'ปิยบุตร' ชี้!! แก้รัฐธรรมนูญยืดเยื้อ จบไม่ทันเลือกตั้งปี 70 แนะ!! เลือกทำประชามติ 2 ครั้ง-แก้รายมาตรา ไม่แตะหมวด 1-2

เมื่อวานนี้ (28 ก.ย. 67) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ 'เมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ล่าช้าออกไปอีก รัฐบาลรัฐสภาควรทำอย่างไร?' ระบุว่า...

รัฐบาลวางแนวทางไว้ว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีขึ้นได้ ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง โดยรัฐบาลเห็นว่า การออกเสียงประชามติในครั้งแรก จะเกิดได้ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เสียก่อน เพื่อเปลี่ยนจากเกณฑ์ 'ผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ + ผู้เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ' หรือ Double Majority ให้เป็น 'ผู้เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ' ร่างพ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ประชามตินี้ ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว อยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภา 

ปรากฏมีข่าวว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา มีมติให้กลับไปเป็นเสียงข้างมาก 2 ชั้น ตามเดิม หากไปจนจบวาระสามในชั้นวุฒิสภา ยังเป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่า วุฒิสภามีมติแก้ไขจากร่างที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร หากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของสองสภา ต้องทอดเวลาออกไปอีก หากสภาใดสภาหนึ่งยังไม่เห็นด้วยกับร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมสองสภาทำกันมา ร่างนั้นก็จะถูกยับยั้งไว้ 180 วัน สภาผู้แทนราษฎรจึงจะนำกลับมาลงมติยืนยันได้ 

เมื่อดูกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติแล้ว จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมีการออกเสียงประชามติรอบแรกในต้นปี 2568 อย่างน้อยๆ ต้องเสียเวลาเพิ่มอีก 8-10 เดือน กว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) มาทำร่างใหม่ แล้วทำประชามติ ต้องบวกเวลาเพิ่มไปอีก อย่างน้อย 2 ปี ดังนั้นโรดแมปที่แกนนำรัฐบาล พูดกันว่าเลือกตั้งปี 70 จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ให้ใช้ จึงไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว

นายปิยบุตร ระบุอีกว่า ด้วยสถานการณ์ที่มีคนพยายามใช้กลไกถ่วงเวลาการแก้รัฐธรรมนูญเช่นนี้ ผมเห็นว่า รัฐบาลและรัฐสภามีทางเลือก 2 ทาง ทางเลือกแรก ลดการออกเสียงประชามติเหลือ 2 ครั้ง กล่าวคือ เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เข้ารัฐสภาเลย (ถ้ารีบเสนอวันนี้เลย สามารถพิจารณาวาระแรกทันในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดสิ้นเดือนตุลาคม) เมื่อผ่านรัฐสภาก็ไปออกเสียงประชามติ เมื่อผ่าน มีส.ส.ร.ทำร่างใหม่เสร็จ ก็นำมาออกเสียงประชามติ ทางเลือกนี้ประหยัดเวลาไปอีก 8-10 เดือน และทำประชามติเพียงสองครั้ง ประหยัดงบประมาณไปได้มาก ประธานรัฐสภาไม่ต้องกังวล ต้องกล้าบรรจุเรื่องเข้ารัฐสภา เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่าการทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง...

ทางเลือกที่สอง เสนอแก้รัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตรา ตั้งแต่หมวด 3 จนถึงหมวดสุดท้าย ตั้งแต่มาตรา 25 ถึงมาตรา 279 ในเมื่อรัฐสภาเป็นผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว สามารถดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ใน หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสีย ปัญหาหรือข้อกังวลต่างๆก็ตกไป การแก้ไข ตั้งแต่ มาตรา 25 ถึง มาตรา 279 ไม่ใช่การทำใหม่ทั้งฉบับอยู่แล้ว ย่อมไม่ติดกับดักประชามติ ที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ข้อกังวลเรื่องจะมาแก้ไข หมวด 1 หมวด 2 หรือไม่ ก็ไม่มี เพราะคือการเริ่มแก้ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป และกระบวนการนี้ ทั้งหมดจบได้ด้วยประชามติครั้งเดียวตอนท้าย หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ทางเลือกนี้ แก้ทั้งกับดัก และยังช่วยประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณ มีแต่ทางเลือกสองทางนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เรามีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้ทันในปี 2570”


ที่มา : Matichon