Tuesday, 20 May 2025
เวียดนาม

‘สีจิ้นผิง’ เตรียมเยือน ‘เวียดนาม-มาเลเซีย-กัมพูชา’ สัปดาห์หน้า หวังขยายความร่วมมือท่ามกลางสงครามการค้ากับ ‘สหรัฐฯ’

(11 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เตรียมเดินทางเยือน 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ระหว่างวันที่ 14-18 เมษายนนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างพันธมิตรในภูมิภาค ท่ามกลางความตึงเครียดจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ

การเยือนเวียดนามจะมีขึ้นในวันที่ 14-15 เมษายน ตามด้วยการเยือนมาเลเซียและกัมพูชาในช่วงวันที่ 15-18 เมษายน ทั้งนี้กระทรวงต่างประเทศจีนระบุว่า นี่คือการเดินทางต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำจีนในปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่จีนให้ต่อประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศระงับภาษีนำเข้าจากเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาเป็นเวลา 90 วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 พร้อมกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 145% ขณะที่เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 46%, 24% และ 49% ตามลำดับ

ทั้งนี้ เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย ต่างได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนในช่วงสงครามการค้ารอบก่อน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ประเทศก็เริ่มตกอยู่ในความสนใจของสหรัฐฯ จากข้อกล่าวหาต่าง ๆ เช่น การลักลอบนำชิป, ความร่วมมือทางทหาร และข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

นายกฯ ญี่ปุ่น เตรียมบินเยือน ‘เวียดนาม-ฟิลิปปินส์’ 27 เมษายนนี้ เพื่อกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง กับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(17 เม.ย. 68) ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีกำหนดเดินทางเยือน เวียดนามและฟิลิปปินส์ เป็นระยะเวลา 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายนนี้ เพื่อกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับชาติสมาชิกอาเซียน ท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความเข้มข้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นในจังหวะสำคัญที่ จีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังเพิ่มบทบาทและเสนอมาตรการเป็นมิตรต่อประเทศในภูมิภาค ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อสหรัฐฯ เริ่มสั่นคลอนจากมาตรการภาษีที่เข้มข้นของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ในเวียดนาม นายอิชิบะมีกำหนดพบกับ โท ลัม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพื่อหารือเรื่องการบรรจุเวียดนามเข้าสู่กรอบความช่วยเหลือด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่น (Official Security Assistance หรือ OSA) ซึ่งครอบคลุมการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันประเทศให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน

ญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะสามารถร่าง บันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงกับเวียดนามให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมปีหน้า อีกทั้งยังมีกำหนดเยี่ยมชม มหาวิทยาลัยเวียดนาม-ญี่ปุ่น ในกรุงฮานอย ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระดับชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษาระหว่างสองประเทศ

ขณะเดียวกัน ในฟิลิปปินส์ อิชิบะจะหารือกับ ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเริ่มต้นการเจรจาเกี่ยวกับ ข้อตกลงด้านความมั่นคงทั่วไปของข้อมูลทางทหาร (GSOMIA) ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการแบ่งปันข่าวกรองทางทหารระหว่างสองประเทศ

นอกจากนี้ คาดว่าทั้งสองประเทศจะตกลงที่จะเริ่มเจรจาเกี่ยวกับ ข้อตกลงในการซื้อกิจการและการให้บริการข้ามกัน (Acquisition and Cross-Servicing Agreement หรือ ACSA) เพื่อให้สามารถจัดหากระสุนและเชื้อเพลิงให้กันและกันในกรณีที่จำเป็น

ระหว่างการเยือนฟิลิปปินส์ อิชิบะยังจะตรวจสอบ ระบบเรดาร์เฝ้าระวังชายฝั่ง และอุปกรณ์ความมั่นคงอื่น ๆ ที่ญี่ปุ่นได้จัดหาให้ภายใต้กรอบ OSA โดยมีเป้าหมายเพื่อเน้นย้ำความสัมพันธ์กึ่งพันธมิตรระหว่างทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ เขายังแสดงความตั้งใจที่จะพบกับกลุ่มผู้ไร้รัฐที่เป็นลูกหลานของชาวญี่ปุ่นซึ่งอพยพมายังฟิลิปปินส์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อแสดงการสนับสนุนของโตเกียวในการพิจารณาให้สัญชาติญี่ปุ่นแก่บุคคลเหล่านี้

อิชิบะซึ่งมีจุดยืนชัดเจนในเรื่องความสัมพันธ์กับ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เคยเดินทางเยือนมาเลเซียและอินโดนีเซียแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อวางรากฐานความร่วมมือระยะยาวในภูมิภาค

นักวิเคราะห์มองว่าการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ “เสริมอิทธิพลผ่านความร่วมมือ” เพื่อตอบโต้การขยายบทบาทของจีนในภูมิภาค พร้อมส่งสัญญาณถึงความมุ่งมั่นของโตเกียวในการเป็นพันธมิตรที่ไว้วางใจได้สำหรับประเทศในอาเซียน

โฆษกเวียดนามโต้ไม่ทราบชัด รัฐบาล ‘ทรัมป์’ สั่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ห้ามร่วมงานวันชาติ แต่ย้ำเป็นวันแห่งมิตรภาพและการให้อภัยระหว่างสองชาติ

(25 เม.ย. 68) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม นางฟาม ถู ฮั่ง (Pham Thu Hung) เปิดเผยในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 เมษายนว่า ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของรายงานจาก The New York Times ที่ระบุว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยสั่งห้ามเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 30 เมษายนของเวียดนาม โดยกล่าวเพียงว่า “ไม่ทราบว่าข้อมูลนี้ถูกต้องแค่ไหน”

อย่างไรก็ตาม โฆษกฯ ได้เน้นย้ำว่า วันปลดปล่อยภาคใต้และวันรวมชาติในวันที่ 30 เมษายน เป็นชัยชนะและความยุติธรรม ที่ยุติความสูญเสียอันเจ็บปวด ไม่เพียงแต่ของประชาชนเวียดนามแต่ยังรวมถึงครอบครัวชาวอเมริกันอีกเป็นจำนวนมากด้วย

ปีนี้ เวียดนามจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการปลดปล่อยภาคใต้ โดยมีผู้แทนระดับสูงจากพรรคการเมืองต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศ ขบวนการสันติภาพ และมิตรประเทศเข้าร่วมตามคำเชิญของเวียดนาม รวมถึงการยืนยันเข้าร่วมจากจีน ลาว และกัมพูชา ที่เข้าร่วมขบวนพาเหรดในพิธีเฉลิมฉลอง

ทั้งนี้ เวียดนามและสหรัฐฯ ได้พัฒนาความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 1995 จนกระทั่งยกระดับเป็นความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมในปี 2013 การเฉลิมฉลองวันที่ 30 เมษายนนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการให้อภัย การปรองดอง และการมุ่งสู่อนาคตร่วมกันของทั้งสองประเทศหลังผ่านพ้นความขัดแย้งในอดีต

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#15 ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุด ในสงครามเวียตนาม

การรุกตรุษญวน (Tet Offensive) เป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสงครามเวียตนาม เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 30 มกราคม 1968 โดยกองกำลังเวียตกง (VC) และกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) กับกองกำลังเวียตนามใต้ สหรัฐอเมริกา และพันธมิตร เป็นการรบแบบการจู่โจมต่อที่ตั้งของกองบัญชาการทหารและพลเรือน ตลอดจนศูนย์ควบคุมและสั่งการทั่วประเทศเวียตนามใต้ การรุกนี้ได้ชื่อจากวันหยุดตรุษญวน (Tết) ด้วยกำลังผสมของกองกำลังเวียตกงและกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือประมาณ 5 แสนนาย เปิดฉากการบุกโจมตีพร้อมกันหลาย ๆ จุดในหลาย ๆ เมืองของเวียตนามใต้ จนเป็นการสู้รบที่ดุเดือดต่อเนื่องยาวนานหลายเดือนไปจนถึงวันที่ 23 กันยายน 1968

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้มีการตระเตรียมกำลังพลถึง 1 ใน 3 (กว่าสี่แสนนาย) ของกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) และระดมกำลังพลของเวียตกงอีกประมาณ 70,000 คน โดยผู้บัญชาการทหารของฝ่ายเวียตนามเหนือ พลเอกโวเหงียนเกี๊ยบได้เลือกเอาวันที่ 31 มกราคม ซึ่งเป็นวันปีใหม่ในปฏิทินจันทรคติของชาวเวียตนามเป็นการเปิดฉากจู่โจมในครั้งดังกล่าว โดยพลเอกเกี๊ยบได้วาดหวังผลทางยุทธศาสตร์เอาไว้ว่า การบุกจู่โจมดังกล่าวจะสามารถพิชิตกองทัพของฝ่ายเวียตนามใต้ (ARVN : Army of the Republic of Vietnam) ลงได้ ทั้งยังจะสามารถสร้างความวุ่นวายและปลุกปั่นกระแสต่อต้านรัฐบาลเวียตนามใต้ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เขายังต้องการที่จะกระตุ้นตอกย้ำรอยร้าวของความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงระหว่างรัฐบาลเวียตนามใต้กับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อให้สหรัฐฯ หาทางเจรจาและต้องถอนกำลังทหารออกไปจากเวียตนามใต้

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ทำการโจมตีเป็นระลอกในกลางดึกของวันที่ 30 มกราคมในเขตยุทธวิธีที่ 1 และที่ 2 ของกองทัพเวียตนามใต้ การโจมตีช่วงแรกนี้ไม่นำไปสู่มาตรการป้องกันอย่างกว้างขวาง เมื่อปฏิบัติการหลักของคอมมิวนิสต์เริ่มในเช้าวันรุ่งขึ้น การรุกก็ลามไปทั่วประเทศและมีการประสานงานอย่างดี จนสุดท้ายมีกำลังคอมมิวนิสต์กว่า 80,000 นายเปิดฉากโจมตีเมืองต่าง ๆ กว่า 100 แห่ง ซึ่งรวมเมืองหลักของ 36 จาก 44 จังหวัด เขตปกครองตนเอง 5 จาก 6 แห่ง เมืองรอง 72 จาก 245 แห่ง และกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียตนามใต้ ในเวลานั้น การโจมตีครั้งนี้เป็นปฏิบัติการทางทหารใหญ่ที่สุดของทั้งสองฝ่าย การโจมตีในระยะแรกทำให้กองทัพสหรัฐฯ และเวียตนามใต้สับสนจนเสียการควบคุมในหลายเมือไปชั่วคราว แต่ที่สุดก็สามารถจัดกำลังใหม่จนสามารถต่อต้านการโจมตีและตีโต้จนฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องล่าถอยกลับไป 

แผนการบุกจู่โจมของฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มขึ้นตรงตามที่ได้มีการวางวางแผนไว้ ในกรุงไซง่อนซึ่งเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐเวียตนาม ที่มั่นของฝ่ายรัฐบาลเวียตนามใต้ เช่น สถานทูตสหรัฐฯ ถูกก่อวินาศกรรมโดยหน่วยกล้าตายเวียตกงประมาณ 19 นาย หน่วยจู่โจมดังกล่าวปะทะกับทหารเวียตนามใต้และสหรัฐฯ และสามารถยึดที่มั่นสำคัญของฝ่ายเวียตนามใต้แห่งนี้ได้นานถึง 6 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกกราดยิงจากเฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายเวียตนามใต้และสหรัฐฯ จนเสียชีวิตหมด หน่วยกล้าตายเวียตกงอีกหน่วยสามารถบุกไปยังทำเนียบประธานาธิบดี สถานีวิทยุ ศูนย์กลางกองทัพเรือ กองพลทหารพลร่ม ศูนย์กลางตำรวจ รวมถึงคลังน้ำมันที่ 4, 5. 6, 7, 8 ในกรุงไซง่อน ความสำเร็จในการบุกจู่โจมกรุงไซง่อนของเวียตกงได้แสดงให้ถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของสงครามว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำอย่างที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ เคยบอกตลอดมา นอกจากนี้ความจริงดังกล่าวยังเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของทหารอเมริกัน ในวันเดียวกันของการเริ่มปฏิบัติการที่เมืองเว้ ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถบุกยึดเมืองดังกล่าวได้สำเร็จ และปล่อยนักโทษที่ถูกฝ่ายตรงข้ามคุมขังให้เป็นอิสระได้ถึง 2,000 คน

ในกรุงไซง่อนการขับไล่กองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ของทหารเวียตนามใต้และอเมริกันเป็นไปด้วยความยากลำบาก หน่วยจู่โจมฝ่ายคอมมิวนิสต์แทรกซึมอยู่ทั่วกรุงไซง่อนมาหลายสัปดาห์แล้ว อาศัยเสบียงที่พอจะประทังชีวิตได้ รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ กองทัพอเมริกันได้โต้กลับด้วยวิธีการที่รุนแรงด้วยการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดและปืนใหญ่เข้าทำลายพื้นที่ทั้งหมดในทั้งกรุงไซง่อนและพื้นที่อื่น ๆ ที่มีกำลังของฝ่ายคอมมิวนิสต์อยู่ ระหว่างยุทธการที่เมืองเว้มีการสู้รบอย่างดุเดือดกินเวลาถึงหนึ่งเดือน ทำให้กองกำลังสหรัฐต้องทำลายเมืองเว้จนเสียหายอย่างหนัก และระหว่างการยึดครองเมืองเว้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ได้ประหารชีวิตประชาชนหลายพันคน (เหตุการณ์การสังหารหมู่ที่เมืองเว้) 

ขณะเดียวกัน ยังมีการสู้รบบริเวณรอบ ๆ ฐานทัพสหรัฐฯ ที่เคซานต่อมาอีกสองเดือน แม้ว่าปฏิบัติการจู่โจมดังกล่าวจะไม่ได้ประสบกับความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องสูญเสียกำลังพลมหาศาล และถือเป็นความพ่ายแพ้ทางทหารสำหรับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่กลับสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะทำให้สาธารณชนชาวอเมริกันต้องตกตะลึงจากความเชื่อซึ่งถูกผู้นำทางการเมืองและการทหารบอกว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์กำลังปราชัย และไม่สามารถดำเนินความพยายามขนาดมโหฬารเช่นนี้ได้ การสนับสนุนสงครามของสาธารณชนชาวอเมริกันจึงลดลงเรื่อย ๆ และในที่สุดสหรัฐฯ ต้องแสวงหาการเจรจาเพื่อยุติสงคราม

การรุกในวันตรุษญวนทำให้ทหารของกองทัพประชาชนเวียตนามเหนือ (PAVN) และเวียตกง (VC) เสียชีวิตกว่า 1 แสนนาย ทหารของกองทัพสหรัฐฯ เวียตนามใต้ และพันธมิตรเสียชีวิตกว่า 10,000 นาย เหตุการณ์นี้กองกำลังทหารไทยในเวียตนามใต้ได้มีส่วนร่วมในการสู้รบด้วย แม้ว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์จะได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่การรุกในวันตรุษญวนส่งผลในทางจิตวิทยาเป็นอย่างมาก โดยเป็นการแสดงศักยภาพด้านการทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เป็นการจุดกระแสต่อต้านสงครามเวียตนามในสหรัฐฯ จนติด และนำไปสู่การถอนทหารสหรัฐฯ จากเวียตนามใต้ และที่สุดนำไปการล่มสลายของเวียตนามใต้ (สาธารณรัฐเวียตนาม) ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1975

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#16 ‘พลอากาศโท Pham Tuân’ เสืออากาศแห่งกองทัพอากาศเวียตนามเหนือ

สหรัฐฯ ถือเป็นผู้ครองอากาศทั้งหมดทั้งมวลเหนือดินแดนเวียตนามทั้งเหนือและใต้ในระหว่างสงคราม และแทบจะไม่มีปฏิบัติการทางอากาศของกองทัพอากาศเวียตนามเหนือในดินแดนเวียตนามใต้เลย และการปฏิบัติบนน่านฟ้าเวียตนามเหนือเป็นเพียงการต่อสู้กับเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ซึ่งมาจากกองทัพอากาศ กองทัพเรือ และกองกำลังนาวิกโยธิน แต่กระนั้นแล้ว กองทัพอากาศเวียตนามเหนือก็ยังมีนักบินขับไล่ซึ่งสามารถยิงเครื่องบินรบสหรัฐฯ ตกตั้งแต่ 5 ลำขึ้นไปกลายเป็นเสืออากาศถึง 19 นาย ส่วนกองทัพสหรัฐฯ มีนักบินขับไล่ที่เป็นเสืออากาศในสงครามเวียตนาม 5 นาย

พลอากาศโท Pham Tuân เป็นหนึ่งในเสืออากาศอันดับต้น ๆ ของกองทัพอากาศเวียตนามเหนือ ด้วยผลงานยิงเครื่องบินของศัตรูตกไป 8 ลำ (อันดับหนึ่งมีสถิติ 9 ลำ) แต่เป็นนักบินขับไล่กองทัพอากาศเวียตนามเหนือคนแรกที่ยิงเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 ของสหรัฐฯ ตก และต่อมาเขาเป็นชาวเวียตนามคนแรกและเป็นคนแรกของภูมิภาค ASEAN ที่ได้เดินทางไปในอวกาศ

พล.อ.ท. Pạm Tuân เกิดที่เมือง Kiến Xương จังหวัด Thái Bình ทางตอนเหนือของเวียตนาม เข้าร่วม VPAF หรือกองทัพอากาศเวียตนาม (กองทัพอากาศเวียตนามเหนือ) ในปี 1965 เริ่มต้นจากนักเรียนช่างเรดาร์ จากนั้นก็ได้รับเลือกให้เข้ารับการฝึกเป็นนายทหารนักบินชั้นสัญญาบัตร เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนการบิน Krasnodar ในสหภาพโซเวียต เป็นนักบิน MiG-17 ในปี 1967 จากนั้นจึงย้ายไปฝึกบิน MiG-21 และได้รับมอบหมายให้ประจำหน่วยฝึกบิน VPAF 910 ระหว่างปี 1968-69 เขามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคนิคการสกัดกั้นในเวลากลางคืนเพื่อต่อต้านการโจมตีทางอากาศของสหรัฐ จากนั้นจึงย้ายมาประจำกรมการบินที่ 932 ระหว่างปี 1969-1970 และสุดท้ายประจำกรมการบินที่ 921 ระหว่างปี 1970-1973

ระหว่างคืนวันที่ 18-27 ธันวาคม 1972 ในปฏิบัติการ Linebacker II (the Christmas Bombing) นาวาอากาศตรี Pham Tuân ได้นำเครื่องบินขับไล่แบบ MiG-21 ติดขีปนาวุธอากาศสู่อากาศแบบแสวงความร้อนเข้าต่อสู้กับเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 Stratofortress ของสหรัฐฯ ไม่ต่ำกว่า 12 ครั้ง วันที่ 27 เขาบิน MiG-21MF (หมายเลข 5121) ด้วยความเร็วเหนือเสียง และสามารถเจาะเข้าไปในขบวนบินของ B-52 ยิงขีปนาวุธ 2 ลูกในระยะน้อยกว่า 4 กม. ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยสายตาแล้วรายงานว่า ขีปนาวุธของเขายิงถูก B-52D จนตกเหนือเขตติดต่อของจังหวัด Hoa Binh กับ Vinh Phuc การอ้างชัยชนะนี้ ทำให้ B-52 ลำนี้เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดเพียงลำเดียวที่ถูกยิงตกในการสู้รบทางอากาศ แต่กลับถูกโต้แย้งโดยบันทึกของสหรัฐฯ ซึ่งอ้างว่า B-52 ลำนี้ถูกยิงโดยขีปนาวุธพื้นสู่อากาศเช่นเดียวกับ B-52 ลำอื่น ๆ ที่ถูกยิงระหว่างสงคราม ในหนังสือชื่อ "Hà Nội - Điện Bien Phủ trên không" (ฮานอย - ยุทธการเดียนเบียนฟูในอากาศ) โดย Nguyễn Minh Tâm จัดพิมพ์โดย Nhà xuất bản Quân đội Nhân dân Việt Nam (Viet Publishing House's) ผู้เขียนยืนยันว่า นต. Pham Tuân ยิง B-52 ด้วยขีปนาวุธอากาศสู่อากาศแบบ K-13 สองลูกภายในระยะ 4 กิโลเมตร

นต. Pham Tuân เล่าว่า “เมื่อผมตรวจพบเครื่องบินทิ้งระเบิด เครื่องบินของผมอยู่ห่างจากเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ประมาณ 10 กม. ผมจึงทิ้งถังเชื้อเพลิงภายนอก และขอคำสั่งโจมตีทันที แม้ว่าผมจะเข้าใกล้เครื่องบินทิ้งระเบิดแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้ามาก โชคดีที่ฝูงบินคุ้มกัน F-4 ของศัตรูก็ไม่มองเห็นผม แต่เพื่อความแน่ใจ ผมยังคงบินเข้าใกล้ต่อไปจนเหลือระยะ 3 กม. แล้วถึงได้ปล่อยขีปนาวุธ ในขณะที่ผมกำลังหลบหนี ผมก็เห็นตอนที่ขีปนาวุธทั้งสองพุ่งชนเข้ากับ B-52 แล้วระเบิด ซึ่งตอนนั้นไฟกำลังลุกไหม้ B-52 และมีเครื่อง F-4 พยายามไล่ตามผมมา แต่ตอนนี้ผมก็รอดแล้ว" Tuân เล่าว่า เนื่องจาก B-52 ติดตั้งอุปกรณ์ลวงอินฟราเรดจำนวนมาก เขาจึงต้องเข้าใกล้เป้าหมาย (ในระยะ 2-3 กิโลเมตร) เพื่อให้แน่ใจว่า จรวดจะไม่พลาด แม้ว่าระยะปลอดภัยขั้นต่ำสำหรับการยิงขีปนาวุธคืออย่างน้อย 8 กิโลเมตร การอ้างชัยชนะทางอากาศโดยนักบิน MiG ของ VPAF ต่อเครื่องบินรบของสหรัฐฯ มักได้รับการโต้แย้งว่าเป็นการสูญเสีย B-52 มาจากขีปนาวุธพื้นสู่อากาศหรือปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน เนื่องจากถือว่า "น่าอับอายน้อยกว่า" การที่ถูกนักบินฝ่ายศัตรูยิงตก ปฏิบัติการ Linebacker II มีนักบินและลูกเรือเสียชีวิต 33 นาย โดยเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 Stratofortress จำนวน 15 ลำถูกยิงตก และจนทุกวันนี้กองทัพอากาศสหรัฐฯ ก็ยังไม่ยืนยันว่า Tuân เป็นผู้ยิง B-52 ตกระหว่างปฏิบัติการ Linebacker II

Tuân ได้รับรางวัลและคำชื่นชมในการปฏิบัติงานที่มีความโดดเด่นมากมาย ในปี 1973 Tuân ได้รับตำแหน่ง "วีรบุรุษแห่งกองทัพประชาชน" ของเวียตนามเหนือ รวมทั้ง Ho Chi Minh Order นอกจากนี้ เขายังได้รับรางวัล Order of Lenin และได้รับเกียรติอันหาได้ยากด้วยการเป็นหนึ่งในชาวต่างชาติไม่กี่คนที่ได้รับ "Hero of the Soviet Union" จากภารกิจในอวกาศ Interkosmos program โดยทำหน้าที่เป็นนักบินผู้บังคับยานอวกาศในเที่ยวบิน Soyuz 37 ซึ่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 23  กรกฎาคม 1980 ไปยังสถานีอวกาศ Salyut 6 และกลับสู่เพื่อโลกเมื่อ 31 กรกฎาคม 1980 รวมเวลาที่เขาอยู่ในอวกาศ 7 วัน 20 ชั่วโมง 42 นาที Tuân นำสิ่งของหลายอย่างติดตัวไปด้วยในเที่ยวบิน Soyuz 37 ซึ่งรวมถึงรูปภาพของอดีตประธานาธิบดี Hồ Chí Minh, Lê Duân เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนาม, ประกาศเจตจำนงของ Hồ Chí Minh, ธงชาติเวียตนาม โดยเขาได้นำสิ่งของทั้งหมดเอาไปไว้บนสถานีอวกาศแล้วนำพวกมันกลับมายังโลก ในปีเดียวกันนั้นเองเขาได้รับรางวัล "วีรบุรุษแรงงานแห่งเวียดนาม"  ต่อมาในปี 1989 เขาได้รับตำแหน่ง "รองผู้บัญชาการ" กองทัพอากาศเวียดนาม ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลอากาศโทในปี 1999 และดำรงตำแหน่ง "อธิบดีกรมอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ" ในปี 2000 และเกษียณจากตำแหน่งในปลายปี 2007 ปัจจุบัน พลอากาศโท Pham Tuân ยังคงมีชีวิตอยู่ และใช้ชีวิตกับภรรยาอย่างมีความสุข

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

รัฐบาลเวียดนามเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ ดึงต่างชาติลงทุน AI–เซมิคอนดักเตอร์ มั่นใจบรรลุเป้าเติบโต 8% ในปีนี้ แม้ไตรมาสแรก GDP ขยายตัวเพียง 6.93%

(7 พ.ค. 68) นายกรัฐมนตรีฟาม มินห์ จิญ (Pham Minh Chinh) ของเวียดนามกล่าวต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลยังคงยึดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่อย่างน้อย 8% ในปีนี้ แม้เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกและภาคธุรกิจเวียดนามโดยตรง

เขาระบุว่า รัฐบาลจะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อรักษาสมดุลทางการค้า โดยไม่ให้ตลาดอื่นเสียประโยชน์ พร้อมเดินหน้าต่อต้านการฉ้อโกงการค้าอย่างเข้มงวด ซึ่งเวียดนามซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ กว่า 30% ของ GDP กำลังเผชิญแรงกดดันจากภาษีนำเข้าสูงถึง 46%

แม้ GDP ไตรมาสแรกจะขยายตัวเพียง 6.93% ต่ำกว่าช่วงปลายปีที่แล้ว แต่เวียดนามยังตั้งเป้าการขยายตัวสองหลักในระยะยาว และเร่งส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยี เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างรถไฟความเร็วสูงและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม ดัชนีภาคการผลิตล่าสุดชี้ว่ากิจการโรงงานหดตัวต่ำสุดในรอบเกือบหนึ่งปี ขณะที่รัฐบาลอยู่ภายใต้แรงกดดันทั้งจากความล่าช้าในการเติบโตและความเสี่ยงสงครามการค้า ซึ่งทำให้ต้องเร่งใช้มาตรการดูแลเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพภายในประเทศควบคู่กันไป

เวียดนามปฏิวัติการเดินทางและธุรกิจด้วย ‘วีซ่าทองคำ’ 10 ปี เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว-ดึงดูดนักลงทุน-ตั้งเป้าเป็นจุดหมายถาวรแห่งใหม่

รัฐบาลเวียดนามประกาศแผนเปิดตัวโครงการ 'วีซ่าทองคำ' ระยะเวลา 10 ปี เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ โดยตั้งเป้าเปลี่ยนประเทศจากจุดหมายปลายทางชั่วคราวให้กลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่เดินทางมาเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยสำคัญคือการเพิ่มเที่ยวบินตรงจากเมืองหลักของอินเดีย เช่น เดลี มุมไบ และเจนไน ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นปลายทางที่เข้าถึงง่ายและน่าสนใจยิ่งขึ้น

ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตเร็ว ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ และค่าครองชีพที่เหมาะสม เวียดนามกลายเป็นจุดหมายใหม่ที่ได้รับความสนใจจากสตาร์ตอัป นักลงทุนชาวอินเดีย โดยเฉพาะกลุ่มคนดิจิทัลในอุตสาหกรรมไอที พลังงานหมุนเวียน และการท่องเที่ยว

เวียดนามยกระดับกระบวนการขอวีซ่าให้เป็นระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะสำหรับนักเดินทางชาวอินเดีย พร้อมเสนอไลฟ์สไตล์ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมและความทันสมัย เมืองใหญ่อย่างโฮจิมินห์ ฮานอย และดานัง กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัย เข้าถึงได้ และน่าอยู่อย่างแท้จริง

นายกฯ อิ๊งค์ เตรียมบินไป!! ‘ฮานอย’ ประชุมร่วม ‘ไทย – เวียดนาม’ แถลงการณ์ร่วม ยกระดับ!! ความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์

(11 พ.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่กรุงฮานอยอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในวันพุธและพฤหัสบดี ที่ 15–16 พฤษภาคม 2568 เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไทย–เวียดนามสู่ระดับ “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งเป็นระดับความสัมพันธ์สูงสุดที่เวียดนามมีต่อประเทศคู่เจรจา โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมการประชุม(JCR) ไทย–เวียดนาม ครั้งที่ 4 กับนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และ คณะเพื่อตอกย้ำบทบาทสำคัญของไทยในภูมิภาคและความไว้วางใจเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ
ในการเยือนครั้งนี้ ไทย–เวียดนามจะลงนามเอกสารสำคัญ ประกอบด้วยแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์ไทย–เวียดนามสู่หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในการเพิ่มพูนความร่วมมือใน 3 เสาหลัก คือ 
1.การเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืน 
1.1 ด้านการเมือง การป้องกันประเทศ และความมั่นคง อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ และยาเสพติด 
1.2 ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในเรื่องสันติภาพ ความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมถึงการตอบสนองต่อความท้าทายของโลก

2.การเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 
2.1 ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ เพิ่มพูนความร่วมมือด้านแรงงาน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม 
2.2 การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานราก SMEs การเติบโตสีเขียว โดยส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การผลิตและห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงตลาดของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นซึ่งกันและกัน และส่งเสริมความเชื่อมโยงเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล 

3.การเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน 
3.1 ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการเชื่อมโยงสตาร์ทอัพ การทำธุรกรรมข้ามพรมแดน รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ด้าน AI ดิจิทัล และความมั่นคงทางไซเบอร์ 
3.2 ส่งเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประชาชน ผ่านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว และการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างจังหวัดของทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทย กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (ฉบับปรับปรุง) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า อำนวยความสะดวกทางการค้า การขจัดอุปสรรคที่มิใช่ภาษี การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร การค้าชายแดน และการลงทุนร่วมระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศความตกลงฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างยั่งยืนและสมดุล

สำหรับบันทึกความเข้าใจฉบับปรับปรุงยังครอบคลุมความร่วมมือด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจสีเขียว พร้อมส่งเสริมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Committee on Trade: JTC) และจัดตั้งคณะทำงานร่วมในระดับเจ้าหน้าที่ เพื่อผลักดันโครงการความร่วมมือเชิงรูปธรรม และการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อกังวลทางการค้าอย่างสม่ำเสมอ

ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองโลก ขณะนี้ไทยและเวียดนามมีเป้าหมายที่จะกระชับความสัมพันธ์ มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการค้า รวมไปถึงการผนึกกำลังอาเซียน เพื่อร่วมกันเผชิญหน้ากับการค้าโลกที่อาจจะชะลอตัวจากมาตรการภาษีนำเข้าระดับสูงของสหรัฐฯ ด้วย

มหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอย ปรับหลักสูตรใหม่ เรียนจบ ป.ตรี ใน 3 ปี และโอนตรงสู่ ป.เอก ได้

(14 พ.ค. 68) มหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอย เตรียมนำร่องโครงการลดระยะเวลาเรียนปริญญาตรีจาก 4 ปี เหลือ 2.5–3 ปี เริ่มปี 2025 เป็นต้นไป พร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีศักยภาพสูงสามารถโอนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกได้โดยตรง โครงการนี้มีเป้าหมายในการผลิตบุคลากรคุณภาพสูง สนับสนุนยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามมาตรฐานสากล

สำหรับหลักสูตรใหม่นี้จะยืดหยุ่นขึ้น โดยกำหนด 3 ภาคการศึกษาต่อปี เพื่อให้นักศึกษาสามารถปรับความก้าวหน้าในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง นักศึกษาที่มีผลการเรียนโดดเด่นสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 2.5 ปี โดยจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มวิจัยที่นำโดยอาจารย์ เพื่อเตรียมความพร้อมในสายวิชาการระยะยาว

ด้านโครงสร้างการเรียนการสอนจะบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ พร้อมเปิดสอนหลักสูตรเฉพาะทางและวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ ขณะที่วิชาพื้นฐานยังคงสอนเป็นภาษาเวียดนาม โดยรูปแบบการเรียนรู้จะหลากหลาย ทั้งการเรียนในห้องเรียน ออนไลน์ กลุ่มย่อย และการศึกษารายบุคคล

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระยะยาวของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีโรงเรียนในเครือ 12 แห่ง และมีนักศึกษามากกว่า 20,000 คนในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าผลิตบัณฑิตคุณภาพสูง 500–1,000 คนต่อปีภายใต้ระบบการศึกษารูปแบบใหม่ที่เทียบเท่ามาตรฐานนานาชาติ

‘แพทองธาร – นายกฯ เวียดนาม’ ร่วมเปิดงานใหญ่ แสดงวิสัยทัศน์ มุ่งเน้นเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ ในทุกระดับ

(17 พ.ค. 68) นายฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม พร้อมด้วยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ได้เข้าร่วมงาน Vietnam–Thailand Business Forum 2025 พร้อมทั้งแสดงวิสัยทัศน์ มุ่งเน้นเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศในทุกระดับ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ นโยบาย และประชาชน ณ โรงแรม Melia กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวานนี้ (16 พ.ค. 68) 

ทั้งนี้ คุณธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ SVP & General Manager ธนาคารกรุงเทพ สาขาเวียดนาม ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงเสวนา ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูง ตัวแทนภาคเอกชนจากทั้งประเทศไทย และเวียดนาม อาทิ WHA Amata FPT และ Vietjet มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิสัยทัศน์ และแนวทางการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว เพื่อร่วมกันยกระดับเศรษฐกิจไทย–เวียดนาม สู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top