Thursday, 10 July 2025
GoodsVoice

‘รมว.ปุ้ย’ เชิญ ‘สถาบันมาตรฐานซาอุฯ’ เยือนไทย รับรองมาตรฐาน ‘ฮาลาลไทย’ หวังต่อยอดสู่ตลาดโลก

เมื่อวานนี้ (15 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบคณะผู้บริหารองค์กรมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพ แห่งซาอุดีอาระเบีย (The Saudi Standards Metrology and Quality Organization : SASO) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ด้านการมาตรฐาน ส่งเสริมการค้าการลงทุนและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบีย พร้อมเชิญผู้บริหาร SASO เยือนไทย เพื่อทำแผนงานความร่วมมือและลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) 

“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับนายซาอูด บิน ราชิด อัล อัสการ์ รองผู้อำนวยการองค์กรมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพแห่งซาอุดิอาระเบีย หรือ SASO ในระหว่างงาน Future Mineral Forum 2024 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติคิงอับดุลลาซิส กรุงริยาด โดยทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันที่จะยกระดับความสัมพันธ์ด้านการมาตรฐาน การยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียให้เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ มูลค่าการค้าของไทยกับซาอุดีอาระเบียได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 23 ใกล้แตะมูลค่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น จึงเสนอให้พัฒนาความร่วมมือในเชิงเทคนิคระหว่างกัน โดยได้เชิญผู้บริหารจาก SASO มาเยือนไทยเพื่อขับเคลื่อนในเชิงรุกกับ สมอ. โดยเริ่มต้นจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อเป็นหมุดหมายแรกแห่งความร่วมมือ 

นอกจากนี้ ยังได้ขอให้ SASO สนับสนุนการให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย โดยสินค้าฮาลาลของไทย แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพ แต่ปัญหาอุปสรรคหนึ่งในด้านการค้าคือ การยอมรับผลการตรวจสอบรับรองและเครื่องหมายรับรอง โดยมูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยไปยังซาอุดีอาระเบีย นับว่ายังมีมูลค่าน้อยและมีส่วนแบ่งตลาดเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่าการนำเข้าของซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายตลาดได้อีกมาก หากมีการยกระดับความร่วมมือด้านการมาตรฐานระหว่างกัน ทั้งนี้ การผลักดันอาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาล ซาอุดีอาระเบียนับเป็นตลาดฮาลาลที่ใหญ่ จึงเริ่มต้นก่อน และมีแผนที่จะขยายความร่วมมือไปถึงพหุภูมิภาคอื่นด้วย” รมต.พิมพ์ภัทราฯ กล่าว

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ.ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาล ได้เตรียมความพร้อมด้านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล ทั้งในด้านกระบวนการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลของประเทศไทย และกลุ่มประเทศคู่ค้าที่สำคัญ รวมทั้งโอกาสในการเพิ่มการส่งออกอาหารฮาลาลของไทย โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐาน อาทิ หน่วยตรวจรับรองที่มีความพร้อมในการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลตามกระบวนการที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ผู้ตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลที่เชี่ยวชาญตามกระบวนการตรวจสอบตามระบบ ISO/IEC 17020 และบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมอาหารที่มีทักษะในการพัฒนาสถานประกอบการให้มีมาตรฐานฮาลาลตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า ตลอดจนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้สามารถขยายตลาดส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะยกระดับงานด้านการมาตรฐานฮาลาลของทั้ง 2 ประเทศ ให้เกิดการยอมรับผลการตรวจสอบรับรองสินค้าฮาลาล เพื่อผลักดันสินค้าไทยสู่ตลาดมุสลิมโลก เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘นายกฯ’ เดินสำรวจ ‘สินค้าไทย’ ในซูเปอร์มาร์เก็ต นครซูริก พบ!! ได้รับความนิยมสูง จ่อเล็งขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 67 เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นครซูริก สมาพันธรัฐสวิส ภายหลังหารือเตรียมการประชุม World Economic Forum ประจําปี 2567 กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายจิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น เดินตรวจตลาดสินค้าไทยในนครซูริก เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส ข้าว น้ำมะพร้าว ที่จำหน่ายใน Coop City Supermarket นครซูริก สมาพันธรัฐสวิส

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการพูดคุยกับเอกอัครราชทูตไทย รู้สึกปลื้มใจที่สินค้าไทยสามารถส่งออกขายได้ทั่วโลก และพบว่าสินค้าไทยเป็นที่ชื่นชอบของคนที่นี่ โดยรัฐบาลจะพยายามขยายตลาดสินค้าไทย โดยจัดหาสินค้าไทยส่งออกมายังสมาพันธรัฐสวิสเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากสินค้าประเภทดังข้างต้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการ SME ของไทย

‘รมว.ปุ้ย’ โชว์ 3 ผลงานเด่น ‘โรงงาน-กระตุ้นศก.ใต้-ขับเคลื่อนอุตฯ อีวี’ ด้าน 'บิ๊กโปรเจกต์' ช่วยชาวไร่อ้อย หนุนอุตฯ น้ำตาลทรายเป็นรูปธรรม

'รมว.พิมพ์ภัทรา' โชว์ผลงาน 90 วัน ผ่านการดำเนินงานขับเคลื่อน 3 แกนหลัก ย้ำการบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด พัฒนาระบบการรายงาน ด้านสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยมลพิษ แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรม แร่โพแทช ดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

(16 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ 7 กันยายน 2566 ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 3 เดือนที่สามารถทำได้ทันที เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจใหม่สำหรับกระตุ้นรายได้ มวลรวมของประเทศ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 3 แกนหลัก คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม โดยแบ่งการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เน้นบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด รวมถึงพัฒนาระบบการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ) จัดงาน 'อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช' เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ และส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ภายใต้แนวคิด 'ช้อป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด'

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด รวมทั้งสร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ สมอ. ยังเร่งผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยกำหนดมาตรฐาน EV แล้วเสร็จ จำนวน 150 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมอีก 29 มาตรฐาน รวมทั้งกำหนดมาตรฐานเครื่องยนต์ เพื่อควบคุมการระบายมลพิษเป็น EURO 5 และ EURO 6

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เร่งผลักดันโครงการเหมืองแร่โพแทช 3 โครงการ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตแร่โพแทชได้ภายใน 3 ปี โครงการเหมืองแร่โพแทชจะช่วยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมในประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร นอกจากนี้ โครงการเหมืองแร่โพแทชยังจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เร่งจ่ายเงินตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2565/2566 โดยมีราคาเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 1,197.53 บาทต่อตัน กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 โดยมีราคาที่ 1,420 บาทต่อตัน และแจกพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยไปปลูกและขยายพันธุ์ จำนวน 900,000 ต้น

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มุ่งเน้นดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจตาม Mega Trend ของโลก การพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา และข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยด้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนั้น สศอ. ได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 5 สาขา เพื่อเป็น New Growth Engine ในการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สศอ. ยังได้จัดทำข้อเสนอการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลและคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park เพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบในการพัฒนาเชิงนิเวศและนวัตกรรม นอกจากนี้ กนอ. ยังได้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ในอนาคต ปัจจุบัน กนอ. มีนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมรวม 68 แห่ง ใน 16 จังหวัด มีพื้นที่รวม 190,150 ไร่ มีโรงงานอุตสาหกรรมรวม 4,862 โรง มูลค่า การลงทุนรวม 10.84 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งสิ้น 984,723 ราย

“ในช่วง 90 วัน ของการทำหน้าที่ ดิฉัน ได้กำกับดูแลให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม มุ่งเน้น การบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในระยะยาว นอกจากนี้ เรายังมุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ ส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) เร่งผลักดันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมแร่โพแทช รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภค โดยดำเนินการตรวจสอบและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด สร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และช่วยเหลือชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวปิดท้าย

PTTEP ผนึก 'ภาครัฐ-JOGMEC' ร่วมศึกษาศักยภาพชั้นหินธรณีวิทยา มุ่งเป้า 'กักเก็บ-ดักจับ' คาร์บอนบริเวณอ่าวไทยตอนบน

(16 ม.ค. 67) นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และนายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เข้าร่วมพิธีลงนามข้อตกลงในการร่วมศึกษาและประเมินศักยภาพชั้นหินธรณีวิทยาเพื่อกักเก็บคาร์บอน บริเวณอ่าวไทยตอนบน ระหว่าง PTTEP และ Japan Organization for Metals and Energy Security (JOGMEC) และ INPEX CORPORATION

โดยการศึกษาดังกล่าวอยู่ภายใต้ความร่วมมือระดับประเทศของหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ JOGMEC จากญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีข้อมูลด้านธรณีวิทยาที่จำเป็นต่อการวางแผนพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) ในอ่าวไทย รวมทั้ง เพื่อสนับสนุนการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย

'กระทรวงพลังงาน' ลุย!! 'ไฟฟ้าสีเขียว' แพงกว่าแต่รักษ์โลก เตรียมเปิดขายให้โรงงานอุตฯ ขนาดใหญ่ช่วง ก.พ. 2567

​’พีระพันธุ์’ เดินหน้า ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ต่อเนื่อง ล่าสุดสร้างมาตรฐาน ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ เป็นครั้งแรกในไทย หนุนนโยบายรัฐบาลต้อนรับการลงทุนข้ามชาติขยายฐานเข้าไทย ลดอุปสรรคข้อกีดกันภาษีคาร์บอนข้ามแดนให้ผู้ประกอบการไทย

(16 ม.ค.67) ​นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน มีความพร้อมในการจัดหา ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ หรือไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาด อย่างมีมาตรฐาน พร้อมด้วยกลไกการรับรองมาตรฐานแหล่งที่มาซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมั่นใจว่าจะมี ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ ในปริมาณเพียงพอสนองตอบต่อความต้องการ และรองรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดและเพิ่มปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

​“เป็นครั้งแรกที่ไทยจะมีกระบวนการผลิต จัดหา และรับรองไฟฟ้าสีเขียวใช้ และผมมั่นใจว่าประเทศไทย มีความพร้อมด้านการให้บริการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ หรือบริษัทข้ามชาติที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากภาษีคาร์บอนข้ามแดน (CBAM) ได้เป็นอย่างดี” นายพีระพันธุ์ กล่าวระหว่างการแถลงข่าว ‘เดินหน้าพลังงานสะอาด Utility Green Tariff ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และการลงทุน’

​นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ตระหนักดีถึงความต้องการใช้พลังงานสีเขียวของภาคธุรกิจ รวมถึงพันธกิจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนภาคพลังงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในขณะนี้สามารถจัดให้มีการให้บริการสองรูปแบบ ทั้งแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการไฟฟ้าสีเขียว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับรู้แหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการได้ พร้อมระบบใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียวที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวทุกกลุ่ม ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการ กกพ. ที่สนับสนุนและร่วมกันทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนอย่างต่อเนื่อง

​นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐาน และมีปริมาณเพียงพอรองรับแนวโน้มความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรมไทยและต่างชาติ นอกจากจะเป็นการยกระดับภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ สร้างโอกาสให้กับประเทศในการเป็นฐานการผลิตรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่จากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

​“กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) และโครงการ UGT ของภาครัฐจะเป็นการต่อยอดและยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้มากยิ่งขึ้น” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

​นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ. ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแล้ว และอยู่ระหว่างนำ (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวซึ่งกำหนดภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเปิดบริการไฟฟ้าสีเขียวให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้อย่างเป็นทางการ

​“ในการเตรียมความพร้อมในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว อัตราค่าบริการ และมาตรฐานกระบวนการรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียว กกพ. ได้ทยอยดำเนินการมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) กว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573  ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้เสร็จเรียบร้อยทั้งหมด และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว” นายเสมอใจ กล่าว

​สำหรับขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวนั้น การไฟฟ้าซึ่งเป็น
ผู้ให้บริการในแต่ละพื้นที่จะประกาศให้ทราบต่อไป

​อย่างไรก็ตาม การประกาศโครงการ UGT นับเป็นจุดเริ่มต้นโดยภาครัฐ เพื่อให้ผู้ให้บริการพลังงานทุกภาคส่วนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ในระยะเริ่มต้นอาจยังมีข้อจำกัด โดย กกพ. เล็งเห็นว่าจะสามารถขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้หลากหลายขึ้นและปรับปรุงข้อจำกัดต่างๆ ในระยะถัดไปได้ โดยอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงต้องได้รับความเห็นและเสียงสะท้อนจากผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวด้วย

'ฮอนด้า' สานต่อกิจกรรมวิ่งการกุศล 'Honda Run 2024' ระดมทุนมอบแก่โรงพยาบาลในอยุธยาและปราจีนบุรี

(16 ม.ค. 67) บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด สานต่อความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม จัดกิจกรรม 'Honda Run 2024' เป็นปีที่ 4 ชวนพนักงานฮอนด้าพร้อมครอบครัว รวมทั้งตัวแทนผู้จำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าใน จ.พระนครศรีอยุธยา และใกล้เคียง และตัวแทนสื่อมวลชนกว่า 2,000 คน ร่วมวิ่งการกุศล เพื่อนำรายได้จากการจัดกิจกรรม จำนวน 1 ล้านบาท โดยไม่หักค่าใช้จ่าย สมทบทุนให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทฯ ดำเนินงานอยู่ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยังขาดแคลน โดยมีกำหนดส่งมอบเงินบริจาคในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567

สำหรับกิจกรรม 'Honda Run 2024' เป็นกิจกรรมวิ่งการกุศลที่ฮอนด้าจะจัดขึ้นในวันที่ 14 มกราคม 2567 ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา การวิ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร มีจุดปล่อยตัว ณ ศาลากลางเก่า วิ่งผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์ และสถานที่สำคัญของจังหวัดฯ ที่มีความสวยงามจนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก 

นอกจากนี้ ผู้วิ่งยังได้ลุ้นรับรางวัลของที่ระลึกจากฮอนด้า รวมถึงมีรางวัลสำหรับการแต่งกายแฟนซีในแบบไทย ซึ่งเข้ากับบรรยากาศการวิ่งบนเส้นทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

ก้าวต่อไป ‘WHA’ ผู้ช่วยสร้างมูลค่าจีดีพีไทยกว่า 2 ล้านล้านบาท เข้าสู่สนามพลังงานทดแทน เล็ง!! เทรดดิ้งไฟฟ้าเสรี-คาร์บอนเครดิต

(16 ม.ค. 67) 'ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป' เปิด 4 กลุ่มธุรกิจ 'โลจิสติกส์-นิคมฯ-สาธารณูปโภคฯ-ดิจิทัล โซลูชัน' ดำเนินงานมา 21 ปี ช่วยสร้างมูลค่าจีดีพีไทยกว่า 2 ล้านล้านบาท สร้างงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง 

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จัดกิจกรรม WHA: We Shape the Future Journey เปิดอาณาจักรครอบคลุม 4 กลุ่มธุรกิจหลัก โลจิสติกส์, นิคมอุตสาหกรรม, สาธารณูปโภค/พลังงาน และดิจิทัล โซลูชัน โดย นายไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เผยถึงรายละเอียด ดังนี้...

- กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ : นับเป็นจุดเริ่มต้นของดับบลิวเอชเอ ก่อนที่จะเริ่มขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ซึ่งดับบลิวเอชเอ เป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจนี้ ปัจจุบันมีพื้นที่รวมกว่า 2.9 ล้านตารางเมตร บนทำเลจุดยุทธศาสตร์ 52 แห่ง ทั่วประเทศ

- กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม : โครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณูปโภคครบวงจร ได้แก่ การผลิตน้ำประปา การบำบัดน้ำเสีย การทิ้งและฝังกลบขยะ และการผลิตพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 13 แห่ง บนพื้นที่กว่า 71,300 ไร่ ทั้งในประเทศไทย และประเทศเวียดนาม

- กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า : ให้บริการด้านสาธารณูปโภคแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ด้วยกำลังการผลิตน้ำรวมถึง 168 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์รวม 847 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังนำกระบวนการ 'Reverse Osmosis (RO)' มาประยุกต์ใช้ในโรงงานผลิตน้ำระบบอาร์โอ ผลิตน้ำ 2 ประเภท คือ Permeate น้ำที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตได้ และ Concentrate คือน้ำที่มีความเข้มข้นของสารละลายในน้ำสูง

รวมทั้งโครงการ 'Clean Water for Planet' การบำบัดและการจัดการน้ำเสีย ด้วยวิธีการทางชีวภาพมาปรับใช้ ขณะที่การผลิตไฟฟ้า บริษัทเริ่มจากการร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวม 847 เมกะวัตต์

"วันนี้เราขยับเข้าสู่การทำ Renewable Energy โดยเฉพาะ 'Solar Roof Top' ที่เราลงทุนเอง 100% ทั้ง Floating Solar บนทุ่นลอยน้ำของบ่อเก็บน้ำดิบ ภายในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ AAT กำลังผลิต 8 เมกะวัตต์

"คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 , Solar Carpark บนหลังคาที่จอดรถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) 59,000 ตารางเมตร ขนาดไฟฟ้ารวม 7.7 เมกะวัตต์

"และพร้อมเปิดดำเนินจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ในปีนี้เช่นเดียวกันและสุดท้าย Solar Rooftop ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 24.24 เมกกะวัตต์" นายไกรลักขณ์ กล่าวเสริม

- กลุ่มธุรกิจดิจิทัล โซลูชัน : ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมระดับโลก โดยพัฒนาธุรกิจและทางเลือกด้านข้อมูลที่ครอบคลุมเพื่อสนับสนุนลูกค้านิคมอุตสาหกรรมทั้งจากบริษัทในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจในช่วง 21 ปีที่ผ่านมาของ WHA ช่วยสร้างจีดีพีให้กับประเทศไทยแล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) กว่า 1.6 ล้านบาท และช่วยจ้างงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง

'ไบแนนซ์ ประเทศไทย' คิกออฟ!! เปิดเทรดคริปโตแล้ว กร้าว!! ปลอดภัย โปร่งใส มั่นใจคุณภาพการให้บริการ

(16 ม.ค. 67) เพจ Binance TH ประกาศว่า Binance TH by Gulf Binance แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ได้เปิดให้สมัครสมาชิกได้แล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อเริ่มต้นเทรดคริปโทมากกว่า 110 คู่เหรียญ ฝากและถอนได้ด้วยเงินบาท

Binance TH by Gulf Binance คือแพลตฟอร์มที่ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (สำหรับการซื้อขายด้วยเงินบาท) และบริการนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (สำหรับการซื้อขายระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล) โดยบริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด ในเครือของ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และบริษัท ไบแนนซ์ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ จำกัด ในเครือกลุ่ม Binance

บริษัทได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากกระทรวงการคลัง และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี, ใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล, ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี และใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล

บริการของบริษัทฯ มีดังนี้

1. บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัทฯ จะให้บริการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผู้ใช้บริการสามารถวางคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับผู้ใช้บริการอื่นภายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ ได้ โดยสอดคล้องกับกลไกการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการซื้อขาย, กลไกการจับคู่, การชำระราคาและส่งมอบ รวมถึงกลไกการตรวจสอบสภาพตลาดที่เหมาะสม ทั้งนี้ บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะให้บริการเฉพาะการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยสกุลเงินบาทเท่านั้น

และ 2. บริการนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล - บริษัทฯ จะให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผู้ใช้บริการสามารถวางคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านบริษัทฯ ในฐานะนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อส่งไปยังศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลปลายทาง (sourced exchange) ที่เชื่อมต่อกับบริษัทฯ ได้ ภายใต้กลไกเงื่อนไขราคาที่ดีที่สุดตามสภาพตลาด ทั้งนี้ บริการนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนี้จะให้บริการเฉพาะการซื้อขายระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกันเท่านั้น

คุณสมบัติ ในการลงทะเบียนเพื่อใช้งานบัญชีการใช้งาน Binance TH

-กรณีบุคคลธรรมดา อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์

-กรณีนิติบุคคล เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นและดำรงอยู่โดยชอบภายใต้กฎหมายของประเทศที่จัดตั้งขึ้น และมีความสามารถทางกฎหมาย และสามารถเข้าทำข้อตกลง

-ไม่เคยถูกระงับหรือถูกลบออกจากการใช้งานบริการของบริษัทมาก่อน

-ไม่มีบัญชีการใช้งานกับบริษัทฯ อยู่แล้ว

- การใช้บริการต้องไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่บังคับใช้ หรือนิติบุคคลที่ดำเนินการแทน ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

- ไม่มีสถานะความเป็นบุคคลอเมริกันตามกฎหมาย FATCA

สำรวจแหล่งแร่ลิเทียมในไทย ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก 'ลบจุดอ่อน-เพิ่มศักยภาพ' ไทย สู่ผู้นำการผลิตรถ EV ในอาเซียนเต็มตัว

นับเป็นข่าวดี สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี ของไทย ที่นอกจากจะมีจุดแข็งในด้านการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ที่มีคุณภาพสูง ความเชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์ และยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่โดดเด่นกว่าประเทศคู่แข่ง ล่าสุดก็ได้มีการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีวี ทำให้เพิ่มศักยภาพดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวี ได้มากขึ้น และจะมีการลงทุนโรงงานแบดเตอรี่อีวีต้นน้ำมากขึ้น ส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพสูงอย่างรอบด้าน

โดยไม่นานมานี้ นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ให้การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีอย่างเต็มที่ โดยสั่งการให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี

โดยที่ผ่านมา ได้ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า หินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาวหรือหินเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียมมาเย็นตัวและตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% อยู่ในเกรดระดับกลาง และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง

สำหรับแหล่งลิเทียมเรืองเกียรติแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นแหล่งที่มีปริมาณแร่ลิเทียมมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกในปัจจุบัน เป็นรองเพียงประเทศโบลิเวีย และอาร์เจนตินา ซึ่งหากได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่แล้ว คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน คาดว่าจะสามารถออกประทานบัตรผลิตแร่ได้ภายใน 2 ปี จึงเริ่มการทำเหมืองได้

ทั้งนี้ นอกจากทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว กพร. ยังได้ออกใบอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียมไปแล้ว 6 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และฝั่งตะวันตกที่ จ.ราชบุรี คาดว่าจะพบแร่ลิเทียมได้อีกหลายแหล่ง แต่ทั้งนี้ ในแหล่งแร่บางแห่งอาจจะไม่สามารถผลิตได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ความมั่นคงทางทหาร ซึ่งปัญหานี้อาจจะหาทางออกได้ในอนาคต ทำให้คาดว่าจะสำรวจพบแร่ลิเทียมอีกหลายแห่งในประเทศไทย

ส่วน ข้อกังวลในด้านการทำเหมืองแร่ลิเทียมนั้น เทคโนโลยีการแต่งสินแร่ลิเทียมในปัจจุบันสามารถควบคุม และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งในกระบวนการสกัดแร่ลิเทียม ก็ไม่มีสารเคมีอันตรายเข้ามาเกี่ยวข้อง ในส่วนของ กพร. ก็จะเข้าไปกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอนการผลิต จึงมั่นใจว่าเหมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนโดยรอบเหมืองลิเทียมอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ กพร. ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถ Reuse และ Recycle แบตเตอรี่ที่ใช้แล้วและนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานซ้ำ (Second Life EV Batteries) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อรองรับการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วในอนาคตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

ทั้งนี้ นโยบาย EV 3.5 ของรัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยมีปริมาณสำรองลิเทียมเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มูลค่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จะส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายเชนทั้งระบบ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการลงทุนและการจ้างงาน

รวมทั้งยังสร้างความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวี อันดับ 1 ของอาเซียน ลบจุดอ่อนเดิมที่ไม่มีเหมืองแร่ต้นน้ำแบตเตอรี่ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับข้อมูล บริษัท สยามโลหะ อุตสาหกรรม จำกัด ได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ 3 ใบ ได้แก่...

อาชญาบัตรพิเศษที่ 1/2562มีพื้นที่ 7,670 ไร่ (ประมาณ 12.27 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ และ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

อาชญาบัตรพิเศษที่ 2/2562 มีพื้นที่ 7,433 ไร่ (ประมาณ 12.64 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ ต.กะไหล และ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

อาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2562 มีพื้นที่ 7,417 ไร่ (ประมาณ 11.87 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ ต.กะไหล และ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ปรับตัวทันเทคโนโลยี แต่ต้องรักษาพื้นฐานขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของไทยให้มากที่สุด เพื่อจะทำให้เด็กก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งที่ยังมีวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติของประเทศ

'ดูไบเวิลด์' บิ๊กโลจิสติกส์-ท่าเรือ UAE เอาจริง!! จ่อลงทุน 'แลนด์บริดจ์' เช็กประวัติ!! เคยให้เปล่า 200 ล้าน วิจัยสร้างท่าเรือกับไทยมาแล้ว

เมื่อวานนี้ (16 ม.ค.67) ระดับโลก ไม่ใช่จะมาหลอกกันง่ายๆ ล่าสุด Dubai World บริษัทโลจิสติกส์ขนาดยักษ์ จาก UAE สนใจโครงการแลนด์บริดจ์ และมีการประสานข้อมูลกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. 

ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระหว่างการเข้าร่วมประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2567 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค.2567 ภายใต้กำหนดร่วมการประชุม 'Thailand Landbridge: Connecting ASEAN with the World'

สำหรับ Dubai World (ดูไบเวิลด์) เป็นบริษัทชั้นนำของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งเชี่ยวชาญโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเลและเขตการค้าเสรี ก่อตั้งปี 2548 ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 70 ล้านตู้ โดยมีเรือนำเข้า 70,000 ลำต่อปี คิดเป็น 10% ของปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก และมีพื้นที่ให้บริการในท่าเรือ 82 แห่งใน 40 ประเทศ

โดยที่ผ่านมา มีความสนใจ ที่จะลงทุนด้านโลจิสติกส์ในไทยมาช้านาน 

เคยร่วมมือและศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ร่วมกับรัฐบาลในช่วงปี 2550 ในการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2551

Dubai World สนับสนุนแบบให้เปล่า เพื่อศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาท่าเรือระหว่างประเทศ 2 แห่ง บนชายฝั่งทะเลอันดามันและบนชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย วงเงิน 200 ล้านบาท ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งกระทบกับแผนการลงทุนของ Dubai World

กระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน มีท่าทีสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ ทาง Dubai World จึงกลับมาให้ความสนใจในโครงการนี้ 

ด้าน สนข.รายงานด้วยว่า “Dubai World เป็นบริษัทแรกๆ ที่เข้ามาช่วยไทยในการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งขณะนั้นมีบริษัทจากจีนและอีกหลายแห่งที่มาช่วยศึกษา Dubai World จึงถือเป็นอีกหนึ่งเอกชนที่เข้าใจและรู้เรื่องแลนด์บริดจ์เป็นอย่างดี”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top