Sunday, 18 May 2025
Econbiz

สะพัด ‘ไลน์แมน วงใน’ เล็งซื้อกิจการฟู้ดแพนด้า คาดมูลค่าประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานอ้างแหล่งข่าววงในว่า ไลน์แมน วงใน บริษัทยูนิคอร์นธุรกิจส่งอาหารอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเข้าครอบครองกิจการฟู้ดแพนด้าของบริษัทเดลิเวอรี ฮีโร่ เซาท์อีสต์เอเชีย ประเทศไทย 

"ตอนนี้ไลน์แมน วงใน ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในกรุงเทพฯ กำลังพิจารณาทำข้อตกลงเข้าซื้อกิจการที่มีมูลค่าประมาณ 100 ล้านดอลลาร์แต่มูลค่าการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้อาจเปลี่ยนไปเนื่องจากมีแนวโน้มที่มูลค่าจะเปลี่ยนไป จากการถดถอยของตลาดในวงกว้างกว่าเดิม และมุมมองภายในต่อธุรกิจที่ขาดทุน" แหล่งข่าววงในที่ปฏิเสธเปิดเผยชื่อ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัท ไลน์แมน วงใน เป็นบริษัทในเครือของไลน์ คอร์ป และจีไอซี กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าววงในระบุว่า ยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการเจรจาเพื่อซื้อกิจการครั้งนี้และการเจรจาอาจจะล่ม ส่วนตัวแทนจากไลน์แมน วงในและไลน์ คอร์ป ปฏิเสธให้ความเห็น เช่นเดียวกับตัวแทนจากบริษัทเดลิเวอรี ฮีโร่ และฟู้ดแพนด้า ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อรายงานข่าวนี้เช่นกัน

การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้อาจช่วยให้ไลน์แมน วงใน อยู่ในฐานะที่สามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในอุตสาหกรรมแพลตฟอร์มส่งอาหารในประเทศไทย โดยไทยซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองว่าไลน์เป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมสูงสุด

ไลน์แมน วงใน เป็นผู้นำแพลตฟอร์มออนดีมานด์และข้อมูลร้านอาหารของไทย เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างไลน์แมนและบริษัทวงใน เมื่อปี2563 ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 110 ล้านดอลลาร์

ข่าวการเจรจาเพื่อซื้อกิจการครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เดลิเวอรี ฮีโร่ ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในเยอรมนีพยายามดำเนินการต่างๆเพื่อให้บริษัทสามารถทำกำไรได้ภายในปี 2565 โดยนาย Niklas Oestberg ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)เดลิเวอรี ฮีโร่ กล่าวในช่วงการประชุมทางโทรศัพท์เมื่อเดือนที่แล้วว่า ขณะที่บริษัทมีฐานดำเนินงานที่แข็งแกร่งในหลายประเทศเช่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์  บริษัทอาจตัดสินใจถอนตัวจากบางตลาดที่บริษัทไม่ได้อยู่อันดับ 1

“เราไม่ได้ต้องการขายธุรกิจของเราในตลาดอาเซียน แต่อาจเป็นตลาดในภูมิภาคอื่น  เรากำลังอยู่ระหว่างหารือ” ซีอีโอเดลิเวอรี ฮีโร่ กล่าว

'สุริยะ' สั่งเร่งเครื่องหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ หลังยอดจองรถไฟฟ้าในงาน Motor Expo 2022 พุ่ง!!

'สุริยะ' เผยยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าทะลุ 5,800 คัน ในงาน Motor Expo 2022 สั่งเร่งเครื่องหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ!

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลื้มกระแสตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมาแรง ดันยอดจองรถยนต์ไฟฟ้า ภายในงาน Motor Expo 2022 รวมทั้งสิ้น 5,800 คัน สั่งการเร่งขับเคลื่อนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หลังพบว่าประชาชนมีความต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 39 หรือ Motor Expo 2022 ที่ปิดฉากลงไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าชมงานสูงถึง 1.3 ล้านคน และมียอดจองรถยนต์ภายในงานรวมทั้งสิ้น 36,679 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 จากปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท โดยเป็นยอดจองรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 5,800 คัน คิดเป็นร้อยละ 15 ของยอดรวมจองรถยนต์ แบ่งเป็น BYD 2,714 คัน ORA 1,212 คัน MG 600 คัน Neta 827 คัน Mine 32 คัน Volt  210 คัน Pocco 30 คัน Porsche 70 คัน Mercedes-Benz 30 คัน และอื่น ๆ 75 คัน 

โดยส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน มาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐทำให้มีราคาลดลง ประกอบกับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ มีการเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ที่แนะนำในช่วงงานหลายรุ่น ขณะที่ผู้บริโภคเริ่มให้ความเชื่อมั่นในมาตรฐานมากขึ้น รวมถึงแคมเปญกระตุ้นยอดขายของแต่ละค่ายที่อัดโปรโมชันแบบจัดเต็ม 

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนจากค่ายรถต่าง ๆ เข้ามาประกอบกิจการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มียอดการผลิตรถยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 กว่า 1,534,754 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 12.36 ทำให้คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2565 ประเทศไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 1.75 ล้านคัน ได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2568 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 225,000 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 10 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 2573 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2573 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 อัตราต่อปี

เกาะติดโซนยอดนิยม 'กทม.-ปริมณฑล' ไตรมาส 3 'ห้วยขวาง' ยืนหนึ่งคอนโด 'บางพลี' คึกคักบ้านเดี่ยว

(14 ธ.ค. 65) นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยเสนอขายรวมทั้งสิ้น ณ ช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 พบว่ามีจำนวน 198,024 หน่วย มูลค่า 984,904 ล้านบาท โดยมีจำนวนหน่วยลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2565 จำนวน 2,188 หน่วย แต่มูลค่ากลับสูงขึ้น 8,608 ล้านบาท 

โดยเป็นโครงการบ้านจัดสรร 126,325 หน่วย มูลค่ารวม 680,615 ล้านบาท ซึ่งพบว่าบ้านจัดสรรมีการเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวเฮ้าส์ ขณะที่โครงการอาคารชุดมีหน่วยเสนอขายจำนวน 71,699 หน่วย มูลค่ารวม 304,289 ล้านบาท ซึ่งลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 1 และ 2 ปี 2565

สำหรับโซนที่มีหน่วยอาคารชุดเสนอขายสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย...

อันดับ 1 ห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง จำนวน 9,921 หน่วย มูลค่า 40,368 ล้านบาท (มูลค่าเป็นอันดับ 3) 

อันดับ 2 พระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ จำนวน 8,285 หน่วย มูลค่า 23,259 ล้านบาท (มูลค่าเป็นอันดับ 4)

อันดับ 3 เมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด จำนวน 7,144 หน่วย มูลค่า16,288 ล้านบาท (มูลค่าเป็นอันดับ 6) 

อันดับ 4 ธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด จำนวน  6,893 หน่วย มูลค่า 21,262 ล้านบาท (มูลค่าเป็นอันดับ 5) 

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 5 - 9 ธ.ค. 65 จับตาปัจจัย ‘บวก - ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 12 - 16 ธ.ค. 65

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยสัปดาห์ล่าสุดลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 แต่ในช่วงปลายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้น หลังจากท่อ Keystone (622,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ขนส่งน้ำมันดิบจากเมือง Hardisty รัฐ Alberta ในแคนาดาสู่แถบ Mid-West ในสหรัฐฯ ปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 65 โดยล่าสุดบริษัท TC Energy ผู้ดำเนินการท่อดังกล่าวรายงานการกู้คืนน้ำมันดิบรั่วไหลปริมาณ 2,600 บาร์เรล อย่างไรก็ตามมีการรั่วไหลทั้งหมด 14,000 บาร์เรล ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 65 และขณะนี้ท่อ Keystone ยังคงปิดดำเนินการ

จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 13-14 ธ.ค. 65 ซึ่ง Reuters Poll คาดการณ์ว่าจะมีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal Funds Rate: FFR) ขึ้น 0.5% อยู่ที่ 4.25-4.5% และติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 15 ธ.ค. 65 ซึ่งกรรมการ ECB นาย Gabriel Makhlouf คาดการณ์ว่าจะมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สำหรับการปล่อยสภาพคล่องให้ระบบธนาคารพาณิชย์ (Main Refinancing Operations Rate) อีก 0.5% อยู่ที่ 2.25%

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Kpler รายงานยุโรปนำเข้าน้ำมันดิบทางทะเล ในเดือน พ.ย. 65 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 300,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 8.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน

‘ทิพานัน’ เผย ‘ภูเก็ต’ โกยรายได้ท่องเที่ยวสูงสุด ชี้!! ผลจากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของ ‘บิ๊กตู่’

‘ทิพานัน’ โชว์ผลสำเร็จ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ เปิด 10 อันดับจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด ภูเก็ตคว้าแชมป์ 127,927 ล้านบาท สะท้อนมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวได้ผล กระจายรายได้ทั่วประเทศในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ผลักดันให้เริ่มใช้โครงการ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ เป็นจุดเริ่มต้นตามนโยบายเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ขยายออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ และนำมาสู่การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในปัจจุบัน ผนวกกับมาตรการสาธารณสุขและความร่วมมือของคนไทยและเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนส่งผลให้มีการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวแบบกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็วแบบ ‘V-Shape’ โดยเฉพาะผลสำเร็จที่เกินความคาดหมาย จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ในปี 2565 ครบ 10 ล้านคนเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยใน 10 เดือนแรกของปี 2565 ตั้งแต่เดือนมกราคม - ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก โดยมีข้อมูลรายได้จากจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ 

1.ภูเก็ต 127,927 ล้านบาท 
2.ชลบุรี 13,283 ล้านบาท 
3.สุราษฎร์ธานี 7,586 ล้านบาท 
4.เชียงใหม่ 4,246 ล้านบาท 
5.สงขลา 3,602 ล้านบาท  
6.พังงา 2,582 ล้านบาท  
7.เชียงราย 1,585 ล้านบาท
8.กระบี่ 1,408 ล้านบาท  
9.ประจวบคีรีขันธ์ 854 ล้านบาท  
10.หนองคาย 526 ล้านบาท

จังหวัดที่มีชาวต่างชาติเยือนมากที่สุด 10 อันดับ
1.ภูเก็ต 2,329,894 คน 
2.ชลบุรี 975,026 คน 
3.สุราษฎร์ธานี 606,812 คน 
4.สงขลา 581,808 คน 
5.เชียงใหม่ 496,111 คน
6.สมุทรปราการ 321,390 คน 
7.พังงา 317,353 คน 
8.หนองคาย 231,243 คน 
9.กระบี่ 217,526 คน 
10.หนองคาย 148,683 คน

Nuovo Plus - Gotion ร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตชุดแบตเตอรี่ ดันไทยสู่ผู้นำด้านแบตเตอรี่ของอาเซียน

เมื่อวานนี้ (15 ธันวาคม 2565) บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) บรรลุข้อตกลงร่วมกับ Gotion Singapore Pte. Ltd. (Gotion) บริษัทในกลุ่มของ Gotion High-tech Co., Ltd. จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ด้วยทุนจดทะเบียนไม่เกิน 600 ล้านบาท ในสัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ตามลำดับ เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบ และจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และขยายกำลังการผลิตเป็น 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ภายในปี 2568

ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด เปิดเผยว่า การผลิตแบตเตอรี่เพื่อระบบกักเก็บพลังงานและยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า การร่วมทุนจัดตั้ง NV Gotion ครั้งนี้ เป็นไปตามทิศทางกลยุทธ์การลงทุนธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตของกลุ่ม ปตท. เพื่อเร่งสร้าง Energy Storage and EV Value Chain ให้ครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การผสานความเชี่ยวชาญจาก Nuovo Plus และ Gotion ทั้งในด้านของการวิจัยพัฒนา ศักยภาพการผลิตแบบแข่งขันได้ การบริการด้านเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีโดยตรง และการให้บริการแบบครบวงจรในประเทศไทย จะทำให้สามารถส่งมอบประสบการณ์การใช้งานแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลสู่ลูกค้าอุตสาหกรรมในไทยและอาเซียน โดย NV Gotion จะเริ่มก่อสร้างโรงงานประกอบชุดแบตเตอรี่ขนาด 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดว่าจะสามารถผลิตและส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงแก่ตลาดได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2566 นับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และผลักดันเป้าหมาย Net Zero ของประเทศจากทุกภาคส่วนร่วมกัน

ก้าวต่อไม่หยุดยั้ง NRPT เดินหน้าสร้างโรงงานผลิต Plant based กำลังผลิต 3,000 ตันต่อปี ใหญ่สุดในเอเชียแปซิฟิก

NRPT เดินหน้าสร้างโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชครบวงจร Plant & Bean (Thailand) ใหญ่สุดในเอเชียแปซิฟิก

'ก.พาณิชย์' เผยตัวเลขต่างชาติลงทุนไทยยาวทั้งปี 65 ผลจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนรอบด้านของภาครัฐ

(16 ธ.ค. 65) นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ยอดการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ตลอด 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค. - พ.ย.) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 530 ราย แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน198 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 332 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 112,466 ล้านบาทจ้างงานคนไทย 5,008 คน 

ทั้งนี้ ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 137 ราย เงินลงทุน 39,000 ล้านบาทสิงคโปร์ 85 ราย เงินลงทุน 11,999 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 70 ราย เงินลงทุน 3,343 ล้านบาท ฮ่องกง 38 ราย เงินลงทุน 8,451 ล้านบาท และ จีน 25 ราย เงินลงทุน 22,677 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม โดยช่วง 11 เดือน 2565 นั้น ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตฯ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

‘บิ๊กตู่’ ปลื้มเกาะสมุย ต้อนรับ นักท่องเที่ยวจากเรือสำราญอีก 2,500 คน ตอกย้ำเที่ยวไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง

17 ธ.ค.2565 - น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีความยินดีภายหลังได้รับรายงานว่าวันนี้(17 ธ.ค.65) เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย จะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากยุโรปพร้อมกับเรือสำราญไมน์ ชิฟฟ์ 5 (Mein Schiff 5) กว่า 2,500 คน ที่มาแวะท่องเที่ยวเกาะสมุยแบบ One Day Trip ซึ่งหน่วยงานในเกาะสมุย และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมเตรียมการต้อนรับ เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวลงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในเกาะสมุย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ให้เกิดการกระจายรายได้สู่ประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ เรือ ไมน์ ชิฟฟ์ 5 ถือเป็นเรือสำราญจากยุโรปลำที่ 2 ที่เดินทางมายังเกาะสมุย ต่อจากลำแรกที่เข้ามาประเทศไทยในรอบ 3 ปีหลังเกิดสถานการณ์โควิด19 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา และหลังจากนี้ ในวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธ.ค. 65 จะมีเข้ามาอีก 1 ลำ และข้อมูลจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่าในปี 2566 และ 2567 มีเรือสำราญกำหนดจะเข้ามาเยือนเกาะสมุย เบื้องต้น 31 ลำ และ 32 ลำตามลำดับ

“การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทางเรือสำราญจากต่างประเทศ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นอีกสัญญาณที่ตอกย้ำถึงความคึกคักของการท่องเที่ยวไทย สอดคล้องกับการเดินทางเข้าในช่องทางอื่นๆ ทั้งทางอากาศและด่านทางบก ทำให้ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มั่นใจว่าถึงสิ้นปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยตามเป้าหมาย”น.ส.ไตรศุลี กล่าว

‘แพทองธาร’ จับเข่าคุยผู้ประกอบการท่องเที่ยว แบ่งปันวิสัยทัศน์ท่องเที่ยวปี 2570 ปั้นประเทศไทยจะเป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่พรรคเพื่อไทย โดยร่วมแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2570 โดยตั้งเป้าหมายประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีข้อความดังนี้  

“ใครๆ ก็บอกว่าการท่องเที่ยวเป็น engine สำคัญที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย แต่พอถึงวิกฤตโรคระบาคโควิด-19 การท่องเที่ยวไทยก็ล้มลงทันที จนทุกวันนี้แม้โควิด-19 จะซาลง รัฐบาลลดมาตรการควบคุมโรคระบาด นักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาเที่ยวกันแล้ว แต่ปัญหาหลายอย่างก็ยังคงอยู่ อนาคตการท่องเที่ยวไทยจะไปทางไหนก็ยังไม่มีทิศทางชัดเจน

คือเสียงสะท้อนจากวงแลกเปลี่ยนความคิดจากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ทำให้กลับมาคิดตกตะกอนอะไรได้หลายอย่างมากเลยค่ะ  

พูดกันตามจริง ในฐานะผู้ประกอบการเหมือนกัน การท่องเที่ยวบ้านเรายังไม่ฟื้นค่ะ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะตั้งแต่ก่อน โควิด-19 การท่องเที่ยวของบ้านเราไม่มีรากฐานที่แข็งแรงมากพอ เมื่อเจอ worst case scenario จึงล้มลงและยากที่จะฟื้นฟูให้เป็นเหมือนเดิม 



จะดีกว่าหรือเปล่านะ ถ้ารัฐบาลในสมัยหน้ามองการณ์ไกลหรือรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที จนไม่ทำให้ engine ที่สำคัญของ GDP ไทยต้องตกหลุมตกบ่อ ชะงักงันขนาดนี้ และจากการพูดคุยในวงนี้ทำให้รู้เลยค่ะ การพาให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตมากกว่าก่อนโควิด-19  มี 4 เรื่องที่ต้องทำดังนี้ค่ะ

1) อ่านเทรนด์โลกให้ขาด แต่เดิม ภาพรวมตลาดการท่องเที่ยวไทยพึ่งตลาดจีนกว่า 60% แต่พอมีนโยบาย Zero-Covid ก็ทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถมาเที่ยวเมืองไทยได้ การท่องเที่ยวไทยก็ล้มลงทันที การท่องเที่ยวบ้านเราจะทำแบบนั้นไม่ได้แล้วค่ะ เราควรมองเทรนด์ผู้บริโภคให้ขาด ทุกวันนี้คนเราหันมาสนใจดูแลตัวเองกันมากขึ้น ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020 ตัวเลขจาก Global Wellness Institute ประเมินว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกมีแนวโน้มเติบโตจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 เป็น 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 ขณะที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 15 ของตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกในปี 2020 และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เห็นตัวเลขอย่างนี้แล้วก็น่าสนใจนะคะ เพราะตลาดนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์และอิสระทางเวลา ถ้าประเทศไทยสามารถปักหมุดเรื่องนี้ เท่ากับเราสามารถกำลังดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้ามา 

2)สร้างแรงงานให้พร้อม ไทยเรามีแรงงานด้านการท่องเที่ยวประมาณ 1.4 ล้านคน แต่ช่วงโควิด-19 ทำให้ต้องลดพนักงานลง พอประเทศเปิด ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มเข้าที่เข้าทาง แรงงานไทยเราก็กลับเข้าสู่ระบบไม่ทัน ตั้งแต่กลุ่มอาชีพสายบริการ การโรงแรม จนไปถึงธุรกิจการบิน ถ้าไทยจะปักหมุดเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้อยู่ในใจคนทั่วโลก การส่งเสริมและสนับสนุนภาคการศึกษาเพื่อเตรียมแรงงานให้พร้อมสำหรับธุรกิจนี้ หรือจะเป็นการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศเพิ่มขึ้นในบางสาขางานของอุตสาหกรรมนี้ที่หาแรงงานได้ยากจริงๆค่ะ ก็น่าจะนับเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่น่าสนใจค่ะ 

3)กิโยตินกฎหมาย กฎหมายไทยเราซับซ้อนมากเกินไป แต่ละหน่วยงานมีระเบียบของตัวเอง บางระเบียบก็ขัดแย้งกัน เช่น เรามี พ.ร.บ.โรงแรมที่ดูแลเรื่องมาตรฐาน แต่ พ.ร.บ. นี้กลับอยู่ในอำนาจมหาดไทย ขณะที่เรื่องโฮมสเตย์ กลับอยู่ในอำนาจของกรมการท่องเที่ยว ส่วนเรื่องการทำแพ เป็นเรื่องของกรมเจ้าท่า การอนุญาตให้ตั้งที่พักในอุทยานแห่งชาติ ก็เป็นอำนาจของกรมอุทยานฯ ฉะนั้นแล้ว กฎหมายอะไรที่ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ยุคสมัย ควรยกเลิก/แก้ไขได้แล้วค่ะ เพราะว่าไปแล้ว กฎหมายนอกจากทำหน้าที่ควบคุมระเบียบสังคมแล้ว ก็ควรเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการทำธุรกิจด้วยหรือเปล่าคะ?

4)สุดท้ายคือ สร้างการตลาดทำให้คนทั่วโลกเชื่อมั่นและมั่นใจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย แต่เดิม Sea Sand Sun ของบ้านเราเป็นที่นิยมชมชอบอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเพิ่มมูลค่าของการท่องเที่ยวให้มากกว่าแค่เรื่องธรรมชาติ แต่เป็น ‘ธรรมชาติ+สุขภาพ+วิทยาศาสตร์’ แล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ในการเพิ่มความรับรู้ของนักท่องเที่ยวผ่านหลายช่องทางของการสื่อสาร จะสร้างมูลค่าได้เพิ่มอีกมากเลยค่ะ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top