Saturday, 15 March 2025
Econbiz

รวมผลงานเด่นปี 67 ‘เอกนัฏ’ ขับเคลื่อนกระทรวงอุตฯ “ปลดล็อคโซลาร์รูฟ – ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา – เซฟยานยนต์ไทย”

(30 ธ.ค. 67) รวมผลงานเด่นปี 67 “เอกนัฏ” ขับเคลื่อนกระทรวงอุตฯ “ปลดล็อคโซลาร์รูฟ-ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา-เซฟยานยนต์ไทย” โดนใจประชาชน

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลงานกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ในรอบปี 2567 ที่ผ่านมาแบ่งออกเป็น 5 เรื่องสำคัญ คือ 1) ปลดล็อก "โซลารูฟท็อป" ไม่ต้องขอนุญาตโรงงาน 2) ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา 3) เซฟยานยนต์ไทย 4) จัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ 525 ล้านบาท ดูแลชุมชนรอบเหมือง 5) เติมเงินทุน SME ฮาลาล เติมแรงกระตุ้นภาคอุตฯ พร้อมชูแผนงาน พร้อมชูการดำเนินงานในปี 2568 เดินเครื่องเต็มกำลังผ่าน 4 เรื่อง คือ 1) สั่งโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศหยุดรับอ้อย 7 วัน ช่วงปีใหม่ และมาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“ เป็นครั้งแรก 2) ปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม 3) ใช้ AI ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 4) แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ 

สำหรับผลงานเรื่องแรก : ปลดล็อก "โซลารูฟท็อป" ไม่ต้องขออนุญาตโรงงาน โดยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ครม. มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ...) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ยกเว้นให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลารูฟท็อปทุกกำลังการผลิต ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานและไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ซึ่งการปลดล็อกจะช่วยอำนวยความสะดวก ลดความยุ่งยาก และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอกชนรายย่อยให้สามารถเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าสะอาดจากพลังแสงอาทิตย์ได้แล้ว ยังจะกลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะตอบสนองต่อเทรนด์การค้าโลกในอนาคตและช่วยดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ (FDI) ให้เพิ่มมากขึ้น

เรื่องที่สอง : ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา แจ้งมาจับจริง ไม่กลัวอิทธิพล ปราบโรงงานไร้ความรับผิดชอบ กากของเสีย สินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดย อก. ได้บูรณาการกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เปิด “ปฏิบัติการตรวจสุดซอย”ต่อเนื่อง ปูพรมตรวจกำกับดูแลโรงงานกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่เฝ้าระวัง ที่มีกว่า 218 ราย โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม หรือโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น ที่มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยได้เดินหน้าตรวจตั้งแต่ พ.ย. - ธ.ค. 67 กว่า 13 จังหวัด อาทิ 1) โรงงานในเขตฟรีโซนลอบเปิดกิจการ จ.ฉะเชิงเทรา 2) โรงงานผิดกฎหมายเถื่อน จ.ปราจีนบุรี 3) โรงงานลอบเปิดกิจการ จ.ปราจีนบุรี 4) โรงงานสายไฟไม่ได้มาตรฐาน จ.สมุทรสาคร 5) จับสินค้าไร้ มอก. จ.สมุทรปราการ 6) โรงงานลักลอบฝังกลบโลหะหนัก จ.ลพบุรี 7) โรงงานเหล็กเส้นไม่ได้มาตรฐาน จ.ชลบุรี 8) สั่งหยุดโรงงานไฟไหม้ จ.ระยอง 9) โรงงานผลิตสายไฟไม่ตรงมาตรฐาน จ.อยุธยา 10) โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผา จ.ลพบุรี 11) โรงงานน้ำตาลค่ามลพิษทางอากาศ จ.ชัยภูมิ, มุกดาหาร และกาฬสินธุ์   และยังได้ปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานทั้งระบบ โดยใช้แนวคิด “เพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการที่ดี” โดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ดีในทุกช่องทาง ควบคู่ไปกับการขึ้นบัญชี Blacklist ผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดีหรือมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อยกระดับการตรวจสอบ กำกับดูแล และติดตามโรงงานกลุ่มดังกล่าวอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกันที่ต้นเหตุ สู้กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชน สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย “สู้ เซฟ สร้าง” ปฏิรูปการกำกับโรงงานทั้งระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ

เรื่องที่สาม : เซฟยานยนต์ไทย จากสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่กำลังเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ญี่ปุ่น อก. ให้ความสำคัญกับการฟื้นความเชื่อมั่น จึงได้เดินทางโรดโชว์คุยระดับทวิภาคีกับ 6 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในญี่ปุ่น และได้รับสัญญานบวกในการรักษาฐานการผลิตยานยนต์ในไทยและการลงทุนเพิ่ม ต่อยอด ด้วยเม็ดเงินกว่า 1.2 แสนล้าน และยืนยันสนับสนุนมาตรการส่งเสริมที่เป็นธรรมทั้งทางภาษี และสิทธิประโยชน์ทั้งค่ายรถยนต์สันดาป ICE รถยนต์ไฟฟ้า EV และ XEV พร้อมส่งเสริมให้ใช้ Part Localization ชิ้นส่วนสำคัญให้ผลิตในไทย เพื่อรักษา Supplier และแรงงานคนไทยในระบบ กว่า 4.45 แสนคน ให้มีงานมีรายได้ต่อไป ซึ่งเป็นวาระสำคัญ จึงมั่นใจได้ว่าตลาดรถยนต์ในประเทศในปีหน้า 2568 จะมีการฟื้นตัวอย่างมีสมดุลยภาพขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหาร ได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี และยืนยันว่าโตโยต้าจะรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในไทยและจะนำเม็ดเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุน เพื่ออัปเกรดสายการผลิตไปสู่รถไฮบริด ซึ่งจากเดิมที่เป็นฐานการผลิตของเครื่องยนต์สันดาปภายใน จะมีเพิ่มเติมในชิ้นส่วนไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ เกียร์ มีการลงทุนเพิ่มซึ่งมีการจ้างงาน ส่งต่อถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการวิจัยและพัฒนาบุคลากรให้มีการเดินหน้าต่อ และโตโยต้าฯ ยินดีร่วมมือกับรัฐบาลไทยส่งเสริมภาคการผลิต การส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง 

เรื่องที่สี่ : จัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ ที่ได้จากผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ที่ได้รับสิทธิในการสำรวจแร่หรือการทำเหมือง มูลค่ากว่า 525 ล้านบาท มอบให้ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ในละแวกพื้นที่การประกอบธุรกิจเหมืองแร่ จำนวน 187 ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้นำไปดูแลชุมชนรอบเหมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่เป็นที่ตั้งของแหล่งแร่ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด “เหมืองแร่เพื่อชุมชน” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรม สังคมและชุมชนให้เติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยกรมอุตสาหกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้จัดสรร “เงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ”  มูลค่ารวมกว่า 525 ล้านบาท ให้แก่   จ.สระบุรี 248 ล้านบาท จ.ลำปาง 41 ล้านบาท จ.นครราชสีมา 19 ล้านบาท จ.สุพรรณบุรี 19 ล้านบาท จ.ชลบุรี 16 ล้านบาท จ.นครศรีธรรมราช 14 ล้านบาท จ.ราชบุรี 11 ล้านบาท เป็นต้น  นอกจากนี้ในปี 2568 กพร. ยังมีแผนที่จะจัดสรรเงินกระจายสู่ชุมชนอื่นที่อยู่โดยรอบการประกอบกิจการเหมืองแร่เพิ่มเติม โดยตั้งเป้าหมายจะสามารถจัดสรรเงินได้ปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเร่งให้ชุมชนได้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย กพร. มีแนวทางในการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องจากกิจการเหมืองแร่ รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งแร่ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการด้วยความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเหมืองแร่สีเขียว เพื่อมอบรางวัลให้กับเหมืองแร่ดีเด่นที่สามารถรักษามาตรฐานการประกอบการเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าด้วย

เรื่องที่ห้า : เติมเงินทุน SME ฮาลาล เติมแรงกระตุ้นภาคอุตฯ ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหาร การบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีรสชาติตามความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดมุสลิมที่มีประชากรจำนวนมาก มีแนวโน้มการบริโภคที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยต้องปรับปรุงและพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน ผ่านกระบวนการตรวจการรับรองฮาลาล รวมทั้งการบริการที่ต้องมีกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามและสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลตามมติคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ครั้งที่ 1/2567 ผ่านกิจกรรม "เรียนแล้ว รับรองได้ ลงทุนง่าย ขายส่งออกเป็น" ภายใต้แนวคิด สานพลังแหล่งเงินทุน รวมพลัง 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมไปถึงการพัฒนาและส่งเสริมการทดสอบและการรับรองมาตรฐานฮาลาล โดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศให้มีศักยภาพ สามารถเติบโต และแข่งขันสู่สากลได้อย่างยั่งยืน

โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนการดำเนินงานในปี 2568 ของ อก. เดินหน้า 4 เรื่อง คือ เรื่องแรก : สั่งโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศหยุดรับอ้อย 7 วัน ช่วงปีใหม่ และ มาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“เป็นครั้งแรก อก.ได้ออกคำสั่งให้โรงงานนํ้าตาล 57 โรง ทั่วประเทศ หยุดรับอ้อย 7 วัน ตั้งแต่เมื่อวานนี้ 27 ธ.ค. 2567 จนถึงวันที่ 2 ม.ค.2568 เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกท่านได้เที่ยวพักผ่อนในช่วงเทศกาลปีใหม่ แบบไร้ฝุ่นควันที่เกิดจากการลักลอบเผาอ้อย และงดการบรรทุกขนส่งอ้อยบนท้องถนน เพื่อการสัญจรอย่างปลอดภัย เพื่อช่วยส่งคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ทุกท่านเป็นของขวัญในช่วงปีใหม่ รวมถึงมาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“เป็นครั้งแรก โดยเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อยในอัตรา 300 บาทต่อตันใบและยอดอ้อย หรือเท่ากับ 51 บาทต่อตันอ้อย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อย ซึ่งจะช่วยลดการเผาอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดสาเหตการเกิดฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน และเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับผลผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่

เรื่องที่สอง : ปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม อก. กำหนดนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่” ผ่านมาตรการสำคัญในการจัดการกากอุตสาหกรรม น้ำเสีย อากาศที่เป็นพิษเกิดจากการประกอบการอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อประชาชน การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME รวมทั้งสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นปรับปรุงกฎหมายทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงฯ และได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม" ในระยะเริ่มแรกได้ยกร่างกฎหมายเพื่อการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นการเฉพาะ รวมทั้งจัดตั้งและรวบรวมกองทุนใน อก. ให้อยู่ในกฎหมายดังกล่าว เพื่อรองรับภารกิจที่เกิดขึ้นใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพของภารกิจที่มีอยู่เดิม ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรม พ.ศ. ....” ซึ่งมีเนื้อหาในการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ครอบคลุมกากอุตสาหกรรมจากสถานประกอบการอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากรถยนต์ โดยได้นำสภาพปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม   ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มาถอดบทเรียนและพัฒนากลไกใหม่ๆ เพื่อให้ระบบจัดการกับผู้ประกอบกิจการที่กระทำผิดกฎหมาย ไม่รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมและประชาชน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนที่ชื่อว่า “กองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน” ในร่างกฎหมายมีวัตถุประสงค์ครอบคลุมทั้งการสนับสนุนและเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เป็นแหล่งเงินทุน การร่วมทุนกับวิสาหกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ แก้ไขปัญหาเยียวยา ชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรม รองรับภารกิจในการแก้ไขปัญหาเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ การสร้างแต้มต่อทางเศรษฐกิจให้กับภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย สนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและการปรับปรุงเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ จำเป็นต้องย้ายพื้นที่ไปประกอบการในบริเวณที่เหมาะสม ทั้งนี้การปรับปรุงทุกองคาพยพของภาคอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งเน้นการสร้างให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง โดยปัจจุบันการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการจัดทำกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเมื่อร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว จะสามารถเป็นเครื่องมือที่จะจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติงานทั้งหมดจะนำไปสู่การปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติอุตสาหกรรม พ.ศ... ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในปี 2568 อก. จะได้นำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ ครม.พิจารณาและนำเสนอรัฐสภาเพื่อให้มีผลใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

เรื่องที่สาม : ใช้ AI ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จากสถานการณ์การทะลักเข้ามาของสินค้าข้ามชาติราคาถูก แต่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เป็นอันตรายกับประชาชนผู้ใช้งาน กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ตั้ง “คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม (INDX)” โดยมีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการฯ โดยผลการศึกษาพบว่า ระบบ AI: Artificial Intelligence จะสามารถเพิ่มการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นโดยประมาณการที่ 100,000 รายการ/วัน จากเดิมใช้กำลังคนตรวจที่ 1,600 รายการ/วัน โดยผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนอย่างสายไฟ-ปลั๊กพ่วง และหมวกกันน๊อคไม่ได้มาตรฐานจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เร่งให้ความสำคัญก่อน ความคืบหน้าของการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ได้มีแนวทางวิธีการดำเนินการของ สำนักวานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในการตรวจจับ ใช้ “คน” ในการตรวจสอบการกระทำความผิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และมีเสนอแนะเพิ่มเติมให้ใช้ “AI” ในการตรวจจับ Keyword (ชื่อ/รีวิว) ภาพลักษณะของผลิตภัณฑ์ (ต้นแบบ) ตรวจสอบกับฐานข้อมูล ผู้รับใบอนุญาต / มาตรฐาน มอก. / พิจารณาขอบข่ายเบื้อง ส่วนด้านกฎหมายใช้ “คน” ในการตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดี นอกจากนี้ยังได้เตรียมวางแนวทางการนำเทคโนโลยี AI มาตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 

เรื่องที่สี่ : แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ โดยความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม แพลตฟอร์มกระทรวงอุตสาหกรรมที่ผสานเทคโนโลยี TRAFFY FONDUE นี้ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเรื่องร้องเรียนจากประชาชน หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ รวมถึงติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ เช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตประทานบัตร และการขอสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SME โดยมีการแบ่งการใช้งานให้เหมาะสมกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนี้ 1) สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและภาคธุรกิจ พร้อมทั้งติดตามสถานะคำขอต่าง ๆ 2) กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเน้นการตรวจสอบและอนุมัติคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงติดตามคำร้องที่ยื่นผ่านระบบ 3) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะดูแลการขอรับสินเชื่อและการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้านอุตสาหกรรม 4) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะรับผิดชอบการตรวจสอบและติดตามการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้แพลตฟอร์มดังกล่าวมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ ระบบ Dashboard ซึ่งสามารถแสดงสถานะข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ทั้งในภาพรวมระดับกระทรวงและแยกย่อยไปยังแต่ละหน่วยงาน ช่วยให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถติดตามสถานะคำร้องหรือบริการที่ต้องการได้อย่างโปร่งใส สะดวก และรวดเร็ว และระบบยังรองรับการจัดการข้อมูลแบบครบวงจร ช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมผลักดันการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

เริ่มแล้ว 'Amazing Thailand Countdown 2025' ไอคอนสยามเคานต์ดาวน์ยิ่งใหญ่ สร้างไทยสู่เวิลด์แลนด์มาร์ก

(30 ธ.ค. 67) เริ่มแล้ว มหาปรากฏการณ์เคานต์ดาวน์ที่สุดของไทยและที่สุดของโลก ยิ่งใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน “Amazing Thailand Countdown 2025” โดย ไอคอนสยาม 29-31 ธันวาคม 2567 ณ ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม 

ไอคอนสยาม แลนด์มาร์กระดับโลกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชวนทุกคนมานับถอยหลังสู่ปี 2025 โดยก่อนที่ความสนุกจะเริ่มต้นขึ้น เหล่าอากาเซ่ต่างมารอให้กำลังใจคู่จิ้นสุดฮอตที่มีแฟนคลับมากมายอย่างสองหนุ่ม “ซี-พฤกษ์ พานิช” และ “นุนิว-ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์” รวมถึงทุกด้อมแฟนคลับของกองทัพศิลปินที่มาร่วมส่งความสุข ซึ่งในวันนี้นอกจากจะได้สัมผัสช่วงเวลาสุดพิเศษและเพลงฮิตจาก “ซี นุนิว” คู่นักแสดงขวัญใจแฟนคลับทั่วโลก พบการแสดงจาก Namo, Super Band - Turbo TRACKTONES, ต้า นันคุณ, Sammy Niche และ แพรว รัตนาพร

พร้อมรับบิ๊กเซอร์ไพรส์จาก “มิลลิ” ตัวลูกสุดปัง ฟีเจอริ่งกับตัวมัมตัวแม่ “ฮาย-อาภาพร นครสวรรค์” พิเศษยิ่งขึ้นกับครั้งแรกของการร่วมแจมกับ “22Bullets - World Class EDM Artist” สัญชาติไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกจัดอันดับให้เป็น Top 100 DJs แค่มหากาพย์ความบันเทิงวันแรกก็เล่นเอา ไอคอนสยาม แน่นขนัด เต็มลาน ริเวอร์ พาร์ค สร้างความคึกคักรับเทศกาลแห่งความสุขที่คนทั่วโลกรอคอย

ไอคอนสยาม มุ่งมั่นอย่างเต็มกำลังในการสร้างสรรค์ มหาปรากฏการณ์งานเคานต์ดาวน์ เพื่อพาทุกคนก้าวเข้าสู่ปี 2568 อย่างสมบูรณ์แบบ ภายใต้ 3 มหาปรากฏการณ์ที่จะสร้างความประทับใจในทุกมิติ มหาปรากฏการณ์พลุเฉลิมฉลองระดับโลก การแสดงพลุตระการตาบนโค้งน้ำที่สวยที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา มหาปรากฏการณ์สะกดโลกจากสุดยอดศิลปินไอคอนิคระดับโลก ผู้เป็นแรงบันดาลใจของผู้คนทั่วโลกและเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย มหาปรากฏการณ์บันเทิงฉลองความยิ่งใหญ่ จากกองทัพศิลปินไทยและอินเตอร์ฯ ร่วมฉลองส่งท้ายปีต่อเนื่องตลอด 3 วัน

พร้อมขยายเวลาเปิดให้บริการ เพื่อให้ความสุขของทุกคนในเทศกาลเฉลิมฉลองช่วงปลายปีพิเศษยิ่งกว่าเดิม โดยให้บริการตั้งแต่ 10.00-23.00 น. จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 และสำหรับในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เปิดให้บริการตั้งแต่ 10.00-02.00 น. มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปรากฎการณ์งานเคานต์ดาวน์ระดับโลก “Amazing Thailand Countdown 2025 at ICONSIAM” สุดยิ่งใหญ่อลังการพร้อมสะกดทุกสายตาของชาวโลก เพื่อส่งให้ Amazing Thailand Countdown 2025 ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งเดียวในไทยสู่การเป็น Global Countdown Destination 

ติดตาม ไลน์อัพศิลปิน กิจกรรม โปรโมชั่น การเดินทางและที่จอดรถ และข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้ที่ Facebook: ICONSIAM www.facebook.com/ICONSIAM/ และช่องทาง Line Official ของไอคอนสยาม @ICONSIAM

‘เอกนัฏ’ สั่งการ รง. ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หยุดกิจการทันที หลังชั้นลอยโรงงานกำลังต่อเติมถล่มทับคนงานเสียชีวิต

(30 ธ.ค. 67) ‘เอกนัฏ’ สั่งการหยุดกิจการทันที หลังชั้นลอยโรงงานถล่ม ในสวนอุตสาหกรรม 304 ปราจีนบุรี พร้อมเร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้เกิดเหตุแผ่นคอนกรีตชั้นลอยอาคารของโรงงานบริษัท ไทยยานากาวา จำกัด ประกอบกิจการทำชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรม 304 ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ถล่มลงมาทับคนงาน เบื้องต้นเสียชีวิต 5 ราย เมื่อเวลา 09.30 น. ของวันนี้ (30 ธันวาคม 2567) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และจะดูแลเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บให้ดีที่สุด

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) ได้สั่งการโดยด่วนให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) ส่งทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี (สอจ.ปราจีนบุรี) ลงพื้นที่และสั่งการโดยด่วนให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการโรงงานและระงับการใช้อาคารที่เกิดเหตุทันที ตามมาตรา 39 ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 พร้อมทั้งสั่งการให้ปรับปรุงแก้ไขอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยต้องทำการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม จึงจะอนุญาตให้กลับมาใช้อาคารต่อไปได้

จากการตรวจสอบ พบว่า บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการโรงงานช่วงเทศกาลปีใหม่ และได้ว่าจ้างผู้รับเหมาเข้ามาทำการเคลื่อนย้ายชั้นลอยที่เป็นโครงสร้างส่วนประกอบเหล็กและแผ่นคอนกรีต ในอาคารแผนก Die Cast ขณะปฏิบัติงานเกิดเหตุแผ่นคอนกรีตพื้นชั้นลอยหล่นลงทับคนงานเสียชีวิต จำนวน 5 ราย โดยสาเหตุเบื้องต้นเกิดจากขั้นตอนการใช้แม่แรงไฮดรอลิกในการยกเสาเหล็กโครงสร้างเพื่อติดล้อในการเคลื่อนย้าย ทำให้เกิดการบิดตัวของโครงสร้าง โดยแผ่นพื้นคอนกรีตที่อยู่ด้านบนเกิดการเคลื่อนตัวและหล่นลงมาด้านล่าง

“รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ได้เน้นย้ำมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในสวนอุตสาหกรรม ต้องเข้มงวด ทั้งการกำกับโรงงานตามระเบียบและระบบสาธารณูปโภคภายใน ให้สอดรับกับนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรมยุคใหม่ ซึ่งทางรัฐมนตรีฯ ได้เตรียมส่งทีมตรวจการสุดซอยลงพื้นที่เข้าตรวจสอบต่อไป“ นายพงศ์พล กล่าวทิ้งท้าย

เสม็ดครองใจนทท.ต่างชาติ คนไทยฮิตไปจันทบุรี-เซี่ยงไฮ้

(2 ม.ค. 67) Agoda แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวเปิดเผยข้อมูล พบว่า เกาะเสม็ด ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ จันทบุรี ครองอันดับหนึ่งในใจนักท่องเที่ยวชาวไทย ด้าน เซี่ยงไฮ้ กำลังเป็นที่สนใจของนักเดินทางชาวไทยที่มุ่งหน้าไปต่างประเทศ

ผลการจัดอันดับประจำปีของ Agoda ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลการจองที่พักย้อนหลัง 2 ปี เผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเทรนด์การท่องเที่ยว โดยจังหวัดจันทบุรี ได้รับความนิยมในฐานะ "อัญมณีแห่งภาคตะวันออก" ด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งชายหาดอ่าวยาง น้ำตกพลิ้ว อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ เมืองเก่าจันทบุรี และตลาดพลอยที่มีชื่อเสียงระดับภูมิภาค

เกาะเสม็ด กลายเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมไปเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะอ่าวพร้าวที่ขึ้นชื่อเรื่องความเงียบสงบและทิวทัศน์งดงาม

ด้าน เซี่ยงไฮ้ เมืองใหญ่ของจีนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย เนื่องจากนโยบายยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า พร้อมดึงดูดใจด้วยเสน่ห์ของตึกระฟ้าทันสมัยที่ผสานวัฒนธรรมจีนอย่างลงตัว

ปิแอร์ ฮอนน์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของ Agoda กล่าวว่า “นักท่องเที่ยวในปัจจุบันให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น” สะท้อนผ่านความนิยมในจุดหมายปลายทางที่มอบประสบการณ์พิเศษ

นอกจากจันทบุรี เกาะเสม็ด และเซี่ยงไฮ้ อโกด้ายังเผยว่า เชจู (เกาหลีใต้), ปารีส (ฝรั่งเศส), ญาจาง (เวียดนาม) และ ฟุกุโอกะ (ญี่ปุ่น) เป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวเอเชีย

‘อ.สุวินัย’ ย้ำ ทุนสำรองฯ มีไว้เพื่อความมั่นคงทางการเงิน หลังฝ่ายการเมืองส่อใช้ทำนโยบายประชานิยมสร้างคะแนนเสียง

(3 ม.ค.68) รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ ทุนสำรองเงินตราฯ เป็นของประชาชน : นักการเมืองห้ามแตะ! มีเนื้อหาดังนี้

ถ้าดูในงบดุลของธนาคารกลางในด้านทรัพย์สินจะประกอบด้วย เงินตราระหว่างประเทศ ทองคำ และพันธบัตรรัฐบาล เป็นทรัพย์สินหลัก ขณะที่หนี้สินหลักคือปริมาณเงินที่เศรษฐกิจใช้อยู่

เงินตราต่างประเทศนี้มาจากการค้าขายระหว่างประเทศ ถ้าขายสินค้า/บริการ(ส่งออก)มากกว่านำเข้าหรือซื้อสินค้า/บริการจากต่างประเทศ ประเทศไทยจะมีส่วนเกินเป็นเงินตราระหว่างประเทศที่ปราศจากพันธะผูกพันไม่ต้องจ่ายให้ใครอีก

เงินตราต่างประเทศส่วนนี้จึงถูกนำเข้ามาบันทึกไว้ในบัญชี ทุนสำรองเงินตราต่างระหว่างประเทศเพื่อเอาไว้ใช้ออกเงินอันเป็นหนี้สินของธนาคารกลางอีกด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องนำสินทรัพย์ต่างประเทศมูลค่าเท่ากับธนบัตรที่จะออกใช้ใหม่เก็บแยกไว้หนุนหลังธนบัตร ดังที่มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ. เงินตรา ระบุไว้ว่า

“เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของเงินตราให้ ธปท. รักษาทุนสำรองเงินตราไว้กองหนึ่งเรียกว่า ทุนสำรองเงินตรา”

เหตุสำคัญก็เพราะเมื่อขายสินค้า/บริการได้เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เก็บเอาไว้ที่บัญชีทุนสำรองเงินตราฯ และแลกเปลี่ยนจ่ายเป็นเงิน 32 บาทให้ ทุนสำรองเงินตราฯนี้จึงเป็นต้นทางของการเพิ่ม/ลดเงินบาทในระบบเศรษฐกิจไทย

ถ้านับจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินเมื่อปี พ.ศ.2540 ที่เราสูญเสียทุนสำรองเงินตราฯนี้ไปเกือบเกลี้ยง คนไทยจึงแก้ไขปัญหา ยอมออมด้วยการซื้อสินค้า/บริการน้อยกว่าที่ขายได้ ทำให้มีเงินตราต่างประเทศสะสมในปัจจุบันถึงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของทรัพย์สินรวมในงบดุลธนาคารกลางทั้งหมด ส่วนที่เหลือคือทองคำและพันธบัตรรัฐบาล

เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของคนไทยโดยแท้ที่ทำให้เงินทุนส่วนนี้งอกเงยขึ้นมา

ดังนั้นทุนสำรองเงินตราฯนี้จึงมิใช่เป็นทรัพย์สินของทางการแต่อย่างใดไม่

เพียงแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล และหาใช่นักการเมืองคนใดจะมาอวดอ้างว่าเป็นผลงานของตนเองไม่

การเกินดุลการค้าและเกินดุลบริการ เช่น การท่องเที่ยว หรือ การไปทำงานต่างประเทศจึงเป็นต้นทางที่มาของเงินตราต่างประเทศที่มั่นคง

ส่วนการกู้ยืมเงินหรือนำเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นแม้จะเป็นการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเช่นกันแต่มันสร้างความผันผวนเสียมากกว่าจากที่ต้องส่งคืนเมื่อครบกำหนดกู้ยืมและจากการเก็งกำไร

● ทำไมต้องเก็บเอาไว้ และเก็บเอาไว้มากเกินไปหรือไม่?

แม้ว่าในปัจจุบันเราจะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนสำรองเงินตราฯเอาไว้แทรกแซงเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้มันคงที่เหมือนเมื่อก่อนปีพ.ศ.2540 ที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ แต่การมีเงินทุนสำรองฯเอาไว้มันช่วยสร้างความมั่นคงให้ประเทศได้

มันทำให้คู่ค้าหรือนักลงทุนจะมั่นใจได้ว่าเมื่อขายสินค้าหรือนำเงินลงทุนเข้ามาแล้วจะมีเงินตราต่างประเทศเอาไว้พอเพียงชำระค่าสินค้าหรือให้แลกคืนเมื่อเสร็จสิ้นธุรกรรม

ใครก็อยากค้าขายหรืออยากมาลงทุนด้วย มันดีและได้ผลมากกว่าเอานายกฯคนใดไป โฆษณา “โชว์ตัว” เสียอีก

ทุนสำรองเงินตราฯจึงมิใช่ทรัพย์สินทางราชการที่นักการเมืองแม้จะชนะเลือกตั้งจะมาอ้างว่าตนเองมีอำนาจจัดการได้

เพราะแม้แต่สัก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ นักการเมืองก็มิได้หามาแต่อย่างใด

ขณะนี้ฝ่ายการเมืองกำลัง 'หน้ามืด' อับจนปัญญาหาเงินมาทำนโยบายประชานิยม “แจกเงิน(คนอื่น) ซื้อเสียง(เพื่อตนเอง)” เพื่อเอาชนะการเลือกตั้งในครั้งต่อไป

เมื่อไม่กล้าขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุนสำรองเงินตราฯนี้จึงถูกมองเป็นแหล่งเงินสำคัญที่สามารถนำมาใช้สนองเป้าหมายชนะเลือกตั้งด้วยนโยบายประชานิยม

ดังนั้นหากสามารถบังคับให้ธนาคารกลางกู้ยืมกับรัฐบาลด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาล มันจะส่งผลถึงค่าเงินบาทและความมั่นใจของคู่ค้า/ผู้ลงทุน

เพราะหากในด้านทรัพย์สินธนาคารกลางมีพันธบัตรรัฐบาลไทย (ที่แสดงอำนาจซื้อของเจ้าหนี้ผู้ถือภายในรัฐไทย) เป็นองค์ประกอบสำคัญแทนที่จะเป็นเงินตราต่างประเทศที่เป็นตัวแทนอำนาจซื้อของรัฐไทยในต่างแดน สถานะสัดส่วนพันธบัตรที่มีมากในงบดุลจะตรงกันข้ามกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การโยนหินถามทางว่าจะเอาเงินทุนสำรองฯนี้มาใช้หรือพยายามส่งคนที่มีประวัติเสียเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารในธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อนำเงินก้อนนี้มาใช้จึงเป็นก้าวย่างสำคัญของหายนะ เฉกเช่นในประเทศที่ล้มเหลวทางด้านการคลังและลามที่ภาคการเงิน เช่น อาร์เจนติน่า หรือ เวเนซูเอลา

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนเสียภาษีต้องออกมาเรียกร้อง “ไม่ยื่นแบบ ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง” เพื่อแก้ไขที่ต้นตอ ไม่ให้นักการเมืองใช้นโยบายประชานิยมมาหาเสียงเข้าสภา

‘จีน’ ส่ง BYD ตีชนะ!! Tesla ‘เวียดนาม’ เดินหน้า พัฒนาอุตสาหกรรม ‘เซมิคอนดักเตอร์’ ‘รัฐบาลไทย’ มุ่งสร้าง!! ฐานประชานิยม เน้นแค่หาเสียง เพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาล

(5 ม.ค. 68) ข่าวส่งท้ายปี 2567 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากการเปิดเผยของ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง (24 ธ.ค.2567)

ซึ่งคงต้องมีการสรรหากันใหม่ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนมกราคม 2568

แรงกดดันจากฝ่ายการเมือง ที่จะเข้าไปแทรกแซงการกำหนดนโยบายทางการเงิน การคลัง รวมทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศ ก็คงซาไปอีกระยะ จนกว่าจะมีการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหากันอีกครั้ง

และข่าวเริ่มต้นปีมะเส็ง 2568 กับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า บีวายดี (BYD) ยังคงครองตำแหน่งผู้นำด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลก โดยในไตรมาส 4 ของปี 2024 บีวายดีแซงหน้าเทสลา (Tesla) เป็นครั้งที่สอง

จากรายงานระบุว่า บีวายดี ผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ที่สุดของจีน ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (All-Electric Vehicles) จำนวน 207,734 คันในเดือนธันวาคม 2024 เพิ่มขึ้นประมาณ 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในไตรมาส 4 ปี 2024 บีวายดีส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบรวมประมาณ 595,000 คัน มากกว่าเทสลาที่ส่งมอบได้ 496,000 คัน แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นสถิติใหม่ของเทสลา แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 507,000 คัน

สำหรับยอดขายทั้งปี 2024 บีวายดีสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าได้รวม 1.768 ล้านคัน เพิ่มขึ้นราว 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่เทสลามียอดขายรวม 1.79 ล้านคัน ลดลงประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปี 2023

ตามด้วยข่าว รัฐบาลเวียดนามเสนอเงินอุดหนุน 50% ของมูลค่าลงทุนให้กับโครงการวิจัยและพัฒนาหลักในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

โครงการที่มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนดังกล่าวซึ่งระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาที่ออกเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2024 จะต้องมีการลงทุนขั้นต่ำ 3 ล้านล้านดอง (4.07 พันล้านบาท), ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem), ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ก้าวล้ำ และผู้พัฒนาโครงการจะต้องไม่มีภาษีค้างชำระหรือหนี้กับรัฐบาล โดยผู้พัฒนาโครงการจะต้องชำระทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอง (1.35 พันล้านบาท) ภายใน 3 ปีนับจากได้รับการอนุมัติการลงทุน

รัฐบาลเวียดนาม ยังคงเดินนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดึงนักลงทุน และส่งเสริมการลงทุน ในส่วนโครงการเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อผลักดันการเติบโตของประเทศ ที่มั่นคง ยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา การลงทุนในสินทรัพย์ การผลิต และโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก

หันกลับมาดูการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย กลับเป็นนโยบายประชานิยม ที่แทบจะสร้างฐานสำหรับอนาคตของประเทศไม่ได้ ซ้ำยังส่งผลเสียต่อวินัยทางการเงินของประชาชนไปเรื่อยๆ เน้นแค่หาเสียงเพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลในสมัยต่อไป 

มารอดูกันต่อว่า ประชาชนผู้เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ที่มีอยู่ 4 ล้านกว่าคน ที่เหมือนต้องแบกการใช้จ่ายงบประมาณ ไปกับนโยบายประชานิยม จะทนต่อได้มากน้อยแค่ไหน หากคนกลุ่มนี้เริ่มส่งเสียง เก้าอี้รัฐบาล จะเริ่มสั่นคลอน ... สวัสดีปีใหม่ 2568 ครับ 

'เอกนัฏ' หวังเห็นค่าไฟต่ำกว่า 3 บาทต่อหน่วย เชื่อเป็นไปได้ หาก 'รัฐ-เอกชน' ร่วมมือกัน

‘เอกนัฏ’ รมต.อุตสาหกรรม หวังเห็นค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 3 บาทต่อหน่วย ขอความร่วมมือ "รัฐ-เอกชน" ผสานสร้างแต้มต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

(8 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ งานประจำปี สศอ. OIE Forum ครั้งที่ 16 "Industrial Reform : ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่" ในหัวข้อ “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่” จัดโดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า รัฐบาลผลักดันให้เศรษฐกิจก้าวไปข้างหน้าเติบโตได้ ภารกิจกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เป็นพระเอกมีความท้าทาย หลายคนมองเอสเอ็มอีจะฟื้น ส่วนตัวหวังว่าจะมีส่วนส่วนดัน GDP ไม่ต่ำกว่า 1% โดยไม่ใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว

ทั้งนี้ จึงต้องดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศ หากวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศ ยังอยู่ระหว่างกำลังฟื้นจากโควิด จะเห็นปัญหาหนี้สาธารณะเกือบแตะ 70% ซึ่งไทยตั้งงบขาดดุลทุกปีเพื่อนำเงินมาลงทุน เมื่อหนี้สาธารณะสูง จึงมีข้อจำกัดในการตั้งงบประมาณขาดดุลมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็ยังติดปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง ธนาคารไม่ปล่อยกู้ ทำให้การจับจ่ายใช้สอดหดตัว

ดังนั้น ความหวังจึงอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม แต่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งเทคโนโลยี ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า คนส่วนใหญ่มองเป็นปัญหาความท้าทายที่ไทยต้องเจอ แต่ตนมองว่าเป็นโอกาสสำคัญของไทย ถ้าสามารถปรับตัวได้เร็ว และแรง เท่ากับการเปลี่ยนแปลง มั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมจะฟื้นกลับมาเป็นพระเอกให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโตได้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ภารกิจนี้จะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ จึงต้องร่วมมือและปรับตัว ทั้งรัฐ และเอกชน เพราะจุดเด่นไทยวันนี้เป็นเป้าหมายของนักลงุทนทั่วโลก จากการมีโลเคชั่นที่ดีเชื่อมต่อเหนือลงใต้ คาบมหาสมุทรผ่านประเทศไทย มีโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนมา 10 ปี โดยใช้เงินมหาศาล มีซัพพลายเชนสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีความสมบูรณ์มากสุดที่หนึ่งในภูมิภาค มีคนไทย ประเทศน่าอยู่ 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมพยายามปรับการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด แต่ก็มีสิ่งที่ท้าทาย คือต้นทุน เชื้อเพลิง ไฟฟ้า ทรัพยากรและน้ำ จึงลงนามให้ปลดล็อกการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาโดยไม่ต้องขออนุญาต อีกทั้งการที่อดีตนายกรัฐมนตรี และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศลดค่าไฟ 3.70 บาท นั้น ถ้าช่วยกันจะต่ำกว่า 3 บาทได้ จะเป็นแต้มต่อสำคัญของภาคอุตสาหกรรม เพราะไทยมีนโยบายบายเป็นมิตรกับการลงทุน มีซัพพลายเชน ทุกเซ็กเตอร์ได้ประโยชน์ นักลงทุนจะเข้ามาสร้างเศรษฐกิจประเทศมหาศาล    

"วันนี้เราต้องการใช้ไฟสะอาด ซึ่งการซื้อไฟโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังคงมีราคาแพง การผลิตพลังงานก็ถูกดิสรัปที่เป็นบวกเกิดต้นทุนทำให้เนื้อไฟกว่าจะมาถึงจาก 2 บาทกลายเป็น 4 บาท การปลดล็อกทำให้ไม่ต้องผ่านหลายระบบ ดังนั้น หาก กฟผ.ทำหน้าที่พัฒนาสมาร์ทกริด แอพพลิเคชันสำรองไฟโดยเฉพาะแบตเตอรี่จะสามารถเอาพลังงานเหลือกลางวันมาใช้ในกลางคืนได้ถ้าช่วยกันทำจะเห็นค่าไฟเลข 2 บาทแน่นอน"

ดังนั้น หากแก้ปัญหาพลังงาน ภาษี ปรับการส่งออก อุตสาหกรรมยานยนต์จะโต ซึ่งเซกเตอร์สำคัญ ยานยนต์ ไฮเทค อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมอาหารและชีวภาพ รวมถึงการพัฒนาคนจะฟื้นให้ภาคอุตสาหรกรรม ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับเอกชน ปรับตัวทำให้สะดวกโปรงใส่ ลดต้นทุนพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่มเติมเต็มซัพลลายเชนในอุตสาหกรรมสำคัญ ปกป้องอุตสาหกรรมต้นน้ำ เอสเอ็มอีประเทศ ไม่ให้ลักลอบเอาสินค้าที่ผลิตเกินมาดั้มราคาในไทย

'EA' พร้อมระดมทุนก้าวฟื้นตัว ร่วมมือพันธมิตรจีน ลุยยานยนต์-แบตเตอรี่ กระแสเงินสดพลิกบวก 5,610 ล้านบาท

(8 ม.ค. 68) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) (EA) หนึ่งในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของไทย ล่าสุดเมื่อวานนี้ (7 มกราคม 2568) ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากผู้ถือหุ้นในการระดมทุนประมาณ 7,400 ล้านบาท ผ่านการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งบริษัทคาดว่าจะใช้ในการเสริมสร้างการฟื้นฟูธุรกิจ หลังจากการปรับโครงสร้างอย่างเข้มข้นภายในกลุ่มบริษัทในระยะเวลา 5 เดือน ที่ผ่านมา

การดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ EA ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดหาผลิตภัณฑ์และระบบที่ใช้ในการกักเก็บและจำหน่ายไฟฟ้า เช่น ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ ธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และรวมถึงธุรกิจประกอบยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถบรรทุกไฟฟ้า รสบัสไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า

นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีที่ได้จัดการธุรกิจจนสถานการณ์เริ่มนิ่งแล้ว ผ่านการตัดสินใจที่ยากลำบากบางอย่าง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคือ กระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง เป็นบวก และการสร้างกำไรอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่มีกำไรและปรับโครงสร้างธุรกิจที่ขาดทุน”

นายฉัตรพล กล่าวว่า "เรามีธุรกิจที่ทำกำไรจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่มีผลประกอบการเป็นบวก ธุรกิจเหล่านี้รวมกันคิดเป็น 60% ของรายได้ EA และเกือบทั้งหมดของกำไรของเรา เราเริ่มต้นธุรกิจเหล่านี้แทบจะก่อนใครในประเทศไทย และการตัดสินใจที่มีวิสัยทัศน์นั้นกำลังให้ผลตอบแทนอย่างงดงาม ด้วยกระแสรายได้ที่มั่นคงและอัตรากำไรที่นำหน้าในอุตสาหกรรม"

"อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของธุรกิจเหล่านี้ได้ถูกหักล้างด้วยธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ของเรา ซึ่งกำลังขาดทุนและดูดซับเงินสดของเราไป หลักๆ แล้วสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ ดังนั้น ในส่วนของการปรับโครงสร้าง เราจึงหยุดธุรกิจการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าชั่วคราว และปรับลดขนาดธุรกิจแบตเตอรี่ และการตัดสินใจทั้งสองอย่างนี้ได้ช่วยหยุดการไหลออกของเงินสดของเราได้สำเร็จ"

นายฉัตรพล กล่าวว่า "เรามองเห็นศักยภาพในการเติบโตและการทำกำไรอย่างมหาศาลสำหรับ EA ทั้งในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และธุรกิจแบตเตอรี่ แต่เพื่อที่จะฉวยโอกาสเหล่านี้ เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของเรา ก่อนอื่นเราต้องสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้เล่นขนาดใหญ่ในตลาดโลกในภาคธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้เรามีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นและสามารถขยายตลาดไปยังนอกประเทศไทยได้ และประการที่สอง เราจำเป็นต้องใช้เงินทุนของเราให้น้อยลง ในภาคธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีเวลาจำกัดในการคืนทุน เราได้ลงมือเดินหน้าขับเคลื่อนตามกลยุทธ์นี้แล้ว ซึ่งจะทำให้เรามีความคล่องตัวและฟื้นกลับมารับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น"

นายฉัตรพลรายงานว่า ตอนนี้ EA กำลังจัดตั้งการร่วมทุนกับหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ประเภทพิเศษรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ในการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษ โดยบริษัทร่วมทุนนี้คือ Chengli Special Automobile Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถประเภทพิเศษมากกว่า 30,000 คัน ไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

ในบันทึกข้อตกลงที่ได้ลงนามร่วมกับ EA ในเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาได้ตกลงกันว่า ยานยนต์จะถูกประกอบในโรงงานประกอบของ EA ที่มีพื้นที่ขนาด 65,000 ตารางเมตร (80 ไร่) ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยความสามารถในการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 3,000 - 9,000 คันต่อปี ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของยานยนต์ประเภทพิเศษที่ผลิต โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตในเดือนเมษายน 2568  โดยยานยนต์ไฟฟ้าที่โรงงานเราจะประกอบมีทั้ง รถพยาบาล รถขยะ และรถกระเช้า ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษเหล่านี้จะถูกประกอบขึ้นในประเทศไทยในระดับอุตสาหกรรม การร่วมทุนนี้คาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท สำหรับรายได้ปีแรกของการดำเนินการเต็มรูปแบบในปี 2569

EA ยังได้รายงานการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อจัดตั้งการร่วมทุนกับหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับแนวหน้าของประเทศจีน ซึ่งมีฐานลูกค้าสำคัญอยู่ในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยการร่วมทุนนี้จะเป็นการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และจะเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่แรกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แบตเตอรี่เหล่านี้จะถูกใช้งานหลักๆ ในด้านระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ การผลิตจะดำเนินการที่พื้นที่ผลิตแบตเตอรี่ของ EA ขนาด 80,000 ตารางเมตร (91 ไร่) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจะขยายกำลังการผลิตจาก 2 กิกะวัตต์ในปัจจุบันไปเป็น 4 กิกะวัตต์ การลงนามข้อตกลงการร่วมทุนคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยจะเริ่มการจัดเตรียมสถานที่และเครื่องจักรการผลิตในปี 2568 

นายฉัตรพลกล่าวเพิ่มเติมว่า "เรามีความยินดีที่ได้รับความไว้วางใจอย่างท่วมท้นในแผนธุรกิจที่นำเสนอ โดยได้รับการโหวตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น ถึง 99.9% ในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวานนี้ ผมขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่านที่เชื่อมั่นในการเดินหน้าตามแผนเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เรากำลังทำอยู่”

“เงินทุนใหม่ที่ได้รับจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการเงินของ EA และช่วยให้เราสามารถคว้าโอกาสที่น่าสนใจต่างๆ ในอนาคตได้ เมื่อเราเดินหน้าเข้าสู่ก้าวของการฟื้นตัว” นายฉัตรพลกล่าว

นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) (EA) กล่าวว่า “เงินทุนที่จะได้จากการเพิ่มทุนที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น ในวันที่ 7 มกราคม หลักๆ จะถูกนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ธนาคารและใช้ในการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด เราหวังว่าจะลดหนี้สินจาก 58,664 ล้านบาท ลงเหลือ 52,004 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยรายปีลงได้ประมาณ 300 ล้านบาทแล้ว จะช่วยปรับปรุงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ดีขึ้นด้วย และเป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพทางการเงินและความน่าเชื่อถือของบริษัท รวมทั้งจะช่วยในส่วนของเงินกู้ให้ได้รับเงื่อนไขที่ดีขึ้นส่งผลให้เราประหยัดดอกเบี้ยมากขึ้นด้วย"

ระยะเวลาในการสมัครเข้าร่วมการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน คือระหว่างวันที่ 17 - 23 มกราคม 2568

จากรายงานล่าสุดของ EA เปิดเผยว่า กระแสเงินสดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เป็นบวกดีมากอยู่ที่ 5,610 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกระแสเงินสดที่เดิมติดลบ 1,726 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และสูงกว่าเกือบสามเท่าจากปีก่อนหน้านี้ กำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 1,852 ล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 6,183 ล้านบาท จากรายได้ 14,397 ล้านบาท

รู้จัก ‘Global Minimum Tax’ แบบง่ายๆ

(9 ม.ค. 68) สำหรับใครที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจการลงทุนในช่วงนี้ ก็คงจะเห็นข่าวเกี่ยวกับการเก็บภาษี Global Minimum Tax ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมากันเต็มไปหมด ซึ่งหลังการประกาศใช้ก็ทำให้มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นหลายบริษัทที่ได้รับผลกระทบ แล้วใครคือคนที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ในเรื่องนี้ และ Global Minimum Tax คืออะไร เราไปรู้จักกันค่ะ 

Global Minimum Tax (ภาษีขั้นต่ำทั่วโลก) คือกฎที่กำหนดให้ บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องจ่ายภาษีในอัตราขั้นต่ำ 15% ของกำไร ไม่ว่าจะไปตั้งอยู่ที่ประเทศไหนก็ตาม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกบริษัทจ่ายภาษีอย่างยุติธรรม และลดปัญหาการย้ายกำไรไปยังประเทศที่เก็บภาษีต่ำ (Tax Havens) เพื่อหลบเลี่ยงภาษี

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาแต่ละประเทศทั่วโลกก็อยากดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศ มาตรการที่นิยมใช้ คือการให้สิทธิทาง ‘ภาษี’ ที่ดีที่สุด ยิ่งประเทศไหนได้ลดกระหน่ำภาษีได้มากสุดบริษัทต่างชาติก็จะพิจารณาลงทุนในประเทศนั้นๆ เพราะบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ ต่างมีการวางแผน และใช้สารพัดวิธีในการลดภาระภาษีของตนเอง ให้ได้มากที่สุด เพราะเมื่อมีภาระทางภาษีที่ลดลง ก็สามารถตั้งราคาสินค้าและบริการ ที่ต่ำกว่าได้ บริษัทเล็กๆก็แข่งขันยาก เพราะต้นทุนสู้ไม่ได้

ไทยเราก่อนจะประกาศใช้กฏหมายนี้ ก็มีการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตรา 20% อยู่แล้ว และยังมีการสนับสนุนในส่วนนี้เพิ่มเติมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทำให้หลายบริษัทได้รับการลดหย่อนมากขึ้นและจ่ายจริงๆ ไม่ถึง 15% 

ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักของ Global Minimum Tax (ภาษีขั้นต่ำทั่วโลก)
 1. ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี: ลดการย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Tax Havens)
 2. สร้างความเป็นธรรมทางภาษี: ให้ทุกบริษัทจ่ายภาษีในอัตราที่ใกล้เคียงกัน
 3. เพิ่มรายได้ให้รัฐบาลทั่วโลก: สร้างรายได้จากภาษีที่สูญเสียไปจากการหลีกเลี่ยงภาษี
แล้วคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้น
 • บริษัทข้ามชาติที่มีรายได้เกิน 750 ล้านยูโรต่อปี
 • ประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Tax Havens)

ส่วนประโยชน์ของ Global Minimum Tax ก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
✅ ลดการแข่งขันทางภาษีระหว่างประเทศ
✅ เพิ่มความโปร่งใสในการเสียภาษี
✅ รัฐบาลมีรายได้มากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการสังคม

และในด้านความท้าทายและอุปสรรคที่จะพบก็จะประกอบไปด้วย 
❌ ความซับซ้อนในการบังคับใช้
❌ การต่อต้านจากบางประเทศที่ใช้ภาษีต่ำดึงดูดการลงทุน
❌ ความเสี่ยงในการเพิ่มภาระให้กับบริษัท

โดยสรุปก็คือ Global Minimum Tax เป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมทางภาษีระดับโลก โดยมุ่งหวังลดการหลีกเลี่ยงภาษี และเพิ่มรายได้ให้กับประเทศต่าง ๆ แม้จะยังมีความท้าทายในการบังคับใช้อยู่ค่ะ 

‘ซิกเว่ เบรกเก้’ คัมแบคธุรกิจโทรคมนาคมไทย นั่งแท่น ปธ.บอร์ด กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล เครือซีพี

ซีพี ตั้ง ‘ซิกเว่ เบรกเก้’ นักธุรกิจระดับโลกจากนอร์เวย์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง 'ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล เครือเจริญโภคภัณฑ์'

(9 ม.ค. 2568) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์  เปิดเผยว่า การเข้ามาของ นายซิกเว่ เบรกเก้ ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับเครือซีพี  ซึ่งมั่นใจว่าด้วยวิสัยทัศน์และประสบการณ์ของนายซิกเว่ จะสามารถนำพาเครือซีพีก้าวสู่การเป็น Technology Company ชั้นนำระดับโลก ที่พร้อมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ สังคม และประเทศชาติในทุกมิติ ทั้งนี้ บทบาทและความรับผิดชอบของนายซิกเว่ในตำแหน่งสำคัญนี้ จะครอบคลุมถึงการดูแลรับผิดชอบธุรกิจที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปลงทุน เช่น ธุรกิจเทคโนโลยีโทรคมนาคม ธุรกิจดิจิทัล และธุรกิจด้านการเงินดิจิทัล เป็นต้น

“ซีพีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศว่า คุณซิกเว่ เบรกเก้ จะเข้ามาเป็นผู้นำคนสำคัญของเรา โดยดูแลรับผิดชอบด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล ผมรู้จักคุณซิกเว่มาหลายปีแล้ว มั่นใจว่าคุณซิกเว่มีประสบการณ์ระดับโลกในด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล” ซีอีโอ เครือซีพี กล่าว

ทั้งนี้ เครือซีพีมีความเชื่อมั่นในประสบการณ์ที่กว้างขวางในวงการเทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารระดับโลกของนายซิกเว่ รวมถึงการเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนองค์กรใหญ่ด้วยนวัตกรรมและกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นอนาคต โดยตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมานายซิกเว่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง การบริหารโครงการระดับโลก และการสร้างพันธมิตรข้ามอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนส่งเสริมความก้าวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลในหลายประเทศ

ด้าน นายซิกเว่ เบรกเก้ กล่าวว่า “เครือซีพีได้สร้างชื่อเสียงในฐานะผู้นำระดับภูมิภาคด้านการเชื่อมต่อ โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมดิจิทัล และบริการทางการเงินมายาวนานกว่า 20 ปี ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่คุณศุภชัยเชิญให้มาร่วมพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัลในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ AI มีบทบาทสำคัญต่อผู้บริโภค องค์กร และสังคม ผมตั้งตารอที่จะได้กลับมาทำงานในประเทศไทยและร่วมเดินหน้ากับทีมงานของเครือซีพี”

นอกจากนี้ นายซิกเว่ ได้กล่าวย้ำต่อไปว่า “เครือซีพี ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผมเชื่อว่าด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ ผนวกกับศักยภาพของบุคลากรในเครือซีพี เราจะสามารถผลักดันประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคได้อย่างแน่นอน”

อนึ่ง นายซิกเว่ เบรกเก้ เคยดำรงตำแหน่งประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทเลนอร์กรุ๊ปเป็นเวลา 9 ปี จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2024 ก่อนหน้านี้ เขาเคยดำรงตำแหน่งรองประธานบริหารและหัวหน้าภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทคในประเทศไทย และเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของบริษัทต่าง ๆ หลายแห่งในกลุ่มเทเลนอร์ ทั้งยังเคยเป็นสมาชิกคณะกรรมการของ GSMA ตั้งแต่ปี 2017 ถึงปี 2024 การเข้ามาของนายซิกเว่ในเครือซีพีถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลยุทธ์ของเครือซีพีในการลงทุนด้านโทรคมนาคม และการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ที่ครบวงจร ครอบคลุมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมนวัตกรรม และการยกระดับทักษะดิจิทัลของคนไทย ที่พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่อนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกมิติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top