Monday, 12 May 2025
Econbiz

'OR' เผยทิศทางขับเคลื่อนธุรกิจในต่างแดน ปักหมุด 'กัมพูชา' ดันไลน์ธุรกิจหลักเจาะโอกาสเปิด

(18 ต.ค.66) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ พร้อมด้วย นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ และนายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจต่างประเทศ ร่วมเปิดเผยถึงกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ โดยมุ่งเสริมความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ OR ดำเนินการอยู่ เพิ่มความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ เช่น การจำหน่ายก๊าซหุงต้ม (LPG) หรือยางมะตอย รวมถึงขยายธุรกิจในต่างประเทศร่วมกับพันธมิตรของ OR ไม่ว่าจะเป็น บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชัน จำกัด เจ้าของธุรกิจร้านสะดวกซักแบรนด์ Otteri Wash & Dry หรือ บริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด ตลอดจนโอกาสในการสร้างการเติบโตร่วมกันกับพันธมิตรในพื้นที่ผ่านการลงทุนใหม่ในรูปแบบต่างๆ ที่มีศักยภาพ โดยมุ่งเป้าเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของกลุ่มธุรกิจ Global เป็น 15% ในปี 2570 โดยมีรายละเอียดการขับเคลื่อนธุรกิจในแต่ละประเทศ ดังนี้

• กัมพูชา เป็นประเทศในการดำเนินธุรกิจของ OR ในต่างประเทศ เป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 เนื่องจากเป็นประเทศที่ OR ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดย ณ เดือนสิงหาคม 2566 OR ดำเนินธุรกิจทั้งกลุ่มธุรกิจ Mobility ได้แก่ การจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการ PTT Station ซึ่งมีอยู่ 169 สาขา มีคลังเก็บผลิตภัณฑ์ 7 แห่ง และธุรกิจหล่อลื่น PTT Lubricants รวมทั้งได้ร่วมลงทุนในบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) เพื่อให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี 2567 ส่วนกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ได้แก่ ร้าน Café Amazon ซึ่งมีอยู่ 231 สาขา และร้านสะดวกซื้อ 65 สาขา เป็นต้น โดย OR ยังมีแผนลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ อาทิ คลังน้ำมันและก๊าซ LPG โรงงานผสมยางมะตอย รวมถึงแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจพลังงานอื่นๆ อาทิ Battery Swapping และสถานีชาร์จไฟฟ้า EV station Pluz

• ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่ OR เข้าไปดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2540 โดย ณ เดือนสิงหาคม 2566 มีสถานีบริการ PTT Station อยู่ 168 สาขา มีคลังน้ำมัน 4 แห่ง และร้าน Café Amazon 17 สาขา จำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่น PTT Lubricants  รวมถึงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่สนามบินในประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย

• สปป.ลาว ณ เดือนสิงหาคม 2566 OR มีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station รวม 54 สาขา ศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto และ Procheck รวม 9 สาขา จำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่น PTT Lubricants รวมถึงมีร้าน Café Amazon 87 สาขา ร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ 28 สาขา ร้านชานม Pearly Tea 5 สาขา และอยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับการปลูกและค้าเมล็ดกาแฟร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่น โดยเน้นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า

• เวียดนาม OR ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจร้าน Café Amazon ในเวียดนาม ซึ่ง ณ เดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวน 22 สาขา รวมถึงศึกษาเกี่ยวกับโอกาสในการค้าเมล็ดกาแฟร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่น โดยเน้นกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า อีกทั้งยังคงแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจอื่นๆ เพื่อการเติบโตในอนาคต เช่น การค้า LNG และ LPG ในเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังมีแผนการขยายร้าน Café Amazon ไปในประเทศอื่นๆ ได้แก่ โอมาน ซึ่งมีแผนเปิดร้าน Café Amazon อีก 4 สาขาในปีนี้ และเพิ่มเป็น 19 สาขาในปี 2567 มาเลเซีย ซึ่งมีร้าน Café Amazon 2 สาขาในปีนี้ และเพิ่มเป็น 10 สาขาในปี 2567 และ ญี่ปุ่น ซึ่งมีแผนเปิดร้าน Café Amazon เพิ่มเป็น 3 สาขาในปี 2567 อีกด้วย

“ทั้งหมดนี้เกิดจากความมุ่งมั่นของ OR ในการขยายฐานการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความสำเร็จและการยอมรับในตลาดโลก โดยนำความสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยไปปรับใช้ในต่างประเทศ ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ OR มีอยู่จากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยมีการศึกษารูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมในแต่ละประเทศเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันกับสังคม ชุมชน และเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพื่อขยายความสำเร็จออกไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก” นายดิษทัต กล่าวเสริมในตอนท้าย

‘สนค.’ เล็งเจาะตลาดอ่าวอาหรับ หวังเพิ่มโอกาสให้การค้าไทย หลัง ‘รถ-ยาง-เครื่องประดับแท้-ไก่-ข้าว’ นำกลุ่มส่งออกโตต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์ตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ 6 ประเทศ (Gulf Cooperation Council : GCC) ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, โอมาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์ และบาห์เรน เพื่อหาโอกาสสำหรับการเปิดตลาดใหม่เพิ่มเติมตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ โดยเน้นตลาดใหม่ ที่มีกำลังซื้อสูง แต่ยังมีมูลค่าการค้ากับไทยไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะหาโอกาสขยายการค้าในตลาดใหม่

สนค. พบว่า กลุ่ม GCC ถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกกลาง มูลค่าจีดีพีของกลุ่มประเทศ GCC คิดเป็นสัดส่วน 46.7% ของจีดีพี รวมของภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงทุกประเทศมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยสูงกว่าไทย โดยในปี 2565 กาตาร์ เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 88,046 เหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าไทยถึง 12.7 เท่า และมีจำนวนประชากรรวม 58.9 ล้านคน ใกล้เคียงจำนวนประชากรของไทย โดยซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศมีประชากรมากที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC คิดเป็น 61% ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มประเทศ GCC สำหรับการค้าระหว่างประเทศ แหล่งนำเข้าสำคัญของกลุ่มประเทศ GCC 3 ลำดับแรก คือ จีน, อินเดีย และสหรัฐฯ โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 19 คิดเป็น 1.4% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

แม้ว่าปัจจุบันไทยส่งออกไปยังตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้ไม่มาก แต่สินค้าไทยยังมีโอกาสเข้าถึงตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้อีก จากข้อมูลการส่งออกของไทย 8 เดือนแรกของปี 2566 ไปยังกลุ่มประเทศ GCC มีมูลค่ารวม 4,588 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็น 2.4% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดจากไทยไปโลก โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศ GCC 44.6% และ 37.3% ตามลำดับ ซึ่งตลาดส่งออกรองลงมา คือ คูเวต, โอมาน, กาตาร์ และบาห์เรน ตามลำดับ

โดยมีสินค้าส่งออกหลัก เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไฟเบอร์บอร์ด เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับในระยะต่อไป สนค. มองว่าไทยมีสินค้าศักยภาพหลายรายการที่มีโอกาสเจาะตลาดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้เพิ่มเติม โดยสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกเพิ่มเติม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าดาวเด่น, สินค้าศักยภาพ และสินค้าแนะส่งเสริม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สินค้าดาวเด่น เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยในกลุ่มประเทศ GCC ที่มีแนวโน้มเติบโตดี สะท้อนว่าตลาดยังมีความต้องการ โดยใน 8 เดือนแรกของปี 2566 ประเทศไทยส่งออก ‘รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ’ สัดส่วน 37% ของสินค้าส่งออกไทยไปกลุ่มประเทศ GCC ทั้งหมด ขยายตัวสูงถึง 17.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และส่งออก ‘ยางยานพาหนะ’ สัดส่วน 4.1% ขยายตัว 19.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยในปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งตลาด รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 5.6% และ ยางยานพาหนะที่ 7.4% ซึ่ง สนค. มองว่าสินค้าดังกล่าวยังมีโอกาสขยายการส่งออกและขยายส่วนแบ่งตลาดได้อีก

สินค้าศักยภาพ เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ แต่มีส่วนแบ่งของไทยในตลาดกลุ่มประเทศ GCC ต่ำกว่าส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 1.1% เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ 4.3% ขณะที่การส่งออกใน ช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 ขยายตัวที่ 1.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และ เครื่องประดับแท้ ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 1.9% เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ 5% ขณะที่การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 เพิ่มขึ้น 14.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สินค้าแนะส่งเสริม เป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ แต่กลุ่มประเทศ GCC ยังนำเข้าจากไทย ค่อนข้างน้อย หรือมูลค่าการนำเข้าจากไทยมีไม่ต่อเนื่อง จึงเป็นสินค้าไทยที่แนะนำให้เข้าไปเปิดตลาดใหม่ ได้แก่ ‘ไก่’ และ ‘ข้าว’ อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ตลาดใหม่ในสินค้าดังกล่าวเป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งจากคู่แข่งทางการค้าเดิม ที่มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูง และมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบในกลุ่มประเทศที่ค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มประเทศอื่น

“ตลาดกลุ่มประเทศ GCC เป็นตลาดที่น่าจับตามอง แต่ไทยยังมีการค้ากับประเทศเหล่านี้ค่อนข้างน้อย มีโอกาสเข้าสู่ตลาดนี้ได้อีกมาก นอกจากนี้ ไทยมีสินค้าที่มีศักยภาพหลายรายการที่สามารถเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มนี้เพิ่มเติม จากการวิเคราะห์ด้วย ‘Data Analytics Dashboard’ แม้ปัจจุบัน ไทยจะส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังกลุ่มประเทศ GCC เป็นหลัก หรือมากกว่า 88% ของมูลค่าการส่งออกจากไทย แต่จะเห็นได้ว่าไทยมีศักยภาพเจาะตลาดสินค้าเกษตรและอาหารด้วย โดยเฉพาะสินค้าไก่และข้าว

ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาดว่าจะสรุปผลการเจรจาได้ในปี 2566 นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ดีขึ้นอย่างมากหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน อีกครั้ง กระทรวงพาณิชย์มีแผนเจรจา FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ GCC ในอนาคตอีกด้วย” นายพูนพงษ์ กล่าว

'บางกอก เชน ฮอสปิทอล' โชว์กำไร 3 ปีโกยหมื่นล้าน รับ!! ธุรกิจโรงพยาบาลแบบกลุ่มสร้างแต้มต่อกว่าแบบเดี่ยว

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 21 ต.ค.66 ได้พูดคุยกับ ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินกิจการโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และโรงพยาบาลการุญเวช ถึงสถานการณ์โรงพยาบาลเอกชนและสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

ภาพรวมของโรงพยาบาลเอกชน มีลักษณะธุรกิจที่เติบโตไปได้เรื่อยๆ เหตุผลก็คือ การรักษาพยาบาล เป็นปัจจัยสี่เรื่องความเจ็บป่วย และการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนไทยป่วยเป็นโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs หรือ non-communicable diseases) กันเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นธุรกิจ Healthcare จึงเติบโต โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เปิดประเทศแล้ว ซึ่งในรอบ 6 เดือน มีผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งจากสถิติเป็นผู้ป่วยทางยุโรปและเอเชีย

เมื่อถามถึงแนวโน้มการดูแลสุขภาพในปัจจุบัน นพ.เฉลิม กล่าวว่า "คนไทยป่วยมากขึ้น อาจเป็นเพราะไม่ได้ออกกำลังกาย ทานอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่มีโอกาสในการดูแลตัวเองมากนัก ประกอบกันมีโรคแปลกๆ มากขึ้น หรือโรคที่หายไปนานแล้วกลับมาเป็นกันใหม่ในปัจจุบันอย่างเช่น โรควัณโรค เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลสุขภาพตัวเองตลอด คนป่วยไม่ได้ลดลง ส่วนชาวต่างชาติที่มาใช้บริการโรงพยาบาลในเครือ ส่วนใหญ่จะมาใช้บริการศูนย์รักษาเฉพาะทาง เช่น ศูนย์รักษาโรคเบาหวาน โรคความดันและหลอดเลือด โรคไต โรคหัวใจ ซึ่งเหตุผลที่ต่างชาติเลือกรักษากับเรา เนื่องจากมั่นใจในคณะแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันออกกลาง"

เมื่อถามถึงผลประกอบการ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) นพ.เฉลิม เผยว่า "เมื่อปี พ.ศ. 2564 เราสามารถทำกำไรสุทธิไปมากถึง 6,800 ล้านบาท ส่วนในปี พ.ศ. 2565 ทำกำไรสุทธิประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2566 นี้ น่าจะเป็นปีที่ทางบริษัทฯ ทำกำไรได้สูงสุด"

ส่วนความท้าทายของการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบัน นพ.เฉลิม มองว่า "ปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแบ่งได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.กลุ่มโรงพยาบาลที่มีลักษณะเป็นเครือข่าย และ 2.โรงพยาบาลเดี่ยว โดยกลุ่มโรงพยาบาลที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายมีแนวโน้มที่เพิ่มกำลังขยายได้มากขึ้น เนื่องจากมีประสบการณ์มากกว่า ต้นทุนต่ำกว่า ทำให้มองเห็นตลาดได้กว้างกว่า โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องเครื่องมือและเทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัย ส่วนโรงพยาบาลเดี่ยวที่เข้ามาในตลาดความแข็งแรงของธุรกิจอาจสู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการแข่งขันจะรุนแรงไปเรื่อยๆ สรุปแล้วกลุ่มโรงพยาบาลจะได้เปรียบมากกว่าโรงพยาบาลเดี่ยว"

ส่วนอุปสรรคในการบริหารโรงพยาบาล คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในประเด็นสมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์จากหน่วยงานรัฐ ย้ายมาทำงานในภาคเอกชน ซึ่งเคยมีข้อเสนอจากโรงพยาบาลเอกชน ที่ยินดีสนับสนุนทุนการศึกษาให้แพทย์เรียนจนจบ จะไม่ได้เกิดปัญหาว่าแพทย์จากหน่วยงานรัฐ ย้ายมาทำงานในภาคเอกชน 

"เรายินดีสนับสนุน ซึ่งจริงๆ แล้ว โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่จะไม่รับแพทย์จบใหม่ แต่จะรับแต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะปัจจุบันนี้วงการสาธารณสุขไทยไม่ได้ขาดแคลนเฉพาะแพทย์ ยังขาดแคลนพยาบาล เทคนิคการแพทย์ และอื่นๆ อีกมาก เรียกได้ว่าขาดแคลนเกือบทั้งหมด" นพ.เฉลิม กล่าว

ปตท. จับมือ เมตรอน รุกธุรกิจแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงาน หวังยกระดับอุตสาหกรรมไทย สู่ ‘อุตสาหกรรม 4.0’

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือในธุรกิจแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management Platform) ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เมตรอน เอเชียแปซิฟิก จำกัด (เมตรอน) โดยมี นางสุณี อารีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ตลาดค้าปลีกและวิศวกรรมก๊าซธรรมชาติ ปตท. และ Mr. Vincent Sciandra ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมตรอน เอเชียแปซิฟิก จำกัด เป็นผู้ลงนาม เพื่อขยายตลาดเอนเนอร์ยี่โซลูชั่นส์ในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยี Advanced Energy Intelligence Platform เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย และตอบสนองนโยบายภาครัฐตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

ม.ล. ปีกทอง กล่าวว่า “ปตท. และ เมตรอน มุ่งมั่นในการพัฒนา Energy Management Platform เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการจัดการพลังงานให้กับลูกค้าภาคอุตสาหกรรมของ ปตท. ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุนและใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการพลังงานขั้นสูงของเมตรอน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 และเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนนโยบายที่จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมให้กับประเทศไทยในเวทีโลก”

Mr. Vincent เผยว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นขยายตลาดการให้บริการระบบ Energy Management and Optimization Solution (EMOS) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการให้บริการและสนับสนุนด้าน Digital Solutions เพื่อให้ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมของ ปตท. สามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตอีกด้วย”

ทั้งนี้ ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่าง ปตท. และ เมตรอน ถือเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม โดยได้เริ่มใช้ระบบการจัดการพลังงานให้กับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กแล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือเพื่อยกระดับมาตรฐานสำหรับการพัฒนาการจัดการพลังงานอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

‘รัฐ’ ดีเดย์ 15 ม.ค.67 แจกโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คุณสมบัติ ‘ถือ ส.ป.ก.4-01-ทำประโยชน์ไม่น้อยกว่า 5 ปี’

(19 ต.ค.66) นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล โฆษกคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ที่ประชุม กมธ.ที่ดินฯ วานนี้ (18 ต.ค.) มีวาระการพิจารณาเรื่อง ‘นโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการปรับปรุงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม’ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ติดตามการผลักดันนโยบายของรัฐบาล โดยคณะกรรมาธิการได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อมูลได้แก่ ตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และตัวแทนจากกรมที่ดิน ร่วมให้ข้อมูล 

ประเด็นสำคัญในหลักการการดำเนินนโยบาย อาทิ เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ คปก. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกับการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 การจัดทำร่างระเบียบเพื่อกำหนดรูปแบบและนิยามโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับการจัดที่ดินซึ่งเป็นเกษตรกรที่ถือครอง ส.ป.ก.4-01 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี กำหนดวิธีการจัดที่ดินโดยจะเป็นการจัดที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมตามการจำแนกพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดหลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงผู้ทำประโยชน์ โดยให้สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด และจำนวนเนื้อที่การถือครองยังคงเป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด คือ เกษตรกรรมไม่เกิน 50 ไร่ และการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ไม่เกิน 100 ไร่

รวมถึงการดำเนินการออกโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรก จะสามารถแจกให้เป็นจังหวัดต้นแบบได้ภายในวันที่ 15 มกราคม 2567 เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องเกษตรกร และ ส.ป.ก. จะดำเนินการในการออกเอกสารสิทธิในรูปแบบโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในทุกจังหวัดภายใน 1 ปี และจะดำเนินการปรับปรุงเอกสารสิทธิให้กับเกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบภายใน 5 ปี

นายฐิติกันต์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการ มีข้อสังเกตว่า โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คือ ที่ดินที่ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ มีความต่างกับโฉนดที่ดินของกรมที่ดิน เรื่องหลักกรรมสิทธิ์ ส่วนโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่เป็นนโยบายรัฐบาลนั้น เป็นเพียงแค่สิทธิ์ แต่พยายามทำให้มีการเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ์เหมือนกันกับโฉนดที่ดิน และมีการจํากัดว่าคนที่จะมาถือสิทธิ์ต้องครอบครอง ส.ป.ก.4-01 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี การยกระดับสิทธิ์และพัฒนาสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. เพิ่มจากเดิมที่ให้เพียงสิทธิการเข้าทำประโยชน์ ไม่สามารถซื้อ ขาย เปลี่ยนมือ โอนไปยังบุคคลอื่นได้

กรรมาธิการฯ ยังกังวลถึงเรื่องข้อพิพาทจากการประกาศแนวเขตปฏิรูปที่ดินที่ไม่ชัดเจนและทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินประเภทอื่น อาทิ แนวเขตป่าไม้ ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินราชพัสดุ เพราะฉะนั้นก่อนจะมีนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากหากดำเนินการไปแล้วอาจทำให้ปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่ซับซ้อนขึ้นไปอีก ซึ่งทางกรรมาธิการยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

อีกทั้งกังวลเรื่องวิธีการตรวจสอบคุณสมบัติและวิธีการดำเนินการกับนายทุนผู้ที่ครอบครองพื้นที่เกินกว่านโยบายและ จะทวงคืนอย่างไร รวมถึงมีแนวทางติดตามและตรวจสอบการเปลี่ยนมือที่ดินหลังจากการดำเนินนโยบายอย่างไร ซึ่งทางคณะกรรมาธิการจะติดตามข้อมูลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง 

‘อนุทิน’ ชู!! ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ สู่เมืองคาร์บอนต่ำ ปั้นอุตฯ ไร้มลพิษ ปูทางเมือง ศก.เทียบชั้น ‘บุรีรัมย์’

‘มท.1’ ประชุมหารือร่วมสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย-ผู้ว่าฯ สระบุรี ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการจังหวัดต้นแบบ ‘PPP - สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ ย้ำ!! สิ่งแวดล้อมเป็นวาระสำคัญระดับชาติ พร้อมสนับสนุนสระบุรีเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

(19 ต.ค. 66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการประชุมเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ที่ทุกคนให้ความสำคัญ ผ่านการขับเคลื่อนโครงการจังหวัดต้นแบบ ‘PPP - สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ 

นายอนุทิน เผยว่า “ทุกฝ่ายต่างรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมพบปะหารือร่วมกันกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย ในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมตามที่ได้ประกาศในเวทีสหประชาชาติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ในปัจจุบันนับว่าเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนให้ความสำคัญ และตระหนัก พร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่” 

นายอนุทิน กล่าวอีกด้วยว่า การขับเคลื่อนโครงการจังหวัดต้นแบบ ‘PPP - สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ’ จะทำให้จังหวัดสระบุรี มีการพัฒนา และยกระดับก้าวไปสู่จังหวัดเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ในลักษณะเดียวกับจังหวัดบุรีรัมย์ ที่จากเคยเป็นเมืองที่ไม่มีอะไร (Hopeless) จนกลายมาเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทย และภูมิภาคแห่งนี้

“การเริ่มโครงการจังหวัดต้นแบบที่จังหวัดสระบุรี สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะต้องร่วมทำด้วยกัน ไม่ใช่การทำเพียงเจ้าใดเจ้าหนึ่ง เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดมาจากอุตสาหกรรมในภาพรวม จึงเป็นสิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ โดยต้องหาแนวทางอำนวยความสะดวกต่างๆ และลดความซ้ำซ้อนอุปสรรค (Red tape) ให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนต้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจให้ชาวบ้าน ให้ทุกคนในพื้นที่รับรู้รับทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากพัฒนาเมืองให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นบ้านเมืองที่เป็น Smart City ด้วยแนวคิด ‘ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที’” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กล่าว

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเน้นย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีนโยบายสำคัญคือ การจัดการขยะที่ยั่งยืน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการสิ่งปฏิกูลในแม่น้ำลำคลอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐของทุกจังหวัดนำปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) ตามมาตรฐาน และคุณลักษณะ ใช้ในโครงสร้างอาคาร ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โดยการดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในจังหวัดนำร่องนั้น ทุกจังหวัดสามารถดำเนินการได้ทันทีตามกรอบแนวทางของแต่ละจังหวัดที่ได้กำหนดไว้แล้ว เพียงแต่อาจมีชื่อโครงการไม่เหมือนกัน เพราะในความเป็นจริงทุกจังหวัดต่างให้ความสำคัญ และขับเคลื่อนภารกิจโดยมีเป้าประสงค์เดียวกันคือ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้แนวทางการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน และจังหวัด/อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 

ดังนั้น เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ รวมถึงการร่วมส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ควบคู่กับการเก็บข้อมูล เพื่อเปรียบเทียบคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต รวมถึงการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้การมีระบบบำบัดน้ำเสียในอาคารบ้านเรือนที่สร้างใหม่ทุกหลังเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน เพื่อช่วยลดโลกร้อน ตลอดจนถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ Eco Tour เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน

'พีระพันธุ์' ถก 'รัสเซีย' ซื้อ 'น้ำมัน-ก๊าซ-ถ่านหิน' ราคาถูก ด้าน ‘รัสเซีย’ ยืนยัน!! พร้อมสนับสนุนแบบครบวงจร

(19 ต.ค.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หารือแบบทวิภาคีกับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานของสหพันธรัฐรัสเซีย (นายเซอร์เก โมคานิคอฟ) และ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย (นายเยฟกินี โทมิคิน) หลังเป็นประธานในการประชุม The 3rd APEF วันนี้ (19 ต.ค. 66) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เพื่อหาทางในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างกันและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ 

การหารือครั้งนี้เป็นไปในทิศทางที่ดี โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซีย แจ้งว่าพร้อมสนับสนุนไทยด้านพลังงานแบบครบวงจร ทั้งในส่วนของทรัพยากรพื้นฐาน อาทิ ถ่านหิน น้ำมัน และ อื่น ๆ รวมทั้งด้านวิชาการ การลงทุนในการสร้างระบบผลิตพลังงานรูปแบบต่าง ๆ และการร่วมเป็นหุ้นส่วนทางการลงทุน โดยเสนอให้มีการจับคู่ธุรกิจด้านพลังงานระหว่างภาคเอกชนในประเทศไทยและสหพันธรัฐรัสเซีย และคาดหวังให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงเสนอให้ผู้แทนจากประเทศไทยเข้าสังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงาน รัฐบาลรัสเซียพร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกนักธุรกิจชาวไทยในการเดินทางเข้าไปประกอบธุรกิจด้านพลังงานร่วมกับรัสเซีย และเชิญรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปเยือนรัสเซีย เพื่อหารือเพิ่มเติมต่อไปด้วย 

จากนั้น นายพีระพันธุ์ ได้พบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงไฟฟ้า พลังงาน และทรัพยากรธรณีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ และร่วมหารือในประเด็นความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและบังกลาเทศ โดยหวังว่าจะมีความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมพลังงานต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ในช่วงเช้า นายพีระพันธุ์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เป็นประธานในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านพลังงานแห่งเอเชียและแปซิฟิกครั้งที่ 3 (The Third Asian and Pacific Energy Forum: The 3rd APEF) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะ ‘ประธานฯ The 3rd APEF’

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำระหว่างเปิดการประชุมว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญและส่งเสริมการดำเนินการเพื่อผลักดันนโยบายพลังงานสะอาดร่วมกับประเทศสมาชิก โดยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงแหล่งพลังงาน และการสร้างมาตรฐานราคาพลังงานที่เป็นธรรม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการประชุม The 3rd APEF ที่จัดขึ้นเพื่อทบทวน รายงาน รวมถึงติดตามความคืบหน้า ในการพัฒนาการการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 7 (SDG7) ประเด็นเรื่องการสร้างหลักประกันการเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่อย่างยั่งยืนและเชื่อถือได้ ในราคาที่ซื้อหาได้ 

‘พิมพ์ภัทรา’ เตรียมประกาศมาตรฐาน ‘เครื่องวัดปริมาณแอลฯ จากลมหายใจ’ รับนโยบายรัฐ ‘ขจัดเมาแล้วขับ’ คาด!! ประกาศใช้จริงภายใน 2 เดือน

(19 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนได้เตรียมประกาศมาตรฐาน ‘เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ’ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้านการเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ตลอดจนส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้อ้างอิงในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยเฉพาะนักดื่มสายแข็งที่เมาแล้วขับ และมักจะร้องเรียนกล่าวหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ บอร์ด สมอ. ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า นอกจากบอร์ดจะเห็นชอบมาตรฐาน ‘เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ’ แล้ว ยังเห็นชอบแผนการจัดทำมาตรฐานของ สมอ. ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่เสนอทั้งหมด 600 มาตรฐาน แบ่งเป็นมาตรฐานกำหนดใหม่ 443 มาตรฐาน และมาตรฐานเดิมที่ต้องทบทวนให้ทันสมัยอีก 157 มาตรฐาน ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve 105 มาตรฐาน เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ กลุ่ม New S-curve 120 มาตรฐาน เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์  เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร ฯลฯ กลุ่มมาตรฐานตามนโยบาย 32 มาตรฐาน เช่น นวัตกรรม สมุนไพร ฯลฯ กลุ่มส่งเสริมผู้ประกอบการ 163 มาตรฐาน และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ 23 มาตรฐาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ฯลฯ

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐาน ‘เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ’ มีข้อกำหนดที่สำคัญ เช่น วัดความเที่ยงตรงแม่นยำของเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ โดยการฉีดก๊าซเข้าเครื่องวัดแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องซ้ำ ๆ 20 ครั้ง เพื่อจำลองลมหายใจของผู้ขับขี่ ต้องได้ค่าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่อ่านได้จากเครื่องวัดที่มีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ในเกณฑ์การยอมรับของเครื่องมือ คือ ไม่เกิน 4 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยกำหนดปริมาณลมที่หายใจออก ต้องไม่น้อยกว่า 1.2 ลิตร และเวลาที่หายใจออกต้องไม่น้อยกว่า 5 วินาที เครื่องวัดแอลกอฮอล์ต้องจัดเก็บข้อมูลผลการวัดสำหรับการใช้งาน และสามารถเรียกดูได้แต่ไม่สามารถปรับแก้ไขข้อมูลได้ และแสดงผลเป็นตัวเลขที่ถูกต้องชัดเจน เป็นต้น คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานนี้ได้ภายใน 2 เดือน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้” นายวันชัยฯ กล่าว

‘ธนกร’ มั่นใจ!! รัฐบาลเศรษฐาเดินหน้า ‘แลนด์บริดจ์’ ต่อจากลุงตู่ ชี้!! ช่วยดึงเงินลงทุนมหาศาล ดันไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์โลก

(20 ต.ค. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรีและครม. เดินหน้าศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ ถือเป็นเมกะโปรเจกต์ตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการวางรากฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของโลก เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการขนส่งสินค้าและบริการ การท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม และยังกระจายความเจริญไปสู่ภาคใต้และภาพรวมของประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่า แลนด์บริดจ์หากเปิดใช้ระยะแรกในปี 73 จะแก้ปัญหาความแออัดของการขนถ่ายสินค้าได้มากน้อยแค่ไหน นายธนกร กล่าวว่า คาดการณ์ไว้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ ทั้ง 2 ระยะ (เฟส) โดยระยะที่ 1 ประมาณมูลค่าการลงทุน รวมทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท รองรับสินค้า 20 ล้านทีอียู จะส่งเสริมประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ทั้งท่าเรือ รถไฟ และมอเตอร์เวย์ กระจายสินค้าในภูมิภาค เปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการเดินเรือและการขนส่งสินค้าทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะลดระยะทางและเวลาขนส่งลงได้ 4 วัน เมื่อเทียบจากช่องแคบมะละกา จึงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยเน้นรับเรือฟีดเดอร์ ขนาด 8,000-9,000 ทีอียู สินค้าประเภทถ่ายลำ เพื่อเป็นเกตเวย์ เชื่อมการขนส่งสินค้า จากยุโรป-แลนด์บริดจ์-จีน กลายเป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ สามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา สร้างรายได้ให้กับพื้นที่และประเทศอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ มีทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการระบบรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ระนอง และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร-ระนอง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

“พล.อ.ประยุทธ์ ได้วางโครงการแลนด์บริดจ์ไว้ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ต้องการให้ไทย เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย มั่นใจว่า แลนด์บริดจ์ จะพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC ให้ เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพและยกระดับรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างมาก หากรัฐบาลสานต่อจนสำเร็จ จะเป็นการเปลี่ยนทิศทางการขนส่งของโลก พุ่งเป้ามาที่ไทยให้กลายเป็นฮับทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ เชื่อมโยงกับที่รัฐบาลชุดก่อนที่ได้ทำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จนสำเร็จมาแล้ว” นายธนกร กล่าว

‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ซีอีโอ EA คว้ารางวัล ‘บุคคลคุณภาพแห่งปี 2023’ เชิดชูการริเริ่ม-ยกระดับธุรกิจพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมที่โดดเด่น

เมื่อไม่นานมานี้ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) รับโล่เชิดชูเกียรติคุณ ‘บุคคลคุณภาพแห่งปี 2023’ (QUALITY PERSONS OF THE YEAR 2023) สาขาภาคธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ในฐานะเป็นบุคคลตัวอย่างที่มุ่งมั่นทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม โดยเป็นผู้ริเริ่มและยกระดับธุรกิจพลังงานสะอาดด้วยผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่น ด้านพัฒนากลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน, ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจแบตเตอรี่ ลิเธียม ไอออน, ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และสถานีชาร์จ EA Anywhere สู่การสร้างโครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถโดยสาร EV ระหว่างไทยกับสมาพันธ์รัฐสวิส โครงการแรกในโลก พร้อมจัดให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งต่อให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กว่า 12,800 คน ใน 280 หน่วยงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

โดยได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี ประธานในพิธีมอบโล่รางวัลประกาศเกียรติยศ ซึ่งจัดขึ้นโดย มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) เป็นองค์กรเพื่อการกุศลสาธารณะ จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมยกย่องบุคคลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน และทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ควรค่าแก่การส่งเสริมเพื่อประกาศเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ มาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top