Saturday, 10 May 2025
Econbiz

‘EGCO Group’ เผยกำไร Q1/67 แตะ 1,500 ลบ. ลุยรุกธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ-พลังงานหมุนเวียน

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2567 มีรายได้รวม 11,360 ล้านบาท ในขณะที่มีกำไรจากการดำเนินงาน 1,591 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า Paju ES และ Nam Theun 2 รวมทั้งการรับรู้รายได้จากการเข้าซื้อหุ้นในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค CDI และกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass พร้อมตอกย้ำความมั่นใจการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า Yunlin มีความคืบหน้าตามแผน ลุยลงทุนรูปแบบ M&A โรงไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มุ่งรับรู้รายได้ทันที รวมทั้งขยาย Portfolio พลังงานหมุนเวียน มุ่งบรรลุเป้าหมายเพิ่ม RE เป็น 30% ภายในปี 2573

ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2567 EGCO Group สามารถบริหารจัดการ Portfolio โรงไฟฟ้าและต้นทุนเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าทุกแห่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สามารถสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ 

ในไตรมาสนี้ EGCO Group ประสบความสำเร็จในการปิดดีลซื้อหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ในสหรัฐอเมริกา และการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration (ส่วนขยาย) จังหวัดระยอง ส่งผลให้ EGCO Group รับรู้รายได้จากโครงการทั้ง 2 แห่งทันที ด้านธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง บริษัท เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด หรือ ESCO ในกลุ่มเอ็กโก ได้ลงนามข้อตกลงกับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เซอร์วิส (แหลมฉบัง) จำกัด เพื่อร่วมลงทุนพัฒนาเครื่องทดสอบแผงโซลาร์เซลล์ที่มีความยาวมากกว่า 2 เมตร แห่งเดียวในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน 

สำหรับผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 EGCO Group มีรายได้รวม 11,360 ล้านบาท ในขณะที่มีกำไรจากการดำเนินงาน 1,591 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากโรงไฟฟ้า Paju ES ซึ่งสามารถทำกำไรได้อย่างโดดเด่นต่อเนื่อง และโรงไฟฟ้า Nam Theun 2 ที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น รวมทั้งการรับรู้รายได้จากการเข้าซื้อหุ้นในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค CDI และกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ทำให้ในไตรมาสนี้ EGCO Group มีกำไรสุทธิ 1,662 ล้านบาท 

สำหรับความคืบหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง Yunlin ในไต้หวัน ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 โครงการมีความพร้อมทุกด้านและการก่อสร้างมีความก้าวหน้าตามแผนงานเป็นลำดับ โดยได้ติดตั้งเสากังหันแล้วเสร็จรวม 54 ต้น ซึ่งได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วทั้งสิ้น 33 ต้น คิดเป็นกำลังผลิตรวม 264 เมกะวัตต์ มีอัตราการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยของโครงการสูงกว่า 40% ยืนยันศักยภาพการสร้างรายได้ในอนาคต และมีกำหนดแล้วเสร็จครบ 80 ต้น กำลังผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567

“EGCO Group ได้ครบรอบการดำเนินงานปีที่ 32 ด้วยรากฐานที่มั่นคง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัทมุ่งมั่นสร้างการเติบโตให้ธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ในทิศทางที่สอดคล้องกับยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ด้วยการแสวงหาโอกาสลงทุนในรูปแบบ M&A ในโรงไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เพื่อสร้างรายได้ทันที รวมทั้งการขยาย Portfolio พลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573 ในขณะเดียวกัน EGCO Group ยังเดินหน้าสร้างสมดุลระหว่าง ‘ธุรกิจ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม’ ตามกรอบ ESG ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี และปราศจากการคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้ผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลและยั่งยืน” ดร.จิราพร กล่าวสรุป

'แกร็บ' ผนึก 'ภาครัฐ-เอกชน' จัดงาน 'GrabNEXT 2024' ชู 'T.R.A.V.E.L' ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย สู่อนาคตที่ดีกว่า

(15 พ.ค.67) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินหน้าส่งเสริมและผลักดันการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมร่วมเป็นประธานเปิดงานเสวนาเชิงนโยบายประจำปี ‘GrabNEXT 2024: Driving towards the Future of Tourism ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว สู่อนาคตที่ดีกว่า’ ซึ่งจัดขึ้นโดย แกร็บ ประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ด้วยการยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้พร้อมตอบสนองพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่ผ่านกลยุทธ์ ‘T.R.A.V.E.L.’

พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและเอกชน อันได้แก่ นายนิธิ สีแพร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรติ นางสาวเพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า “การทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ถือเป็นเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปีนี้ ซึ่งนอกจากการที่กระทรวงต้องการยกระดับประเทศไทยให้เป็น Tourism Hub หรือศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค เรายังต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายของการเป็น Aviation Hub ที่มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางกว่า 150 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 ตามนโยบายของรัฐบาลด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ จากการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ทำให้ทางกระทรวงมีการตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท

โดยการที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งทางกระทรวงต้องขอขอบคุณ แกร็บ ประเทศไทย ที่จัดงานในครั้งนี้ พร้อมทั้งยังช่วยสนับสนุน ผลักดัน การเดินทางท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพทั่วประเทศไทยด้วยดีเสมอมา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรต่าง ๆ จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และนำพาเศรษฐกิจไทยให้เจริญรุดหน้าต่อไป”

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวถือเป็นเป้าหมายหลักที่รัฐบาลเร่งผลักดันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในวิสัยทัศน์สำคัญคือการพลิกฟื้นการท่องเที่ยว และตั้งเป้าผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศและส่งเสริมเศรษฐกิจ แกร็บจึงได้จัดงาน GrabNEXT เพื่อนำความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี และความแข็งแกร่งของอีโคซิสเต็มของแกร็บที่ให้บริการครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเติมเต็มและสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไร้รอยต่อ ผ่านกลยุทธ์ ‘T.R.A.V.E.L.’ ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมายังประเทศไทย พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและมหภาค และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน”

เพื่อเป็นการสานต่อแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการยกระดับการท่องเที่ยวให้พร้อมตอบสนองพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ แกร็บจึงได้เผยกลยุทธ์ T.R.A.V.E.L. ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

>> Technological Integration การนำเทคโนโลยีดิจิทัลอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวในกลุ่ม F.I.T. (Free Independent Travelers) หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเองกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เดินทางมาประเทศไทยในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ แกร็บ จึงได้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีมาเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ตั้งแต่การวางแผนการเดินทางไปจนถึงการอำนวยความสะดวกระหว่างการท่องเที่ยว อาทิ หน้าจอต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถสำรวจ และวางแผนการเดินทางบนแอปพลิเคชัน Grab ตั้งแต่ก่อนมาถึงประเทศไทย การพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีหลายภาษา ทั้งอังกฤษ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลี หรือ การเชื่อมต่อกับ แอปพลิเคชันชั้นนำให้สามารถใช้บริการเรียกรถของ Grab ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง WeChat Booking.com และ Trip.com ได้ รวมถึง การขยายช่องทางการชำระเงินดิจิทัลผ่าน Alipay และ Kakao Pay

>> Reliability & Safety การสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว

ความปลอดภัยเป็นปัจจัยหลักที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึงในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่พัก หรือการใช้บริการขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว แกร็บ จึงได้ยกระดับความปลอดภัยผ่านการพัฒนา 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย อาทิ ฟีเจอร์ Safety Centre สำหรับแจ้งขอความช่วยเหลือ หรือ ฟีเจอร์ Audio Protect เพื่อบันทึกเสียงระหว่างการเดินทาง มาตรการด้านความปลอดภัย ด้วยการคัดกรองและอบรมพาร์ทเนอร์คนขับ การกำหนดมาตรฐานการให้บริการที่มุ่งเน้นด้านความปลอดภัย และการทำประกันเพื่อคุ้มครองทั้งผู้โดยสารและพาร์ทเนอร์คนขับ และสุดท้ายกับการจัดแคมเปญรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย ที่ล่าสุด แกร็บได้จับมือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา

>>  Accessibility การส่งเสริมการเดินทางเพื่อเข้าถึงเมืองหลัก และเมืองรอง

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติหันมาสนใจเดินทางไปยังเมืองรองมากขึ้น สะท้อนจากรายได้จากการท่องเที่ยวเมืองรองในปีที่ผ่านที่เติบโตขึ้นถึง 38%1 ดังนั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังจังหวัดในเมืองหลักและเมืองรองได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น แกร็บ จึงได้มุ่งสร้างประสบการณ์การเดินทางแบบไร้รอยต่อด้วยบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันที่มีให้บริการแล้วใน 71 จังหวัด ครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ทั้งยังได้ผนึกความร่วมมือกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดจุดรับ-ส่งผู้โดยสารเพื่อให้บริการในสนามบินหลัก ทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ

>> Valuable Experiences การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าจดจำ

ความเป็นเลิศในด้านการบริการที่สอดแทรกเสน่ห์ของความเป็นไทยเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดและพิชิตใจนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางกลับมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวในทุกเที่ยวการเดินทาง แกร็บ จึงได้พัฒนาศักยภาพให้กับพาร์ทเนอร์คนขับผ่านคอร์สอบรมออนไลน์ภายใต้โครงการ GrabAcademy ครอบคลุมทั้งในด้านมาตรฐานการให้บริการการสื่อสารภาษาต่างประเทศเบื้องต้น และการขับขี่อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังได้ยกระดับประสบการณ์การเดินทางให้พิเศษยิ่งขึ้นผ่านบริการ GrabCar Premium ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมอบความสะดวกสบายสุดเอ็กซ์คลูซีฟให้กับนักท่องเที่ยวในทุกการเดินทาง

>> Environmentally Friendly การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก

การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นสำคัญที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ากว่า 90% ของนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน2 เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน แกร็บ จึงได้มุ่งพัฒนาและนำเสนอตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น การริเริ่มโครงการ Grab EV ที่ส่งเสริมให้พาร์ทเนอร์คนขับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการให้บริการเรียกรถ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสาร และการพัฒนาฟีเจอร์ชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่ผู้ใช้บริการสามารถร่วมบริจาคเงิน 2 บาทต่อการเดินทาง หรือ 1 บาทจากการสั่งอาหาร เพื่อนำไปปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอน ซึ่งจากการบริจาคเงินของผู้ใช้บริการในปี 2566 แกร็บสามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้เป็นจำนวนกว่า 150,000 ต้น 

>> Local Touch การผลักดันให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น

การดึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาพัฒนาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวถือเป็นกลยุทธ์ระดับชาติในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยจากการสำรวจพบว่า 65% ของนักท่องเที่ยวให้ความสนใจที่จะมาสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น3 ไม่ว่าจะเป็น การไปเทศกาลประจำจังหวัดต่าง ๆ การได้ลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน หรือการอุดหนุนสินค้าชุมชน ดังนั้น แกร็บ ในฐานะแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ประกอบการรายย่อย และพาร์ทเนอร์คนขับ จึงได้มุ่งสนับสนุนการเข้าถึงประสบการณ์ท้องถิ่นและวัฒนธรรมไทยในมิติต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจผ่านการทำหนังสือไกด์บุค Grab & Go ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การโปรโมทอาหารไทยเมนูเด็ดจากร้านอาหารรายย่อยผ่าน GrabFood และการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นฝีมือคนไทยผ่าน GrabMart เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเลือกซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นต้น

ภายในงานยังได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘พลิกโฉมประสบการณ์การท่องเที่ยวไทย สู่มาตรฐานใหม่ที่ยั่งยืน’ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ นายนิธิ สีแพร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นางสาวเพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการตลาด ด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นางสาวเมธิณี อนวัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจการเดินทางและบริหารพาร์ทเนอร์คนขับ แกร็บ ประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและหารือถึงแนวทางในการผลักดันท่องเที่ยวให้ตอบรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ทิศทางและอนาคตการท่องเที่ยวของประเทศไทย การกำหนดยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยของการท่องเที่ยว การสนับสนุนประสบการณ์ท้องถิ่นชูจุดเด่นซอฟต์พาวเวอร์ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างสมดุลระหว่างสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน GrabNEXT 2024 ได้ที่ grb.to/GrabNEXT2024

'บังโต' ลุยปั้นแบรนด์ 'เนื้อแท้' โกอินเตอร์ ปักธงกำไรร้อยล้าน ปูทางเข้าตลาดหุ้น

(16 พ.ค. 67) นายวีรชน ศรัทธายิ่ง CEO บริษัท คอมพานี บี จำกัด หรือ ‘โต ซิลลี่ฟูล’ อดีตนักร้องชื่อดัง ที่ผันตัวทำธุรกิจร้านอาหาร ภายใต้แบรนด์ ‘เนื้อแท้’ กล่าวว่า ตลาดร้านอาหารในประเทศมีการแข่งขันที่สูง สาเหตุหลัก ๆ มาจากจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากร้านอาหารในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนสูง ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคมีตัวเลือกหลากหลาย ต้องการความสะดวก รวดเร็ว อย่างไรก็ตามแม้ว่าการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารจะสูง แต่ทางเรามั่นใจในคุณภาพของร้านเนื้อแท้ ด้วยจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร เช่น เน้นคุณภาพของเนื้อ และสูตรอาหารเฉพาะ เน้นความอร่อยและคงรสชาติของเนื้อแท้

สำหรับปีนี้ คอมพานี บี มีแผนเปลี่ยนเนื้อวัวรูปแบบเดิมให้กลายเป็น ‘เนื้อแองกัส’ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เนื้อแท้, เนื้อแท้ Wok, The Beef Master, เซียนเตี๋ยว และเนื้อแท้บุชเชอรี่ และเนื้อแท้ Wok กะ Steak (เป็นสตรีทฟู้ดโมเดลใหม่ที่กำลังจะเปิดตัว) ทั้งหมด ภายใน 4-5 เดือนต่อจากนี้ ปัจจุบันบริษัท มีธุรกิจร้านอาหารในเครือ 7 แบรนด์ แบ่งเป็น 21 สาขาใหญ่ 8 สาขาย่อย รวมเป็น 29 สาขา และมีธุรกิจขายเนื้อสดอีก 1 แบรนด์ คือ เนื้อแท้บุชเชอรี่

นาย นภศูล รามบุตร ตำแหน่ง Operating executive บริษัท คอมพานี บี จำกัด กล่าวว่า ปี 2565 มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อวัว 360 ตัน ต่อมา ปี 2566 มีการนำเข้า 400 ตัน และล่าสุดปีนี้คาดว่าจะนำเข้าวัวแองกัส 700 ตัน จากการขยายสาขาอีก 4 สาขาใหญ่ และ 2 สาขาย่อยไปจนถึงสิ้นปีนี้ รวมถึงการเปิดรับกลุ่มลูกค้าที่สนใจในผลิตภัณฑ์ สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และลูกค้ารายย่อยทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 29 สาขา และจะเปิดให้บริการทั้งสิ้น 35 สาขาในปีนี้

ในอนาคต Wok กะ Steak อาจจะขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศด้วยกลยุทธ์ ‘แฟรนไชส์’ โดยเล็งเป้าไปที่ตลาดที่มีศักยภาพอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ตะวันออกกลาง ซึ่งในตลาดเหล่านี้กระตุ้นให้ Wok กะ Steak มองหาพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา กลยุทธ์นี้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ปลดล็อกศักยภาพ ของ Wok กะ Steak ผลักดันธุรกิจอาหารไทยก้าวสู่ แบรนด์ระดับภูมิภาค (Regional Brand)

สำหรับเป้าหมายในปีนี้ทำรายได้แตะ 750-800 ล้านบาท เติบโตจากปี 2566 ที่ทำรายได้ 500 ล้านบาท ส่วนแผนธุรกิจระยะยาวมุ่งสู่การระดมทุนในตลาดหุ้นไทย โดยตั้งเป้ารายได้ไม่ต่ำ 1,500 ล้านบาท และมีกำไร ‘ร้อยล้านบาท’ ส่วนไตรมาส 1 ที่ผ่านมาทำรายได้ 150 ล้านบาทแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากร้านอาหาร 70% และรายได้จากเนื้อสัตว์ 30%

ส่วนแผนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีแผนจะลงทุนก่อสร้างโรงงานเพิ่มเพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เติบโต อีกทั้งขยายสาขาของร้านอาหาร พัฒนาแบรนด์ใหม่ ๆ และเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับธุรกิจ

'CHANGAN' ตั้งเป้าปีหน้าใช้ชิ้นส่วนในไทย 60% ป้อนโรงงาน คว้า 'ไทยซัมมิท-ซัมมิท-อาปิโก้' รับงานล็อตแรก 2 หมื่นล้าน

เมื่อวานนี้ (16 พ.ค.67) นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซาท์อีสเอเชีย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อฉางอาน (CHANGAN) เปิดเผยว่า ได้จับมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทย เช่น ซัมมิท, ไทยซัมมิท และอาปิโก้ โดยได้มีการวางแผนจัดซื้อรวมกว่า 20,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตรถไฟฟ้ารุ่นแรกของเรา ซึ่งจะเริ่มผลิตในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปีหน้าด้วย

ล่าสุดบริษัทเข้าร่วมงาน Subcon Thailand 2024 เพื่อช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ โดยเฉพาะ SMEs ไทย ให้เข้าไปสู่ซัพพลายเชนกลุ่มอุตสาหกรรมของฉางอาน เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลกอีกด้วย

โดยงาน Subcon Thailand 2024 เป็นงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรม และจับคู่ธุรกิจชั้นนำของอาเซียน โดยปีนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสู่การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม โดยทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้นำ 7 ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า รายใหญ่ที่ลงทุนในไทยเข้าร่วมงาน และฉางอานได้มีโอกาสร่วมแชร์ประสบการณ์ และเผยถึงทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าผ่านกิจกรรม 'BOI Symposium : EV Supply Chain'

ปัจจุบันฉางอานมีการจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย 3 แห่ง มีการลงทุนมูลค่าสูงถึง 8.8 พันล้านบาท ในส่วนฐานการผลิตจังหวัดระยอง ซึ่งจะครอบคลุมกระบวนการการผลิตยานยนต์ทั้งหมดตั้งแต่การเชื่อม การพ่นสี การประกอบแบตเตอรี่ไปจึงถึงการประกอบขั้นสุดท้าย โดยระยะที่ 1 มีกำลังการผลิตอยู่ 100,000 คันต่อปี ในไตรมาสแรกของปี 2025 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 คันในปีถัดไป

ทั้งนี้ฉางอานวางเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่มากกว่า 15 รุ่นให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าชาวไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนธุรกิจ คือการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นซึ่งมุ่งเน้นไปที่การทำธุรกิจในต่างประเทศ มีความเปิดกว้าง และโปร่งใส เป้าหมาย คือ เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานสามารถให้บริการทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริษัทตั้งเป้าในการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 60% และสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นห่วงโซ่อุปทานรถที่ใช้พลังงานใหม่ (New Energy Vehicle-NEV) ในอุตสาหกรรมนี้ด้วย

หอการค้าต่างชาติฯ ฟันธงเศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับค่าแรงวันละ 400 ชี้!! ต้องเพิ่มทักษะคนก่อน หากยังขาดมีแต่จะฉุดจีดีพีไทยลงถึง 20%

(17 พ.ค. 67) BTimes เผย หอการค้าต่างประเทศในไทยแสดงจุดยืนค้านขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท หลังมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับค่าแรง 400 ต้องเสริมทักษะ

วีเบคก้า ริสซอน ไรเวอร์ก ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) เปิดเผยว่า ได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท โดยมีเนื้อหาในเอกสารว่า หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับข้อเสนอของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันทั่วประเทศเป็น 400 บาทในเดือนตุลาคมนี้ และมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้...

เศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมสำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างและนโยบายค่าแรงขั้นต่ำจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ถ้าไม่เป็นเงื่อนไขล่วงหน้า ก็จำเป็นต้องมีมาตรการสำหรับการเพิ่มผลิตภาพตามแผนงานที่กำหนดไว้ ไม่เช่นนั้น ก็จะกลายเป็นการจ่ายต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ได้งานเท่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ โดยไม่ได้ประโยชน์อื่นใดมากนัก การเพิ่มผลิตภาพในบางบริษัทที่มีขนาดเล็กอาจจะต้องใช้เวลามากกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า 

ขณะเดียวกัน นอกจากขนาดแล้ว ภูมิภาคและประเภทของอุตสาหกรรมยังอาจมีผลต่อความสามารถขององค์กรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอีกด้วย แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ รวมถึงการยกระดับเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ จะเป็นปัจจัยที่สำคัญ

นอกจากนี้ การขาดทักษะในการทำงาน ก็เป็นสาเหตุสำคัญของผลิตภาพที่ต่ำ รายงานธนาคารโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่าด้วยเรื่องทักษะแรงงานในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าการขาดทักษะพื้นฐานทำให้ GDP ลดลงได้ถึง 20% รายงานของธนาคารโลกเดือนมกราคม 2563 ที่สำรวจสถานะเศรษฐกิจไทย ได้กล่าวถึงผลิตภาพและให้ข้อเสนอแนะบางประการซึ่งค่อนข้างรุนแรง 

สำหรับ JFCCT มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพในประเทศไทยและประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้...

1. เศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมสำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ

2. ในการจะทำให้การเพิ่มผลิตภาพเป็นนโยบายหลัก จำเป็นต้องให้การศึกษาแก่ภาคธุรกิจ ต้องนำมาตรการกำกับดูแลและมาตรการบังคับมาใช้ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการด้านผลิตภาพ หรือ Productivity Commission

3. ต้องเสริมสร้างทักษะ เพิ่มขีดความสามารถทางเทคนิค และนวัตกรรม โดยการให้การศึกษาและการฝึกอบรม ให้ทุนหรือเงินอุดหนุนระดับสูง เพื่อนำเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ มาใช้

4. การพัฒนาแรงงาน (workforce development) จำเป็นต้องผสมผสานกันระหว่างการฝึกอบรมและเพิ่มทักษะให้คนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติได้อย่างเสรี 

5. การเปิดรับแรงงานต่างชาติจะช่วยยกระดับทักษะของแรงงานในประเทศ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งนี้ แนะนำให้ไทยปฏิรูประบบการอนุญาตทำงานและการให้วีซ่าแก่คนทำงานต่างชาติด้วย รวมทั้งการปรับปรุง LTR ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น

6. ขนาดเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน เช่น เกษตรกรรม การผลิต และการท่องเที่ยว จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป

รู้จัก EEC AUTOMATION PARK ผ่านมุมมอง 'ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์'

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้พูดคุยกับ อาจารย์ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ ผู้อำนวยการ EEC AUTOMATION PARK และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยบูรพา ถึงความก้าวหน้าในวงการออโตเมชันของประเทศไทย โดยอาจารย์ไพบูลย์ กล่าวว่า...

ออโตเมชันเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้าไปอยู่ในภาคผลิตของประเทศ ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการใช้แรงงานคน รวมถึงการนำเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาทำงานแทนคน โดยเปลี่ยนการทำงานของคนให้ไปควบคุมเครื่องจักรแทน 

ในส่วนของ EEC AUTOMATION PARK ซึ่งตั้งอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเห็นว่าประเทศไทยควรมีศูนย์เทคโนโลยีที่สามารถเผยแพร่และสร้างแรงบันดาลใจ สร้างการตระหนักรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับคนทั่วไปได้ จึงเกิดความร่วมมือขึ้นกับ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค (Mitsubishi Electric) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดตั้งศูนย์แสดงเทคโนโลยีเพื่อสร้างความเข้าใจในเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเทคโนโลยีที่จัดแสดงนั้นเป็นเรื่องใหม่ของ SME บริษัทและโรงงานขนาดกลางของคนไทย 

ปัจจุบัน EEC AUTOMATION PARK เปิดให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ และโรงงานว่าสามารถลดการใช้พลังงานได้อย่างไร และสามารถมอนิเตอร์การใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง พร้อมยังแนะนำการติดตั้งพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) เป็นต้น

ส่วนระบบออโตเมชัน มีความสำคัญในการลดโลกร้อนอย่างไร? อาจารย์ไพบูลย์ กล่าวว่า เราต้องยอมรับว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมันเกี่ยวข้องกับพลังงาน เมื่อมีการใช้พลังงานก็มีการเผาไหม้ เมื่อมีการเผาไหม้ก็ต้องปล่อยคาร์บอน เราควรมาดูเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนก่อน ซึ่งโรงงานในประเทศไทยมีการใช้เครื่องจักรมากมาย มีการใช้พลังงานจำนวนมากทำให้มีปล่อยคาร์บอนสูง 

ดังนั้นออโตเมชัน จะช่วยในส่วนแรก คือ เมื่อนำเอาระบบออโตเมชันมาติดตั้งในเครื่องจักรแล้ว สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้ loss และ Waste ลดลง ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ ส่วนที่สองเครื่องจักรต่างๆ ต้องมีมอเตอร์ซึ่งการเปลี่ยนรูปแบบของพลังงานจะมี loss ถ้าใช้มอเตอร์ประหยัดพลังงานหรือมอเตอร์ประสิทธิภาพสูงจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ ซึ่งการปล่อยคาร์บอนในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่...

1.การปล่อยคาร์บอนทางตรง เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง การสันดาปของรถยนต์ 
2.การปล่อยคาร์บอนทางอ้อม หรือการซื้อพลังงานมาใช้ เช่น โรงงานมีการซื้อพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการผลิต 
3.การปล่อยคาร์บอนทางอ้อมที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การเช่ารถมาเราจ่ายค่าเช่า แต่ไม่สามารถควบคุมการเดินทาง เส้นทาง หรือวิธีการขับได้ เป็นต้น จึงทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น

เคทีซีควงแขนซาฟารีเวิลด์ จัดกิจกรรม ‘KTC Fun & Friend Family Dy’ ชวน ‘อินฟลูเอนเซอร์สายท่องเที่ยวและครอบครัว’ สัมผัสประสบการณ์

(17 พ.ค. 67) นางสาววริษฐา พัฒนรัชต์ ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ นางสาวอัมพรศรี คิ้วคชา กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรม ‘KTC Fun & Friend Family Day @ Safari World’ ชวนอินฟลูเอนเซอร์ สายท่องเที่ยวและครอบครัวกว่า 30 คน ร่วมสัมผัสประสบการณ์ ‘คะแนนน้อยแลกได้’ กับการใช้คะแนน KTC FOREVER แลกบัตรเข้าชมซาฟารีเวิลด์ หรือแลกไอศกรีมโคน Soft Serve ยีราฟ ม้าลายและนกมาคอว์ ณ ซาฟารีเวิลด์ถนนรามอินทรา

ภายในงานเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ได้ร่วมกันป้อนอาหารยีราฟที่ Giraffe Zone และเพลิดเพลินกับ ‘Camp Kangaroo’ จุดแค้มปิ้งแห่งใหม่ในบรรยากาศธรรมชาติของทวีปออสเตรเลียหนึ่งเดียวในไทย รวมทั้งสัมผัสความน่ารักของน้องจิงโจ้อย่างใกล้ชิด พร้อมป้อนอาหาร ‘ข้าวโพดบาร์บีคิว’ และ โซน ‘Tree House Aviary & Kitchen’  สัมผัสนกเล็กสีสันสดใส Sun Conure กว่า 200 ตัว อย่างใกล้ชิด และป้อนอาหารนกแนวใหม่ในรูปแบบ ‘โคนไอศกรีม’ ซึ่งซาฟารีฯ ผลิตเองด้วยสูตรที่ผ่านการวิจัยโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านนก และสัตวแพทย์ของซาฟารีเวิลด์ ต่อด้วยการชมโชว์และความน่ารักของโลมา สิงโตทะเล นก และตื่นเต้นไปกับคาวบอยสตั๊นท์ แวะเก็บภาพน่ารักกับซุปเปอร์สตาร์แห่งซาฟารีฯ น้องลิงอุรังอุตังที่ ‘สตูดิโอธรรมชาติ’ ปิดท้ายกิจกรรมด้วย Special ‘Safari Feeding’ หนึ่งเดียวในไทย สัมผัสประสบการณ์ความตื่นเต้นเร้าใจบนรถ Feeding Truck กับการให้อาหารเสือและสิงโตสุดยอดนักล่า โดยมีเจ้าหน้าที่ซาฟารีฯ คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

อ.พงษ์ภาณุ ชี้!! 'ก๊าซเรือนกระจก-คาร์บอน' กำลังมีค่าเสมือนทองคำ แนะรัฐบาลเร่งส่งเสริมสังคมไทยเปลี่ยนคาร์บอนให้กลายเป็นเงิน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'เปลี่ยนคาร์บอนให้เป็นเงิน' เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

วันนี้คาร์บอนฯ ไม่ได้เป็นเพียงของเสียที่ทำให้โลกร้อนอีกต่อไป...

ความพยายามของประชาคมโลกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอิงกลไกตลาดในการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ได้ทำให้ก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งคาร์บอนมีคุณค่าเสมือนทองคำ หน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ของประเทศไทย มีการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการเปลี่ยนสภาพคาร์บอนให้เป็นเงินตราและ/หรือหลักทรัพย์

เป็นที่น่ายินดีที่วันนี้เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมได้ช่วยให้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เทคโนโลยีดูดกลับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage-CCS) ได้แสดงให้เห็นศักยภาพในการลดคาร์บอนในปริมาณมาก แม้จะยังคงมีต้นทุนค่อนข้างสูงอยู่ บริษัท ปตท.สผ. ได้ลงทุนจำนวนมหาศาลจัดทำระบบ CCS ที่แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ แหล่งอาทิตย์ กลางอ่าวไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดคาร์บอนไดอ็อกไซด์ได้ถึงประมาณ 700,000 ถึง 1 ล้านตันต่อปี นับเป็นโครงการ CCS โครงการแรกของประเทศไทย

โครงการภูมิปัญญาผ้าไทยลดโลกร้อน เป็นอีกโครงการที่สมควรกล่าวถึง ผ้าไทยทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายไทย ที่เกิดจากการถักทอของชาวบ้านทั่วประเทศ จากนี้ไปจะใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดเลิกการใช้สารเคมี และได้รับการรับรอง Carbon Footprint โดย อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) จะสามารถนำไปแสดงและวางขายในงานแสดงสินค้าในสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้ ซึ่งจะเป็นช่องทางการตลาดและรายได้ของชาวบ้านอย่างมากมาย นอกจากนี้ กระบวนการถักทอผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสามารถทำเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้เสริมให้ชาวบ้านอีกด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันคาร์บอนแห่งเอเชีย (Asia Carbon Institute-ACI) ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ที่สิงคโปร์ ได้ทำความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท Green Standards เพื่อวิจัยและพัฒนา Biochar ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ผ่านกระบวนการทางเคมี และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการดูดซับคาร์บอนจากอากาศและสามารถฝังลงใต้ดินเพื่อกักเก็บได้เป็นระยะเวลายาวนาน โครงการนี้นอกจากจะช่วยลดเลิกการเผาซากวัสดุการเกษตร ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังจะช่วยสร้างคาร์บอนเครดิตและรายได้เสริมให้เกษตรกรอีกด้วย

สิงคโปร์ภายใต้ทีมบริหารชุดใหม่ นำโดยนายกรัฐมนตรี Lawrence Wong ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอน (Carbon Trading Hub) ของเอเชีย 

ประเทศไทยซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานในด้านนี้ที่ดีพอสมควร ก็ไม่ควรที่จะรีรอที่จะเดินหน้าสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียในเรื่องการลดคาร์บอน รวมทั้งรัฐบาลให้การส่งเสริมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการลด/ยกเว้นภาษี การให้เงินอุดหนุน รวมทั้งการออกกฎหมายภาคบังคับ และการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ไทยเดินหน้าไปกับสิงคโปร์ในฐานะ Carbon Hub แห่งเอเชีย

'กลุ่ม ปตท.' เตรียมแผนถอนการลงทุนบนเกาะเคย์แมน  หลังโครงสร้างในอดีตเคยลงทุน ลั่น!! จากนี้ไม่ลงทุนเพิ่มเติม

เมื่อวานนี้ (19 พ.ค.67) รายงานข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2567 ปตท.ได้ตอบคำถามผู้ถือหุ้นประเด็นบริษัทยังมีการจดทะเบียนบริษัทย่อย หรือร่วมกับกิจการอื่นที่จดทะเบียนบริษัทในหมู่เกาะเคย์แมน หมู่เกาะเมอร์บิวด้า และประเทศในลักษณะเดียวกันหรือไม่

ปตท.ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.2567 กลุ่ม ปตท.มีบริษัทที่อยู่ในหมู่เกาะเคย์แมน จำนวน 21 บริษัท จากโครงสร้างเดิมของกิจการที่กลุ่ม ปตท.เข้าลงทุนในอดีต

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.มีนโยบายที่จะไม่ตั้งบริษัทในหมู่เกาะเคย์แทนเพิ่มเติม รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อปิดและถอนการลงทุนในหมู่เกาะเคย์แมนในอนาคต

รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมากลุ่ม ปตท.ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับบริษัทย่อยบนเกาะเคย์แมน โดยกลุ่ม ปตท.ยืนยันการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) 

รวมทั้งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสเพื่อให้บุคคลทั่วไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตั้งบริษัทบนเกาะเคย์แมนได้

นอกจากนี้เมื่อปี 2558 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท.ชี้แจงว่ามีบริษัทบนเกาะเคย์แมน 1 บริษัท ในนาม บริษัท Subic Bay Energy Co., Ltd. เพื่อดำเนินธุรกิจจัดหา จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเช่าคลังน้ำมันในฟิลิปปินส์ร่วมกับบริษัท Coastal Aruba Refining Company N.V. และจะปิดบริษัทเสร็จไตรมาส 1 ปี 2559

ขณะที่กลุ่ม ปตท.เคยมีการชี้แจงว่าบริษัทที่อยู่ในหมู่เกาะเคย์แมนเกิดจากการเข้าซื้อกิจการและต้องรับโอนบริษัทย่อยตามข้อตกลงกับผู้ร่วมทุนรายอื่น ซึ่งได้ปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศที่เกี่ยวข้องโดยชำระภาษีในไทยและในประเทศที่ลงทุนตามกฎหมาย และไม่มีการจัดตั้งบริษัทในเกาะเคย์แมนอีก

‘สภาพัฒน์’ เผย!! เศรษฐกิจไทยไตรมาสเเรก โต 1.5%  แรงบวกจากภาคท่องเที่ยว-การผลิตนอกภาคเกษตรขยายตัว

(20 พ.ค.67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มทั้งปี 67 พบว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทยในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ขยายตัว 1.5% สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะโตเพียง 0.7-0.8% 

ทั้งนี้ มีปัจจัยหลักมาจากการผลิตนอกภาคเกษตรขยายตัวจากบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการเกษตร ลดลง 3.5% และหมวดอุตสาหกรรมลดลง 3% ด้านการใช้จ่ายรัฐบาล ลดลง 2.1% และการลงทุนรวมลดลง 4.2% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ลดลง 27.7%

ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการ และการบริโภคอุปโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกสินค้า ลดลง 2%

ดังนั้น แนวโน้มทั้งปี 67 สภาพัฒน์ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมคาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2.2-3.2% ลดลงเหลือ 2-3% ค่ากลางการประมาณการ 2.5%

ทั้งนี้ เป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวเพียง 1.9% ในปี 2566 โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 4.5% และ 3.2% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.1 - 1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2% ของ GDP


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top