Tuesday, 29 April 2025
CoolLife

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นฉบับแรก

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นฉบับแรก ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 โดยเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยาม ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 

โดยเป็นผลพวงหลังการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ) ซึ่งในขณะที่เกิดการปฏิวัตินั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับ ณ พระตำหนักวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดยพระราชบัญญัติธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย ร่างขึ้นโดยแกนนำสำคัญภายในคณะราษฎร โดยในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ กลับพระนคร และในวันเดียวกันนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ และทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาสมาชิกคณะราษฎร 

นอกจากนี้คณะราษฎรยังถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามด้วย แต่พระองค์ทรงขอตรวจร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก่อน ซึ่งพระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันรุ่งขึ้น โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัตินั้นว่า "ชั่วคราว" สืบเนื่องมาจากพระองค์ทรงเห็นว่าหลักการประชาธิปไตยของผู้ก่อการฯ ไม่พ้องกันกับพระประสงค์ของพระองค์ แต่พระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยเพราะเหตุการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้น

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 นี้ใช้เพื่อเป็นกติกาในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งได้ประกาศใช้ถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475เท่านั้น และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

 

ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว_พุทธศักราช_2475


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

วันที่ 28 มิถุนายน ของทุกปีเป็น "วันทหารนาวิกโยธิน" ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ "มาร์ชราชนาวิกโยธิน" เป็นเพลงประจำหน่วย

“ราชนาวิกโยธินไทย” หรือ “ทหารนาวิกโยธินของราชนาวีไทย” อยู่ในส่วนกำลังรบ สังกัดหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินของกองทัพเรือ โดยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยเรียกว่า “ทหารมะรีน” อันเป็นคำทับศัพท์จากคำว่า “Marines” ในภาษาอังกฤษ แต่กิจการทหารมะรีน หรือนาวิกโยธินในอดีตไม่มั่นคงนัก ได้มีการจัดตั้งและยุบเลิกไปหลายครั้ง

กระทั่งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 กองทัพเรือได้ดำเนินการสถาปนากรมนาวิกโยธินขึ้นอีกครั้ง ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยใช้ตึกซึ่งเป็นที่ทำงานของกองกิจการพิเศษ ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นที่ตั้ง ภายใต้คำแนะนำของกองทัพอเมริกัน และได้ถือเอาวันที่ 30 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันสถาปนาหน่วย ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2532 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการจัดหน่วยราชการของกองทัพเรือ เป็นผลให้ “กรมนาวิกโยธิน” แปรสภาพเป็น “หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน”

ทหารนาวิกโยธิน ได้ถือเอาวันที่ 28 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันทหารนาวิกโยธิน” โดยกำหนดให้เป็น วันแห่งประวัติศาสตร์ของทหารนาวิกโยธิน ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ “มาร์ชราชนาวิกโยธิน” เป็นเพลงประจำหน่วยทหารนาวิกโยธินเมื่อ 28 มิถุนายน 2502 และต่อมาคณะนายทหารนาวิกโยธินก็ได้ร่วมกันประพันธ์คำร้องขึ้น และเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินได้ร่วมกันจัดกิจกรรมในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ เนื่องในวันทหารนาวิกโยธินกันอย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบันนาวิกโยธินยังเป็นกำลังรบหลักบนบก ซึ่งมีขีดความสามารถเท่ากับทหารราบของกองทัพบกเลยก็ว่าได้ นาวิกโยธินสามารถร้องขอการสนับสนุนการโจมตีจากทะเลได้ เช่น การระดมยิงจากเรือหรือจรวดไปยังเป้าหมายที่ทำการแจ้งไป การใช้กำลังทางอากาศ ใช้อากาศยานสนับสนุนนาวิกโยธินอย่างใกล้ชิด โดยใช้เครื่อง AV-8S (Harrier) ซึ่งเป็นเครื่องขึ้นลงทางดิ่ง ทำให้นาวิกโยธินสามารถทำการรบได้อย่างมีประสิทธิประภาพมากขึ้น การขนส่งในอดีตนาวิกโยธินจะใช้ยานยนต์สะเทินน้ำสะเทินบกในการบุกหรือเข้ายึดหัวหาด แต่ในปัจจุบันนั้นจะมีการใช้เฮลิคอปเตอร์หรืออากาศยานปีกหมุนเข้าช่วยในการขนส่งนาวิกโยธินเข้าสู่แนวหน้าได้รวดเร็วมากขึ้น

 

ที่มา: เฟซบุ๊ก ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เกิดกบฏแมนฮัตตัน นำโดยทหารเรือจำนวนหนึ่ง ขณะมีพิธีส่งมอบเรือขุดแมนฮัตตันจากสหรัฐฯ กบฏจับตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นตัวประกันไปไว้ที่เรือหลวงศรีอยุธยา ฝ่ายรัฐบาลซึ่งสนับสนุนโดยทหารและตำรวจ ปราบปรามอย่างรุนแรงนาน 2 วัน 3 คืน

กบฏแมนฮัตตัน หรือ กรณีแมนฮัตตัน ชื่อเรียกเหตุการณ์การกบฏในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เมื่อทหารเรือกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "คณะกู้ชาติ" นำโดย น.ต.มนัส จารุภา ร.น.ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์, พลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน, นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบ, นาวาตรีประกาย พุทธารี สังกัดกรมนาวิกโยธิน และ นาวาตรีสุภัทร ตันตยาภรณ์ สังกัดกรมนาวิกโยธิน ทำการกบฏจี้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ระหว่างเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนสัญชาติอเมริกัน ชื่อ "แมนฮัตตัน" ที่ท่าราชวรดิฐ โดยนำไปกักขังไว้ในเรือรบหลวงชื่อ "ศรีอยุธยา" ที่จอดรออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา

ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะผู้ก่อการคิดจะก่อการในลักษณะเช่นนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่สบจังหวะที่เหมาะสม จึงได้แต่เลื่อนออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงเวลาลงมือจริง หลายฝ่ายที่ถูกชักชวนให้ลงมือก็คาดว่าจะต้องมีการเลื่อนอีกแน่นอน จึงมิได้ปฏิบัติการตามแผนที่วางไว้

เหตุที่เลือกเอาวันนี้เป็นวันลงมือ เพราะก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งวัน มีการปล่อยกำลังทหารกองหนุนกลับสู่ภูมิภาค ทำให้จำนวนทหารในพระนครเหลือน้อย เรียกกลับมาประจำการไม่ทัน อีกทั้งพื้นที่บริเวณนี้ก็เป็นเขตของทหารเรือด้วย จึงลงมือได้ง่ายกว่า

 

ที่มา : th.wikipedia.org/wiki/กบฏแมนฮัตตัน


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

วันนี้เมื่อ 29 ปีก่อน นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศยุบสภาฯ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

สืบเนื่องจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวและประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการรัฐประหาร รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เหตุการณ์นี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรง พลเอกสุจินดาประกาศลาออกจากตำแหน่ง ฝ่ายพรรคร่วมเสียงข้างมาก ร่วมกันสนับสนุนให้ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่แล้วนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ได้ตัดสินใจเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ แทนที่จะเป็นพลอากาศเอกสมบุญ ระหงส์

นายอานันท์ ปันยารชุน ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยรัฐมนตรีส่วนใหญ่ เป็นรัฐมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยแรก และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ได้ประกาศยุบสภาฯ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งครั้งใหม่ 

 

 

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/อานันท์_ปันยารชุน

https://th.wikipedia.org/wiki/พฤษภาทมิฬ


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

1 กรกฎาคมของทุกปี เป็น "วันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ" หรือ "วันลูกเสือ"

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงทราบเรื่องการสู้รบเพื่อรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ของลอร์ด โรเบิร์ต เบเดน-โพเอลล์ (Lord Robert Baden-Powell) ซึ่งตั้งกองทหารเด็กเป็นหน่วยสอดแนมช่วยรบในการรบกับพวกบัวร์ (Boer) จนประสบผลสำเร็จ และเป็นที่มาของการตั้งกองลูกเสือขึ้นในประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 

เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยก็ได้ทรงจัดตั้งกองเสือป่า (Wild Tiger Corps) ขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร ต่อจากนั้นอีก 2 เดือน ก็ได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ด้วยมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง

จากนั้น ทรงตั้งกองลูกเสือกองแรก ขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือ ตามโรงเรียนต่าง ๆ รวมถึงกำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้นประกาศใช้เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม รศ.130 (พ.ศ. 2454) กำหนดให้ลูกเสือเป็นสาขาหนึ่งของเสือป่า ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญไว้ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” โดยผู้ที่นับว่าเป็นลูกเสือไทยคนแรกคือ นายชัพน์ บุนนาค ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “นายลิขิตสารสนอง”

เพื่อเป็นการระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงก่อตั้งกิจการลูกเสือไทยให้พัฒนารุ่งเรือง มาจวบจนทุกวันนี้ ทางราชการจึงกำหนดให้ทุกวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น "วันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ" หรือ "วันลูกเสือ"

 

ที่มา : https://hilight.kapook.com/view/38711

https://th.wikipedia.org/wiki/คณะลูกเสือแห่งชาติ


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

วันนี้เมื่อ 27 ปีก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอนุสรณ์สถานแห่งชาติ

วันนี้เมื่อ 27 ปีก่อน ซึ่งตรงกับวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอนุสรณ์สถานแห่งชาติ

โดยอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เกิดขึ้นจากดำริของ พลเอกสายหยุด เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดสร้างอนุสาวรีย์เพื่อบรรจุอัฐิของผู้เสียชีวิตในสงครามต่าง ๆ เช่น อนุสาวรีย์ทหารอาสา เป็นที่ระลึกสำหรับผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1, อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สำหรับเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สำหรับกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่ 2 

แต่ยังมีการสู้รบเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง เช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม การปราบปรามผู้ก่อการร้าย มีผู้เสียชีวิตทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพเป็นประจำทุกปี แต่อัฐิของผู้พลีชีพเพื่อชาติเหล่านี้ยังคงเก็บรวบรวมไว้ และยังมิได้จัดสร้างถาวรวัตถุขึ้นเป็นอนุสรณ์อย่างสมเกียรติ

กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารอนุสรณ์วีรชนแห่งชาติเป็นส่วนรวม โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 และพระราชทานนามสถานที่นี้ว่า “อนุสรณ์สถานแห่งชาติ”

โดยอนุสรณ์สถานแห่งชาติประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ส่วน ประกอบไปด้วยหมู่อาคารต่าง ๆ อาทิ ลานประกอบพิธี อาคารประกอบพิธี อาคารประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร อาคารภาพปริทัศน์ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง นิทรรศการภายในเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์และวีรกรรมสำคัญในการสู้รบต่าง ๆ ของไทย วิวัฒนาการเครื่องแบบทหารต่าง ๆ ของไทย เป็นต้น ส่วนผนังกำแพงโดยรอบอาคารประกอบพิธี จารึกนามผู้กล้าหาญที่เสียชีวิตในการสู้รบเพื่อปกป้องประเทศชาติในการสู้รบในสมรภูมิรบต่าง ๆ ส่วนภายในอาคารปริทัศน์แสดงภาพวาดสีน้ำมันเขียนด้วยสีอคริลิค เป็นภาพจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านเหตุการณ์การสู้รบต่าง ๆ โดยมีอาจารย์ปรีชา เถาทอง เป็นหัวหน้าคณะออกแบบ

 

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/อนุสรณ์สถานแห่งชาติ


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสรัสเซียและได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-รัสเซียอย่างเป็นทางการ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสรัสเซีย ในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของพระองค์

โดยในการประพาสรัสเซียครั้งนั้น รัฐบาลสยามได้แต่งตั้งราชทูตประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กคนแรก คือ พระยาสุริยานุวัตร (เล็ก บุนนาค) ซึ่งเป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำกรุงปารีสให้มาเป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศรัสเซีย โดยมีถิ่นที่พำนักในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ.1897 จนถึงปี ค.ศ. 1899 รัฐบาลสยามจึงได้ส่งพระชลบุรีนุรักษ์มาเป็นราชทูตคนที่สองประจำประเทศรัสเซีย ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 และเป็นราชทูตคนแรกของไทยที่มีถิ่นที่พำนักในประเทศรัสเซีย และให้มีฐานะเป็นผู้แทนส่วนพระองค์ประจำราชสำนัก 

ซึ่งเป็นกุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองรัฐเป็นความสัมพันธ์พิเศษระหว่างราชวงศ์ และขณะเดียวกันก็เป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ที่ต้องการให้พระยามหิบาลบริรักษ์ทำหน้าที่ดูแลสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ภูวนาถในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยทหารมหาดเล็กคอร์ เดอ ปาฌ และทรงประทับอยู่ในพระราชวังฤดูหนาวในฐานะพระโอรสบุญธรรมของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เป็นประการสำคัญ 

จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 124 ปีแล้ว ที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและรัสเซียดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะปรากฏเหตุการณ์ต่าง ๆ ของโลกหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศผันแปรไปในทิศทางต่าง ๆ หากแต่ว่าการเสด็จเยือนรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่งของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและรัสเซีย


ที่มา : https://moscow.thaiembassy.org/th/page/76223

วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387 หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย หนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับปฐมฤกษ์เริ่มออกวางแผง

เมื่อ 177 ปีก่อน หนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอร์เดอร์ หรือ The Bangkok Recorder เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย เผยแพร่ครั้งแรกตรงกับวันชาติสหรัฐอเมริกาคือวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387 โดยนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley) หรือ “หมอบรัดเลย์” มิชชันนารีอเมริกันในสยามเป็นผู้จัดพิมพ์

โดยหนังสือพิมพ์ บางกอกรีคอร์เดอร์ ตีพิมพ์ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2387-2388 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยได้ออกเป็นฉบับรายเดือนและได้กลับมาฟื้นฟูในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อีกครั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2407-2411 โดยเปลี่ยนจากหนังสือพิมพ์รายเดือนเป็นรายปักษ์หรือรายครึ่งเดือน

โดยรูปแบบหนังสือพิมพ์มีจัดพิมพ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ออกปักษ์ละ 2 ใบ มี 4 หน้า โดยฉบับภาษาไทยขนาด 6"x9" ฉบับภาษาอังกฤษจะมีขนาดใหญ่กว่าคือขนาด 12"x18" รูปแบบการจัดหน้าแบ่งออกเป็น 2 คอลัมน์ มีภาพประกอบคือภาพวาดขายปลีกใบละสลึงเฟื้อง ถ้าซื้อแบบพิมพ์เป็นเล่มรวมเมื่อปลายปีขายเล่มละ 5 บาท เล่มหนึ่งมี 26 ใบ

เนื้อหาในหนังสือพิมพ์มีลักษณะเป็นตำรา ข่าวทั้งต่างประเทศและในประเทศ ในแต่ละฉบับมีข้อมูลสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ การแพทย์และการสาธารณสุข คำศัพท์สำนวนภาษาอังกฤษ พงศาวดารต่างชาติ ราคาสินค้า และเรื่องที่น่าสนใจอื่น ๆและมีการนำเสนอ เป็นการรายงานข่าวและการเขียนบทความแบบวิพากษ์ วิจารณ์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ จุดประสงค์ของหนังสือพิมพ์เล่มแรกฉบับนี้ หมอบรัดเลย์พยายามเน้นให้คนเห็นว่า "หนังสือพิมพ์คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร พยายามชี้ให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์นั้นมีคุณต่อบ้านเมืองเป็นอันมาก เป็นแสงสว่างของบ้านเมือง คนชั่วเท่านั้นที่กลัวหนังสือพิมพ์ เพราะกลัวว่าหนังสือพิมพ์จะประจานความชั่วของตน”

หนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอร์เดอร์ ถือเป็นปฐมบทการพิมพ์และการสื่อสารมวลชนในประเทศไทย เป็นการริเริ่มหนังสือพิมพ์แบบตะวันตกในประเทศไทย ทำให้มีการสื่อสารสองทางระหว่างผู้สื่อสารกับผู้รับสาร เช่น จดหมายร้องทุกข์ และเนื่องจากการตอบโต้ของรัชกาลที่ 4 ต่อเนื้อหาที่ให้ข่าวที่ผิด และการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของราชสำนักอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดหนังสือเผยแพร่ข่าวสารของราชการ คือ ราชกิจจานุเบกษา อีกด้วย

 

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/ บางกอกรีกอเดอ


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2230 นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก “เซอร์ไอแซก นิวตัน” ผู้คิดค้น และได้เผยแพร่กฎแห่งแรงดึงดูดของโลกได้สำเร็จ

นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นกฎแรงโน้มถ่วง กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง และเป็นเจ้าทฤษฎีแคลคูลัส ทุกคนก็คงต้องนึกถึงนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อว่า “เซอร์ไอแซก นิวตัน” อย่างแน่นอน ด้วยความสามารถอันรอบด้านของบุคคลท่านนี้ ที่ได้คิดค้นและประดิษฐ์สิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากมายให้แก่คนรุ่นหลัง 

นิวตัน เกิดวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1642 เมืองลินคอร์นเชียร์ ประเทศอังกฤษ การค้นพบกฎแรงดึงดูดของโลก (Law of Gravitation) นิวตันได้ค้นพบทฤษฎีโดยบังเอิญ เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันหนึ่งขณะที่นิวตันกำลังนั่งดูดวงจันทร์ แล้วก็เกิดความสงสัยว่าทำไมดวงจันทร์จึงต้องหมุนรอบโลก ในระหว่างที่เขากำลังนั่งมองดวงจันทร์อยู่เพลิน ๆ ก็ได้ยินเสียงแอปเปิ้ลตกลงพื้น เมื่อนิวตันเห็นเช่นนั้นก็ให้เกิดความสงสัยมากขึ้นไปอีกว่า ทำไมวัตถุต่าง ๆ จึงต้องตกลงสู่พื้นดินเสมอ ทำไมไม่ลอยขึ้นฟ้าบ้าง ซึ่งนิวตันคิดว่าต้องมีแรงอะไรสักอย่างที่ทำให้แอปเปิ้ลตกลงพื้นดิน จากความสงสัยข้อนี้เอง นิวตันจึงเริ่มการทดลองเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงของโลก 

การทดลองขั้นแรกของนิวตัน คือ การนำก้อนหินมาผูกเชือก จากนั้นก็แกว่งไปรอบ ๆ นิวตัน สรุปจากการทดลองครั้งนี้ว่าเชือกเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ก้อนหินแกว่งไปมารอบ ๆ ไม่หลุดลอยไป ดังนั้น สาเหตุที่โลก ดาวเคราะห์ ต้องหมุนรอบดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ต้องหมุนรอบโลกต้องเกิดจากแรงดึงดูดที่ดวงอาทิตย์ที่มีต่อโลก และดาวเคราะห์ และแรงดึงดูดของโลกที่ส่งผลต่อดวงจันทร์ รวมถึงสาเหตุที่แอปเปิ้ลตกลงพื้นดินด้วยก็เกิดจากแรงดึงดูดของโลกด้วย นอกจากกฎแห่งแรงดึงดูดของโลก นิวตันยังตั้งกฎเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของวัตถุ (Law of Motion) ไว้ทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่

(1.) วัตถุจะอยู่ในสภาพคงที่หรือเคลื่อนที่อย่างสม่ำเสมอ ถ้าไม่มีแรงจากภายนอกมากระทำต่อวัตถุนั้น

(2.) เมื่อมีแรงลัพธ์ที่ไม่เป็นศูนย์มากระทำต่อวัตถุ จะทำให้วัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร่งในทิศเดียวกับทิศของแรงลัพธ์และขนาดของความเร่งนี้จะแปรผันตรงกับขนาดของแรงลัพธ์และแปรผกผันกับมวลของวัตถุนั้น

(3.) แรงกิริยาและแรงปฏิกิริยาจะเท่ากันเสมอ หมายถึง เมื่อมีแรงมากระทำต่อวัตถุนั้นเท่าใด ก็จะเกิดแรงปฏิกิริยาโต้ตอบในทิศทางตรงกันข้ามเท่ากัน

นิวตันได้ค้นพบกฎเกี่ยวกับแรงดึงดูดของโลกแต่ก็ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ จนกระทั่งวันหนึ่งเอ็ดมันต์ ฮัลเลย์ (Edmund Halley) นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับแรงดึงดูดเช่นกัน ได้เดินทางมาพบกับนิวตัน เพื่อซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับแรงดึงดูด ซึ่งนิวตันสามารถตอบข้อสงสัยของฮัลเลย์ได้ทั้งหมด ทำให้ฮัลเลย์รู้สึกโกรธแค้นที่นิวตันสามารถค้นพบกฎแห่งแรงดึงดูดได้ก่อนเขา ดังนั้น เขาจึงกล่าวหานิวตันว่าขโมยความคิดของเขาไป เพื่อน ๆ และลูกศิษย์ของนิวตันจึงบอกให้นิวตันนำผลงานของเขาออกเผยแพร่ลงในหนังสือชื่อว่า The Principia โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Philosophiae Naturalis Principia Mathematica ซึ่งมีทั้งหมด 3 เล่ม เล่มแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎการเคลื่อนที่ เล่มที่สองเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของวัตถุ ส่วนเล่มสุดท้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับแรงดึงดูดของโลก หลังจากหนังสือ 3 เล่มนี้เผยแพร่ออกไป ข้อกล่าวหาของเอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ ก็เป็นอันตกไป ผลงานการค้นพบกฎแห่งแรงดึงดูดทำให้นิวตันมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานยอดเยี่ยม ส่วนหนังสือของเขาก็ได้รับการชื่นชมว่าเป็นหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งเลยทีเดียว 

นิวตันอธิบายการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ได้ด้วยกฎความโน้มถ่วงที่เขาคิดค้นขึ้น เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งทำให้วัตถุกายภาพทั้งหมดดึงดูดเข้าหากัน ความโน้มถ่วงทำให้วัตถุกายภาพมีน้ำหนักและทำให้วัตถุตกสู่พื้นเมื่อปล่อยมาแรงโน้มถ่วงจะเป็นแรงที่เราไม่สามารถรับรู้ได้มากนักเพราะความเบาบางของแรงที่กระทำต่อเรา แต่ก็เป็นแรงเดียวที่ยึดเหนี่ยวเราไว้กับพื้นโลก แรงโน้มถ่วงมีความแรงแปรผันตรงกับมวล และแปรผกผันกับระยะทางยกกำลังสอง ไม่มีการลดทอนหรือถูกดูดซับเนื่องจากมวลใด ๆ ทำให้แรงโน้มถ่วงเป็นแรงที่สำคัญมากในการยึดเหนี่ยวเอกภพไว้ด้วยกัน 

นอกเหนือจากความโน้มถ่วงที่เกิดระหว่างมวลแล้ว ความโน้มถ่วงยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการที่เราเปลี่ยนสภาพการเคลื่อนที่ตามกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน เช่น การเพิ่มหรือลดความเร็วของวัตถุ การเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ เป็นต้น กฎความโน้มถ่วงของนิวตันไม่เพียงแต่ใช้อธิบายการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ยังนำไปสู่การประยุกต์ใช้มากมาย เช่น ส่งดาวเทียมไปโคจรรอบโลก การส่งยานอวกาศไปยังดาวพลูโต จนถึงการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ได้ด้วย แต่กฎความโน้มถ่วงของนิวตันไม่สามารถอธิบายการโคจรของดาวพุธได้ เนื่องจากวงโคจรรูปวงรีของดาวพุธมีการบิดหมุนไปเรื่อย ๆ จึงมีทฤษฎีความโน้มถ่วงแบบใหม่ที่อาจรื้อแนวคิดของ 'นิวตัน' กับ 'ไอน์สไตน์' นั่นคือทฤษฎีแรงเอนโทรปิกของเอริก เวอร์ลินด์

 

ที่มา : https://sites.google.com/site/raengnomthwngnilokbilek/home/sexr-xi-saekh-ni-w-tan


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 “ หลุยส์ ปาสเตอร์” ผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สำเร็จเป็นคนแรกของโลก

หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักเคมี และนักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส นอกจากจะโด่งดังจากความสำเร็จในการคิดค้นกระบวนการถนอมอาหารโดยการใช้ความร้อนที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ หรือที่เรียกว่ากระบวนการ “พาสเจอร์ไรเซชัน (Pasteurization)” แล้ว ยังเป็นผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำเร็จเป็นคนแรกของโลกอีกด้วย

วันที่ 6 กรกฎาคม 1885 โจเซฟ เมสเตร์ (Joseph Meister) เด็กชายวัย 9 ขวบ ผู้มีบาดแผลจากการถูกสุนัขกัดถึง 14 รอย และกำลังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ใกล้ความตายเต็มทน ได้เดินทางมาพร้อมกับแม่ของเขาจากแคว้นอัลซาส ชายแดนของประเทศฝรั่งเศสมายังกรุงปารีสเพื่อพบกับหลุย ปาร์สเตอร์ ซึ่งในขณะนั้นได้ทำการทดลองวัคซีนป้องกันไวรัสพิษสุนัขบ้ามาได้ระยะหนึ่ง หากแต่ยังไม่เคยทดลองใช้วัคซีนดังกล่าวกับมนุษย์

แม้หลุยส์ ปาสเตอร์จะไม่มั่นใจว่าวัคซีนดังกล่าวจะใช้ได้ผลกับคนหรือไม่ก็ตกลงใจฉีดวัคซีนให้กับเด็กชาย ด้วยความรู้สึกสงสารแม่ของเด็กชายที่ร้องไห้ด้วยความเศร้าใจที่จะต้องมองดูลูกชายของตนเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา หลังจากเสร็จสิ้นการฉีดวัคซีน ปาสเตอร์เฝ้าติดตามอาการของเด็กชายอย่างใกล้ชิดด้วยความกังวลใจอยู่กว่า 3 อาทิตย์ กระทั่งเด็กชายมีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ จนหายดีเป็นปกติ

ในเวลาต่อมาเมื่อสถาบันวิทยาศาสตร์ได้เผยแพร่ข่าวความสำเร็จในการทดลองใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ผู้คนนับร้อยที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าก็แห่แหนกันมาขอรับวัคซีนที่ห้องทดลองของปาร์สเตอร์ผู้เป็นความหวังเดียวของพวกเขา

 

ที่มา : https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_18081


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top