Thursday, 15 May 2025
EducationNewsAgencyforAll

วิชาฟิสิกส์: เรื่อง คลื่นเสียงสำหรับนักเรียน ม.5

THE STUDY TIMES X DekThai Online

????วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน

วิชาฟิสิกส์: เรื่อง คลื่นเสียงสำหรับนักเรียน ม.5

โดย ครูพี่ปุ๊ องอาจ สุภัคชูกุล

อดีตตัวแทนคณิตศาสตร์โอลิมปิก นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

#สอนวิชาคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ม.ต้น-ม.ปลาย

#DekThaiOnline

https://dekthai-online.com/browse

.

.

BMAT: เรื่อง ติวฟรี BMAT เตรียมสอบแพทย์สำหรับ ม.ปลาย

THE STUDY TIMES X DekThai Online

????วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน

BMAT: เรื่อง ติวฟรี BMAT เตรียมสอบแพทย์สำหรับ ม.ปลาย

โดย ครูจึ๋ง สมนึก สงวนตระกูล

นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น Monbusho

เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง Computer Engineering Osaka University

#BMAT เรียนเตรียมสอบแพทย์ Critical Thinking, Problem Solving, Maths & Science

#DekThaiOnline

https://dekthai-online.com/browse

.

.

Critical Thinking หรือ การคิดแบบมีวิจารณญาณ ทักษะที่เด็กทุกคนต้องมี

คุณแม่ติ๊ด เจ้าของเพจเลี้ยงลูกให้ยอดเยี่ยม มีความสนใจในเรื่องของการพัฒนาเด็ก ได้มาร่วมพูดคุยถึง Critical Thinking ที่ถือเป็นทักษะสำคัญมากในยุคที่ข่าวสารล้นโลก 

Critical Thinking หรือการคิดแบบมีวิจารณญาณ คือ การคิดแบบที่มีการใตร่ตรองก่อน ไม่ใช่เห็นปุ๊บเชื่อเลย แชร์เลย สามารถวิเคราะห์สิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่อ่าน ด้วยเหตุผล มองในหลายแง่มุม อย่าเชื่อเพียงเพราะมันตรงกับความเชื่อเดิมของเรา เพราะจะทำให้เราตัดสินใจได้ไม่ถูกต้อง 

4C ทักษะที่ควรมีในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ Creativity ความคิดสร้างสรรค์, Critical Thinking การคิดแบบมีวิจารณญาณ, Communication การสื่อสาร และ Collaboration การทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่ง Critical Thinking ถือเป็นทักษะที่ฝึกยากที่สุด เนื่องจากต้องอาศัยทักษะอื่นๆ มาช่วยด้วย เช่น เด็กที่จะมี Critical Thinking ต้องมี Creativity ด้วยในระดับหนึ่ง 

ที่สำคัญที่สุดคือ Self-Awareness ความตระหนักรู้ในตนเอง เพราะหลังจากรับรู้ข้อมูลมาแล้ว จะต้องกลับมามองตัวเองอย่างเป็นกลางที่สุด ไม่ด่วนตัดสิน เพราะฉะนั้นการที่จะมี Critical Thinking ได้ดี จะต้องทำตัวว่างๆ เป็นกลาง ไม่นำความคิดของตัวเองมาตัดสินข้อมูลที่ได้รับมา

ปัจจัยหลัก 3 อย่างที่ส่งผลต่อการมี Critical Thinking ได้แก่ 1.) ตัวของเด็ก 2.) คุณพ่อคุณแม่ และการเลี้ยงดู 3.) โรงเรียน หรือระบบการศึกษา โดยทั้งสามปัจจัยหลักต้องสอดคล้อง ส่งเสริมไปด้วยกัน 

โดยพ่อแม่มีความสำคัญมาก เพราะสามารถทุ่มเทกับลูกได้มากกว่าคุณครูที่โรงเรียน และด้วยระบบการศึกษาที่ล้าสมัยไม่สามารถสร้างทักษะบางอย่างที่เป็นทักษะในอนาคตได้ทันเวลา การทำให้เป็นวิถีชีวิต เป็นการเรียนรู้แบบเป็นธรรมชาติมากกว่าการสอน พ่อแม่ในยุคนี้จึงต้องพัฒนาตัวเอง เพราะเด็กคนหนึ่งไม่ได้เกิดมาโดยการมี Critical Thinking เลย  ต้องมีพ่อแม่ที่คอยช่วยชวนพูดคุย ตั้งคำถามปลายเปิดให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น 

ในยุคที่ข้อมูลมีความหลากหลาย รวดเร็ว เข้าถึงง่าย การฝึกลูกให้มีทักษะ Critical Thinking  เพื่อปกป้องลูกให้รู้เท่าทัน ไม่ถูกชักจูง สิ่งสำคัญคือ การสอนว่าอย่าเชื่อสิ่งที่เห็นในครั้งแรก ฝึกลูกให้เป็นเด็กช่างสงสัย เวลาที่ได้รับสารอะไรมา ไม่ต้องเชื่อทุกอย่าง หากอยากรู้ค่อยมาทดลองหรือพิสูจน์ หาข้อมูลจากหลายๆ แห่ง บางครั้งหากลูกไม่มี Critical Thinking อาจทำให้ mindset ผิดเพี้ยนไป

นอกจากนี้การที่เด็กได้อ่านหนังสือเยอะ หากทำให้เป็นวิถีของเขา จะฝึกในเรื่องของ Critical Thinking ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีคลังข้อมูลความรู้เยอะ และการมี Critical Thinking ยังทำให้สามารถเชื่อมโยงความคิดได้ดี 

ในส่วนของการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่พบเจอ หากพ่อแม่ใช้วิถีชีวิตแบบชวนกันคิดแก้ปัญหา ชวนแชร์มุมมอง เป็นการเรียนรู้แบบธรรมชาติ ก็เป็นส่วนที่ช่วยให้เกิด Critical Thinking ประสบการณ์ประจำวันเหล่านี้ล้วนอยู่ในชีวิตประจำวันที่พ่อแม่สามารถหยิบยกขึ้นมาสอนลูกได้

การฝึกทักษะให้ลูก ไม่ได้ฝึกด้วยการผลักให้ลูกต้องทำเรื่องนี้ให้ได้ จนกลายเป็นความเครียดในครอบครัว การฝึกทักษะต่างๆ หากฝึกด้วยความรู้สึกสนุก หรือเป็นธรรมชาติโดยที่เด็กไม่รู้ตัว ย่อมดีกว่าการที่จะไปสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กจนเกิดความเครียด เด็กแต่ละคนมีจุดแข็งจุดอ่อนแตกต่างกัน เด็กที่มีโอกาสฝึก Critical Thinking ได้ดี ต้องเป็นเด็กที่ชอบคิด แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนที่มีธรรมชาติแบบนี้ เพราะฉะนั้นเด็กสามารถไปโดดเด่นด้านอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องโดดเด่นครบทั้ง 4C 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : Critical Thinking ทักษะที่เด็กทุกคนต้องมี
Link : https://www.facebook.com/299800753872915/videos/435405360869716
เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: ภารวี สุภามาลา

จัดเต็ม!! คอนเทนต์เพื่อการศึกษา 1 ก.ค. นี้ แหล่งรวมสาระเพื่อ “การศึกษาและการพัฒนาตัวเอง ” ????????

ทุกคอนเทนต์ จัดเต็มทุกวัน จันทร์-อาทิตย์

✅ข่าวการศึกษา

✅คอลัมนิสต์

✅ข้อมูลโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชื่อดัง

✅ข้อมูลการศึกษาทั้งไทยและต่างประเทศ

✅บุคคลในแวดวงการศึกษาที่น่าสนใจ

✅บทความ เทคนิคการพัฒนาตัวเอง

✅รายการสัมภาษณ์ THE STUDY TIMES STORY

ขนกันมาแบบจัดเต็ม!!

เพราะเราคือ THE STUDY TIMES สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์สำหรับทุกคน????✏

Education News Agency for All

????ติดตามได้ทางเว็บไซต์, Facebook, LINE, YouTube, IG และ TiktTok ???? THE STUDY TIMES

ใครมีสกิลทำอาหาร ยกมือขึ้น!! สพฐ. เชิญชวนนักเรียนมัธยมฯ แข่งขันทำอาหาร ต่อยอดอาชีพเชฟมือทอง ในรายการแข่งขัน “สุดยอดเชฟนักคิด สู่นักธุรกิจรุ่นเยาว์”

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย (สมป.) จับมือกับดุสิตธานีและเชฟพล ตัณฑเสถียร จัดแข่งขันประลองฝีมือนักเรียนมัธยมศึกษา ที่ชอบการทำอาหาร ในรายการแข่งขัน “สุดยอดเชฟนักคิด สู่นักธุรกิจรุ่นเยาว์” ขานรับนโยบาย สพฐ. ด้านการสร้างโอกาสและคุณภาพนักเรียน ค้นหาเชฟมือทองรุ่นเยาว์ ที่อนาคตจะประสบความสำเร็จในอาชีพธุรกิจการประกอบอาหาร

ทั้งนี้ จะมีการแข่งขันระดับภูมิภาคก่อน เพื่อคัดเลือกทีมที่ชนะมาแข่งขันกันที่ส่วนกลางวิทยาลัยดุสิตธานี ซึ่งจะเริ่มรับสมัครระหว่างวันที่ 10-31 กรกฎาคม 2564 โดยศูนย์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย กำแพงเพชร และจังหวัดตาก ส่งใบสมัครที่ Email:[email protected] โทรศัพท์ 09-5497-9516, 08-6182-8187

ศูนย์ภาคกลาง จังหวัดชัยนาท นครนายก นครปฐม นครสรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สระบุรี อ่างทอง อุทัยธานี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว กาญจนบุรี เพชรบุรี และจังหวัดราชบุรี ส่งใบสมัครที่ Email:[email protected] หรือ [email protected] โทรศัพท์ 09-3846-8702, 08-3915-9625

ศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร สุรินทร์ ศรีสะเกษ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ ส่งใบสมัครที่ Email:[email protected] โทรศัพท์ 08-2545-9678

ศูนย์ภาคใต้ จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สตูล สงขลา สุราษฎร์ธานี ยะลา และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่งใบสมัครที่ Email:yothinkhon@hotmailçom โทรศัพท์ 08-6270-7446

และศูนย์กรุงเทพมหานคร ส่งใบสมัครที่ Email:[email protected] โทรศัพท์ 08-8560-9600

โดยทีมชนะเลิศจะได้รับรางวัลเงินสดพร้อมโล่เกียรติยศ รางวัลที่ 1 เงินสด 50,000 บาท รางวัลที่ 2 เงินสด 30,000 บาท และรางวัลที่ 3 เงินสด 20,000 บาท

ลิงก์ใบสมัคร 
https://drive.google.com/file/d/19P9TFGOa2Y1itxXQq-EhQddM1Ug15HSE/view?usp=sharing


ที่มา:

https://www.facebook.com/101216422215115/posts/102618908741533/?d=n
https://www.matichon.co.th/publicize/news_2788659

โรงเรียนอินเตอร์ สุดปัง!! ทำไม แพงแค่ไหน ก็ยอมจ่าย?

โรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 เพราะโรงเรียนไม่ได้เพียงแค่ให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ในด้านความรู้ในเรื่องของการเรียนหนังสืออย่างเดียว แต่โรงเรียนที่ดีจะต้องสอนทั้งการใช้ชีวิตและการเข้าสังคมให้ได้ ในที่นี่เราจะมาพูดถึงโรงเรียนอินเตอร์กัน 

โดยโรงเรียนอินเตอร์ทีเป็นโรงเรียนที่สอนทั้งในเรื่องของการเรียนหนังสือ และ ประสบการณ์การใช้ชีวิต สภาพแวดล้อมและสังคม เป็นสิ่งหนึ่งที่อาจจะช่วยให้ลูกของคุณมีประสบการณ์และการเรียนรู้ ในวันนี้ THE STUDY TIMES ได้รวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นว่าในโรงเรียนอินเตอร์มีข้อดีอะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจให้ลูกรักได้มีโอกาสพัฒนาในเรื่องของการเรียนและสังคม 

1.) การเรียนรู้ที่ควบคู่ไปกับประสบการณ์
สิ่งหนึ่งที่ลูกของคุณจะได้รับจากโรงเรียนอินเตอร์คือการเรียนที่ไม่ใช่แค่อยู่ในตำรา ไม่ได้มีแค่เพียงทฤษฎี แต่เป็นการเรียนที่ควบคู่ไปกับประสบการณ์ โรงเรียนอินเตอร์จะสอนให้ลูกของคุณได้เรียนทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ลูกของคุณมีพัฒนาการที่ดี โรงเรียนอินเตอร์หลายที่จะให้นักเรียนได้ทั้งเรียน เล่น และสนุกกับการใช้ชีวิตในเวลาเดียวกัน ยิ่งถ้าได้ลงมือปฏิบัติ ลูกของคุณก็จะยิ่งสนุกกับการเรียนมากยิ่งขึ้น นักเรียนในโรงเรียนอินเตอร์จะได้พัฒนาการจากทางด้านการเรียนและกิจกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการเรียนในยุคปัจจุบัน


2.) ภาษาอังกฤษคือใบเบิกทางสู่ความสำเร็จ
ในปัจจุบันภาษาถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกรักของคุณสามารถเปิดโลกกว้างได้อย่างมาก ยิ่งภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากล และแน่นอนโรงเรียนอินเตอร์มีรูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นภาษาอังกฤษในทุกวิชา เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะในด้านทางภาษา และจะทำให้ลูกของคุณเก่งภาษามากยิ่งขึ้น โดยโรงเรียนอินเตอร์จะมีการสอนทั้งการเขียน การอ่าน การพูด ในทุกระดับชั้น การเรียนภาษาอังกฤษนับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกของคุณมีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย 


3.) สังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย 
เนื่องจากนักเรียนและคุณครูที่โรงเรียนอินเตอร์มีความหลากหลายทั้งในประเทศ ภาษา และ วัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้สามารถพัฒนาทักษะทางด้านภาษาอย่างมาก ลูกของคุณจะได้รับทั้งในเรื่องของการพูดภาษาได้หลากหลายรวมไปถึงได้รับวัฒนธรรมจากอีกหลากหลายประเทศ ทำให้ลูกของคุณได้รับทั้งความรู้ มุมมองในการใช้ชีวิตที่หลากหลายนอกเหนือจากในห้องเรียน สังคมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในด้านของการใช้ชีวิต โรงเรียนอินเตอร์ถือว่าเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม หลากหลายสัญชาติมารวมกัน 

4.) คณะอาจารย์ คุณครูที่มีความเป็นเลิศทางด้านการสอนและมากไปด้วยประสบการณ์
โรงเรียนอินเตอร์ทุกที่คณะครู อาจารย์จะต้องได้รับการศึกษามาในเฉพาะทางอย่างดีเยี่ยม จึงจะสามารถเข้ามาสอนในโรงเรียนอินเตอร์ได้ ด้วยศักยภาพและเนื้อหาการสอนที่คณะคุณครูเตรียมถ่ายทอดให้กับนักเรียนทั้งในด้านของทฤษฎีและด้านปฏิบัติก็จะทำให้ลูกของคุณได้รับการดูแลเอาใจใส่ และมีการเรียน การศึกษาที่ดี และบุคลากรในโรงเรียนอินเตอร์จะต้องมีความพร้อม ดูแลเอาใจใส่นักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 

5.) สถานที่และบรรยากาศคือการเรียนรู้และการใช้ชีวิต 
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนที่สำคัญในการเรียนคือ บรรยากาศและสถานที่ในการเรียนรู้ โรงเรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่มีสถานที่ ๆ สวยงามและพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนทุกคน ซึ่งสภาพแวดล้อมทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกของคุณมีความรู้สึกที่อยากจะไปโรงเรียน หลาย ๆ ที่ในโรงเรียนอินเตอร์จะให้ความสำคัญกับสถานที่และบรรยากาศการเรียนอย่างมาก มีห้องกิจกรรมและการเรียนรู้ นอกเหนือจากทางด้านวิชาการแล้วการเรียนนอกห้องเรียนก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ด้านศิลปะ ดนตรี คหกรรม รวมไปถึงกีฬา เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาศักยภาพของตนเองและค้นหาความฝัน หรืออาชีพในอนาคต

เครดิตภาพ : โรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันฯ

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาในแต่ละข้อนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกของคุณเติบโตขึ้น โรงเรียนอินเตอร์ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ที่จะสามารถให้ลูกของคุณมีศักยภาพในการเรียนและสังคมที่ดี ตลอดจนถึงมีพัฒนาการทางด้านความคิด และมีทักษะอื่น ๆ อีกมากมาย หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ปกครองที่กำลังเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกของคุณ เพื่อให้ลูกที่คุณรักได้ใช้ชีวิตและเปิดประสบการณ์ในช่วงวัยเรียนได้อย่างมีความสุขกับเส้นทางที่ทุกท่านได้กำหนดไว้

THE STUDY TIMES X DekThai Online, ClassOnline เสาร์อาทิตย์นี้ พบกับ LIVE วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาสังคม

????THE STUDY TIMES X DekThai Online, ClassOnline เสาร์อาทิตย์นี้

????วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม และ วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม 2564

⏰เวลา 2 ทุ่มตรง!

พบกับ LIVE วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาสังคม

????วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม
วิชาคณิตศาสตร์: เรื่อง ตัวอย่างการสอบคณิตศาสตร์ ม.ปลาย

โดย ครูพี่ปุ๊ องอาจ สุภัคชูกุล
อดีตตัวแทนคณิตศาสตร์โอลิมปิก นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น
#สอนวิชาคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ม.ต้น-ม.ปลาย

????วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม
วิชาสังคม: เรื่อง ตัวอย่างข้อสอบวิชาสามัญ (สังคม)

โดย ครูต้นคูน ดร.ณัฐพงศ์ ลาภบุญทรัพย์
ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ (Ph.D. in Communication Arts) สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
#สอนวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคม ระดับ ม.ต้น-ม.ปลาย

????ช่องทางรับชม LIVE
Facebook และ Youtube: THE STUDY TIMES

หนุ่มหล่อสุดฮอต “มิว ศุภศิษฏ์” นักร้องและนักแสดงมากความสามารถ ทั้งยังพกดีกรี ว่าที่ ดร. จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย !!

มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ นักแสดงมากความสามารถ ที่ใคร ๆ ที่ได้ชมผลงานต่างชื่นชอบและตกเป็นแฟนคลับของเจ้าตัวกันไปหมด แต่นอกจากความสามารถในด้านวงการบันเทิง ที่เป็นทั้งสายแสดงและสายนักร้อง มิว ศุภศิษฏ์ ก็มีดีกรีทางด้านการเรียนที่ไม่เป็นสองรองใครเหมือนกัน 

โดยหนุ่มมิวนั้นจบชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แผนการเรียนวิทย์-คณิต หลังจากเรียนจบได้เข้าศึกษาต่อในภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทองอีกด้วย 

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี หนุ่มมิวก็ไม่รอช้าศึกษาต่อทางด้านปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตอนที่มิวศึกษาระดับปริญญาโทอยู่นั้น ทางอาจารย์ก็ให้มิวได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนแทนอาจารย์อยู่ช่วงหนึ่ง โดยสอนวิชาสถิติ (Statistics) ให้กับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

หลังจากคว้าปริญญาโทมาได้สมดั่งใจแล้ว หนุ่มมิวก็สอบเข้าไปศึกษาต่อปริญญาเอกทันทีโดยศึกษาที่ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

นอกจากงานในวงการบันเทิงจะเก่งแล้ว เรื่องการเรียนก็ยังไม่แพ้กัน นับได้ว่าหนุ่มมิวนั้นครบเครื่องทั้งหน้าตา ความสามารถ และ เรื่องการเรียนจริง ๆ 


ที่มา : https://www.sanook.com/campus/1400748/

https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/87343/-newenttha-newent-new-enttv-ent-musoth-mus-
 

รู้จัก “มศว ประสานมิตร” เป๊ะปังยังไง ทำไมใคร ๆ ถึงอยากเรียน ?!

หลาย ๆ คนก็คงจะรู้จัก “มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ” หรือ “มศว” ว่าเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังที่ผลิตบุคลากรในวงการต่าง ๆ มากมาย มีวิทยาเขตด้วยกัน 2 ที่คือ มศว ประสานมิตร ที่อโศก กรุงเทพฯ และ มศว องครักษ์ ที่จังหวัดนครนายก ในวันนี้ THE STUDY TIMES จะมาแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักถึงประวัติและชื่อเสียงของ มศว ประสานมิตร กัน

มศว หรือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ถือกำเนิดเมื่อตอนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและสังคมได้คลี่คลาย การศึกษาในยุคนั้นก็ต้องการที่จะพัฒนาให้คงอยู่

แต่มีประชากรครูไม่เพียงพอต่อประชากรนักเรียนเพื่อผลักดันการศึกษาทางด้านวิชาชีพครู กระทรวงศึกษาธิการจึงก่อตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง” ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2492 ที่ถนนประสานมิตร กรุงเทพมหานคร โดยได้ถือกำเนิดขึ้นจาก หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น

หลังจากนั้นจึงได้พัฒนามาเป็น “วิทยาลัยวิชาการศึกษา” ในปี พ.ศ.2496 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี เป็นผู้นำพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน หลังจากนั้นก็พัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ มีหลักสูตรมากมายจนกลายมาเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมี 2 วิทยาเขตคือ มศว ประสานมิตร ที่อโศก กรุงเทพฯ และ มศว องครักษ์ ที่จังหวัดนครนายก

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความหมายว่า "มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร" "วิโรฒ"มาจากคำว่า "วิโรฒ" ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ความงอกงามหรือเจริญ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (อ่านว่า สี-นะ-คะ-ริน-วิ-โรด) มีชื่อย่อว่า "มศว" (ไม่มีจุด) เขียนอักษรโรมันว่า "Srinakharinwirot University" มีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า SWU (อ่านว่า สะ-วู)

สัญลักษณ์ของมศวคือกราฟ ซึ่งเป็นสมการทางด้านคณิตศาสตร์ Y = ex (Exponential Curve) เส้นกราฟของการขยายเพิ่มขึ้น มีความหมายสอดคล้องปรัชญาที่ว่า “การศึกษาคือความเจริญงอกงาม” หรือ สิกขา “วิรุฬหิ สมปตตา” หรือ “ Education is Growth” รวมทั้งสอดคล้องกับ “สีเทา–แดง” ซึ่งสีเทา เป็นสีของสมอง หมายถึง “ความคิด” และสีแดงเป็นสีของเลือด หมายถึง “ความกล้าหาญ” สีเทา – แดง จึงหมายถึง “คิดอย่างกล้าหาญ” นั้นเอง โดย มศว จะใช้คำว่า นิสิต แทนตัวผู้เรียน

ในวันนี้ THE STUDY TIMES ขอพูดถึง มศว ประสานมิตร กันก่อนนะคะ โดย มศว ประสานมิตรตั้งอยู่ที่ถนนสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา อโศก การเดินทางก็ง่ายและสะดวกมาก ๆ เนื่องจากตัวมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใกล้ BTS และ MRT (อยู่หลังตึกแกรมมี่ด้วยนะ)

นอกจากนี้ มศว ประสานมิตร ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการสอบแข่งขันแอดมิชชั่นสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยคณะที่เป็นยอดนิยมคือ คณะวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม นั่นเอง ซึ่งเป็นคณะที่มีการแข่งขันสูงมาก ๆ โดยเฉพาะเอกภาพยนตร์ หรือ คนในคณะจะเรียกเอก Cinema ที่มีรุ่นพี่อย่าง เก้า จิรายุ เจเจ กฤษณภูมิ และมีรุ่นพี่ดาราคนอื่น ๆ ที่กำลังศึกษาต่อหรือจบจากคณะนี้ก็มีอีกเพียบ

ในส่วนของคณะที่มศว ประสานมิตร มีคณะที่ศึกษาอยู่ที่มศว ประสานมิตรทั้ง 4 ปีมีคณะดังต่อไปนี้

คณะศึกษาศาสตร์

คณะเศรษฐศาสตร์

คณะทันตแพทยศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์

คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

คณะศิลปกรรมศาสตร์

วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม

วิทยาลัยนานาชาติเพื่อศึกษาความยั่งยืน

ส่วนคณะอื่น ๆ จะเป็นการสลับเปลี่ยนกันไปเรียนที่มศว องครักษ์บ้าง อย่างเช่นคณะแพทย์ศาสตร์จะเรียนที่ มศว ประสานมิตรตั้งแต่ปี 1 – 3 และจะไปเรียนต่อในชั้นปีที่ 4 – 6 ที่ มศว องครักษ์

สังคมของมศวในแต่ละคณะก็มีความแตกต่างหลากหลายกันไปแต่จากที่ได้ประสบพบเจอนั้นสังคม มศว ถือว่าเป็นสังคมที่ดี ทุกคนเป็นมิตรและมีอัธยาศัยดีมาก ๆ เลยละค่ะ คณะคุณครูหรืออาจารย์ ก็มากไปด้วยประสบการณ์จัดเต็มทุกเนื้อหาการสอน เรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่อัดแน่นไปด้วยการเรียนรู้ที่ไม่ที่สิ้นสุดจริง ๆ ค่ะ

นอกจากนี้ รอบ ๆ มศว ประสานมิตร เป็นแหล่งออฟฟิศ มีแหล่งของกิน และ และห้างสรรพสินค้า มากมายเพราะว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ใจกลางย่านออฟฟิศ เหล่าพนักงานออฟฟิศและผู้คนหนาแน่นจริง ๆ ค่ะ เรียกได้ว่าสัมผัสบรรยากาศของเสน่ห์กรุงเทพฯเต็ม ๆ

ถ้าผู้ใดสนใจที่อยากจะเข้าศึกษาต่อที่มศวไม่ว่าจะเป็นที่ประสานมิตรหรือองครักษ์ ทางมหาวิทยาลัยจะมีงาน Open House ที่จัดขึ้นทุก ๆ ปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยแต่ละปีก็จะมีธีมการจัดงานที่แตกต่างกันไป และ มีบรรดาพี่ ๆ ศิษย์เก่าที่ชื่อเสียงมาแชร์ประสบการณ์และให้กำลังใจน้อง ๆ นักเรียนถึงที่ โดยงานจะจัดที่ มศว ประสานมิตรนะคะ ส่วนจัดวันที่เท่าไร ทาง THE STUDY TIMES จะรีบนำข่าวมาแจ้งให้เร็วที่สุดเลยค่ะ


แหล่งข้อมูล : https://www.swu.ac.th/history.php

วิกฤตหรือโอกาส? พลิกโฉมการศึกษาไทยยุค New Normal

โควิดระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้หากจะพูดถึงผลกระทบของโควิด ทุกคนคงกระจ่างแจ้งอย่างที่ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยกันหลายคำ เพราะทุกคนล้วนเป็นผู้ประสบภัยกันทั่วหน้า แม้ผลกระทบมากน้อยอาจต่างกัน 

โควิดส่งผลกระทบมากมายอย่างคาดไม่ถึง ทั้งด้านชีวิตและสุขภาพ สภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนวิถีชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปจากปกติเดิม จนต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ อย่างคำว่า “New Normal” วิธีชีวิตปกติแบบใหม่ นี้ก็คือการปรับพฤติกรรมของมนุษย์ในชีวิตประจำวันเพื่อการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดนี้เอง เช่น การทำงานก็เปลี่ยนจากการที่ต้องเดินทางไปที่ออฟฟิศ ไปสำนักงานก็เปลี่ยนมาเป็นการทำงานที่บ้าน หรือที่เราเรียกทับศัพท์กันอย่างติดปากว่า Work From Home การประชุมติดต่อประสานงานนั้นก็ทำได้โดยใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วย 

และไม่ใช่เพียงแค่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่ต้องปรับขบวนกันยกใหญ่ ภาคการศึกษาก็เช่นกัน ต้องปรับจากการเรียนในสถานศึกษา มาเป็นห้องเรียนออนไลน์กันทุกระดับชั้นต้องแต่อนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อมาตรการในการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดการระบาดของโรค

1 ปีกว่าผ่านมาหากจะชวนคิด ชวนตั้งคำถามว่าการศึกษาในยุค New Normal นี้ โอกาสหรือเป็นวิกฤต กับสังคมไทยนั้นก่อนจะสรุปว่าเป็นวิกฤตหรือโอกาส ลองมาสำรวจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ กันก่อน

จากการเรียนในห้องเรียนที่มีเพื่อนร่วมห้อง มีคุณครู มีประตู หน้าต่าง มีการพบหน้าคาดตา ปรับมาเป็นการเรียนออนไลน์ ต่างคนต่างอยู่บ้าน เจอหน้ากันผ่านจอคอมพิวเตอร์ มีอินเตอร์เน็ตไว้เพื่อการเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ จากข่าวคราวที่ปรากฎในสื่อเห็นชัดว่าการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายในประเทศไทย เพราะด้วยเหตุผลหลายประการในเชิงโครงสร้าง  

ประการแรก เรายังมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้เรียนออนไลน์ที่บ้าน ซึ่งมักจะมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอีกรูปแบบในระบบการศึกษาไทย จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนของไทยในปี 2563 อยู่ที่ 26018.42 ในขณะที่มีรายจ่ายปี 2562 อยู่ที่ 20,742.12 และล่าสุดรายจ่ายของครัวเรือนของไทยในปี 2563 มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เฉลี่ยเดือนละ 21,329 บาท โดยร้อยละ 87 ของค่าใช้จ่าย ทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือนเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค และร้อยละ 13 เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค (เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง / หวย ดอกเบี้ย) ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาอยู่ที่ 1.5% เท่านั้น 

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการจัดสรรเงินสำรองเพื่อการศึกษาที่ไม่มากนั้น ยิ่งเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด ที่อาจทำให้รายรับของครอบครัวลดน้อยลงไปอีก จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับครอบครัวที่ถูกซ้ำเติมในยามโควิดระบาดนี้อยู่แล้ว จะจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียน การซื้อชั่วโมงอินเตอร์เน็ต ซึ่งช่องว่างทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นอีกในระบบการศึกษาไทย  

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากการศึกษาของ TDRI ที่พบว่าปัญหาของครัวเรือนในประเทศไทยที่ใหญ่กว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านคือ การไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์เพียงร้อยละ 21 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 49 การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของครัวเรือนยิ่งยากมากขึ้นหากเป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจน 

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2560 ในประเทศไทย ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 2 แสนบาทมีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 3 ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 2 แสนบาทขึ้นไปมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตร้อยละ 19 ของครัวเรือนทั้งหมด และหากจำแนกตามภูมิภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์สูงถึงร้อยละ 42 ของครัวเรือนทั้งหมด ครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ในภาคกลางร้อยละ 21 ส่วนในภาคเหนือ ร้อยละ 19 ในภาคใต้ ร้อยละ 17 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 14  ซึ่งสถิตเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ของเด็กและเยาวชนไทย 

นอกจากความไม่พร้อมในเครื่องไม้เครื่องมือแล้ว ประการต่อมาที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องความไม่พร้อมของการจัดการเรียนการสอน ทั้งในแง่หลักสูตร ความพร้อมของครูอาจารย์ ตลอดจนความพร้อมในการเรียนของนักเรียนนักศึกษาในการเรียนออนไลน์มีมากน้อยเพียงใด 

จากเสียงสะท้อนของทั้งผู้สอน และผู้เรียน ตลอดจนผู้ปกครองต่างต้องรับมือกับสถานการณ์การเรียนออนไลน์ที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ฝั่งผู้สอน ครูอาจารย์ก็รู้สึกท้อแท้กับการไม่มีส่วนร่วมของนักเรียนนักศึกษาจากการใช้ระบบออนไลน์ ยิ่งเป็นการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยที่ให้ความไว้วางใจว่านักศึกษาโตพอที่จะรับผิดชอบตนเองได้ ยิ่งพบว่าบรรดาอาจารย์ต่างปรับทุกข์ในทำนองเดียวกันว่านักศึกษาแทบไม่ค่อยมีปฎิสัมพันธ์กับผู้สอนเท่าที่ควรจะเป็น ไม่เปิดกล้อง ไม่ถามคำถาม ไม่ตอบคำถาม ส่วนในมุมผู้เรียนก็มองว่าเรียนออนไลน์น่าเบื่อ ไม่มีบรรยากาศการเรียนที่กระตุ้นการอยากรู้อยากเห็น ครูอาจารย์ไม่มีกลวิธีการสอนที่ดึงดูดใจพอ 

ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กเล็ก ๆ ในชั้นอนุบาลหรือประถมต้นนั้นก็เหนื่อยไม่แพ้กันเพราะเหมือนต้องคอยดูแลกำกับให้ลูก ๆ หลาน ๆ นั่งหน้าจอเรียนออนไลน์ ในยุคก่อน new normal พ่อแม่ผู้ปกครองก็อาจมีหน้าที่ช่วยสอนลูกหลานในการทำการบ้าน แต่เหมือนว่าในยุค new normal นี้ต้องทั้งเรียนด้วย สอนด้วย ดูแลบุตรหลานด้วย ความเครียดจึงบังเกิดแด่พ่อแม่ผู้ปกครองกันทั่วหน้า

ดังนั้นปรากฏการณ์ของโควิด-19 ที่มีพลิกโฉมการเรียนการสอนจากห้องเรียนทางกายภาพสู่ห้องเรียนออนไลน์ หากมองดี ๆ แล้ว จะพบว่าความปกติใหม่ หรือ New normal นี้ ทำให้เกิดความตระหนักรู้ใหม่และกระตุ้นเตือนให้เราหันกลับมาทบทวนสิ่งที่เป็นความสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษามากขึ้น 

ไม่ว่าจะเป็นตัวหลักสูตร ที่ควรตั้งคำถามว่าหลักสูตรที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษานั้นเหมาะสมสำหรับพัฒนาการการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยของเด็กและเยาวชนจริงหรือไม่ หลักสูตรที่มีเหมาะสมกับบริบทในท้องถิ่น ในพื้นที่ของเด็ก ๆ หรือไม่ หรือแม้แต่กฎเกณฑ์กติกาบางอย่างที่แท้จริงแล้วสำคัญหรือไม่อย่างไร หากเด็ก ๆ ต้องเรียนอยู่ที่บ้าน เช่น การแต่งชุดนักเรียนและการไว้ทรงผม และกติกาหรือระเบียบวินัยแบบไหนที่ควรต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ แทน เป็นต้น 

นอกจากตัวเนื้อหาของหลักสูตรแล้ว กลวิธีการสอนและรูปแบบในการนำเสนอสำหรับการเรียนรู้ในห้องเรียนออนไลน์นั้นก็มีความสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงและต้องถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับเนื้อหาและธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ด้วย การใช้วิธีการเดียวกันกับการสอนในห้องเรียนปกตินั้นคงจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป 

ทั้งนี้ TDRI ได้ทำการศึกษาเราควรใช้ความตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้ มาออกแบบอนาคตของการศึกษาไทย โดยให้น้ำหนักกับสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนให้มากที่สุด ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยมากในหลายประเด็น เช่น 

• ให้น้ำหนักกับปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างครูและนักเรียน มากกว่า จำนวนชั่วโมงที่นักเรียนอยู่ในห้องเรียนหรือเรียนผ่านสื่อโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์

• ให้น้ำหนักกับการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความสนใจของนักเรียน เชื่อมโยงกับชุมชนและบริบทที่นักเรียนอยู่มากกว่า การเรียนรู้อิงตามมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ

• ให้น้ำหนักกับการประเมินผลเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน (formative assessment) จากชิ้นงานและพฤติกรรมของนักเรียน มากกว่า การประเมินเพื่อการตัดสิน (summative assessment) เพื่อนำไปใช้ให้คุณให้โทษแก่โรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษา

• ให้น้ำหนักกับการเรียนรู้เพื่อสุขภาพกายและใจ ควบคู่กับการเรียนรู้ด้านวิชาการ สถานการณ์โรคระบาดส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของทุกคนรวมถึงเด็ก ๆ ทุกวัย 

• ให้น้ำหนักกับการจัดสรรทรัพยากรออฟไลน์แก่เด็กและครอบครัว ควบคู่กับ ทรัพยากรออนไลน์ เช่น จัดสรรหนังสือเด็กให้แก่ครอบครัวด้อยโอกาสเพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ที่บ้าน จัดให้มีอาสาสมัครติดตามสถานการณ์เด็กในแต่ละครอบครัวและให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแลลูก เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของประเทศไปด้วย 

ดังนั้น หากย้อนกลับมาที่คำถามของเราว่า การศึกษาไทยในยุค New normal นี่เป็นวิกฤตหรือโอกาส ก็คงตอบได้อย่างชัดเจนว่ามีทั้งสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นวิกฤต และโอกาส เพราะวิกฤตในวันนี้เราสามารถพลิกให้เป็นบทเรียนเพื่อสร้างโอกาสในวันหน้าได้ เพียงแต่ต้องปรับมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย ปรับวิธีคิดของบุคลากรทางการศึกษา สร้างความร่วมมือกันใหม่ในการมีส่วนช่วยกันยกเครื่องระบบการศึกษา ทั้งพัฒนาหลักสูตร พัฒนาศักยภาพบุคคลกรทางการศึกษา พัฒนาแนวทางและรูปแบบ

โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและระดับท้องถิ่น นอกจากนี้อาจจะต้องดึงภาคเอกชนและหน่วยงานนอกระบบราชการ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนมาร่วมมือกันออกแบบการจัดการเรียนการสอน รวมถึงถอดบทเรียนองค์ความรู้จากทั้งในและต่างประเทศ เพราะเราจะพบว่าแนวโน้มในการความเป็น New normal นี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคต เช่น เปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การเกิดเทคโนโลยี disruptive หรือแม้แต่การเปลี่ยนด้านการเมือง การปกครองและเศรษฐกิจของโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการสร้างคน สร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ เพื่อการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศและโลก ซึ่งการศึกษาคือเครื่องมือสำคัญในการสร้างคนนั้นเอง 

เขียนโดย: อาจารย์ระวีวรรณ ทรัพย์อินทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาตรีการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (BMCI) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


ข้อมูลอ้างอิง
http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/08.aspx
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเป็นประจำตั้งแต่ปี 2500 (nso.go.th)
New Normal ของการศึกษาไทยคืออะไร เมื่อการเรียนทางไกลไม่ใช่คำตอบ - TDRI: Thailand Development Research Institute
วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์ - TDRI: Thailand Development Research Institute


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top