เปิดเหตุผล!! ทำไมเลือกตั้งท้องถิ่น 'ส้ม' มักปราชัย สวนทางเลือกตั้งใหญ่ เพราะท้องถิ่นต้องวัดกันตัวต่อตัว ส่วนเวทีใหญ่พรรคอื่นตัดแต้มกันเอง

(9 ก.ย. 67) นายนิธิพัฒน์ พันธุ์ธุมจินดา นักธุรกิจ ฟาร์มปลาสวยงาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Nitipat Bhandhumachinda’ ระบุว่า...

มีเพื่อนถามผมว่าทำไม พรรคสีส้มถึงชนะการเลือกตั้งใหญ่ แต่เลือกตั้งย่อย ๆ ที่ไหน ก็มักจะไม่ชนะ

ผมก็เล่าให้ฟังว่า สมัยผมเรียนที่เกาหลีนั้น มีการเลือกตั้งผู้นำประเทศครั้งหนึ่ง ซึ่งเบอร์ ๑ นั้น เป็นผู้สืบทอดอำนาจจากผู้นำคนเก่าที่ใครต่อใครก็ไม่ชอบหน้า

เรียกว่างานนี้ดูยังไง ๆ ฝ่ายค้านที่มีตัวหลัก ๆ สองคนนั้น ส่งคนไหนมาแข่งก็ชนะแบเบอร์แน่ ๆ

แต่ก็ไม่รู้ฝ่ายค้านสองคนนั้นเอาความมั่นใจมาจากไหน ที่ดันแย่งกันลงแข่งทั้งคู่ เป็นผู้สมัคร เบอร์ ๒ กับเบอร์ ๓ โดยต่างก็มั่นใจว่าตนจะได้ชัยชนะแน่นอน

ผลก็ออกมาอย่างที่ผมคาดเอาไว้ คือคะแนนเบอร์ ๒ กับเบอร์ ๓ นั้น ถ้าเอามารวมกันก็ชนะเบอร์ ๑ แบบไม่ต้องลุ้น

แต่ผลสรุปแล้ว เบอร์ ๑ ได้เป็นผู้นำประเทศ เพราะคะแนนแยกของทั้งเบอร์ ๒ และเบอร์ ๓ ที่ดันแข่งกันเองนั้น สู้คะแนนที่ไม่ต้องแข่งกับใครของเบอร์ ๑ ไม่ได้ทั้งคู่

การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมาของประเทศเรานั้น ขณะที่พรรคการเมืองทั้งหลาย ยังเล่นการเมืองแบบเดิม ๆ ส่งผู้แข่งขันไปแย่งคะแนนกันเหมือนเดิม ๆ และ เห็นหน้าก็รู้ว่า คงไม่มีเกมการเมืองใหม่ ๆ อะไรให้เล่นเลยนั้น

พรรคสีส้มเขามีฐานเสียงหลักของเขาที่อยากลองพรรคการเมืองใหม่ที่ไม่เหมือนการเมืองเดิม ๆ ไม่เคยต้องแย่งกับใคร และก็ไม่ได้มีพรรคไหนลงไปเเข่งขันแย่งฐานเสียงดังกล่าวนั้นตรง ๆ เลย

นั้นก็คือเหตุผลหลัก ๆ ที่ พรรคสีส้มได้คะแนนมากกกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ มัวแต่ตัดคะแนนกันเอง จนไปไม่เป็นกันสักพรรค

ส่วนในการแข่งขันการเมืองย่อยไม่ว่าจะเลือกตั้งซ่อม เลือกตั้ง อบจ. อะไรต่อมิอะไรนั้น

พรรคส้มมักเจอคู่แข่งแบบตัวต่อตัว ซึ่งคะแนนของส้มนั้น จริง ๆ ก็ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ เมื่อไม่มีการตัดคะแนนกันให้วุ่นวาย

พรรคส้มก็มักจะปราชัยด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้

ผมไม่ได้เชี่ยวทางการเมืองขนาดจะสอนใครว่า  พรรคการเมืองควรจะรวมพลังกันในการเลือกตั้งใหญ่ หรือ ควรจะมีพรรคการเมืองใหม่มาเบียดแย่งคะแนนจากฐานเสียงของพรรคส้ม

แต่ถ้าถามว่า ทำไม พรรคน้อยใหญ่ไม่ชนะพรรคส้มในการเลือกตั้งใหญ่คราวที่แล้ว

ก็จะหาเหตุผลได้ประมาณนี้นะครับ