Saturday, 10 May 2025
Econbiz

‘ครม.’ ไฟเขียว!! วีซ่าต่างชาติทักษะสูง ทำงานในไทย 5.6 หมื่นคน สะท้อนผลสำเร็จมาตรการกระตุ้น ศก. จูงใจต่างชาติทำงานในไทย

(4 มิ.ย. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่ ดำเนินมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราในประเภทต่าง ๆ ทำให้มีบุคลากรต่างชาติที่ได้รับการอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย ทั้งวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานภายใต้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน วีซ่าพำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) และวีซ่าดึงดูดบุคลากรทักษะสูงและนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (Smart Visa) ผ่านศูนย์ One Stop Service รวมทั้งสิ้นกว่า 56,000 คน 

นายชัย กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงแรงงาน มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวต่างชาติที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญพิเศษ (Talent) นักลงทุน และผู้ที่ต้องการเข้ามาทำงานและอาศัยในประเทศไทย ผ่านการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Start One Stop Investment Center: OSOS) ณ ชั้น 18 ตึกจามจุรีสแควร์ ซึ่งเป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (https://osos.boi.go.th/TH/home/) โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อหลายหน่วยงาน และการบริการผ่านระบบออนไลน์ SINGLE WINDOW Visa and Work Permit System (https://swe-expert.boi.go.th/SW-WEB/main.php

ซึ่งข้อมูลของ BOI ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรต่างชาติที่ได้รับอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน รวมแล้วกว่า 56,000 คน ประกอบด้วยประเภทวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานภายใต้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน มีผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงาน ภายใต้โครงการส่งเสริมการลงทุน จำนวนประมาณ 50,000 คน 

ประเภท LTR Visa รวมทั้งสิ้นกว่า 4,000 คน จากสหรัฐอเมริกา 791 คน รัสเซีย 479 คน สหราชอาณาจักร 332 คน จีน 277 คน เยอรมัน 236 คน ญี่ปุ่น 207 คน และฝรั่งเศส 198 คน 

ประเภท Smart Visa และกลุ่ม Startup รวมทั้งสิ้น 2,170 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเยอรมัน

สำหรับวีซ่าพำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) เป็นมาตรการของรัฐบาล ที่มุ่งดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่มเข้าสู่ประเทศไทย ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ, ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย, ผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง และผู้เกษียณอายุ รวมถึงผู้ติดตาม สามารถพำนักในประเทศไทยได้ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้า/ออกประเทศ และได้รับอนุญาตให้ทำงาน โดยจะลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เหลือร้อยละ 17 และยังได้รับการผ่อนปรนระยะเวลาการรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จากปกติทุก 90 วัน เปลี่ยนเป็นปีละ 1 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติวีซ่าดังกล่าวให้แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำระดับโลกที่มีการลงทุนหรือตั้งสำนักงานในประเทศไทยหลายแห่ง 

และครม.ได้เพิ่มการตรวจตราประเภทใหม่ หรือ Destination Thailand Visa (DTV) โดยเป็นมาตรการสำหรับชาวต่างชาติที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล เช่น remote worker หรือ digital nomad ที่ประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อเป็นทางเลือกในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพให้เข้ามาทำงานในไทยได้มากขึ้น

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการดึงดูดการลงทุน เพิ่มขีดตวามสามารถในการแข่งขันของไทย เชื่อมั่นว่า ผลจากการปรับปรุงและแก้ไขมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดชาวต่างชาติ ให้เข้ามาทำงานในระยะยาว ซึ่งกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมทันสมัย อุตสาหกรรมอนาคต อุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย” นายชัย กล่าว

ควันหลง ‘Tout à fait Thaï 2024’ งานเทศกาลไทยสุดอลังในกรุงปารีส เชื่อมสัมพันธ์ 2 ชาติ ผ่านเอกลักษณ์ไทย โดนใจชาวฝรั่งเศสรุ่นเก่า-ใหม่

(4 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และ นาย Alberto Rodriguez นายกเทศมนตรีเมือง Breux-Jouy ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดงานเทศกาลไทยในกรุงปารีส ภายใต้ชื่อ Tout à fait Thaï Exhibition & Village: Heritage of the World ณ วัดพระเชตุพน กรุงปารีส เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม โดยมี ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน และ นาง Jocelyne Guidez วุฒิสมาชิกของเขต Essonne ประเทศฝรั่งเศสเข้าร่วมด้วย

โดยคำนึงว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสซึ่งดำเนินมากว่า 330 ปี นับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับเป็นรากฐานของความผูกพันและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนสองฝ่าย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส จึงได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญร่วมกับทีมประเทศไทยประจำกรุงปารีส นำงาน Tout à fait Thaï ซึ่งจัดครั้งแรกเมื่อปี 2549 กลับมาอีกครั้ง เพื่อส่งเสริมมิตรภาพ ความเข้าใจอันดี และความไว้วางใจระหว่างประชาชน ในห้วงเวลาสำคัญซึ่งความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศขณะนี้ก้าวหน้าและขยายตัวโดยรอบด้าน จากการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำสองฝ่ายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

Tout à fait Thaï Exhibition & Village: Heritage of the World 2024 เน้นนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านการแสดงทางวัฒนธรรม ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ อาทิ โขน แม่ไม้มวยไทย การนวดไทย โดยมี อเมนด้า ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ได้มาร่วมสร้างสีสันและถ่ายทอดความเป็นไทย ผ่านการแต่งกายด้วยชุดไทย

ขณะเดียวกันยังมีคอนเสิร์ตของศิลปินไทยร่วมสมัยวง 4Mix และ แอลลี่ อชิรญา นิติพน เพื่อดึงดูดความสนใจของคนฝรั่งเศสรุ่นใหม่ให้เข้าถึงความเป็นไทยได้ง่ายยิ่งขึ้น

การจัดงานครั้งนี้ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ถึงแม้ว่าวัดพระเชตุพน กรุงปารีส ตั้งอยู่ห่างไกลจากใจกลางกรุงปารีสถึง 40 กิโลเมตร ก็ยังมีผู้มาร่วมงานทั้งคนไทยและฝรั่งเศสจากหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศฝรั่งเศสกว่า 4,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขจากการประเมินของเทศบาลเมือง Breux-Jouy อันแสดงถึงความเข้มแข็งของประชาคมไทยในฝรั่งเศสอีกด้วย

ขณะที่มีคนไทยทั้งที่มาร่วมงานและร่วมออกร้านขายอาหารและสินค้าไทยกว่า 30 ร้าน การเปิด Thai Massage Pavilion คลินิกมวยไทย และการสอนภาษาไทยเบื้องต้นโดยนักศึกษาภาควิชาภาษาไทย ของสถาบันภาษาและอารยธรรมแห่งชาติอินัลโก้

ท่านทูตศรัญย์กล่าวว่า โดยที่ไทยและฝรั่งเศสมีความเป็นหุ้นส่วนแห่งความร่วมมือที่แน่นแฟ้น ประกอบกับที่ทั้งสองฝ่ายจะฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 340 ปีของการติดต่อครั้งแรกในปี 2568 และ 170 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2569 เอกอัครราชทูตเชื่อมั่นว่า ทั้งสองประเทศจะก้าวสู่ความร่วมมือในมิติต่างๆ ที่ยั่งยืนต่อไปจากรากฐานความสัมพันธ์ที่มั่นคงในปัจจุบัน และหวังว่า สถานเอกอัครราชทูตจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนดังเช่นทุกครั้งที่ผ่านมาสำหรับการจัดงาน Tout à fait Thaï ครั้งต่อๆ ไป

หากเปรียบเทียบ Tout à fait Thaï เป็นแบรนด์สินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากคนฝรั่งเศสมายาวนาน ความสำเร็จอย่างสูงของการจัดงานครั้งนี้นับเป็นเครื่องยืนยันถึงโอกาสที่ฝ่ายไทยสามารถใช้ประโยชน์อย่างจริงจังจากความนิยมไทยอย่างสูงในหมู่ชาวฝรั่งเศสในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรม อาหาร การท่องเที่ยวและมวยไทยในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ซึ่งช่วยสร้างความยั่งยืนด้านความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ตลอดจนรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ของไทยในฝรั่งเศส

ทั้งนี้ งาน Tout à fait Thaï ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการ Tout à fait Thaï the series ได้แก่ การแสดงพิเศษ ‘ชุดเกร็ดโขน’ ซึ่งอำนวยการสร้างโดยท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน และการจัดงานวันแห่งภาพยนตร์ไทยในกรุงปารีสโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และการออกแบบและจัดสวนวิถีไทย ตามรูปแบบภูมิปัญญาไทยในงานจัดสวนประจำปีของฝรั่งเศสชื่อ Jardins, jardin อีกด้วย

‘ครม.’ เคาะ!! มาตรการหนุนท่องเที่ยวเมืองรอง ใช้จ่ายไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ก็เอาไปหักภาษีได้

(4 มิ.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว หรือ Low Season คาดว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่น่าจะทำให้การใช้จ่ายในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวรองมีมากกว่ารายได้ที่สูญเสียไปทั้งหมด

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยอยากให้มีการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ในเมืองรอง โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่เป็น Low Season

“ได้ขอให้รัฐมนตรีที่เข้าประชุมครม.วันนี้ หลายคนเป็น สส.ในพื้นที่ก็คงมีข้อมูลว่าเขตพื้นที่นั้น มีเรื่องอะไรดี ๆ มาก็ให้ประสานไปที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อจะช่วยสนับสนุน และโปรโมตล่วงหน้าต่อไป” นายกฯ ระบุ

>> มาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง (สำหรับบุคคลธรรมดา) 

บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยหรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวใน ‘จังหวัดท่องเที่ยวรอง’ ได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season)

>> มาตรการภาษีกระตุ้นสัมมนาในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล)

นิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 พฤศจิกายน 2567 หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้

1.หักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดใน ‘จังหวัดท่องเที่ยวรอง’ หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

2.หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่นนอกจากท้องที่ตามข้อ 1 

3.ในกรณีที่การสัมมนาเกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อ 1 และข้อ 2 ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตามข้อ 1 หรือข้อ 2 และถ้าแยกไม่ได้ให้หัก 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง

รมช.คลัง กล่าวว่า ทั้ง 2 มาตรการ ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

'เครือสหพัฒน์' ผนึกกำลัง 'fufu' ธุรกิจร้านทำสีผมอันดับ 1 จากญี่ปุ่น ผุด 100 สาขา เจาะตลาดทำสีผมแฟชั่น และกลุ่มสูงวัยปิดผมขาว

(4 มิ.ย. 67) คุณธีรดา อำพันวงษ์ คณะกรรมการในเครือสหพัฒน์ เผยถึงความร่วมมือกับพันธมิตร ‘ฟาสต์ บิวตี้’ จากประเทศญี่ปุ่น ขยายธุรกิจร้านทำสีผม fufu ในประเทศไทย ว่า เพราะคนไทยมีความสนใจเรื่องความงามคล้ายกับคนญี่ปุ่น ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นอีกโอกาสของตลาดทำสีผมทั้งปิดผมขาวและสีแฟชั่น

ร้านทำสีผม ‘fufu’ ที่จะเข้ามาเปิดตลาดในไทย เป็นการทำสีผมที่แตกต่างจากเดิม คือตอบโจทย์ทั้งกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงวัย โดยการนำเทคโนโลยีและระบบ CRM มาให้บริการ เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า และใช้ AI เสนอทางเลือกที่เหมาะกับให้ลูกค้า ตั้งเป้าเปิดให้บริการในประเทศไทย 100 สาขา สำหรับสาขาแรกเปิดในทำเลทองหล่อ

มร.ยูกิฮิโระ ฮิกาชิคุโบะ ประธานบริษัทและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฟาสต์บิวตี้ จำกัด กล่าวว่า 'ฟาสต์ บิวตี้' ดำเนินธุรกิจร้านทำสีผม fufu ที่มีกว่า 130 สาขา และเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจร้านทำสีผมในประเทศญี่ปุ่น โดยให้บริการเฉพาะการทําสีผม ในราคาคุ้มค่าและรวดเร็ว ปัจจุบันมีลูกค้ามาใช้บริการกว่า 4.15 ล้านคนต่อปี

นอกจากให้บริการทำสีผมแล้ว ฟาสต์ บิวตี้ ยังเป็นผู้จําหน่ายผลิตภัณฑ์ความงาม ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ผ่านทางเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซด้วย

สำหรับร้านทำสีผม fufu ในประเทศไทย ให้บริการลูกค้าครบวงจร ทั้งบริการทําสีผมแฟชั่น สําหรับกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน และบริการทำสีผมเพื่อปกปิดผมขาว สำหรับกลุ่มคนสูงวัย โดยจะลงนามความร่วมมือขยายธุรกิจร่วมกันในงาน สหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 28 ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2567

‘ตั๊กแตนปาทังก้าโมจีน’ เลี้ยงง่าย ขายได้ราคาดี 360 บ./กก. อุดมไปด้วยโปรตีน เป็นที่ต้องการของตลาดแมลงทอด

(4 มิ.ย. 67) ที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านไสใหญ่ หมู่ที่ 7 ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง นายอาคม ครชาตรี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ได้พาผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมภายในศูนย์ฯ โดยเฉพาะที่ฐานการบิน ได้มีการเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้าโมจีน ซึ่งถือเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยมีแนวคิดจากตัวเองไม่มีเวลาจึงได้ทดลองเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จ และต่อยอดให้เกษตรกรลูกบ้านได้นำไปเลี้ยงสร้างรายได้ต่อไป

นายอาคม ครชาตรี บอกว่า สำหรับพื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งมีการปลูกไม้ป่า ไม้ใช้สอย เลี้ยงปลา เลี้ยงผึ้งโพรง และล่าสุดคือ เลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้าโมจีน ซึ่งก็ได้นำมาทดลองเลี้ยงโดยศึกษาจากยูทูบ (Youtube) ประมาณเกือบปี โดยขณะนั้นไข่ตั๊กแตนขายอยู่ที่ขีดละ 1,000 บาท หรือกิโลกรัมละ 10,000 บาท และตนเองได้ทดลองซื้อมา จำนวน 3 ขีด ผลปรากฏว่าการเลี้ยงตั๊กแตนสร้างรายได้ดีจริง

ทั้งนี้ หลังจากที่ตั๊กแตนแตกตัวออกจากไข่ จากนั้นประมาณ 33 วัน ตั๊กแตนก็จะจับคู่กัน หลังจากนั้นก็ไข่ ซึ่งอายุตั๊กแตนที่สามารถขายได้ก็ประมาณ 2 เดือน หรือหลังจากที่พวกมันออกไข่ครั้งแรกก็สามารถจับขายได้เลย ซึ่งในพื้นที่แถวภาคใต้มีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 360 บาท แต่ขณะนี้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด มีลูกค้าสั่งเข้ามาตลอด และในอนาคตกำลังเตรียมต่อยอดทำแปรรูปตั๊กแตนด้วย

สำหรับอาชีพเลี้ยงตั๊กแตนนั้น เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลามาก เพราะไม่ต้องซื้ออาหาร ไม่ต้องให้น้ำ ให้แต่ใบกล้วย ใบอ้อย ใบพืชต่าง ๆ ให้ตั๊กแตนกินเป็นอาหาร ส่วนพื้นที่เลี้ยงตั๊กแตนจะสร้างโรงเรือนที่มีมุ้งชนิดสีขาว ตรา 32 เพราะมีความทนเพื่อป้องกันตั๊กแตนกัดตัวมุ้ง ขณะที่พื้นโรงเรือนจะใส่ทรายเพื่อให้ตั๊กแตนได้วางไข่ ในส่วนของมูลตั๊กแตน ตนเองก็ยังนำไปใส่เป็นปุ๋ยให้กับพืชผักที่ปลูกไว้ ได้ประโยชน์ครบวงจรเลยทีเดียว

โดยตั๊กแตนปาทังก้าโมจีน สามารถนำไปบริโภคได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากเลี้ยงแบบธรรมชาติ จึงไม่มีสารเคมีใด ๆ เลย ซึ่งเหมาะต่อการนำไปทำตั๊กแตนทอด เพราะมีคุณค่าทางอาหารคือโปรตีนสูง ทั้งนี้ หากผู้ใดสนใจอยากเรียนรู้เรื่องการเลี้ยง หรือจะซื้อตั๊กแตน สามารถติดต่อได้ทางเฟซบุ๊ก ผู้ใหญ่อาคม ครชาตรี หรือ โทร.094-709-7893

‘พีระพันธุ์’ วางระบบคุมราคาน้ำมันที่เป็นธรรม ‘ผู้ค้าฯ’ ต้องพิสูจน์ต้นทุน ก่อนขอรับเงินชดเชย

เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ครั้งที่ 14/2567 เพื่อพิจารณาแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ หรือ SPR  (Strategic Petroleum Reserve) ของประเทศไทย

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังได้มอบนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการกำกับราคาน้ำมันให้มีความเป็นธรรมและป้องกันการค้ากำไรเกินควร โดยในแนวทางนี้รัฐจะเป็นผู้กำหนดราคากลาง หรือ Benchmark ในขณะที่ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องนำหลักฐานต่าง ๆ มาพิสูจน์ต้นทุนที่แท้จริง ทั้งหลักฐานที่กรมศุลกากร หลักฐานที่แบงก์ชาติ หลักฐานที่ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงหลักฐานที่แสดงต่อกรมสรรพากร เพื่อขอรับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในกรณีที่ขาดทุนจากจำหน่ายตามราคาที่รัฐกำหนด

“ทุกวันนี้เราต้องนั่งรอข้อมูลจากผู้ค้าฯ แต่ต่อไปผู้ค้าฯ ต้องมาพิสูจน์ว่าขาดทุนตรงไหน? อย่างไร? พร้อมหลักฐานที่จะต้องตรงกันหมด ทั้งหลักฐานที่กรมศุลกากร หลักฐานที่แบงก์ชาติ หลักฐานที่ธนาคารพาณิชย์ และหลักฐานที่แสดงต่อกรมสรรพากรต้องตรงกันหมด ถ้าไม่ตรงก็ถือว่ามีปัญหา ก็ไม่ผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็ใช้ราคาหลวง เช่น เราคํานวณ benchmark ที่ 84 เหรียญ ถ้าจะให้รัฐชดเชย ก็ต้องมาว่าพิสูจน์ว่า ทําไมราคาของคุณถึงสูงกว่าราคาตลาดโลก ถ้าพิสูจน์ได้ ก็ได้รับชดเชยไป แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ หรือไม่พิสูจน์ บอกว่าเป็นความลับ ก็เจ๊ากันไป ไม่ได้รับชดเชย เท่านั้นเอง ผมว่าต้องเป็นระบบแบบนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

สำหรับความคืบหน้าของการจัดตั้งระบบ SPR นั้น ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องผลการศึกษาการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศและประเทศไทย การศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ของการจัดตั้งระบบ SPR ในประเทศไทย การกำหนดอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ รวมไปถึงรูปแบบการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง กลไกบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง การนำน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาใช้ โครงสร้างองค์กรใหม่ การจัดตั้งกองทุน การบริหารจัดการ การกำกับติดตามและตรวจสอบปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองตามกฎหมาย การดำเนินการในระยะเริ่มต้น การถ่ายโอนภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและร่างกฎหมาย ตลอดจนการจัดหาพื้นที่เก็บสำรองด้วย

ทำไม 'ไทย' ต้องนำเข้าน้ำมัน ทั้งที่ยัง 'ผลิตได้-ส่งออกด้วย'

เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย. 67) เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน ได้เผยแพร่บทความ ‘เขียนเล่าข่าว EP. 55 - ทำไมไทยยังต้องนำเข้าน้ำมัน แม้จะผลิตน้ำมันได้เองและมีน้ำมันส่งออก’ โดยระบุข้อความว่า…

คำถามเกี่ยวกับเรื่องน้ำมัน ซึ่งยังมีคนสงสัยและดูเหมือนจะยังไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างในใจสักที ว่าทำไมเราต้องนำเข้าน้ำมัน และทำไมถึงไม่สามารถขายน้ำมันในราคาถูกให้คนในประเทศใช้ได้ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันอยู่ในประเทศตัวเอง แถมยังมีการส่งออกอีกด้วย

คำตอบที่พยายามจะอธิบายให้คนที่ยังมีความสงสัยได้เกิดความกระจ่างในใจ ก็คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากแหล่งผลิตในต่างประเทศมาใช้ ก็เพราะแหล่งน้ำมันที่เรามีอยู่ในประเทศนั้นผลิตน้ำมันดิบได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเข้ามาทดแทนให้เพียงพอต่อความต้องการใช้

ส่วนการที่เรามีน้ำมันส่งออกด้วยนั้น ก็เป็นน้ำมันจาก 2 ส่วน ส่วนแรกคือน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในประเทศ ที่คุณภาพไม่เหมาะกับโรงกลั่นในประเทศ เพราะมีสารปนเปื้อนสูง และส่วนที่สอง คือน้ำมันสำเร็จรูป ที่โรงกลั่นน้ำมันกลั่นออกมามากเกินความต้องการใช้ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า ในปี 2566 ตัวเลขปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศ ทำได้ประมาณ 0.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน เท่านั้น แต่ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ประมาณ 1.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าปริมาณที่ผลิตได้หลายเท่าตัว ดังนั้น จึงต้องมีการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามาเติมความต้องการอีกประมาณ 0.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ส่วนข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน รายงานว่า การผลิตน้ำมันสำเร็จรูปที่มาจากโรงกลั่นในประเทศในปี 2566 นั้น มีกำลังผลิตรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 174 ล้านลิตรต่อวัน (น้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่มาจากน้ำมันดิบที่นำเข้า) ในขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 152 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งน้ำมันสำเร็จรูปส่วนที่เกินกว่าความต้องการใช้ก็ได้ทำการส่งออก อย่างไรก็ตามมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ได้มาจากโรงกลั่นในประเทศเพื่อมาใช้ อีกประมาณเฉลี่ย 9 ล้านลิตร/วัน

โดยสรุป ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบได้เพียงประมาณ 10% ของปริมาณการใช้เท่านั้น และบางส่วนมีสารปนเปื้อนสูงเกินกว่าที่โรงกลั่นในประเทศจะรับได้ จึงจำเป็นต้องส่งออก ดังนั้นน้ำมันดิบส่วนที่ขาดจึงต้องมีการนำเข้าอีกกว่า 90% โดยประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากกลุ่มตะวันออกกลางประมาณ 57% ตะวันออกไกล 19% และแหล่งอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ลิเบีย ออสเตรเลีย อีกรวม 24%

การที่ไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบส่วนใหญ่กว่า 90% นั้นทำให้การกำหนดราคาขายต้องอ้างอิงกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก ดังนั้นเมื่อราคาตลาดโลกสูงขึ้น ราคาขายในประเทศก็ต้องปรับขึ้นตาม ในทางกลับกัน หากราคาตลาดโลกปรับลดลง ราคาขายในประเทศก็จะปรับลดลงด้วย เพียงแต่ว่าการปรับราคาอาจจะไม่ได้สะท้อนต้นทุนจริงแบบเรียลไทม์ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องนำมาคิดคำนวณด้วยอีกหลายประการ เขียนอธิบายมาถึงบรรทัดนี้ ก็หวังว่าผู้อ่านจะมีข้อมูลและความเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการนำเข้าน้ำมันมากขึ้น

'รมว.ปุ้ย' เยือนหูหนาน ศึกษา 'การหมุนเวียนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ'สร้างสัมพันธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันในอนาคต

ไม่นานมานี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำทีมอุตสาหกรรมประเทศไทย พบปะ นายเหมา เว่ยหนิง ผู้ว่าการมณฑลหูหนาน และเข้าพบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลายส่วน

งานนี้ รมว.ปุ้ย และทีมอุตสาหกรรมไทยได้มีโอกาสพบผู้บริหารของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลหนัก แบรนด์ SANY และ ZOOMLION ซึ่งแบรนด์คุ้นหูคุ้นตาในเมืองไทย มีผู้ประกอบการไม่น้อยเริ่มใช้เครื่องจักรกลแบรนด์นี้ และมีการลงทุนในประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ ยังไปเยี่ยมชมการผลิตระบบการจัดการพลังงาน ความปลอดภัย ระบบเมืองอัจฉริยะ กลุ่ม Wasion Holding Limited ซึ่งมีข้อดีหลายประการที่สามารถนำมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมในเมืองไทยได้อย่างมากอีกด้วย

สำหรับมณฑลหูหนาน เป็นพื้นที่อุดมไปด้วยทรัพยากรต้นธารของอุตสาหกรรมสำคัญของโลกหลายชนิด ทั้งกลุ่มโลหะ อโลหะ โดยอุตสาหกรรมหลักของที่นี่คือ ยานยนต์สมัยใหม่ เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีหุ่นยนต์ 

"ปัจจุบัน จีนได้ประกาศใช้เศรษฐกิจวงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับ 'การหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ' (Internal Circulation) ควบคู่ไปกับ 'การหมุนเวียนเศรษฐกิจต่างประเทศ' (External Circulation) และมีความสอดคล้องกับประเทศไทย ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี พ.ศ.2564 - 2568) รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญอย่างมากค่ะ...

"ดังนั้น การเข้าเยี่ยมคารวะท่านผู้ว่าการมณฑล และผู้ประกอบการรายสำคัญในครั้งนี้ จึงเป็นช่องทางสัมพันธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันในอนาคต โดยดิฉันได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการลงทุนพัฒนาแบบสองทาง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มั่นคง นี่คือประเด็นสำคัญ"

‘กฟผ.’ จับมือ ‘มิตซูบิชิฯ’ พัฒนาไฮโดรเจนผลิตไฟฟ้าร่วมก๊าซธรรมชาติ หวังเดินหน้าสู่พลังงานสะอาด - ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ปี 2065

เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.67) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายนรินทร์ เผ่าวณิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมประชุมหารือความร่วมมือทวิภาคีด้านพลังงานระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ครั้งที่ 6 (The 6th Japan-Thailand Energy Policy Dialogue : 6th JTEPD) ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมติดตามความก้าวหน้าของความร่วมมือ และนำเสนอโครงการ แนวทางนโยบาย แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์พลังงาน โดยมุ่งเน้นพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานในอนาคต

ทั้งนี้ ในงานประชุมครั้งนี้ กฟผ.ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์ เพื่อร่วมศึกษาศักยภาพและพัฒนาการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสำหรับกังหันก๊าซ (Gas Turbine) โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการเปลี่ยนด้านพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065

ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศ ในการเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดตามแผนพัฒนาพลังงานและแนวทางส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนของประเทศไทย ที่ริเริ่มนำเชื้อเพลิงทางเลือกและเชื้อเพลิงสะอาดมาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ของญี่ปุ่น เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางเทคโนโลยีและแผนพัฒนาโครงการไฮโดรเจนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) กับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น นำไปสู่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

‘กฟผ.’ เดินหน้าเพิ่มสัดส่วน ‘พลังงานสะอาด’ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง จับมือ ‘IHI Corporation’ แลกเปลี่ยนความรู้ รุกใช้เชื้อเพลิงชีวมวล-ถ่านหิน

เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท IHI Corporation ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ และเทคโนโลยีในการจัดตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง พร้อมทั้งประเมินองค์ประกอบและคุณสมบัติของ wood pellets เพื่อทดสอบการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล อัดแท่งร่วมกับถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยมี นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน และ Mr. Shinichi Kihara (ชินอิจิ คิฮารา), Director General of Agency for Natural Resources and Energy, Ministry of Economy, Trade and Industry of Japan (อธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น) เป็นสักขีพยาน ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ด้าน นายนรินทร์ เผ่าวณิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดในทุกมิติ

โดยร่วมกับบริษัท IHI Corporation บริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีประสบการณ์ด้านการเปลี่ยนผ่านเชื้อเพลิงจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงการสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งที่เหมาะสมกับโรงไฟฟ้า ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์การทำงาน องค์ความรู้ รวมทั้งศึกษาแนวทางด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065

ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ประกอบด้วย การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยีในการออกแบบโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (wood pellets) การประเมินและเลือกรูปแบบของโรงงานผลิตที่เหมาะสม การประเมินองค์ประกอบและคุณสมบัติของ wood pellets รวมถึงมีการทดสอบการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล อัดแท่งร่วมกับถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม และมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top