Saturday, 19 April 2025
DSI

DSI จับมือกรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งดำเนินคดีทุจริตชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ และเอาผิดผู้บุกรุกครอบครองที่ดินสหกรณ์นิคมคลองท่อมและนิคมอ่าวลึกโดยมิชอบ

วานนี้ (วันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2566) ร้อยตำรวจเอก ปิยะ  รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับ นายประวัติ  แดงบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินการคดีพิเศษที่ 56/2566 กรณี ทุจริตชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ ขณะที่ร้อยตำรวจเอก ชาญณรงค์  ทับสาร รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค กรมสอบสวนคดีพิเศษ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและคณะ กำลังสอบสวนบันทึกปากคำพยานปากสำคัญ ณ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 426 อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่  

อีกทั้งยังได้เดินทางไปรับทราบข้อมูล ประชุมหารือแนวทางในการดำเนินคดีร่วมกัน ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 3 คดีด้วยกัน ได้แก่

1. คดีทุจริตชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้ามากแล้ว  
2. คดีทุจริตที่ดินในนิคมคลองท่อม ขณะนี้ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการรับรองเอกสารมิชอบเพื่อออกโฉนดที่ดินในนิคมคลองท่อม จำนวน 313 แปลง
3. คดีบุกรุกครอบครองพื้นที่นิคมสหกรณ์อ่าวลึก 796 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานการอนุญาตให้ใช้ที่ดินที่ได้สิ้นสุดแล้วแต่ผู้รับอนุญาตเดิมยังคงครอบครองทำประโยชน์ และมีผู้เข้าครอบครองใหม่ 35 ราย เข้าทำการแย่งสิทธิต่อกัน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะสืบสวนสอบสวนเอาผิดกับผู้กระทำความผิดทุกรายอย่างเป็นธรรม หลังจากที่ดำเนินคดีแล้วจะส่งคืนพื้นที่ให้กับกรมส่งเสริมสหกรณ์นำไปบริหารจัดการตามหน้าที่และอำนาจของกรมส่งเสริมสหกรณ์ต่อไป

DSI และผู้บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกันแจ้งเตือนภัย หลังพบ 73 เพจปลอมหลอกให้ลงทุน

เมื่อวันที่ 30  สิงหาคม 2566 พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ พร้อมคณะ เข้าพบคณะผู้บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบด้วย นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ/ประธานคณะกรรมการบริหารและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายจักก์ชัย พานิชพัฒน์ รองประธานกรรมการ/กรรมการบริหาร/ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรม นายมานะชัย ขาวประพันธ์ ผู้จัดการอาวุโสสายงานเลขานุการบริษัทและกฎหมาย และนายเขมพัฒน์ เจริญพานิช ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย ที่อาคารกรมดิษฐ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เพื่อหารือแนวทาง
ในการแก้ไขปัญหา กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีการปลอม Facebook ด้วยการใช้ชื่อบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวนกว่า 73 เพจ เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนทั่วไปร่วมลงทุนกับบริษัทผ่านกองทุนต่าง ๆ ในการขยายกิจการและดำเนินธุรกิจของบริษัทโดยเสนอให้ผลตอบแทนสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นเหตุให้ประชาชนหลงเชื่อและร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก

ในการหารือ คณะผู้บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและแนวทางประชาสัมพันธ์ที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางในการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อแจ้งเตือนประชาชนร่วมกัน นอกจากนั้นคณะผู้บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยังมีความสนใจแนวทางการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันอาชญากรรมที่เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ของกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ โดยการพัฒนาระบบเตือนภัยที่มีลักษณะเป็นปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสืบค้นข้อมูลในระบบอินเตอร์เน็ตมาวิเคราะห์และจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเตือนภัยประชาชน อันเป็นมาตรการป้องกันการกระทำผิดที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการปราบปรามที่กระทำเมื่อความเสียหาย
เกิดกับประชาชนแล้ว และทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษมีฐานข้อมูลของผู้กระทำความผิดที่จะสามารถใช้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย โดยบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมถึงกาขยายความร่วมมือด้านการต่างประเทศที่บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีศักยภาพสนับสนุนการปฏิบัติ ทั้งนี้ ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน (Working Group) เพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง และมีตั้งกลุ่มไลน์สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานเพื่อใช้ในการประสานและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารรวมทั้งความร่วมมือในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลต่อไป

DSI จับมือทัพเรือภาค 3 ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบพื้นที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน คดีพิเศษที่ 59/2564

สืบเนื่องจากทัพเรือภาคที่ 3 ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน เนื้อที่ 3,763 ไร่เศษ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ต่อมาทัพเรือภาคที่ 3 ได้ตรวจสอบภายในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต พบว่ามีผู้บุกรุกสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร รวมจำนวน 49 หลัง จึงได้มีหนังสือร้องทุกข์มายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 59/2564 เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามที่ทัพเรือภาคที่ 3 ได้ร้องทุกข์ดังกล่าว

ด้านพันตำรวจโท อมร หงษ์ศรีทอง ผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลของ ร้อยตำรวจเอกปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และข้อสั่งการของ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มอบหมายให้ พันตำรวจตรี นิมิตร พรหมมา รองผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และคณะฯ เดินทางลงพื้นที่ประสานข้อมูลกับทัพเรือภาคที่ 3

ผลการปฏิบัติงานในระหว่างวันที่ 18 - 19 กันยายน 2566 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าพบ พลเรือตรี ภุชงค์ รอดนิกร เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 ประชุมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสอบปากคำผู้แทนทัพเรือภาคที่ 3 ในการให้ข้อมูลและการเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรภายในเขตพื้นที่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยผู้แทนทัพเรือภาคที่ 3 เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 591 และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ภก.1 (ถลาง) กรมป่าไม้ ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบในเบื้องต้น จำนวน 3 จุด พบอาคารสิ่งปลูกสร้างถาวร รวมจำนวน 12 หลัง โดยมีผู้ครอบครองและทำประโยชน์เป็นผู้นำชี้พิกัดที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่ใช้ประโยชน์ พร้อมนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้จัดทำพิกัด แนวเขตสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่ใช้ประโยชน์แต่ละรายไว้เป็นหลักฐานแล้ว สำหรับสิ่งปลูกสร้างถาวรที่เหลือนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทัพเรือภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าตรวจสอบเพิ่มเติมให้ครบถ้วน

ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

'นายกฯ' ทาบอก!! พรหมลิขิต 'ดีเอสไอ' ขั้วอำนาจเก่าผงาด-หมูเถื่อนข้ออ้าง

วันอังคารที่ 28 พ.ย. เพิ่งจะนำทีมไปตรวจค้นสำนักงานใหญ่บริษัทแม็คโครที่ย่านพัฒนาการ กรณีรับซื้อเนื้อและเครื่องในหมูจากสองบริษัทพ่อลูกที่กำลังถูกดำเนินคดีนำเข้าหมูเถื่อน...

วันรุ่งขึ้น 29 พ.ย. 'พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล' อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ คนที่ 12 ก็ถูกเด้งดึ๋ง...ครม.โยกไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ตามข้อเสนอของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม อดีตอธิบดีดีเอสไอคนที่ 5 ที่ให้เหตุผลว่า “พ.ต.ต.สุริยามีความเหมาะสมที่จะไปขับเคลื่อนงานด้านต่าง ๆ เพราะประสบการณ์สูง...ขอยืนยันว่าเหตุย้ายไม่เกี่ยวกับการปราบหมูเถื่อน”

ขณะที่ท่านโฆษกรัฐบาล คุณหมอชัย วัชรงค์ ยอมรับว่าสาเหตุการจับกุมเรื่องหมูเถื่อนล่าช้าเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ยังมีเรื่องคดีโกงหุ้น บมจ.สตาร์ค และเหตุผลในเชิงการบริหารอื่น ๆ ด้วย...

จะด้วยเหตุผลกลใดก็ว่ากันไป...แต่สำหรับเจ้าตัว พ.ต.ต.สุริยา ทำแบนเนอร์สวยงาม โพสต์ชัด ๆ ว่า “ทำใจอยู่ตลอดเวลานับแต่มานั่งเป็นผู้บริหารสูงสุดที่นี่แล้วครับว่าต้องถึงวันนี้ แต่ผมเลือกทางเดินและวิถีผมเองตั้งแต่ต้น ไม่เสียใจครับเพราะทำเต็มที่แล้ว -เป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับทุกท่านครับ 28 พ.ย. 66 / พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล”

ก็นับว่า...อธิบดีท่านนี้มีหัวใจสิงห์อยู่ไม่น้อย...แม้ข้อความที่โพสต์อ่านแล้วก็ดูออกว่าน้อยใจ เสียใจอยู่พอประมาณ...

'เล็ก เลียบด่วน' ขอทวนความจำสักนิดว่า พ.ต.ต.สุริยา มาเป็นอธิบดีดีเอสไอ เมื่อ 18 ม.ค. 66 ช่วงที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรมว.ยุติธรรม ขณะนั้น พ.ต.ต.สุริยา เป็น ผอ.สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ โดยย้ายสลับกับนพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ซึ่งขณะนั้นถูกครหากรณีทีมงานมีพฤติกรรมเทา ๆ ในปฏิบัติการปราบทุนจีนสีเทา...

และที่คนทั้งประเทศรู้จักและออกอาการสงสาร พ.ต.ต.สุริยา ก็คือวันที่ 12 พ.ย. วันที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ปรี๊ดแตก...เฉ่งปี๋เรื่องคดีหมูเถื่อนว่าล่าช้า...ทำไมไม่จับตัวการใหญ่ซะที...ผมสั่งไปแล้ว...

ครั้น พ.ต.ต.สุริยา ไปลุยห้างใหญ่...ค้าปลีกใหญ่อย่างแม็คโคร และจัดคิวจะไปห้างโลตัสวันที่ 1 ธ.ค.ก็ถูกเด้งดึ๋งซะก่อน...ใครต่อใครคาดว่า คดีหมูเถื่อนยังไงก็ไปไม่ถึงตัวการใหญ่ โดยเฉพาะนักการเมืองที่คนชื่อ 'เศรษฐา' รู้อยู่เต็มอกว่าใครบ้าง...

ครับ...จากนี้ไปก็มานั่งลุ้นกันแบบไม่ระทึก เพราะพอจะรู้ ๆ กันอยู่แล้วว่า...หวยอธิบดีดีเอสไอจะไปออกที่ใคร...ตอนนี้คนที่จะมานั่งรักษาการก็ต้องเป็นรองอธิบดีคนที่ 1 คือ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ลูกน้องเก่าของ พ.ต.ต.ทวี สอดส่อง และเป็นมือทำงานร่วมก๊วนกับ พิชิต ชื่นบาน เจ้าของฉายา 'ทนายถุงขนม' มือกฎหมายของนายกเศรษฐาด้วย

ไม่แต่เท่านั้น...ถ้ายังจำกันได้ พ.ต.ต.ยุทธนา หรือ 'รองแพร' ของชาวดีเอสไอ ยังเป็น 1 ใน 4 ผู้ต้องหาที่ถูก 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ฟ้องข้อหาประพฤติมิชอบกรณีดำเนินคดีเขาทั้งสองเรื่องสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อ 2553 ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ศาลฎีกาตัดสินจำคุก ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอเพียงคนเดียว ส่วนดีเอสไออีก 3 คนคือ 'รองแพร' กับพวก ศาลยกฟ้อง...

พวกของ 'รองแพร' อีกสองคนที่ศาลยกฟ้องคือ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ตอนนี้โอนไปเป็นใหญ่ในตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. อีกคนคือ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ตอนนี้เป็นรองอธิบดีดีเอสไอ

พูดไปทำไมมี...เรื่องการปราบปรามหมูเถื่อนหรือเรื่องการดำเนินคดีกับแก๊งโกงหุ้นสตาร์ค น่าจะเป็นเพียงเหตุผลข้ออ้างหนึ่งเท่านั้น...แต่ที่สำคัญที่สุดน่าจะอยู่ตรงที่รัฐบาลเพื่อไทย โดยเฉพาะผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค ที่นอนตีพุงอยู่ที่ รพ.ชั้น 14 และรวมทั้ง พ.ต.อ.ทวี ร่วมกันจัดทัพปรับแถววางคนของตัวเองให้ตอบสนองตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุดในทุก ๆ มิติ...รวมทั้งโจทย์การเมือง

น่าติดตาม...น่าดูชม...พรหมลิขิตเวอร์ชันดีเอสไอเป็นยิ่งนัก 

สวัสดี

DSI ตรวจค้น 5 เป้าหมาย เครือข่ายส่งออกน้ำมันโกฟุก พื้ยที่ชลบุรีหลังทางการพม่ายืนยันไม่มีบริษัทฯ รับซื้อน้ำมันในพม่า

ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสืบสวน ขยายผลจากคดีพิเศษที่ 10/2567 กรณีเครือข่าย "โกฟุก" นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์หลอกลวงให้ประชาชนเข้าซื้อรางวัลเลขท้ายของรางวัลที่ 1 และรางวัลเลขท้าย 2 ตัว โดยอ้างอิงผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งนำผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ มาประกอบในการเชิญชวนให้มีการเล่นการพนันภายใต้หลายเว็บไซต์ เช่น ร่ำรวย  ร้อยล้าน นพเก้า นาคราช ชอบหวย ล้อตโต้เอ็มเอ็ม ดีเอ็นเอ เยเย่ และอื่นๆ เบื้องต้นพบเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1,000 ล้านบาท พบว่ากลุ่มเครือข่ายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกรณีที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎรได้ส่งเรื่องขอให้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณี กลุ่มผู้บริหารและผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมีพฤติการณ์เป็นขบวนการลักลอบจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในทั้งในและต่างประเทศ และเป็นผู้ซื้อน้ำมันเพื่อการส่งออกแต่ไม่มีการส่งออกอย่างแท้จริงโดยนำกลับมาจำหน่ายในประเทศ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นมีการฟอกเงินรายได้จากบ่อนคาสิโนแนวชายแดน หวยใต้ดินและสินค้าหนีภาษี อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ 2560 ประมวลกฎหมายรัษฎากร และกฎหมายฟอกเงิน เป็นคดีพิเศษที่ 116/2563 ที่สอบสวนอยู่ ซึ่งจากการสอบสวนขยายผล พบพฤติการณ์ต้องสงสัยว่า บริษัท Chindwin สัญชาติเมียนมา ที่แต่งตั้งนายสง่า หรือโกฟุก เป็นตัวแทนดำเนินการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศไทยเพื่อส่งออกไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาโดยได้รับการยกเว้นทางภาษีมีตัวตนหรือไม่ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงดำเนินการขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (MLAT) ตรวจสอบสถานะของบริษัท ชินด์วิน จำกัด (Chindwin Company Limited) ผลการตรวจสอบพบว่าไม่มีการจดทะเบียนในนามบริษัท Chinwind จำกัด ในสารบบนิติบุคคลของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา อีกทั้ง บริษัท Chinwind ไม่ได้เปิดดำเนินการหรือมีสถานประกอบการตามที่ได้ระบุไว้ในเอกสารใบสั่งสินค้า (Purchase Order) บัญชีราคาสินค้า (Invoice) และเอกสารใบรับสินค้า (RECEIVING OF MERCHANDISE) ที่นำมาแสดงต่อบริษัทผู้ขายน้ำมัน จึงมีเหตุจำเป็นต้องตรวจสอบต้นทางคือนิติบุคคลและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งออกน้ำมันไปยังต่างประเทศ คณะพนักงานสอบสวนจึงมีมติร่วมกับพนักงานอัยการที่ร่วมสอบสวน ยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาลเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเข้าตรวจค้นสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง รวม 5 จุด ในวันนี้ ประกอบด้วย

จุดที่ 1 บริษัท ทีพีทีเอ็ม โลจิสติกส์ จำกัด และ บริษัท น้ำโขง โลจิสติกส์ จำกัด  อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

จุดที่ 2 บริษัท ศิธา โลจิสติกส์ จำกัด อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

จุดที่ 3 บริษัท โชคชัยพัฒนาออยล์ จำกัด อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

จุดที่ 4 บริษัท จิดาภา ทรานสปอร์ต จำกัด และ บริษัท สกลพัฒน์ ทรานสปอร์ต จำกัด  อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร

จุดที่ 5 ท่าเรือสินพารา (ท่าเรือโกกวด) หรือ ห้างหุ้นจำกัด สินพาราค้าไม้ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

โดย พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ/โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่บูรณาการ การทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ทำการตรวจค้นในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ส่วนในการปฏิบัติการตรวจค้นในพื้นที่จังหวัดระนองและชุมพร นำโดย ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายอังศุเกติ์  วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม และ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่บูรณาการการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผลการตรวจค้นสามารถพบและยึดสิ่งของเป็นพยานหลักฐานในรูปแบบเอกสารและไฟล์ดิจิทัลเพื่อประกอบสำนวนการสอบสวนต่อไป “พฤติการณ์ของคดีนี้มีเหตุอันควรสงสัยว่านายสง่าฯ กับพวก ได้ร่วมกันหลอกลวงใช้ชื่อบริษัทผู้ซื้อคือ บริษัท Chindwin สัญชาติเมียนมา ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียน ซึ่งไม่มีอยู่จริง มาสร้าง   นิติกรรมอำพรางโดยแสดงเอกสารเท็จเป็นหนังสือแต่งตั้งเป็นตัวแทนผู้ซื้อ เพื่อใช้เป็นคู่ค้าหรือคู่สัญญาในการทำธุรกรรมซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ ๐ ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำไปขายให้กับนายสง่าฯ กับพวกเป็นราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด นายสง่าฯ กับพวก จึงอาศัยช่องทางนี้ในการซื้อน้ำมันราคาถูก และยังมีพฤติการณ์อันควรสงสัยในการลักลอบหนีศุลกากรนำน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายเอากำไรภายในประเทศ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 28,000 ล้านบาท”

กระบี่-รอง ผวจ.กระบี่ พร้อมด้วย ผอ.ปพ. DSI นำป้ายของกลางปิดทับป้ายบริษัทยึดโรงสกัดน้ำมันปาล์มเป็นของกลางสมบูรณ์  

วันที่ 22 เมษายน  2567 พันตำตรวจตรีสุทศวรรศ อารีย์รัตนะนคร  ผู้อำนวยการกองปฎิบัติการพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ  ผู้บัญชาการเหตุการณ์ พร้อมด้วย นายอนุวรรตน์   โหมดพริ้ง  รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่   นำป้าย  ข้อความ”ของกลางในคดีพิเศษที่ 56/2566” ปิดทับป้ายบริษัท ยึดโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มคลองท่อม อ.คลองท่อม จ.กระบี่  สมบูรณ์  โดยมีการสนธิกำลังระหว่าง หน่วยปฎิบัติการพิเศษ ของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ  ตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 426 กระบี่  สั่งการโดย พ.ต.ท.ก้องภพ โพธิ์แสน  ผู้บังคับกองร้อย ต.ช.ด 426 กระบี่  นาวาโทอดิเรก สาทำ  รองผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน 2 กองพลนาวิกโยธิน  กองทัพเรือ  เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิ์การและคุ้มครองแรงงาน  วิศวกรโรงงาน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ นายเติมศักดิ์  เสี่ยมไหม  ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์อ่าวลึก อ.ปลายพระยา  จ.กระบี่  นางจันทิมา  ชตาญาณ ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์คลองท่อม อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ผู้จัดการไฟฟ้าภูมิภาค กระบี่  นิติกรสำนักงานยุติธรรมจังหวัดกระบี่ นายนิติกร  สำนักงานสวัสดิ์การแรงงานจังหวัดกระบี่  พันตำตรวจตรีจตุพล  บงกชมาศ  ผู้อำนวยการกองปฎิบัติการคดีพิเศษภาค ร้อยตำรวจเอกชาญณรงค์  ทับสาร รองผู้อำนวยการกองปฎิบัติการคดีพิเศษภาค  หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 56/2566 และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษใช้อำนาจตาม มาตรา 24 พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ  บุกเข้าควบคุมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มคลองท่อม อ.คลองท่อม จ.กระบี่

ซึ่งเป็นของกลางในคดีพิเศษที่ 215/2565 ควบคุมสั่งหยุดการเดินเครื่องจักรกลสายการผลิตสกัดน้ำมันปาล์มที่บริษัทกระบี่วิเศษน้ำมันปาล์ม จำกัด กำลังเดินเครื่องจักรผลิตน้ำมันปาล์มตามอำนาจของอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  ที่อนุญาตให้บริษัทกระบี่วิเศษน้ำมันปาล์ม จำกัด  ใช้ของกลางโรงงาน มาตั้งแต่ 4 สิงหาคม 2565  โดยมีวิศวกรโรงงาน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเครื่องจักรกล จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ ร่วมตรวจสอบเครื่องจักรกลของกลางทุกชิ้น  ที่ประกอบกันเป็นโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีฐานข้อมูลว่า  เป็นโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่ดีที่สุดของประเทศ  เนื่องจากเครื่องจักรกลทั้งหมดถูกนำเข้าจากต่างประเทศในห้วงเวลาที่มีการก่อสร้างโรงงานแห่งนี้  และ พันตำรวจตรีจตุพล  ได้มีหนังสือที่ ยธ 0817/3049  ถึง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กระบี่วิเศษน้ำมันปาล์ม จำกัด ผู้ใช้ของกลางให้ เตรียมโรงงานให้อยู่ในสภาพครบถ้วนสมบูรณ์ ภายในวันที่ 21 เมษายน 2567 เพื่อการส่งมอบของกลางในครั้งนี้ 

ร้อยตำรวจเอกชาญณรงค์  กล่าวว่า การสนธิกำลังในวันนี้เพื่อที่จะต้องการควบคุมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มให้นิ่ง และเพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับของกลางในคดีพิเศษเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงยุติธรรม ที่ออกโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 และ เนื่องจากตนได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 56/2566 หลังจากที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 215/2565 สืบสวนสอบสวนพบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส)และอดีตเจ้าหน้าที่ธกส.ร่วมกันทุจริต ทำให้ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ ธกส.และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะเจ้าหนี้  ได้รับความเสียหาย จึงส่งสำนวนการสอบสวนไปยัง ป.ป.ช.ตามกรอบกฏหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  และหลังจากที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ประชุมพิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นส่งกลับมาให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีตนจึงถูกแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนในคดีพิเศษที่ 56/2566 หลังจากที่ใช้เวลาสืบสวนสอบสวนตามพยานหลักฐานและการอนุญาตให้ใช้ของกลางซึ่งเป็นโรงงานและส่วนควบร่วม 17 รายการแล้ว  ที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษคดีนี้ได้มีมติให้ รับของกลางจากคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 215/2565 ซึ่งหลังจากควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว คณะพนักงานสอบสวนจะร่วมประชุมกันอีกครั้งว่า จะดำเนินการต่อไปอย่างไรกับของกลางที่เป็นกรรมสิทธิ์เดิมของสมาชิกสหกรณ์ชาวสวนปาล์มกว่า 50,000 ราย 

“หลังจากนี้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 56/2566 จะแยกกันปฎิบัติการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำความผิดทั้งหมดมาเข้าสู่ขบวนการยุติธรรมเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 56/2566 จะเร่งสรุปสำนวนคดี  รายงาน คณะกรรมการ ป.ป.ช.และจะรีบส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดโดยด่วนที่สุดตามนโยบายเร่งคดีของ พันตำรวจเอกทวี  สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  และการบริหารคดีของ พันตำรวจยุธนา  แพร่ดำ รักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมกับการอำนวยความเป็นธรรมและสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนของ ร้อยตำรวจเอกปิยะ รักษ์สกุล  รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ”ร้อยตำรวจเอกชาญณรงค์กล่าว....
กระบี่///ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน

ชลบุรี-DSI ตรวจตู้ 17 คอนเทนเนอร์ ตกค้างพบเนื้อสุกรนำเข้าผิดกฎหมาย

DSI ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจตู้คอนเทนเนอร์ตกค้าง พบเนื้อสุกร ชิ้นส่วนสุกร ผิดกฎหมาย 10 บริษัท นำเข้า โดยมี 4 บริษัท เคยถูกดำเนินคดีไปแล้ว ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ อยากให้ DSI ขยายผลกลุ่มปลอดอากร ที่เป็นกลุ่มใหญ่รวมทั้งห้องเย็นที่จะนำหมูออกมาทุบราคา ตอนหมูมีราคาดีขึ้น

เมื่อวานนี้ 4 มิ.ย.67 ที่ท่าเทียบเรือ D ภายในท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคดีจับกุมขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วย นายดิเรก คชารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่จากกรมประมง นายสัตวแพทย์ จิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี และผู้แทนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเปิดสำรวจตู้คอนเทนเนอร์ และดำเนินการกับตู้ของตกค้างประเภทซากสุกรแช่แข็งและตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมิ (reefer container) อื่น ๆ จำนวน 17 ตู้คอนเทนเนอร์ ที่คงค้างภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง ที่ลักลอบนำเนื้อสัตว์จำพวกเนื้อหมู หมูสามชั้น เครื่องในหมู และปลา เข้าสู่ประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย โดยพบว่ามีทั้งหมด 10 บริษัท ที่นำเข้ามา โดยมี 4 บริษัท ที่เคยถูกดำเนินคดีไปแล้ว ส่วนอีก 6 บริษัท เป็นบริษัท ที่ยังไม่ดำเนินคดี ทางด้านตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ อยากให้ DSI มีการสอบสวนขยายผล เกี่ยวกับการนำเข้าในรูปแบบของการปลอดภาษีอากร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก รวมถึงห้องเย็นในเขตปลอดอาการที่ทำเหมือนส่งออก แต่กลับนำชิ้นส่วนสุกรส่งกลับมากระจายตามห้องเย็นต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำหมูกลุ่มดังกล่าวออกมาทุบราคาตอนหมูเริ่มมีราคาดีขึ้น

นาย อานัน ไตรเดชาพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า อยากให้ DSI ตรวจสอบขยายผลการที่มีเนื้อสุกรเถี่อนลักลอบเข้ามาในประเทศ ในเส้นทางเขตปลอดอากร เนื่องจากเข้ามาทางนี้ได้สิทธิพิเศษโดยการไม่เสียภาษี แล้วปล่อยออกมาสู่ท้องตลาด ซึ่งถือว่าเป็นภัยอย่างมาก เนื่องจากการลักลอบนำเนื้อสุกรเข้ามา มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มสำแดงเท็จ และกลุ่มปลอดภาษีอากร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่กว่ากลุ่มแรก เชื่อว่ากลุ่มนี้ยังคงมีอยู่ทำให้ราคาหมูยังไม่ดีขึ้น จากการรายงานของบริษัท หมูหลายๆ แห่ง เปิดเผยว่ามีหมูเหล่านี้ออกมาก่อกวนตลาด ทำให้ราคาหมูไม่ขึ้น ซึ่งต้องมีการตรวจสอบขยายผลและในขณะนี้ทางสมาคมได้ยื่น 6 ข้อเรียกร้องไปแล้ว โดยมีอยู่ข้อหนึ่งกล่าวถึง ว่ามีการนำเข้าย้อนหลังถึง 1 หมื่นล้าน และมีลูกค้าถึง 100 รายมีอยู่ 1 รายมีการนำเข้าถึง 6 พันล้าน ซึ่งรายงานตัวนี้ จากสื่อสาธารณะส่วนใหญ่ไม่ได้มีการขยายผล ซึ่ง DSI เปิดเผยว่ากำลังติดตามอยู่ แต่ยังไม่ได้เปิดเผยให้สื่อรู้ ในส่วนของห้องเย็นในกลุ่มของเขตปลอดอากร ทำเหมือนส่งออกแล้วส่งกลับมาตามห้องเย็นต่างๆ ทั่วประเทศ เรื่องนี้ DSI ก็ได้ตามว่าห้องเย็นเหล่านี้มีที่ไหนบ้าง เพราะว่าพวกนี้อยู่ในเครือข่ายของการกระทำความผิด แล้วไปกระจายตัว พอเวลาหมูเริ่มจะมีราคาดีขึ้น ก็เอาหมูออกมาทุบราคา ซึ่งเป็นความเสี่ยงของหมู ตามกระบวนการต่างๆ ที่จะยกระดับราคาหมู จะทำได้ยาก ถ้ามีหมูในกลุ่มนี้อยู่

พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ได้มาตรวจตู้คอนเทนเนอร์ที่ลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วนของเนื้อสุกรพวกตับหมู เซ่งจี้ หมูสามชั้น แต่มีตู้ที่ 17 ที่ตรวจพบว่าเป็นปลาและมีเนื้อหมูอยู่ด้านใน จำนวน 17 ตู้ มีทั้งหมด 4 บริษัท ที่ดำเนินคดีไปแล้ว ยังมีที่เหลืออีก 6 บริษัท ที่ยังไม่เคยถูกดำเนินคดี และมีการตรวจยึดในครั้งนี้ด้วย ก่อนหน้านี้มีตู้ตกค้างทั้งหมด 90 ตู้ ซึ่งมี 74 ตู้ ที่ทางปศุสัตว์แจ้งความดำเนินคดีกับสภ.แหลมฉบัง ซึ่งมีการทำลายไปแล้ว ในส่วนนี้จะมีการประสานกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วน 16 ตู้ + 1 ตู้ในวันนี้ กรมศุลกากรฯ ได้ส่งให้ทาง DSI ดำเนินการโดยตรง จึงมาทำการเปิดตู้ดูว่าเป็นสินค้าอะไร เพื่อดำเนินคดี เบื้องต้นพบว่ามี 4 บริษัท ที่เราดำเนินคดีไปแล้ว และอีก 6 บริษัท ที่เราต้องทำการตรวจสอบดำเนินคดีสอบสวนขยายผล ต่อไป

THE STATES TIMES สำรวจความหมาย ‘แชร์ลูกโซ่’ พบระหว่างปี 57-63 เสียหายรวม 3 แสน 9 หมื่นล้าน

(9 ต.ค. 67) แชร์ลูกโซ่ คือหนึ่งในการหลอกลวงที่พบเห็นได้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่แชร์แม่ชม้อยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน The States Times ขอพาผู้อ่านสำรวจถึงความหมาย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการคดโกงที่เรียกว่า ‘แชร์ลูกโซ่’

แชร์ลูกโซ่ คือ การหลอกให้คุณนำเงินไปร่วมลงทุนกับธุรกิจหรืออะไรก็ตามโดยขายฝันความร่ำรวยที่เกินจริงด้วยวิธีการต่างๆ ที่ซับซ้อน เช่น 

- การเปิดระดมทุนไม่อั้น และชวนทุกคนมาร่วมลงทุนด้วย
- บอกว่าผลกำไรในการลงทุนนั้นสูงมาก แต่ตรวจสอบข้อมูลการลงทุนไม่ได้ 
- ถูกคะยั้นคะยอให้รีบตัดสินใจลงทุน
- มีการจัดอบรมสัมมนาใหญ่โต พร้อมทั้งอ้างคนที่มีชื่อเสียงมาร่วมลงทุนเพื่อหว่านล้อมเราอีกด้วย เป็นต้น

ด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้เผยแพร่ผลการวิจัยเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ซึ่งพบว่า ผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 85 รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าเป็นลงทุนแชร์ลูกโซ่ แต่ก็ยังลงทุนเพราะผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับนั้นสูงมาก มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ที่ไม่รู้เลยจริงๆ ว่าที่ตนเองนำเงินไปลงทุนนั้นเป็นการลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่

สำหรับความเสียหายที่เกิดจากแชร์ลูกโซ่นั้น สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มีการเผยแพร่สถิติ I ปี 2563 ไว้ว่า 

สถิติระหว่าง 2557 - 2563
- มีเรื่องมากกว่า 1,290 เรื่อง 
- จำนวนผู้เสียหายกว่า 38,800 คน 
- รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3 แสน 9 หมื่นล้านบาท

‘สว.’ ลุกลี้ลุกลน!! ล้ำหน้า ถึงขั้นจะถอดถอน ‘พ.ต.อ.ทวี’ รัฐมนตรียุติธรรม หลัง ‘ดีเอสไอ’ จ่อรับเป็นคดีพิเศษ จากการถูกร้องเรียน ‘ฮั้ว’ จัดทำโพย

(22 ก.พ. 68) สว.ออกอาการลุกลี้ลุกลนเกินเหตุ ล้ำหน้าถึงขั้นจะถอดถอนรัฐมนตรียุติธรรม โดยไม่ได้ดูข้อเท็จจริงการได้มาของตัวเอง

ลุกลี้ลุกลนเกิน สว.ชุดน้ำเงิน หลังดีเอสไอ จ่อรับไว้เป็นคดีพิเศษ จากการถูกร้องเรียน ‘ฮั้ว’ จัดทำโพย และผลการเลือกเป็นไปตามโพย 138 คน จาก 140 คน ติดสำรองอยู่อีก 2 คน

ลุกลี้ลุกลน เพราะเมื่อข่าวจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และอธิบดีดีเอสไอออกมาว่า จะขอรับทำเป็นคดีพิเศษ สมาชิกวุฒิสภาสายน้ำเงินที่กำลังจัดสัมมนากันอยู่ที่หวดสวนสน หัวหิน กลางคืนร้องรำทำเพลงกันสนุกสนาน แต่พอมีข่าวดีเอสไอจะรับทำเป็นคดีพิเศษ รีบแจ้งกำหนดการแถลงข่าวโต้ดีเอสไอทันทีในเวลา 10.00 น.

เดิมให้ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา แถลงเพียงคนเดียว แต่พอเช้าขึ้นมาถึงเวลาแถลงข่าวตามนัด สว.เดินมายืนเรียงหน้ากันเต็มหมด รวมถึงมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภาด้วย เข้าใจว่าได้มีการประเมินสถานการณ์แล้ว ‘ค่อนข้างแรง’ ต้องตั้งการ์ดดี ๆ กับข้อกล่าวหาหนัก ‘อั้งยี่-ซ่องโจร’ อันเป็นคดีอาญา ไม่ใช่คดีผิด พรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาอย่างเดียวแล้ว สมาชิกวุฒิสภากะเล่นหนักถึงขั้นถอดถอนรัฐมนตรียุติธรรม

สำหรับเนื้อหาในหนังสือลับด่วนที่สุด ซึ่งดีเอสไอแจ้งไปยัง กกต. ระบุว่า การสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีขบวนการจัดตั้งให้ได้มาซึ่ง สว. มีการวางแผนให้มีผู้สมัครระดับอำเภอ กลุ่มละ 5 คน รวม 100 คน ในระดับอำเภอ 928 อำเภอ ค่าตอบแทนระดับอำเภอ 5,000 บาท ระดับจังหวัด 10,000 บาท ระดับประเทศ 4 หมื่นถึง 1 แสนบาท และถ้าได้ สว.มากกว่า 120 คน จะได้เพิ่มจำนวน 100,000 บาท

หลังจากวันที่ 16 มิ.ย.67 ภายหลังผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัด ขบวนการได้นัดหมายผู้สมัครระดับประเทศ ไปจัดทำโพยฮั้ว สว. ในพื้นที่ 3 จังหวัด มีการจ่ายมัดจำ 2 หมื่นบาท ส่วนที่เหลือจะได้รับหลังการรับรองผลการสืบสวนยังพบโพยฮั้ว สว. มีหมายเลข จำนวน 2 ชุด กลุ่มละ 7 คน รวม 140 คน โดยพบผู้สมัครอยู่ในขบวนการประมาณ 1,200 คน สำหรับโพยฮั้ว 2 ชุด พบว่าเป็นผู้ได้รับเลือก 138 คน และอยู่ในลำดับสำรอง 2 คน

ดีเอสไอประสงค์ที่จะรับดำเนินการสอบสวนในส่วนที่พบการกระทำผิดทางอาญาไว้ดำเนินการ เนื่องจากกลุ่มขบวนการมีการวางแผนที่สลับซับซ้อน กระทำการอุกอาจมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ยังไม่ได้พิสูจน์ทราบอีกจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้วิธีการรวบรวมหลักฐานเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบร่องรอยการติดต่อสื่อสาร เส้นทางการเงิน สถานที่จัดประชุม วางแผน สถานที่พบปะติดต่อ พิสูจน์ทราบกลุ่มบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอที ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการ กระทำความผิดของกลุ่มขบวนการ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความพร้อมด้านบุคลากร และเครื่องมือทางด้าน เทคโนโลยีที่จะใช้ในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ทราบเครือข่าย และองคาพยพของกลุ่มขบวนการทั้งหมด นอกจากนี้ พยานสำคัญอาจจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการให้ความคุ้มครองพยาน เพราะเหตุที่พยาน อาจเกรงกลัวต่ออันตรายแก่ชีวิตร่างกาย

ประเด็นคือ สมาชิกวุฒิสภา ควรจะได้พิจารณาข้อเท็จจริงให้แจ่มชัดว่า ข้อกล่าวหาเป็นอย่างไร ผิดกฎหมายไหนบ้าง แล้วพิจารณาข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงว่า มีฮั้วจริงไหม มีโพยให้เลือกจริงหรือไม่ นัดไปรวมพลกันสามจังหวัดเพื่อรับโพย และซักซ้อมกันจริงหรือไม่ รับเสื้อสีเหลือง นั่งรถตู้มาด้วยกันจริงหรือไม่

แต่สมาชิกวุฒิสภาชุดสวนสนกลับรีบลุกขึ้นมาตอบโต้ และชี้ไปด้วยว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจทำคดีนี้ ซึ่งอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าดีเอสไอจะรับส่วนไหนไปทำ แต่กลับออกอาการเกินเหตุ จริงๆ ก็แค่ยุงรำคาญตอนหัวค่ำ แต่กลับ ยิงสลุตออกไปถึงขั้นจะยื่นถอดถอนรัฐมนตรีทวี สอดส่อง มันล้ำหน้านะ

เตรียมชง DSI รับกรณี ‘ซินเคอหยวน’ เป็นคดีพิเศษ พร้อมส่งทีมงานเก็บตัวอย่างเหล็กตึก สตง. ตรวจสอบเพิ่ม

(10 เม.ย.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการตรวจสอบกรณีเหล็กตกมาตรฐานที่อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรณีการครอบครองฝุ่นแดง ของ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด อย่างถึงที่สุดและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ โดยหลังจากนี้จะเข้าเก็บตัวอย่างเหล็กอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 นี้ หลังได้เข้าหารือและร่วมวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าพื้นที่เพื่อให้เกิดความเป็นระบบและตรงตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด โดยในวันนี้ (10 เมษายน 2568) ได้มอบหมายให้ นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงผลดำเนินการตรวจสอบที่ผ่านมา 

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และนางวิรงรอง พรพิมลเทพ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย (สมอ.) ร่วมแถลงข้อเท็จจริงในการตรวจสอบเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรณีการครอบครองฝุ่นแดงของ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด 

"หน้าที่เราคือตรวจสอบว่าได้มาตรฐานหรือไม่ เราบอกไม่ได้ว่าที่ตึก สตง. ถล่มเป็นเพราะเหล็กหรือไม่ เพราะจะมีหน่วยงานที่ตรวจสอบมาประกอบการพิจารณา จะบอกว่าเกิดจากเหล็กไม่ได้มาตรฐานอย่างเดียวก็คงไม่ใช่ ดังนั้น พรุ่งนี้ (11 เม.ย. 2568) ตนและเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ตึก สตง. เพื่อเก็บตัวอย่างเหล็กเพิ่มเติม เพื่อให้มีความรัดกุมและรอบคอบที่สุดมากยิ่งขึ้น ส่วนเหล็กที่เคยตรวจแล้วยืนยันว่าจะไม่ตรวจซ้ำรอบแน่นอนตามมาตรฐาน สมอ. ไม่สามารถเปิดให้ทดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีก" 

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบข้อผิดปกติอีกบางอย่าง อาทิ ค่าไฟฟ้าจากเดิมจ่ายที่เดือนละ 130 ล้านบาท แม้จะลดลงเหลือหลักล้านบาท และหลักแสนบาท แต่ที่พบคือค่าน้ำที่ลดลงน้อยมาก จึงเป็นคำถามที่บริษัทต้องชี้แจงเพิ่มเติม

“ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2567 – มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทีมสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการยึดอายัดเหล็กเส้นกลม เหล็กข้ออ้อย และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ที่ไม่ได้มาตรฐาน จากโรงงานผู้ผลิตในจังหวัดชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี นครราชสีมา และสระแก้ว จำนวน 7 ราย ซึ่งเป็นโรงงานร่วมทุนกับต่างชาติ 4 ราย และโรงงานไทย 3 ราย รวมมูลค่ายึดอายัด 361,413,115 บาท” 

“ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลชี้แจงข้อเท็จจริงจากซินเคอหยวนว่าได้ขายเหล็กล็อตที่มีปัญหาให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรายใดไปบ้างหรือไม่ แต่กลับได้คำตอบเพียงแค่ว่าไม่ได้ขายเหล็กให้โครงการก่อสร้างตึก สตง. โดยตรง จึงไม่สามารถตอบได้ ซึ่งเท่ากับกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ใด ๆ ต่อประชาชน เพราะประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย ว่ามีเหล็กเส้นที่มีปัญหาอยู่ในอาคารอื่น ๆ อีกหรือไม่ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะมอบหมายให้ สมอ. พิจารณาต่อไปว่าในกรณีนี้ถือว่าสามารถเอาผิดฐานไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลตามมาตรา 56 พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้หรือไม่ ส่วนเรื่องการครอบครองฝุ่นแดง ที่ได้ทำหนังสือไปสอบถามข้อเท็จจริงแล้ว ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจาก ซินเคอหยวนเช่นกัน” 

“ในส่วนของ มอก.20 เหล็กเส้นกลม และ มอก. 24 เหล็กข้ออ้อยที่ผลิตจากเตาหลอมเหล็กชนิด IF (Induction Furnace) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลอมเหล็กแบบเก่า ซึ่งมีเสียงวิจารณ์วงกว้างถึงปัญหาเรื่องคุณภาพและความบริสุทธิ์ของเหล็ก รัฐมนตรีเอกนัฏ ได้สั่งการให้ สมอ. ศึกษาแนวทางแก้ไข หรือ ยกเลิก มอก. เหล็กเส้นจากเตาหลอมเหล็ก IF ชนิดนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสม่ำเสมอของมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นไทยในอนาคต” นายพงศ์พล กล่าว

“สำหรับกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า สมอ. ได้ต่ออายุใบอนุญาต มอก. ให้กับ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด เมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมานั้น ขอยืนยันอีกครั้งว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยข้อเท็จจริงคือ บริษัทดังกล่าว ปัจจุบันยังถูกแจ้งเตือนก่อนสั่งพักใช้ใบอนุญาตฯ ตามมาตรา 40 กรณีผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย สินค้าเหล็กเส้นที่ทดสอบไม่ผ่านมาตรฐาน ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ตามการยืนยันของ สมอ. ซึ่งสินค้าไม่ได้มีการต่ออายุใบอนุญาต มอก. ตามข่าวที่เผยแพร่ไปแต่อย่างใด”

ทั้งนี้ วานนี้ (9 เม.ย. 68) นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย สมอ. ได้เข้าพบ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมหารือกันเพื่อวางแนวทางในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเข้าที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบ และกำหนดหน้างานให้ชัดเจน เพื่อให้ใช้เวลาน้อยในการทำงาน ได้ตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด ซึ่งหลังจากที่ได้แบ่งหน้าที่กันและเข้าไปดูหน้างานจริงในที่เกิดเหตุ จึงได้กำหนดเรียงลำดับหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยคิวแรกเป็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่ง สมอ.  มีกำหนดจะเข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็กในที่เกิดเหตุเพิ่มเติม ในวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 

หลังจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูลร่วมกันเพื่อเอาผิดกับโรงงานผลิตเหล็กดังกล่าวตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ซึ่ง DSI สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ เนื่องจากมีความซับซ้อนและกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวม กรณีนี้นับเป็นต้นแบบของการทำงานของหน่วยงานรัฐเพื่อสู้กับธุรกิจศูนย์เหรียญในประเทศไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการกับโรงงานดังกล่าวตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ หากตรวจสอบพบว่ามีการผิดกฎหมายข้อใดจะดำเนินการให้ถึงที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top