Tuesday, 22 April 2025
LGBTQIA

เพศไหนก็คน!! เข้าใจ 'LGBTQIA' ให้มากขึ้น ผ่านมุมมองของ 'บุ๊ค-ธีรชยา'

สัมภาษณ์พิเศษ : “บุ๊ค-ธีรชยา พิมพ์กิติเดช” อดีตรองอันดับ 1 Miss Tiffany's Universe 2018

พอได้หรือยัง กับความ (ไม่) เท่าเทียม
เพศไหน “ก็คนเหมือนกัน” 

สวัสดีค่ะ บุ๊คนะคะ ธีรชยา พิมพ์กิติเดช ตอนนี้เป็น Senior Writer อยู่ที่ นิตยสาร Vogue Beauty Thailand 

1.) Love is Love คิดอย่างไรกับคำนี้? 
บุ๊ค : สำหรับตัวบุ๊คแล้วจริง ๆ วลีนี้ หรือประโยคนี้มันเกิดขึ้นช่วง Movement ของกลุ่ม LGBTQIA แต่จริง ๆ มันก็คือนิยายความรักของทุกคนเลยนะ ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศเท่านั้น รักมันก็คือรักนั่นแหละ ไม่จำเป็นต้องจำกัดหรือไปนิยายแบบเจาะจงว่าคนนี้จะต้องคู่กับคนนี้ ก.ไก่ ต้องคู่กับ ข.ไข่ หรือเพศชายจะต้องคู่กับเพศหญิง แค่เรารู้สึกดีกับใคร เราก็สามารถอยู่กับเขาอย่างมีความสุขได้ ทำอะไรได้ แค่ต้องอยู่ในความถูกต้องของกฎหมาย เพราะคำว่า Love is Love มันก็แค่นี้จริง ๆ 
 
2.) เรื่องที่สังคมมักจะเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับ “LGBTQIA+” คืออะไร? 
บุ๊ค : จริง ๆ แล้ว บุ๊คคิดว่าสังคมชอบคิดว่า กลุ่ม LGBTQIA เนี่ย ชอบเรียกร้องเป็นแบบ Sensitive ต้องการสิทธิพิเศษแต่จริง ๆ แล้วเปล่าเลย เราแค่เรียกร้องในสิ่งที่เราควรได้รับ โดยที่แทบไม่ต้องออกมาเรียกร้องด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นเรื่องขั้นพื้นฐานเลย และส่วนเรื่องของคาแรคเตอร์ บุคลิกลักษณะนิสัย ที่มันอาจจะมีภาพจำจากสังคมว่า “เหมารวม” อะไรแบบเนี่ยว่าเราจะต้องเป็นแบบวี้ดว้ายเสียงดังอะไรแบบนี้ คนก็อาจจะเข้าใจผิดอยู่ในกลุ่มบางกลุ่มเนอะ จริง ๆ บุ๊คคิดว่าไม่ว่าเป็นใคร ก็สามารถมีทั้ง Extrovert หรือ Introvert อยู่เหมือนกัน 

3.) จากการที่ ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ก็มีกระแส พ.ร.บ.ชีวิตคู่ ไม่เท่ากับ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม มีความเห็นอย่างไรบ้าง? 
บุ๊ค : จริง ๆ ตอนนี้มันก็ไม่เท่ากันจริง ๆ เราเองก็เห็นหลายสื่อหลายสำนักเลยเนี่ย ที่เขาตีแผ่ออกมาให้ได้ดูเลยว่า อะไรที่เราได้ อะไรที่เราไม่ได้จริง ๆ ตรงนี้เนี่ย บุ๊คมองว่ามันเป็นก้าวแรกมากกว่า หลังจากที่เรามีการเรียกร้องกันมาเนิ่นนานมาก เลยอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือ แก้ไข อย่างน้อย ๆ ตรงนี้มันก็คือก้าวแรกที่เราได้รับชัยชนะ ถึงแม้อาจจะไม่ได้ชัยชนะแบบ 100% ถือว่าเป็นก้าวแรกที่จะมีการก้าวต่อไปเรื่อย ๆ จะไม่ใช่ก้าวแรกและก้าวสุดท้ายอย่างแน่นอน เราเองก็ยังต้องช่วยกันเรียกร้อง ช่วยกันอธิบายให้อีกหลากกลุ่มคนหรือคนที่มีอำนาจได้เข้าใจ ว่าอะไรที่เรายังขาดอยู่ 

‘รัดเกล้า’ เผย ‘รทสช.’ ยินดี ร่าง กม.สมรสเท่าเทียม ฉลุย!! ดีใจที่ได้เป็นส่วนผลักดัน ความเท่าเทียมทางเพศในสังคม

(27 มี.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ และอดีตโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เปิดเผยว่า ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (27 มี.ค.) ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระที่ 2 และ 3 ด้วย 400 เสียงต่อ 10 เสียง หลังจากนี้คือการนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งหากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยจะมีผลบังคับใช้ 120 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญในการให้สิทธิแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การให้บุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดก็ตามสามารถสมรสกันได้ การเรียกค่าทดแทนและเหตุฟ้องหย่าระหว่างคู่สมรส การให้สิทธิคู่สมรสตามกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ไขอายุของผู้มีสิทธิหมั้นหรือสมรสต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งจากเดิมกำหนดไว้ที่ 17 ปี 

พรรครวมไทยสร้างชาติมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญที่จะเป็นจุดเริ่มในการสร้างครอบครัวที่แข็งแรง สร้างความสมดุลระหว่างสิทธิและศักดิ์ศรี และยังเป็นการปกป้องค่านิยม ความเชื่อ ความศรัทธา และวัฒนธรรมของไทย และยังเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จะได้รับสิทธิและสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรครวมไทยสร้างชาติเห็นด้วยและผลักดันมาโดยตลอด

“จากที่ได้เจอตัวแทนทูตหลาย ๆ ประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย จะเห็นได้เลยว่าทั่วโลกจับตาดูประเทศไทยอยู่ การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีภาคประชาชนและภาคการเมืองเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญ

ขอแสดงความยินดีกับ LGBTQIA+ ในประเทศไทยทุกคน ที่ใกล้ที่จะสามารถสมรสกันได้อย่างเท่าเทียมแล้ว การผ่านกฎหมายนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การผ่านกฎหมาย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์ว่าประเทศไทยพร้อมที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และยอมรับความแตกต่างหลากหลายซึ่งเป็นเสน่ห์ของค่านิยมที่ถูกปลูกฝังในวัฒนธรรมของคนไทย นอกเหนือจากเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมายและสังคมแล้ว ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยนำไปสู่ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้ในอนาคต” นางรัดเกล้ากล่าว

‘รวมไทยสร้างชาติ’ ร่วมฉลอง!! ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ผ่านฉลุย พร้อมยินดีกับ LGBTQIA+ ในไทยทุกคน ในฐานะผู้ร่วมผลักดัน กม.นี้

(19 มิ.ย.67) พรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จหลัง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านการพิจารณาวุฒิสภาวาระ 3 และจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่นานหลังจากนี้ พร้อมแสดงความยินดีกับ LGBTQIA+ ในประเทศไทยทุกคน ที่จะสามารถสมรสกันได้อย่างเท่าเทียม ในฐานะที่พรรคฯ ได้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้มาโดยตลอด

โดย นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สส. บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วยนายศาสตรา ศรีปาน สส. สงขลา เขต 2 และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรค บอกก็ต้องประสบความสำเร็จ ร่วมเป็นตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ แสดงความยินดีและเฉลิมฉลองความสำเร็จ เนื่องในโอกาส ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา ในวาระ 2 และ 3 หลังจากกฎหมายดังกล่าวผ่านการเดินทางมากกว่าทศวรรษ ที่ได้ฝ่าฟันและแก้ไข กระทั่งประสบความสำเร็จในวันนี้

ทั้งนี้ ทางพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคที่มีความทันสมัย คนรุ่นใหม่ พร้อมเปิดกว้างทางความคิด ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งทางพรรคฯ ได้ผลักดันเรื่องนี้ตั้งแต่แรกจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับ LGBTQIA+ ทุก ๆ คนที่มาสมรสในไทย ที่จะสามารถสมรสกันได้อย่างเท่าเทียม การผ่านกฎหมายนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การผ่านกฎหมาย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์ว่าประเทศไทยพร้อมที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ และยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเป็นเสน่ห์ของค่านิยมที่ถูกปลูกฝังในวัฒนธรรมของคนไทย นอกเหนือจากเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมายและสังคมแล้ว ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยนำไปสู่ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้ในอนาคต

ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มในการสร้างครอบครัวที่แข็งแรง สร้างความสมดุลระหว่างสิทธิและศักดิ์ศรี และยังเป็นการปกป้องค่านิยม ความเชื่อ ความศรัทธา และวัฒนธรรมของไทย และยังเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จะได้รับสิทธิและสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรครวมไทยสร้างชาติเห็นด้วยและผลักดันมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายจะผ่านวาระ 3 ของวุฒิสภาแล้ว แต่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ทันทีต้องรอให้มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อจะประกาศเป็นพระราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าคงใช้เวลาไม่นาน และเมื่อ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ ทุก ๆ คนที่สมรสในประเทศไทย ไม่ว่าจะเพศใดสถานะใด สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ อีกทั้งยังได้รับสิทธิต่าง ๆ ไม่ว่าจะทางด้านแพ่ง สินสมรส และเรื่องอื่น ๆ เหมือนกันทุก ๆคน

‘ชาวเน็ต’ ถกสนั่นประเด็น ‘ห้องน้ำ’ รองรับ LGBTQIA+ จะมีได้ไหมในไทย เสียงส่วนใหญ่เห็นพ้อง หวั่นความสะอาด-ความปลอดภัย หากทำ ‘แบบรวม’

(10 ก.ค. 67) ปัจจุบันทั่วโลกเปิดกว้างมากขึ้นเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยก็มีกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ รองรับกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อให้พื้นที่ในสังคมแก่พวกเขาอย่างทัดเทียมกัน อีกทั้งหลาย ๆ คน ก็ตระหนักถึงเรื่อง ‘เพศสภาพ’ และ ‘รสนิยมทางเพศ’ กันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ก็ยังคงมีเรื่องให้ถกเถียงอยู่เป็นระยะ ล่าสุดเรื่อง ‘ห้องน้ำ’ ก็กลายเป็นที่พูดถึง หลังมีคนจุดประเด็นเรื่อง ‘ห้องน้ำไม่แบ่งเพศจะเป็นไปได้ไหมในสังคมไทย?’

โดยอ้างอิงจาก Sukha Thesis (สุขาธีสิส) อดีตกลุ่มนักศึกษาที่เคยโด่งดังจากการทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับห้องน้ำสำหรับ LGBTQIA+ ซึ่งจะแบ่งห้องน้ำออกเป็น 4 ประเภท

1. อนุญาตให้เข้าตามเพศสภาพได้ เป็นห้อง ‘น้ำชาย-หญิง’ ตามเดิม แต่อนุญาตให้ทรานส์เข้าตามเพศสภาพได้
2. ห้องน้ำห้องที่ 3 มีห้อง ‘น้ำชาย-หญิง’ ตามเดิม แต่เพิ่มห้องที่ 3 มาคั่นกลาง สำหรับ ‘LGBTQIA+’
3. ห้องน้ำเฉพาะ แบ่งสัดส่วนชัดเจน สร้างห้องน้ำหลาย ๆ ห้อง แบ่งเฉพาะเพศ เช่น ห้องน้ำสำหรับเกย์, ห้องน้ำสำหรับทรานส์
4. ห้องน้ำรวม (All Gender) ใช้ร่วมกันได้ทุกเพศ มองที่ฟังก์ชั่นการใช้งานของห้องน้ำ คือ ห้องน้ำเป็นแค่สถานที่มาปลดทุกข์, ทำความสะอาดร่างกาย

ทั้งนี้ ความคิดเห็นส่วนใหญ่มองว่า ห้องน้ำรวม (All Gender) สร้างความลำบากใจมากที่สุดหากเกิดขึ้นจริง โดยหลายคนยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ไปต่างประเทศ บางคนก็กระอักกระอ่วนใจที่ต้องเข้าไปภาพของเพศอื่นกำลังใช้ห้องน้ำ และกังวลเรื่องความปลอดภัย

บ้างก็กังวลเรื่องความสะอาด หากเป็นห้องน้ำรวม สุขภัณฑ์ชายต้องไม่เรียงติดกัน ซอยเป็นห้อง ผนังกั้นต้องจากพื้นถึงเพดาน มีประตูมิดชิด

ซึ่งในประเทศไทย ห้องน้ำแบบที่ 1 และ 2 นั้น เรียกได้ว่าเป็นห้องน้ำที่มีอยู่เป็นปกติ หลาย ๆ ครั้งที่เราจะเห็นทรานส์เข้าห้องน้ำหญิง บางคนก็เลือกใช้ ‘ห้องน้ำคนพิการ’ หรือที่สากลเรียกว่า ‘Universal toilet’ (ห้องน้ำสำหรับทุกคน)

'นก ยลดา' ชี้!! ไทยยังไม่ใช่สวรรค์ของ LGBTQIA+ ผ่านมุมห้องน้ำหลากเพศด้าน 'ชาวเน็ต' ติง!! เพศที่ 3 ถูกมองตลก เพราะชอบเรียกร้องแบบเกินเบอร์

(11 ก.ค. 67) จากกรณี 'นก ยลดา' Miss Fabulous Thailand ซีซัน 3 ได้โพสต์ตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมทางเพศผ่านเฟซบุ๊ก 'Nok Yollada' โดยมองว่าประเทศไทยยังไม่ใช่สวรรค์ของเหล่า LGBTQIA+ อย่างแท้จริง รวมไปถึงการรับรองเพศสภาพและการมีห้องน้ำสำหรับเพศอื่นๆ

โดยทาง นก ยลดา ได้โพสต์ข้อความระบุว่า "เห็นหรือยังว่าเมืองไทย ’ไม่ใช่สวรรค์ของ LGBTIQNA+’ นี่พูดมาตลอด...รับรองเพศสภาพ? ห้องน้ำ all gender? ยังค้านกันยับ นี่ว่าสิ่งที่ควรที่สุดที่ต้องทำให้สำเร็จคือ แบบเรียนเรื่องความหลากหลายทางเพศในโรงเรียน เรียนกันตั้งแต่อนุบาลเลยค่ะ!! #ให้ฆวายกลายเป็นคน" 

หลังจากที่โพสต์นี้ได้เผยแพร่ออกไปก็ได้มีหลากหลายคอมเมนต์ที่เข้ามาแสดงความเห็นโดยส่วนใหญ่ออกไปในทางไม่เห็นด้วย อาทิ...

- "เพศที่ 3 ถูกมองเป็นตัวตลกเรื่องเยอะเรื่องมาก เพราะมีกะเทยบางคนบางกลุ่มชอบออกมาเรียกร้องมาทำเรื่องปัญญาอ่อนไง บางอย่างมันต้องค่อยเป็นค่อยไปเนอะ ตัวเองไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลางของโลกค่ะ" [ชาวเน็ต ตอบกลับ : จริงค่ะ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ค่อยปรับเปลี่ยน]

- "พี่ลองลดอีโก้ตัวเองดูครับ เรื่องห้องน้ำนี่มันไม่ไหวจริงๆนะถ้าเรามองในความเป็นจริง" [นก ยกลดา ตอบกลับ: ติดตรงไหนเรอคะ ถ้าเพื่อนเราอยากมีห้องน้ำของเขาเอง]

- "มันคือสิ่งที่เป็นไปได้ยากอะ เรียกร้องอะไรเยอะแยะ เจ้าของกิจการ เวลาทำธุรกิจต้องมาเพิ่มต้นทุนสร้างห้องน้ำเพิ่ม หน่วยงานรัฐ ก็ต้องมาสร้างห้องน้ำเพิ่มอะหรอ มันดูวุ่นวายมากกว่าด้วยซ้ำ แยกชายหญิง มันก็ชัดเจน แล้วนิ หรือพอเป็น LGBT แล้วไม่สามารถที่จะเข้าห้องน้ำได้ปกติ ต้องมีห้องน้ำพิเศษ เหมือนคนชรา และคนพิการ แบบนี้หรอ"

- "ไม่เข้าใจการทำงานของห้องน้ำนี้ค่ะ จะแก้ปัญหาเรื่องอะไรกันแน่ ความสบายใจ อาชญากรรม สุขอนามัย หรืออะไร ถ้าแค่อยากมีห้องน้ำของเพศตัวเองเพื่อความภูมิใจในชุมชนแอลจี ต้องซอยแยกกี่แบบ แยกตามสิ่งใด ใครเข้าได้และไม่ได้ในห้องนั้น หรือแค่อยากมีป้ายแปะว่า "ห้องน้ำ LGBT++" ซึ่งใครเข้าก็ได้ก็พอแล้ว อันนี้ถามนะคะ ไม่เคยฟังเสวนาหรืออะไรมาก่อน อยากช่วยให้มีในอนาคต"

- "เอาแต่ใจตัวเอง มีคืบจะเอาศอก"

"แอบไม่เห็นด้วยกับห้องน้ำรวมเลยค่ะ คิดว่าควรเรียกร้องไปทีละเรื่องก็ดีนะคะพี่นก เรียกร้องเรื่องรับรองเพศสภาพก่อน มันจำเป็นมากที่สุดแล้วจริงๆ ค่ะ"

- "การใช้ห้องน้ำนี่ละเอียดอ่อนนะคุณนก ขนาดคนอื่นมาบ้านยังไม่อยากให้ใช้ห้องน้ำส่วนตัวเลยเอาจริง ๆ บางคนสกปรกมาก แล้วถ้าใช้ได้หมดทุกเพศนี่แย่เลย ไม่ไหวจริง ๆ"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top