Saturday, 19 April 2025
Central

สมุทรปราการ - “พระครูแจ้” เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง จับมือ นายอำเภอบางพลี ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพภายในชุมชนประสานสัมพันธิ์

ภายในชุมชนประสานสัมพันธิ์ ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ นายสมศักดิ์ แก้วเสนา นายอำเภอบางพลี  พร้อมด้วย ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง นำข้าราชการตำรวจ สภ.บางพลี  ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนภายในชุมชนประสานสัมพันธิ์ พร้อมทั้งนำถุงยังชีพและเงินสดไปมอบแก่ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ภายในชุมชนแห่งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือประชาชนที่ขาดรายได้รวมถึงช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง

ด้านท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง กล่าวว่า ด้วยในวันนี้ทางวัดบางพลีใหญ่กลาง พร้อมด้วยนาย สมศักดิ์ แก้วเสนา นายอำเภอบางพลี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่อำเภอบางพลีและบริเวณใกล้เคียง ทางวัดบางพลีใหญ่กลางจึงพร้อมด้วยท่านนายอำเภอบางพลี ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชน โดยได้นำถุงยังชีพพร้อมเงินอีกจำนวนหนึ่งไปมอบให้กับประชาชน และครอบครัวผู้ยากจนภายในชุมชนประสานสัมพันธิ์แห่งนี้

ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ยังกล่าวต่ออีกว่า ถุงยังชีพที่นำมามอบให้กับพี่น้องประชาชนนั้น ประกอบไปด้วย ข้าวสารอาหารแห้ง มาม่า ปลากระป๋อง นม และของใช้ที่จำเป็นเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังได้มอบเงินแก่เด็กที่อยู่ในชุมชนแห่งนี้คนละ 100 บาท และมอบเงินให้ทุกครอบครัวอีกครอบครัวละ 500 บาท เพื่อไว้ใช้จ่ายหรือนำไปซื้อของใช้ที่จำเป็น

จากนั้นได้เดินเท้าเข้าไปภายในชุมชนประสานสัมพันธิ์ นำข้าราชการตำรวจนำถุงยังชีพอีกจำนวนหนึ่งไปมอบให้กับผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ภายในชุมชนแห่งนี้ พร้อมทั้งได้มอบเงินสดอีกจำนวนหนึ่งแก่ผู้ป่วยติดเตียง โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ทางวัดบางพลีใหญ่กลาง ตลอดจนท่านนายอำเภอบางพลี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางวัดบางพลีใหญ่กลางก็ให้ความอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อเผาศพผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิดให้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วยและนับว่าผู้เสียชีวิตที่ป่วยด้วยโรคโควิดนั้น ทางวัดบางพลีใหญ่กลางได้สงเคราะห์เผาให้ฟรีเป็นรายที่ 11 แล้ว จึงขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนอย่าประมาทดูแลรักษาสุขภาพ ดูแลบุคคลในครอบครัว เว้นระยะห่าง และลงทะเบียนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเราเอง


ภาพ/ข่าว  คิว-ข่าวสมุทรปราการ รายงาน

อุทัยธานี – คึกคัก !! ฉีดวัคซีนวันแรก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นให้กำลังใจชาวจังหวัดอุทัยธานี

เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 7 มิ.ย. 64 ณ บรรยากาศศูนย์กีฬาเยาวชนเทศบาลเมืองอุทัยธานี สถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน และผู้สูงอายุ ประกอบด้วยโรคทางเดินหายใจ เรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง ระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน โดยการจัดลำดับขั้นตอนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยเริ่มจากการตรวจสอบเอกสารซักประวัติ วัดความดัน รับบัตรคิว ฉีดวัคซีนและรออีก 30 นาที หลังฉีดวัคซีน เพื่อดูอาการก่อนอนุญาตให้ประชาชนกลับบ้าน และรับใบนัดหมายฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ต่อไป

บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบร้อย ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามขั้นตอนและตามมาตรการอย่างเคร่งคัด เพื่อให้กับประชาชน ทุกคนทุกกลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรครวมทั้งช่วยลดความรุนแรงของโลก โดยแบ่งการฉีดวัคซีนเป็น 3 ระยะ ตามกลุ่มเป้าหมาย ระยะ 1 ปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ ระยะ 2 ป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคในกลุ่มเสี่ยงสูง ระยะ 3 ฟื้นฟูขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมและความมั่นคงของประเทศโดยกำหนด Kick Off การฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นทางการพร้อมกันทั่วประเทศไทย

ทั้งนี้ภายในงานได้มี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นประธานการดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมหน่วยข้าราชการ คณะแพทยของจังหวัดอุทัยธานี ได้มาให้กำลังใจกับประชาชนชาวจังหวัดอุทัยธานีในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว ภาวิณี ศรีอนันต์

กรุงเทพฯ - รมต.กีฬา เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้แก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และบุคลากรในกระทรวง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้แก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และบุคลากรในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมี นายโชติ  ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายแพทย์อดินันท์  กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์, ดร.ก้องศักด  ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เข้าร่วมในพิธี ณ บริเวณด้านหน้าอาคารอินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก การกีฬาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และภาพลักษณ์ของประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้การจัดกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ ต้องงดหรือมีการเลื่อนจัดการแข่งขันออกไป ทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน ในการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว มากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส หรือประมาณ 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งการจัดตั้งศูนย์บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้แก่ นักกีฬา บุคลากรกีฬา และบุคลากรในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ครั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ การกีฬาแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินงานการบริการทางการแพทย์ ให้กับนักกีฬาและบุคลากรกีฬาที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น ณ อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 1, 2 และ 4 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี

ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้รับมอบนโยบายจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ดำเนินการด้านบริการทางการแพทย์ ให้แก่ นักกีฬา บุคลากรทางการกีฬา ให้ได้รับการเข้าถึงการบริการฉีดวัคซีนเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้นักกีฬา สามารถเดินทางเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในเกมส์ระดับนานาชาติต่าง ๆ อาทิ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 32 กีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 16 ณ ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีนักกีฬาทีมชาติไทย ที่ต้องเข้าร่วมการแข่งขันคัดเลือก เพื่อให้ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ พาราลิมปิกเกมส์ และการแข่งขันในระดับนานาชาติอีกหลาย ๆ รายการ รวมถึง นักกีฬาอาชีพ และบุคลากรที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะทำให้เกิดความมั่นคง แข็งแรง ให้แก่ประเทศต่อไป ดังนั้น การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้นำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

โดยการจัดตั้งสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล เพื่อรองรับในการฉีดวัคซีนให้บริการแก่ นักกีฬา บุคลากรกีฬา และบุคลากรในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ณ อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก การกีฬาแห่งประเทศไทย และได้ขอรับความอนุเคราะห์วัคซีนจากทางกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 10,000 โดส ในเบื้องต้นได้รับมาแล้ว 2,000 โดส ซึ่งได้เริ่มทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 1, 2 และ 4 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และจะมีการทยอยส่งวัคซีนมาให้อีกในสัปดาห์หน้า ซึ่ง กกท.ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ในการเป็นโรงพยาบาล คู่ปฏิบัติการในการฉีดวัคซีนโควิด -19 ในครั้งนี้  อย่างไรก็ดี หลังจากที่ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และบุคลากรในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กลุ่มดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว การกีฬาแห่งประเทศไทย มีแผนจะเปิดบริการให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นลำดับถัดไป

ทั้งนี้ มีนักกีฬา บุคลากรกีฬา และบุคลากรในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนแล้ว รวมจำนวน 5,500 คน ในช่วงเข็มแรก โดยสามารถเข้ามารับวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 8-15 มิถุนายน 2564 ในวันจันทร์-ศุกร์  เวลา 8.30-15.30 น. ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

นครนายก - หลวงพี่ต่อ วัดมณีวงศ์ดงละคร มอบอาหารให้บุคลากรทางการแพทย์วันละ 50 ชุด ตลอดทั้งเดือนที่มีการฉีดวัคซีน ณ โรงพยาบาลนครนายก

พระครูปิยะรัตนานุกูล (หรือหลวงพี่ต่อ) วัดมณีวงศ์ ดงละครได้นำอาหารจำนวน 50 ชุด มามอบให้กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครนายก เพื่อนำไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป ณ โรงพยาบาลนครนายก

ที่ตึกจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ โรงพยาบาลนครนายก ตำบลนครนายก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก พระครูปิยรัตนานุกูล (หรือหลวงพี่ต่อ) วัดมณีวงศ์ ดงละคร ได้เดินทางมาที่โรงพยาบาลนครนายก เพื่อมอบอาหารวันละ 50 ชุด ทุกวันจนถึงสิ้นเดือนให้บุคลาทางการแพทย์ ที่ทำการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีนายแพทย์ ธีระชัย คงเอี่ยมตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครนายกเป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป

จากการให้สัมภาษณ์ ของนายแพทย์ ธีระชัย คงเอี่ยมตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครนายก ว่าวันนี้เป็นวันดีเดย์ที่รัฐบาลได้ให้เริ่มต้นฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ทั่วประเทศ ทางโรงพยาบาลจะทำการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปทุกวัน โดยในวันนี้ได้มีประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ได้มาฉีดวัคซีนจำนวน 622 ท่าน และในวันนี้พระครูปิยรัตนานุกูล (หรือหลวงพี่ต่อ)วัดมณีวงศ์ ดงละคร ได้นำมาอาหารมามอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ วันละ 50 ชุด ทุกวันเริ่มตั้งแต่ วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ตลอดไปจนครบการฉีดวัคซีนของประชาชนที่โรงพยาบาลนครนายก

(สัมภาษณ์ นายแพทย์ ธีรชัย คงเอี่ยมตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครนายก)


ภาพ/ข่าว  สมบัติ เนินใหม่ / รัชชานนท์ เนินใหม่  ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครนายก

กรุงเทพฯ - "ลุงตู่" เยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กำชับ รมว.แรงงาน ปูพรมฉีดทั่วกรุง สร้างภูมิคุ้มกันหมู่

นายกรัฐมนตรี เยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง พร้อมกำชับ รมว.แรงงาน ปูพรมฉีด 45 จุด ทั่วกรุง เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนผู้ประกันตนมาตรา 33 ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงาน

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายสำนักงานประกันสังคม บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงการคลัง โดยธนาคารกรุงไทย และสถานพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้กระจายออกสู่วงกว้างทั้งในโรงงาน และสถานประกอบการ

ในเบื้องต้นได้กำหนดจัดการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 7 - 26 มิ.ย.64 ซึ่งวัคซีนล็อตแรกจำนวน 1 ล้านโดส จะฉีดให้กับผู้ประกันตนที่แจ้งความประสงค์ต้องการรับวัคซีนโควิด-19 กับนายจ้าง และบันทึกลงระบบ e-service ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้ทำการสำรวจตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้จัดลำดับคิวการฉีดวัคซีนไว้เรียบร้อยตามลำดับที่นายจ้างได้แจ้งความประสงค์ผ่านระบบ และได้ประสานนายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จากสถานประกอบการจำนวน  24,568 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร เข้ารับการฉีดวัคซีนตามจุดที่สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดไว้ทั้งสิ้น 45 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร เช่น สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาคารซันทาวเวอร์ ศูนย์กีฬาบางขุนเทียน

และตามที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสถานประกอบการที่ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนทำงานอยู่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 ได้จัดเตรียมสถานที่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อุปกรณ์ทางการแพทย์จากโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม 23 แห่ง โดยมีศักยภาพในการฉีดได้วันละ 50,000 คน ซึ่งทุกศูนย์ให้บริการระหว่างเวลา 08.00 - 17.00 น.

นายสุชาติ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้ประกันตนทุกคนมั่นใจ กระทรวงแรงงานพร้อมดำเนินงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการวัคซีนโควิด-19 อย่างแน่นอน สำหรับผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนไว้แล้ว  แต่ยังไม่ได้รับการนัดหมายให้เข้ารับการฉีดวัคซีนในล็อตแรก หากสำนักงานประกันสังคมได้รับการจัดสรรวัคซีน จะนัดหมายให้เข้ารับการฉีดในล็อตถัดไป เรียงตามลำดับการลงทะเบียน ทั้งนี้ หากท่านไม่มาตามกำหนดเวลา จะถือว่าสละสิทธิ์ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 รวมถึงการเข้ารับการรักษา ติดต่อสายด่วน 1506 กด 6 และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ติดต่อสายด่วน 1506 กด 7 เจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

พิจิตร – ฝนทิ้งช่วง นาข้าวนับหมื่นไร่จ่อเข้าขั้นวิกฤต ชาวนาวิงวอนชลประทานหาทางช่วยด่วน

ชาวนาพิจิตรถามหาคนพูดที่บอกว่าปีนี้จะมีฝนและมีปริมาณน้ำมากสุดในรอบ30 ปีชาวนาเชื่อกระแสข่าวแห่ลงมือทำนา ไถหว่านปลูกข้าว แต่ถึงวันนี้มีประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแต่ยังไม่มีฝนตก ล่าสุดพบนาข้าวในพื้นที่ส่งน้ำชลประทานพิจิตร นาข้าวนับหมื่นไร่กำลังจ่อเข้าขั้นวิกฤต ชาวนารวมตัวเรียกร้องวิงวอนชลประทานหาทางช่วยด่วน

วันที่ 9 มิ.ย. 2564  นายสุบิน  ศรีบุศกร  รองนายกอบจ.พิจิตร ได้รับมอบจาก พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายก อบจ.พิจิตร ให้ลงพื้นที่เนื่องจากมีชาวนาในเขต ต.ดงป่าคำ อ.เมืองพิจิตร และในเขต ต.วังหว้า อ.ตะพานหิน ซึ่งเป็นเกษตรกรและนาข้าวในเขตส่งน้ำชลประทานที่รับน้ำจากคลอง C78 รวมนาข้าวนับหมื่นไร่ร้องทุกข์ว่า จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงทำให้นาข้าวขาดน้ำส่อเค้าว่าจะได้รับความเสียหาย จึงลงพื้นที่และได้พบกับ นางเหลา บุญประเสริฐ อายุ 72 ปี เป็นชาวนาอยู่บ้านเลขที่ 78/3 หมู่ 3 ต.ดงกลาง อ.เมืองพิจิตร จ.พิจิตร เล่าว่า นาข้าวของตนจำนวนหลายสิบไร่ ขณะนี้กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง เหตุจากฝนทิ้งช่วงนาข้าวส่อเค้าว่าจะแห้งตาย ตนจึงต้องไปกู้เงินมา 5 หมื่นบาท เพื่อเตรียมที่จะเจาะบ่อน้ำบาดาลเนื่องจากน้ำในคลองชลประทานที่เคยส่งมาให้ปีนี้เจ้าหน้าที่บอกว่าน้ำมีน้อยจึงไม่สามารถส่งน้ำมาช่วยชาวนาได้ ดังนั้นชาวนาจึงต้องพึ่งตนเอง

จากนั้น นายสุบิน  ศรีบุศกร  รองนายกอบจ.พิจิตร ได้ไปพบกับ นางสาวนงลักษณ์ วิบูลย์ญาณ  รอง ปธ.อบจ.พิจิตร ซึ่งเป็น สจ.ในพื้นที่ ต.ดงป่าคำ ที่กำลังประชุมร่วมกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และชาวนากลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวนกว่าร้อยคน ซึ่งประชุมกันที่ ศาลาประชาคม หมู่ 8ตำบลดงป่าคำ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตรโดยมี  นายภะกิต ไม้ตะเภา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 1 ท่าบัว ดูแลน้ำและคลองชลประทานตอนบนในเขต อ.เมือง อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.ตะพานหิน  , นายจิรโรจน์ สมบัติใหม่ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 2 ท่าบัว ดูแลน้ำและคลองชลประทานตอนกลาง อ.ตะพานหิน อ.โพทะเล อ.บางมูลนาก , นายวิทยา วังวิเศษ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 3 ท่าบัว ดูแลน้ำและคลองตอนล่าง อ.โพทะเล อ.บางมูลนาก  จ.พิจิตร และ อ.ชุมแสง จ.นคนสวรรค์ มาร่วมชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำและนโยบายส่งน้ำ

สรุปได้ว่าจังหวัดพิจิตรรับน้ำมาจากโครงการส่งน้ำเขื่อนนเรศวรในปริมาตรน้ำ 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากนั้นก็กระจายน้ำไปยังโครงการส่งน้ำพลายชุมพล 5 ลูกบาศก์เมตร  โครงการส่งน้ำดงเศรษฐี 5 ลูกบาศก์เมตร  โครงการส่งน้ำท่าบัว 5 ลูกบาศก์เมตร ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 3 โครงการ  พื้นที่ประมาณ 5 แสนไร่ แต่เนื่องจากมวลน้ำมีอยู่แค่ก้อนเดียว เจ้าหน้าที่ชลประทานต้องใช้หลักการบริหารจัดการดูแลนาข้าวในพื้นที่รับน้ำเฉพาะโซนนี้คือคลอง C 1 C40  C78  จำนวนนับแสนไร่ จึงทำให้เกิดการแย่งน้ำกันทำนา ซึ่งขณะนี้ก็ได้ออกหลักเกณฑ์ให้ชาวนาสลับแบ่งรอบเวรกันสูบน้ำเข้านา สลับกันเป็นรอบกลางวันและรอบกลางคืน แต่ก็มีชาวนาบางคนไม่เคารพกฏกติกา จึงทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปด้วยความยุ่งยาก ส่วนที่ชาวนาร้องขอให้กรมชลประทานเพิ่มปริมาณการจ่ายน้ำให้มากขึ้นนั้นพวกตนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานก็จะได้รายงานไปยังผู้บังคับบัญชาต่อไป

นายสุบิน ศรีบุศกร รองนายกอบจ.พิจิตรกล่าวชี้แจงกับชาวนากลุ่มนี้ว่า อบจ.พิจิตร พร้อมให้การสนับสนุนในทุกภารกิจที่จะทำให้ชาวนามีน้ำทำนาแต่ขอเพียงอยู่ในข้อที่กรอบระเบียบที่กฎหมายอนุญาตเท่านั้นและจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการบริการจัดการน้ำให้ทั่วถึงเป็นธรรมอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

กรุงเทพฯ - ประกาศเกียรติคุณยกย่องชมเชย ฮีโร่ทหารเรือ ที่ช่วยเหลือหญิงถูกปล้นบนสะพานลอย

กองเรือทุ่นระเบิดกองเรือยุทธการ ประกาศเกียรติคุณยกย่องชมเชย ฮีโร่ทหารเรือ ที่ช่วยเหลือหญิงเคราะห์ร้ายถูกปล้นทรัพย์บนสะพานลอย

วันที่ 8 มิ.ย. 64 พล.ร.ต.ธาดาวุธ ทัดพิทักษ์กุล ผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ ได้ประกาศเกียรติคุณ แก่ จ.อ.อริย น้อยมี จ่าพยาบาลเรือหลวงท่าดินแดง ที่ได้ให้การช่วยเหลือหญิงเคราะห์ร้ายถูกชิงทรัพย์ได้รับบาดเจ็บบนสะพานลอย หน้าโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ จนได้รับความปลอดภัยทั้งร่างกายและทรัพย์สิน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา

โดยผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด กล่าวแสดงความชื่นชมว่า จ.อ.อริย น้อยมี ถือเป็นความภาคภูมิใจของ กองทัพเรือ กองเรือยุทธการ และกองเรือทุ่นระเบิดเป็นอย่างยิ่ง ที่ จ.อ.อริย ได้เสียสละแสดงถึงความกล้าหาญ ในการช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งได้มอบเหรียญพระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา เขาชีจรรย์ วัดญาณสังวราราม พ.ศ.2538

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2538 เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการทำความดี การแสดงความจงรักภักดี และเป็นสิริมงคลแก่ จ่าเอก อริย น้อยมี และครอบครัวต่อไป

สำหรับ จ.อ.อริย เป็นจ่าพยาบาล โดยก่อนหน้านี้เคยประจำการอยู่ที่ ศูนย์กู้ชีพโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ก่อนจะย้ายไปสังกัด กองร้อยพยาบาล กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ค่ายตากสิน โดยปัจจุบันเป็นจ่าพยาบาล สังกัด เรือหลวงท่าดินแดง กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ


ภาพ/ข่าว สำนักงานโฆษกกองทัพเรือ / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี

ลพบุรี – ภัยแล้งส่อเค้าวิกฤตหนัก ผู้ว่าฯลพบุรี รุดลงพื้นที่หาแนวทางจัดการ เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ

ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี  ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งลพบุรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามวิกฤตน้ำแล้ง คลองชัยนาท-ป่าสัก เน้นแต่ละอำเภอ เร่งสร้างความเข้าใจเกษตรกรสูบน้ำตามรอบเวร และชะลอการเพราะปลูก หลังฝนยังไม่ตกตามคาดการณ์ พร้อมทั้งหาแนวทางในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว

นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วย นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 นายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 10 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างวิกฤต ในคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก ตั้งแต่ ประตูระบายน้ำบ้านโคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี ต่อเนื่องขึ้นไปจนถึง ประตูระบายน้ำมโนรมย์ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ระยะทาง 86 กิโลเมตรซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงหลายอำเภอของจังหวัดลพบุรี

ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงวิกฤตของการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จึงไม่สามารถไหลเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก โดยแรงโน้มถ่วงได้ โดยกรมชลประทานได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม จากเดิมที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขนาดใหญ่ ขนาด 5 ลบ.ม. จำนวน 4 เครื่อง และขนาด 3 ลบ.ม. จำนวน 4 เครื่อง ไว้แล้วนั้น ซึ่งขณะนี้ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 3 ลบ.ม. อีกจำนวน 2 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ด้วยระบบไฟฟ้า (Jica) ขนาด 0.5 ลบ.ม. อีก จำนวน 4 เครื่อง เพื่อเติมน้ำให้คลองชัยนาท-ป่าสักมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า...สถานการณ์น้ำน่าจะดีขึ้นได้ในสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว กว่า 3 แสนไร่ จาก 8 แสนไร่ ให้สูบน้ำตามรอบเวร ที่ หน่วยงานราชการกำหนดไว้ และชะลอการเพราะปลูกออกไปก่อน จนกว่าปริมาณฝนที่มากพอและสม่ำเสมอ เพื่อจัดสรรน้ำให้เพียงพอทั้งด้านการอุปโภค และบริโภค รวมถึงภาคการเกษตรไม่ให้ได้รับความเสียหาย

สำหรับการแก้ไขในระยาว ได้มอบหมายให้ สำนักงานประปาส่วนภูมิภาค ทั้งสาขาบ้านหมี่ และ สาขาลพบุรี ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง สำหรับเป็นต้นทุนในการผลิตน้ำประปา ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลัก ของการอุปโภค บริโภค เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ เหมือนทุกปี ที่ผ่านมา


ภาพ/ข่าว  กฤษณ์ สนใจ

เพชรบุรี – สมาคมคนตาบอดไทย ห่วงใยผู้พิการทางสายตาชาวเพชรบุรีช่วงโควิด มอบเงินและถุงยังชีพช่วยเหลือ

วันที่ 9 มิถุนายน ที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี นายพัฒน์ธนชัย สระกวี นายกสมาคมประชาคมคนตาบอดไทย พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ร่วมรับมอบเงินสดและถุงยังชีพ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้พิการทางสายตาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ใน จ.เพชรบุรี

พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี ได้กล่าวแสดงความขอบคุณแทนเจ้าหน้าที่ ส่วนราชการ และพี่น้องประชาชนชาวเพชรบุรี ที่ทางสมาคมฯ มีน้ำใจในการมาช่วยเหลือพี่น้องคนตาบอดในพื้นที่ของ จ.เพชรบุรี จำนวนถึง 84 ราย ซึ่งจะได้นำถุงยังชีพและเงินสดที่ได้รับมอบส่งต่อให้ผู้แทนของแต่ละอำเภอทั้ง 8 อำเภอ ได้ส่งตรงถึงมือผู้พิการทางสายตาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างทั่วถึงตามเจตนารมณ์ ต้องขอขอบคุณสมาคมประชาคมคนตาบอดไทยเป็นอย่างสูงที่มีน้ำใจไมตรีในสถานการณ์แบบนี้คนไทยไม่ทิ้งกัน

นายพัฒน์ธนชัย สระกวี นายกสมาคมประชาคมคนตาบอดไทย กล่าวว่า ได้นำถุงยังชีพมามอบให้กับทางจังหวัดเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือให้กับคนตาบอดที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และหากมีท้องถิ่นใดมีคนตาบอดที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม สามารถแจ้งไปได้ทางสมาคมฯ จะพิจารณาเพิ่มเติมมาให้

และที่โรงสีทวีรวมมิตร ตำบลสำมะโรง อำเภอเมืองเพชรบุรี นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี นายอำเภอเมือง หัวหน้าส่วนราชการ อสม.และประชาชนร่วมรับมอบข้าวสารจาก นายบุญรวม เจริญผล ผู้บริหารโรงสีทวีรวมมิตร อดีตกำนันตำบลสำมะโรง เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด โดยนายบุญรวม กล่าวว่าจากสถานการณ์โควิด-19 พื้นที่หลายตำบลได้ผลกระทบ โดยเฉพาะในตำบลสำมะโรงมีผู้ติดเชื้ออยู่ประมาณ 9 ราย และมีผู้ที่ต้องกักตัวอีก 34 รายแล้ว มีความเป็นห่วงพี่น้องชาวบ้านจึงต้องการอยากจะเข้าไปช่วยเหลือ ไม่เพียงผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงเท่านั้นแต่อยากช่วยเหลือรวมไปถึง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ และผู้ที่ยากไร้ ไม่มีบ้าน ที่ได้มีการสำรวจผู้เดือดร้อนไว้ทั้งหมด

ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี ได้กล่าวขอบคุณทางโรงสีทวีรวมมิตร ที่นอกจากมอบให้ชาวบ้านตำบลสำมะโรงแล้ว ยังส่งมอบข้าวสารช่วยเหลือโรงครัวเพื่อประกอบอาหารเลี้ยงให้กับพี่น้องประชาชนใน 6 ตำบลเขตอำเภอเขาย้อย ด้วยซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมอบให้ อสม.และเจ้าหน้าที่นำส่งต่อให้ถึงมือชาวบ้านที่เดือดร้อน 700 กว่าครัวเรือน เพราะชาวบ้านไม่สามารถมารับได้ทั้งหมดเนื่องจากอยู่ในมาตรการการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

สำหรับสถานการณ์ โรคโควิด-19 จ.เพชรบุรี ล่าสุด(8 มิ.ย.64) มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 49 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 7,579 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 3,999 คน รักษาหายดีกลับบ้านแล้ว 3,572 ราย


ภาพ/ข่าว  นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์ / 4เหล่าทัพ

สมุทรปราการ - ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “รวมใจภักดิ์ อนุรักษ์พันธุ์ปลา รักษาป่าชายเลน” ในมูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการัง และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

วันที่ 9 มิ.ย.64 พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “รวมใจภักดิ์ อนุรักษ์พันธุ์ปลา รักษาป่าชายเลน” ในมูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการัง และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ครั้งที่ 3/2564 ณ หมวดเรือที่ 3 กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และ พล.ร.ต.ธาดาวุธ ทัดพิทักษ์กุล ผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ โอกาสนี้ นางจุฬารัตน์ ศรีวรขาน นายกสมาคมภริยาทหารเรือ นำคณะอุปนายก และผู้บริหารสมาคมภริยาทหารเรือ ร่วมในพิธี

มูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระดำริ ที่ทรงมีเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์แนวปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย และเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการอนุรักษ์ แนวปะการัง และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริ ให้แนวปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ได้อย่างมีความสมดุลและยั่งยืน กองทัพเรือ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานสนองพระดำริ จึงได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และพระประสงค์ของพระองค์ ที่ผ่านมา ชายฝั่งบริเวณพื้นที่ด้านทิศใต้ของหมวดเรือที่ 3 กองเรือทุ่นระเบิด ประสบปัญหาการกัดเซาะของแม่น้ำเจ้าพระยา และปัญหาน้ำท่วมสูงตามฤดูกาล ทำให้ชายฝั่งเกิดการพังทลายเป็นบริเวณกว้าง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 0.6 ไร่ หรือ 25 % ของพื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมด ทั้งนี้ หากปล่อยให้เกิดการพังทลายต่อไป จะเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ที่ตั้งหน่วยแห่งนี้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาดังกล่าว กองเรือยุทธการ จึงได้มอบหมายให้กองเรือทุ่นระเบิด จัดกิจกรรม “รวมใจภักดิ์ อนุรักษ์พันธุ์ปลา รักษาป่าชายเลน” ในมูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยฯ ครั้งที่ 3/2564 โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การรักษาระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย อนุรักษ์ป่าชายเลนให้มีความสมบูรณ์ พร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และแหล่งศึกษาทางนิเวศวิทยา พัฒนาแนวชายฝั่ง และป้องกันการพังทลายของหน้าดินในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งหน่วย โดยมีการดำเนินการ กิจกรรมย่อย 3 กิจกรรม ประกอบด้วย

            -กิจกรรมปลูกต้นโกงกาง จำนวน 350 ต้น

            -กิจกรรมปล่อยพันธุ์ปูจำนวน 918 ตัว พันธุ์ปลา 9,918 ตัว

            -กิจกรรมเก็บขยะโดยรอบพื้นที่

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนการดำเนินโครงการตามพระดำริแล้วยังเป็นการพัฒนาแนวชายฝั่ง และป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งการป้องกันการกัดเซาะ โดยการปลูกต้นโกงกาง นับได้ว่าเป็นวิธีการตามธรรมชาติและประหยัดงบประมาณ ซึ่งนอกจากจะสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้แล้ว ยังส่งผลประโยชน์ในการเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นที่หลบภัยและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศ และเป็นการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเล อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดี ให้กับข้าราชการและประชาชน ในการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสามารถเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการป้องกันปัญหาการกัดเซาะและการพังทลายของหน้าดินได้

การปลูกต้นโกงกางในครั้งนี้ได้ใช้แนวทางตามโครงการปลูกต้นโกงกางในท่อใยหิน ซึ่งเป็นแนวทางที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (หน่วย SEAL) คิดค้น และพัฒนาขึ้น โดยเริ่มดำเนินการทดลองปลูกเพื่อแก้ปัญหาการอยู่รอดของต้นโกงกาง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 จนเป็นที่มาของการปลูกต้นโกงกางรูปแบบใหม่คือ “การปลูกต้นโกงกางในท่อใยหิน” ซึ่งหน่วย SEAL เริ่มทดลองปลูกบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งทะเล พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย จนพบว่ามีอัตราการรอดชีวิตของต้นโกงกางถึง 98.5% คิดเป็นจำนวน 2,524 ต้น นับว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่งผลให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์มากขึ้น


ภาพ/ข่าว สมนึก เชื้อสนุก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top