Saturday, 19 April 2025
แก้รัฐธรรมนูญ

‘คุณหญิงสุดารัตน์’ แนะรัฐบาลเร่งแก้ รธน. สานต่อจากร่างที่เคยเสนอไว้ ชี้!! วิธินี้จริงใจ-ทำได้ทันที-ประหยัดงบทำประชามติ ช่วยชาติเดินหน้าต่อ

‘สุดารัตน์’ ขอรัฐบาลจริงใจ เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ แนะทำต่อจากร่างที่เคยเสนอไว้ ขออย่ามองเป็นของไทยสร้างไทย เพื่อให้ประเทศเดินหน้าและอำนาจกลับมาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ชี้ ตั้งคณะกรรมการศึกษา ยิ่งเสียเวลา เสียเงิน และสร้างความขัดแย้ง

(1 ต.ค. 66) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ว่าไม่มีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้นและใช้เวลานานมาก ทั้งๆ ที่เมื่อตอนเป็นฝ่ายค้านต้องการแก้ไขตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป รวมถึงการแก้รายประเด็นเพื่อตัดอำนาจ สว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งทางพรรคไทยสร้างไทยเอง ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ใจความสำคัญคือ ให้มีเลือกตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ‘สสร.’ เป็นผู้มาเขียน รัฐธรรมนูญ โดยไม่แก้หมวด 1 และ 2 เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง โดยมุ่งแก้ไขในส่วนที่กระทบถึงประชาชนและขจัดการสืบทอดอำนาจ

“พรรคไทยสร้างไทยได้เสนอร่างแก้ไขไปแล้ว ตรงนี้เราชัดเจน โดยวิธีการของเราคือไม่ต้องไปทำประชามติ ถามประชาชนก่อน เพราะไม่ใช่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ประชาชนเสียโอกาสมาหลายปีแล้ว ครั้งนี้ถ้าร่วมมือกันก็จะแก้ไขได้เสร็จภายในปี 2567 ดร.โภคิน พลกุล ซึ่งถือว่าเป็นปรมาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ท่านได้ร่างเอาไว้สามารถทำได้ทันที” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

คุณหญิงสุดารัตน์ แนะนำรัฐบาลว่าถ้าจริงใจให้ใช้วิธีนี้ ไม่ต้องเสียเงินไปทำประชามติก่อน และไม่เกิดความขัดแย้ง เพราะไม่ได้แก้หมวด 1 และ 2 อยากเรียกร้องให้รัฐบาลมีความจริงใจ อย่าไปซื้อเวลาด้วยการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีแต่จะทำให้เสียเงิน และยิ่งสร้างความขัดแย้ง

“ขอเชิญชวนภาคประชาชน รัฐบาล สมาชิกรัฐสภา ตลอดจนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันสร้าง สสร. ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป เพื่อปากท้อง สิทธิเสรีภาพที่ดีกว่าของประชาชน และเพื่อสถาปนาประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ซึ่งตามร่างของพรรคไทยสร้างไทย จะมีการทำประชามติเพียงครั้งเดียวที่รัฐธรรมนูญบังคับ และขอยืนยันว่าแล้วเสร็จภายในปี 2567 ถ้าเริ่มทำกันวันนี้” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

'สรรเพชญ' ยัน!! จุดยืน 'ประชาธิปัตย์' หนุนแก้รัฐธรรมนูญ แต่ห้ามแตะหมวด 1 และ หมวด 2 หวั่นสังคมแตกแยก

เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.66) เวลา 14.20 น. ที่ห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภา ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ช่วงของการอภิปรายญัตติ เรื่อง 'ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่' ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ โดยมีนายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวอภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าว

นายสรรเพชญ กล่าวว่า "สำหรับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาทั้งเรื่องของที่มา และกระบวนการรับรอง โดยอาศัยกระบวนการจัดทำประชามติ เมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตามครรลองที่ควรจะเป็น เนื่องจากในตอนนั้นมีการปิดกั้นการแสดงความเห็น การรณรงค์ ที่จะเสนอเนื้อหาว่ารัฐธรรมนูญมีจุดบกพร่องอย่างไร จนมาถึงสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ที่ผ่านมา ก็มีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยมีส่วนร่วม ในการเสนอแก้ไขและได้ยื่นให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณามาแล้ว จำนวน 6 ฉบับ แต่ก็ผ่านแค่เรื่องเดียว เพราะติดอุปสรรคต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หลายประการ"

นายสรรเพชญ กล่าวต่อว่า "ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า ต้องมีการทำประชามติ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจ และหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรก ให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สอง เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติ ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหากรัฐบาลดึงดันพลิกลิ้น ไม่รับให้มีการทำประชามติ ก็เหมือนกับว่าเป็นการถ่วงเวลา ผมคิดว่าอันที่จริงแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรเป็นวาระแรก ๆ ที่ท่านจะดำเนินการเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ท่านอย่าเอารัฐธรรมนูญมาเป็นตัวประกันให้เป็นระเบิดเวลาของตัวท่านเองเลยครับ"

อย่างไรก็ดี นายสรรเพชญ ได้พยายามกล่าวย้ำต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะรัฐบาลเคยรับปากกับประชาชนไว้ตอนหาเสียงไว้ว่า จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีที่เป็นรัฐบาล แต่แม้ว่า นายสรรเพชญ จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการจัดทำประชามติ แต่อย่างไรก็ตาม นายสรรเพชญ ก็ได้ย้ำจุดยืนว่า "ตนและพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องไม่แตะหมวด 1 และ หมวด 2 ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม"

นายสรรเพชญ กล่าวในตอนท้ายว่า "เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญไม่แพ้เรื่องปากท้องของประชาชน เพราะ รัฐบาลได้เคยพูดเอาไว้ตอนหาเสียง ก็ขอให้ทำตามที่ได้หาเสียงไว้ ว่าจะทำเป็นเรื่องเร่งด่วนทันที แต่เมื่อถึงการโหวตญัตติฯ ที่ประชุมสภาฯ มีมติ ตีตกญัตติดังกล่าว"

นายสรรเพชญ กล่าวว่า "รู้สึกผิดหวัง เพราะรัฐบาลเคยประกาศเอาไว้แล้วว่าจะทำการแก้ รธน. เป็นเรื่องเร่งด่วน เมื่อมีโอกาสกลับทิ้งโอกาสนี้ไป แต่ตนก็เคารพและยอมรับผลการลงมติดังกล่าว และก็หวังว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไข รธน. และรีบดำเนินการโดยเร็ว ตามที่ได้เคยหาเสียงไว้"

'ภูมิธรรม' ตอกกลับ 'สุดารัตน์' ปูดแก้ รธน.ไม่มีปาร์ตี้ลิสต์ สวน!! ไปฟังใครมา วอน!! สื่ออย่าเต้าข่าว ควรให้ค่าความจริง

(25 มิ.ย. 67) นายภูมิธรรม เวชชชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากรรระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ออกมาเปิดเผยว่ามีข่าวจากคนในพรรคเพื่อไทย จะการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะให้ไม่มี สส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่า หากตนเองได้รับผิดชอบเป็นเรื่องประธาน คณะกรรมาธิการการประชามติ 

ตนเองพูดหลายครั้งว่าการทำประชามติในครั้งนี้ ก็เพื่อหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อจำกัด ซึ่งหากแก้ไขต้องแก้ไขให้ได้ร้อยละ 20 ของฝ่ายค้านและร้อยละ 20 ของวุฒิสภา แล้วจะมาบอกว่าเราจะแก้เพื่อทำร้ายพรรคก้าวไกลนั้น แล้วคะแนนร้อยละ 20 ของพรรคก้าวไกลมาจากไหน ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ตกแน่นอน นั่นหมายความว่าไม่มีมูลความจริง และตนเองพูดมาตลอดว่าต้องทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นได้

“ที่คุณหญิงสุดารัตน์ ได้ฟังมาจากพวกจริง ๆ หรือฝันไป ผมสงสัย” 

นายภูมิธรรม ยังกล่าวอีกว่า ขออย่าไปทำข่าวที่ไม่มีพื้นฐานของความจริง พร้อมถามกลับสื่อมวลชน ทำข่าวที่ไม่เป็นความจริง คืออะไร ข่าวเต้า หรือเต้าข่าว อย่าไปทำเลย ทำงานสร้างพรรคให้แข็งแรงและเป็นกำลังสร้างประชาธิปไตยให้ได้ หากทำแบบนี้จะเป็นปัญหากับตัวเอง

‘ธนกร’ สะกิดรัฐสภา คิดถี่ถ้วนก่อน แก้ รธน. ด้าน ‘จริยธรรม’ ชี้!! ‘ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง’ เร่งด่วน-ต้องรีบทำมากกว่า

(20 ก.ย. 67) ที่จังหวัดราชบุรี นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาเรื่อง ‘บทบาทหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน’ โดยมีนางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และนส.กุลวลี นพอมรบดี สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติให้การต้อนรับ

นายธนกร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและตระหนักถึงปัญหาของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มาเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจในเรื่องบทบาทหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร บทบาทของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมีทั้งการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งการเปิดเวทีอันเป็นช่องทางที่ประชาชนได้สะท้อนปัญหา เสนอข้อร้องเรียนต่าง ๆ ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนในพื้นที่ได้ 

ทั้งนี้ นายธนกร ยังกล่าวว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนกำลังเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เรื่องมาตรฐานจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ของสส. และรัฐมนตรี ซึ่งฝ่ายค้านโดยพรรคประชาชนก็เห็นพ้องด้วยนั้น ส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงและผ่านการทำประชามติของประชาชน หากจะเป็นการแก้รายมาตรา ก็ควรแก้ในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วน หรือแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนก่อนจะดีกว่า โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4) (5) มีเจตนารมณ์สำคัญในการป้องกันบุคคลที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต เข้ามามีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง หากมีการแก้ไขตรงนี้หรือทำให้เบาลงอาจจะเป็นการเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตโดยแท้เข้ามามีอำนาจได้ 

“กรอบของคำว่าจริยธรรมในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นด่านพิสูจน์เพื่อใช้กลั่นกรองบุคคลที่จะก้าวเข้าสู่อำนาจว่าเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่ เป็นการตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้น เพราะหากแต่งตั้งให้คนที่มีความประพฤติผิดทางจริยธรรมเข้ามาบริหารบ้านเมือง อาจจะส่งผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชนได้ ตนจึงเห็นด้วยที่ควรยึดและยกมาตรฐานตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปราบโกงให้สูงเข้าไว้ก่อน ผมเชื่อว่า ท่านสส.ท่านรัฐมนตรีทุกคน ต่างก็หวังดีและตั้งใจทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองอยู่แล้ว ประชาชนต้องการ ผู้บริหารประเทศที่มีมาตรฐาน คุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เข้ามาปกครองบ้านเมือง จึงขอฝากรัฐสภาให้มีการคิดทบทวนในประเด็นนี้ให้รอบคอบ เพราะถ้ารัฐสภา ทั้งสส.และสว.ร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรมดังกล่าว อาจถูกสังคมและประชาชนมองว่าเป็นการแก้เพื่อตัวเอง แก้เพื่อนักการเมืองเสียเอง และหากถูกยื่นร้องให้ตรวจสอบอาจส่อไปในทางที่ขัดต่อกฎหมายได้ จึงควรคิดพิจารณาให้รอบคอบ” นายธนกร ระบุ

'อ.อุ๋ย-ปชป.' เตือน!! นักการเมืองแก้ รธน. ปมจริยธรรม มีความผิดประมวลกฎหมายอาญา โทษจำคุกถึง 10 ปี

เมื่อวานนี้ (22 ก.ย. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญปมจริยธรรมนักการเมือง ว่า...

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 บัญญัติว่า ‘ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท’ ซึ่งมาตรา 4 แห่ง พรป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง พ.ศ. 2561 กำหนดให้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น สส. รัฐมนตรี หรือ สว. ถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ โดยเฉพาะ สส. มีหน้าที่ในการเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ใช้อำนาจนิติบัญญัติออกกฎหมายเพื่อบริหารและแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน ตามที่กำหนดไว้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น การที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางส่วน มีดำริที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดระดับมาตรฐานทางจริยธรรมลง ทำให้ตนเองและพวกพ้องถูกดำเนินคดีทางจริยธรรมได้ยากขึ้น จึงถือว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการแก้ไขกฎหมาย ทำการแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เป็นการกระทำอันเป็นผลประโยชน์ขัดกัน (Conflict of Interest) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี และปรับสูงสุดถึงสองแสนบาท 

นอกจากนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรม เพื่อลดมาตรฐานจริยธรรมลง ยังส่งผลให้ประชาชนสูญเสียโอกาสที่จะได้มีนักการเมืองที่มีจริยธรรมมาเป็นตัวแทนของตน ทำให้ประชาชนเสียหาย จึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามมาตรา 157 อีกสถานหนึ่ง ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี หรือปรับสูงสุดถึงสองแสนบาท 

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ยังกำหนดให้สมาชิกต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสูงสุด และห้ามกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม การที่นักการเมืองจะทำการแก้ไขกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องจึงถือว่าละเมิดจริยธรรมข้อนี้เช่นกัน 

ผมจึงอยากเตือนนักการเมืองทั้งหลาย ว่าคิดให้ดีว่าประชาชนเลือกท่านมาทำอะไรกันแน่ ด้วยความปรารถนาดี  

'อนุทิน' ยัน!! จุดยืนพรรคไม่แก้ 'รธน.' ปมมาตรฐานจริยธรรม ลั่น!! ตรวจสอบไม่ได้ ก็ 'เล่นการเมือง-เป็นรัฐมนตรี' ไม่ได้

(24 ก.ย. 67) ที่ทำเนียบนายอนุทิน​ ชาญ​วี​รกูล​ รองนายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​มหาดไทย​ ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีท่าทีของพรรคภูมิใจไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​รายมาตรา​ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขมาตรฐานจริยธรรม​ หลังจากที่นายภราดร​ ​ปริศนา​นันทกุล​ รองสภาผู้แทนราษฎร​คนที่​ 2 ออกมาแถลงไม่เห็นด้วย ว่า​ คนการเมืองเป็นคนสาธารณะ​ ถ้าไม่อยากให้ตรวจสอบก็เล่นการเมืองไม่ได้ การเข้ามาการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรี แค่เป็นที่ปรึกษา เป็นเลขานุการ หรือรับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมือง กรรมการรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องแจ้งทรัพย์สินแล้ว นั่นคือบทแรกของการตรวจสอบ

“ผมคิดว่าคนที่มาทำงานสาธารณรับใช้บ้านเมือง ใช้อำนาจรัฐในการบริหารราชการแผ่นดิน​ ก็ต้องรับการตรวจสอบ เป็นการเช็ก and Balance ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบ นักร้องมีอยู่ทั่วไป เขาก็ร้องได้ ในสิ่งที่เราทำผิดถ้าเราไม่ได้ทำผิด พิสูจน์อย่างไรก็ไม่ผิด เขาก็มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี หรือถูกฟ้องร้อง ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราเองมากกว่า”

ส่วนจะเป็นจุดยืนของพรรคหรือไม่นายอนุทินกล่าวว่า มันไม่ใช่จุดยืน แต่มันเป็นวิถีชีวิต​ (Day of Life)​ เช่น “ถ้าไม่อยากตรวจสอบก็ให้ทำธุรกิจอยู่ที่บ้าน เสียภาษีตามที่จะต้องเสีย ก็ไม่มีใครสามารถมาบอกให้แสดงทรัพย์​สินบริษัทได้ยกเว้นทำผิด”

ซึ่งนายภราดร ก็แถลงในนามพรรค ก็แถลงไปแล้วก่อนไปรับตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็เห็นแล้วว่า ยังไม่ได้ทันทำอะไรก็มีคนจ้องจะร้องแล้ว ผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่​ ถ้าผิดให้ไปดูโทษ​ เรื่องการตัดสิทธิ์​ ต้องมีคนไปยืนยันตรงนี้ก่อน

“ผมคิดว่ารัฐบาล ไม่รู้นะ​ ผมมั่นใจไปคุยกับนายกฯแพทองธาร​ ชินวัตร ท่านก็ไม่ได้ซีเรียสเรื่องเหล่านี้​ ท่านบอกว่าถ้าทำดีซะอย่างจะไปกลัวอะไร​ ทำในสิ่งที่ถูกต้องก็พร้อมที่จะถูกตรวจสอบ เช่นขณะนี้เข้ามาทำงานไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็เห็นปัญหาต่างๆ เยอะแยะมากมาย มีเรื่องอะไรเยอะแยะที่รัฐบาลจะต้องทำ ที่ทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะอะไรที่ทำแล้วเป็นการเอื้อตัวเอง เพื่อพวกพ้องมันผิดตั้งแต่ นับหนึ่งแล้ว”

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลในการหารือ ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วหรือไม่ กล่าวว่า​ ยังไม่ได้รับการนัดหมาย​ พร้อมยืนยันว่าการแถลงของนายภราดร ถือเป็นการแถลงของพรรค ก่อนจะย้อนถามสื่อมวลชนว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเบอร์ 1​ หรือไม่​ เรื่องเบอร์ 1 คือเรื่องเชียงราย เชียงใหม่ หนองคาย ลำปางและจังหวัดอื่น  ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือที่ถูกน้ำท่วม ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดมากกว่า

เมื่อถามต่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรมประชาชนมองว่าเป็นการเอื้อเพื่อนักการเมือง นายอนุทินกล่าวว่า อย่าให้ไปถึงจุดนั้นสิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อยู่แล้ว ทำเพื่อประเทศและประชาชน มันเขียนว่าอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

ถามถึงจุดยืนในเรื่องของเรื่องการผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม​ ในเรื่องมาตรา​ 112 นายอนุทิน กล่าว​ พูดมาตั้งนานแล้วไม่เห็นด้วย ไม่อยากพูดซ้ำๆ​

'วิปรัฐบาล' เตรียมคุยพรรคร่วมฯ จ่อถอนร่างแก้ รธน.รายมาตรา ยัน!! หากเพื่อนไม่เอาด้วย พร้อมถอย ตามวิถีประชาธิปไตย

(25 ก.ย. 67) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ว่าวันนี้ (25 ก.ย.) จะหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ต่อการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ที่ขณะนี้พบว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุนการแก้ไขรายมาตราในประเด็นตัดส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรม 

ทั้งนี้ยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยได้ยื่นร่างแก้ไขดังกล่าวต่อรัฐสภาแล้ว แต่คงหมวดจริยธรรมไว้ ให้มีอยู่เหมือนเดิม ขณะที่ประเด็นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ยังคงมีเช่นเดิม แต่กำหนดกรอบปฏิบัติให้ชัดเจน ไม่ใช่แก้ไขเพื่อเป็นข้อหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ดีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยยังอยู่ระหว่างตรวจสอบของรัฐสภา และยังไม่ถูกบรรจุวาระ

“หากเพื่อนไม่เอาด้วย เราต้องไปด้วยกัน ถอยได้ก็ถอย ไม่ใช่เรื่องลำบากใจอะไร เป็นวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย เพราะพรรคเพื่อไทยแค่เสนอยังไม่บรรจุ จะถอนออกมาก็ได้ หรือบรรจุแล้วคาไว้ก็ได้ ทั้งนี้ผมยอมรับผิด เพราะเป็นความต้องการที่จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญประกบกับฝ่ายค้านที่เตรียมเสนอเช่นกัน” นายวิสุทธิ์ กล่าว

เมื่อถามถึงข้อเสนอแก้จริยธรรมมีข้อเสนอจากหัวหน้าพรรคใหญ่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริง พรรคประชาชนมาคุยกับตนก่อน ว่ามีแนวคิดแก้ประมวลจริยธรรมออกทั้งหมด ทำให้ตนไปปรึกษากับสส.ในพรรค ว่าเขาขอมาแบบนี้จะเอาด้วยหรือไม่ โดยสส.ในพรรคมองว่ากระแสสังคมอาจไม่ยอมรับหากตัดทั้งหมด เราจึงเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกบ และกำหนดว่าไม่ได้ตัดประมวลจริยธรรม และก่อนเสนอได้ถามผู้ใหญ่ในพรรค ว่าทำได้หรือไม่ ซึ่งนายภูมิธรรมม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ฐานะผู้ใหญ่ในพรรค บอกว่ามีหลายพรรคบอกมาว่าควรแก้แบบนั้นแบบนี้ ซึ่งตนถือวิสาสะไปเอง โดยไม่ได้ฟังรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งตนอาจฟังแล้วแปลความหมายผิด ไม่ได้ถามว่าหัวหน้าพรรคคนไหนที่พูดในวันที่เข้าเฝ้าฯ เมื่อได้รับสัญญาณจึงรีบทำ 

นายวิสุทธิ์ กล่าวย้ำว่า ตามขั้นตอนของการเสนอร่างกฎหมาย หากฝ่ายค้านเสนอแล้ว แต่ไม่มีฉบับประกบ จะทำให้มีร่างกฎหมายเฉพาะฝ่ายค้าน บางเรื่องเขาทำมาเป็นเชิงบวกกับเขาจะมัดเราเต็มที่ ดังนั้นการยื่นจึงเป็นการเสนอร่างกฎหมายประกบ โดยยืนยันว่าไม่ตัดประมวลจริยธรรม

เมื่อถามว่าการถอยครั้งนี้ทางการเมืองเสียหายหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า “อย่าคิดว่าเสียหาย หากไม่ถูกต้อง ไม่ถูกใจ ไม่ถูกเวลา ถอยกันได้ ผมยอมรับผิดเพียงผู้เดียวว่าตัดสินใจไวไป ฟังผู้ใหญ่แต่ไม่ได้ฟังรายละเอียดข้อเท็จจริง ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ตัดหมวดจริยธรรมเลย หากจะด่ามาด่าที่ผม ผมรับได้”

‘อดิศร’ แจงปม ‘เพื่อไทย’ ถอยแก้ไข รธน. ปมมาตรฐานจริยธรรม ชี้!! ต้องรับฟังทุกฝ่าย และประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่ ‘ประชาชน’

(25 ก.ย. 67) ที่รัฐสภา นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราเกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุม สส.ของพรรคเพื่อไทยมีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรม เพราะทำเพื่อพวกพ้องของตนเอง การแก้ไขจริยธรรมเป็นเรื่องที่เปราะบางอ่อนไหว ตนคิดว่าพรรคเพื่อไทยต้องรับฟังความเห็นของประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล จึงคิดว่าหลังจากนี้พรรคเพื่อไทยจะถอยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มองว่าไม่ได้เป็นมาตรการเร่งด่วน แต่การแก้ไขมรดกบาปจากการรัฐประหารจึงคิดว่าจะต้องแก้ไขทั้งฉบับโดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมายกร่างทั้งฉบับ ตอนนี้พรรคเพื่อไทยถอยก่อนเพื่อดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจที่เร่งด่วน เช่น การแก้ไขเรื่องน้ำท่วม เรื่องปากท้อง และเรื่องยาเสพติดในชุมชน 

“อยากให้เข้าใจว่ารัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยฟังพรรคแกนนำ โดยเรื่องนี้ก็ริเริ่มโดยพรรคแกนนำเอง แต่เมื่อได้รับฟังความเห็นสาธารณะคิดว่าการแก้ไขเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่ประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงรับฟังความเห็นดังกล่าว” นายอดิศร กล่าว

เมื่อถามว่า เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับจริยธรรมจะถอยเลยหรือชะลอไว้ก่อน นายอดิศร กล่าวว่า "ตอนแรกเราคิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะคิดเหมือนกัน แต่เมื่อได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าจะจากพรรคภูมิใจไทยหรือพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ต้องให้เกียรติกัน"

เมื่อถามว่า ไม่เสียหน้าใช่หรือไม่? นายอดิศร กล่าวว่า "เรื่องรัฐธรรมนูญไม่มีการเสียหน้า"

เมื่อถามว่า สรุปแล้วพรรคเพื่อไทยไม่ใช่เสนอเป็นพรรคแรกใช่หรือไม่? นายอดิศร กล่าวว่า "เราต้องฟังความคิดเห็นทุกพรรค ไม่อยากบอกว่าใครเป็นผู้ริเริ่มเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีบางคนบอกว่าเรื่องการตรวจสอบจะไปกลัวทำไม ซึ่งตนเห็นด้วยในส่วนที่หากจะเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ต้องมีการตรวจสอบ เพราะการเมืองต้องการคนที่ไม่มีภาระ และสิ่งที่ขัดต่อคุณสมบัติ ฉะนั้น จึงควรชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อนและรอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะหลังจากนี้จะต้องมีการทำประชามติ หากแก้ไขเป็นบางมาตราจะเสียเงินงบประมาณมากขึ้นโดยที่ไม่จำเป็น"

เมื่อถามย้ำว่า การแก้ไขรายมาตราเราจะไม่ทำแล้ว รอทำทั้งฉบับเลยใช่หรือไม นายอดิศร กล่าวว่า "ต้องฟังเสียงประชาชน เพราะเรื่องจริยธรรมต้องมีความเห็น 2 ฝ่าย อีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นการลงมติเพียงเสียงข้างมาก 1 คนก็ทำให้เปลี่ยนแปลงได้ แต่จะมีการเปลี่ยนเป็น 2 ใน 3 แต่ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจไปขัดกับความรู้สึกของคนบางกลุ่ม ก็ต้องรับฟัง แม้จะไม่แก้เรื่องจริยธรรมก็สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้" 

เมื่อถามว่า เรื่องจริยธรรมที่บอกว่ามีพรรคร่วมรัฐบาลอื่นเป็นคนริเริ่ม พอจะเปิดเผยได้หรือไม่? นายอดิศร กล่าวว่า "ต้องไปถามนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ก็ไม่เป็นอะไรเรื่องรัฐธรรมนูญก็รอไว้ก่อน ส่วนเรื่องน้ำท่วม ปากท้องประชาชนน่าจะสำคัญกว่า"

'ปิยบุตร' ชี้!! แก้รัฐธรรมนูญยืดเยื้อ จบไม่ทันเลือกตั้งปี 70 แนะ!! เลือกทำประชามติ 2 ครั้ง-แก้รายมาตรา ไม่แตะหมวด 1-2

เมื่อวานนี้ (28 ก.ย. 67) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ 'เมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ล่าช้าออกไปอีก รัฐบาลรัฐสภาควรทำอย่างไร?' ระบุว่า...

รัฐบาลวางแนวทางไว้ว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีขึ้นได้ ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง โดยรัฐบาลเห็นว่า การออกเสียงประชามติในครั้งแรก จะเกิดได้ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เสียก่อน เพื่อเปลี่ยนจากเกณฑ์ 'ผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ + ผู้เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ' หรือ Double Majority ให้เป็น 'ผู้เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ' ร่างพ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ประชามตินี้ ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว อยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภา 

ปรากฏมีข่าวว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา มีมติให้กลับไปเป็นเสียงข้างมาก 2 ชั้น ตามเดิม หากไปจนจบวาระสามในชั้นวุฒิสภา ยังเป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่า วุฒิสภามีมติแก้ไขจากร่างที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร หากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของสองสภา ต้องทอดเวลาออกไปอีก หากสภาใดสภาหนึ่งยังไม่เห็นด้วยกับร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมสองสภาทำกันมา ร่างนั้นก็จะถูกยับยั้งไว้ 180 วัน สภาผู้แทนราษฎรจึงจะนำกลับมาลงมติยืนยันได้ 

เมื่อดูกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติแล้ว จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมีการออกเสียงประชามติรอบแรกในต้นปี 2568 อย่างน้อยๆ ต้องเสียเวลาเพิ่มอีก 8-10 เดือน กว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) มาทำร่างใหม่ แล้วทำประชามติ ต้องบวกเวลาเพิ่มไปอีก อย่างน้อย 2 ปี ดังนั้นโรดแมปที่แกนนำรัฐบาล พูดกันว่าเลือกตั้งปี 70 จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ให้ใช้ จึงไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว

นายปิยบุตร ระบุอีกว่า ด้วยสถานการณ์ที่มีคนพยายามใช้กลไกถ่วงเวลาการแก้รัฐธรรมนูญเช่นนี้ ผมเห็นว่า รัฐบาลและรัฐสภามีทางเลือก 2 ทาง ทางเลือกแรก ลดการออกเสียงประชามติเหลือ 2 ครั้ง กล่าวคือ เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เข้ารัฐสภาเลย (ถ้ารีบเสนอวันนี้เลย สามารถพิจารณาวาระแรกทันในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดสิ้นเดือนตุลาคม) เมื่อผ่านรัฐสภาก็ไปออกเสียงประชามติ เมื่อผ่าน มีส.ส.ร.ทำร่างใหม่เสร็จ ก็นำมาออกเสียงประชามติ ทางเลือกนี้ประหยัดเวลาไปอีก 8-10 เดือน และทำประชามติเพียงสองครั้ง ประหยัดงบประมาณไปได้มาก ประธานรัฐสภาไม่ต้องกังวล ต้องกล้าบรรจุเรื่องเข้ารัฐสภา เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่าการทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง...

ทางเลือกที่สอง เสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตรา ตั้งแต่หมวด 3 จนถึงหมวดสุดท้าย ตั้งแต่มาตรา 25 ถึงมาตรา 279 ในเมื่อรัฐสภาเป็นผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว สามารถดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ใน หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสีย ปัญหาหรือข้อกังวลต่างๆก็ตกไป การแก้ไข ตั้งแต่ มาตรา 25 ถึง มาตรา 279 ไม่ใช่การทำใหม่ทั้งฉบับอยู่แล้ว ย่อมไม่ติดกับดักประชามติ ที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ข้อกังวลเรื่องจะมาแก้ไข หมวด 1 หมวด 2 หรือไม่ ก็ไม่มี เพราะคือการเริ่มแก้ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป และกระบวนการนี้ ทั้งหมดจบได้ด้วยประชามติครั้งเดียวตอนท้าย หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ทางเลือกนี้ แก้ทั้งกับดัก และยังช่วยประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณ มีแต่ทางเลือกสองทางนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เรามีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้ทันในปี 2570”

'ธนกร' ฉะ!! 'ปชน.' หมกมุ่นเสนอ 'แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ปฏิรูปสถาบัน' ไม่สนใจปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง-ความเดือดร้อนของประชาชน

(29 ก.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์ หลังจากที่พรรคประชาชนเสนอ 7 แพ็กเกจในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับควบคู่กับการแก้เป็นรายมาตรา ว่า...

ตนก็สงสัยการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนเหมือนที่หลายฝ่ายสงสัยเช่นกัน ว่า ที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นผู้แทนนั้น เพื่อเข้าสภาไปทำงานแก้ปัญหาความเดือดร้อน แก้ปัญหาปากท้องเศรษฐกิจของประชาชนจริงหรือไม่ หรือหวังจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อพรรคการเมืองของตัวเองเท่านั้นหรือไม่ 

เพราะจากที่ตนดูการเสนอกฎหมาย เสนอแนวทางต่าง ๆ ของพรรคประชาชน หลายเรื่องที่ผ่านมา ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชนเรื่องความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง มุ่งแต่จะแก้ปัญหาการเมือง แก้รัฐธรรมนูญบ้าง จ้องปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพบ้าง อ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และองค์กรอิสระมีอำนาจมากเกินไป  และอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาจากการรัฐประหาร ไม่เป็นประชาธิปไตย ท่องอยู่แค่ไม่กี่คำเท่านี้ จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามของหลายฝ่ายทั้งนักวิชาการและฝ่ายการเมืองก็ตาม ว่า แท้จริงแล้วพรรคประชาชนมีจุดมุ่งหมายการทำงานการเมืองเพื่ออะไรกันแน่  

ทั้งนี้ตน มองว่าอำนาจ 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ ควรมีอำนาจติดตามตรวจสอบเพื่อถ่วงดุลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอำนาจฝ่ายตุลาการ ที่ควรจะต้องคงไว้เพื่อตรวจสอบนักการเมือง ข้าราชการที่ไร้คุณธรรม จริยธรรม คดโกง ทุจริตคอร์รัปชัน ถือว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมและถูกต้องแล้วตามรัฐธรรมนูญปราบโกงปี 2560 ที่ร่างป้องกันไว้ จึงขอคัดค้าน หากพรรคประชาชน หรือพรรคใดเสนอให้มีการปรับแก้ไข ลดอำนาจองค์กรอิสระลง เพราะจะทำให้เป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองที่ไม่ดีเข้ามาคดโกงงบประมาณแผ่นดิน เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตัวเองได้ 

เมื่อถามว่า แต่การแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมนักการเมืองพรรคประชาชนก็ยอม 'พัก' เรื่องนี้ไว้ก่อน  นายธนกร กล่าวว่า พักไว้ ไม่ได้แปลว่าจะล้มเลิกหรือถอดร่างที่เสนอต่อสภาออก แต่อาจเป็นเพราะถูกสังคมต่อว่าอย่างหนักว่า ต้องการแก้กฎหมายเพื่อตัวเอง  ไม่ก็อาจจะกลัวทำผิดกฎหมายเสียเอง เพราะการแก้ประเด็นจริยธรรมนักการเมืองจะถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศจุดยืนชัดเจนแล้วว่าขอคัดค้านในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องดังกล่าว เพราะต้องการสนับสนุนให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง ไม่ลดมาตรฐานจริยธรรมผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้นำบริหารราชการแผ่นดิน 

“สังคมตั้งคำถามว่า พรรคประชาชนมัวทำอะไรกัน วนเวียนคิดแต่จะแก้ปัญหาการเมือง แก้รัฐธรรมนูญ ติดกรอบความคิดเดิม ๆ เรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหารของคสช. อ้างแต่เรื่องประชาธิปไตย โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อน ความยากจน ปัญหาปากท้องเศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติที่พี่น้องประชาชน ประสบอยู่ตอนนี้ แต่ยังก้าวไม่พ้น คสช. ต้องการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนวางกรอบไว้ให้การพัฒนาประเทศเกิดความยั่งยืน ซึ่งก็ถือว่าดีอยู่แล้ว ดังนั้นการเสนอ 7 แพ็กเกจของพรรคประชาชน มองว่าเป็น 7 แพ็กเกจสุดซอย สุดโต่ง มุ่งทำเพื่อพรรคการเมือง ทำเพื่อตัวเอง ยังไม่ได้นึกถึงประชาชนชาวบ้านที่เดือดร้อนจริง ๆ" นายธนกร กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top