Friday, 19 April 2024
Columnist

รู้จัก Land Bridge หรือ ‘สะพานแผ่นดิน’ เส้นทางขนส่งร่นระยะทาง

วีคนี้จึงมาขอมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับ Land Bridge กันสักหน่อยว่ามีความเป็นมาอย่างไรบ้าง...

Land Bridge หรือแปลเป็นไทยว่า ‘สะพานแผ่นดิน’ เดิมเป็นคำศัพท์ทางชีวภูมิศาสตร์ หมายถึง พื้นที่ที่เป็น ‘คอคอด’ ซึ่งเชื่อมแผ่นดินขนาดใหญ่เข้าด้วยกัน และใช้เป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของสัตว์ต่าง ๆ เช่น พื้นที่ประเทศปานามาที่เชื่อมระหว่างทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปอเมริกาใต้

ต่อมาเริ่มมีการใช้คำนี้ในทางคมนาคม คือ เส้นทางทางบก เพื่อใช้เชื่อมโยงระหว่างทะเลหรือมหาสมุทร แทนการใช้การขนส่งทางทะเล

ในช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น มักจะใช้กับการขนส่งทางบกในระยะทางที่ไม่ไกล เนื่องจากระบบการขนส่งทางบกยังไม่พัฒนา สภาพเป็นทางเกวียนหรือเส้นทางธรรมชาติเป็นหลัก ส่งผลให้ใช้เวลาเดินทางนานและขนส่งได้น้อย เพราะข้อจำกัดของสภาพถนนและยานพาหนะ ทำให้ต้นทุนการขนส่งทางบก สูงกว่าการขนส่งทางทะเลที่ระยะทางไกลกว่า

เมื่อมีการพัฒนาระบบรถไฟหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งทางบกลดต่ำลง เพราะสามารถขนสินค้าได้ครั้งละจำนวนมากและทำความเร็วได้ดีกว่าเดิม เส้นทาง Land Bridge จึงมีระยะทางยาวขึ้น

ในช่วงปี 1880 มีโครงการแรกที่ถือได้ว่าเป็น Land Bridge สมัยใหม่ที่ใช้การขนส่งระบบราง คือ เส้นทาง Canadian Pacific Railway ที่เชื่อมโยงสองฝั่งของประเทศแคนาดา เนื่องจากช่วงนั้นมีการนำเข้าสินค้าราคาสูง เช่น ผ้าไหม เครื่องเทศ ชา จากเอเชียไปยังยุโรป โดยวิธีเดิมคือการขนส่งทางเรืออ้อมทวีปแอฟริกาหรืออ้อมทวีปอเมริกาใต้

แต่การใช้เส้นทางนี้ ช่วยร่นระยะทางด้วยการขนส่งข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วขึ้นฝั่งทางตะวันตกของแคนาดาและขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อไปยังท่าเรือทางตะวันออกของประเทศ แล้วขนส่งสินค้าทางเรือต่อไปยังยุโรป

อย่างไรก็ตามเส้นทางขนส่งสินค้านี้ ได้รับความนิยมอยู่ประมาณ 40 ปี ก็กลับไปใช้การขนส่งทางทะเล เพราะมีการขุดคลองสุเอชและคลองปานามาที่ช่วยลดระยะเวลาในการเดินเรือ แต่เมื่อคลองสุเอชและคลองปานามา มีข้อจำกัดทางการใช้งานและปัญหาทางการเมือง การขนส่งสินค้าทาง Land Bridge ของอเมริกาเหนือ ก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นได้ว่า การเลือกเส้นทางการขนส่งสินค้ามีปัจจัยประกอบหลายด้าน ทั้งในด้านเทคโนโลยีการขนส่ง ความสามารถของคู่แข่ง หรือรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีระยะเวลาคืนทุนหลายสิบปี จึงควรพิจารณาให้รอบคอบเพราะเหตุการณ์ในอนาคตอาจไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้

เขียนโดย อาจารย์ ศรัณย์ ดั่นสถิตย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา 


ที่มา:
https://transportgeography.org/contents/applications/transcontinental-bridges
https://www.britannica.com/science/land-bridge

5 เคล็ดลับการพูดให้ดูแพง ในโลกของการทำงาน การพูดเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ

ใครๆ ก็พูดได้ ใครๆ ก็พูดเป็น แต่จะพูดอย่างไรให้ดูดีมีราคา และมีเสน่ห์น่าประทับใจ บางคนบุคลิกภาพดี หน้าตาดี แต่งตัวดี แต่พอพูดออกมา หมดเสน่ห์ไปเลยก็มี ต่างจากบางคน บุคลิกหน้าตาการแต่งตัวแสนจะธรรมดา แต่พอพูดออกมาช่างน่าฟังและมีเสน่ห์ดึงดูดใจ ติดตราตรึงใจไม่รู้ลืม เป็นเพราะอะไร ความลับเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยไหน อย่างไร เรามาดูกันค่ะ

ถ้าคุณอยากเป็นคนหนึ่งที่ต้องการพูดแล้วให้มีเสน่ห์และแลดูแพง จงทำสิ่งต่อไปนี้
.
1. ฝึกพูดให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย โดยเฉพาะเรื่อง วรรณยุกต์ อักขระ และควบกล้ำ

วิธีฝึก ให้อ่านหนังสือออกเสียงเบาๆ แต่จริงจัง พวกเราติดนิสัยการอ่านหนังสือในใจ จึงทำให้ขาดทักษะในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ทั้งๆ ที่ภาษาไทย เป็นภาษาที่ไพเราะมาก คนที่พูดได้ไพเราะ ให้ภาษาได้ดี สละสวยฟังเพลินเหมือนฟังดนตรี เป็นเพราะเขาออกเสียงได้ตรงตามหลักของภาษาไทยนั่นเอง

2. ฝึกการแบ่งวรรคตอนให้ดี พูดให้เป็นจังหวะ อัตราความช้าเร็วของการพูดไม่มากไป ไม่น้อยไป จังหวะการพูดให้สอดคล้องกับจังหวะของลมหายใจของผู้พูด 

วิธีฝึก กำหนดจังหวะการพูดด้วยการตั้งคำถาม  ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร 

3. การปรับระดับน้ำเสียงให้สอดคล้องกับเรื่องที่เรากำลังพูด ระดับของน้ำเสียงต้องสอดคล้องกับอารมณ์และความรู้สึกในเรื่องที่คุณกำลังพูด คุณต้องการสื่อสารให้ผู้ฟังรู้สึกอย่างไร กำหนดอารมณ์ของคุณให้ชัด เช่น มีแรงบันดาลใจ ฮึกเหิม ลุกขึ้นสู้ กังวลใจ เห็นอกเห็นใจ เช้าใจ เศร้า เสียใจ หมดหวัง สะใจ เสียดาย ฯลฯ

วิธีฝึก การฝึกพูดจากอินเนอร์ พูดให้เหมือนการร้องเพลง ลีลาให้เหมือนนักแสดง


4. ฝึกการใช้ภาษากายและลีลาท่าทางให้มีประสิทธิภาพ บุคลิกภาพการพูดการใช้ภาษากายได้ดี จะมีอิทธิพลต่อผู้ฟังมากที่สุด เช่น การใช้สายตา การใช้มือ การเคลื่อนไหวของร่างกาย ท่าท่างที่มั่นใจ สามารถสร้างเสน่ห์ ดึงดูด และสร้างความเชื่อมั่นได้มากทีเดียว

วิธีฝึก ประสานสายตากับผู้ฟังขณะที่พูด แต่ไม่ต้องถึงกับจ้อง ภาษามือใช้ซ้ายขวาพอประมาณ อย่าให้ดูวุ่นวายจนเกินไป


5. พูดเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังเท่านั้น เรื่องบางเรื่องเป็นความจริง แต่ความจริงนั้นไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่ควรพูด เช่น เพื่อนถูกแฟนทิ้ง ความจริงคือเพื่อนถูกทิ้ง แต่พูดแล้วเกิดประโยชน์ไหม ถ้าไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่ควรพูด 

วิธีฝึก การพูดที่ดี ผู้พูดต้องมีจิตวิทยาการพูด เรื่องที่เราพูดคู่สนทนาเราอยากฟังหรือไม่ เพราะในมุมของคนฟังเขาต้องการได้ยินในเรื่องที่เขาชอบ มีประโยชน์และทำให้เขาสบายใจเท่านั้น

การพูดไม่ยาก ทุกคนสามารถพูดได้ แค่รู้วิธี

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล: #สโมสรการพูดแห่งประเทศไทย #ระบบโทสมาสเตอร์สากล 
พัฒนาศักยภาพด้านการพูดและบุคลิกภาพ ได้ที่ #Talktonitima

สินค้า FMCG หรือ Fast-Moving Consumer Goods “โอกาส” ในตลาดชนบทอินเดีย

คนทั่วไปมักจะมองว่าอินเดียมีแต่ผู้คนที่ยากจนไม่มีกำลังซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท ซึ่งแน่นอนว่าผู้บริโภคอินเดียในเขตชนบทย่อมมีกำลังซื้อต่ำกว่าคนในเขตเมือง แต่ถ้าคิดให้ดีจะพบว่าไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ยังไงๆ ก็ต้องกินต้องใช้สินค้าที่จำเป็นขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งก็คือสินค้าอุปโภคบริโภคที่นิยมเรียกกันว่า FMCG หรือ Fast-Moving Consumer Goods นั่นเอง โดย FMCG จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขายได้เร็วเพราะคนทั่วไปต้องใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป

ที่สำคัญก็คือ แนวโน้มการบริโภคสินค้า FMCG ในเขตชนบทของอินเดียกลับมีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดชนบทอินเดียประกอบไปด้วยหมู่บ้านประมาณ 650,000 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 850 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของประชากรทั้งหมดของอินเดียและมีสัดส่วนของ GDP อยู่ที่ประมาณ 50% ของ GDP รวมทั้งประเทศ

และด้วยแนวโน้มการขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องรวมทั้งมีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล ก็เลยส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทจําหน่ายสินค้า FMCG  หลายบริษัทในอินเดียกลับมาบุกตลาดชนบทอินเดียอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่าผู้บริโภคในชนบทจะเลือกซื้อสินค้าที่มีแบรนด์แทนสินค้าขายปลีกที่ไม่มีแบรนด์ ซึ่งถือเป็นโอกาสของบริษัทเหล่านี้ในการผลักดันผลิตภัณฑ์อาทิ สบู่ แชมพู บิสกิต เครื่องดื่ม และอาหารแปรรูปในบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าอาจจะต้องตั้งราคาต่ำกว่าก็ตาม โดยอุปสงค์ในสินค้า FMCG จากตลาดชนบทเติบโตเร็วกว่าจากตลาดในเมืองมาหลายไตรมาสแล้ว และคาดว่าอุปสงค์ในเมืองเล็กและเขตชนบทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Nestle India วางแผนที่จะขยายการเข้าถึงผู้บริโภคในเขตชนบทเพิ่มขึ้น 120,000 หมู่บ้านภายในปี 2567 โดย Nestle India พยายามที่จะขยายตลาดไปยังเขตชนบทมาหลายปีแล้ว โดยในปี 2560 สินค้าของบริษัทฯ วางจําหน่ายอยู่ในหมู่บ้านราว 1,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ แต่ในปี 2561 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 89,000 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ยอดขายราว 75% ของ Nestle India มาจากเขตเมือง และที่เหลือมาจากเขตชนบท เพราะฉะนั้นการขยายตลาดไปยังเขตชนบทเพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงการปรับสัดส่วนสินค้าหรือการออกสินค้าใหม่ที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัท Nielsen ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดระบุว่ายอดขายสินค้า FMCG ในเขตชนบทคิดเป็น 39% ของยอดขายสินค้า FMCG ในอินเดียทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าตลาดชนบทอินเดียยังเติบโตได้อีกมาก นอกจากนี้ Nielsen ยังระบุอีกว่าตลาด FMCG ในเขตชนบทยังขยายตัวอยู่ในอัตราสูงราว 14.2% ในเดือนธันวาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนในเขตเมืองเติบโตเพียง 0.8% เท่านั้น ซึ่งตลาดชนบทในช่วงก่อน COVID-19 เติบโตอย่างเชื่องช้าเนื่องจากข้อจํากัดด้านรายได้ แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทําให้มีการอพยพออกจากเมืองใหญ่มากขึ้น และการบริโภคในเขตเมืองเล็กและชนบทก็เติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการขยายตัวของรายได้ต่อหัวในตลาดเหล่านี้อาจมีความท้าทายอยู่ บริษัท FMCG จึงอาจจะใช้กลยุทธ์ในการออกสินค้าแบบเน้นความคุ้มค่า (Value Pack) เพื่อที่จะแข่งขันกับคู่แข่งในท้องถิ่นได้

Marico เป็นอีกหนึ่งบริษัท FMCG ของอินเดียที่ได้เพิ่มจํานวนผู้ค้าส่งในเขตชนบท ซึ่งทําให้บริษัทฯ อาจจะสามารถขยายการกระจายสินค้าได้ถึง 20% ในอีกไม่กีปีข้างหน้า เช่นเดียวกับบริษัทผลิตบิสกิต Britannia Industries ที่ได้เพิ่มจํานวนผู้จัดจําหน่ายในตลาดชนบทจาก 19,000 รายในเดือนมีนาคม 2563 เป็น 23,000 รายในเดือนธันวาคม 2563

ทั้งนี้ การบริโภคในเขตชนบทอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากระดับรายได้และความต้องการสินค้าใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น โดยตลาดสินค้า FMCG ในเขตชนบทคาดว่าจะเติบโตจาก 2.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ  ในปี 2561 เพิ่มเป็น 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 อย่างไรก็ตาม การซื้อขายในตลาดชนบทส่วนใหญ่ยังเป็นการค้าขายแบบค้าปลีกตามร้านค้าขนาดเล็กและไม่เป็นระบบ (Kirana Store) หรือเรียกง่ายๆ แบบบ้านเราก็คือร้านโชห่วยนั่นเอง ผู้ค้าสินค้า FMCG ขนาดใหญ่ที่เป็นระบบจึงอาจจะวางแผนเจาะตลาดโดยการสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านร้านค้าปลีกที่ทันสมัย และมีการกระจายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซไปพร้อมกัน เนื่องจากคาดว่าการจับจ่ายเพื่อซื้อสินค้า FMCG ในอินเดียในปี 2563 กว่า 40% จะเป็นการซื้อขายออนไลน์ ทั้งยังคาดว่าตลาด FMCG ออนไลน์ในอินเดียในปี 2563 มีมูลค่ากว่า 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วจาก 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560

อย่างไรก็ตาม แม้การบริโภคสินค้า FMCG ส่วนใหญ่จะมาจากเขตเมือง แต่การบริโภคสินค้า FMCG บางประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์ดูแลเสื้อผ้า และเครื่องดื่มร้อนราว 40% มาจากเขตชนบท ส่วนสินค้าประเภทอาหาร เบเกอรี่ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม คาดว่าจะเติบโตทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท โดยผู้เล่นสําคัญในตลาด FMCG อินเดียในปัจจุบัน ได้แก่ HUL (Hindustan Unilever Ltd.), ITC (Indian Tobacco Company), Nestle India, GCMMF (AMUL), Dabur India, Asian Paints (India), Cadbury India, Britannia Industries, Procter & Gamble (P&G) Hygiene and Health Care, Marico Industries, Nirma, Coca-Cola และ Pepsi เป็นต้น โดย HUL และ Dabur India มียอดขายกว่าครึ่งมาจากเขตชนบทของอินเดียซึ่งมีประชากรราว 850 ล้านคน และเป็นคนที่อยู่ในวัยทํางานราว 400 ล้านคน

โดยเฉลี่ยแล้วชาวอินเดียในเขตชนบทมีกําลังซื้อน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของชาวอินเดียในเขตเมือง แต่ก็ถือเป็นตลาดใหม่ (Untapped Market) ที่ผู้เล่น FMCG หลายรายกําลังพยายามเข้าไปตีตลาดให้ได้ และด้วยสาเหตุที่หลายบริษัทยังคงมีมาตรการให้พนักงานทํางานที่บ้าน ประกอบกับการอพยพย้ายกลับเมืองเล็กหลังมาตรการล็อคดาวน์ในเดือนมีนาคม 2563 ทําให้การบริโภคในเมืองรองและชนบทเติบโตขึ้น นอกจากนี้ การเข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตรวมถึงความนิยมในอีคอมเมิร์ซก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทําให้ตลาดชนบทเป็นที่น่าสนใจไม่แพ้ตลาดในเมืองใหญ่เช่นกัน

ก็ขอฝากส่งท้ายไว้ว่าอินเดียยังมีอะไรให้เราแสวงหาอีกมากมายโดยเฉพาะ “โอกาส” ที่รอให้เราเปิดใจที่จะพบและคว้าไว้...แม้แต่ “ตลาดชนบท” ที่เรารู้สึกว่ายากจน แต่สุดท้ายก็ยังมี “โอกาส” ให้ทุกคนวิ่งเข้าไปแย่งชิงกันในที่สุด

เขียนโดย: อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญการค้าในอินเดียแบบเจาะลึก

‘มายาคติ’ ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุ

ช่วงนี้สนใจอยากพูดถึงเรื่องของผู้สูงอายุในบ้านเรา เพราะไม่ปีนี้ก็ปีหน้าคาดว่าประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือ มีสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศแล้ว ดังนั้นการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง และในฐานนักวิชาการด้านสื่อก็เกิดความสนใจว่าการศึกษาด้านสื่อกับผู้สูงอายุในเมืองไทยนั้นมีมากน้อยเพียงใดและว่าด้วยเนื้อหาเรื่องใดบ้าง ก็ไปพบว่าอาจารย์กาญจนา แก้วเทพ ได้ทำการศึกษาประเด็นการสื่อสารกับผู้สูงวัย (2554)

อาจารย์พบว่างานวิจัยเกี่ยวกับการสื่อสารกับผู้สูงอายุในประเทศไทยตั้งแต่ประมาณปี พศ.2525 มาจนถึงช่วงเวลาปัจจุบัน รวมเป็นเวลาเกือบ 30 ปีนั้น มีงานวิจัยที่ระบุหัวข้อชื่อตรงกับผู้สูงอายุและการสื่อสารไม่เกิน 10 เล่มทั้งที่จำนวนผู้สูงอายุนั้นมีถึงเกือบร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และยังพบว่าการวิจัยในประเด็นผู้สูงอายุที่มักเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยการสำรวจขนาดใหญ่นั้นไม่ช่วยเห็นลักษณะเฉพาะของความเป็นผู้สูงอายุได้ และเมื่อผสมกับการขาดแนวคิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่รอบด้านและชัดเจนจึงทำให้ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีข้อค้นพบเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของผู้สูงอายุในแง่มุมของการสื่อสาร และเมื่อศึกษางานวิจัยอื่น ๆ พร้อม ๆ ไปกับการสังเกตรายการในหน้าจอทีวี สังเกตได้ว่ามีความเข้าใจผิดหรือมีมายาคติเกี่ยวกับผู้สูงอายุอยู่มากในเรื่องใช้สื่อของผู้สูงอายุ ลองมาดูกันค่ะว่าเราเองก็เข้าใจผู้สูงอายุผิดไปหรือไม่

มายาคติผู้สูงอายุตื่นแต่มืดแต่ดึก : ผู้สูงอายุชอบตื่นแต่เช้ามืด ตี 4 - 5 มาดูทีวี มาฟังวิทยุ จริงหรือ?

อาจจะพูดได้ว่าการคิดว่าผู้สูงอายุชอบตื่นแต่เช้ามืดดังนั้นถ้าจะทำสื่อให้ผู้สูงอายุต้องใช้ช่วงเวลาตีสี่ตีห้า แต่แทนจริงแล้วเป็นเพียงมายาคติที่สังคมมองมายังผู้สูงอายุ เพราะมีงานวิจัยหลายเรื่องที่พบว่าผู้สูงอายุไม่ได้เปิดรับสื่อช่วงเช้ามืดอย่างที่สังคมเข้าใจ เช่น จากการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ ของ จารุวรรณ นิธิไพบูลย์, สันทัด ทองรินทร์ และวิทยาธร ท่อแก้ว (2559) พบว่าผู้ชมที่มีอายุระหว่าง 60 - 65 ปีมีความต้องการในการชมรายการโทรทัศน์ ช่วงเช้า (06.01 น. - 09.00 น.) และ ช่วงสาย (09.01 น. - 12.00 น.) ผู้ชมที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีความต้องการในการชมรายการโทรทัศน์ช่วงเช้า (06.01 น. - 09.00 น.) และช่วงเย็น (16.01 น. - 19.00 น.) 

และพนม คลี่ฉายา (2555) ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง ความต้องการข่าวสาร การใช้สื่อ และนิสัยการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุไทย โดยมีสำรวจการเปิดรับสื่อ โดยพบว่าเปิดรับสื่อเป็นประจำมากที่สุด ได้แก่ โทรทัศน์ บุคคลใกล้ชิด และโทรศัพท์มือถือ ผู้สูงอายุมักจะชมโทรทัศน์มากที่สุด โดยชมรายการข่าวเป็นประจำ ในช่วงเวลา 17.01 - 21.00 น. ใช้เวลาในการชม คือ 1 - 3 ชั่วโมง/ครั้ง สอดคล้องกับแนวคิดของบริษัทอาร์เอสโปรโมชั่น ในการผลิตรายการโทรทัศน์ช่องเพลินทีวี ทีวีเพื่อผู้สูงอายุ ระบุว่าผู้สูงอายุมีวิถีชีวิต (Lifestyle) ในการรับชมโทรทัศน์อยู่กับบ้านเฉลี่ยมากกว่าบุคคลวัยอื่นถึงร้อยละ 10 โดยที่เวลาไพร์มไทม์ของกลุ่มคนสูงอายุอยู่ในช่วงเวลา 17.30 - 21.30 น. (แต่แอบกระซิบเบา ๆ ว่าหลังจากที่ออกอากาศได้เพียงแค่ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558 บริษัทอาร์เอสฯได้ประกาศยุติออกอากาศในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ)

ดังนั้นจะเห็นว่าสังคมมีความเข้าใจผิดคิดว่าผู้สูงอายุนั้นมักชอบชมรายการโทรทัศน์หรือฟังวิทยุในช่วงเวลาเช้ามืดนั้นไม่เป็นความจริง และหากจะถามหาเวลาที่เหมาะในการทำสื่อเพื่อผู้สูงอายุควรจะเป็นช่วงเย็น ๆ มากว่าช่วงเช้ามืดด้วยซ้ำไป

มายาคติผู้สูงอายุชอบทำบุญเข้าวัด : ผู้สูงอายุชอบรายการธรรมะที่สุด จริงหรือ?

มายาคติอีกเรื่องที่ไม่รู้ใครบัญญัติมาให้เชื่อตาม ๆ กัน คือการเหมารวมว่าการที่ผู้สูงอายุชอบเข้าวัดทำบุญดังนั้นจึงชอบดูรายการธรรมะที่สุด แต่จริง ๆ แล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่?

จากการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ ของ จารุวรรณ นิธิไพบูลย์, สันทัด ทองรินทร์ และวิทยาธร ท่อแก้ว (2559) ในประเด็นการเปิดรับความต้องการและการใช้ประโยชน์รายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ พบว่าส่วนใหญ่มีการใช้ประโยชน์จากการชมรายการโทรทัศน์ 3 อันดับแรก ได้แก่

1) เพื่อรับทราบข้อมูลข่าวสาร
2) เพื่อสร้างความเบิกบานใจ ความสุข และคลายเหงา
3) เพื่อนำเนื้อหาไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเอง ลักษณะเนื้อหาในสื่อที่ผู้สูงอายุต้องการ จากผลงานวิจัยนี้ทำให้เชื่อมโยงได้ว่าผู้สูงอายุชอบรายการที่ให้ทราบข้อมูลข่าวมากว่ารายการธรรมะแน่ ๆ นอกจากนี้ยัง พบว่า

ผู้สูงอายุต้องการเนื้อหาให้สื่อนำเสนอให้เห็นถึงศักยภาพของผู้สูงอายุ ส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกหรือเชิดชูผู้สูงอายุ เนื้อหาที่แสดงให้เห็นความรักความผูกพันระหว่างผู้สูงอายุกับครอบครัว และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การรักษาสุขภาพ สิทธิทางกฏหมาย และสวัสดิการต่างๆ เป็นต้นด้วย จากงานวิจัยที่กล่าวไปนี้น่าจะพอสรุปได้ว่ารายการธรรมะอาจไม่ได้เป็นรายการที่ผู้สูงอายุจะชื่นชอบที่สุดหรือจะเลือกชมเป็นลำดับต้น ๆ ด้วยซ้ำไป

มายาคติว่าผู้สูงอายุทุกคนก็ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน : ผู้สูงอายุมีความต้องการใช้สื่อเหมือน ๆ กันหมดจริงหรือ?

มายาคตินี้เราเจอกับบ่อย ๆ เพราะการคิดเหมารวมอีกเช่นกันว่าขึ้นชื่อว่าผู้อายุก็คงจะมีความต้องการใช้สื่อเหมือนกันหมดเพราะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน แต่จากการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้สูงวัยนั้นก็มีความต้องการในการใช้สื่อที่หลากหลายและแตกต่างกันไม่แพ้วัยเด็กและเยาวชน โดยสิ่งที่เป็นเงื่อนไขปัจจัยมีทั้งปัจจัยส่วนตัว เช่น ลักษณะบุคลิกภาพ ความชอบ ความถนัดและปัจจัยด้านการศึกษา และปัจจัยทางด้านสังคม สภาพครอบครัวและฐานะทางเศรษฐกิจ ตลอดจนปัจจัยทางกายภาพ เช่น พื้นที่อยู่อาศัยนั้น ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้สื่อทั้งสิ้น ส่วนในภาพรวมนั้นอาจกล่าวได้ว่าแม้กลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่ใช้อินเตอร์เน็ตน้อยที่สุดหากเทียบกับกลุ่ม Gen X และ Gen Y สื่อหลักอย่างโทรทัศน์และวิทยุก็ยังคงเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้สูงอายุได้มากที่สุด

โดยที่สื่อวิทยุนั้นจะเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุในเขตต่างจังหวัดได้มากกว่าเขตเมือง แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือมีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะใช้สื่อออนไลน์มากขึ้นและสื่อออนไลน์ก็เป็นที่นิยมของผู้สูงอายุมากขึ้น และยังพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุแตกต่างกัน มีความพึงพอใจในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์แตกต่างกัน ดังเช่นงานวิจัยของ กันตพล บันทัดทอง (2557) เรื่อง พฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์และความพึงพอใจของกลุ่มคนผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลการวิจัยพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุแตกต่างกัน มีความพึงพอใจในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์แตกต่างกัน โดยผู้สูงอายุที่มีอายุ 66 ปีขึ้นไป มีความพึงพอใจในการใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์น้อยที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 66 ปีขึ้นไป อาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพมากกว่ากลุ่มอื่น เช่น ปัญหาสายตา ปัญญาการใช้นิ้วหรือมือ จึงไม่สามารถใช้บริการเครื่อข่ายสังคมออนไลน์ได้ จึงมีความพึงพอใจต่ำกว่าผู้สูงอายุกลุ่มอื่น

มายาคติที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่กล่าวไปข้างต้นนั้นสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยโดยเฉพาะผู้ผลิตสื่อ ยังมีความเข้าใจผิดถึงพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุและยังไม่มีข้อมูลองค์ความรู้สำคัญพื้นฐานที่จะทำให้การผลิตสื่อที่เหมาะสมตรงความต้องการของผู้สูงอายุ ดังนั้นการทำความรู้จักและเข้าใจความต้องการของผู้สูงอายุอย่างถ่องแท้ จะเป็นประโยชน์มากในการพัฒนาสื่อเพื่อผู้สูงอายุ ภาครัฐควรสนับสนุนนโยบาย งบประมาณและพัฒนาบุคลากร เพราะในประเทศไทยการทำสื่อเพื่อผู้สูงอายุก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับการทำสื่อเพื่อเด็ก คือผู้ประกอบการมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่ากับผลกำไรที่ได้ในทางธุรกิจ ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ามาช่วยหนุนเสริมภารกิจนี้อีกทาง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสื่อเพื่อผู้สูงอายุเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดึงศักยภาพของผู้สูงอายุออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม นอกจากนี้สื่อยังสามารถทำหน้าที่ช่วยให้คนในสังคมที่มีความหลากหลายของช่วงวัยเกิดความเข้าใจซึ่งกันละกัน ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่ยอมรับในความหลากหลายและเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนทุกช่วงวัย อย่างที่ย้ำเสมอว่าการเป็นสังคมผู้สูงอายุไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของเราทุกคนจริง ๆ

เขียนโดย: อาจารย์ระวีวรรณ ทรัพย์อินทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาตรีการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (BMCI) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


ข้อมูลอ้างอิง
กาญจนา แก้วเทพ.(2554).ผู้คนที่หลากหลายในการสื่อสาร: เด็ก สตรี และผู้สูงอายุ.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ.
ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์
พนม คลี่ฉายา. (2555). ความต้องการข่าวสาร การใช้สื่อ และนิสัยการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุไทย: รายงาน
การวิจัย (Information Need, Media Uses and Media Habit of Thai Elderly: Research Report). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
กันตพล บันทัดทอง.(2558) พฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์และความพึงพอใจของกลุ่มคนผู้สูงอายุใน
เขตกรุงเทพมหานคร.บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“ช่องทีวีคนสูงวัย เซกเม้นท์นี้ “อาร์เอส” จอง.สืบคนเมื่อ 20 มกราคม 2556.จาก http://positioningmag.com/60832
Positioning. (2558) ช่องทีวีคนสูงวัย เซกเม้นท์นี้ “อาร์เอส” จอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559. จาก http://positioningmag.com/60832
เผยแนวโน้ม “สื่อรุ่ง – สื่อร่วง” ปี ’59 ชี้ชะตาอนาคตสื่อปีหน้า ใครจะได้ไปต่อ !! สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม2559. จาก http://www.brandbuffet.in.th/2016/12/kantar-worldpanel-media-profiler-2016

'มัลคอล์ม แม็กลีน' ผู้พลิกโฉมการขนส่งสินค้ายุคใหม่ ชายผู้ผลักดันให้เกิดการขนส่งด้วย ‘ตู้คอนเทนเนอร์’

ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับภาพรถบรรทุกขนกล่องเหล็กขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า 'ตู้คอนเทนเนอร์' ซึ่งตู้เหล่านี้มีบทบาทที่สำคัญสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ เพราะช่วยลดต้นทุนและเวลาในการขนถ่ายสินค้าระหว่างรถบรรทุก, เรือ และรถไฟ 

ในสัปดาห์นี้ จึงขอเล่าเรื่องราวของชายผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์

มัลคอล์ม แม็กลีน (Malcom McLean) ในวัยหนุ่มได้ซื้อรถบรรทุกมือสองและทำธุรกิจขนส่งสินค้าให้แก่เกษตรกร ระหว่างรอการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือ แม็กลีน เขาได้สังเกตวิธีการทำงานในยุคนั้นที่ยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก... 

คนงานทยอยขนสินค้าลงจากรถบรรทุกแล้วไปเก็บในคลังสินค้าที่ท่าเรือ เมื่อเรือมาถึงท่าก็ทยอยขนสินค้าขึ้นเรือด้วยวิธีการชักรอก กว่าจะขนสินค้าขึ้นและลงเรือเสร็จก็ใช้เวลาหลายวัน หากช่วงไหนที่คนงานไม่ว่างหรือสภาพอากาศไม่ดี ก็หยุดทำงาน ส่งผลให้รถบรรทุกต้องจอดรอเป็นเวลานานเสียโอกาสในการไปวิ่งหารายได้ 

เมื่อเห็นดังนั้น แม็กลีน จึงคิดว่าจะมีวิธีการปรับปรุงการขนส่งให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการลดเวลาและต้นทุนในการขนส่ง แต่วิธีการขนส่งแบบใหม่ที่เขาคิดได้ต้องมีการปรับปรุงหลายอย่าง ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำมาก จึงได้แต่เก็บความคิดเอาไว้ในใจ

ในปี 1940 แม็กลีนวัย 42 ปี ซึ่งตอนนี้เขาได้กลายเป็นเจ้าของบริษัทรถบรรทุกที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น และมีรถบรรทุกมากกว่า 1,700 คัน ก็ได้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะเอาไอเดียที่เคยคิดไว้ตอนหนุ่มมาทำให้เป็นจริง 

เขาจึงตัดสินใจขายธุรกิจรถบรรทุก แล้วนำเงินมาซื้อมาธุรกิจเดินเรือ Pan Atlantic Tanker ที่มีเรือขนส่งน้ำมันอยู่ 2 ลำ แล้วยังกู้เงินมาอีก 42 ล้านเหรียญฯ เพื่อซื้อท่าเรือและอู่ต่อเรือ เพราะเขามั่นใจว่าวิธีการขนส่งแบบใหม่จะเปลี่ยนโฉมหน้าการขนส่งไปได้

แม็กลีน มีความคิดว่า หากสามารถขนเฉพาะส่วน 'หางเทรลเลอร์' ของรถบรรทุกขึ้นไปไว้บนเรือแทนที่จะใช้คนงานทยอยขนสินค้าขึ้นลง จะช่วยลดระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้าและลดค่าใช้จ่ายได้ แต่เมื่อได้ทดลองจึงพบปัญหาว่า 'หางเทรลเลอร์' ที่มีล้อนั้น ลดพื้นที่บรรทุกสินค้าของเรือและยังไม่สามารถเอาหางเทรลเลอร์วางซ้อนกันได้ ส่งผลให้ในเรือหนึ่งลำขนส่งสินค้าได้ไม่มากต้นทุนการขนส่งจึงสูง 

แม็กลีน จึงได้พัฒนาส่วนหางเทรลเลอร์แบบใหม่ที่สามารถถอดล้อออกได้ เพื่อลดความสูงและสามารถวางซ้อนกันได้ แต่หางเทรลเลอร์แบบใหม่กลับใช้งานไม่สะดวกอย่างที่คิด แม็กลีน จึงได้ปรึกษากับ คีธ แทนท์ลิงเกอร์ (Keith Tantlinger) วิศวกรที่ทำงานในบริษัทผลิตเทรลเลอร์ และเขาก็ได้ช่วยออกแบบตู้คอนเทนเนอร์ที่สามารถแยกออกจากหางเทรลเลอร์ได้สำเร็จ

แล้วความฝันของแม็กลีน ก็เป็นความจริง!! 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1956 เรือ SS Ideal X เรือบรรทุกน้ำมันที่มีการปรับปรุงใหม่ เพื่อสามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์บนดาดฟ้าเรือได้ แล่นออกจากท่าเรือที่นิวยอร์กไปยังฮุสตันพร้อมกับตู้คอนเทนเนอร์ 58 ตู้และน้ำมัน 15,000 ตัน 

จากนั้นในปีต่อมา เรือ Gateway City เรือคอนเทนเนอร์เต็มรูปแบบของแม็กลีนที่ขนตู้คอนเทนเนอร์ได้มากถึง 226 ตู้ แต่ใช้เวลาในการขนสินค้าขึ้นลงเพียงแค่ 8 ชั่วโมง ก็ได้ออกให้บริการ ซึ่งหากเทียบต้นทุนการขนส่งแล้ว แบบเดิมจะอยู่ที่ 5.86 เหรียญต่อตัน ส่วนแบบใหม่จะลดลงเหลือ 0.16 เหรียญต่อตัน ถูกลงมากกว่าเดิมถึง 37 เท่า 

นอกจากนั้นรถบรรทุกและเรือไม่ต้องจอดรอขนสินค้าขึ้นลงเป็นเวลานาน สามารถเพิ่มเวลาในการวิ่งรับส่งสินค้าเพื่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

การขนส่งวิธีใหม่ของแม็กลีน นอกจากจะเร็วกว่าและถูกกว่าแล้ว สินค้ายังมีโอกาสเสียหายและสูญหายน้อยกว่าวิธีเดิมอีกด้วย เพราะสินค้าไม่ได้ถูกยกขนโดยตรงและยังใช้แรงงานน้อยลง

จากจุดนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่วงการขนส่ง ต่างให้ความสนใจกับการขนส่งด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ โดยในปี 1962 ท่าเรือนิวยอร์กได้เปิดตัวท่าเรือแห่งใหม่ที่เป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์แห่งแรกของโลก ตามมาด้วยการเปิดตัวท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ร็อตเตอร์ดัมในปี 1966 และท่าเรือสิงคโปร์ในปี 1972  

แน่นอนว่า ในทุกวันนี้มีการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ทุกท่าเรือหลักของโลก แต่มันจะไม่เกิดขึ้นได้ หากจุดเริ่มต้นทั้งหมดไม่ได้มาจาก 'มัลคอล์ม แม็กลีน' บุคคลระดับตำนานที่มีอิทธิพลต่อวงการอุตสาหกรรมและการค้าของโลกยุคใหม่

เขียนโดย อาจารย์ ศรัณย์ ดั่นสถิตย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา 


ข้อมูลอ้างอิง 
https://www.pbs.org/wgbh/theymadeamerica/whomade/mclean_hi.html
https://www.shippingandfreightresource.com/leaders-and-visionaries-in-shipping-malcom-mclean/
https://www.maritime-executive.com/article/the-story-of-malcolm-mclean
https://portfolio.panynj.gov/2015/06/23/the-world-in-a-box-a-quick-story-about-shipping/
https://www.shippingandfreightresource.com/leaders-and-visionaries-in-shipping-malcom-mclean/

รู้เพื่อตั้งรับ!! 5+1 รูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังวิกฤติโควิด-19

มาตรการเร่งกระจายวัคซีนโควิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศขณะนี้ ทำให้เกิดการคาดการณ์จากหลายฝ่ายถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยที่จะกลับสู่ระดับเดิมเช่นก่อนเกิดวิกฤติ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประสิทธิภาพของนโยบายการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิดแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ นโยบายการเงิน การคลัง ที่ผ่อนปรนต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นำไปสู่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจ และกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ตลอดจนการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และคาดเดาได้ยาก 

อย่างไรก็ตาม ตามหลักเศรษฐศาสตร์ได้อธิบายถึง 5 รูปแบบ ของการฟื้นตัวหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ได้แก่  V, U, W, Swoosh และ L-Shape ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในขณะนี้ 

ที่มา ห้องเรียนนักลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=7516&type=article)

1.) การฟื้นตัวแบบ V-Shape (V-Shape Rebound) “ลงเร็ว ฟื้นเร็ว”
เป็นรูปแบบที่ถูกคาดหวังอยากให้เกิดขึ้นมากที่สุด คือ เมื่อประเทศผ่านวิกฤติซึ่งเป็นจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้ว เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับสู่ระดับเดิมได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการค้าระหว่างประเทศและรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังอาจไม่กลับมาฟื้นตัวในปีนี้ ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในลักษณะนี้มีความเป็นไปได้ยาก

2.) การฟื้นตัวแบบ U-Shape (U-Shape Rebound) “หดตัวนาน ฟื้นตัวช้า”
เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่อาจเป็นไปได้สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยมีรูปแบบคล้ายกับ V-Shape แต่แตกต่างตรงระยะเวลาของผลกระทบที่อาจนานกว่า ใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า ก่อนที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ระดับเดิม ทั้งนี้การออกนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญถึงระยะเวลาที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถผ่านพ้นช่วงฐานตัว U ไปได้ช้าเร็วเพียงใด

3.) การฟื้นตัวแบบ W-Shape (W-Shape Rebound) “ฟื้นเร็ว ดิ่งลงรอบสอง”
จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด หากเกิดการระบาดในระลอกใหม่อย่างรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ และรัฐบาลเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์ ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจมีรูปแบบ “ดับเบิ้ล ดิป” ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจหรือจุดที่ต่ำที่สุดอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น มาตรการผ่อนปรนที่ถูกใช้ในเวลาหรือสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวในรูปนี้ก็เป็นได้

4.) การฟื้นตัวแบบ Swoosh (Swoosh Rebound) “ไถลลงเร็ว ค่อยๆ ฟื้นตัว” หรือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามแบบ “รูปเครื่องหมายไนกี้”
เป็นการไถลลงเร็วแบบตัว V และค่อยๆ ฟื้นตัว โดยการฟื้นตัวของนี้จะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายถูกหางยาว ที่แสดงถึงการเติบโตอย่างเชื่องช้า แต่สุดท้ายเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้ก็ไปในแนวโน้มที่ดีและพุ่งขึ้นเหมือนเดิม ซึ่งเป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามการผ่อนปรนมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศในช่วงแรกยังคงทำได้อย่างจำกัด

5.) การฟื้นตัวแบบ L-Shape (L-Shape Rebound) “หดตัวยาวนาน ไร้สัญญาณการฟื้นตัว” 
เป็นรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ที่เมื่อเศรษฐกิจปรับลดลงแล้ว อัตราการขยายตัวจะไม่สามารถกระตุ้นให้กลับมาเป็นปกติเท่ากับระดับก่อนหน้าเกิดวิกฤติได้ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องยาวนาน และไม่รู้ว่าจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมได้หรือไม่ ดังเช่น วิกฤติโลก Great Depression ที่ใช้เวลานานกว่า 10 ปี ในการฟื้นตัว ซึ่งการฟื้นตัวในรูปแบบนี้อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ และเกิดภาวะถดถอยในระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง 

นอกจากนี้ มีการกล่าวถึงรูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่งเพิ่มเติม คือ รูปแบบ K-Shaped หรือ ตัวอักษร K ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกลับสู่ระดับเดิมได้และขยายตัวต่อเนื่องในบางกลุ่ม (แทนหางของตัว K ที่ชี้ขึ้นไปข้างบน) ขณะเดียวกันสำหรับบางกลุ่มอาจยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ และยังคงเผชิญกับภาวะตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ (แทนหางของตัว K ที่ชี้ลงมาด้านล่าง)

ที่มา : บทความการฟื้นตัวแบบรูปตัว K ของเศรษฐกิจไทย: ในวิกฤตยังมีโอกาส ธนาคารแห่งประเทศไทย (https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_31May2021.aspx)

อย่างไรก็ตาม แสงสว่างปลายอุโมงที่อาจเริ่มมองเห็นได้ในขณะนี้ คงเป็นความหวังของทุกคนที่จะร่วมใจผ่านพ้นวิกฤติโควิดของประเทศในครั้งนี้ไปด้วยกัน

เขียนโดย อาจารย์ กมลวรรณ รอดหริ่ง อาจารย์ประจำสาขาการเงิน คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา


ข้อมูลอ้างอิง
https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=7516&type=article
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_31May2021.aspx
https://www.prachachat.net/public-relations/news-521654
https://www.terrabkk.com/news/198705/

‘จีน’ ใช้ประโยชน์จากภาวะโลกร้อน บุกขั้วโลกเหนือ เปิดเส้นทางเดินเรือ  ‘Polar Silk Road’

‘จีน’ ใช้ประโยชน์จากภาวะโลกร้อน บุกขั้วโลกเหนือ เปิดเส้นทางเดินเรือ  ‘Polar Silk Road’

พูดถึงมหาสมุทรอาร์กติกหลายท่านอาจไม่คุ้นว่าอยู่แถวไหน แต่หากบอกว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของหมีขาวและเต็มไปด้วยน้ำแข็งก็น่าจะพอคุ้นกันบ้าง

มหาสมุทรแห่งนี้ถูกจัดอันดับให้เป็นมหาสมุทรที่เล็กที่สุดและอยู่เหนือสุดของโลก ด้วยความหนาวเย็นจึงทำให้บางส่วนเป็นน้ำแข็งตลอดปี และเป็นน้ำแข็งเกือบทั้งหมดในช่วงหน้าหนาว นอกจากนั้นยังเชื่อมทวีปเอเชียกับยุโรปด้วยเส้นทาง Northern Sea Route

Northern Sea Route คือ เส้นทางเดินเรือที่เริ่มจากรัสเซียฝั่งตะวันออกที่อยู่ในเอเชีย แล้วมุ่งหน้าขึ้นเหนือเข้าสู่มหาสมุทรอาร์กติก เลาะริมชายฝั่งของรัสเซียจนถึงฝั่งตะวันตกที่อยู่ในทวีปยุโรป เส้นทางเดินเรือนี้ถูกค้นพบตั้งแต่ปี 1872 แต่เพราะทะเลเป็นน้ำแข็ง จึงแล่นเรือได้เฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมเท่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน และต้องใช้เรือตัดน้ำแข็งแล่นนำทาง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเดินเรือในเส้นทางนี้สูงและไม่สะดวกเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่น

แต่จากภาวะโลกร้อนในปัจจุบันส่งผลให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายมากขึ้น จนในปี 2017 เรือบรรทุกแก๊สของรัสเซียสามารถเดินเรือผ่านเส้นทางนี้ได้โดยไม่ต้องมีเรือตัดน้ำแข็งนำขบวน

จากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้จีนเห็นโอกาสในการขยายเส้นทางในการขนส่งสินค้าใหม่จึงประกาศในปี 2018 ว่าจะบุกเบิกเส้นทางสายไหมขั้วโลก (Polar silk road) เพราะหากใช้เส้นทางเดินเรือนี้จะประหยัดระยะเวลาเดินทางจากจีนไปยังท่าเรือรอตเตอร์ดาม ในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เป็นแหล่งกระจายสินค้าที่สำคัญของยุโรปได้ถึง 30 - 40%

นอกเหนือจากเส้นทางการค้าใหม่แล้วจีนยังเข้าถึงแหล่งพลังงานที่สำคัญนั้นก็คือแก๊สธรรมชาติ โดยมีการถือหุ้นโครงการ Yamal ในประเทศรัสเซีย ผ่านทาง China National Petroleum Corp. (CNPC) จำนวน 20% และกองทุน China’s Silk Road อีก 9.9% ซึ่งบริเวณที่ตั้งของโครงการ Yamal นั้น คาดการณ์ว่ามีแก๊สธรรมชาติอยู่ถึง 15% ของทั้งโลก และจีนเองก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ การพัฒนาเส้นทางเดินเรือนี้จึงส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าแก๊สของจีน เมื่อต้นทุนการนำเข้าแก๊สถูกลงก็ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าภายในประเทศ

นอกจากนั้นจีนยังส่งเสริมทางด้านการวิจัยและเทคโนโลยี โดยสถาบันอวกาศและเทคโนโลยีของจีนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นได้ส่งดาวเทียมสำรวจขึ้นไปบริเวณนี้เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงสภาพของน้ำแข็งและส่งข้อมูลกลับมาเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเดินเรือ

จากเรื่องนี้เราเห็นได้อย่างชัดเจนถึงการวางเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานว่าจะใช้ในการขนอะไร และจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศอย่างไร รวมถึงยังส่งเสริมทางด้านการวิจัยเพื่อนำผลที่ได้มาใช้ในภาคธุรกิจ แล้วคงต้องถามกลับว่าโครงการก่อสร้างพื้นฐานหลายโครงการในไทยมีแผนการที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติชัดเจนแบบนี้หรือไม่

เขียนโดย อาจารย์ ศรัณย์ ดั่นสถิตย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา 

5 ทริค วางตัวให้ดูแพง เลอค่า!! การวางตัวให้ฉลาด เป็นเรื่องสำคัญ ในการได้รับโอกาสที่ดี

คุณไม่จำเป็นต้อง นามสกุลดัง รวยล้นฟ้า ใช้แบรนด์เนม แล้วจะได้รับคำนิยามว่าเป็น “ผู้ดีไฮโซ” แค่รู้จักวางตัวให้เป็น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทัศนคติ การกระทำบางอย่าง ก็ช่วยให้อัพเกรด มีเสน่ห์เล่อค่า สวยสง่า ดูแพง ไปไหนมาไหนใคร ๆ ก็ให้เกียรติยกย่อง  ตรงกันข้ามถ้าไม่รู้จักวางตัว เล่นมั่วไม่ทิ้งระยะห่าง คนที่เข้ามาหาก็จะมีทุกประเภท รวมทั้งคนที่ไม่ให้เกียรติคุณด้วย ทำให้เสียอิมเมจได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครคุณสามารถดูดีได้ถ้าคุณทำตาม 5 ข้อนี้

1. อย่ามีนิสัยชอบนินทาผู้อื่น  เริ่มต้นจากการไม่นินทาคนอื่น เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น เกาะกลุ่มนินทาข้อเสียผู้อื่น โจมตีปมด้อยผู้อื่น เพียงเพราะเห็นภาพลักษณ์ภายนอก หรือแค่ไม่ถูกชะตา สะท้อนถึงการอบรมเลี้ยงดู  โดยเฉพาะเขียนแขวะคนโน้นทีคนนี้ทีลงโซเชียลมีเดีย ความดูแพงติดลบทันที


 
2. มีมารยาท รู้กาลเทศะ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนนิสัยใจคอแบบไหน อ่อนหวาน ขี้อาย แข็งแรง แข็งกร้าว มั่นใจ มาดมั่น การมีมารยาท รู้ว่าอะไรควรไม่ควร รู้จักให้เกียรติผู้อื่น เคารพผู้อื่น เป็นสิ่งสำคัญทุกคนต้องมีเป็นพื้นฐานเหล่านี้ค่ะ โดยเฉพาะเรื่องของคำพูด “ขอบคุณ” “ขอโทษ” “ขออนุญาต” พูดให้ติดปากให้เป็นนิสัยไว้ คุณอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การรับรู้ของคนฟังยิ่งใหญ่กว่าที่คิด คำพูดของคุณอาจทำให้คนนั้นหัวใจพองโตและยิ้มได้ทั้งวันก็เป็นได้

3. รักษาศักดิ์ศรีให้คู่สนทนา ให้เกียรติตนเองและผู้อื่น อย่าใช้คำพูดทำร้ายจิตใจผู้อื่น อย่าทำลายศักดิ์ศรีของผู้อื่นด้วยคำพูด ไม่ต้องพูดทุกอย่างที่คิด อะไรไม่ดีเก็บไว้ในใจ แต่ไม่ใช่เงียบนิ่งจนเกินเบอร์ คนที่ดูแพงเป็นที่ยอมรับจะไม่พูดพร่ำเพื่อ แต่พวกเขาสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ พูดให้ตรง ไม่อ้อมค้อม แต่ใช้คำพูดเชิงบวก ไม่ทำร้ายจิตใจคนอื่น การพูดแต่ละครั้งจะพูดเฉพาะเรื่องสำคัญๆ คำพูดจึงมีพลังน่าเชื่อถือ การพูดแม้นไม่ได้พูดเก่งมาตั้งแต่เกิด แต่ก็สามารถฝึกกันได้ 

นิสัยในการยึดติดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล นิสัยที่ไร้เหตุผล ไม่ฟังคนอื่น เอาแต่ใจตัวเอง พูดจาดูถูกผู้อื่น ไม่ให้เกียรติ ไม่ใช่วิถีของคนที่มีคุณค่าในตัวเอง ต้องหัดเป็นคนที่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ใครพูดอะไรมาก็ให้ใจเย็นๆ ข่มอารมณ์ไว้ก่อน ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ตอบโต้ ใช้ความนิ่งสงบ สยบความพุ่งพล่าน คุณจะกลายเป็นคนที่ดูแพง และฉลาด เห็นไหมเท่จะตาย


4. มีความมั่นใจ เป็นตัวของตัวเอง จากภายใน มีความมั่นใจ และเป็นตัวของตัวเอง คือสิ่งสำคัญ ให้สังเกตดูคนที่ดูคนสง่า ดูแพง น่าเกรงขาม ส่วนใหญ่มีบุคลิกที่เหมือนกัน 2 เรื่อง คือ “ความมั่นใจ” และ “เป็นตัวของตัวเอง” เพราะถ้าคุณไม่มีสองสิ่งนี้คุณก็จะเป็นแค่คนๆ หนึ่งที่ไหลไปตามกระแสของโลกเท่านั้นเอง  

จงปลูกฝัง Mindset ตัวเองตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปว่าคุณเป็นดีมีความสามารถ ไม่ต้องพึ่งพาใคร คุณอยู่ได้ด้วยตัวเอง คุณสง่างาม คุณมีคุณค่า คุณคิดกับตัวเองอย่างไร มันจะเป็นออร่าฉายแสงสะท้อนผ่านการกระทำกับคนอื่นมากเท่านั้น ให้คุณทำไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดเสียงส่วนใหญ่จะมอบเกียรตินั้นให้คุณ และอย่าไปให้ค่ากับเสียงส่วนน้อยที่เต็มไปด้วยอคติต่อตัวคุณ  ถ้าวันนี้คุณทัศนคติดี พูดดี ทำดี วางตัวดี  คนอื่นก็จะค่อยๆ เชื่อว่าคุณเป็นแบบนั้น และมอบเกียรติให้คุณโดยปริยาย

5. น่าค้นหา เป็นมิตร เข้าถึงง่าย สายตามีความเมตตา คนดูแพง เลอค่า มักมีออร่าเปล่งประกาย ดูเหมือนเป็นคนลึกลับ น่าค้นหา เข้าถึงยาก แต่เมื่อไหร่ที่ได้พูดคุย จะพบว่าเฟรนด์ลี่ น่ารัก และเข้าถึงง่ายกว่าที่คิด ถ้าอยากอัพเกรดให้ดูแพง ไม่ควรทำตัวให้เข้าถึงง่ายเกินไป อย่าคุยเล่นไปทั่วจนดูง่ายเกินไป ทางที่ดีควรวางมาดนิ่งๆ สวยๆ ยิ้มหวานๆ สายตามีความเมตตา จะทำให้คุณกลายเป็นคนหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีที่ดูแพง แต่เป็นมิตรกับทุกคน จนใครๆ ก็ใกล้ชิดคุณ เพราะคุณเป็นคนมีเสน่ห์ดึงดูด น่าค้นหา และน่าหลงใหลกว่าใครๆ 
 

เชื่อว่า ถ้าหากคุณต้องการโอกาสที่ดีเข้ามาในชีวิต ต้องการได้รับการยอมรับ ต้องการคนให้เกียรติ  5 ทริคนี้สามารถช่วยคุณได้อย่างแน่นอนค่ะ

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


ข้อมูลอ้างอิง
https://today.line.me/th/v2/article/0Ra163
https://jelly.in.th/articles/how-to-be-classy-women

เลิกกันแล้ว กลับมาเป็นเพื่อนกันได้ไหม? อยากเป็นเพื่อนกับแฟนเก่า หรือแค่อยากมีเขาอยู่ในชีวิต

บางครั้งความสัมพันธ์ที่จบลง อาจจะไม่ได้จบลงด้วยความรู้สึกแย่ๆ เสมอไป บางคู่จบกันเพราะทัศนคติไม่ตรงกัน เป้าหมายในชีวิตไม่เหมือนกัน นิสัยเข้ากันไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของการหมดรักหรือมีมือที่สามเสมอไป

บ่อยครั้งที่ความสัมพันธ์จบลงจึงพบว่ามีทั้งคนที่อยากประคองความสัมพันธ์ไว้ในรูปแบบเพื่อน เพราะไม่อยากเสียความสัมพันธ์ดี ๆ แต่ก็มีอีกหลายคนที่แฟนเก่าถือเป็นของแสลง จบแล้วคือจบ ไม่จำเป็นต้องรู้จักหรือมีกันอยู่ในชีวิต 

Rachel Sussman นักจิตบำบัด จาก New York ผู้เขียนหนังสือ The Breakup Bible ได้แนะนำวิธีปฏิบัติตัวเมื่อต้องการจะเปลี่ยนสถานะจากแฟนกลับไปเป็นเพื่อน ซึ่งงานวิจัยปี 2000 พบว่า ความสัมพันธ์ที่เป็นเพื่อนกับแฟนเก่า ส่วนมากแล้วจะค่อนไปทางติดลบ ไม่ได้ดีอย่างที่หลายคนคิด โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่ได้เป็นเพื่อนกันมาก่อน "ถ้าคุณคบกันจริงจัง ผ่านอะไรต่างๆ ร่วมกันมามากมาย และยิ่งมีเรื่อง Sex เข้ามาเกี่ยวข้อง คุณจะกลับไปเป็นเพื่อนกันได้ยังไง" Sussman กล่าว

Sussman ชี้ให้เห็นถึงข้อเสียของการกลับไปเป็นเพื่อนกับแฟนเก่าว่า "บางทีมันอาจจะเป็นตัวฉุดรั้งที่ทำให้คุณไม่สามารถเริ่มต้นใหม่กับคนใหม่ได้ หรือถ้าคุณเริ่มความสัมพันธ์ครั้งใหม่ และบอกกับคนใหม่ว่า "แฟนเก่าของฉันเป็นหนึ่งในกลุ่มเพื่อนสนิทของฉันด้วยนะ" ถ้าเป็นแบบนั้นคุณคิดว่ามันดีจริงๆ หรอ? แต่ถ้าตัดสินใจแล้วว่าจะกลับไปเป็นเพื่อนกับแฟนเก่า Sussman แนะนำให้ทั้งคู่ห่างกันจริงๆ หยุดติดต่อกันสักพัก เว้นระยะให้ทำใจ โดยใช้เวลาช่วยเยียวยา 


แต่ถึงอย่างไรเรื่องแบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับความคิดและความรู้สึกของแต่ละบุคคล สำหรับเราแบ่งออกเป็นสองกรณีคือ เราไม่จำเป็นต้องตัดความสัมพันธ์ดีๆ ไปเพียงเพราะเราไปกันต่อไม่ได้ในความสัมพันธ์รูปแบบคนรัก เราก็สามารถลดสถานะเหลือแค่ความเป็นเพื่อนได้ แต่ข้อนี้อาจใช้สำหรับคู่รักที่เคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน คู่ที่คบกันมาไม่นาน หรือใครที่คบกันเล่นๆ แก้เหงา คนในกลุ่มนี้ก็สามารถกลับมาเป็นเพื่อนกันได้ไม่ยาก แต่คำว่าเพื่อนต้องแลกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ หากทำได้จริง เราจะมีเพื่อนที่รู้ใจมากๆ เพิ่มอีกหนึ่งคน 

แต่ประเด็นมันอยู่ที่หลายคนมักทำไม่ได้นี่สิ เพราะหากจะให้มองเขาในฐานะเพื่อน ก็อาจมีห้วงหนึ่งที่เผลอหวนคิดถึงวันเวลาเก่าๆ หรือสำคัญที่สุดคือ ถ้าต่างคนต่างมีความรักครั้งใหม่ แฟนใหม่ของเขาหรือของเราจะโอเคหรือเปล่าหากรับรู้ว่าทั้งคู่เคยเป็นแฟนกันมาก่อน บางทีความสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องของคนหลายคน ไม่ใช่เฉพาะการตัดสินใจของใครคนใดคนหนึ่ง  

กฎของการเป็นเพื่อน คือต่างคนต้องอยากเป็นเพื่อนกัน ทั้งสองคนให้ความร่วมมือ เพราะความเป็นเพื่อนไม่สามารถเกิดขึ้นกับเราได้ฝ่ายเดียว บางทีเราอาจจะอยากมีเขาแค่เพียงเพราะไม่ต้องการจะเสียเขาไป จึงหยิบยกสถานะใหม่ที่ทำให้ประคองเขาในชีวิตได้ แต่หากอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้มีท่าทีที่อยากจะรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ ก็คงเหมือนการบังคับฝืนใจ กลายเป็นความอึดอัด 


บางความสัมพันธ์ กับคนบางคนก็ไม่จำเป็นต้องตัดความสัมพันธ์ดีๆ ทิ้ง แต่อีกมุมหนึ่งเราไม่ได้มีหน้าที่รักษาทุกความสัมพันธ์ในชีวิต คนที่ไม่ใช่ ก็ต้องปล่อยให้เขาเดินจากไป 

บางครั้งเราอาจต้องถามตัวเองดีๆ ว่า อยากเป็นเพื่อนกับแฟนเก่า หรือแค่อยากมีเขาอยู่ในชีวิต? และสิ่งนั้นมันเป็นความต้องการของคนทั้งสอง หรือแค่ของเราฝ่ายเดียว 

เขียนโดย เพลิน ภารวี สุภามาลา Content Editor THE STUDY TIMES


ข้อมูลอ้างอิง: https://time.com/5320054/stay-friends-with-ex-expert-advice/
https://www.gangbeauty.com/love/125033

จับกระแส “กัญชง” ในดงอินเดีย โอกาสใหม่ทางธุรกิจ

ปัจจุบันกระแสกัญชงกับกัญชาในไทยกำลังมาแรงมากจากกระแสการผลักดันกัญชาให้ถูกกฎหมายทั้งในด้านการครอบครอง การปลูก และการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่หลายคนอาจจะยังสับสนว่า “กัญชง” กับ “กัญชา” เหมือนหรือต่างกันยังไง ผมเลยไปสืบค้นจากอินเตอร์เน็ตก็พบความกระจ่างในเพจ “ทันข่าว Today” ซึ่งระบุว่า ทั้งกัญชาและกัญชงเป็นพืชชนิดเดียวกัน มีลักษณะภายนอกแตกต่างกันน้อยมาก แต่สามารถสังเกตในเบื้องต้นได้คือ กัญชงมีใบแคบเรียวและสีเขียวอ่อนกว่า มีลำต้นสูงและแตกกิ่งก้านน้อยกว่า ช่อดอกมียางน้อยกว่ากัญชา จึงมีการนำกัญชงไปใช้เป็นพืชเส้นใยสำหรับทำเสื้อผ้าและเยื่อกระดาษ

แต่ถ้าต้องการจำแนกให้ลึกลงไป เพจดังกล่าวก็ให้พิจารณาจากสารประกอบที่เรียกว่าแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) โดยเฉพาะสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท นั่นคือ THC (Delta-9-Tetrahydrocannabinol) และสารสำคัญอีกชนิดคือ CBD (Cannabidiol) ซึ่งช่วยยับยั้งการออกฤทธิ์ของ THC ถ้าต้นที่มีสาร THC น้อยกว่า 0.3 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักแห้ง จะถือว่าเป็น Hemp หรือกัญชง แต่ถ้ามีค่า THC สูงกว่านี้ถือว่าเป็น Marijuana หรือกัญชา กรณีใช้ทางการแพทย์ต้องสกัดสาร THC, CBD รวมถึงสารประกอบแคนนาบินอยด์อื่น ๆ ออกมาจากต้น ซึ่งแตกต่างจากการเสพกัญชาที่ใช้ส่วนต่าง ๆ ของพืชโดยตรง

สำหรับที่อินเดีย มีรายงานที่น่าสนใจจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ ประเทศอินเดีย ระบุว่า กระแสที่กำลังมาแรงในปัจจุบันคือ “กัญชง” แต่ว่าการแปรรูปกัญชง (Hemp / Cannabis Sativa) เชิงอุตสาหกรรมในอินเดียยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ดี คนอินเดียมีความคุ้นเคยกับการใช้ประโยชน์จากกัญชงมาตั้งแต่โบราณ โดยนำกัญชงมาเป็นส่วนหนึ่งของสมุนไพรแบบอายุรเวท (Ayurveda) และเครื่องเทศประกอบอาหาร รวมถึงเส้นใยสำหรับทำเสื้อผ้า กระเป๋าและเชือกด้วย ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้มีส่วนทำให้ภาครัฐและเอกชน รวมถึงนักวิจัยของอินเดียเข้าใจในศักยภาพของกัญชงเป็นอย่างดี และตระหนักในการควบคุมผลกระทบต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์กัญชงมีแนวโน้มที่จะได้รับการพัฒนาและเป็นที่ยอมรับในตลาดได้ง่าย

จากรายงานของ Grand View Research ระบุว่าในปัจจุบันตลาดสินค้ากัญชงในอินเดียยังมีมูลค่าเป็นสัดส่วนเพียง 0.1% ของตลาดโลกเท่านั้น ในขณะที่ การใช้/บริโภคในอินเดียจะขยายตัวได้อีกมาก ทั้งการนำกัญชงไปใช้ในการผลิตน้ำมัน อาหารและเครื่องดื่ม อาหารสัตว์ เส้นใยสำหรับเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง ของใช้สำหรับทำความสะอาด ปุ๋ย และวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ กระดาษรีไซเคิล วัสดุเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงพลังงานชีวมวล นอกเหนือจากการนำมาผลิตเพื่อใช้ในทางการแพทย์ อาทิ ยาบรรเทาอาการของโรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคลมชัก โรคอัลไซเมอร์ และอาการเจ็บปวดเรื้อรังต่าง ๆ นอกจากนี้ คาดว่าภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้คนอินเดียหันมาบริโภคอาหารมังสวิรัติมากขึ้น ซึ่งเมล็ดกัญชงจะเป็นแหล่งโปรตีนที่ทดแทนถั่วและเนื้อสัตว์ โดยปราศจากกลูเตน และมักจะเป็นการเพาะปลูกแบบอินทรีย์ด้วย เพราะกัญชงเป็นพืชที่ไม่ค่อยมีศัตรูพืช จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลง 

ผลิตภัณฑ์จากกัญชง

ขอบคุณภาพจาก : https://medium.com

ทั้งนี้ ผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกและสมาพันธ์ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์นานาชาติ (IFPMA) และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) ประมาณการณ์ว่า ในปี 2567 ตลาดสินค้ากัญชงในอินเดียจะมีมูลค่าประมาณ 584.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สอดคล้องกับผลการสำรวจของ All India Institutes of Medical Sciences ที่พบว่าผู้บริโภคชาวอินเดียจะตอบรับต่อผลิตภัณฑ์กัญชงได้อย่างรวดเร็ว โดยพบว่ามีคนอินเดียจำนวนไม่น้อยกว่า 7.2 ล้านคนที่เคยใช้กัญชงมาแล้ว โดยการซื้อมาทดลองใช้เอง และมีราคาขายปลีกในอินเดียอยู่ที่ประมาณ 4.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกรัม

ตาม พรบ. The Narcotic Drugs and Psychotropic Substances Act (1985) รัฐบาลกลางของอินเดียอนุญาตให้ปลูกกัญชงได้เฉพาะที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลหรือ THC ไม่เกิน 0.3 % โดยน้ำหนัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกัญชงในอินเดียส่วนใหญ่มีระดับสาร THC สูงกว่าที่กำหนดไว้ การผลิตและซื้อ-ขายกัญชงในอินเดีย จึงเป็นการกระทำผิดกฎหมายตาม พรบ. ดังกล่าวอยู่ อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้ให้อำนาจแก่รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละรัฐให้สามารถพิจารณาอนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์จากใบและเมล็ดของกัญชงได้ ภายใต้การควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบและส่งเสริมโดยกระทรวงการแพทย์แผนโบราณของอินเดีย (Ministry of Ayurveda, Yoga & Naturopathy: AYUSH) เป็นระยะ

ในปัจจุบันมีเพียงสามรัฐในอินเดียที่อนุญาตให้มีการปลูกกัญชงได้ ได้แก่ รัฐอุตตราขัณฑ์ รัฐอุตตรประเทศ และรัฐมัธยประเทศ ส่วนรัฐอื่น ๆ อีกหลายรัฐก็มีแนวโน้มจะอนุญาตให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชงเช่นกัน อาทิ รัฐมณีปุระ รัฐอานธระประเทศ และรัฐหิมาจัลประเทศ โดยรัฐอุตตราขัณฑ์เป็นรัฐแรกที่อนุญาตให้มีการเพาะปลูกได้ โดยได้ให้ใบอนุญาตแก่ Indian Industrial Hemp Association (IIHA) ซึ่งเป็น NGO สามารถเพาะปลูกเพื่อทำการทดลองในพื้นที่ 6,250 ไร่ โดยมีเป้าหมายที่จะขยายเป็น 62,500 ไร่ และมุ่งเน้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ และนำมาแปรรูปเป็นเส้นใยสำหรับป็นสิ่งทอเป็นหลัก

แม้ว่าจะมีการเพาะปลูกในไม่กี่รัฐ แต่มีผู้นำกัญชงมาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้วภายใต้กิจการของสตาร์ทอัพประมาณ 30-40 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ (Biotech Startups) อาทิ บริษัท Bombay Hemp Company (BOHECO) โดยมีโรงงานแปรรูปอยู่ที่รัฐอุตตราขัณฑ์ (เมือง Almora) และในรัฐอุตตรประเทศ (เมือง Lucknow) นอกจากนี้ ยังมี Startups อีกหลายรายที่พร้อมจะผลิตเชิงอุตสาหกรรม และขยายตลาดทั้งภายในอินเดียและตลาดโลก อาทิ Hemp Street, Best Weed และ India Hemp Organics โดยมีแบรนด์หลักในตลาด ได้แก่ VEDI, SATLIVA, BOHECO Life และ B LABEL

ขอบคุณภาพจาก : https://www.vice.com

ทั้งนี้ การผลิตสินค้าจากกัญชงในอินเดียมีแนวโน้มที่จะเติบโตในปี 2564 จากการที่หน่วยงานด้านความปลอดภัยและมาตรฐานทางอาหาร (The Food Safety and Security Authority of India : FSSAI) ของอินเดียซึ่งเทียบได้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย ได้จัดทำร่างกฎระเบียบสำหรับการกำกับดูแลสินค้าที่นำกัญชงมาผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้ The Food Safety and Standards (Food Products Standards and Food Additives) Amendment Regulations, 2020 ซึ่งผู้ประกอบการในอินเดียมองว่าจะเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนและเป็นสัญญาณที่เปิดให้สินค้ากัญชงมีการแข่งขันกันอย่างเสรีในตลาด โดย FSSAI ได้ยอมรับว่ากัญชงเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ซึ่งล่าสุดได้มีการกำหนดว่าเครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดกัญชงต้องมี THC ไม่เกิน 0.2mg/kg โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการเตรียมการผลิตเครื่องดื่มกัญชงและสถานบริการเครื่องดื่มกัญชงตามมาเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม คุณสุพัตรา แสวงศรี ทูตพาณิชย์ไทยประจำนครมุมไบ ประเทศอินเดียได้ให้ความเห็นว่าการเพาะปลูกและการแปรรูปในอินเดียยังต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่สินค้าจากต่างชาติจะเข้าไปแทรกตลาดหากมีราคาที่เทียบเคียงได้กับจีน ทั้งนี้ อินเดียเรียกเก็บภาษีนำเข้าสำหรับกัญชงในอัตรา 30% โดยผู้นำเข้าต้องมีใบอนุญาตให้นำเข้าไปเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ด้วย ดังนั้น โอกาสที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการไทย จึงน่าจะเป็นการเข้าไปร่วมลงทุนในการแปรรูปกัญชงเพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่มีสภาพอากาศเหมาะสมและเกษตรกรมีทักษะในการปลูกที่ดี รวมถึงโอกาสจากการเข้าไปถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนให้กับ Tech-Startups ของอินเดียที่กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อรองรับการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อภาครัฐของอินเดีย (FSSAI) มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าจากกัญชงที่ชัดเจนแล้ว ในขณะที่ ผู้บริโภคในอินเดียเองก็มีความคุ้นเคยกับกัญชงอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเอื้อให้เกิดการตอบรับของตลาดได้อย่างรวดเร็วและหลากหลาย

ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยหรือนักลงทุนไทยที่สนใจธุรกิจเกี่ยวกับกัญชงที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ที่ประเทศอินเดียที่เป็นตลาดใหญ่อันดับสองรองจากประเทศจีน

ขอขอบคุณสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างปรแทศ ณ นครมุมไบ ประเทศอินเดีย


เขียนโดย: อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญการค้าในอินเดียแบบเจาะลึก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top