Thursday, 10 July 2025
Lite

'กรมศิลป์' ชวน!! นทท. ชม 'วัดไชยฯ' ยามค่ำคืน จัดเต็มแสง-สี-ไฟประดับ เริ่ม!! '13 ต.ค. - 31 ธ.ค. 66'

กรมศิลป์ จัดงาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ นำเสนอมุมมองใหม่มรดกโลก จัดเต็มแสง สี ไฟประดับโบราณสถานยามค่ำคืน ตั้งแต่เวลา 18.00 - 22.00 น. ผู้สนใจชมได้ตั้งแต่ 13 ต.ค. - 31 ธ.ค. 66 เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ

กรมศิลปากร จัดกิจกรรมพิเศษ งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ นำเสนอมุมมองใหม่มรดกโลกในยามค่ำคืน ผ่านแสง สี ไฟประดับ ณ โบราณสถานวัดไชยวัฒนารามในยามค่ำคืน พร้อมกันนี้ยังชวนนักท่องเที่ยวร่วมแต่งชุดไทยภายในงานดังกล่าวอีกด้วย

งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยฯ’ จะมีการโชว์แสง สี ไฟประดับ ระหว่างเวลา 18.00 - 22.00 น. ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม - 31 ธันวาคม พ.ศ.2566 เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชม ได้ถึง 21.00 น. สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โทร. 035-242286 ต่อ 101

สำหรับ ‘วัดไชยวัฒนาราม’ ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยมีการนำรูปแบบแผนผังของวัดมาจากนครวัด

ภายในวัดมี ‘พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ’ เป็นปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีปรางค์บริวารอยู่รายล้อม โดยมีระเบียงคดภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน 120 องค์

นอกจากนี้วัดไชยวัฒนารามยังมี มุมยอดฮิตในการถ่ายรูปที่หน้าวัด บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา หันหน้ากลับเข้ามาทางวัด จะเห็นปรางค์ประธานองค์ใหญ่เด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลาง มีปรางค์บริวารอยู่รอบๆ พร้อมกับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ

14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ‘รัฐบาลทหาร’ ใช้กำลังสลายการชุมนุม จนนำไปสู่ ‘วันมหาวิปโยค’ ของคนไทย

ครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อ นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาประท้วงรัฐบาลทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร อย่างรุนแรง

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มาจาก นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมา เรียกร้องรัฐธรรมนูญ สถานการณ์ในตอนนั้นเกิดจากการสั่งสมกดดันของการเมืองการปกครองของไทย ที่ ถูกปกครองในระบอบเผด็จการทหารมาเป็นเวลาถึง 15 ปี นับตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี 2501 จนมาถึงการรัฐประหารซ้ำ ในปี 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร

แต่หลังจากนั้น รัฐบาลจอมพลถนอม ตอบโต้ด้วยควบคุมตัวกลุ่มบุคคล 13 คน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘13 กบฏรัฐธรรมนูญ’ ที่บางส่วนออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พร้อมตั้งข้อหาหลายข้อ รวมทั้งข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์

การจับกุมตัวบุคคลกลุ่มดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงเริ่มต้น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และหยุดชุมนุมประท้วงรัฐบาลอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

การประท้วงต่อเนื่องกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ จนรัฐบาลเปลี่ยนท่าที และสัญญาว่าจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญ และปล่อยตัวประชาชนที่ออกมาเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปี

แต่หลังจากเจรจากลุ่มนักศึกษายังคงชุมนุมต่อไปอีกหนึ่งคืน และบางส่วนได้เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อใช้ระบบวิทยุกระจายเสียงของรัฐ

เหตุการณ์ที่ควรจะจบลงด้วยความสงบ กลับถูกแทนที่ด้วยความรุนแรง ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 รัฐบาลได้ใช้กำลังสลายฝูงชนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

หลังเกิดเหตุรุนแรง จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงขอให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว

หลังมีการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุการณ์ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่มีข่าวว่า จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถูกจารึกในฐานะ ‘ชัยชนะของประชาชน’

ต่อมารัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ทำการตั้ง ‘สมัชชาแห่งชาติ’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘สภาสนามม้า’ ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 2,347 คน และให้เลือกกันเองให้เหลือ 299 คน จากนั้นจึงแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกไปเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2517

ปัจจุบัน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว จึงมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง รวมถึง ในปี พ.ศ. 2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันประชาธิปไตย’ เป็นวันสำคัญของชาติ

15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรกมาถึงไทย ด้วยเครื่องบินขนส่ง ‘Antonov’

วันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรก เดินทางถึงประเทศไทย ก่อนจะนำมาให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เป็นวันที่รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรก ซึ่งเป็นรุ่น ซีเมนส์ โมดูลาร์ เมโทร ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากยุโรปมาถึงประเทศไทย โดยถูกบรรทุกมาด้วยเครื่องบินขนส่ง Antonov ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

โดยรถไฟฟ้ารุ่นซีเมนส์ โมดูลาร์ เมโทร ได้เริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ในเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลหรือสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกในประเทศไทย มีระยะทาง 20 กิโลเมตร จากสถานีหัวลำโพง - สถานีบางซื่อ รวม 18 สถานี

เป็นเวลากว่า 19 ปีแล้ว ที่รถไฟฟ้ารุ่นนี้ยังคงวิ่งให้บริการอยู่ ทั้งหมด 19 ขบวน ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ จนได้มีการเปิดให้บริการเพิ่มเติมครบลูปสายสีน้ำเงิน ไม่ว่าจะเป็นช่วงหัวลำโพง-บางแค หรือบางซื่อ-ท่าพระ โดยได้รับการดูแล บำรุงรักษาตามมาตรฐานอย่างดีเพื่อให้มีความปลอดภัย และพร้อมให้บริการอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินมีรถไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 54 ขบวน 

16 ตุลาคม พ.ศ. 2336 พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ราชินีแห่งฝรั่งเศส ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีน ช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส

พระนางมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) นามเดิมตอนประสูติคือ อาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอา โยเซฟา โยฮันนา (Maria Antonia Josepha Johanna)

พระนางมารี อ็องตัวแน็ต เป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แกรนด์ดยุกแห่งตอสคานา (ราชวงศ์ลอแรน) กับจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา แห่งฮังการีและโบฮีเมีย อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย (ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค) พระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 เป็นพระธิดาองค์ที่ 14 ในจำนวน 16 พระองค์ของพระบิดาและพระมารดา

มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) องค์หญิงจากออสเตรีย วัย 14 ชันษา ถูกส่งตัวมาฝรั่งเศส จากนั้นอภิเษกสมรสกับ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) ในปี ค.ศ. 1770 เป็นการเชื่อมอำนาจระหว่าง ออสเตรีย-ฝรั่งเศส สองผู้ยิ่งใหญ่ในยุโรปแห่งศตวรรษที่ 18 แต่วิถีชีวิตที่อยู่กับความมั่งคั่งจากมรดกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14-15 กลายเป็นความฟุ้งเฟ้อ หรูหรา และลงท้ายด้วยการถูกประชาชนประณามถึงการใช้ทรัพย์สินในท้องพระคลัง จนเกือบถึงขั้นล้มละลาย ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างลำบากยากแค้น ปัญหาเศรษฐกิจที่แก้ไม่ออก จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวปฏิวัติโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เพื่อสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นมาแทน

นอกจากการถูกฝ่ายฝักใฝ่สาธารณรัฐ เกลียดชังในความฟุ้งเฟ้อแล้ว พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ยังถูกเรื่องฉาวข่าวลือซุบซิบในราชสำนักไม่ว่างเว้น และหนึ่งในเรื่องที่เล่าขานต่อๆ กันมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือพระนางมารี กับความสัมพันธ์ลับ ๆ กับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้รัก เคานต์ แอ็กเซิล ฟอน แฟร์ซอง (Axel von Fersen) เอกอัครราชทูตสวีเดน ซึ่งมาประจำการที่พระราชวังแวร์ซาย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1774 

ข่าวลือเรื่องชู้รักรุนแรงถึงขั้นที่กล่าวกันว่า องค์รัชทายาท หลุยส์ที่ 18 (Dauphin Louis XVII เกิดปีค.ศ. 1785 - เสียชีวิต ปี ค.ศ. 1795) นั้นเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของแฟร์ซอง ไม่ใช่ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดยพบจดหมายที่ทั้งสองเขียนถึงกันหลายฉบับ เนื้อหาในจดหมายส่วนใหญ่เป็นการบอกข่าวความเป็นอยู่อย่างยากลำบากในสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียด และความพยายามขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อหนีจากเงื้อมมือคณะปฏิวัติ รวมทั้งการติดต่อขอความช่วยเหลือจากเหล่าผู้ปกครองราชวงศ์และขุนนางในยุโรป

หลังเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศส ในฐานะนักโทษของแผ่นดิน พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกกักบริเวณหรือจองจำอยู่ในพระราชวังตุยเลอรี ก่อนที่จะถูกสมัชชาแห่งชาติของคณะผู้นำการปฏิวัติฝรั่งเศสดำเนินคดีและพิพากษาประหารชีวิตบนแท่นกิโยตีนในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2336 (ค.ศ. 1793) ในข้อหาผู้ทรยศโกงชาติ

‘นัท มีเรีย’ แบ่งปันคลิป ‘ในหลวง ร.9’ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

(13 ต.ค.66) สืบเนื่องวันที่ 13 ตุลาคม 2566 เป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคตครบ 7 ปี หรือเรียกว่า ‘สัตตมวรรษ’ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อ วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามที่รัฐบาลขอพระราชทานพระมหากรุณา จึงเห็นสมควรกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็น ‘วันนวมินทรมหาราช’

โดยคนบันเทิงต่างน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หนึ่งในนั้น มี นักร้องหญิงมากความสามารถ ‘นัท มีเรีย’ โพสต์คลิป พร้อมข้อความผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว @myriabenedetti พร้อมข้อความระบุว่า...

“คลิปนี้คือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่อยากจะนำมาแบ่งปันในปีนี้ที่ขึ้นสู่ปี 7 🙏🏻💛 วันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม 2566 ธ สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร #13ตุลาคม #วันนวมินทรมหาราช”

‘นนท์ ธนนท์ - GOT7’ ร่วมเป็นเจ้าภาพงานศพ ‘หนุงหนิง’ แฟนคลับผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงพารากอนที่ผ่านมา

(14 ต.ค.66) ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ ‘หนุงหนิง’ หรือ น.ส.เพ็ญพิวรรณ มิตรธรรมพิทักษ์ แฟนคลับ ‘นนท์ ธนนท์ - GOT7’ เหยื่อเด็ก 14 จากเหตุพารากอน ที่เสียชีวิต เมื่อวานนี้ เมื่อเวลาตี 2 กว่าๆ หลังรักษามานานกว่า 10 วัน โดย ‘หนุงหนิง’ ถูกยิงกระสุนโดนจุดสำคัญที่สมอง 2 นัด และที่ชายโครงอีก 2 นัด อาการโคม่า 

ซึ่งภายหลังจากที่เกิดเหตุ ‘นนท์ ธนนท์’ กับ ‘แบมแบม’ และวง GOT7 ได้ส่งกำลังใจให้เธอหายป่วยโดยไวมาเสมอ ล่าสุด ตัวแทนของแม่ ‘หนุงหนิง’ แจ้งข่าวว่า ‘นนท์ ธนนท์’ กับ ‘แบมแบม’ และวง GOT7 ได้ติดต่อเป็นเจ้าภาพ พิธีบำเพ็ญกุศล และฌาปนกิจ ให้ ‘หนุงหนิง’ แฟนคลับ

สำหรับพิธีศพของ ‘หนุงหนิง’ แฟนคลับ ‘นนท์ ธนนท์ - GOT7’ ตัวแทนของแม่ ‘หนุงหนิง’ แจ้งข่าวว่า…

กำหนดงานฌาปนกิจศพ
หนุงหนิง เพ็ญพิวรรณ มิตรธรรมพิทักษ์
ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดบางไผ่พระอารามหลวง  จ.นนทบุรี ศาลา 2 

>> วันที่ 15 ต.ค. 66
กำหนดการรดน้ำศพ เวลา 16:30 น.
สวดอภิธรรมเวลา 19:00 น. 
เจ้าภาพ : #สยามพารากอน

>> วันที่ 16 ต.ค. 66
สวดอภิธรรมเวลา 19:00 น. 
เจ้าภาพ : คุณ #Bambam #Got7

>> วันที่ 17 ต.ค. 66
สวดอภิธรรมเวลา 19:00 น.
เจ้าภาพ : คุณ #นนท์ธนนท์ และครอบครัว

>> วันที่ 18 ต.ค. 66 
รอบแรกครอบครัวเป็นเจ้าภาพ 17:30 น.
รอบสองสวดอภิธรรมเวลา 19:00 น. 
เจ้าภาพ : บริษัท ซุปเปอร์ เทอร์เทิล จำกัด (มหาชน)

>> ส่วนของงานฌาปนกิจจะจัดขึ้นในวันที่ 19 ต.ค. 66 
11:00 น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 10 รูป
14:00 น. ฟังพระธรรมเทศนา
16:00 น. ประชุมเพลิง

ขออภัยหากมิได้เรียนเชิญด้วยตัวเองค่ะ
(หากมีการอัปเดตเพิ่มเติมจะรีบแจ้งให้ทราบนะคะ)

‘ลิซ่า’ หอบของขวัญเซอร์ไพรส์ ‘คุณพ่อมาร์โค’ ในวันเกิดครบ 70 ปี  ด้านคนบันเทิง-แฟนคลับ ร่วมส่งคำอวยพรขอให้คุณพ่อสุขภาพแข็งแรง

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 66 คุณแม่ของ ‘ลิซ่า ลลิษา มโนบาล’ สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ปดังอย่าง ‘BLACKPINK’ ได้โพสต์ภาพชุดผ่านอินสตาแกรม พร้อมพร้อมหน้า คุณพ่อ คุณแม่ และลิซ่า ภายในงานเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดของคุณพ่อ ‘มาร์โค บรูสชไวเลอร์’ ในโอกาสครบรอบ 70 ปี

โดย ลิซ่า มาในลุคสบายๆ สุดน่ารัก เดรสยีนส์กอดกล่องของขวัญมาเซอร์ไพรส์คุณพ่อ โดยคุณแม่ยังได้ระบุไว้ในแคปชันว่า “สุขสันต์วันคล้ายวันเกิดนะคะ มีความสุขมากๆนะคะแด๊ด”

นอกจากนี้ ยังมีบรรดาคนดัง และแฟนๆ ของสาวลิซ่า เข้าไปอวยพรวันเกิดคุณพ่ออย่างต่อเนื่อง

สำหรับคุณพ่อของลิซ่า หรือ ‘มาร์โค บรูสชไวเลอร์’ เป็นเชฟชื่อดังระดับโลก โดย ‘เคป็อบสตาร์’ เล่าถึงปูมหลังของคุณพ่อมาร์โคว่า เมื่อครั้งคุณพ่อ อายุราว 60 ปี ชาวสวิตเซอร์แลนด์ เป็นพ่อเลี้ยงของลิซ่า โดยในปี 1989 คุณพ่อจบการศึกษาในระดับปริญญาโทจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำงานในร้านอาหารและโรงแรมชื่อดังระดับโลกหลายสิบแห่ง หนึ่งในนั้นคือ ‘ซันซิตี้คาซิโน’ ที่ดังระดับโลกในประเทศแอฟริกาใต้

รายงานระบุด้วยว่า คุณพ่อมาร์โคได้เดินทางมาทำงานที่โรงแรมเอเชีย และโนโวเทลบางนา และได้พบกับคุณแม่ของลิซ่า และได้เลี้ยงดูลิซ่าอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เด็ก ซึ่งลิซ่าก็รักคุณพ่อมากๆ บรรดาแฟนคลับมักจะเห็นลิซ่ากับคุณพ่อบ่อยครั้ง

ขณะที่ลิซ่าเองก็เคยแชร์รูปคู่กับคุณพ่อเนื่องในวันพ่อด้วย ส่วนคุณพ่อก็เคยมาเชียร์ลิซ่าทุกครั้งที่วงแบล็กพิงก์มาแสดงคอนเสิร์ตที่ประเทศไทย

‘หุ้น YG’ ดิ่ง -2% บวกลือหึ่ง!! ‘ลิซ่า’ อาจจับมือ Columbia Records หลัง ‘CEO-ผู้จัดการฝ่ายการตลาดดิจิทัล’ แห่ติดตามอินสตาแกรม

เมื่อวานนี้ (15 ต.ค. 66) หลังจากที่ Jenifer Mallory CEO ของ Columbia Records ติดตาม 'ลิซ่า' ใน IG และตอนนี้ Chika Ifediora (ผู้จัดการฝ่ายการตลาดดิจิทัลของ Columbia Records) ก็กดติดตาม ‘ลิซ่า’ ซึ่งเป็นสมาชิก BLACKPINK เพียงคนเดียวที่ติดตามใน IG ซึ่ง Chika จะติดตามนักร้องจาก Columbia Records เท่านั้น (ยกเว้น Billie Eilish)

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้การต่อสัญญาของ BlackPink กับค่าย YG Entertainment ก็ยังไม่มีวี่แววความคืบหน้าแต่อย่างใด อีกทั้ง ยังมีรายงานหุ้น YG Entertainment ร่วง -2% สุดท้ายแล้วแฟนๆ ยังลุ้นอีกเช่นเคยว่าทั้ง 4 สาว จะต่อสัญญากับค่าย YG Entertainment เหมือนเดิมหรือไม่

18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประกาศต่อประชาราษฎร์เรื่องจะทรงผนวช

วันนี้เมื่อ 63 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงแถลงพระราชดำริในการที่จะทรงผนวช จึงได้ประกาศให้ราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ได้รับทราบ ความว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงมาร่วมประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริที่จะบรรพชาอุปสมบทให้บรรดาอาณาประชาราษฎร์ทราบทั่วกัน”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง

เมื่อ พ.ศ. 2499 มีพระราชประสงค์ที่จะทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชภาระสนองพระเดชพระคุณในการทรงผนวชในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย

และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร์

โดยหลังจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และคณะทูตานุทูต เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อทรงแถลงพระราชดำริในการที่จะเสด็จออกทรงพระผนวช ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 แล้ว 

จากนั้นวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากทรงเจริญพระเกศา โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงจรดพระกรรไกรบิดเปลื้องพระเกศาเป็นปฐมฤกษ์แล้ว

ทรงเครื่องเศวตพัสตรีทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ทรงรับผ้าไตรจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแล้วทรงเข้าบรรพชาอุปสมบทในท่ามกลางสังฆสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับสมญานามจากพระราชอุปัชฌาจารย์ ว่า ‘ภูมิพโล’

ในระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ ทรงรับประเคนผ้าไตรจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงรับไทยธรรมจากสมเด็จพระบรมราชชนนี ตามลำดับ

จากนั้น พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทำทัฬหิกรรม ณ พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระศาสนโศภน (จวน อุฏฺฐายี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

จากนั้นทรงประกอบพิธีตามขัตติยราชประเพณี แล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า-เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัยนอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่น

วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชินูปถัมภ์

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต ณ วังสระปทุม

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ได้เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาตจากประชาชนทั้งในบริเวณถนนพระสุเมรุ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี อีกด้วย

วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงลาผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร รวมเวลาทรงผนวชทั้งสิ้น 15 วัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top