Friday, 18 April 2025
แพทองธาร

นายกฯ แพทองธาร แถลงนโยบาย “โอกาสที่เป็นไปได้ เพื่อคนไทยทุกคน” ย้ำรูปธรรม “มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี” ทุกนโยบายทำจริง ทำเป็น

นายกฯ แถลงนโยบาย “โอกาสที่เป็นไปได้ เพื่อคนไทยทุกคน” แจง 10 นโยบายเร่งด่วนต่อรัฐสภา “ดิจิทัลวอลเล็ต-เกษตรทันสมัย-รถไฟฟ้าราคาเดียวตลอดสาย-กำจัดอาชญากรรมออนไลน์-กำจัดยาเสพติดทั้งระบบ-ทำรัฐธรรมนูญใหม่-ปรับปรุงระบบภาษีครั้งใหญ่-ปฏิรูประบบราชการ ลดขนาดกองทัพ เดินหน้าสู่ Digital Government” ย้ำรูปธรรม “มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี”

(12 ก.ย. 67) ที่รัฐสภา การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มี ครม. ส.ส. และ ส.ว. เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า คณะรัฐมนตรีขอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้ทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดองให้เกิดข้ึนในสังคมไทย และจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของชาวไทยทุกคน

นายกฯ แพทองธาร แถลงในประเด็นความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญว่า ประเทศไทยเผชิญความท้าทายอยู่หลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่โตน้อยกว่าศักยภาพจริง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมและการเมือง ทั้งหมดนี้รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วน เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รัฐบาลพร้อมเสริมศักยภาพ สร้างโอกาสให้ประชาชนทั้งบทบาทและสิทธิเพื่อพลิกฟื้นประเทศจากปัญหาที่รุมเร้าและนำพาให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

โดยนายกรัฐมนตรี ได้ยกความท้าทาย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่โตน้อยกว่าศักยภาพจริง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ สังคมและการเมือง ทั้งหมดนี้คือ “ความท้าทาย” ที่รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วน เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายสำคัญเร่งด่วนเพื่อการเดินหน้าบริหารประเทศ 10 ข้อ ที่จะดําเนินการทันที ดังนี้ 1) ผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ 2) ดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs 3) เร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค อัตราค่าโดยสารร่วมรองรับนโยบาย “ราคาเดียวตลอดสาย” 4) สร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนําเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี และนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา อุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานของประชาชน ฯลฯ 5) เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ให้ความสําคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก ผลักดัน “ดิจิทัลวอลเล็ต” (Digital Wallet) ซึ่งเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ  6) ยกระดับการทําเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย ภายใต้แนวคิด “ตลาดนํา นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ฟื้นนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก 7) ส่งเสริมการท่องเที่ยว สานต่อการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราท้ังหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า (วีซ่าฟรี) นำเทศกาลระดับโลกมาจัดในประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยว กระจายรายได้ 8) แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร 9) เร่งแก้ปัญหา อาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ และ 10) รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจให้แก่คนทุกกลุ่ม เป็นต้น

นายกรัฐมนตรียังได้แถลงเนื้อหาในนโยบายรัฐบาลซึ่งเป็นแผนระยะยาวเพื่อการวางรากฐานและฟื้นโอกาสให้กับประเทศ อาทิ ยานยนต์แห่งอนาคต ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง, ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์และส่งออก ซอฟท์พาวเวอร์, เศรษฐกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล ดึงดูดต่างชาติเพื่อตั้งดาต้าเซนตอร์, โรงงานผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ และวางรากฐานการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI, การสนับสนุนระบบเศรษฐกิจสีเขียว, ศูนย์กลางการเงินระดับโลก, ขยายเศรษฐกิจสุขภาพและการแพทย์, ระบบสาธารณูปโภคคุณภาพ, พัฒนาด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ, การสร้างศูนย์กลางและระบบคมนาคม (Logistics Hub) ผ่านโครงสร้างคมนาคมขนาดใหญ่ และขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์, การแก้ปัญหาที่ดินทำกินด้วย One Map, จัดการคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรดาวเทียม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ เพื่อนำไปสู่การทำ Negative Income Tax ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับ “เงินภาษีคืนเป็นขั้นบันได” ตามเกณฑ์ที่กำหนด

นอกจากนี้ ยังมีแผนนโยบายเพื่อฟื้นโอกาสประเทศ อาทิ ส่งเสริมการเกิดและเติบโตของเด็กอย่างมีคุณภาพ, OFOS ยกระดับทักษะ ปลดล็อกศักยภาพไทย, 30 บาทรักษาทุกที่ และการฉีดวัคซีนปากมดลูก, ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ, การเร่งทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น, การพื้นฟูหลักนิติธรรมและความโปร่งใส, การปฏิรูประบบราชการและกองทัพ ลดขนาด เพิ่มประสิทธิภาพ เปลี่ยนผ่านราชการไทย สู่ Digital Government, การยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน เปลี่ยนรัฐปกครองเป็นรัฐสนับสนุน ลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น

ในด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งแก้ PM2.5  ฟื้นฟูธรรมชาติ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่น, ฟื้นบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ แก้น้ำท่วม น้ำแล้ง รวมถึงนำประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง รวมถึงสานต่อการฑูตพาณิชย์เชิงรุก แก้ไขปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศท้ังระบบทวิภาคี (Bilateral) และพหุภาคี (Multilateral) และเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าสำคัญ และเตรียมเข้าเป็นสมาชิก OECD เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวต่อว่า รัฐบาลจะพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจท่ีถูกต้อง เผยแพร่ข้อมูลเก่ียวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยเฉพาะกฎหมายที่เก่ียวข้องกับผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“ในนามนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ในนามรัฐบาล ดิฉันขอให้ความมั่นใจ กับรัฐสภาแห่งน้ีว่า จะตั้งใจบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมท้ังประสานพลังจากทุกภาคส่วน จากทุกช่วงวัย จากทุกความเชี่ยวชาญ ขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงเพื่อตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันให้สำเร็จ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า เพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทย มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักด์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทย และประเทศไทย เพื่อสร้างความหวังและอนาคตท่ีดีกว่าให้ประเทศไทย จากวันนี้ไปถึงอนาคต” นายกรัฐมนตรี กล่าว

'นายกฯ' ประชุมวอร์รูมใหญ่แก้น้ำท่วม จ่อลงพื้นที่เชียงรายพรุ่งนี้ ย้ำข้าราชการไม่ต้องมาต้อนรับ ให้หน้างานอยู่กับประชาชนเป็นหลัก สั่งการดูแลอพยพประชาชน-สัตว์เลี้ยง พร้อมวอนผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่เสี่ยง หลังจากนี้เรื่องการเยียวยารัฐบาลจะขอรับไว้เอง

(12 ก.ย.67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม , นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม , นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม , นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย , นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข , นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ , นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยทีมราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม 

จากนั้น นายกรัฐมนตรี รับฟังรายงานสถานการณ์ และ การช่วยเหลือที่กำลังดำเนินการ จาก กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ส่วนหน้า) จ.เชียงราย , ปลัดกระทรวงมหาดไทย , ผู้บัญชาการทหารสูงสุด , ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย และ เชียงใหม่ , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , กรมชลประทาน , กองทัพบก , กรมทรัพยากรธรณี , กรมอุตุนิยมวิทยา , GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการว่า ตามที่ได้รับรายงานสถานการณ์ และการช่วยเหลือของส่วนราชการในพื้นที่เบื้องต้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเข้าถึงพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด ขอให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังนี้

1. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลเรื่องการอพยพประชาชน และสัตว์เลี้ยงให้มีความปลอดภัย ตลอดจนสนับสนุนด้านอาหาร  และน้ำดื่ม รวมถึงอาหารสัตว์ให้เพียงพอ

2. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ที่ศูนย์อพยพ และยารักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง โดยให้แบ่งมอบพื้นที่ กำหนดภารกิจ และหน่วยปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น การดูแลด้านการดำรงชีพ การจัดตั้งศูนย์พักพิง การประกอบอาหาร ถุงยังชีพ การแพทย์ และการสาธารณสุข โดยให้มีการใช้ทรัพยากร และอุปกรณ์เครื่องมือของแต่ละหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3. ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลความปลอดภัยของทรัพย์สิน และบ้านเรือนของราษฎร

4. เมื่อน้ำลด ให้ทุกส่วนราชการตรวจสอบ ความเสียหายระบบสาธารณูปโภค ถนน สะพาน ระบบไฟฟ้า และประปา เพื่อสร้างความเข้าใจ รับฟังปัญหาความต้องการ และดำเนินการปรับปรุงให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น หน่วยทหารพัฒนา เพื่อช่วยเหลือประชาชน ร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือน ถนน และพื้นที่สาธารณะที่ถูกน้ำท่วม

5. มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบ และเสริมความมั่นคงแข็งแรงเชิงโครงสร้างให้กับคันกั้นน้ำ และระบบระบายน้ำโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญ และเร่งรัดปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว

ในเรื่องของงกลาง รัฐบาลได้กำหนดการที่จะมีส่วนช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่แค่ตอนเยียวยาแต่ช่วยตอนนี้ด้วย และอยากให้ทุกฝ่ายรักษาชีวิตประชาชนเป็นหลักโดยด่วน และอพยพออกมาจากพื้นที่น้ำท่วมให้เร็วที่สุด นี่คือเหตุจำเป็นและเร่งด่วน

6. ขอให้กรมทรัพยากรธรณี เร่งรัดการดำเนินงานเกี่ยวกับระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยสูงโดยด่วน เพื่อให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า และเตรียมการได้ทันเวลา ซึ่งแม้ว่าระบบเตือนภัยจะมีแล้ว แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งยังไม่อยากออกมาจากบ้าน เพราะเสียดายทรัพย์สินซึ่ง เราก็เข้าใจว่าการจะทิ้งทรัพย์สินเป็นเรื่องที่เสียดาย แม้ระบบเตือนภัยได้ทำการเตือนแล้ว ซึ่งตนเองอยากบอกพี่น้องประชาชนว่า เราจะขอรับดูเรื่องการเยียวยาและดูแลประชาชน ดังนั้นขอให้ทุกท่านรักษาชีวิตตัวเองก่อน และ ออกมาจากพื้นทีีประสบภัยโดยเร็วที่สุด ส่วนเรื่องอื่นรัฐบาลจะช่วยได้ในรูปแบบไหนบ้าง จากนี้จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะช่วยดูแลอย่างดีที่สุด 

7. เนื่องจากประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงฤดูฝน ขอให้ส่วนราชการที่ทำหน้าที่คาดการณ์สภาพอากาศ รวมทั้ง GISTDA ติดตามปริมาณฝน และระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ แนวโน้ม และแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนในชุมชนและหมู่บ้าน ทราบถึงแนวทาง การปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย และช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในการอพยพ

8. ให้พิจารณาการใช้เงินจากกองทุน และการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย (หากมีผู้ประสงค์จะร่วมบริจาค) โดยมอบหมายสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

9. ขอมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำในระยะยาวต่อไป

ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) ตนและคณะรัฐมนตรีบางส่วน ได้วางแผนว่าจะไปลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อไปดูสถานการณ์จริง และสั่งการได้อย่างเร่งด่วนกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้ทุกภาคส่วนดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างปกติ ไม่ต้องมาต้อนรับ เพราะไม่อยากให้กระทบถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่รอความช่วยเหลือ ตั้งใจที่จะไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ไม่ได้อยากเป็นเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

“สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานต่อท่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นรายวัน หรือเร็วกว่านั้นหากมีสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อที่จะได้ประเมินสถานการณ์ได้ทันเวลา และเตรียมรับมือกับปัญหา ตลอดจนหามาตรการเยียวยาประชาชนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งดิฉันจะเข้ามาติดตามงานด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด” นายกรัฐมตรี กล่าวจบในที่สุด

'นายกฯ' คิกออฟ!! โอน 'เงินหมื่น' กระตุ้นเศรษฐกิจ หวัง!! พายุหมุนลูกนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น

(25 ก.ย. 67) ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานเปิดตัว (Kick Off) การโอนเงินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ โดยมีคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมในงานอย่างพร้อมเพรียง

ซึ่งวันเดียวกันนี้เป็นจ่ายเงินในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับกลุ่มเปราะบางจำนวน 14.5 ล้านคน ซึ่งเป็นเฟสแรก แบ่งเป็นผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ เริ่มโอนตั้งแต่วันที่ 25-30 ก.ย.นี้ เป็นการโอนเงินเข้าสู่ระบบพร้อมเพย์ที่เชื่อมเลขบัตรประชาชน ซึ่งวันนี้ (25 ก.ย.) กรมบัญชีกลาง โอนเงินเข้าบัญชีผู้พิการ 2.1 ล้านคน และผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 0 วันที่ 26 ก.ย. / ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 1, 2, 3 วันที่ 27 ก.ย. / ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 4, 5, 6, 7 และวันที่ 30 ก.ย. ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 8, 9

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจมาอย่างเรื้อรังนานหลายปี และปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่ได้มาจากปัจจัยภายในประเทศเท่านั้นยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เศรษฐกิจทั่วโลกนั้นยังฟื้นฟูได้ช้ากว่าปกติและมากไปกว่านั้นยังมีเรื่องของปัญหาความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ในหลาย ๆ ภาค และยังไม่รวมปัญหาสิ่งแวดล้อมในตอนนี้ที่ทวีคูณความรุนแรงขึ้น ก็จะเห็นได้จากประเทศไทยของเราเองอย่างปัญหาอุทกภัยในปีนี้ที่เป็นปัญหารุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เลย 

ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาเป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองและไม่สามารถที่จะเพิ่มการลงทุนได้เราจะเห็นได้ชัดว่าเงินในระบบของเราก็หายไปตอนนี้เงินหมุนเวียนแทบจะเป็นสิ่งหายาก เงินไม่หมุน เศรษฐกิจฝืดเคือง ทำให้การลงทุนน้อยลง อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็เกิดขึ้นน้อยลง

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยรวมถึงผู้พิการ ประเทศไทยต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ ทำให้ประเทศไทยต้องมีความพร้อมต่อการลงทุนและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยและเราเองก็จะต้องสร้างรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวเพื่อที่จะให้คนไทยมีความมั่นคงและหารายได้อย่างยั่งยืน

นโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลเน้นย้ำที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน 1 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้เรายังเน้นย้ำเรื่องนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เพราะเราทราบว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่และมีความสุขมีสิ่งที่ดีขึ้น ทำให้ชีวิตพัฒนาได้มากขึ้น แต่นโยบายหลายนโยบายอาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือน หรือบางนโยบายต้องใช้เป็นปีและต้องใช้เสถียรภาพทางการเมืองด้วย เพื่อทำให้นโยบายนั้นต่อเนื่องและพัฒนาไปถึงมือของพี่น้องประชาชนจริง ๆ

ทั้งหมดนี้คือความท้าทายของรัฐบาลและที่จะต้องเปลี่ยนทั้งหมดเป็นโอกาสเพื่อประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจและมีหลายนโยบายที่ออกไปแล้ว อย่างเช่น นโยบายพักหนี้เกษตรกร และเมื่อวานนี้ในที่ประชุมครม. ต่อนโยบายอีกหนึ่งปีเป็นปีที่สอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดดอกเบี้ย รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านนโยบายฟรีวีซ่า ก็จะเห็นได้ชัดว่าตัวเลขการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีที่ผ่านมา แต่การกระตุ้นการท่องเที่ยวยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งประเทศได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยจะถูกกระตุ้นครั้งใหญ่ เงินสดถึงมือคนไทย ระบบเศรษฐกิจจะถูกเติมเงินหมุนเวียนกว่า 145,552.40 ล้านบาท สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ครั้งแรก ที่ทำให้คนไทยได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ต่อลมหายใจให้พี่น้องประชาชนรายเล็กที่กำลังเดือดร้อน

“นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้จะถึงมือพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบาง จำนวน 14.55 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 12.40 ล้านคน และกลุ่มคนพิการจำนวน 2.15 ล้านคน ทุกคนจะได้รับเงินสดคนละ 10,000 บาท ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผ่านช่องทางการรับเบี้ยเดิมของผู้พิการ ไม่ว่าจะเคยได้รับเงินผ่านบัญชีธนาคาร หรือได้รับเงินสดผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็จะได้รับเงินในวิธีการเดิม ที่สำคัญเงินจำนวนนี้ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ในการใช้ เมื่อเงินเข้าบัญชีสามารถนำไปใช้จ่ายได้ทันที เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด และถึงมือพี่น้องประชาชนมากที่สุด ซึ่งการโอนเงินจะทยอยโอนให้ถึงมือพี่น้องประชาชนภายใน 4 วัน โดยเริ่มที่วันนี้เป็นวันแรก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า นโยบายนี้จะช่วยกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้พี่น้องประชาชน สร้างโอกาส สร้างความหวัง นำไปสู่การพัฒนาเพื่อต่อยอดคุณภาพชีวิต ทำให้พี่น้อง มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อย่างที่ได้เคยกล่าวไว้ เงินหนึ่งหมื่นบาทเป็นจำนวนที่จะทำให้พี่น้องประชาชนหลายคนมีโอกาสสร้างชีวิตใหม่มากพอ รัฐบาลหวังว่าจะใช้เงินนี้มีประโยชน์ หรือบางครอบครัวที่มีมากกว่าหนึ่งคนก็นำเงิน 10,000 มารวมกัน ต่อยอดธุรกิจ สร้างธุรกิจ สร้างโอกาสใหม่ ๆ รัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่าพี่น้องประชาชนจะสามารถใช้เงินนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และขอเน้นย้ำว่านโยบายนี้เป็นหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมาอีกมากมาย

“แน่นอนสิ่งที่ทุกคนรอคอยและถามถึง รัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการ Digital Wallet ต่อเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับคนไทย ให้ประชาชนมี Digital ID เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างรัฐบาลและประชาชน ทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ กับหน่วยงานรัฐสะดวกขึ้น โปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นการวางรากฐานตั้งแต่วันนี้เรากำลังพัฒนาระบบนี้อยู่ อีกหน่อยจะใช้เรื่องของการเยียวยารัฐจะสามารถโอนตรงสู่ประชาชนได้นี่คือสิ่งที่เราวางดิจิทัลเอาไว้เพื่อให้ประชาชนสะดวกสบายมากขึ้นและรวดเร็วในการรับจากรัฐบาลได้ง่ายขึ้น และพี่น้องประชาชนสามารถติดตามข่าวสารและตรวจสอบข้อมูลได้ที่ทุกช่องทางของกระทรวงการคลัง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เพื่อเป้าหมายสำคัญ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้พี่น้องประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง มีรอยยิ้ม และเป็นการต่อยอดให้พี่น้องประชาชนมีโอกาสในชีวิตเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสร้างความเท่าเทียมทางโอกาส และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านโยบายนี้และอีกหลายนโยบายของรัฐบาลจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาดีเหมือนเดิมให้พี่น้องประชาชนกลับมามีความสุขอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเปิดงานได้นายกฯ ได้มีการพูดคุยกับประชาชนที่วิดีโอคอลมาจากจังหวัดต่าง ๆ เริ่มจากจังหวัดเชียงใหม่, สมุทรสาคร, มุกดาหาร และอุตรดิตถ์ โดยนายกฯ ได้มีการสอบถามว่า "ได้เงิน 10,000 หรือยัง ได้ตั้งแต่เวลาเท่าไหร่" ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนกลุ่มแรกได้รับเงินกันตั้งแต่ช่วงกลางดึกหลังเที่ยงคืน โดยตัวแทนภาคประชาชนขอบคุณนายกฯ และรัฐบาล โดยระบุว่า จะนำเงินไปใช้ของสำหรับประกอบอาชีพของตัวเอง การศึกษาของบุตรและเครื่องอุปโภคบริโภค

จากนั้นได้วิดีโอคอลพูดคุยกับกลุ่มผู้พิการจากจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสอบถามว่า "ได้เงิน 10,000 เวลาเท่าไหร่" ผู้พิการจึงตอบว่า ตีสามสิบห้า นายกฯ จึงแซวกลับว่า "เลขเด็ดหรือไม่" พร้อมสอบถามว่าจะนำเงินไปทำอะไร และถามว่ามีอะไรอยากจะบอกรัฐบาลเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งตัวแทนผู้พิการระบุว่า จะนำเงินที่ได้ไปซื้อเกี่ยวกับของอุปโภคบริโภคสำหรับผู้พิการ

ผู้สื่อข่าวถามว่าสำหรับโครงการเฟสสองและเฟสสาม เราจะเริ่มต่อทันทีเลยหรือไม่? นายกฯ กล่าวว่า "ตอนนี้กำลังวางเรื่องของระบบอยู่ ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียดทั้งหมด"

เมื่อถามย้ำว่ารู้สึกอย่างไรที่ประชาชนตั้งตารอตั้งแต่เที่ยงคืนเพื่อเช็กเงินหมื่น ถือเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจหรือไม่? นายกฯ กล่าวว่า "รู้สึกดีใจกับประชาชนด้วยและกับรัฐบาลทั้งหมดอยากให้พายุหมุนลูกนี้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น"

นายกฯ อุ๊งอิ๊ง ตอบคอมเมนต์แซะ ‘ก้มหน้าตาอ่านไอแพด’ แนะลดอคติ-เปิดใจให้กว้าง ด้าน ‘พิชัย’ โดดป้อง เป็นเรื่องปกติที่ต้องทำเพื่อความถูกต้อง ชูการประชุมประสบความสำเร็จ

(6 ต.ค. 67) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาตอบคอมเมนต์ของผู้ใช้เพจเฟซบุ๊กหนึ่ง ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น

โดยระบุว่า อย่างน้อยหาข้อมูลให้มีในสมองบ้างครับก้มหน้าอ่านจากไอแพด มันดูน่าขายขี้หน้าประเทศ ประยุทธ์ว่าแย่แล้ว คนนี้แย่พอกันหรือแย่กว่าด้วย ซึ่งหลังจากหนุ่มคนนี้ได้โพสต์ข้อความออกไป 

ทางนายกรัฐมนตรีได้มาตอบคอมเมนต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ว่า

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำค่ะ รบกวนดูข่าว+หาข้อมูลเยอะๆ นะคะ เวลาประชุมแบบนี้ ทั่วโลกเค้าอ่านกันค่ะ มันเป็น commitment เป็นสิ่งที่ต้องบันทึกค่า อ่านทุกคน ตั้งแต่ sheikh ถึง mimister เลยค่ะ ลองหาข้อมูลเพิ่มดูเนาะ ถ้าเป็น bilateral ส่วนใหญ่ จะจดหัวข้อไป แล้วก็พูดคุยกันแบบไม่ต้องอ่านจะเกิดการสร้าง Connection ที่ดีค่ะ ดูแค่หัวข้อให้ครบถ้วน ไม่มีใครแย่กว่าใครหรอกค่ะ ทุกคนมีความสามารถกันคนละด้านค่ะ เปิดใจกว้างๆลองให้โอกาสตัวเอง ลดอคติลง จะมีความสุขขึ้นค่ะ

ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว. พาณิชย์ กล่าวว่า ทันทีที่กลับถึงไทย ตนได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงการประชุม ACD summit ในครั้งนี้ โดยย้ำว่า เป็นการประชุมที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงบทบาทผู้นำของประเทศไทยอย่างยอดเยี่ยม และเป็นที่ชื่นชมของผู้นำต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งมีผู้นำหลายประเทศมาขอร่วมถ่ายภาพด้วย ล่าสุดติดอันดับ 100 ผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคตของนิตยสาร TIME ในเวทีต่างๆ ท่านนายกฯ ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อผู้นำกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และการเชิญชวนชาติต่างๆ เข้ามาตั้ง Data Center หรือสถานที่จัดเก็บข้อมูลในประเทศไทย ซึ่งทำให้ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจอย่างมาก เช่น UAE, Qatar, Kuwait, Oman เป็นต้น

รมว. พาณิชย์ กล่าวต่อว่า ตนจึงแปลกใจที่มีการหยิบยกภาพๆ เดียวที่นายกฯ ถือไอแพดขึ้นมาตัดต่อ บิดเบือน ในเรื่องการสื่อสารในเวทีระดับโลก ตนรู้สึกเป็นการวิจารณ์ที่ล้าสมัย ไม่รู้ข้อเท็จจริง และธรรมเนียมปฏิบัติในเวทีโลก ไม่ยุติธรรมต่อคนทำงาน จึงต้องออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการบิดเบือนใส่ร้าย ในฐานะผู้ที่นั่งอยู่ร่วมในวงประชุมต่างๆ กับท่านนายก ทั้งในเวทีใหญ่ และเวทีทวิภาคี

ต่อข้อวิจารณ์ว่านายกฯ อ่านจากไอแพด นักวิจารณ์บางรายไปบิดเบือนเป็นเรื่อง การทูตIpad ขอเรียนว่า ในเวทีสากลแบบนี้ ทุกอย่างที่อยู่ในห้องประชุม ทั้งการสนทนา การนำเสนอวิสัยทัศน์ การให้ข้อแถลงต่างๆ จะถูกบันทึกไว้ทั้งหมดโดยละเอียด ตนนั่งในห้องประชุมหลังท่านนายกฯ จึงได้เห็นว่าผู้นำทุกชาติ เขาอ่านกันทั้งหมด เพราะเขาระวังความผิดพลาด ถ้าพูดผิด ก็จะทำให้บันทึกการพูดผิดไปด้วย การอ่านทั้งจากเอกสาร หรือไอแพดก็ดีจึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่รัดกุมที่ทุกประเทศเขาทำกันหมด

ส่วนในการเจรจา Bilateral หรือทวิภาคีกับชาติต่างๆ ตนนั่งอยู่ในห้องด้วย ท่านนายกพูดเองทั้งหมด นำการประชุมทวิภาคีได้สมศักดิ์ศรี ต้องเข้าใจก่อนด้วยว่า ในการร่วมเวทีระดับสากล จะมีวงหารือทวิภาคีหลายวง และประเด็นในการสนทนา หรือ Suggest Talking Points ที่แต่ละชาติจะหยิบยกขึ้นมาหารือกัน ก็ไม่เหมือนกันทั้งสิ้น การมีกระดาษโน้ต หรือไอแพดไว้ในมือ เพื่อเหลือบมองหัวข้อบ้างตามสมควร จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและสามารถทำได้ เพื่อให้ประเด็นที่เราหยิบยกขึ้นมาดำเนินไปด้วยความถูกต้องกับที่เราเตรียมการมา ผู้นำชาติต่างๆ ก็ทำแบบนั้นทั้งสิ้น ท่านนายกฯ พูดได้ไหลลื่น มองไอแพดเป็นครั้งคราวเพื่อดูเพียงหัวข้อ ที่ต้องชมมากคือการเจรจา Bilateral ครั้งแรกกับประเทศอิหร่าน ซึ่งสุดหิน เพราะเพิ่งมีสถานการณ์สดๆร้อนๆ แต่ท่านนายกสามารถทำได้อย่างดีเยี่ยม พูดให้เขาสบายใจ ด้วยภาษาดอกไม้ ไม่เข้าข้างใคร ให้ประเทศไทยอยู่ตรงกลาง และในช่วงการสัมภาษณ์สรุปประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการเข้าร่วม ACD summit กับสื่อมวลชนไทยก็ทำด้วยดี จนพวกเราทั้งสามคนที่ยืนอยู่ด้วยหันมาชื่นชมเป็นเสียงเดียวกัน

“ทั้งตัวผม และผู้ที่ร่วมในการประชุม ทั้ง นายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รมว. ต่างประเทศ และนพ.พรหมินทร์ เลิศสุริเดช เลขาธิการนายกฯ เราได้อยู่ด้วยในทุกฟอรัมที่นายกฯ เข้าร่วม เรายังยืนคุยกันชื่นชมนายกฯ ที่สามารถทำได้ดีเยี่ยม เป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศ อย่างวงทวิภาคี ตนเองยังต้องใช้เวลาฝึกเป็นปีกว่าจะสามารถดำเนินการได้ แต่ท่านนายกฯสามารถทำได้ดีในครั้งแรก จึงอยากออกมาข้อมูลอีกด้าน ในฐานะที่อยู่เหตุการณ์จริง ขอให้เลิกอคติ จับผิดเรื่องเล็กน้อย วันนี้ ขอชวนคนไทยให้กำลังทีมไทยแลนด์ที่ช่วยกันทำงานอย่างหนัก เพื่อเชิญชวนชาติต่างๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะดีกว่า” นายพิชัยกล่าว

‘แพทองธาร’ ไม่กล้าพูดฟื้น ‘คนละครึ่ง’ กระตุ้นเศรษฐกิจ แง้ม รออีกนิดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรออยู่อีกเพียบ

(7 ต.ค. 67) ที่โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสบวกสนับสนุนรัฐบาล หลังแจกเงินหมื่น และก่อนจะแจกเฟส2 เป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำโครงการคนละครึ่งมากระตุ้นเศรษฐกิจ นายกฯ นิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนยกมือป้องปากและกล่าวว่า ไม่กล้าพูดเลย แล้วหันไปหัวเราะกับนายสรวงค์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา จากนั้นจึงระบุว่า จริง ๆ แล้วเรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมีในกระเป๋าเยอะมากเลย แต่ค่อยๆ ออกมา เพราะต้องดูสถานการณ์บ้านเมืองด้วย 

นายกฯ กล่าวด้วยว่า แน่นอนว่า หลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เราทำแน่นอน เพราะฉะนั้นก็ขอให้รออีกนิดนึง อย่าเพิ่งรีบ กระทรวงไหนที่เกี่ยวข้อง ตนพยายามจะให้กระทรวงด้านนั้นมาเล่าว่าผลงานที่ตัวเองทำคืออะไร 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการคนละครึ่งเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในสมัยที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีการจัดรวมกันถึง 5 เฟส มีประชาชนใช้จ่ายจริงไม่น้อยกว่า 27 ล้านคน รวมถึงมีธุรกรรมที่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท

‘นอร์กรุงเทพโพล’ เปิดผลสำรวจ ‘นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว’ ของรัฐบาล พบ ร้อยละ 61.2 พอใจ อึ้ง!! ร้อยละ 55.7 ตอบท่องเที่ยวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

(21 ต.ค. 67) ผศ.ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์สำรวจความคิดเห็น นอร์ทกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยนอร์มกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในวันที่ 18 ก.ย. 2567 โดยมีผู้สำรวจจำนวน 1,500 ราย จากทั่วภูมิภาคพร้อมทั้งได้สอบถามกับผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ถึงเรื่อง “นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว”

โดยจากการสำรวจประชาชนถึงความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการท่องเที่ยวของรัฐบาลชุดปัจจุบันเพียงใด พบว่าพอใจ 61.2% แบ่งเป็น พอใจมาก 32.5% พอใจ 28.7% ขณะเดียวกันผู้ให้สำรวจยังให้ความคิดเห็นว่ามีความพอใจระดับกลาง 20.4% ไม่พอใจ 12.3 % และไม่พอใจมาก 6.1%

ผศ.ดร.สานิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้สอบถามถึงการบริหารจัดการท่องเที่ยวไทยในปี 2567 เป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบมีความคิดเห็นว่าดีขึ้น 55.7% เหมือนเดิม 22.8% และ แย่ลง 21.5% อีกทั้งยังถามความคิดเห็นของประชาชนด้วยว่า ภาคการท่องเที่ยวมีส่วนช่วยเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด พบว่ามีส่วนช่วยเศรษฐกิจในระดับมากที่สุด 35.4% ระดับมาก 27.8% ระดับปานกลาง 18.3% ระดับน้อย 12.6% และน้อยที่สุด 5.9%

สำหรับความคิดเห็นผู้สำรวจภาคประชาชนถึงประเด็น “มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยใดที่มีประโยชน์ต่อการดึงนักท่องเที่ยวชาติมากที่สุด” พบว่ามาตรการที่มีประโยชน์มากสุดคือ การเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ และทำประกันนักท่องเที่ยวทุกคนในวงเงิน 1 ล้านบาท 27.3% การส่งเสริมการจัดอีเวนท์ให้การท่องเที่ยวไทยตลอดทั้งปี เช่น ผลักดันเทศกาลลอยกระทง เทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลระดับโลก 16.8% การเร่งพัฒนาสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน และสร้างความแตกต่าง 12.1% 

การเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินไปยังในเมืองรองที่มีศักยภาพสูง 10.2% สร้างความมั่นใจในการเดินทางผ่านรูปแบบการทำหนังโฆษณา และการดึง Influencer 8% การประสานกับเอเย่นต์ และบริษัทนำเที่ยว ให้เสนอแพ็คเกจและโปรโมชั่นที่ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6% ฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวต่างชาติ  93 ประเทศ/เขตแดน 5.6% ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Entertainment Hub ในเอเชีย 5.3% จัดตั้ง Online Crisis Management โดยจะมีทีมทำหน้าที่มอนิเตอร์ข่าวสารเกี่ยวกับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย 5.1% และเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินไปยังในเมืองรองที่มีศักยภาพสูง 4.2%

ผศ.ดร.สานิต ยังได้สอบถามถึง “โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในปี 2567 โครงการใดมีประโยชน์ต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยมากที่สุด” พบว่าโครงการที่มีส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยมากที่สุดคือโครงการ Amazing Thailand 365 วัน มหัศจรรย์เมืองน่าเที่ยว 22.7% มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง (เมืองน่าเที่ยว) 16.3% โครงการการทำตลาดการท่องเที่ยวแพลตฟอร์มออนไลน์ 10.7% โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดด้วยการจัดกิจกรรมบนอัตลักษณ์ถิ่น “มหกรรมเสน่ห์ไทย” 10.1% โครงการเที่ยวกับบัสทัวร์ทั่วไทย 2567 9.5% โครงการ ททท. 999 ไทยเที่ยวไทย Tourism Department Store งานไทยเที่ยวไทย 8.7%

โครงการ Amazing Thailand Passport Privileges  8.1% โครงการ Amazing Green Fest 2024 7.6% และโครงการ Amazing Thailand Passion Ambassador ร้อยละ 6.3% ส่วนของด้านผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ให้ความเห็นว่า นโยบายการท่องเที่ยวมีส่วนช่วยให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมฟื้นตัวจนสถานการณ์เทียบเท่าก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19

นายกฯ นั่งประธาน ‘บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์’ ดันประเทศสู่ผู้นำอุตสาหกรรม 4.0 ของภูมิภาค

(25 ต.ค. 67)นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน พร้อมแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมเป็นกรรมการ ได้แก่ รมว.ต่างประเทศ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.พลังงาน รมว.อุตสาหกรรม เลขาธิการสภาพัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ม.ล.ชโยทิต กฤดากร นายวุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ นายศุภกร คงสมจิตต์ โดยมีเลขาธิการบีโอไอ เป็นกรรมการและเลขานุการ

บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ฯ จะทำหน้าที่กำหนดทิศทางนโยบาย และเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Semiconductor and Advanced Electronics) พร้อมทั้งจัดทำแผนแม่บท (Roadmap) ของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นรูปธรรมและครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านการส่งเสริมการลงทุน การกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม การพัฒนาบุคลากรทักษะสูงทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา การพัฒนา Supply Chain และการพัฒนาระบบนิเวศที่จำเป็นต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ฯ จะมีหน้าที่ในการพิจารณาแผนงานและโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งการบูรณาการและติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ในระดับโลก ซึ่งมีการแข่งขันดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศที่รุนแรง เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของหน่วยประมวลผลและผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูงเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมถึงเทคโนโลยี AI ต่าง ๆ โดยอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ และจะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต จากการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างประเทศ

การแต่งตั้งบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ฯ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่จะทำให้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจน ช่วยเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย นอกจากนี้ การที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ โดยเป็นประธานบอร์ดฯ ด้วยตนเอง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงของภูมิภาค อีกทั้งจะช่วยให้การประสานนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐเป็นไปอย่างมีเอกภาพ มีเป้าหมายร่วมกัน และเกิดความรวดเร็วในการทำงาน ซึ่งเป็นหัวใจของการแข่งขันในเวทีโลก

เช็กข้อมูล ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ รอบปี 2568 เตรียมลงทะเบียน พร้อมรับสวัสดิการ 1.5 พันต่อเดือน

(28 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงาน ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีการทบทวนข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่ทุก ๆ 2 ปี นั้น

สำนักข่าวมติชน ได้รายงานว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง จะนัดประชุมหารือความคืบหน้าเรื่องนี้ในเร็ว ๆ นี้ ตามมติครม. ที่ให้มีการทบทวนข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่ทุก 2 ปี

เพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการฯ รอบใหม่ช่วงต้นปี 68 ก่อนจะมีการคัดกรองคุณสมบัติใหม่ เพื่อให้ได้ผู้มีสิทธิทั้งหมดเสร็จทันภายในวันที่ 31 มีนาคม 2568

ซึ่งผู้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ จะได้เงินช่วยเหลือ 1,545 บาท แยกเป็น

-วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 300 บาทต่อคนต่อเดือน
-วงเงินค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ 750 บาทต่อคนต่อเดือน
-วงเงินส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน
-มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปา 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน
-มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน

สำหรับเว็บลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2568 หากเงื่อนไขการลงทะเบียนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คาดว่า กระทรวงการคลัง จะเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ที่เว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th/ มีขั้นตอนลงทะเบียน 6 ขั้นตอน ดังนี้

1.เข้าไปเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th
https://welfare.mof.go.th/ คลิกลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เลือกหน่วยงาน เช่น ธนาคารกรุงไทย เลือกจังหวัด

2.กรอกข้อมูลบัตรประชาชน และ เลข Laser หลังบัตรประชาชน คลิก ขั้นตอนถัดไป

3.กรอกข้อมูล 4 ส่วนได้แก่ ข้อมูลส่วนตัวของผู้ลงทะเบียน,การประกอบอาชีพ,รายได้และหนี้สินของผู้ลงทะเบียน และ ความต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ

4.ผู้ลงทะเบียนที่จดทะเบียนสมรส หรือ มีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ เลือกหน่วยรับลงทะเบียนที่จะไปยื่นเอกสาร

5.ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง แล้วกดยืนยัน

6.ไม่มีมีครอบครัว รอผลการตรวจสอบสถานะบุคคล , มีครอบครัว ไม่แสดงตัวตน และ ยื่นเอกสารยังหน่วยงานลงทะเบียนที่เลือกไว้

คุณสมบัติลงทะเบียน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 ที่ได้กำหนดก่อนหน้านี้
1.สัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป
2.รายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี
3. รายได้เฉลี่ยครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี
4. มีทรัพย์สิน : เงินฝาก สลาก พันธบัตร และตราสารหนี้ภาครัฐ ไม่เกิน 100,000 บาท/คน
4. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์(ตามที่กำหนด)
5. ต้องไม่มีบัตรเครดิต
6. มีวงเงินกู้ ที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และ/หรือ วงเงินกู้ ยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นต้น

ด้านสำนักข่าว ‘ฐานเศรษฐกิจ’ ได้รายงานถึงไทม์ไลน์ของโครงการ ดังกล่าวว่า 

มกราคม 2568 เปิดให้ลงทะเบียนทั้งคนเก่า และ คนใหม่
มีนาคม 2568 ประกาศผล เปิดให้ยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ์
เมษายน 2568 เริ่มใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบัตรคนจนรอบใหม่

สำหรับเว็บไซต์ ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ 2568 กระทรวงการคลัง เตรียมปรับปรุงเว็บไซต์เดิมเพื่อรองรับการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่  

กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าน่าจะมีผู้ลงทะเบียนประมาณ 10 ล้านราย (ประมาณการจากกลุ่มกรอกข้อมูลลงทะเบียนโครงการฯ ปี 2565 ไม่ครบถ้วน 1.3 ล้านราย กลุ่มผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจำนวนประมาณ 5.1 ล้านราย และกลุ่มผู้ที่ตกหล่น/ต้องการลงทะเบียนเพิ่มจำนวนประมาณ 2 ล้านราย รวมถึงกลุ่มผู้ไม่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลจากกรมการปกครองจำนวนประมาณ 1.4 ล้านราย)

‘กรณ์’ ออกปากชมรัฐบาลแพทองธาร ยัน! การให้สัญชาติไทยลอตนี้ถูกต้อง

(30 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงการให้สัญชาติไทยตามมติคณะรัฐมนตรี ว่า...

ผมเห็นนโยบายนี้ของรัฐบาลแล้วชื่นชมนะครับ เหตุผลที่ให้ฟังขึ้นหมด ไม่ว่าจะเป็นมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ ความเป็นธรรม และสิทธิมนุษยชน 

ผมอยากจะเสริมว่านี่คือ Soft Power ของสังคมเราด้วย ที่พร้อมให้โอกาสคนต่างด้าวมาผสมผสานเติมพลังความเป็นไทยมาหลายยุคหลายสมัย เรากี่คน (ผมด้วย) ที่คงไม่มีวันนี้หากสังคมไทยในอดีตไม่ให้โอกาสบรรพบุรุษเรา

เอาละ แต่ละประเทศก็มีบริบทที่ต่างกันไป แต่ท่าทีของเราวันนี้ต้องบอกว่าสวนทางกระแสการเมืองหลักของโลก โดยเฉพาะโลกตะวันตก ที่บางประเทศถึงขั้นมีการหาเสียงว่าจะขับต่างด้าวออกนอกประเทศแม้ว่าบางคนได้เข้ามาอยู่ในประเทศเขานานแล้ว 

แนวของเรากลับเป็นตัวยืนยันความมั่นใจในตัวเราเอง เราไม่มีปมด้อยที่จะทำให้เราต้องมากลัวหรือรังเกียจผู้ที่มาพึ่งพาอาศัย และทำมาหากินอย่างสงบอยู่กับเรา

โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนออนุมัติหลักเกณฑ์ เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาสัญชาติ และสถานะของกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในไทยเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย ซึ่งจากการสำรวจตั้งแต่ พ.ศ. 2527 จนถึง 2542 มีกลุ่มผู้อพยพเข้ามาเป็นเวลานานประมาณ 120,000 คน และเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน ซึ่งมีการสำรวจตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2554 มีประมาณ 215,000 คน กลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรของชนกลุ่มน้อย 29,000 คน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรของบุคคลที่ไม่มีสถานะตามทะเบียนประมาณ 113,000 คน รวมทั้งหมดประมาณ 483,000 คน

โดยการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันนี้เป็นการลดขั้นตอนมอบสัญชาติให้กับบุคคลเหล่านี้ ที่ต้องใช้ระยะเวลาถึง 44 ปี ปัจจุบันการให้สัญชาติไทยกับบุคคลข้างต้นจะเป็นการยกเลิกขั้นตอนต่าง ๆ จำนวนมาก โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ข้อสังเกต 2-3 ข้อ หากให้สัญชาติไทยกับบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน จะเกิดผลกระทบใดตามมาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่ สมช.เสนอ และส่งให้กระทรวงมหาดไทยประกาศบังคับใช้ในรายละเอียดไม่น้อยกว่า 30 วันไม่เกิน 60 วัน

สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจำนวนกว่า 400,000 คนที่อยู่ในไทย ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่มานานและมีบ้านอาศัย สามารถทำงานได้ตามปกติ เมื่อทำให้ถูกต้อง บุคคลเหล่านี้ก็จะสามารถสัญจรไปมาได้ กระตุ้นเศรษฐกิจได้ และรู้ถิ่นฐานที่อยู่ของบุคคลเหล่านี้ได้ ซึ่งที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี เล็งเห็นว่าเป็นประโยชน์และมีการสอบถามความรอบคอบจากหลายหน่วยงานมาก่อนแล้ว

“พาณิชย์” เผย ครม.สัญจร เคาะ! มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว-ข้าวโพด ปี 67/68 กว่า 9,900 ล้านบาท ช่วยพี่น้องเกษตรกรไทยยั่งยืน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ภายหลังการประชุม ครม. สัญจรที่เชียงใหม่ ที่มี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาตรการเพิ่มช่องทางการตลาด ปี 67/68 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาผลผลิตที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งมาตรการเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีเพียงพอต่อความต้องการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น กว่า 9,924 ล้านบาท จำแนกเป็น ข้าวเปลือก 3 มาตรการ วงเงิน 9,604 ล้านบาท และข้าวโพด 5 มาตรการ 320 ล้านบาท ดังนี้

ข้าวเปลือก 3 มาตรการ เพื่อดูดซับข้าวเปลือกในช่วงที่ข้าวออกมาจำนวนมาก เป้าหมาย 8.50 ล้านตันประกอบด้วย 

(1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 8,362.76 ล้านบาท โดยช่วยค่าฝาก 1,500 บาท/ตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1–5 เดือน เริ่มตั้งแต่ ครม. มีมติ - 28 ก.พ.2568 และเกษตรกรสามารถนำข้าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยข้าวหอมมะลิตันละ 12,500 บาท ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่ตันละ 12,000 บาท (+500 บาท/ตัน) ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,000 ล้านบาท ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่ตันละ 10,500 บาท (+500 บาท/ตัน) ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท หากข้าวราคาขึ้น เกษตรกรสามารถไปไถ่ถอนออกมา เพื่อนำมาจำหน่ายได้ 

(2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่เป้าหมาย 1 ล้านตัน (+0.5 ล้านตัน) วงเงิน 656.25 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่าย ดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.5% ระยะเวลา 15 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อตั้งแต่ ครม. มีมติ -30 ก.ย.2568 

และ (3) ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 4 ล้านตัน วงเงิน 585 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 3% เก็บสต๊อก 2–6 เดือน ระยะเวลารับซื้อตั้งแต่ ครม. มีมติ - 31 มี.ค.2568

นายพิชัย กล่าวอีกว่า มติคณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 67/68 เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร รวมถึงรักษาเสถียรภาพราคาในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก  ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และมาตรการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของตนเองโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และลดต้นทุนการผลิตรวม 5 โครงการ ประกอบด้วย

(1) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 0.1 ล้านตัน วงเงิน 35 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่าย ดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.5% ระยะเวลา 12 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อตั้งแต่ ครม. มีมติ -31 พ.ค.2568

(2) ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 0.2 ล้านตัน วงเงิน 26.67 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 3% เก็บสต๊อก 2–4 เดือน ระยะเวลารับซื้อตั้งแต่ ครม. มีมติ - 31 ม.ค. 2568

(3) โครงการเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 67/68 วงเงิน 51.50 ล้านบาท

(4) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 67 – 68 วงเงิน 138 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรนำไปใช้เป็นเงินทุนในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตและคุณภาพ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อาทิ ระบบน้ำหยด วงเงินรายละไม่เกิน 230,000 บาท เป้าหมาย 10,000 ราย รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี 

และ (5) โครงการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประเทศไทย (ปีที่ 1) วงเงิน 69.54 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มคุณภาพผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยจะดำเนินการในพื้นที่เพาะปลูก 32 จังหวัด 

“รัฐบาลนำโดยท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการดูแลราคาสินค้าเกษตรทุกตัวให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพาณิชย์ก็จะเร่งดำเนินมาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มคุณภาพผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน“ นายพิชัยกล่าว 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top