‘สวนสมดุล’ พื้นที่เชื่อมคนเมืองกับธรรมชาติเข้าด้วยกัน

ต้องยอมรับว่าวันนี้สังคมโลกในปัจจุบัน เริ่มตระหนักและพูดถึงเรื่องการให้ความสำคัญกับการต่อสู้/ฝ่าฟันปัญหาโลกร้อนและภาวะเรือนกระจกกันตั้งแต่ระดับโลก, ประเทศ มาสู่ชุมชน ภายใต้บริบทแห่งการสร้างสังคมสีเขียว ปลอดมลพิษ และลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล เพื่อทะนุถนอมดูแลโลกใบนี้ให้อยู่กับมนุษยชาติต่อไปอีกนานแสนนานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การฟูมฟักสังคมสีเขียว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคนี้ ยุคที่ทุกอย่างอิงแนบไปกับภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการผลิต และเผาผลาญทรัพยากรมหาศาล เพื่อได้มาซึ่งผลลัพธ์แห่งการแข่งขัน รวมทั้งผู้คนที่ขาดความเข้าอกเข้าใจในธรรมชาติ จนหลงลืมว่าชีวิตควรแนบชิดกับธรรมชาติในบางจังหวะ ที่หากทำได้มากเท่าไร ก็อาจจะเป็นแรงเหวี่ยงสำคัญในการปลุกจิตสำนึกแห่งความรักในโลกได้อย่างจริงจังขึ้น

การชวนมนุษย์ให้ค่อยๆ หลุดเข้ามาสู่โลกที่เป็นมิตร โลกที่เต็มไปด้วยกลิ่นแห่งอายแห่งชีวิตที่คลอเคล้าบนวิถีธรรมชาติ จึงเป็นบทบาทของผู้ที่พร้อมจะสละตนมาเนรมิตบางสิ่งด้วยความตั้งใจ แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ของสังคม

ด้วยเหตุนี้ THE STATES TIMES จึงอยากพาผู้คนที่ยังขาดจังหวะชีวิตกับวิถีธรรมชาติ มาเริ่มต้นจากการสูดอากาศที่ ‘สวนสมดุล’ หรือ ‘Somdul Agroforestry Home’ อีกหนึ่งสถานที่ตอบโจทย์ผู้คนที่อยากซึมซับในวิถีแห่งธรรมชาติใกล้กรุง เพื่อปรับความสมดุลให้ชีวิต ผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย ภายใต้จุดเด่นแห่งการพัฒนาเกษตรกรรมเชิง ‘วนเกษตร’ ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เรียกว่า ‘ความสุขอย่างยั่งยืน’

'เอี่ยม' อติคุณ ทองแตง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Somdul Agroforestry Home’ ได้อธิบายคุณค่าแห่ง 'สวนสมดุล' ไว้อย่างน่าสนใจกับยูทูบช่อง ‘Health Addict’ โดยระบุว่า…

‘Somdul Agroforestry Home’ หรือแปลเป็นภาษาไทยก็คือ ‘วนเกษตร’ เป็นการทําเกษตรที่พึ่งพาอาศัยรวมอยู่กับป่า จุดเริ่มต้นของที่นี่ (สวนสมดุล) เริ่มมาจากกลุ่มคนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมาทั้งหมดเป็นกลุ่มนักอนุรักษ์ มีความรักในธรรมชาติเป็นพื้นฐาน และก็เริ่มมองหาธุรกิจ ที่สามารถจะอยู่ร่วมกับป่า ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งเขียว ๆ รอบ ๆ ตัวเรา

“บทสรุปที่เลือกปักหมุดใน 'วนเกษตร' เพราะผมอยากทําให้คนอื่นเห็นว่า ใครๆ ก็สามารถทําได้เหมือนกัน และเราสามารถนำผลผลิตเชิงวนเกษตรมาใช้ในเชิงธุรกิจได้” คุณเอี่ยมเกริ่น

คุณเอี่ยม อธิบายนิยามคำว่า ‘สมดุล’ เพิ่มด้วยว่า “ที่มาของคําว่าสมดุล มาจากการสร้างความสมดุลระหว่างวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ กับ คนที่ใช้ชีวิตในเมือง ที่ยังเดินห้าง กินอาหารทั่วไป ซึ่งผมเชื่อว่าสองฝั่งนี้ ใช่ว่าจะไปด้วยกันไม่ได้ มันสามารถมาบรรจบกัน และสร้างความสมดุลได้ คนเมืองก็สามารถสร้างสีเขียว ๆ สามารถปลูกต้นไม้ สามารถดูแลระบบนิเวศรอบ ๆ เมืองได้เหมือนกัน...

“ยิ่งไปกว่านั้น เราอยากจะสร้างโลกสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งยังเลือกใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เกิดแรงบันดาลใจ และทําให้เห็นว่าการเลือกใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่จําเป็นต้องหนีห่างไปจากธรรมชาติ หรือออกไปจากระบบนิเวศสีเขียว เพราะที่สุดแล้ว มันพึ่งพากันได้”

เมื่อข้ามผ่านคอนเซปต์แห่ง 'สวนสมดุล' ก็ได้เวลาที่คุณเอี่ยม จะอธิบายพื้นที่และหน้าที่ต่าง ๆ ในสวนแห่งนี้ โดยเขาเล่าไอเดียที่สอดแทรกในทุกๆ ส่วนของสวนสมดุลไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

“ที่นี่จะใช้ส่วนที่เป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร เป็นจุดสื่อสาร เพราะเป็นจุดที่จับต้องได้ง่าย ทุกคนที่มาก็ต้องกิน ต้องดื่ม และเราก็จะพูดเกี่ยวกับเรื่องวัตถุดิบจากธรรมชาติ วัตถุดิบออร์แกนิก หรือวัตถุดิบปลอดสารที่เรา (สวนสมดุล) ได้มาจากสิ่งที่เราปลูกเอง โดยข้างนอกรอบ ๆ จะใช้เป็นโชว์รูม ปลูกไม้ใหญ่ ๆ และต้นไม้เล็ก ๆ ร่วมกันกับการทําสวนเกษตรอินทรี...

นอกจากนี้ ก็จะมีเวิร์กช็อปเกี่ยวกับเรื่องกาแฟ คุณภาพดี, การศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศ, พาเด็กดูนก, เก็บไข่ไก่ ได้ไปสัมผัสกับไก่ที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่เคยสัมผัส...

"สำหรับไก่ที่เลี้ยงจะเป็นไก่ไข่ และใช้สำหรับในโซนคาเฟ่ทั้งหมด สิ่งที่สําคัญที่สุดของการเลี้ยงไก่คืออาหาร เราจะใช้เป็นอาหารไก่อินทรีย์ที่ทํามาจากพวกพืชอินทรีย์ทั้งหมด มีข้าวโพดอินทรีย์ ใบข้าว" 

นอกจากในโซนคาเฟ่ สวนปลูกพืช และฟาร์มไก่ไข่แล้ว คุณเอี่ยม ยังได้พูดถึงการเลี้ยงผึ้งชันโรง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของที่นี่ด้วย 

"สำหรับเจ้าผึ้งชันโรง เป็นเหมือนเครื่องตรวจวัดสารเคมี เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีความไวต่อสารเคมีมาก หากในพื้นที่รอบ ๆ มีระดับความรุนแรงของสารเคมีมากเกินไป รังผึ้งชันโรงก็จะร่อแร่ และอาจจะตายยกรังได้ ฉะนั้นหากมีรังผึ้งชันโรงที่สมบูรณ์ แข็งแรง ก็หมายความว่า พื้นที่รอบ ๆ ปลอดภัยจากสารเคมีนั่นเอง...

"โดยการเลี้ยงผึ้งชันโรงนั้น ต้องเลี้ยงแบบกระจายตัว ต้องวางห่าง ๆ กันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่หลากหลาย อาจจะได้ผลผลิตมากถึง 2-4 เท่าเลย เนื่องจากชันโรงเป็นแมลงตัวเล็ก สามารถตอมดอกไม้เล็ก ๆ หรือสมุนไพร เป็นตัวช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีววิทยา และเมื่อได้ศึกษาลงรายละเอียดแล้ว ก็พบว่าผึ้งชันโรงไม่ได้ดุร้ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ พวกมันน่ารัก และไม่ได้จ้องจะทำร้ายด้วย เท่านั้นยังไม่พอ ผึ้งชันโรงยังมีประโยชน์มาก ๆ และหากสูญพันธุ์ไป โลกก็จะขาดนักผสมพันธุ์เกสร จะขาดอาหาร และสุดท้ายมนุษย์ก็จะสูญพันธุ์ตามไปในที่สุด"

เมื่อถามถึงเรื่องผลตอบแทนจากการทำสวนสมดุล? คุณเอี่ยม กล่าวว่า “การที่ทําธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมในยุคนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เนื่องจากคนที่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม อาจจะยังมีไม่มากพอ ส่งผลให้รายได้ที่จะวนกลับมาเลี้ยงชีพก็ยังไม่ได้เยอะมาก เรียกว่าต้องทนลําบากในช่วงแรกพอสมควร เพื่อหวังผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

คุณเอี่ยม กล่าวเสริมว่า “แต่ในขณะเดียวกันผมรู้สึกว่าผม ‘จําเป็น’ ต้องทํา เพื่อที่อย่างน้อยเราจะได้เป็นต้นแบบ และทําให้คนอื่นเห็นว่าสามารถทําได้จริง ๆ และหากเราสำเร็จและมีเครือข่ายอื่น ๆ ที่ทําไปด้วยกันกับเรา คนที่จะทําตามหลัง ก็จะไม่ยากลำบากอย่างที่เราเป็นแล้ว”

ในช่วงท้าย คุณเอี่ยมได้ตอกย้ำเรื่องความสมดุลไว้อีกว่า “หัวใจหลักของความสมดุลที่ดีในการใช้ชีวิต อยู่ที่ระบบนิเวศ ถ้าเกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์หรือสามารถดูแลตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์ เราก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากระบบนิเวศนั้น ๆ ได้ความร่มเย็นกลับมา ได้อากาศที่ดีกลับมา เป็นผลพลอยได้ที่ทุกคนมักจะลืม เพราะมัวแต่โฟกัสที่ผลกําไรของมันว่าจะเป็นยังไง ให้ผลผลิตแบบไหน ซึ่งผมมองว่าเรื่องระบบนิเวศ เป็นเรื่องผลกระทบในระยะยาว ไม่ได้เห็นชัดเจนรวดเร็ว อาจจะไม่ใช่เพื่อรุ่นเรา แต่เพื่อรุ่นลูกหรือหลานของเราในอนาคต"

***FYI
‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home
ตั้งอยู่ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ไม่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวา จากวัดบางพลับ มาอีกประมาณ 500 เมตร
เปิด วันจันทร์-อังคาร 09.00-17.00 น. วันพุธ-อาทิตย์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)
สอบถาม โทร. 098-362-9894 หรือ facebook.com/somdulhome