Monday, 12 May 2025
Econbiz

ศาลฯ เห็นชอบเเผนฟื้นฟูกิจการ 'ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์' เริ่มจ่ายคืนเงินผู้โดยสาร-เจ้าหนี้ช่วงโควิด พร้อมเพิ่มฝูงบินในปี 71

(1 ก.ย. 66) รายงานจากสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดเผยว่า ตามที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ซึ่งได้รับการแก้ไขตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นที่เรียบร้อยเเล้ว เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เตรียมนำเครื่องเข้าประจำการฝูงบิน ขยายเส้นทางใหม่ เพิ่มกระเเสเงินสดและรายได้ ควบคู่การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะสามารถเริ่มทยอยจ่ายหนี้เเละคืนเงินตามคิวให้กับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากความจำเป็นในการยกเลิกเที่ยวบินช่วงโควิดได้ ตามแผนที่วางไว้

นายธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า การที่ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้รับความเห็นชอบด้วยแผนการฟื้นฟูกิจการ ในฐานะตัวแทนของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ขอขอบคุณการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ทุก ๆ ราย และคำสั่งของศาลล้มละลายกลางในครั้งนี้

ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญอีกก้าวหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ดำเนินการมาในทิศทางที่ถูกต้อง พร้อมแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการที่ดี เป็นประโยชน์ทั้งต่อเจ้าหนี้และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจในการให้บริการ พร้อมสำหรับการแข่งขันและเติบโตอย่างแข็งแกร่งยั่งยืน

“หลังสถานการณ์โควิด ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้กลับมาให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยรักษาจุดแข็งในการเป็นผู้นำสายการบินราคาประหยัด ให้บริการเส้นทางระยะไกลในตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยตั้งเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณที่นั่ง (Capacity) ให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดภายในสิ้นปี 2567 พร้อมทั้งเร่งการเติบโตในตลาดออสเตรเลียเเละจีน โดยยังเเสวงหาโอกาสในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ ตลาดอินเดียและตะวันออกกลาง ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีแน่นอน” นายธรรศพลฐ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เเผนฟื้นฟูกิจการได้รับความเห็นชอบจากศาล สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้วางกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโต คือ

การเพิ่มฝูงบินสร้างรายได้ ในปัจจุบัน ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีฝูงบินประจำการ 6 ลำ และจะเดินหน้าเพิ่มจำนวนเครื่องบินตามเเผนฟื้นฟูกิจการ อย่างน้อย 3-5 ลำ ภายในปี 2567 และ รวมเป็น 17 ลำ ภายในปี 2571 ซึ่งจะทำให้ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์มีฝูงบินขนาดใหญ่พร้อมขยายเส้นทางและสร้างเครือข่ายการบินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ณ ฐานการบินหลักที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจคาร์โก้

การลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยการเจรจาปรับโครงสร้างสัญญาเช่าเครื่องบิน เเละสัญญาบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้เหมาะสม

การบริหารจัดการหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะทยอยชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย ซึ่งรวมไปถึงการคืนเงินให้กับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเที่ยวบินช่วงโควิด-19 โดยจะทยอยคืนเงินให้ตามคิวได้ต่อเนื่อง สอดคล้องกับเเผนธุรกิจที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารที่ประสงค์จะเปลี่ยนการรับข้อเสนอจากรับเงินคืน (Refund) เป็นรับมูลค่าบัตรโดยสารสะสม (Travel Voucher) สามารถทำได้ทันที โดยใช้วงเงินเดินทางกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (รหัสเที่ยวบิน XJ) สู่เส้นทางหลากหลาย ทั้งประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เเละจีน โดยผู้โดยสารสามารถอีเมล์มาเพื่อยื่นความจำนงในการรับบัตรโดยสารสะสมได้ที่ [email protected]

รายงานระบุเพิ่มเติมว่า “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสายการบินไทยแอร์เอเชีย (รหัสเที่ยวบิน FD) และ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เนื่องจากเป็นคนละบริษัท คนละสายการบิน ที่มีการบริหารงานแยกจากกันชัดเจน และมีเส้นทางบินที่ไม่ทับซ้อนกัน

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ปรากฏการณ์แปลก โลกเจอทั้งเงิน ‘เฟ้อ-ฝืด’ ตะวันตกเผชิญเงินเฟ้อต่อเนื่อง ส่วนจีนเสี่ยง 'วิกฤตเงินฝืด'

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นปรากฏการณ์แปลกที่โลกมีภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) และภาวะเงินฝืด (Deflation) เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เมื่อวันที่ 3 ก.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ขณะนี้กำลังเกิดปรากฏการณ์แปลกที่โลกมีภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) และภาวะเงินฝืด (Deflation) เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน โดย เงินเฟ้อ และ เงินฝืด ต่างก็เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่กลับทิศกัน อย่าง สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเมื่อปีที่แล้วและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ภายหลังจากคลายล็อกดาวน์โควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรง 

โดยอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยุโรปหลายประเทศพุ่งสูงกว่า 10% ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงและรวดเร็วอย่างไม่มีมาก่อน ลามมาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยที่ก็จำต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 0.5 % เป็น 2.25% ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะปรับเป็น 2.5% อีกครั้งเร็วๆ นี้

ในทางตรงกันข้าม จีน ก็กำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืด (Deflation) ครั้งใหญ่ และอาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังจีนเปิดประเทศกว่า 40 ปีมาแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วภาวะเงินฝืดมักเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤตหนี้และวิกฤตทรัพย์สิน ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้ตัวแปรอยู่ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน หลังเกิดภาวะฟองสบู่มาหลายปี และเอาเข้าจริงฟองสบู่ก็แตกก่อนการระบาดของโควิดเมื่อปี 2020 เสียอีก

นั่นก็เพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เช่น การแทรกแซงธุรกิจ, การวางตัวเป็นศัตรูกับชาติตะวันตก ซ้ำด้วยการล็อกดาวน์ประเทศเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี เข้าไปอีก เหล่านี้ล้วนซ้ำเติมวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ในเร็วๆ นี้ และนั่นก็ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อจีนติดลบและอาจจะติดลบต่อเนื่องไปอีกนานด้วยในเวลาเดียวกัน

ทีนี้หันมามองประเทศไทยในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้เอนเอียงและเชื่อมโยงกับจีนอย่างมีนัยสำคัญ โดยจีนเป็นทั้งคู่ค้าและนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของไทย ดังนั้นเหตุการณ์ในจีนย่อมก่อแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจแก่ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องเตรียมสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ไทยตามรอยจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจถดถอย โดยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ควรจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้แล้ว เพราะขณะนี้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงต่ำกว่า 1% และอาจจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

‘อบจ.เชียงใหม่’ ยกมือหนุน ‘หยุดเผาเรารับซื้อ’  จุดเริ่มต้น สู่การแก้ปัญหา PM2.5 อย่างยั่งยืน

ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ไม่สามารถทำให้สำเร็จด้วยคน ๆ เดียว ความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจเท่านั้นที่จะนำพาให้งานลุล่วง เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยแก้ปัญหา ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่

นั่นเพราะที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการระดมสรรพกำลังจากทางภาครัฐเข้าไปแก้ปัญหา แต่ทว่าฝุ่นพิษก็ยังปกคลุมพื้นที่เชียงใหม่ทุกปีในช่วงหน้าแล้ง

อย่างไรก็ดี การที่มีภาคีเครือข่ายรัฐและเอกชน 50 องค์กร ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการ ‘หยุดเผาเรารับซื้อ’ ด้วยการเข้าไปตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล โดยการเปลี่ยนซังข้าวโพดและเศษใบไม้ให้เป็นพลังงาน เป็นอีกหนึ่งแนวทางและเป็นความหวังที่ช่วยลดปัญหาหมอกควันได้อย่างยั่งยืน

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ โดยมีทั้งหมด 24 อำเภอที่ติดผืนป่า เพราะฉะนั้นจึงเกิดปัญหาไฟป่าทุกปี และทางอบจ. ได้จัดสรรงบประมาณในการดูแลจัดการปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง ในปี 2564 จำนวน 13 ล้านบาท ปี 2565  จำนวน 13 ล้านบาท และในปี 2566 อีกประมาณ 10 ล้านบาท  โดยให้แต่ละหมู่บ้านมาบูรณาการทำงานร่วมกัน ตั้งเป็น ‘สภาลมหายใจ จังหวัดเชียงใหม่’ เพื่อช่วยกันดูแลและแก้ปัญหา รวมถึงระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดกับป่า ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

“ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน อาศัยเพียงหน่วยงานในจังหวัดคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และเป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ได้เกิดการผสานความร่วมมือ เพื่อทำโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ด้วยการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล จากซังข้าวโพดและเศษใบไม้ ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่า จะช่วยลดปัญหาการเผาของเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน และหากสามารถสร้างแรงจูงใจด้วยการกระจายจุดรับซื้ออย่างทั่วถึงและราคาที่เกษตรกรมองว่าคุ้มค่า จะช่วยให้การแก้ปัญหาเกิดได้เร็วยิ่งขึ้น

'พงศ์กวิน' ชี้!! รัฐต้องเร่งผุดสนามบินใหม่ 'ภูเก็ต-เชียงใหม่' พร้อมปรับโฉมท่าเก่า  หลังต่างชาติไหลเที่ยวไทยไม่หยุด หากช้าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่เกินแก้

(3 ก.ย. 66) ภายหลังจากสถานการณ์โควิด19 คลี่คลาย ประเทศไทยก็กลายเป็นหมุดหมายที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไหลกลับมา และกลับมามากกว่าเดิม จนตอนนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวครอง GDP ไทยไปแล้วกว่า 20% ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นข่าวดีของภาคการท่องเที่ยวของประเทศมากๆ

ทว่า สิ่งที่น่าห่วงในตอนนี้ คือ แม้เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวจะเป็นไฮไลต์ที่ไม่เคยแผ่วของไทย แต่ความสามารถในการรองรับของประเทศ โดยเฉพาะความพร้อมของสนามบินต่างๆ กำลังเจอปัญหาที่ท้าทายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามบินหน้าด่านแห่งเมืองท่องเที่ยวฝั่งเหนือ-ใต้ของไทยที่วันนี้ดูจะเกินกำลังในการรับมือนักท่องเที่ยวที่ล้นทะลักเข้าสู่ไทยแบบไม่หยุด

ฉะนั้นการขยายสนามบินใหม่ให้เมืองท่องเที่ยวหน้าด่าน และการปรับปรุงสนามบินเดิมทั่วประเทศ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ที่ต้องเร่งทำ เพราะไหนกว่าจะเริ่ม กว่าจะเสร็จ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ถอดรหัสข้อมูลด้านการท่องเที่ยวไทยในมิติต่างๆ ที่เป็นตัวเร่งในการขยับขยายสนามบินในเมืองไทยไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อปากท้องของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถกระจายรายได้สู่พี่น้องประชาชนได้ดีและรวดเร็วที่สุด

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ บ่งบอกว่าในช่วง 2552-2562 (ก่อนโควิด) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก่อให้เกิด GDP จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ทั้งทางตรงและทางอ้อม เฉลี่ย 2,131,088 ล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 15.50% ของ GDP รวมทั้งประเทศ

เกิดการจ้างงานเฉลี่ยปีละ 4,147,640 คน คิดเป็น 10.88% ของการจ้างงานทั้งประเทศ โดยที่สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP ของประเทศไทยได้เพิ่มสูงขึ้นมาตลอด ซึ่งในปี 2562 มีสัดส่วนมากถึง 20% ของ GDP รวม และมีการคาดการณ์จากสภาพัฒน์ว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปี 2573 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ประเทศไทย 'ถนัด' และเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง และมีการเติบโตมาอย่างยาวนานต่อเนื่องก่อนช่วงโควิด และตอนนี้ที่สถานการณ์โควิดได้คลี่คลายแล้ว การท่องเที่ยวก็เรียกได้ว่ากระโดดขึ้นมาจากวิกฤติในทันที

โดยในปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปี 2564 สูงถึง 2506% (25 เท่า) และเพิ่มขึ้นอีก 164.6% ในปีนี้ ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 สูงถึง 868.5 (8.6 เท่า) และเพิ่มขึ้นอีก 255.9% ในปีนี้

เห็นได้ชัดว่าการท่องเที่ยวนั้นเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทย!!

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวจะทะยานได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องได้โครงสร้างพื้นฐานที่ดี เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นั่นก็คือท่าอากาศยานประเทศไทย ซึ่งตอนนี้มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ

อย่างหลายๆ ท่านเอง ก็คงเคยเจอประสบการณ์ความแออัดของสนามบินในประเทศไทยที่บางครั้งต้องต่อแถวกันเป็นร้อยเมตร เพราะท่าอากาศยานนานาชาติที่รองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้นมีการใช้งานล้นความจุไปมากมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะสนามบินภูเก็ตและเชียงใหม่ที่เป็นหน้าด่านแรกของแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือและภาคใต้

✈️ สนามบินภูเก็ต รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 12.5 ล้านคนต่อปี และมีผู้ใช้งานล้นความจุตั้งแต่ปี 2558 โดยในปีนั้นมีผู้ใช้งานถึง 12.8 ล้านคน และยังมีอัตราการการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2562 (ก่อนโควิคระบาด) มีผู้ใช้งานพุ่งสูงถึง 18 ล้านคน เกินความจุไปมากถึง 5.2 ล้านคน เกินความจุไป 41.6%

✈️ สนามบินเชียงใหม่ รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 8 ล้านคนต่อปี และมีผู้ใช้งานล้นความจุตั้งแต่ปี 2558 โดยในปีนั้นมีผู้ใช้งานถึง 8.3 ล้านคน และยังมีอัตราการการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2562 (ก่อนโควิคระบาด) มีผู้ใช้งานพุ่งสูงถึง 11.3 ล้านคน เกินความจุไปมากถึง 3.3 ล้านคน เกินความจุไป 41.25% 

และถึงแม้ว่าตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจำนวนผู้โดยสารจะลดลงเพราะสถานการณ์โควิด-19 แต่จากที่ทาง บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) ได้คาดการณ์จากตัวเลขปริมาณการจราจรทางอากาศที่เกิดขึ้นจริงและการประมาณการของ AOT สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ที่พบว่าปริมาณผู้โดยสารในช่วงปี 2566 - 2567 จะกลับมาเทียบเท่ากับปี 2562 และจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากเราย้อนกลับไปดูสถิติผู้โดยสารท่าอากาศยานที่กล่าวไปข้างต้นจะพบว่ามีอัตราการเพิ่มของผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10% นั่นก็หมายความความว่าภายในอีก 4 ปี สนามบินแต่ละแห่งจะต้องรองรับผู้โดยสารเกินความจุถึง 2 เท่า ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ และจะกลายเป็นปัญหาที่ยากเกินแก้อย่างแน่นอน

ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มโครงการขยายสนามบิน และศึกษาแนวทางการสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ภูเก็ตและเชียงใหม่อย่างเร่งด่วน เพราะการสร้างหรือการขยายสนามบินนั้นต้องใช้เวลาหลายปี

เมื่อเรามีโครงสร้างพื้นฐานทางการบินที่ดีเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว พี่น้องประชาชนทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเชียงใหม่และภูเก็ตจะมีรายได้และชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน และนี่คือ 'ความเจริญ' อย่างแท้จริงที่กำลังจะมาถึง

ปตท. ฉลองการนำเข้า ‘ก๊าซปิโตรเลียมเหลว’ ‘15 ปี 15 ล้านตัน’ ณ คลังก๊าซเขาบ่อยา 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และนายวรจักร สถาพรภิญโญ นายอำเภอศรีราชา ร่วมงานฉลองการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว 15 ปี 15 ล้านตัน สายงานแยกก๊าซธรรมชาติ ณ คลังก๊าซเขาบ่อยา ปตท. จ.ชลบุรี เพื่อร่วมแสดงความยินดีในโอกาสที่คลังก๊าซเขาบ่อยา ปตท. ได้พัฒนาเพิ่มขีดความสามารถการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) แก้วิกฤตการณ์ความต้องการที่เพิ่มสูงตั้งแต่ปี 2551 จวบจนปัจจุบันเป็นเวลา 15 ปี ด้วยปริมาณถึง 15 ล้านตัน

ทั้งนี้ คลังก๊าซเขาบ่อยา เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2528 และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของ ปตท. ในการนำเข้า เก็บสำรอง และเป็นศูนย์กลางในการกระจาย LPG สู่ภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมพันธกิจ ปตท. ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ

'พีระพันธุ์' เตรียมเสนอปรับราคา 'น้ำมัน-ไฟฟ้า' ลดค่าใช้จ่าย ปชช. พร้อมเปิดทางนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี ในราคาที่เป็นธรรม-เหมาะสม

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการลดราคาพลังงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจนว่า ความจริงแล้วนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายหลักที่สำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติด้วยอยู่แล้วและตนได้แจ้งต่อที่ประชุมร่วมกับพรรคเพื่อไทยในการประชุมทำนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนไม่ใช่เฉพาะแค่ราคาพลังงานแต่รวมไปถึงค่าครองชีพอื่น ๆ ด้วย เพราะพลังงานเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค การปรับลดราคาพลังงานให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมจึงเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจึงได้กำหนดนโยบายดังกล่าวไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้วเช่นกัน และมั่นใจว่า เมื่อนโยบายตรงกันทั้งในส่วนของนโยบายรัฐบาลและนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ตนรับผิดชอบอยู่ด้วยก็จะทำให้นโยบายนี้เกิดเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า แนวทางการดำเนินการในเรื่องราคาพลังงานนั้นมีเรื่องหลัก ๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ราคาน้ำมัน และ ราคาไฟฟ้า ซึ่งมีองค์ประกอบของราคาหลายอย่าง เช่น เรื่องภาษี เรื่องค่าการตลาด เรื่องภาระการเงินและเงินกู้ และอีกหลายเรื่องที่มาประกอบกัน บางองค์ประกอบเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ต้นทุนของก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า หรือต้นทุนของราคาน้ำมันดิบ เป็นต้น แต่สิ่งที่สามารถพิจารณาดำเนินการได้คือ โครงสร้างและองค์ประกอบที่มารวมกันจนเป็นราคาขายของพลังงานเหล่านี้ จะต้องมาดูว่าส่วนไหนที่สามารถตัดทิ้ง หรือปรับลดลงได้ก็จะทำทั้งหมด และเมื่อค่าใช้จ่ายลดลง ราคาของพลังงานต่าง ๆ ก็จะสามารถปรับลดลงได้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน

ในขณะเดียวกันยังมองถึงเรื่องของราคาน้ำมันราคาถูกพิเศษสำหรับประชาชนบางกลุ่ม เช่น ปัจจุบันกลุ่มชาวประมง สามารถซื้อน้ำมันที่เรียกว่า น้ำมันเขียวในราคาพิเศษ จึงเห็นว่า น่าจะดำเนินการเช่นเดียวกันนี้กับกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เช่น กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า นโยบายหลักสำคัญอีกประการหนึ่ง ตนเห็นว่า ควรจะให้โอกาสเสรีในการหาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ไม่ใช่การนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่นจนทำให้มีต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ควบคุมลำบาก แต่หากเป็นการนำน้ำมันสำเร็จรูปที่ ไม่ต้องมีค่าการกลั่น หรือค่าใช้จ่ายอื่น เพราะราคาทุกอย่างคำนวณจบแล้ว และถ้าหากใครสามารถนำพลังงานราคาถูกเข้ามาได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทำได้ โดยภาครัฐควรจะเป็นผู้กำกับดูแลให้การจัดหาพลังงานเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว ไม่ใช่วางกฎกติกาจนทำไม่ได้

นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะทำงานด้านกฎหมาย แต่ก็มีความสนใจเรื่องของพลังงานของไทย และศึกษาหาข้อมูลเรื่องพลังงานมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันของประเทศไทยมีประวัติน่าสนใจและได้รับรู้เรื่องราวของพลังงานมาจากบิดาคือ พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์) และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ที่ได้รับมอบหมายจาก จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตชต์ ให้ไปสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

กระทั่งค้นพบแหล่งน้ำมันที่ อ.ฝาง จ. เชียงใหม่ สามารถขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาและสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของไทยขึ้นมากลั่นน้ำมันดิบนั้น จนประสบความสำเร็จโดย นอกจากจะจัดหาน้ำมันให้กับหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังสามารถขายน้ำมันราคาถูกให้กับประชาชนด้วย นำมาสู่การก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร  ซึ่งปัจจุบันองค์การเชื้อเพลิงของกรมการพลังงานทหารและปั๊มน้ำมันสามทหารได้ถูกแปรเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และเป็น บริษัท ปตท.จำกัด ในปัจจุบัน

“ที่มาของพลังงานในประเทศไทยมี 2 เรื่อง คือเรื่องความมั่นคงของประเทศ และ การหาน้ำมันราคาถูกให้ประชาชนใช้ ผมจึงคิดว่าภารกิจหน้าที่ของรัฐบาลและของกระทรวงพลังงานวันนี้ ไม่ใช่เรื่องของการทำธุรกิจน้ำมันแต่เป็นเรื่องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศและการหาพลังงานให้ประชาชนในราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสม ส่วนเรื่องการทำธุรกิจของบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของกระทรวง แต่กระทรวงพลังงานมีหน้าที่กำกับดูแล ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมถูกต้องแล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป ได้เข้าถึงการหาพลังงาน หาน้ำมัน หาเชื้อเพลิงมาใช้ได้อย่างเสรี จะต้องไม่ปิดกั้นต้องให้โอกาสเพื่อให้ราคาถูกลงให้ได้ เป็นการลดต้นทุน เพราะพลังงานเป็นต้นทุนต่าง ๆ ในชีวิต ถ้าสามารถลดต้นทุนตรงนี้ลงได้ ค่าครองชีพก็จะลดลงตาม ฉะนั้นผมจึงคิดว่านี่คือภารกิจของกระทรวงพลังงาน ไม่ใช่การทำธุรกิจ” นายพีระพันธุ์กล่าว

OR เล็งธุรกิจโรงแรมในสถานีบริการน้ำมัน วางเฟสแรก 20 แห่ง รายได้ 1,000 บาท /ห้อง/คืน

เมื่อเช้านี้ มีกระแสข่าวว่า OR กำลังสนใจเข้าลงทุนในธุรกิจโรงแรมสไตล์ญี่ปุ่นเพื่อเปิดบริการในสถานีบริการน้ำมัน แบบราคาประหยัด 1,000 บาทต่อคืน

โดยผู้บริหารให้ข้อมูลว่าอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กในสถานีบริการน้ำมัน โดนคาดว่าระยะแรกจะเปิดให้บริการ 20 แห่ง แต่ละแห่งมีห้อง 60-80 ห้อง คาดว่า จะมีรายได้ราว 1,000 บาทต่อห้องต่อคืน

รวมถึงการเข้าลงทุนในธุรกิจ Health & Beauty โดยนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในไทย

คำถาม คือ ถ้าเราเห็นธุรกิจโรงแรมในสถานีบริการน้ำมัน PTT จริงๆจะถือเป็น New S Curved มากแค่ไหนต่อกลุ่ม OR

คำตอบคือ ไม่ได้เยอะมาก ...

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์หยวนต้า มองว่าธุรกิจโรงแรมในช่วงระยะเริ่มต้น น่าจะสร้างรายได้ให้ OR ราว ๆ 200 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่า 1% ของรายได้ทั้งรวมทั้งหมด ทำให้ไม่มีนัยสำคัญอะไรมากนักในระยะสั้น จนถึงกลางต่อภาพรวมธุรกิจ

อีกทั้ง ธุรกิจนำเข้าสินค้าประเภท Health & Beauty ก็มีคู่แข่งจำนวนมาก ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นไม่สูง ไม่น่าจะสร้างกำไรที่มีนัยสำคัญอะไรให้กับ OR

ดังนั้น มีความเป็นไปได้ไหมที่เราจะเห็นโรงแรมในสถานีบริการน้ำมัน แต่ในภาพของธุรกิจ ไม่น่าจะส่งผลเชิงบวกมากนักในระยะแรก

‘INTERLINK’ เปิดบ้านนำนักลงทุนทัวร์กิจการ-สอบถามเชิงลึก มั่นใจ!! รัฐบาลชุดใหม่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจ หนุนภาคธุรกิจเติบโต

(5 ก.ย. 66) ‘INTERLINK’ โดยคุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่ม บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชัน (ILINK) เปิดบ้านต้อนรับนักลงทุนกว่า 35 ท่าน พร้อมแถลงผลประกอบการผ่านงาน Opportunity Day จากนั้นได้พากลุ่มนักลงทุนเยี่ยมชมกิจการ และสอบถามผลประกอบการในเชิงลึก

โดยในงานนี้ คุณสมบัติยังกล่าวอีกด้วยว่า กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ มีความมั่นใจว่า ในภาคธุรกิจจะสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น เติบโตทั้งรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และมีคุณภาพ ตามนโยบายของคณะกรรมการบริษัท

คุณสมบัติได้ตอบคำถามที่นักลงทุนถามว่า เหตุใดตนถึงมั่นใจว่าภาคธุรกิจจะสามารถเติบโตได้อย่างแน่นอน? ว่า…

“ผมมั่นใจว่า ภายหลังเมื่อสามารถตั้งรัฐบาลเสร็จ โดยการบริหารงานภายใต้การนำของ ‘นายกเศรษฐา’ ครั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ

1.) ความรู้สึกหรือความเชื่อว่า เศรษฐกิจภายหลังจากนี้จะดีกว่ารัฐบาลที่แล้วอย่างแน่นอน

2.) งบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุนและงบก่อสร้างปรับปรุง ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 20% จะถูกเร่งรัดให้เกิดการก่อสร้างและปรับปรุง อันจะส่งผลต่อการสั่งซื้อสายสัญญาณของบริษัทไปติดตั้งเพิ่มเติม

3.) คู่แข่งโรงงานผลิตสาย Sola Cable, สายโทรศัพท์ และสาย Control รายใหญ่ของประเทศไทยเกิดปัญหาเรื่องของตลาดทุน ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามเวลา ส่งผลให้ลูกค้าต้องเปลี่ยนมาสั่งซื้อจากบริษัทอย่างมากมาย

4.) เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีความต้องการกับชีวิตที่ดีขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้เทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกได้มากขึ้น ทำให้กระแสสัญญาณของสาย FTTR (Fiber To The Room) ถูกบังคับให้ต้องเตรียมการติดตั้งในคอนโดมิเนียม หรือบ้านพักที่สร้างใหม่

ซึ่งผลิตภัณฑ์ LINK มาตรฐานอเมริกา ของบริษัท มี Outlet รุ่นใหม่ที่มีขนาดเท่ากับหน้ากากไฟฟ้า สามารถติดตั้งเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สวยงามในห้อง และใช้งานได้อย่างทรงประสิทธิภาพ คาดว่า หลังจากนี้จะเกิดกระแสการรับอย่างมาก

5.) เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ทุกคนต้องการความปลอดภัยและใช้ชีวิตด้วยความสะดวกสบาย โดยบริษัทมีผลิตภัณฑ์สายสัญญาณในหมด Security and Control มารองรับการก่อสร้างอาคาร Intelligent และที่พักอาศัยของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาของสายคอนโทรลที่โรงงานในประเทศไทย จำเป็นต้องหยุดการผลิต

“สุดท้ายต้องขอขอบคุณทุกท่านจากใจจริง และเป็นบรรยากาศการพบปะระหว่างประธานบริษัทฯ กับนักลงทุนที่คุยกันอย่างเป็นกันเองในทุกเรื่อง และยืนยันว่า นอกจากนักลงทุนจะทราบข้อมูลเชิงลึกแล้ว บริษัทฯ ยังได้รับคำแนะนำดีๆ จากนักลงทุนอีกด้วย” คุณสมบัติ กล่าว

Wongnai ผนึก LINE เข้าซื้อ Rabbit LINE Pay จากผู้ถือหุ้นเดิม ปั้นบริการคลุม ‘สั่งอาหาร’ จนถึง ‘กู้เงิน’ พร้อมท้าชน ‘e-Wallet-เป๋าตัง’

(5 ก.ย. 66) นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai และ ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย ได้ร่วมเปิดเผยภายหลังจาก LINE MAN Wongnai และ LINE ได้เข้าซื้อ Rabbit LINE Pay (RLP) จากผู้ถือหุ้นเดิม และทำให้ LINE MAN Wongnai กลายเป็นถือหุ้นสูงสุดใน RLP ว่า...

หากเป็นคนกรุงเทพฯ ที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS บ่อยๆ เชื่อว่าก็คงจะใช้บริการ Rabbit LINE Pay (RLP) แน่นอน ซึ่ง Rabbit LINE Pay นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดจาก LINE Thailand ร่วมมือกับทาง Rabbit Card และ mPay แพลตฟอร์มบริการทางการเงินของ AIS เข้ามาลงทุนร่วมกันเมื่อปี 2018 โดยทั้ง 3 พาร์ตเนอร์นั้นถือหุ้นเท่าๆ กัน

โดยจุดเด่นของ Rabbit LINE Pay ก็คือ การใช้งานผ่านแพลตฟอร์ม LINE ได้เลยโดยไม่ต้องโหลดแอปฯ เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตั๋ว BTS, ซื้อสินค้าใน LINE เช่น สติกเกอร์ รวมไปถึงร้านค้าชั้นนำต่าง ๆ ทั้งนี้ ตัวเลข ณ ปี 2022 Rabbit LINE Pay มีจำนวนผู้ใช้กว่า 10 ล้านราย

แม้จะไม่มีการเปิดเผยถึงมูลค่าการเข้าซื้อหุ้น RLP ต่อจาก แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด และ บริษัท แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด แต่ ยอด เผยว่า LINE MAN Wongnai เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยเชื่อว่า RLP นั้นเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจของ LINE MAN Wongnai โดยเปรียบเสมือน น้ำมันหล่อลื่น ให้กับธุรกิจ เพราะในทุกบริการต้องใช้ระบบเพย์เมนต์ นอกจากนี้ ยอด ยังมองว่า ตลาดอีเพย์เมนต์ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

“ทุกบริการของ LINE MAN Wongnai ไม่ว่าจะเป็น Food, Taxi Messengers หรือ LINE เองก็มีบริการอีคอมเมิร์ซอย่าง LINE Shopping และทุกอย่างต้องใช้ระบบเพย์เมนต์ทั้งหมด ดังนั้น RLP จะมาช่วยให้บริการต่างๆ มันไร้รอยต่อ (Seamless) มากขึ้น” ดร.พิเชษฐ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ ในแง่ขององค์กร RLP ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งออฟฟิศและพนักงาน ในส่วนของผู้ใช้ก็เช่นเดียวกัน บริการไหนที่เคยใช้ได้ก็ยังใช้ได้ตามเดิม ไม่ว่าจะเติมเงินขึ้นรถไฟฟ้า BTS หรือการใช้จ่ายผ่านร้านค้าพันธมิตร ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคอยากรู้คือ บริการใหม่ที่จะได้เห็น

โดย ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ได้กล่าวเสริมว่า จะมีบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นแน่นอน อย่างน้อยที่จะได้เห็นก็คือ สิทธิพิเศษที่มากขึ้น หากใช้งาน RLP ผ่าน LINE หรือ LINE MAN รวมถึงความเป็นไปได้ของบริการ กู้เงินออนไลน์ เพราะทาง LINE เองก็มี LINE BK บริการทางการเงินแบบ Social Banking ของบริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (บริษัทในเครือของธนาคารกสิกรไทย) และบริษัท ไลน์ ไฟแนนเชียล เอเชีย (LINE Financial Asia) อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีแผนชัดเจนว่าจะเห็นบริการใหม่ ๆ เร็วสุดเมื่อไหร่

“อาจยังไม่ชัดเจนว่าจะมีบริการอะไรใหม่ ๆ แต่เราจะพยายามดันทรานซ์แซ็คชั่นของทั้ง LINE MAN Wongnai และ LINE เข้าไปใช้ใน RLP ให้ได้มากที่สุด แต่เราอยากให้คนเข้ามาในแพลตฟอร์มของเราแล้วทำได้ทุกอย่างตั้งแต่สั่งอาหารจนถึงกู้เงิน” ดร.พิเชษฐ กล่าว

ด้าน ยอด ได้กล่าวด้วยว่า แม้ว่าตลาดอี-วอลเลตปีนี้ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง ดอลฟิน วอลเลต จะหายไป แต่การแข่งขันก็ไม่ได้ลดน้อยลง โดยตลาดอีเพย์เมนต์ยังมีความท้าทายจาก พร้อมเพย์ ที่ทำให้ทุกอย่างใช้งานได้อย่างเปิดกว้าง นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม เป๋าตัง ของรัฐบาล ดังนั้น การแข่งขันจึงกว้างมากเพราะมีทั้งธนาคารและแพลตฟอร์มอีวอลเลต ซึ่ง RLP ก็อยากจะเป็นผู้เล่นหลักของตลาดไทย ดังนั้น การมีบริการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคยังใช้งานเป็นโจทย์ที่สำคัญ

“อย่างเป๋าตังเขาก็มีบริการซื้อสลากออนไลน์เพื่อดึงดูดให้ใช้งาน นี่ก็เป็นโจทย์ของเราว่านอกจากบริการที่มีที่ผู้บริโภคใช้อยู่แล้ว เราจะเพิ่มอะไรเข้าไปได้อีก”

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของตลาดอีเพย์เมนต์ มีแต่ขาขึ้นไม่มีทางลง ตลาดจะใหญ่ขึ้นอีกเพราะผู้บริโภคใช้งานชินตั้งแต่เกิดโควิดระบาด คนใช้เงินสดน้อยลง เพียงแต่ตลาดยังไม่มาชัวร์ เพราะยังมีผู้เล่นที่ออกจากตลาดไปและยังมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามา

ปัจจุบัน แม้บริการ RLP จะยังไม่ทำกำไร โดยในปี 2565 รายได้รวม 319.63 ล้านบาท ขาดทุน 156.65 ล้านบาท แต่ในส่วนของผู้ใช้ยังคงเติบโต โดย ยอด เชื่อว่า ต้องทำให้ RLP มีกำไร และเติบโตในฐานะ STAND ALONE COMPANY ที่แข็งแกร่งให้ได้

'สุปรีย์' เร่งผลักดัน Brand Province ทุกจังหวัด หลังนั่งประธานสภาเอสเอ็มอีคนใหม่ มุ่งนำพา SMEs สู่ BCG Model

วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME BANK สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 โดยมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมการประชุมกว่า 50 องค์กร

ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก คุณสุปรีย์ ทองเพชร นายกสมาคมการค้าวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ไทย เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสภาเอสเอ็มอี วาระปี 2566–2568 ซึ่งมีนโยบายที่จะผลักดันเรื่อง Brand Province ทุกจังหวัด และการนำพา SMEs เข้าสู่ BCG Model ซึ่งเป็น Mega Trend ของโลก รวมทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามายกระดับศักยภาพของ SMEs ต่อไป ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานกิตติมศักดิ์สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย มาร่วมเป็นสักขีพยานในการประชุม

โดยในวันดังกล่าว ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดย ท่านเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย โดย นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และสถาบันพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อสังคม โดย ดร.ภูชิสส์ ศรีเจริญ ประธานสถาบันพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อสังคม ในการการสร้างการรับรู้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท บูรณาการและยกระดับความร่วมมือของวิสาหกิจกับภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีท่าน ดร.โฆสิต สุวินิจจิต ที่ปรึกษากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นพยาน

รวมทั้งพิธีประกาศเจตนารมย์เปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน สถาบันพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อสังคม และสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย แขวงคลอง 12 (04) เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และมอบป้ายศูนย์ โดยท่านเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานมอบ ซึ่งมีท่าน ดร.ธปภัค บูรณะสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และท่านไพโรจน์ จันทรอด ผู้อำนวยการเขตหนองจอก สำนักงานเขตหนองจอก เป็นพยาน

จากนั้น เป็นพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ด้านการส่งเสริม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและการพัฒนา SMEs

ซึ่งงานดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายสภาเอสเอ็มอีในการจัดงาน และหน่วยงานภาครัฐที่ส่งผู้แทนมาให้ข้อมูลด้านการส่งเสริม SMEs ได้แก่ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) โดย คุณพิตรพิบูล ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดย คุณโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กรมสรรพากร โดย ว่าที่ร้อยตรี อัครเดช เทียมเจริญ นักวิชาการภาษี ชำนาญการพิเศษ กรมสรรพากร และ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดย ว่าที่ร้อยโท ชีวีวัฒน์ หวานอารมณ์ นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการพิเศษ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งสภาเอสเอ็มอีเป็นองค์กรที่มีภาคีเครือข่ายกว่า 100 องค์กร มีสมาชิกรวมกันกว่า 8,000 กิจการ ในทุกธุรกิจและพันธมิตรหลายหลายองค์กร อีกทั้งมีประธานจังหวัดทุกจังหวัดเป็นผู้แทนในการประสานงานจากส่วนกลางไปยังภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนนโยบายจากสภาเอสเอ็มอีไปยัง SMEs ทั่วประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top