‘ชาวเน็ต’ ถกสนั่นประเด็น ‘ห้องน้ำ’ รองรับ LGBTQIA+ จะมีได้ไหมในไทย เสียงส่วนใหญ่เห็นพ้อง หวั่นความสะอาด-ความปลอดภัย หากทำ ‘แบบรวม’

(10 ก.ค. 67) ปัจจุบันทั่วโลกเปิดกว้างมากขึ้นเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยก็มีกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ รองรับกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อให้พื้นที่ในสังคมแก่พวกเขาอย่างทัดเทียมกัน อีกทั้งหลาย ๆ คน ก็ตระหนักถึงเรื่อง ‘เพศสภาพ’ และ ‘รสนิยมทางเพศ’ กันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ก็ยังคงมีเรื่องให้ถกเถียงอยู่เป็นระยะ ล่าสุดเรื่อง ‘ห้องน้ำ’ ก็กลายเป็นที่พูดถึง หลังมีคนจุดประเด็นเรื่อง ‘ห้องน้ำไม่แบ่งเพศจะเป็นไปได้ไหมในสังคมไทย?’

โดยอ้างอิงจาก Sukha Thesis (สุขาธีสิส) อดีตกลุ่มนักศึกษาที่เคยโด่งดังจากการทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับห้องน้ำสำหรับ LGBTQIA+ ซึ่งจะแบ่งห้องน้ำออกเป็น 4 ประเภท

1. อนุญาตให้เข้าตามเพศสภาพได้ เป็นห้อง ‘น้ำชาย-หญิง’ ตามเดิม แต่อนุญาตให้ทรานส์เข้าตามเพศสภาพได้
2. ห้องน้ำห้องที่ 3 มีห้อง ‘น้ำชาย-หญิง’ ตามเดิม แต่เพิ่มห้องที่ 3 มาคั่นกลาง สำหรับ ‘LGBTQIA+’
3. ห้องน้ำเฉพาะ แบ่งสัดส่วนชัดเจน สร้างห้องน้ำหลาย ๆ ห้อง แบ่งเฉพาะเพศ เช่น ห้องน้ำสำหรับเกย์, ห้องน้ำสำหรับทรานส์
4. ห้องน้ำรวม (All Gender) ใช้ร่วมกันได้ทุกเพศ มองที่ฟังก์ชั่นการใช้งานของห้องน้ำ คือ ห้องน้ำเป็นแค่สถานที่มาปลดทุกข์, ทำความสะอาดร่างกาย

ทั้งนี้ ความคิดเห็นส่วนใหญ่มองว่า ห้องน้ำรวม (All Gender) สร้างความลำบากใจมากที่สุดหากเกิดขึ้นจริง โดยหลายคนยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ไปต่างประเทศ บางคนก็กระอักกระอ่วนใจที่ต้องเข้าไปภาพของเพศอื่นกำลังใช้ห้องน้ำ และกังวลเรื่องความปลอดภัย

บ้างก็กังวลเรื่องความสะอาด หากเป็นห้องน้ำรวม สุขภัณฑ์ชายต้องไม่เรียงติดกัน ซอยเป็นห้อง ผนังกั้นต้องจากพื้นถึงเพดาน มีประตูมิดชิด

ซึ่งในประเทศไทย ห้องน้ำแบบที่ 1 และ 2 นั้น เรียกได้ว่าเป็นห้องน้ำที่มีอยู่เป็นปกติ หลาย ๆ ครั้งที่เราจะเห็นทรานส์เข้าห้องน้ำหญิง บางคนก็เลือกใช้ ‘ห้องน้ำคนพิการ’ หรือที่สากลเรียกว่า ‘Universal toilet’ (ห้องน้ำสำหรับทุกคน)


ที่มา : Khaosod