Saturday, 19 April 2025
แก้รัฐธรรมนูญ

‘อัครเดช’ ชี้!! แก้ปัญหาน้ำท่วมสำคัญกว่าแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมขอบคุณ รบ.โอนเงินหมื่นเข้าบัตรคนจน ตาม รทสช.เสนอ

'อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์' ย้ำแก้รัฐธรรมนูญมีขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องไปเร่ง ชี้ปัญหาของความเดือดร้อนของประชาชนสำคัญกว่า โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ขอบคุณรัฐบาลใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจน โอนเงินหมื่นเข้าระบบช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ตามข้อเสนอพรรครวมไทยสร้างชาติ

(5 ต.ค.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า จากที่มีการรายงานข่าวถึงความเห็นของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นสามารถรอได้ ตนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับความคิดเห็นดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ทุกภาคส่วนควรเร่งใช้สรรพกำลังในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมถึงเตรียมแนวทางการแก้ไขปัญหาหากเกิดเหตุซ้ำ 

“ขอเน้นย้ำว่าปัญหาทางการเมืองเป็นเรื่องที่สามารถรอได้ แต่ปัญหาของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ นอกจากนี้แล้วยังมีปัญหาถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ หรือเรื่องการเมืองนั้นมีระยะเวลากระบวนการทำงานของการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ ไม่จำเป็นต้องไปเร่งรัดแต่อย่างใด สิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนคือปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม”

พร้อมกันนี้ นายอัครเดช ยังเห็นด้วยกับรัฐบาลที่ได้ดำเนินการจ่ายเงินสด 10,000 บาทต่อหัว ไปยังผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอของพรรครวมไทยสร้างชาติที่เคยเสนอไปในสภาผู้แทนราษฎรว่า ควรใช้ฐานข้อมูลของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการจ่ายเงินไปยังกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ และเมื่อจ่ายเป็นเงินสดแล้วยังทำให้กลุ่มเปราะบางที่ได้รับเงินดังกล่าวสามารถนำไปใช้จ่ายได้คล่องตัว 

‘อัครเดช’ ตอบ ‘สนธิญาณ’ เผย พรบ.ประชามติ ยึดตามรัฐธรรมนูญ 60 ย้ำจุดยืนพรรค!! ไม่แก้ 112- คงปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด

โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ โต้ข้อกล่าวหาจากสนธิญาณ ยันหลักเกณฑ์ประชามติของพรรคยึดเกณฑ์รับรองรัฐธรรมนูญปี 60 ย้ำจุดยืนพรรคไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 รัฐธรรมนูญ และคงไว้ซึ่งการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด 

(11 ต.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยถึงกรณีนาย สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ออกมาตั้งคำถามว่า พรรครวมไทยสร้างชาติทรยศต่อจิตวิญญาณของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาหรือไม่?

โดยนายอัครเดช เปิดเผยว่า จากการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในชั้นวุฒิสภานั้น ได้มีการแก้ไขในสาระสำคัญให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีออกเสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ ได้รับความเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ และเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง 

จากข้อมูลการลงประชามติรัฐธรรมนูญล่าสุดมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50ล้านคน ดังนั้นหากจะได้รับความเห็นชอบจากการทำประชามติจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากผู้มีสิทธิไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน ซึ่งเป็นไปได้ยากหรือแทบไม่ได้เลย เพราะในการลงประชามติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปราบโกง ที่ผ่านมา มีผู้เห็นชอบ 16.8ล้านคน จากยอดผู้มาใช้สิทธิ์ลงประชามติ 29.7ล้านคน เท่านั้น

ซึ่งถ้าใช้หลักเกณฑ์ของวุฒิสภา จะต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง นั่นคือ 25 ล้านเสียง จาก 50 ล้านเสียง จะเห็นว่าถ้าใช้หลักเกณฑ์วุฒิสภา รัฐธรรมนูญฉบับปี60ที่เรียกกันว่าฉบับปราบโกงก็ไม่ผ่านการเห็นชอบในการออกเสียงประชามติจากพี่น้องประชาชน

ดังนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติ จึงใช้หลักเกณฑ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิคือ 29.7 ล้านเสียง ซึ่งคำนวณออกมาแล้วคือประมาณ 15 ล้านเสียงถึงจะได้รับการรับรอง โดยในครั้งนั้นมีผู้เห็นชอบ16ล้านเสียงจึงได้รัฐธรรมนูญฉบับปี60มาซึ่งก็เป็นหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้รับรอง รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ดังนั้น การที่พรรครวมไทยสร้างชาติ  มีความเห็นให้ใช้เกณฑ์ตามร่างที่ผ่านการลงมติของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และจะขอเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการร่วมที่ตั้งขึ้นใหม่ที่พรรคส่งนายวิทยา แก้วภราดัยไปผลักดันประเด็นที่มีสาระสำคัญว่า จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบมากกว่าการออกเสียงไม่ประสงค์ลงคะแนน และเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ จึงเป็นการยืนยันเจตนารมณ์เดิมของผู้มารับรองรัฐธรรมนูญในการออกเสียงประชามติในปี พ.ศ. 2560 อย่างชัดเจน

หากแก้ไขตามมติของวุฒิสภาจะทำให้การลงประชามติให้เห็นชอบเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้ในเชิงปฏิบัติ และทำประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ อาจถึงทางตันทางการเมืองได้และอาจเกิดวิกฤติการเมืองในอนาคตได้อีกด้วย จึงขอยืนยันข้อเสนอของพรรครวมไทยสร้างชาติยังสอดคล้องกับการออกเสียงประชามติเมื่อครั้ง 'ลงประชามติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560' 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่พรรครวมไทยสร้างชาติ จะมีพฤติกรรมดังที่นายสนธิญาณได้กล่าวหาแต่อย่างใดและถือเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมกับพรรค

และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ประกาศจุดยืนอย่างหนักแน่นและต่อเนื่อง ว่าจะต้องไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่มีการแก้ไขในหมวดที่ 1 และ 2 รวมถึงต้องคงไว้ซึ่งการปราบปรามทุจริตอย่างเด็ดขาดเช่นเดิม

ตนขอยืนยันว่าพรรครวมไทยสร้างชาติยังสานต่อจิตวิญญาณและเจตนารมณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน รักษาไว้ซึ่ง 3 สถาบันหลักของชาติ  ซื่อสัตย์สุจริต และปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างถึงที่สุด

‘เอกนัฏ‘ เผย รทสช.ไม่ขัดแก้ รธน. แม้ไม่มีนโยบายหนุน แต่ย้ำชัด!! ห้ามแตะหมวด 1,2 – มาตรการปราบโกง

’เอกนัฏ‘ เผย รทสช.ไม่ขัดแก้รธน. แม้ไม่มีนโยบาย แต่ขอห้ามแตะหมวด 1,2 – มาตรการปราบโกง เผย “พีระพันธุ์” ขอไปศึกษาข้อกฎหมาย-เอ็มโอยู 44 เพิ่มเติม ห่วงไทยเสียผลประโยชน์

(5 พ.ย. 67) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ว่า ได้มีการพูดคุยกัน 2 เรื่อง คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยังได้รับคำยืนยันว่า ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะไม่มีการแตะมาตรา 112 ซึ่งเป็นจุดยืนหลักของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด เราจะไม่สังฆกรรมไม่สนับสนุนและพร้อมจะขัดขวางทุกวิถีทางในเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 รวมไปถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องไม่นับรวมเรื่องมาตรา 112 และตนได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ในฐานะที่เป็นเลขาธิการพรรค รทสช. เรามีจุดยืนที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มหาเสียงว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่นโยบายหลักของพรรค แต่หากเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่น เราไม่ขัดข้อง แต่จะไม่ต้องแตะหมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงมาตรการการป้องปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ

นายเอกนัฏ กล่าวว่า ส่วนจุดยืนของพรรค รทสช.ต่อเรื่องการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชานั้น ภาพใหญ่ของพรรค รทสช. เรารักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่สุดอยู่แล้ว ต้องไม่มีการนำพื้นที่อธิปไตยไปเจรจาต่อรองในทุกรูปแบบ ซึ่งเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ซึ่งได้รับคำยืนยันในที่ประชุมพรรคร่วม ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ว่า ไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาแบบไหน จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศ 

ส่วนสิ่งที่คนกังวลคือ เรื่องเกาะกูด ก็ได้รับคำยืนยันว่า เป็นของประเทศไทยแน่นอน ไม่ว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หรือจะยกเลิกเอ็มโอยู 44 เกาะกูดก็ยังเป็นของไทย เป็นจุดยืนของพรรคร่วมทั้งหมด ส่วนนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน จะต้องเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทยหรือไม่นั้น ตนยังไม่ทราบว่ามีใครบ้างที่จะนั่งเป็นคณะกรรมการ ทราบเพียงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการเดินหน้าต่อจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2557 และรัฐบาลทุกยุคก็ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อไปเจรจากับกัมพูชา ส่วนผลการเจรจาเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

เลขาธิการพรรค รทสช. กล่าวว่า หลังประชุมพรรคร่วม ตนได้โทรศัพท์หานายพีระพันธุ์ สิ่งที่นายพีระพันธุ์ให้ความสำคัญคือ เรื่องเขตแดน เนื่องจากเป็นนักกฎหมาย จึงจะไปศึกษากฎหมายเพิ่มเติม ทั้งในตัวเอ็มโอยู 2544 และกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเอ็มโอยู 2544 เดิมทีเป็นภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานด้านความมั่นคง ในส่วนของกระทรวงพลังงานเป็นเรื่องการเจรจาผลประโยชน์ร่วม ซึ่งนายพีระพันธุ์ระบุว่า ในส่วนนี้ต้องดูให้ดี คำว่าผลประโยชน์ร่วมทุกฝ่ายก็อยากได้ ทำอย่างไรจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้ได้มากที่สุด 

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังมีความกังวล เพราะเดิมทีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีการสัมปทานไปก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์จึงกำลังศึกษาอยู่ว่า หากเป็นไปแบบนั้นจริง ประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดความอุ่นใจ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เป็นเรื่องเขตแดนของประเทศ ซึ่งไม่เฉพาะพื้นที่บนเกาะกูดเท่านั้น แต่ในทางกฎหมายยังหมายรวมถึงพื้นที่ในทะเล หรือพื้นที่สิทธิประโยชน์ทางทะเล ถ้าเรายืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทย พื้นที่อื่นที่เกี่ยวเนื่องก็ต้องเป็นของไทยด้วย ซึ่งเป็นที่มาที่ไทยได้ประกาศพื้นที่ไหล่ทวีปเมื่อปี 2516 ไทยก็ต้องรักษาเขตแดนของเรา ส่วนการเจรจาผลประโยชน์ร่วมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศเช่นกัน 

“ยังไม่ถึงกับว่า นายพีระพันธุ์ไม่สบายใจเรื่องนี้ เพียงแต่สไตล์การทำงานของท่านต้องศึกษาให้เกิดความละเอียดในทุกเรื่อง จนกว่าท่านจะมั่นใจ เพราะมันเป็นเรื่องข้อกฎหมาย มีกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง และทำกันมา 20-30 ปีแล้ว ทุกอย่างมันอยู่ในใจของเราอยู่แล้ว ต้องทำให้รอบคอบ อย่าให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ ต้องไปดูว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่”นายเอกนัฏ กล่าว

'หมอเปรมศักดิ์' ค้านร่างแก้รธน. ฉบับพรรคส้ม ชี้! ไม่ควรแตะหมวด 1,2 หวั่นกระทบอำนาจ สว.

‘สว.เปรมศักดิ์’ คัดค้านร่างแก้ไข รธน. ฉบับพรรคประชาชน ชี้ไม่ควรแตะต้องหมวด 1-2 หวั่นลดอำนาจ สว. สร้างความแตกแยก มองรอ 180 วันได้ ไม่ต้องรีบร้อน

(6 ม.ค. 68) ที่รัฐสภา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แถลงข่าวแสดงจุดยืนในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า ขอคัดค้านการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (6) ของ สส.พรรคประชาชน เรื่องการออกเสียงรับหลักการวาระแรก และเสียงเห็นชอบในวาระสาม ซึ่งเดิมกำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ แต่ร่างที่แก้ไขใหม่ ได้เสนอให้ตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงเห็นร่วมด้วยของ สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ออกไป และเพิ่มเติมด้วยเสียงเห็นชอบจาก สส.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทน

นพ.เปรมศักดิ์ ชี้ว่า เรื่องการตัดเงื่อนไขการนำไปออกเสียงประชามติ ก่อนการทูลเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในมาตรา 256 (8) ตนเองไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขในมาตรานี้ เพราะถือเป็นการตัดทอนอำนาจของ สว. ลงอย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เรื่องอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ที่บัญญัติให้ สว. มีหน้าที่และอำนาจกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร และอาจเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งขึ้นระหว่างสองสภา ที่สำคัญรัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) เดิมได้บัญญัติชัดเจนให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องกระทำร่วมกันของรัฐสภา

นพ.เปรมศักดิ์ ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะต้องไปแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาล หรือองค์กรอิสระ ดังนั้นจึงจะต้องไป แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เห็นควรว่าไม่ควรไปแตะต้องเลย เพราะจะสร้างความแตกแยกขึ้นในชาติบ้านเมือง

นพ.เปรมศักดิ์ ยังระบุอีกเหตุผลคือ เมื่อตนเองลงพื้นที่ช่วงปีใหม่ พบว่า ประชาชนเดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง และถามว่าทำไมต้องเร่งด่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าปัญหาปากท้อง จึงมองว่ารออีก 180 วันก็ได้ ให้กฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติแล้วเสร็จ

นพ.เปรมศักดิ์ เปิดเผยด้วยว่า จากที่ได้รับฟังเสียง สว. ส่วนใหญ่ก็เห็นคล้ายกับตนเอง คือไม่ควรแตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ว่าพรรคใดจะเสนอก็ตาม เพราะไม่ได้ดูว่าพรรคการเมืองใดเสนอมาเป็นตัวตั้ง แต่หากพรรคเพื่อไทยเสนอมาในลักษณะเดียวกับพรรคประชาชน ตนเองก็ไม่เห็นด้วย

นพ.เปรมศักดิ์ ยังย้ำว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรรีบร้อน เพราะการกระทำอะไรที่รีบร้อน อาจจะส่งผลเสีย พร้อมมองว่า หากรอครบ 180 วัน แล้วสภาผู้แทนราษฎรยืนยันมติเดิม จะไม่ทำให้แตกหักกันระหว่าง 2 สภา เพราะส่วนตัวก็เห็นชอบกับการทำประชามติด้วยหลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว แต่มองว่า เรื่องกรอบเวลาไม่ควรเอาคำว่ากลัวจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันการเลือกตั้งปี 2570 เป็นหลัก เพราะรัฐบาลนี้จะอยู่พ้นปี 2568 หรือไม่ก็ยังไม่ทราบ

ประชุมร่วมรัฐสภา ถกวาระแก้รธน.เริ่มแล้ว ‘ไชยชนก’ แจ้งประธานฯ ‘ภท.’ ขอไม่ร่วมพิจารณา ด้าน ‘หมอเปรมศักดิ์’ เสนอญัตติด่วนขอสมาชิกโหวตส่งศาลรธน.ตีความอำนาจหน้าที่

เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ (13 ก.พ.68) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นอภิปรายในฐานะตัวแทนพรรคว่า วาระที่กำลังจะพิจารณาค่อนข้างผิด และขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พรรคภูมิใจไทยจึงขอไม่เข้าร่วมพิจารณา

จากนั้น ประธานรัฐสภา กล่าวว่า นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ได้เสนอญัตติด่วนขอให้รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 250 วรรคหนึ่ง (2) ทำให้นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า แน่นอนว่าการเข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าจะเป็นญัตติด่วนด้วยวาจา แต่ต้องเป็นการยื่นญัตติด่วนด้วยหนังสือ และมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 40 คน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครเห็นตัวญัตติ และหากมีการเสนอเพิ่มเติมหรือการบรรจุระเบียบวาระเพิ่มเติมเป็นอำนาจประธานรัฐสภา แต่ต้องแจ้งไม่น้อยกว่าวันประชุม 1 วัน ดังนั้น ระหว่างมีการแจกเอกสารให้สมาชิกพิจารณาเนื้อหา ขอให้พักการประชุม 15 นาที ได้หรือไม่เพื่อให้วิปแต่ละฝ่ายได้หารือกัน   

ขณะที่ นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า ระเบียบของการเสนอญัตติด่วนตนทราบดี และได้รวบรวมรายชื่อของสมาชิกรัฐสภาทั้งสส.และสว. เนื่องจากเห็นความสำคัญว่าเป็นเรื่องใหญ่จึงควรมีสมาชิกทั้ง 2 สภา โดยรวมรายชื่อกันแล้วเกินกว่า 40 รายชื่อ และเอกสารนั้นเราดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง และท่านสมาชิกที่อภิปรายสักครู่ไม่ต้องห่วงใย ตนเป็นสมาชิกสภามานาน ท่านสมาชิกที่เพิ่งมาใหม่อาจจะมองว่าทำถูกระเบียบหรือไม่ ซึ่งตนเป็นคนมีวุฒิภาวะทำอย่างไรก็ต้องให้ถูกต้องตามระเบียบ รวมถึงตนได้เข้าหารือกับประธานก่อนที่จะเข้าประชุมวันนี้เพื่อทราบว่าการประชุมจะมีการดำเนินการอย่างไร และวันนี้ตนอยากให้การประชุมมีความเรียบร้อยเพราะประชาชนทั่วประเทศกำลังเฝ้ามองเราอยู่ว่าสมาชิกรัฐสภาจะมีแนวคิดในเรื่องนี้อย่างไร จึงขอให้สมาชิกอย่าได้กังวลเรื่องรายละเอียดญัตติ ตนคิดว่าได้บรรจงเขียนสุดยอดในชีวิตแล้วและคิดว่าขอให้มีการพิจารณาตามขั้นตอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันมูหะมัดนอร์ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่แจกเอกสารแก่สมาชิก จากนั้น เวลา 09.48 น. ได้สั่งพักการประชุม 15 นาที เพื่อให้วิป 3 ฝ่ายหารือร่วมกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top