ชุดเจ้าสาวไม่ได้แพ้งาน ตอนแรกมันมีการตัดสินใจว่าจะจัดหรือไม่จัดดี

แต่ได้คำนวณแล้วว่าสิ่งที่เราจ่ายไปแล้วมันเยอะกว่า ฉะนั้นก็จัดเถอะ ไม่อย่างนั้นชุดเจ้าสาวที่ซื้อไว้ตั้งแต่ 4 ปีที่แล้วจะใส่ไปไหนได้ ซึ่งงานวันนี้ในส่วนของน้องลีจะมีทั้งหมด 3 ชุด ชุดแถลงข่าว ชุดพิธี และชุดอาฟเตอร์ปาร์ตี้ เรื่องราคาขอไม่บอกแล้วกัน แต่เอาเป็นว่าไม่ได้ถึง 8 หลักขนาดนั้น”

สำหรับงานฉลองมงคลสมรสที่มาลงตัวในวันนี้ ‘นาตาลี’ บอกว่า “เพิ่งตัดสินใจกันได้ว่าจะจัดงานเป็นวันนี้เมื่อปลายเดือนมกราคม เท่ากับว่าเหลือเวลาอีกแค่เดือนเดียว ตอนนั้นก็คิดว่าทัน

แต่กลายเป็นว่าทุกอย่างมันกระชั้นไปหมด ยังขาดอะไรอีกเยอะมาก รวมถึงมีหลายอย่างที่ต้องเปลี่ยนใหม่ อย่างชุดของนาตาชากับชุดพี่ฟลุคก็เพิ่งเสร็จเมื่อคืน ว่ากันตามตรงงานเราเพิ่งจะเสร็จเมื่อเช้ามั้ง(หัวเราะ)”

“แต่สิ่งที่พิเศษที่สุดของงานในวันนี้ก็คือมีน้องนาตาชามาร่วมงานด้วย อันนี้เรารู้สึกว่าเป็นความโชคดี ถึงแม้เราจะต้องเลื่อนงานฉลองจากตอนนั้นก็ตาม แต่ก็ต้องรอดูในช่วงเย็นของวันนี้ว่าเขาจะทำตามที่คิดหรือเปล่า

เพราะเขาเป็นคนที่แล้วแต่อารมณ์มาก จริงๆ การแต่งงานที่มีลูกสาวมาร่วมงานด้วย พูดแล้วมันก็ปลื้มนิดหนึ่ง การได้มองไปแล้วเห็นว่าเขามาอยู่ตรงนี้ด้วย

กลายเป็นความรู้สึกว่าในความโชคร้ายของตอนนั้นที่ถูกเลื่อนงาน ซึ่งเราก็ร้องไห้เยอะมากแล้ว มันช่างเป็นเรื่องโชคดีจังเลยที่เขาได้มาร่วมโมเมนต์และมีภาพที่น่ารักเป็นความทรงจำทั้งชีวิต

ซึ่งหลายคนก็จะถามว่าผ่านมา 4 ปีแล้ว ยังจัดงานแต่งอีกเหรอไม่เหนื่อยเหรอ ถ้าในส่วนตัวเราไม่เคยคิดจะล้มเลิก สถานการณ์วิกฤตต่างๆ เราควบคุมไม่ได้ แต่เราจะไม่ปล่อยให้วิกฤตมาทำลายความตั้งใจของเราได้ ยังไงก็จะจัดแต่ว่ารอเวลาที่เหมาะสม” เจ้าสาวกล่าวทั้งน้ำตาแห่งความตื้นตัน

เมื่อถามถึงแพลนมีลูกคนที่สอง นาตาลี กล่าวว่า “เรื่องนี้กำลังถกกันอยู่เลยว่าเอายังไงดี ตอนแรกเราอยากมี 2 คน ผู้หญิงหนึ่งคน ผู้ชายหนึ่งคน แต่พอมีนาตาชามาปุ๊บซึ่งเป็นผู้หญิงแล้วเขาน่ารักมากจริงๆ

เราฟินมากจนรู้สึกว่าหรือไม่ต้องมีอีกคนแล้ว เพราะเขาเติมเต็มจนเราอยากทุ่มเวลาให้อย่างเต็มที่ แต่สักพักพอผ่านเวลามาก็รู้สึกว่าหรือจะมีน้องให้เขาดี แล้วถ้ามีจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ซึ่งก็ยังเคาะไม่ได้”

ในส่วนของคำมั่นสัญญา ‘นาตาลี’ เผยว่า “ตั้งแต่คบกันมาเราไม่มานั่งมีคำมั่นสัญญาอะไร ส่วนใหญ่จะใช้เป็นการกระทำมากกว่า แต่ถ้าถามว่า 4 ปีที่แล้วกับตอนนี้เปลี่ยนไปมั้ย บอกเลยเปลี่ยนไปมากเพราะมันเป็นคำว่าครอบครัวแล้ว เมื่อก่อนเราเป็นคู่รัก ช่วงหลังพอมีลูกมันก็กลายเป็นครอบครัวเต็มๆ”

ต่อข้อถามว่า 14 ปีที่ครองรักกันมา ถือเป็นการพิสูจน์ทุกคำสบประมาทไหม ‘ฟลุค’ บอกว่า “มันก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ผมรู้สึกว่าเราเข้ากันได้ตั้งแต่ต้นแล้ว

เราเป็นคนที่คล้ายกันในหลายๆ เรื่อง จนถึงวันนี้ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่ติดตามเราและให้กำลังใจมาตลอด ซึ่งเดี๋ยวนี้มีแฟนๆ ของน้องนาตาชาและอชิเยอะมาก เราก็ดีใจที่ทุกคนเอ็นดูลูกของเรา”

“สำหรับพี่ฟลุคก็ขอบคุณที่ตามใจตลอด ไม่ว่าเราจะทำอะไรที่ผ่านมาทั้งหมดพี่ฟลุคก็จะไม่ใช่คนที่พูดจาหวานๆ ไม่ใช่คนโรแมนติก แต่เขาค่อนข้างมีการกระทำที่ให้เรารู้ว่าเขารักเรานะ ที่สำคัญคือเขาเคารพความคิดเรา ที่ผ่านมาตลอดทั้ง 14 ปีส่วนใหญ่เขาก็จะเป็นแบบนี้” ‘นาตาลี’ กล่าวทิ้งท้ายขอบคุณสามีทั้งน้ำตา

12 มีนาคม พ.ศ. 2558 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงพระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิต ม.พะเยา “การงานใดจะสำเร็จลุล่วงได้ ต่อเมื่อทุกคนรู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน”

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีการศึกษา 2556 ณ หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา 

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทความว่า…

“การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้มีความรู้ทางวิชาการขั้นสูง และสามารถใช้ความรู้นั้นประกอบอาชีพการงานสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ตน แก่ส่วนรวมได้ บัณฑิตในฐานะที่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับสูง จึงต้องตั้งใจนำความรู้ที่เล่าเรียนมาไปใช้ประกอบกิจการงานให้บังเกิดผล แต่การที่จะทำงานให้บรรลุถึงความสำเร็จได้จริงนั้น สำคัญที่แต่ละคนจะต้องรู้หน้าที่ของตนและรับผิดชอบต่อหน้าที่นั้นอย่างจริงจังหนักแน่น กล่าวคือ ในการปฏิบัติกิจการงาน บัณฑิตจะต้องทำความเข้าใจให้ทราบชัดว่า ตนมีหน้าที่อะไรแล้วตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวงจนสำเร็จลุล่วงด้วยความเอาใจใส่ พร้อมทั้งพยายามปรับปรุงพัฒนางานในหน้าที่ให้ดีขึ้นเจริญขึ้นอยู่เสมอ เมื่อทุกคนรู้หน้าที่และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน การงานทุกอย่างที่ทำก็จะสำเร็จผลอย่างมีประสิทธิภาพ และผลสำเร็จอันเกิดจากการปฏิบัติงานของแต่ละคนนั้น นอกจากจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเองแล้ว ยังประกอบเกื้อกูลกันเป็นความเจริญก้าวหน้าของส่วนรวมด้วย จึงขอให้บัณฑิตทุกคนรู้หน้าที่ของตนและรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างเคร่งครัดจะได้สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ที่แท้จริงและยั่งยืนให้แก่ตนเองและส่วนรวมได้สืบไป”

ต่อจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงหล่อพระเกศพระพุทธรูปนาคปรก ส.ธ. ประจำมหาวิทยาลัยพะเยา ณ มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

13 มีนาคม พ.ศ. 2553 'ในหลวง ร.9' พระราชทานชื่อ ‘ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย’ เทิดพระเกียรติน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ ’สมเด็จย่า‘

ท่าอากาศยานเชียงรายเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2535 สังกัดกรมการบินพาณิชย์ (บพ.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งใช้ชื่อว่า ‘สนามบินบ้านดู่’ ต่อมา บพ.ได้ถูกโอนมาขึ้นอยู่กับการบริหารของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2541 และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน ตามแนวนโยบายของรัฐบาล ภายใต้ชื่อ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545 ถึงปัจจุบัน

ต่อมา คณะกรรมการ ทอท. มีมติเห็นชอบให้เพิ่มชื่อท่าอากาศยานเชียงรายเป็น ‘ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย’ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามที่ได้มีการร้องขอจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดเชียงราย ดังนั้น ทอท. จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา

14 มีนาคม พ.ศ. 2565 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงแสดงปาฐกถาในการประชุมวิชาการฯ ด้านสิ่งแวดล้อม “การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องใส่ใจระยะยาว เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 65 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อม ‘The 3rd International Conference on Environment, Livelihood, and Services 2022’ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ ตามที่ได้พระราชทานพระราชานุมัติ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา

โดยโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 14 - 16 มีนาคม 2565 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำเสียด้วยวิธีทางธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักศึกษา ได้แสดงผลงานวิจัย และสร้างเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม

ในการนี้ ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงของโลก และการช่วยเหลือให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง ผ่านโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา’ โดยทรงเน้นย้ำว่าถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกหยุดชะงักลงชั่วคราว แต่ช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดน้อยลง การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องให้ความใส่ใจระยะยาว เพื่อเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้จากการที่ทรงก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโครงการด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่มูลนิธิฯ ดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ, โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ล้วนเป็นโครงการที่ดำเนินการในระดับท้องถิ่น แต่ส่งผลระดับนานาชาติ

ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มูลนิธิชัยพัฒนา ยังจัดตั้ง ‘กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด-19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)’ ขึ้น เพื่อจัดซื้อและจัดหาอุปกรณ์รวมทั้งนวัตกรรมทางการแพทย์ ช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ รวม 122 แห่งใน 56 จังหวัด รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนปลูกพืชอาหารเพื่อการบริโภค นับว่าเป็นการพึ่งพาตนเองได้อีกทางหนึ่ง”

การประชุมครั้งนี้ มีหัวข้อสำคัญ ได้แก่ การปรับตัวและจัดเตรียมทรัพยากรธรรมชาติ, การเตรียมความพร้อมรับภัยธรรมชาติและมลภาวะแวดล้อม , เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม มีวิทยากรพิเศษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จากต่างประเทศ ร่วมบรรยาย อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

‘ม้า อรนภา’ ปลื้ม!! ‘ลิซ่า’ โผล่ทักทายหลังบังเอิญเจอในเกาหลี ชื่นชม!! เป็นเด็กน่ารัก ไม่แปลกใจที่โด่งดังระดับโลกขนาดนี้

(13 มี.ค. 67) ‘ม้า อรนภา กฤษฎี’ นักแสดงอาวุโส เผยแพร่รูปถ่ายคู่กับ ‘ลิซ่า ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘ลิซ่า BlackPink’ ผ่านทางเฟซบุ๊ก ‘Ornapa Krisadee’ ระบุว่า…

มาเกาหลีครั้งนี้ ดีใจมาก เดินดูเสื้ออยู่ในร้านแบรนด์หนึ่ง ใน section ที่เงียบสงบ ได้ยินเสียงผู้หญิง 2 คนคุยกันเป็นภาษาอังกฤษที่โซฟา แต่เราไม่ได้สนใจ นอกจากดูเสื้อไปเรื่อย ๆ พอเดินใกล้ 2 คนที่นั่งอยู่นั้น ก็มีเสียงผู้หญิงคนหนี่งเรียก “พี่ม้า” เราหันไปมองเสียงที่อยู่ใกล้มาก ๆ เห็นหญิงสาวใส่หน้ากากยืนอยู่ ดิฉันทำหน้างง ผู้หญิงคนนั้นพูดว่า “ลิซ่าค่ะ” ฉันก็ยังงงอยู่ลิซ่าไหน จึงบอกว่า ถอดหน้ากากสิ พอถอดมาคือ ลิซ่า จริง ๆ ด้วย”

นักแสดงอาวุโส ระบุเพิ่มเติมว่า “ดิฉันตกใจมาก และดีใจมาก ๆ ที่ได้เจอเธอ ดิฉันจึงพูดว่า ขอบคุณมากนะที่ทักพี่ (คนดังระดับโลกทักดิฉัน) ดิฉันขอกอดนาง และตามด้วยขอถ่ายรูปได้ไหม ต้องถามเพราะนางมากับผู้จัดการ นางบอกว่าได้ แต่ขอทาปากหน่อย เพราะพึ่งลงเครื่องมาจากปารีส ยังไม่ได้ล้างหน้าเลย แต่มาช้อปปิ้งได้อิอิ เพราะคืนนี้นางต้องไปงานของ Bvlgari จึงได้รูปนี้มา โดยการขออนุญาตเป็นที่เรียบร้อย เราคุยกันอยู่นานพอสมควร ด้วยความภาคภูมิใจที่เธอก้าวมาอยู่ถึงจุดนี้ได้ ปลื้มใจนางจริง ๆ นางบอกว่าจะไปเล่าให้แม่ฟังว่าเจอใคร และบอกว่าไม่คิดจะได้เจอพี่ม้า นางตื่นเต้นพอกับเรา ใช้เวลาเม้าส์นาน เราเลยบอกด้วยว่าบอกผู้จัดการเธอด้วยนะว่าพี่เป็นใคร จะได้ไม่หงุดหงิด แต่ผู้จัดการนางก็เป็นคนถ่ายรูปให้เรา ดีใจเป็นที่สุดที่ลิซ่าทักดิฉัน เด็กคนนี้น่ารักจริง ๆ ถึงไปได้ไกลขนาดนี้ ถึงยิ่งใหญ่ระดับโลกขนาดนี้”

‘ในหลวง ร.4’ โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ ‘ราชกิจจานุเบกษา’ เพื่อให้คนไทยได้รู้ข่าวราชการแผ่นดินทั้งใน-นอกประเทศ

‘ราชกิจจานุเบกษา’ ถือเป็นสิ่งพิมพ์ประเภทวารสารฉบับแรกของรัฐไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ขึ้น เริ่มออกฉบับแรกเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2401 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศคำสั่งทางราชการ โดยเฉพาะในการประกาศกฎหมาย ซึ่งมีการรับรองในกฎหมายว่า กฎหมายทั้งหลายต้องลงเผยแพร่ในหนังสือนี้ก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้ และเผยแพร่ให้ส่วนราชการและราษฎรได้ทราบทั่วกัน มีกำหนดออกทุก 15 วัน แต่การจัดพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาในสมัยเริ่มแรกนี้ ตีพิมพ์เผยแพร่ได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ก็ต้องหยุดกิจการไป

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นความสำคัญของหนังสือราชกิจจานุเบกษา และทรงหวังที่จะให้ราษฎรได้รับทราบข่าวคราวและราชการแผ่นดินทั้งในและนอกประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษาอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้พิมพ์ออกเผยแพร่ด้วยวิธีการจำหน่ายในอัตราปีละ 8 บาท โดยมีกำหนดออกในวันขึ้น 1 ค่ำ ขึ้น 9 ค่ำ แรม 1 ค่ำ และแรม 9 ค่ำ ของทุกเดือน แต่ราชกิจจานุเบกษาที่พิมพ์ออกในสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนต้น ก็ออกไม่สม่ำเสมอนัก ต่อมาจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเปลี่ยนแปลงกำหนดออกราชกิจจานุเบกษาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2432 โดยมีกำหนดออกทุกวันอังคาร หลังจากนั้น การจัดทำราชกิจจานุเบกษาก็ได้ดำเนินสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษา ในสมัยแรกเริ่ม สมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานพิมพ์ พิมพ์ขึ้นในปีมะเมีย สัมฤทธิศก 1220 และปีมะแม เอกศก 1221 ต่อกัน 2 ปี เป็นหนังสือหลายร้อยฉบับ สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ทราบข้อราชการต่าง ๆ  ครั้นมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ พระดำริว่า “หนังสือราชกิจจานุเบกษา ในรัชกาลที่ ๔ เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ไม่ควรให้สูญหายไป” จึงได้ทรงรวบรวมต้นฉบับเท่าที่หาได้มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นจำนวน 500 เล่ม โดยอักขรวิธีที่พิมพ์ยังคงอยู่ตามเดิมมิได้มีการแก้ไขแต่ประการใด แต่การพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ สิ้นพระชนม์เสียก่อน พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล ได้ทรงรับธุระดำเนินงานจนแล้วเสร็จ และได้เย็บผูกเป็นเล่มนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน ที่เหลือได้จำหน่ายในราคาเล่มละ 5 บาท

ในตอนแรกเริ่มนั้น ราชกิจจานุเบกษา คือ หนังสือหมายประกาศการเล็กน้อยต่าง ๆ จากผู้เป็นพระมหากษัตริย์ มาในวันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นหนึ่งค่ำ ปีมะเมีย ยังเป็นนพศก เป็นปีที่แปด ในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งในรัชกาลปัจจุบันนี้ ให้ข้าราชการทุกตำแหน่งทั้งในกรุงและนอกกรุงและราษฎรทั้งปวงทราบโดยทั่วกันและทำตาม ประพฤติตาม และรู้ความตามสมควร เพื่อไม่ทำให้ประกาศผิดพระราชดำริ พระราชประสงค์ และไปเล่าลือ เข้าใจความผิด ๆ ไป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริตริตรองในการที่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้เรียบร้อยสำเร็จประโยชน์ทั่วถึงให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงทรงพระวิตกว่าราชการต่าง ๆ ซึ่งสั่งให้กรมวังให้สัสดีและทะลวงฟัน เดินบอกตามหมู่ตามกรมต่าง ๆ นั้นก็ดี การที่ยังบังคับให้นายอำเภอมีหมายป่าวประกาศแก่ราษฎรในแขวงนั้น ๆ ก็ดี พระราชบัญญัติใหม่ ๆ ตั้งขึ้นเพื่อที่จะห้ามสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือบอกสิ่งที่ควรทำก็ดี การเตือนสติให้ระลึกและถือพระราชกำหนดกฎหมายเก่าก็ดี ตั้งขึ้นและเลิกอากรภาษีต่าง ๆ และพิกัดภาษีนั้น ๆ และลดหย่อนลงหรือขึ้นพิกัดของภาษีนั้น ๆ ก็ดี การเกณฑ์และขอแรงและบอกบุญก็ดี ว่าโดยสั้น ๆ คือเหตุใด ๆ การณ์ใด ๆ ที่ควร ช้าราชการทั้งปวงและราษฎรทั้งหลายพึงรู้โดยทั่วกันนั้น แต่ก่อนเป็นแต่ทำหมายหรือคำประกาศเขียนด้วยดินสอสีดำลงประกาศส่งกันไปส่งกันมา และให้ลอกต่อกันไปผิด ๆ ถูก ๆ ก็เพราะหนังสือ หรือคำประกาศนั้นมีน้อยฉบับ ผู้ที่ได้อ่านและเข้าถึงมีน้อยทำให้ไม่ทั่วถึง ว่าการพระราชประสงค์และประสงค์ของผู้ใหญ่ในแผ่นดิน จะบังคับมาและตกลงประการใด ข้าราชการทั้งปวงและราษฎรทั้งปวงก็ไม่ทราบทั่วกัน ได้ยินแต่ว่ามีหมายประกาศบังคับมา เมื่อการณ์นั้นเกี่ยวข้องกับตัวใครก็เป็นแต่ถามกันต่อไป ผู้ที่จะได้อ่านต้นฉบับน้อยคน บางคนถึงจะได้อ่านก็ไม่เข้าใจ

เพราะราษฎรที่รู้หนังสือในขณะนั้นมีน้อยกว่าผู้ที่ไม่รู้หนังสือ หนังสือก็อ่านไม่ออก ดวงตราของขุนนางในตำแหน่งก็ดูไม่เป็น ซึ่งจะบังคับใช้เรื่องอะไรก็ดูไม่เป็น เห็นตราแดง ๆ ก็พากันกลัว ผู้ที่ถือหนังสือว่าว่าอย่างไรก็เชื่อหมด เพราะฉะนั้นจึงมีคนคดโกง แต่งหนังสือเป็นท้องตราอ้างว่ารับสั่งจากวังหลวงและวังหน้า และเจ้านายเสนาบดีที่เป็นที่นับถือเคารพยำเกรงของราษฎร แล้วก็บังคับหลอกลวงไปต่าง ๆ นานา ด้วยการไม่เป็นธรรม ทำให้ราษฎรเดือดร้อน และเสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน และพระนามเจ้านาย และชื่อขุนนาง เพราะฉะนั้นพระราชดำริที่ให้มีการออกพระราชกิจจานุเบกษาก็เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการตีพิมพ์หนังสืออย่างหนึ่ง มีชื่อภาษาสันสฤตว่า ‘ราชกิจจานุเบกษา’ แปลว่าหนังสือเป็นที่เพ่งดูราชกิจ มีตรารูปพระมหามงกุฎและฉัตรขนาบสองข้างดวงใหญ่ ตีในเส้นดำกับหนังสือนำหน้าเป็นอักษรตัวใหญ่ว่า ‘ราชกิจจานุเบกษา’ อยู่เบื้องบนบรรทัดทุกฉบับ เป็นสำคัญ แจกมาแก่คนต่าง ๆ ที่ควรรู้ทุกเดือน ทุกปักษ์

17 มีนาคม พ.ศ. 2509 'ในหลวง ร.9' ทรงพระราชทาน ‘ปลานิล’ ให้กรมประมงเพาะขยายพันธุ์ พัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจสู่การสร้าง ‘อาชีพ-รายได้-อาหาร’ ให้คนไทย

'ปลานิล' เป็นปลาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนชาวไทย มีต้นกำเนิดมาจากพันธุ์ปลา Nile tilapia จำนวน 50 ตัว ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลี้ยงไว้ในบ่อที่สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต จนแพร่ขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ปลาชนิดนี้เจริญเติบโตดี เลี้ยงง่าย และเนื้อมีรสชาติดี เหมาะที่จะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของประชาชนทั่วไป พระองค์จึงพระราชทานปลาที่เพาะเลี้ยงจากสวนจิตรลดาจำนวน 10,000 ตัว แก่กรมประมง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 เพื่อขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่ประชาชนเพื่อนำไปเลี้ยงในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า ‘ปลานิล’ ปัจจุบันปลานิลเป็นปลาที่นิยมบริโภคโดยทั่วไปในประเทศ และสามารถส่งออกนำรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าถึงประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี

‘ปลานิล’ เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ง่าย มีคุณลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น กินอาหารได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์น้ำเล็กๆ และมีรสชาติดี จนตอนนี้กลายเป็นปลาที่เราสามารถหาพบได้ตามแหล่งธรรมชาติ และเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยบริโภคมากที่สุดในปัจจุบัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top