เพศไหนก็คน!! เข้าใจ 'LGBTQIA' ให้มากขึ้น ผ่านมุมมองของ 'บุ๊ค-ธีรชยา'

สัมภาษณ์พิเศษ : “บุ๊ค-ธีรชยา พิมพ์กิติเดช” อดีตรองอันดับ 1 Miss Tiffany's Universe 2018

พอได้หรือยัง กับความ (ไม่) เท่าเทียม
เพศไหน “ก็คนเหมือนกัน” 

สวัสดีค่ะ บุ๊คนะคะ ธีรชยา พิมพ์กิติเดช ตอนนี้เป็น Senior Writer อยู่ที่ นิตยสาร Vogue Beauty Thailand 

1.) Love is Love คิดอย่างไรกับคำนี้? 
บุ๊ค : สำหรับตัวบุ๊คแล้วจริง ๆ วลีนี้ หรือประโยคนี้มันเกิดขึ้นช่วง Movement ของกลุ่ม LGBTQIA แต่จริง ๆ มันก็คือนิยายความรักของทุกคนเลยนะ ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศเท่านั้น รักมันก็คือรักนั่นแหละ ไม่จำเป็นต้องจำกัดหรือไปนิยายแบบเจาะจงว่าคนนี้จะต้องคู่กับคนนี้ ก.ไก่ ต้องคู่กับ ข.ไข่ หรือเพศชายจะต้องคู่กับเพศหญิง แค่เรารู้สึกดีกับใคร เราก็สามารถอยู่กับเขาอย่างมีความสุขได้ ทำอะไรได้ แค่ต้องอยู่ในความถูกต้องของกฎหมาย เพราะคำว่า Love is Love มันก็แค่นี้จริง ๆ 
 
2.) เรื่องที่สังคมมักจะเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับ “LGBTQIA+” คืออะไร? 
บุ๊ค : จริง ๆ แล้ว บุ๊คคิดว่าสังคมชอบคิดว่า กลุ่ม LGBTQIA เนี่ย ชอบเรียกร้องเป็นแบบ Sensitive ต้องการสิทธิพิเศษแต่จริง ๆ แล้วเปล่าเลย เราแค่เรียกร้องในสิ่งที่เราควรได้รับ โดยที่แทบไม่ต้องออกมาเรียกร้องด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นเรื่องขั้นพื้นฐานเลย และส่วนเรื่องของคาแรคเตอร์ บุคลิกลักษณะนิสัย ที่มันอาจจะมีภาพจำจากสังคมว่า “เหมารวม” อะไรแบบเนี่ยว่าเราจะต้องเป็นแบบวี้ดว้ายเสียงดังอะไรแบบนี้ คนก็อาจจะเข้าใจผิดอยู่ในกลุ่มบางกลุ่มเนอะ จริง ๆ บุ๊คคิดว่าไม่ว่าเป็นใคร ก็สามารถมีทั้ง Extrovert หรือ Introvert อยู่เหมือนกัน 

3.) จากการที่ ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ก็มีกระแส พ.ร.บ.ชีวิตคู่ ไม่เท่ากับ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม มีความเห็นอย่างไรบ้าง? 
บุ๊ค : จริง ๆ ตอนนี้มันก็ไม่เท่ากันจริง ๆ เราเองก็เห็นหลายสื่อหลายสำนักเลยเนี่ย ที่เขาตีแผ่ออกมาให้ได้ดูเลยว่า อะไรที่เราได้ อะไรที่เราไม่ได้จริง ๆ ตรงนี้เนี่ย บุ๊คมองว่ามันเป็นก้าวแรกมากกว่า หลังจากที่เรามีการเรียกร้องกันมาเนิ่นนานมาก เลยอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือ แก้ไข อย่างน้อย ๆ ตรงนี้มันก็คือก้าวแรกที่เราได้รับชัยชนะ ถึงแม้อาจจะไม่ได้ชัยชนะแบบ 100% ถือว่าเป็นก้าวแรกที่จะมีการก้าวต่อไปเรื่อย ๆ จะไม่ใช่ก้าวแรกและก้าวสุดท้ายอย่างแน่นอน เราเองก็ยังต้องช่วยกันเรียกร้อง ช่วยกันอธิบายให้อีกหลากกลุ่มคนหรือคนที่มีอำนาจได้เข้าใจ ว่าอะไรที่เรายังขาดอยู่ 

 

4.) ข้อกฎหมายที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดสำหรับ ‘ความเท่าเทียม’ ต้องเป็นเรื่องใด เพราะอะไร?  
บุ๊ค : จริงแล้ว ๆ สำหรับบุ๊คเลยทุกข้อกฎหมายที่มันถูกบัญญัติเอาไว้ว่ามีชายและหญิงพวกเนี่ย มันอาจจะต้องเพิ่มหรือปรับเปลี่ยนให้ใส่คำว่าทุกคนหรือมนุษย์ทุกคนในสังคมเพราะบุ๊คเชื่อว่ากฎหมายพื้นฐานเนี่ย มันมีความคุ้มครองทั้งร่างกายและจิตใจของเราอยู่แล้ว แต่มันอาจจะมีบางข้อกฏหมายที่กำหนดเฉพาะชายและหญิงเท่านั้นเอง มันเลยทำให้บุคคลหลากหลายทางเพศ ยังไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเหล่านั้น 

5.) ‘ความไม่เท่าเทียม’ ในการประกอบอาชีพ คิดเห็นอย่างไร? 
บุ๊ค : สำหรับบุ๊คแล้ว มองเป็น 2 อย่าง

(1.) การถูกตัดสินระดับอาชีพที่ผ่านความคิดชุดเดิม ๆ เช่น พ่อค้าแม่ค้า พนักงานขาย ไม่เท่ากับ พนักงานบริษัท หรือ พนักงานใส่สูท ซึ่งเราเองก็เคยคิดแบบนั้น แต่พอโตมาได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่าง เราก็ได้รู้ว่าจริง ๆ แล้ว มันไม่ต่างกันเลย
(2.) ความไม่เท่าเทียมในการประกอบอาชีพทางด้านกฎหมายในการคุ้มครองหรือว่าในการถูกตัดสินอย่างเช่น อาชีพบางอย่าง ผู้ชายอาจจะได้เงินเดือนมากกว่าผู้หญิง ซึ่งในปัจจุบันก็มันก็ยังมีหรือเรื่องของเพศที่ถูกปิดกั้นโอกาสในการทำงานหรือบางอาชีพอย่าง Sex Worker ที่ยังไม่ได้รับกฎหมายคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม อันนี้ก็เป็นอีกสิ่งนึงที่เรารู้สึกว่ายังไม่เท่าเทียม ทางอาชีพค่ะ


6.) ถ้าอยากจะยกไอดอล ในกลุ่ม ‘LGBTQIA+’ ขึ้นมา 1 คน คุณบุ๊คอยากจะพูดถึงใคร เพราะอะไร?  
บุ๊ค : จริง ๆ ในประเทศไทยมีเยอะมากเลย เพราะว่าแต่ละคนก็ได้สร้างแรงบันดาลใจในแต่ละรูปแบบ แต่ละด้านของชีวิต แต่สำหรับบุ๊ค ก็ยก 'ออเดรย์ ถัง' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลคนแรกและคนปัจจุบันของไต้หวัน เพราะเขาเป็นบุคคลข้ามเพศเหมือนกัน แต่คนนี้จะจุดประกายในเรื่องของการทำงานเพราะว่าเขามีความสามารถในเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งจากที่เราเห็นในหนังสือ เราจะเห็นได้น้อยมากที่กลุ่ม LGBTQIA ที่จะถูกหยิบมาพูดคุยในเรื่องของความสามารถในเรื่องเทคโนโลยีเนอะ และก็ยังอยู่ในแวดวงของการเมือง ทำงานเพื่อสังคม ซึ่งตรงนี้เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มากและจุดประกายให้บุ๊คมาก ๆ 

7.) ส่งกำลังใจพวกถึงเพื่อน ๆ ทั้งกลุ่ม  ‘LGBTQIA+’ และ ชาย หญิง / ฝากช่องทางการติดตามผลงาน
บุ๊ค : จริง ๆ อยากที่จะบอกเลยก็คือเป็นเรื่องของเรียกร้องสิทธิ ในเรื่องของความเท่าเทียมในสังคม Community ของเราเองก็อย่าลืมที่จะให้เกียรติกันและเคารพซึ่งกันและกัน ในฐานะของมุนษย์เหมือนกัน เพราะในปัจจุบันมันมีการแบ่งแยกว่า เพศนู้นเพศนี้ non binary, Queer หรือ Transgender เยอะแยะไปหมด แต่สิ่งที่สำคัญต่อให้จะกำหนดหรือไม่กำหนดว่าเป็นเพศไหน ก็อย่าลืมเคารพกันในฐานะมนุษย์คน ๆ นึงเหมือนกันนะคะ 

อย่างไรก็ขอฝากด้วย ของตัวบุ๊คเองก็มีผลงานด้านบทความ Beauty ใน Vogue Beauty Thailand และก็สามารถติดตามกันเวทีการประกวด Miss Tiffany's Universe 2022 นี้ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ