รู้จัก EEC AUTOMATION PARK ผ่านมุมมอง 'ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์'

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้พูดคุยกับ อาจารย์ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ ผู้อำนวยการ EEC AUTOMATION PARK และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยบูรพา ถึงความก้าวหน้าในวงการออโตเมชันของประเทศไทย โดยอาจารย์ไพบูลย์ กล่าวว่า...

ออโตเมชันเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้าไปอยู่ในภาคผลิตของประเทศ ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการใช้แรงงานคน รวมถึงการนำเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาทำงานแทนคน โดยเปลี่ยนการทำงานของคนให้ไปควบคุมเครื่องจักรแทน 

ในส่วนของ EEC AUTOMATION PARK ซึ่งตั้งอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเห็นว่าประเทศไทยควรมีศูนย์เทคโนโลยีที่สามารถเผยแพร่และสร้างแรงบันดาลใจ สร้างการตระหนักรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับคนทั่วไปได้ จึงเกิดความร่วมมือขึ้นกับ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค (Mitsubishi Electric) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดตั้งศูนย์แสดงเทคโนโลยีเพื่อสร้างความเข้าใจในเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเทคโนโลยีที่จัดแสดงนั้นเป็นเรื่องใหม่ของ SME บริษัทและโรงงานขนาดกลางของคนไทย 

ปัจจุบัน EEC AUTOMATION PARK เปิดให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ และโรงงานว่าสามารถลดการใช้พลังงานได้อย่างไร และสามารถมอนิเตอร์การใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง พร้อมยังแนะนำการติดตั้งพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) เป็นต้น

ส่วนระบบออโตเมชัน มีความสำคัญในการลดโลกร้อนอย่างไร? อาจารย์ไพบูลย์ กล่าวว่า เราต้องยอมรับว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมันเกี่ยวข้องกับพลังงาน เมื่อมีการใช้พลังงานก็มีการเผาไหม้ เมื่อมีการเผาไหม้ก็ต้องปล่อยคาร์บอน เราควรมาดูเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนก่อน ซึ่งโรงงานในประเทศไทยมีการใช้เครื่องจักรมากมาย มีการใช้พลังงานจำนวนมากทำให้มีปล่อยคาร์บอนสูง 

ดังนั้นออโตเมชัน จะช่วยในส่วนแรก คือ เมื่อนำเอาระบบออโตเมชันมาติดตั้งในเครื่องจักรแล้ว สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้ loss และ Waste ลดลง ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ ส่วนที่สองเครื่องจักรต่างๆ ต้องมีมอเตอร์ซึ่งการเปลี่ยนรูปแบบของพลังงานจะมี loss ถ้าใช้มอเตอร์ประหยัดพลังงานหรือมอเตอร์ประสิทธิภาพสูงจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ ซึ่งการปล่อยคาร์บอนในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่...

1.การปล่อยคาร์บอนทางตรง เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง การสันดาปของรถยนต์ 
2.การปล่อยคาร์บอนทางอ้อม หรือการซื้อพลังงานมาใช้ เช่น โรงงานมีการซื้อพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการผลิต 
3.การปล่อยคาร์บอนทางอ้อมที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การเช่ารถมาเราจ่ายค่าเช่า แต่ไม่สามารถควบคุมการเดินทาง เส้นทาง หรือวิธีการขับได้ เป็นต้น จึงทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น