Wednesday, 14 May 2025
Econbiz

'อ.ต่อตระกูล' วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย เทียบประเทศอื่นในเอเชีย ชี้!! ในอีก 10 ปีข้างหน้า เติบโตช้ากว่า 'อินโด-เวียดนาม-ฟิลิปปินส์'

(11 ก.ค.67) นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ต่อตระกูล ยมนาค โดยระบุว่า…

เศรษฐกิจไทย วันนี้ตกต่ำจริง แล้วยังมีอนาคตอยู่ไหม? 

ผมต้องค้นหาเอง เพื่อที่จะได้ความจริงจากแหล่งข้อมูลทางวิชาการต่างๆที่เป็นกลางเชื่อถือได้ รวม 14 ที่มา ที่ได้วงเล็บ [ ] ไว้หลังข้อสรุปแต่ละเรื่อง ผลสรุปว่า…

“ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญในอาเซียน แต่อาจเห็นว่าน้ำหนักทางเศรษฐกิจลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตเร็วกว่า เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์”

รายงานเต็ม ๆ ที่ผมได้รับการสรุปจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มีดังนี้…

จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ นี่คือบทวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียในอีก 10 ปีข้างหน้า 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย

1. แนวโน้มการเติบโตในระยะสั้น
- เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโต 2.4% ในปี 2567 และ 2.8% ในปี 2568 ตามข้อมูลของธนาคารโลก[11]
- ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวจากการเติบโต 1.9% ในปี 2023 แต่ก็ยังตามหลังคู่แข่งอื่น ๆ ในภูมิภาค[1][2]

2. ปัจจัยขับเคลื่อนและความท้าทายที่สำคัญ
- การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโต แต่จะช้ากว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด[11]
- การบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในระดับสูงก็ตาม[6]
- ประเทศเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง รวมถึงประชากรสูงวัย ช่องว่างด้านทักษะ และความจำเป็นในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต[9]

3. ประมาณการระยะยาว:
- แม้จะไม่ได้ระบุการคาดการณ์เฉพาะเจาะจงในช่วง 10 ปี แต่คาดว่าประเทศไทยจะยังคงเติบโตอย่างมั่นคงแต่ปานกลางในทศวรรษหน้า
- ประเทศมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน[9]

เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย

1. อัตราการเติบโต
- คาดการณ์การเติบโตของไทย (2.4-2.8% ในระยะสั้น) ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน[2][12]
- ประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คาดการณ์อัตราการเติบโตที่ 4.5-5.8% ในปี 2567[12]

2. ขนาดและศักยภาพทางเศรษฐกิจ:
- อินโดนีเซียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนอยู่แล้ว คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2578 และจะกลายเป็นตลาดเกิดใหม่ชั้นนำ[12]
- เวียดนามและฟิลิปปินส์คาดว่าจะติดอันดับตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญภายในปี 2578[12]
- แม้ว่าประเทศไทยจะเติบโต แต่ก็ไม่คาดว่าจะเห็นขนาดเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้

3. การลงทุนและความสามารถในการแข่งขัน
- เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมคาดว่าจะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแนวโน้มการกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทาน[12]
- ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นเวียดนามในการดึงดูดการลงทุนด้านการผลิต[6]

4. ปัจจัยเชิงโครงสร้าง
- ประชากรสูงวัยของประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ในทันทีมากกว่า เมื่อเทียบกับประชากรอายุน้อยในประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์[9]
- ความพยายามของประเทศไทยในการยกระดับทักษะแรงงานและเพิ่มผลิตภาพจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการก้าวให้ทันคู่แข่งในระดับภูมิภาค[9]

โดยสรุป แม้ว่าประเทศไทยคาดว่าจะรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทศวรรษหน้า แต่อาจต้องดิ้นรนเพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วที่คาดการณ์ไว้สำหรับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนบางส่วน

ความสามารถของประเทศในการจัดการกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง เพิ่มผลผลิต และประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม ที่มีมูลค่าสูงกว่า จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดตำแหน่งทางเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กันภายในเอเชีย

ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญในอาเซียน แต่อาจเห็นว่าน้ำหนักทางเศรษฐกิจลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตเร็วกว่า เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

>> อ้างอิง Sources:
[1] Thai Economy - Bank of Thailand https://www.bot.or.th/en/thai-economy.html

[2] Thailand's economic outlook: Q3 recovery amid GERM risks https://www.nationthailand.com/.../business/economy/40039534

[3] Economic Forecasts: Asian Development Outlook April 2024 https://www.adb.org/outlook/editions/april-2024

[4] World Bank: Debt, Trade Barriers and Uncertainty Will Drag on Asian Economies in 2024 https://thediplomat.com/.../world-bank-debt-trade.../

[5] Asia Outlook 2024: A Year of Transition - J.P. Morgan Private Bank https://privatebank.jpmorgan.com/.../2024-asia-outlook-a…

[6] Thailand's economy stumbles as Philippines, Vietnam, Indonesia ... https://www.aljazeera.com/.../thailands-economy-stumbles…

[7] Thailand’s economy lags behind peers with protracted recovery https://www.thailand-business-news.com/.../134352…

[8] 2024 Thailand's Economic Outlook and Emerging Technology Trend https://www2.deloitte.com/.../2024-thailand-economic…

[9] Thailand Overview: Development news, research, data | World Bank https://www.worldbank.org/en/country/thailand/overview

[10] Thailand Foodservice Market Size and Trends by Profit and Cost Sector Channels, Players and Forecast to 2027 https://www.globaldata.com/.../thailand-foodservice.../

[11] Thailand Economic Monitor July 2024: Unlocking the Growth Potential of Secondary Cities https://www.worldbank.org/.../tha.../publication/temjuly2024

[12] ASEAN economic outlook in 2024 | S&P Global https://www.spglobal.com/.../asean-economic-outlook-in…

[13] Southeast Asia quarterly economic review: Q1 2024 - McKinsey https://www.mckinsey.com/.../southeast-asia-quarterly…

[14] Thai Government Aims to Lift 2024 GDP Growth to 3% by Tourists, Investment https://www.bloomberg.com/.../thai-government-aims-to...

'รมว.คลัง' นัดหารือ 'แบงก์ชาติ' ปมแบงก์เข้มงวด 'เงินกู้ซื้อบ้าน' เชื่อ!! ผ่อนเกณฑ์กู้ในภาวะนี้ ไม่ได้เอื้อคนซื้ออสังหาฯ ไปเก็งกำไร

(11 ก.ค.67) Business Tomorrow เผยว่า นาย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังได้ปาฐกถาพิเศษ 'พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน' ที่งาน EnCo ฉลองครบรอบ 20 ปีจัดสัมมนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่แห่งปีร่วมขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน ว่า จะหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการผ่อนปรนมาตรการ LTV หรือสัดส่วนเงินกู้ต่อมูลค่าบ้าน

นายพิชัย กล่าวยืนยันว่า “ไม่เชื่อว่าการผ่อนเกณฑ์เงินกู้จะทำให้คนซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร ในภาวะที่ผู้บริโภคง่อยเปลี้ยเสียขา จากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี และครัวเรือนมีหนี้สินสูงเกิน 90 % ของจีดีพี ทั้งหนี้เสียของภาคอสังหาริมทรัพย์ก็สูงและมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นไปอีก”

นายพิชัยยังเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ปรับโครงสร้างหนี้ให้คนผ่อนหนี้เงินกู้บ้านได้ยาวขึ้น โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ของรัฐบาลได้นำร่องแล้วซึ่งได้เปิดให้คนกู้ผ่อนหนี้ได้ถึงอายุ 80 ปี และหากเป็นราชการเกษียณก็ให้ยาวถึง 85 ปี

>> เกณฑ์ LTV เปิดทางให้ผู้กู้บ้านหลังแรกอยู่แล้ว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่มีภาคเอกชนขอให้พิจารณาผ่อนคลายเรื่อง มาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV นั้น ว่า “ปัจจุบันเกณฑ์ LTV เปิดทางให้ผู้กู้สามารถเป็นเจ้าของบ้านหลังแรกได้อยู่แล้ว โดยผู้กู้สามารถกู้ได้สูงสุด 100-110% ถ้ารวมสินเชื่อเพื่อการตกแต่งบ้าน

ขณะที่บ้านหลังที่ 2 หรือ 3 สัดส่วน LTV สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้อยู่ที่ระดับ 80-90% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่อยู่ 60-70% ก็มี เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องของ LTV แต่เป็นเรื่องของความเสี่ยงของผู้ที่เข้ามาขอสินเชื่อมากกว่า ดังนั้น การปรับเกณฑ์ LTV อาจจะแก้ไขไม่ตรงจุด”

>> ต่างชาติเช่าอสังหาฯ 99 ปี?
ส่วนที่งานสัมมนาวันพุธ (10 ก.ค.67) นายพิชัย ยังกล่าวถึงแนวคิดให้ต่างชาติเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือ ทรัพย์อิงสิทธิได้ยาว 99 ปีว่า รัฐบาลต้องการเอาธุรกิจใต้ดินขึ้นมาบนดิน และเรื่องนี้กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของคนไทย

นายอุทัย อุทัยแสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ตนออกความเห็นเรื่องแนวคิดสัญญาเช่าที่ดิน 99 ปีไม่ได้ 

นายอุทัยเป็นผู้บริหารบริษัทที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เคยเป็นผู้บริหารมาก่อน และนายกฯกำลังผลักดันเรื่องแก้กฎหมายเพื่อให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้มากกว่า 30 ปีตามกฎหมายปัจจุบัน

ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่าการขออนุญาตต่าง ๆ มีขั้นตอนยุ่งยากเกินไป และเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริโภคบางครั้งก็เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อย่างไม่สมเหตุสมผล

ด้าน ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เรียกร้องให้ภาคการเงินให้สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยคงที่ยาว 30 ปี อย่างที่มีในประเทศญี่ปุ่น

ขณะที่นาย ศิรศักดิ์ จันเทรมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด หรือ เอนโก้ กล่าวถึงธุรกิจของบริษัทว่า เอนโก้ คาดการณ์รายได้ภายในปี 2570 จะต้องมากกว่า 3,000 ล้านบาท พร้อมเป้าหมายในระยะสั้น จะต้องมีผลตอบแทนจากสินทรัพย์อย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี และตั้งเป้าหมายแบ่งสัดส่วนกำไร สนับสนุนสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยร้อยละ1 ของกำไรสุทธิต่อปี นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายในระยะยาว ทำกำไรสุทธิมากกว่า 800 ล้านบาทภายในปี 2573 โดยจะเป็นผลมาจากธุรกิจเดิม และโอกาสดำเนินธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับกลุ่มปตท. เช่น นำธุรกิจปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ที่เอนโก้บริหารจัดการ

ปัจจุบันเอนโก้ดำเนินธุรกิจใน 3 กลุ่มหลักได้แก่ ธุรกิจบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์, บริหารจัดการพื้นที่ และ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

‘กรมการค้าต่างประเทศ’ นำทัพผู้ค้าข้าวไทยลุย ‘ฟิลิปปินส์’ ลงนาม MOU ซื้อ-ขาย 1.3 แสนตัน มูลค่า 2,800 ล้านบาท

(11 ก.ค. 67) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการนำคณะผู้แทนการค้าข้าวไทย เดินทางไปฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2567 ร่วมกับภาคเอกชน โดยมี ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และสมาชิกเข้าร่วม ว่า ในการเดินทางไปครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถลงนาม MOU การซื้อ-ขายข้าวระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าข้าวฟิลิปปินส์ จำนวน 9 ฉบับ ปริมาณรวม 130,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,800 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในฟิลิปปินส์ได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กรมยังได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา เชิญผู้นำเข้าผู้ค้าข้าว ห้าง ร้านค้าปลีกผู้ประกอบการค้าข้าวรายสำคัญและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐของฟิลิปปินส์ รวมถึงสื่อและอินฟลูเอนเซอร์กว่า 70 ราย เข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทยภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘PremiumThai Rice with Authentic Thai Food’ ณ ร้าน Mango Tree Manila ซึ่งเป็นร้านที่ได้รับตรา Thai SELECT จากกระทรวงพาณิชย์ โดยได้สาธิตการปรุงอาหารพร้อมเสิร์ฟกับข้าวไทย 3 รายการ ได้แก่ แกงเขียวหวานไก่ ผัดกะเพราหมู และข้าวเหนียวมะม่วง โดยเสิร์ฟทั้งข้าวหอมมะลิไทย ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ได้เข้าพบหน่วยงาน National Food Authority (NFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการบริหารจัดการสต๊อกข้าวของฟิลิปปินส์ โดยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดข้าว รวมถึงนโยบายการลดภาษีนำเข้าข้าวจาก 35% เหลือ 15% ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2567 ไปจนถึงสิ้นปี 2571 โดยจะมีการทบทวนอัตราภาษีนำเข้าข้าวทุก 4 เดือน และยังได้หารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการแก้กฎหมายของรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้ NFA สามารถนำเข้าข้าวในภาวะฉุกเฉินได้ ซึ่งขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา โดยในโอกาสนี้ ฝ่ายไทยได้ให้ความเชื่อมั่นว่าไทยมีความพร้อมในการส่งออกข้าวเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของฟิลิปปินส์

สำหรับสถิติการส่งออกข้าวไทยไปยังฟิลิปปินส์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม - มิถุนายน) ประมาณ 299,787 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 381.66% และมีมูลค่าประมาณ 5,978 ล้านบาท (ประมาณ 167 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 558.97%

‘ส.อ.ท.’ เผย!! ‘ฮอนด้า’ ปรับแผนรวมศูนย์ เพื่อเร่งสปีดพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ตรง ยัน!! ไม่เทไทย เพราะยอดขายที่ผ่านมาลดลงแค่ 4.3% ขณะที่ตลาดร่วง 23.8%

(11 ก.ค. 67) จากกรณีที่ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแผนการดำเนินธุรกิจในไทย โดยเรียกว่า ‘การปฏิรูปฟังก์ชันสายการผลิตรถยนต์ของไทย’ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินการผลิตรถยนต์สำเร็จรูป รวมถึงเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ xEV หรือการนำพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่องนั้น ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มองถึงกรณีนี้ โดยประเมินว่า การปรับแผนการผลิตครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับยอดขายที่มีผลกระทบแน่นอน 

ทั้งนี้ฮอนด้าถือเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นรายใหญ่ที่ยังไงก็ไม่ล้มง่ายๆ โดยการปรับโรงงานพัฒนาเป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วน ซึ่งใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีการผลิตก็เป็นไปตามเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป

“ที่ผ่านมาทุกแบรนด์ก็เป็นเหมือนกันทั้งจีน, สหรัฐฯ ที่เคยยอดขายมีขึ้นมีลงตามเศรษฐกิจโลก จากเคยขายได้ 17 ล้านคัน เหลือ 9 ล้านคันก็มีมาแล้ว จึงเชื่อว่าฮอนด้าไม่ใช่ว่าจะยอมถอยง่ายๆ ซึ่งการทำธุรกิจปัจจุบันของทุกอุตสาหกรรมก็จะมีการปรับโครงสร้างทั้งภายในและภายนอกเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว” นายสุรพงษ์ กล่าว

สำหรับแผนใหม่ของ ฮอนด้า จะเป็นการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม ‘e:HEV series’ ซึ่งเป็นระบบฟูลไฮบริดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฮอนด้า ที่มีสัดส่วนยอดขายเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยผลประกอบการในปี 2566 รถในกลุ่มนี้มีสัดส่วนการขาย 32% แต่ปี 2567 นี้ ฮอนด้าตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 70%

ดังนั้นเพื่อให้คล่องตัวในการดำเนินงาน บริษัทจึงพร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแบบรวมศูนย์ โดยจะปฏิรูปแต่ละโรงงานของเพื่อยกระดับโครงสร้าง ประกอบด้วย...

>> โรงงานปราจีนบุรี จะพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) ที่สมบูรณ์แบบ โดยการใช้ประโยชน์จากสายการผลิตที่ผสมผสานเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความสามารถในการรองรับธุรกิจ

>> โรงงานอยุธยา จะหยุดการผลิตรถยนต์ และหันมาพัฒนาเป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วน โดยใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีการผลิต และห่วงโซ่อุปทานที่พัฒนาและสั่งสมมาเป็นเวลาหลายปี

สำหรับ ฮอนด้า ถือเป็นแบรนด์ใหญ่ที่ฝ่าฟันมาได้ทุกวิกฤติ ตั้งแต่ช่วงเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่อยุธยา ซึ่งฮอนด้าเป็นหนึ่งในโรงงานที่ได้รับผลกระทบรุนแรง จนนำไปสู่การตัดสินใจทำลายรถที่เคลื่อนย้ายหนีน้ำไม่ทันรวม 1,055 คัน รวมถึงชิ้นส่วนที่รอการประกอบ แม้จะไม่ถูกน้ำท่วมเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่าจะไม่มีรถยนต์หรือชิ้นส่วนใดจากโรงงานอยุธยาที่อยู่ท่ามกลางน้ำท่วมยาวนาน หลุดรอดออกสู่ตลาด

ปี 2556 ฮอนด้าประกาศลงทุนแห่งใหม่เป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่า มูลค่า 17,150 ล้านบาท ที่ปราจีนบุรี

ปี 2558 บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ประกาศสร้างสนามทดสอบรถยนต์ ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ปราจีนบุรี ด้วยเงินลงทุน 1,700 ล้านบาท

ปี 2559 รถยนต์ ฮอนด้า ซีวิค เจนเนอเรชั่นที่ 10 เป็นรถรุ่นแรกที่โรงงานฮอนด้าปราจีนบุรี

ปี 2560 ฮอนด้าเปิดสนามทดสอบในไทย เพิ่มศักยภาพการวิจัยและพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ที่ปราจีนบุรี

ทั้งนี้ หากสังเกตการลงทุนหลายส่วนที่ปราจีนบุรี ส่วนหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงน้ำท่วมอยุธยา

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนแผนการผลิตครั้งนี้ของ ฮอนด้า ถูกจับตาพอควร เพราะเกิดขึ้นในช่วงตลาดรถยนต์ไทยหดตัวต่อเนื่อง บวกกับการเข้ามาตีตลาดของ EV จีน รวมถึงการประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ของแบรนด์ญี่ปุ่น 2 แบรนด์ ก่อนหน้านี้ คือ ซูบารุ ที่มีผลปลายปี 2567 และซูซูกิ มีผลปลายปี 2568

ทว่าหากดูภาพรวมตลาดรถยนต์ที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 ล่าสุดช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) พบว่าฮอนด้ามียอดขายรวม 37,374 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4.3% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีถ้าเทียบกับหลายแบรนด์ หรือ ตลาดรวมที่ติดลบ 23.8%

แต่มีความเป็นไปได้ที่ฮอนด้าจะรวมการผลิตไว้ในแห่งเดียวเพื่อบริหารต้นทุนในภาวะที่ตลาดรถยนต์หดตัว อีกทั้งที่ปราจีนบุรีเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า และยังมีศูนย์ อาร์แอนด์ดี และสนามทดสอบในย่านเดียวกัน ทำให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น

‘สภากาชาดไทย’ เชิญชวนคนไทย ร่วมจิตอาสาทำความดีบริจาคโลหิต เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดเดือนมหามงคล

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณปิยนันท์ คุ้มครอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านจัดหาโลหิตและภาพลักษณ์องค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ที่ได้มาเชิญชวนพสกนิกรทั่วประเทศ ร่วมเป็นจิตอาสา ทำความดีบริจาคโลหิตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 67 โดยคุณปิยนันท์ ได้กล่าวถึงสาระสำคัญ ดังนี้…

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ด้วยมีพระราชประสงค์ทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาท เพื่อสืบสานรักษา และต่อยอดพระราชปณิธาน พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแด่อาณาประชาราษฎร์ 

โดยทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ซึ่งล้วนมีการสร้างสรรค์ความผาสุขสงบแก่ประชาชน นำความเจริญไพบูลย์ และความมั่นคงมาสู่ประเทศ ดังพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

ทั้งนี้ ในด้านภารกิจของสภากาชาดไทย ทรงดำรงตำแหน่งพระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย ทรงสนับสนุนงานบริการโลหิต โดยเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้บริจาคโลหิต นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ในการนี้ ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเข็มที่ระลึก ผู้บริจาคโลหิต ครั้งที่ 6 เมื่อวันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร ความว่า...

“โลหิตเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงรักษาชีวิตให้ดำรงอยู่ นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งชีวิต การบริจาคโลหิต จึงเทียบได้กับการบริจาคชีวิตเป็นทานซึ่งเป็นทานที่สูง ควรแก่การยกย่องสรรเสริญอย่างยิ่ง”   

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ  สภากาชาดไทย  จึงได้จัดกิจกรรมเชิญชวน พสกนิกรทุกหมู่เหล่าทั่วประเทศ ร่วมเป็นจิตอาสา ทำความดีบริจาคโลหิตเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมทั้งลงนามถวายพระพรออนไลน์ ตลอดเดือนกรกฎาคม 2567 

โดยประชาชนสามารถ บริจาคโลหิต ได้ที่... 

- ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย   
- หน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ (Fixed Stations) 7 แห่ง ได้แก่ สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม (บางแค) เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ สาขาบางแค สาขาบางกะปิ สาขางามวงศ์วาน สาขาท่าพระ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม  และบ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง)

- ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) สงขลา และภูเก็ต

- โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตแห่งชาติ 8 แห่ง ในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลรามาธิบดี  โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลตำรวจ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลราชวิถี และ โรงพยาบาลสิรินธร

- สาขาบริการโลหิต โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ

สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร. 0 2263 9600-99 ต่อ 1760, 1761

'รมช.สุชาติ' เผยข่าวดี!! เจรจา 'KTEPA ไทย-เกาหลีใต้' รอบแรก จ่อเพิ่มตัวเลขส่งออกไทยไปเกาหลีใต้ได้สูงถึงร้อยละ 77

(11 ก.ค. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ให้กำกับดูแลกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนั้น ในการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 1 ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ ที่มีการประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 9 - 11 กรกฎาคม 2567 โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ และฝ่ายไทยมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา และมีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมคณะด้วย และฝ่ายเกาหลีใต้ มีนายคอนกิ โร เป็นหัวหน้าคณะเจรจา

โดย รมช.สุชาติ ได้กล่าวถึงผลการประชุมความตกลง KTEPA ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ว่า การร่วมกันเจรจาในครั้งนี้จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ โดยคาดว่ามูลค่าการค้าระหว่างกันจะขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะมีการลงทุนจากเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นในประเทศไทย

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้นของไทย ประเมินว่า ความตกลง KTEPA จะช่วยเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ และการลงทุนเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่เดิม ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยมีกลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกไปเกาหลีใต้มากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และประมง (อาทิ เนื้อไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป) ผลไม้เมืองร้อน (อาทิ มะม่วง ฝรั่ง และมังคุด) ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ (อาทิ แป้ง ซอสและของปรุงรส) ผลิตภัณฑ์ไม้ (อาทิ ไม้แปรรูป พาติเคิลบอร์ด ไม้อัดพลายวูด) และเคมีภัณฑ์ 

นอกจากนี้ ยังมีสาขาบริการที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดการค้าบริการของเกาหลีใต้ อาทิ บริการด้านธุรกิจ บริการการขนส่ง คลังสินค้า และบริการด้านโรงแรมและภัตตาคาร โดยคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1,282 - 1,788 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.32 - 0.44 ซึ่งเหล่านี้ จะส่งผลบวกต่อการส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้ โดยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2,420 - 4,654 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 40.15 - 77.21

รมช.สุชาติ เผยอีกว่า ในการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 1 นี้ มีประชุมในระดับคณะทำงาน ทั้งหมด 13 คณะ ประกอบด้วย 

1) การค้าสินค้า 
2) มาตรการเยียวยาทางการค้า 
3) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 
4) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 
5) มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 

6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 
7) การค้าบริการข้ามพรมแดน 
8) การลงทุน 
9) การค้าดิจิทัล 
10) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 

11) ทรัพย์สินทางปัญญา 
12) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย 
และ 13) ประเด็นทางกฎหมายและสถาบัน โดยคณะทำงานต่าง ๆ ได้หารือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย และเริ่มเจรจาข้อบทภายใต้ความตกลง KTEPA ในส่วนที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากนี้ สองฝ่ายยังได้มีการจัดทำแผนงานการเจรจา โดยเบื้องต้นกำหนดให้มีการเจรจาทั้งหมด 7 รอบและตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2568 ทั้งนี้ เกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน 2567 ณ กรุงโซล

ในปี 2566 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 14,736.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ 6,070.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ 8,666.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม - พฤษภาคม) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 6,303.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทย 2,514.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้าจากเกาหลีใต้ 3,789.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

‘คลัง’ ยัน!! หั่นงบ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เหลือ 4.5 แสนล้าน สอดคล้องข้อเท็จจริง ประเมินจาก 'เราเที่ยวด้วยกัน-ชิมช้อปใช้' พบคนใช้อยู่ราว 80% ไม่ถึง 100%

(11 ก.ค.67) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวถึงการกำหนดวงเงินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตไว้ที่ 4.5 แสนล้านบาทนั้น สืบเนื่องมาจากในการประเมินโครงการเก่า ๆ ที่ภาครัฐได้ดำเนินการ อาทิ เราเที่ยวด้วยกัน ชิมช้อปใช้ พบว่า ประชาชนไม่ได้มาลงทะเบียนใช้สิทธิเต็ม 100% โดยจะอยู่ที่ราว 80% เท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ควรตั้งงบประมาณให้เพียงพอและสอดคล้องข้อเท็จจริง จึงออกมาเป็นงบประมาณที่ 4.5 แสนล้านบาท อีกทั้งเนื่องจากมีข้อกังวลจากหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐ ที่มองว่ารัฐบาลไม่ควรจะตั้งงบประมาณสูงเกินไป เพราะจะทำให้เป็นการเสียโอกาสของประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลต่อเศรษฐกิจนั้น ยืนยันว่าตั้งแต่แรกรัฐบาลได้ใช้ตัวเลขคาดการณ์ผู้มาใช้สิทธิในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ 40 กว่าล้านคน เป็นตัวเลขเพื่อประเมินผลต่อเศรษฐกิจอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.3-1.8% แต่หากท้ายสุด มีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าที่ประเมินไว้ ก็เชื่อว่าจะมีผลดีกับเศรษฐกิจมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“ตัวเลขกรอบคนที่จะเข้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่ 80-90% เป็นตัวเลขที่อยู่ในฐานการประมาณการอยู่แล้ว เวลาเราประมาณการเศรษฐกิจ เราไม่ได้ประมาณการว่าจะเข้าโครงการทั้ง 50.7 ล้านคน มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และถ้าใครประเมินเศรษฐกิจจากสิ่งนี้ ก็ต้องถือเป็นการประเมินจากสิ่งที่เว่อร์เกินกว่าความเป็นจริง เราประเมินจากสิ่งที่ควรจะเป็น สิ่งที่เป็นกรอบการศึกษามาอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ สิ่งที่เปลี่ยน คือ เราก็ไม่ตั้งงบประมาณเกิน เพื่อไม่เป็นการเสียประโยชน์ของประเทศ แต่ถ้ามีคนมาลงทะเบียนเกิน กลไกงบประมาณก็สามารถรองรับได้” นายเผ่าภูมิ กล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องผลกับเศรษฐกิจนั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า อยู่ที่เงื่อนไขว่าจะต้องทำให้เงื่อนไขมีผลเชิงบวกกับเศรษฐกิจมากที่สุด อย่างที่เห็นก็ได้มีการเปลี่ยนเงื่อนไขเรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งต้องยอมรับว่าทำให้ประชาชนใช้ยากขึ้น จุดนี้เป็นข้อเสีย แต่ข้อดี คือ เงินจะถูกหมุนในประเทศมากขึ้น เพราะสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้า Import Content สูง เงินไหลสู่นอกประเทศทันที ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานและการผลิตในประเทศ

ดังนั้นคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จึงมีการเปลี่ยนเงื่อนไข เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ในวันที่ 15 ก.ค. นี้ พิจารณาตัดกลุ่มสินค้าเหล่านี้ออก เพื่อให้เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศสูงสุด

ส่วนเรื่องการใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อรองรับโครงการนั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า หากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอเรื่องการใช้งบประมาณปี 2567-2568 แทน ดังนั้น เรื่องนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ธ.ก.ส. แต่อย่างใด

#SAVEทับลาน สะท้อนปัญหาที่ดินทับซ้อนในสังคมไทย รัฐต้องคำนึง ‘สิทธิชุมชน’ ควบคู่ ‘อนุรักษ์ป่าไม้’ ของชาติ

(11 ก.ค. 67) มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ม.ส.ท.) เผยแพร่บทความเกี่ยวกับ ‘ทับลาน’ โดยระบุว่า…ในช่วงสัปดาห์นี้ ในแวดวงผู้สนใจเรื่องทรัพยากรป่าไม้คงไม่มีกระแสใดแรงเท่า #SAVEทับลาน ที่ปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อต่าง ๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย การปะทะทางความคิดของกลุ่มที่ต้องการอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้กับกลุ่มที่มีความเห็นว่าชุมชนที่อยู่มาก่อนมีการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติควรมีสิทธิเหนือที่ดินนั้นเป็นไปอย่างเข้มข้นและเป็นที่จับตาของผู้คนในสังคม

ที่มาของแฮชแท็ก #SAVEทับลาน เกิดจากการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566 เห็นชอบแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ซึ่งจะมีผลให้เนื้อที่อุทยานลดลงประมาณ 265,000 ไร่ จึงทำให้ประชาชนที่เป็นห่วงทรัพยากรป่าไม้ของประเทศออกมาแสดงความคิดเห็นและคัดค้านการใช้เส้นปรับปรุงแนวเขตดังกล่าว

ปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างพื้นที่ทำกินของชุมชน พื้นที่ป่าไม้ หรือพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นป่าอนุรักษ์เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่เฉพาะกับอุทยานแห่งชาติทับลานเท่านั้น ต้นตอของปัญหาส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกัน เกิดจากการที่ราษฎรเข้าไปบุกเบิกแผ้วถางทำกินในพื้นที่ซึ่งในขณะนั้นอาจเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามพรบ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 หรือพื้นที่ป่าสงวน บางพื้นที่การเกิดขึ้นของชุมชนอาจเกิดจากนโยบายของรัฐเป็นตัวกระตุ้น เช่น การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การย้ายถิ่นฐานที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น หรือการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น 

แต่เมื่อมีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ อาจด้วยระยะเวลาในการดำเนินงานที่จำกัด เทคโนโลยีที่ยังไม่ก้าวหน้า หรือด้วยอีกหลายปัจจัย ทำให้เกิดแนวเขตซ้อนทับกับที่ทำกินของชุมชน หรืออีกประการหนึ่งคือการที่ราษฎรบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ จนทำให้พื้นที่ไม่คงสภาพป่า จึงมีการมอบพื้นที่นั้นให้กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) นำไปจัดสรรให้แก่เกษตรกรเพื่อประกอบอาชีพทางการเกษตรต่อไป และแม้ว่าเงื่อนไขของที่ดินสปก.นั้นห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือและมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรเท่านั้น แต่บริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน จะเห็นโรงแรม ที่พัก รีสอร์ท ตั้งอยู่ในพื้นที่สปก.จำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

ในกรณีของอุทยานแห่งชาติทับลานนั้น การยกเลิกแนวเขตเดิมและใช้แนวเขตใหม่จะทำให้พื้นที่ 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีปัญหาที่ดินทับซ้อนกับ สปก. กลุ่มที่อยู่อาศัยมาก่อนมติครม. 2541-2557 และกลุ่มนายทุนที่มีคดีความอยู่กว่า 400 คดี อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติโดยอัตโนมัติ ซึ่งเสียงจากคนในพื้นที่ระบุว่าพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าแต่อย่างใด และคนในพื้นที่เองก็ต้องการให้มีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯ เพื่อการแก้ไขปัญหาแนวเขตทับซ้อนอย่างจริงจัง

ความตั้งใจในการรักษาพื้นที่ป่าไม้ของชาติไว้เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศนั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่สิทธิของชุมชนก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพื้นที่ที่จะถูกกันออกไม่มีสภาพเป็นป่าแล้วก็ควรจะส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ในส่วนของพื้นที่ที่มีคดีความเรื่องการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และหากชุมชนสามารถพิสูจน์ได้ว่าตั้งถิ่นฐานมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ หรือก่อนมติครม. 2541-2557 ก็ควรมีสิทธิได้รับความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยเช่นกัน แต่รัฐควรส่งเสริมอาชีพ และการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บนฐานการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน โดยเร่งรีบดำเนินการพิสูจน์สิทธิในที่ดินควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นและเป็นธรรม 

‘ไทยคม’ ประกาศความสำเร็จแพลตฟอร์ม 'CarbonWatch' ได้รับการรับรองเป็น 'เครื่องมือวัดคาร์บอนเครดิต' รายแรกในไทย

(11 ก.ค. 67) บริษัท บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม 'CarbonWatch' ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ภายใต้โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนด้วยเทคโนโลยี AI และการสำรวจระยะไกล เป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมทั้งเตรียมให้บริการคาร์บอนเครดิตและขยายความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า อบก.ได้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต ภายใต้ชื่อ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน ไทยคมได้รับการรับรองเครื่องมือประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ด้วยเทคโนโลยี AI และการสำรวจระยะไกลจาก อบก. ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่สามารถใช้ประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในภาคเหนือและกลาง เครื่องมือนี้เป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นการปลูกฟื้นฟูป่าจากภาคธุรกิจเอกชน สร้างแรงจูงใจในการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซ มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 โครงการนี้ยังเป็นแรงจูงใจให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีผลบังคับใช้และยั่งยืน

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ไทยคมยินดีที่แพลตฟอร์ม CarbonWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมและ AI ได้รับการรับรองจาก อบก. เป็นรายแรกของประเทศไทย ตอกย้ำความสำเร็จในการนำความเชี่ยวชาญด้านดาวเทียมมาสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก ร่วมกับเทคโนโลยี AI และ ML เพื่อประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และตรวจสอบได้ แพลตฟอร์มนี้เป็นส่วนหนึ่งของบริการ Earth Insights ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ESG) ได้รับรางวัล Sustainability Award 2023 และระดับ AAA จาก SET ESG Rating แพลตฟอร์มนี้จะถูกนำไปใช้ในพื้นที่ป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศชาติสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

"ไทยคม ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์จากผู้นำด้านดาวเทียมสู่ผู้นำเทคโนโลยีอวกาศ เน้นความสำคัญของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับโลก โดยใช้เทคโนโลยีสเปซเทคตอบสนองความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการคาร์บอน ไทยคมได้ร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง นำความรู้เรื่องดาวเทียมมาสร้างแพลตฟอร์ม CarbonWatch ซึ่งได้รับการรับรองจาก อบก. ช่วยให้การประเมินการกักเก็บคาร์บอนเป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ คุ้มค่า และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในราคาเริ่มต้นที่ 100-300 บาทต่อไร่ นอกจากนี้ ยังสามารถขยายความสามารถนี้ไปยังต่างประเทศได้ การใช้เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่ลดต้นทุนและเพิ่มความแม่นยำเท่านั้น แต่ยังเสริมความโปร่งใสและตรวจสอบได้ สนับสนุนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอย่างยั่งยืน" นายปฐมภพ กล่าว

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เริ่มโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชน 290,000 ไร่ตั้งแต่ปี 2563 และมีแผนขยายไปทั่วประเทศ การประเมินการกักเก็บคาร์บอนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายโครงการนี้ เพื่อสนับสนุนชุมชนต่างๆ มูลนิธิฯ ได้ผนวกความเชี่ยวชาญในภาคสนามกับเทคโนโลยีของไทยคม สร้างเครื่องมือที่ได้รับการรับรองซึ่งมีประสิทธิภาพและแม่นยำ มีความเชื่อมั่นว่าเครื่องมือนี้จะช่วยประเมินการกักเก็บคาร์บอนได้มีประสิทธิภาพและเร่งพัฒนาโมเดลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าอื่น ๆ ด้วย ร่วมกันรับมือกับภาวะโลกร้อนและส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้รุ่นหลัง

"โครงการคาร์บอนเครดิตเริ่มต้นจากประสบการณ์การจัดการป่านานกว่า 30 ปี ซึ่งได้พัฒนากระบวนการปลูกและดูแลป่าอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีดาวเทียมและ AI ที่นำมาใช้ได้ช่วยปรับปรุงความแม่นยำในการประเมินคาร์บอนให้ถึง 90% ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทั้งยังสร้างรายได้และความยั่งยืนให้ชุมชนท้องถิ่น โดยการใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ และเปิดโอกาสให้ไทยเป็นผู้นำในการจัดการคาร์บอนในอาเซียน การร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลป่าเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิภาค และเป็นโมเดลที่สามารถขยายผลไปยังประเทศอื่นในอนาคตได้" ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ รับลูก!! ‘นายกฯ’ เดินหน้ายกระดับไทยสู่ ‘ศูนย์กลางฮาลาล’ ล็อกเป้าระยะแรก ‘อาหาร-ยา-แฟชั่น-เครื่องสำอาง-โกโก้-ท่องเที่ยว’

เมื่อวานนี้ (11 ก.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) เป็นประธานการประชุม กอฮช. ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาลเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง  

นายเศรษฐา ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ตนได้ลงนามในคำสั่งจัดตั้ง คณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 โดยได้มอบหมายให้ ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล และ รมว.อุตสาหกรรม เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเลขานุการ พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสําคัญในแวดวงฮาลาลไทย อีก 21 เพื่อทําหน้าที่กําหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ของไทย รวมถึงบูรณาการแนวทาง มาตรการ แผนงานด้านการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ให้เกิดการดําเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นําด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาค

“ผมอยากเห็นการจัดตั้งหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจในการเป็นหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบเกี่ยวกับ อุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศอย่างครบวงจร โดยมีภารกิจขับเคลื่อนนโยบายและแผนการพัฒนา อุตสาหกรรมฮาลาลไทยให้บรรลุตามเป้าหมาย ติดตามและประเมินผลการดําเนินงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ขยายตลาดและส่งเสริมการค้าสินค้าและบริการฮาลาลระหว่างประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสินค้าฮาลาล พัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อการส่งออก รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล รวมถึงอยากเห็นศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยที่ได้ทราบว่ามีการจัดตั้งแล้ว มีโครงสร้างการบริหาร กําลังคน รวมถึง งบประมาณที่ชัดเจน ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม” นายกรัฐมนตรี กล่าว 

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ประเด็นสําคัญที่อยากฝากทุกท่านให้ความสําคัญเป็นพิเศษ ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ โดยผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยจะสนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงาน การสร้างอาชีพ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการบริการในพื้นที่ภาคใต้ และผลักดันให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อมุ่งสู่การสร้างความผาสุก ความกินดีอยู่ดีรวมถึงการพัฒนาที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความมั่นคงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ สินค้าปศุสัตว์ จะเป็นกลุ่มที่จะได้รับความสําคัญในการส่งเสริมและพัฒนา

ด้านนางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมฮาลาล เป็นหนี่งอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เพราะประเทศไทยมีศักยภาพ และมีมาตรฐานในการผลิต สามารถกระจายรายได้ กระจายโอกาส สร้างเข้มแข็งทางเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย สร้างความั่นคงให้แก่ประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามแนวทางที่ กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ในการเร่งผลักดันให้เกิดศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ 

ขั้นตอนต่อไปจะนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่

1. อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป อาหารทะเล อาหารพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ และอาหารมุสลิมรุ่นใหม่ 
2. แฟชั่นฮาลาล ประกอบด้วย สิ่งทอ อัญมณี เครื่องหนัง 
3. ยา สมุนไพร เครื่องสำอางฮาลาล 
4. โกโก้และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง 
5. บริการและการท่องเที่ยวฮาลาล

ทั้งนี้ ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ปี 2567-2570 ได้วางกรอบใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,230 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ 

1.การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย 
2. การพัฒนาการผลิตได้มาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย 
3. การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย 

โดยมีโครงการที่เป็น Quick Win (พ.ศ. 2567 - 2568) ใช้งบประมาณ 95 ล้านบาท ในการดำเนินงาน ได้แก่ สร้างการรับรู้ศักยภาพสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทย การขยายตลาดสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย และการจัดทำระบบ Halal IU ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลรายงานเชิงลึกและวิเคราะห์ตลาด เป็นต้น 

"มูลค่าของตลาดการค้าอาหารฮาลาลโลกในปี 2567 อยู่ที่ 2.60 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้น 12.5% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมุสลิม นับเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยต้องเข้าไปมีส่วนร่วม และเป็นการปักหมุดประเทศไทย ให้โลกได้รู้ว่าเรามีศักยภาพในการผลิตสินค้าฮาลาล" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top