Monday, 19 May 2025
เลือกตั้ง

‘เครือข่ายบ้านใหญ่’ กวาดเรียบ!! สนามเลือกตั้ง ‘นายก อบจ.’ 3 จังหวัด ‘อยุธยา-ชัยนาท-พะเยา’ ทิ้งห่าง ‘ก้าวไกล’ ขาดลอย

(5 ส.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานภาพรวมผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ใน 3 จังหวัด คือ จ.พระนครศรีอยุธยา , พะเยา และชัยนาท เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า ผู้สมัครในเครือข่ายบ้านใหญ่ทั้ง 3 จังหวัดกวาดชัยชนะทั้งหมด โดยเอาชนะผู้สมัครนายก อบจ. ที่แม้จะไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคก้าวไกล หรือคณะก้าวหน้าอย่างเป็นทางการ แต่พบว่าบางคนเป็นอดีตผู้สมัคร สส. เขต พรรคก้าวไกล และบางคนได้รับการสนับสนุนจาก สส. เขตของพรรคก้าวไกล

ทั้งนี้ ในส่วนของ จ.พระนครศรีอยุธยา ชัยชนะตกเป็นของ ‘ซ้อสมทรง’ หรือนางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล อดีตนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา 5 สมัย โดยชนะ ‘นายกอุ๊’ หรือนายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ อดีตนายก อบต.บ้านใหม่ ที่ลงสมัครในนามกลุ่มก้าวใหม่อยุธยาแบบขาดลอย โดยผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการในช่วงค่ำวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา นางสมทรง ได้คะแนน 245,457 คะแนน ทิ้งห่างคู่แข่งนายวัชรพงศ์ ที่ได้แค่ 114,063 คะแนน โดยในการหาเสียงที่ผ่านมา นายวัชรพงศ์ ใช้สัญลักษณ์สีส้มในการหาเสียง

ส่วน จ.ชัยนาท ชัยชนะตกเป็นของ นางจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา อดีตประธานสโมสรชัยนาท ฮอร์นบิล ที่บ้านใหญ่ตระกูลนาคาศัยเป็นเจ้าของ โดยเป็นพี่สาวนายอนุชา นาคาศัย สส.ชัยนาท อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยนางจิตร์ธนา เอาชนะ นายสุทธิพจน์ เชื้ออภัยวงษ์ อดีตผู้สมัคร สส.ชัยนาท เขต 2 พรรคก้าวไกล โดยผลเลือกตั้งออกมาอย่างไม่เป็นทางการ นางจิตร์ธนา คว้าชัยชนะได้คะแนนรวม 62,860 คะแนน ส่วนอันดับ 2 คือ นายสุทธิพจน์ เชื้ออภัยวงษ์ ที่ได้ 44,690 คะแนน

ขณะที่ทางด้าน จ.พะเยา พื้นที่การเมืองสำคัญของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยนายธวัช สุทธวงค์ คนสนิทของนายอัครา พรหมเผ่า น้องชายของ ร.อ.ธรรมนัส ชนะเลือกตั้งแบบขาดลอย

ทั้งนี้ คะแนน ณ เวลา 23.02 น.วันที่ 4 ส.ค.67 พบว่า นายธวัช ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ในสายของ ร.อ.ธรรมนัส มีคะแนนสูงสุด 174,669 คว้าชัยชนะตามคาด ส่วนคู่แข่ง คือ นายชัยประพันธ์ สิงห์ชัย ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล มีเพียง 35,172 คะแนน 

'พิธา' ปลอบ!! 'ปชน.' สู้ต่อสักวันต้องเป็นของเรา พร้อมยินดีกับ 'กำนันตุ้ย' อ้อน!! หาเสียงราชบุรีหนนี้ ทำให้รักคนที่นี่มากขึ้น ขอกลับไปเยี่ยมอีกบ่อยๆ

(2 ก.ย. 67) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคและประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หลังพรรคประชาชนแพ้การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี ว่า...

ขอขอบพระคุณพี่น้องชาวราชบุรีทุกท่านสำหรับทุกคะแนนเสียงที่มอบให้พรรคประชาชนครับ การเลือกตั้งย่อมมีทั้งแพ้และชนะเป็นธรรมดา เราขอน้อมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อเรียนรู้และพัฒนาการทำงานในอนาคต และจะสู้ต่อไปโดยไม่ท้อแท้ ขอบคุณผู้สมัคร ทีมงานในจังหวัด และอาสาสมัครทุกท่านที่ทุ่มเทเต็มที่ ขออย่าได้เสียกำลังใจนะครับ พักผ่อนให้เต็มที่ หายเหนื่อยแล้วมาร่วมกันสู้ต่อเพื่อชาวราชบุรี สักวันหนึ่งจะต้องเป็นวันของเรา ผมขอเป็นกำลังใจให้

ส่วนตัวแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สูญเปล่าแน่นอน ประสบการณ์การหาเสียงสนุกมาก! และทำให้ผมรู้จักและรักราชบุรีมากขึ้น ขอกลับไปเยี่ยมอีกบ่อย ๆ นะครับ

คืนนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับคุณวิวัฒน์และทีมงานสำหรับความสำเร็จ และขอให้ท่านทำงานลุล่วงไปได้ด้วยดีเพื่อความอยู่ดี กินดีของประชาชนตามที่ตั้งใจไว้ครับ

เปิดเหตุผล!! ทำไมเลือกตั้งท้องถิ่น 'ส้ม' มักปราชัย สวนทางเลือกตั้งใหญ่ เพราะท้องถิ่นต้องวัดกันตัวต่อตัว ส่วนเวทีใหญ่พรรคอื่นตัดแต้มกันเอง

(9 ก.ย. 67) นายนิธิพัฒน์ พันธุ์ธุมจินดา นักธุรกิจ ฟาร์มปลาสวยงาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Nitipat Bhandhumachinda’ ระบุว่า...

มีเพื่อนถามผมว่าทำไม พรรคสีส้มถึงชนะการเลือกตั้งใหญ่ แต่เลือกตั้งย่อย ๆ ที่ไหน ก็มักจะไม่ชนะ

ผมก็เล่าให้ฟังว่า สมัยผมเรียนที่เกาหลีนั้น มีการเลือกตั้งผู้นำประเทศครั้งหนึ่ง ซึ่งเบอร์ ๑ นั้น เป็นผู้สืบทอดอำนาจจากผู้นำคนเก่าที่ใครต่อใครก็ไม่ชอบหน้า

เรียกว่างานนี้ดูยังไง ๆ ฝ่ายค้านที่มีตัวหลัก ๆ สองคนนั้น ส่งคนไหนมาแข่งก็ชนะแบเบอร์แน่ ๆ

แต่ก็ไม่รู้ฝ่ายค้านสองคนนั้นเอาความมั่นใจมาจากไหน ที่ดันแย่งกันลงแข่งทั้งคู่ เป็นผู้สมัคร เบอร์ ๒ กับเบอร์ ๓ โดยต่างก็มั่นใจว่าตนจะได้ชัยชนะแน่นอน

ผลก็ออกมาอย่างที่ผมคาดเอาไว้ คือคะแนนเบอร์ ๒ กับเบอร์ ๓ นั้น ถ้าเอามารวมกันก็ชนะเบอร์ ๑ แบบไม่ต้องลุ้น

แต่ผลสรุปแล้ว เบอร์ ๑ ได้เป็นผู้นำประเทศ เพราะคะแนนแยกของทั้งเบอร์ ๒ และเบอร์ ๓ ที่ดันแข่งกันเองนั้น สู้คะแนนที่ไม่ต้องแข่งกับใครของเบอร์ ๑ ไม่ได้ทั้งคู่

การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมาของประเทศเรานั้น ขณะที่พรรคการเมืองทั้งหลาย ยังเล่นการเมืองแบบเดิม ๆ ส่งผู้แข่งขันไปแย่งคะแนนกันเหมือนเดิม ๆ และ เห็นหน้าก็รู้ว่า คงไม่มีเกมการเมืองใหม่ ๆ อะไรให้เล่นเลยนั้น

พรรคสีส้มเขามีฐานเสียงหลักของเขาที่อยากลองพรรคการเมืองใหม่ที่ไม่เหมือนการเมืองเดิม ๆ ไม่เคยต้องแย่งกับใคร และก็ไม่ได้มีพรรคไหนลงไปเเข่งขันแย่งฐานเสียงดังกล่าวนั้นตรง ๆ เลย

นั้นก็คือเหตุผลหลัก ๆ ที่ พรรคสีส้มได้คะแนนมากกกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ มัวแต่ตัดคะแนนกันเอง จนไปไม่เป็นกันสักพรรค

ส่วนในการแข่งขันการเมืองย่อยไม่ว่าจะเลือกตั้งซ่อม เลือกตั้ง อบจ. อะไรต่อมิอะไรนั้น

พรรคส้มมักเจอคู่แข่งแบบตัวต่อตัว ซึ่งคะแนนของส้มนั้น จริง ๆ ก็ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ เมื่อไม่มีการตัดคะแนนกันให้วุ่นวาย

พรรคส้มก็มักจะปราชัยด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้

ผมไม่ได้เชี่ยวทางการเมืองขนาดจะสอนใครว่า  พรรคการเมืองควรจะรวมพลังกันในการเลือกตั้งใหญ่ หรือ ควรจะมีพรรคการเมืองใหม่มาเบียดแย่งคะแนนจากฐานเสียงของพรรคส้ม

แต่ถ้าถามว่า ทำไม พรรคน้อยใหญ่ไม่ชนะพรรคส้มในการเลือกตั้งใหญ่คราวที่แล้ว

ก็จะหาเหตุผลได้ประมาณนี้นะครับ

'ดร.เสรี' ชี้ชัด!! แทบทุกพื้นที่คนไม่เอาพรรคส้มมีมากกว่าคนที่เอาพรรคส้ม สะท้อนสูตรการเมือง 1 ต่อ 1 ล้มพรรคส้มได้ แต่ถ้าเสียงแตก ‘ส้มจะชนะ’

(16 ก.ย. 67) ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสารโพสต์เฟซบุ๊ก ถึงผลการเลือกตั้งซ่อมสส.เขต 1 จังหวัดพิษณุโลกว่า…

เห็นชัดกันแล้วยังว่าถ้าหากพรรคส้มสู้กับฝ่ายตรงกันข้าม จะเป็นพรรคไหนก็แล้วแต่ พรรคส้มจะแพ้ในทุกพื้นที่

แต่หากพรรคต่าง ๆ ที่สู้กับส้มลงมาแข่งทุกพรรค แล้วแย่งคะแนนกันจนเสียงแตก พรรคส้มก็จะชนะ ทั้ง ๆ ที่พรรคตรงกันข้ามกับส้ม เอาคะแนนมารวมกันจะมากกว่าส้ม

แสดงว่าแทบทุกพื้นที่คนไม่เอาพรรคส้มมีมากกว่าคนที่เอาพรรคส้ม แต่คนกลุ่มนี้มีพรรคให้เลือกหลายพรรคที่แย่งคะแนนกัน

ตัวเลขก็ชัดขนาดนี้แล้วว่าสู้แบบ 1 ต่อ 1 ส้มแพ้ แต่ถ้าสู้แบบ 1 ต่อหลายพรรคที่แย่งคะแนนกัน ส้มจะชนะ

เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ มองคณิตศาสตร์การเมืองกันไม่ออกหรือไร เมื่อไรจะถอดบทเรียนกันออกมาสักที สู้กันแบบนี้ ระวังส้มจะครองเมือง

หรือมันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีที่พรรคต่าง ๆ ที่สู้กับส้มยอมกันไม่ได้ ถ้ายังคิดแบบนี้ เลือกตั้งคราวหน้าส้มมาแน่ ลองคิดอ่านกันหน่อยนะ จะสู้กับส้มย้งไง

คนที่ลงสมัครจะเข้ามาหาหัวหน้าพรรคแล้วบอกตัวเองมีฐานเสียงดีกันทั้งนั้น แล้วหัวหน้าพรรคก็เชื่อ หวังว่าจะชนะก็ส่งลงแข่งขัน

และต้องยอมรับว่าทุกคนที่บอกว่าตัวเองฐานเสียงดี มันก็ดีจริง ๆ แต่เมื่อฐานเสียงดีกันหลายคน คะแนนมันก็เลยแตก

สุดท้ายก็ต้องแพ้ส้มที่เสียงไม่แตก เมื่อเป็นเช่นนี้จะเปลี่ยนแนวทางสู้กันอย่างไร ถึงจะหยุดชัยชนะส้มให้ได้

รวมพรรคกันได้ไหม? ถอยให้กันได้ไหม? รู้ว่าลงไปก็สู้ไม่ได้ ลงไปก็ตัดคะแนนกันเปล่า ๆ ไม่ส่งในบางพื้นที่ได้ไหม

ได้แต่คิด แต่สิ่งที่คิดได้ คงไม่เกิดขึ้นอย่างที่คิด คงต้องทำใจยอมรับชัยชนะของส้ม เพราะพรรคที่สู้กับส้มทุกพรรคต่างมีศักดิ์ศรี

หัวหน้าพรรคทุกพรรคต่างก็อยากเป็นนายกรัฐมนตรียังยอมกันไม่ได้ เลยต้องตกที่นั่งผู้แพ้ไปด้วยกัน เศร้าจัง

‘ศรีลังกา’ จัดเลือกตั้ง หลังมีการประท้วงครั้งใหญ่ จากวิกฤติเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ ชี้!! ขับเคี่ยวสูสี ปชช. คาดหวังให้มีการปฏิรูป ฟื้นฟูประเทศ

(21 ก.ย.67) การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปของศรีลังกา ถือเป็นการลงประชามติที่สำคัญต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ มุ่งหวังผลักดันการเดินหน้าการฟื้นฟูประเทศ

ประชาชนศรีลังกายังคงดิ้นรน เพื่อหารายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากการขึ้นภาษี รวมถึงการตัดเงินสนับสนุนและสวัสดิการรัฐ

นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่า ความกังวลทางเศรษฐกิจศรีลังกาได้เป็นประเด็นสำคัญอันดับแรกของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการแข่งขันชิงประธานาธิบดีที่ขับเคี่ยวกันอย่างสูสี

นักวิจัยสถาบัน Observer Research Foundation ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอินเดียกล่าวกับบีบีซีว่า “เงินเฟ้อของศรีลังกาที่พุ่งสูงขึ้น ค่าของชีพที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสถานการณ์ความยากจน ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสิ้นหวังจะหาทางออก เพื่อรักษาระดับคุณภาพชีวิตให้คงที่”

หนึ่งในผู้ชิงชัยคือ รานิล วิกรมสิงเห วัย 75 ปี ประธานาธิบดีศรีลังกา กำลังหาเสียงหวังอยู่ในตำแหน่งต่ออีกสมัย ซึ่งเมื่อสองปีก่อน วิกรมสิงเหได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐสภา หนึ่งสัปดาห์ภายหลังจากอดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ถูกขับพ้นตำแหน่ง

บีบีซีรายงานว่า หลังวิกรมสิงเหเข้ารับตำแหน่งไม่นาน ก็ได้ปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงที่ยังคงเคลื่อนไหว ทั้งนี้เขาถูกกล่าวหาว่าปกป้องครอบครัวราชปักษาจากการถูกดำเนินคดี ซึ่งวิกรมสิงเหได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาตลอด

ขณะที่ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกาที่น่าจับตามองอีกคนคือ นักการเมืองฝ่ายซ้าย อนุรา กุมารา ดิสซานายาเก ได้ชูนโยบายต่อต้านการทุจริต ซึ่งทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามการชิงชัยครั้งนี้ มีผู้สมัครจำนวนมากกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ของศรีลังกา หรือประมาณ 30 คน แต่จะมีเพียง 4 คนเท่านั้นที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ

นอกจากวิกรมสิงเหและดิสซานายาเกแล้ว ยังมีผู้นำฝ่ายค้านอย่างซาจิด เปรมทาสา และหลานชายของอดีตประธานาธิบดีนามาล ราชปักษา วัย 38 ปี

การนับคะแนนผลการเลือกตั้งจะเริ่มขึ้นหลังปิดหีบลงคะแนนแล้วในเวลา 16.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ของวันนี้ ซึ่งคาดว่าจะยังไม่ทราบผลเลือกตั้งที่ชัดเจนไปจนกว่าจะถึงเช้าวันอาทิตย์

ขอนแก่น - รับสมัคร 'นายกอบจ.ขอนแก่น' วันแรกคึกคัก 'แชมป์เก่า' ปะทะ 'อดีต สส.พปชร.' 

เปิดรับสมัครชิงเก้าอี้นายก อบจ.ขอนแก่น วันแรก พงษ์ศักดิ์ 'แชมป์เก่าหลายสมัย' จับได้หมายเลข 2 ขณะที่ ประธานสโมสรขอนแก่น ยูไนเต็ด เดินทางมาสมัคร จับได้หมายเลข 1 

เมื่อวานนี้ เวลา 08.30 น. (23 ก.ย.67) ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่นได้รายงาน วันแรกของการเปิดรับสมัคร ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ขอนแก่น ที่ หอประชุม องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ว่าที่ร้อยเอก พงเจตน์ พรกุณา ปลัด อบจ.ขอนแก่น ในฐานะ ผอ.กกต. อบจ.ขอนแก่น เป็นประธานในการรับสมัคร โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาองค์การ บริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ตลอดจนกองเชียร์ของทั้งสองฝ่าย ร่วมมาให้กำลังใจว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ทั้งสองคน กันอย่างคับคั่ง

ผู้สื่อข่าวรายงาน ด้วยว่า 'ดร.พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์' อดีตแชมป์เก่า ลงรักษาเก้าอี้ ขณะที่ 'นายวัฒนา ช่างเหลา' อดีต สส.ขอนแก่นลงชิงเก้าอี้ ซึ่งการเปิดรับสมัครชิงเก้าอี้นายก อบจ.ขอนแก่น วันแรกคึกคัก ดร.พงษ์ศักดิ์ แชมป์เก่า นายกอบจ.ขอนแก่น หลายสมัย  จับได้หมายเลข2 ขณะที่ นายวัฒนา ช่างเหลา ประธานสโมสรขอนแก่น ยูไนเต็ด เดินทางมาสมัคร จับได้หมายเลข 1 

สำหรับการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ขอนแก่น ในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายบหลังการตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น (อบจ.ขอนแก่น) ของ 'ดร.พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์' นายก อบจ.ขอนแก่น เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ตำแหน่งนายก อบจ.ขอนแก่น เป็นอันว่างลง และ รองนายก อบจ.ขอนแก่น ต้องพ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย

การเปิดรับสมัครเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น กรณีแทนตำแหน่งที่ว่าง ระหว่างวันที่ 23 – 27 ก.ย.2567 เริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. และจะทำการเลือกตั้งนายกฯ อบจ.ขอนแก่น ในวันที่ 3 พ.ย. 2567 ที่จะถึงนี้

ต่อจากนั้นในเวลา 10.00 น.ที่ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นายวัชระ สีสาง ผู้อำนวยการคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดขอนแก่น และว่าที่ร้อยเอก พงเจตน์ พรกุณา ปลัด อบจ.ขอนแก่น ในฐานะ ผอ.กกต. อบจ.ขอนแก่น ดำเนินการประชุมเตรียมการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น แทนตำแหน่งที่ว่างลง หลังจากที่ นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ ลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระ 3 เดือน โดยเป็นการประชุมลับห้ามสื่อมวลชนและบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องร่วมรับฟัง

ซึ่งแหล่งข่าว เปิดเผยว่าในปี 2563 ได้มีการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากครบวาระ ซึ่งมีผู้สมัครจำนวน 10 คน ในครั้งนั้น ดร.พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ อดีตนายก อบจ.ขอนแก่น  สามารถชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น สมัยที่ 6 โดยได้คะแนนถึง 376,460 คะแนน ทิ้งห่างคู่แข่ง กว่าแสนคะแนน ซึ่งในครั้งนั้น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(ส. อบจ.) ทั้ง 42 เขต เป็นคนของบ้านใหญ่ และเป็นคนหน้าใหม่เข้ามายึดครอง

ตัวชี้วัด ในการที่จะเป็นผู้ชนะนั่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น นั่นคือ จำนวนเสียงสนับสนุนของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และมีข้อสงสัย ต่อกรณีที่ นายวัฒนา ช่างเหลา เลขานุการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี พรรคภูมิใจไทย 

ซึ่งมีบิดาคือ นายเอกราช ช่างเหลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น เขต 4 พรรคภูมิใจไทย ซึ่งจะต้องขึ้นฟังคำพิพากษาของศาล ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่26 มีนาคม 2567 กำหนดให้จำเลยคือนายเอกราช ช่างเหลา นำหลักทรัพย์มูลค่า130 ล้านบาท มาวางประกันหรือนำเงินจำนวน 100 ล้านบาท ชำระค่าเสียหายให้กับสหกรณ์ฯ 

ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 ปรากฏว่าบุคคลลลดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการ ศาลจังหวัดขอนแก่น นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 7 ตุลาคม เวลา 14.39 น. ที่ได้มาเปลี่ยนสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย ในการประกาศตัวครั้งล่าสุด ซึ่งก็สร้างความงุนงง เพราะในเขตที่ 4 จังหวัดขอนแก่น เป็นพื้นที่ของนางมุกดา พงษ์พงศ์สมบัติ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย 

ซึ่งพ่ายแพ้ให้กับนายเอกราช ช่างเหลา ซึ่งสวมเสื้อพรรคภูมิใจไทย เมื่อครั้งเลือกตั้งที่ผ่านมา

‘อนุรักษ์’ โอด!! ป้ายหาเสียง ถูกทำลายหลายจุด วอน!! ‘เจ้าหน้าที่’ ช่วยดูแล เลือกตั้ง ‘อบจ.ตาก’

(5 ธ.ค. 67) นางอัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ ลูกสะใภ้ ของนายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกุลกิจ อดีตนายกอบจ. ต้องปะทะกับค่ายพลังประชารัฐ ผู้สมัครหมายเลข2 พตท.อนุรักษ์ จิรจิตร อดีต ผู้ช่วยรมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สมัยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ที่ได้ พรรคประชาชน ตบเท้ามาร่วม เดินสาย ร่วมรบเพื่อหวังให้เมืองตาก เปลี่ยนเป็นเมืองที่พัฒนา และทันสมัย ล่าสุด ก่อนการเลือกตั้งโค้งสุดท้ายพบว่ามีการทำลายป้ายผู้สมัครกันในหลายพื้นที่ เช่น อำเภอ พบพระ อำเภอ อุ้มผาง  

วอนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ และดูแลด้วยเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม

สื่อนอกปูดรัฐบาลทหารเตรียมจัดเลือกตั้งปีหน้า ส่ง 'ตาน ฉ่วย' หารือคุยรัฐบาลไทยก่อนถกมาเลย์

(19 ธ.ค. 67) ช่วงระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคมนี้ กระทรวงการต่างประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคเกี่ยวกับเมียนมาจำนวน 2 การประชุมด้วยกัน โดยการประชุมแรกมีชาติเพื่อนบ้านของเมียนมาเข้าร่วมรวมถึงจีน บังกลาเทศและอินเดีย ส่วนอีกการประชุมเป็นการประชุมในกรอบอาเซียน

รอยเตอร์รายงานว่า ในการประชุมดังกล่าวรัฐบาลทหารเมียนมาได้ส่งนาย ตาน ฉ่วย มาเข้าร่วมประชุมที่กรุงเทพฯในวงการประชุมทั้งสองวัน โดยแหล่งข่าวทางการทูตเผยว่า เมียนมามีแผนจะจัดการเลือกตั้งในประเทศขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมของรัฐบาลทหารผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้

ความคืบหน้าดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ปี 2025 มาเลเซียเตรียมรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า ซึ่งอาเซียนยังล้มเหลวในการผลักดันให้เมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อลดความขัดแย้งภายในประเทศที่เกิดขึ้นตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารในปี 2021 ส่งผลให้เกิดการสู้รบอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ

แม้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและแรงกดดันจากหลายฝ่าย แต่รัฐบาลทหารเมียนมายังคงเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในปี 2025 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสร้างภาพทางการเมือง

จีนซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมา ได้แสดงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการเลือกตั้งปี 2025 ขณะที่ผู้นำไทยเรียกร้องให้มีการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางขึ้นกับเมียนมา

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือด้านความมั่นคงชายแดนและอาชญากรรมข้ามชาติ โดยสมาชิกอาเซียนจะพบกันเพื่อพิจารณาฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งถือเป็นแผนสันติภาพสำหรับวิกฤตเมียนมา

นอกจากนี้ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า ได้แต่งตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวด้านอาเซียน เนื่องจากมีประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในเมียนมา ซึ่งถือเป็นความพยายามที่เมียนมาหารือกับรัฐบาลไทยก่อนที่จะหารือกับรัฐบาลมาเลเซียซึ่งจะเป็นเจ้าภาพอาเซียน

ทั้งนี้ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่าการประชุมครั้งนี้เต็มไปด้วยความตึงเครียดและขาดความโปร่งใส เนื่องจากกลุ่มกบฏในเมียนมาไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมวงหารือ ซึ่งอาจทำให้การเจรจาแก้ไขปัญหายุ่งยากมากขึ้น

เชียงใหม่ - บรรยากาศรับสมัครเลือกตั้ง นายกอบจ.เชียงใหม่ คึกคักท่ามกลางกองเชียร์ ที่มาให้กำลังใจผู้สมัครตั้งแต่เช้า 

(25 ธ.ค. 67) การรับสมัคร นายก อบจ.เชียงใหม่  และสมาชิก ส.อบจ เชียงใหม่ วันแรกเป็นไปด้วยความคึกคัก ท่ามกลางบรรดากองเชียร์ของผู้สมัครแต่ละพรรคที่มาส่งแรงใจให้ผู้สมัครกันตั้งแต่เช้า โดยวันแรกมีว่าที่ผู้สมัครนายก  3 คน  ขณะที่ ผอ.กกต.เชียงใหม่ ตั้งเป้ามีผู้มาใช้สิทธิ์ 75 % 

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งใช้เป็นสถานที่รับสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ วันแรกของการรับสมัคร บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก ท่ามกลางบรรดากองเชียร์ของแต่ละพรรคที่มาคอยให้กำลังใจผู้สมัครตั้งแต่เช้า 

นายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร แชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทย และ นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ จากพรรคประชาชน มาถึงที่สมัครพร้อมกันก่อนเวลา 08.30 น. ซึ่งตกลงกันไม่ได้ จึงได้มีการจับสลากหมายเลขสมัคร   ปรากฏว่านายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร ได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครหมายเลข 2, นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครหมายเลข 1 และผู้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 42 เขต ครบทั้ง 2 พรรค และพลตรี ดร.พนม ศรีเผือด ผู้สมัครอิสระ ได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครหมายเลข 3

โดยหลังเสร็จสิ้นการสมัครเรียบร้อยแล้ว ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่แต่ละรายได้มาพบปะบรรดากองเชียร์ และผู้สนับสนุน ที่มารอต้อนรับ ท่ามกลางเสียงเชียร์ดังสนั่น รวมถึงลงพื้นที่พบปะประชาชน ออกหาเสียง บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก เป็นอย่างมาก

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ.เชียงใหม่ หมายเลข 2 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า
การเลือกตั้งนายกอบจ.เชียงใหม่ ครั้งนี้มีความมั่นใจ 100%ในผลงานเพราะตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาได้สร้างผลงานและทำงานอย่างเต็มที่ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ให้พี่น้องประชาชนนำไปประกอบการพิจารณาว่าควรจะมาเป็นนายกอบจ.เชียงใหม่ สมัยที่ 2 ต่ออีกหรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายในขณะนี้ได้ไม่เกิน 2 สมัย มีความมั่นใจในตัวเองและทีมงาน ทั้ง ทีม ส.อบจ.ลงครบทุกเขต 42 เขต 25 อำเภอ
    
ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจะมาเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้ผมด้วย ซึ่งการเลือกตั้งนายกอบจ.เชียงใหม่ครั้งก่อนอดีตนายกฯทักษิณอยู่ต่างประเทศก็ใช้วิธีวิดีโอคอลมาช่วยหาเสียงให้ แต่ครั้งนี้อดีตนายกฯทักษิณ จะมาขึ้นเวทีพบปะพี่น้องชาวเชียงใหม่ในทุกอำเภอ เชียงใหม่เป็นเมืองหลวงของพรรคเพื่อไทย และอดีตนายกฯทักษิณ สร้างผลงานไว้มากมายจึงทำให้ผมมั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์ นายพิชัย กล่าว    

ประกอบกับกาคเลือกตั้งครั้งก่อนได้คะแนน 402,179 คะแนน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยผลงานที่ทำมาตลอด 4 ปีที่ชาวเชียงใหม่เห็นเป็นที่ประจักษ์จึงทำให้มั่นใจว่าครั้งนี้
จะได้คะแนนเลือกตั้งตามทึ่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ 6 แสนคะแนน อยากให้เป็นประวัติศาสตร์การเลือกตั้งท้องถิ่น
ของอบจ.เชียงใหม่ 

เพราะก่อนนั้นในปี 2551-2557 ตนเป็นสมาชิกวุฒิสภา และมาลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็น นายกอบจ.เชียงใหม่ 4 ปี ลงพื้นที่ทุกอำเภอ อีกทั้งส.อบจ.เชียงใหม่ก็เข้มแข็ง มีจิตอาสาทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนต่อไป ซึ่งผลงานที่ชัดเจนเช่นการจัดสร้างสวนสาธารณะบนที่ดินการรถไฟ ซึ่งตอนที่เป็นนายกอบจ.เชียงใหม่ ได้ขอให้การรถไฟยกให้อบจ.เชียงใหม่ดูแลและจะมีการพัฒนาต่อไป 

รวมถึงสวนสาธารณะบริเวณด้านหลังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้พัฒนาให้เป็นสวนอบจ.เชียงใหม่เป็นสถานที่พักผ่อน ออกกำลังกายและนันทนาการ มีการจัดงาน Charming Chiang Mai ซึ่งขณะนี้ก็ยังจัดอยู่มีคนมาเที่ยวชมสวนดอกไม้กว่า 3 ล้านคนและมีโครงการในด้านสาธารณสุขจะสร้างโรงพยาบาลอบจ.เชียงใหม่ ขนาด 200เตียง ซึ่งมีสถานที่ก่อสร้างและของบประมาณจากทางรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นรูปธรรมแล้วพร้อมที่จะเข้ามาสานงานต่อในเรื่องนี้ต่อไป

ด้านนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ.เชียงใหม่ หมายเลข1 จากพรรคประชาชน กล่าวว่า การลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องบอกว่ามั่นใจสูง เพราะว่าพี่น้องประชาชนเชียงใหม่ก็อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและมีประเด็นเรื่อง 3 ท. เรื่องความเท่าเทียมกัน ดูแลคนทุกคนทั่วถึง เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีอำเภอถึง 25 อำเภอ จากแม่อายจนถึงอมก๋อยใช้เวลาเกือบ 10ชั่วโมง ในการเดินทาง เพราะว่ามีความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนา ก็อยากจะลดช่องว่างนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในระดับท้องถิ่น
   
นายนพดล สุยะ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า วันแรกมีผู้สมัคร นายก อบจ.เชียงใหม่ 3 คน และสมาชิก อบจ. สังกัดพรรคเพื่อไทย ครบ 42 คน 42 เขต สมาชิก อบจ. สังกัดพรรคประชาชน ครบ 42 คน 42 เขตเรียบร้อยแล้ว ส่วนพรรคอิสระยังมาไม่ครบ 

และจังหวัดเชียงใหม่มี  25 อำเภอ ประชากร 1 ล้าน 7 แสนคน เป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 1,264,703 คน จำนวนครัวเรือน 559,541 ครัวเรือน มีหน่วยเลือกตั้ง 2,722 หน่วย 

คาดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 75 เปอร์เซ็นต์ โดยการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เพียง 72 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

‘อนุทิน’ หย่อนบัตรเลือกตั้ง อบจ. ที่บุรีรัมย์ ย้ำ!! เจ้าหน้าที่วางตัวเป็นกลาง ยัน!! ตัวเองมีพรรคพวก ลงหลายที่ ยังไม่เคยไปช่วยหาเสียง แม้แต่ที่เดียว

(1 ก.พ. 68) ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 7 เขตเลือกตั้งที่ 2 บริเวณศาลากลางหมู่บ้านไทยเจริญ หมู่ 4 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งที่มีรายชื่อของ นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และครอบครัว รวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อยู่ในหน่วยเลือกตั้งนี้ด้วย

หลังจากนายเนวินและครอบครัวได้เดินทางมาลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้งเสร็จสิ้น นายอนุทินก็เดินทางมาถึงหน่วยเลือกตั้งด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และลงคะแนนเลือกตั้งในเวลาประมาณ 10.30 น.

นายอนุทิน เปิดเผยหลังใช้สิทธิ ถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะวางตัวให้เป็นกลางมากน้อยแค่ไหน โดยระบุว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ ทั้ง กกต. เจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย เขารู้ว่านี่คือภารกิจหน้าที่ที่จะต้องสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้จะมีความรักความชอบผู้สมัครบ้างก็ไม่เป็นไร แต่เรื่องการปฏิบัติหน้าที่แล้วเป็นกลางแน่นอน แม้แต่ตัวเองตนไม่เคยไปยุ่ง

นายอนุทินกล่าวว่า มีพรรคพวกสมัครรับเลือกตั้งในหลายพื้นที่ก็ไม่เคยไปหาเสียงช่วย ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยได้ออกเป็นหนังสือไปแล้ว ให้ทุกส่วนทำตัวเป็นกลาง เท่าที่เห็นภาพแล้วเรียบร้อยดี รับรองไม่มีการซื้อเสียงหน้าหน่วยเลือกตั้ง

นายอนุทินกล่าวด้วยว่า กรณีที่มี สส.ของพรรคบางคนไปหาเสียงช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวกับพรรค


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top