Saturday, 5 April 2025
เรื่องเล่าอ่านเพลิน

เอกลักษณ์แห่งรัชสมัย ตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ความหมายนัยแห่งองค์พระประมุข

‘ตราพระราชลัญจกร’ คือตราประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อเริ่มต้นรัชกาลในแต่ละรัชกาล เพื่อทรงใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานราชการแผ่นดิน 

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลปรากฏหลักฐานว่ามีใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระราชลัญจกรนี้ประกอบด้วยพระเอกลักษณ์อันเป็นนัยของแต่ละพระองค์ เป็นสัญลักษณ์อันแสดงถึงความเป็นพระประมุขของชาติ พระอิสริยยศ พระบรมเดชานุภาพ โดยผมได้เรียบเรียงมานำเสนอ เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ ก.ค. ๒๕๖๗ ไล่เรียงจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ดังนี้…

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นรูปปทุมอุณาโลมมีลักษณะเป็นม้วนกลม คล้ายลักษณะความหมายของพระปรมาภิไธยว่า ‘ด้วง’ จึงได้ใช้อักขระ ‘อุ’ เป็นมงคลแก่พระปรมาภิไธยอยู่กลางล้อมรอบด้วยกลีบบัว อันเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ ปรากฏมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสําหรับซื้อขาย ชําระหนี้ ผลิตออกใช้คราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๓๒๘ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๒

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นรูปครุฑยุตนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘ฉิม’ ตามความหมายของวรรณคดีไทย คือพญาครุฑในเทพนิยาย เทวะกำเนิดเป็นเทพองค์หนึ่งที่ทรงมหิทธานุภาพยิ่งแต่ยอมเป็นเทพพาหนะสำหรับพระนารายณ์ ปกติสถิตอยู่ ณ วิมานฉิมพลี ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาให้ใช้รูปครุฑยุตนาคเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์แทนพระปรมาภิไธย พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ประทับในต้นเอกสารสำคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ นอกจากนั้นยังปรากฏมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสำหรับซื้อขาย ชำระหนี้ เช่นเดียวกับในครั้งสมัยรัชกาลที่ ๑

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๓

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘ทับ’ หมายความว่า ที่อยู่หรือเรือน ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ แทนพระปรมาภิไธย ทรงใช้ประทับในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ และมีปรากฏใช้ประทับในเงินพดด้วงสําหรับซื้อขาย ชําระหนี้ เช่นเดียวกัน 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๔

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี ลายกลางพระราชลัญจกรเป็นรูป ‘พระมหาพิชัยมงกุฎ’ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘มงกุฎ’ ซึ่งเป็นศิราภรณ์สำคัญของพระมหากษัตริย์ อยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้างที่ขอบทั้งสองข้าง มีพานทองสองชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรมาจากฉายา ที่ทรงผนวชว่า ‘วชิรญาณ’ ส่วนสมุดตำรามาจากเหตุที่ได้ทรงศึกษาเชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์และดาราศาสตร์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ ปรากฏในเงินพดด้วงและเงินเหรียญกษาปณ์ นอกจากนี้ยังอัญเชิญพระราชลัญจกรไปสลักหรือปั้นนูนเพื่อประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่พระองค์ทรงสร้างหรือทรงปฏิสังขรณ์ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๕ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี กลางพระราชลัญจกรมีพระราชสัญลักษณ์สำคัญคือ ‘พระเกี้ยว’ คือพระจุลมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธย ‘จุฬาลงกรณ์’ ซึ่งแปลความหมายว่า ‘ศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ’ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้าง ที่ริมขอบทั้งสองข้างมีพานแว่นฟ้าวางพระแว่นสุริยกานต์ ข้างหนึ่งวางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์และสมุดตำรานั้นเป็นการเจริญรอยจำลองพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสมเด็จพระชนกนาถ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ ซึ่ง ‘ไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน’ เช่น ใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ ใช้ประทับในเงินพดด้วงและเหรียญกษาปณ์ ใช้เป็นตราหน้าหมวกทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่ได้ทรงสร้างและทรงปฏิสังขรณ์

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๖

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรี ประกอบด้วย ‘วชิราวุธ’ มีรัศมีเป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘วชิราวุธ’ ซึ่งหมายความถึง ‘ศัตราวุธของพระอินทร์’ เรียกว่าพระราชกัญจกรพระวชิระประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ตั้งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรกลีบบัวบริวาร ๒ ข้าง ในหลวงรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเครื่องหมายราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ ทั้งยังใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ ตราวชิรมาลา เหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ ทรงให้ใช้ปักบนธงเครื่องหมายประจํากองเสือป่า ปักผ้าทิพย์หน้ามุขเด็จพลับพลาที่ประทับในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ทั้งยังเชิญไปประดิษฐานที่หน้าบันโรงเรียนวชิราวุธ อีกด้วย

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๗

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นรูปกลมรีเรียกว่า ‘พระราชลัญจกรพระแสงศร’ รูปพาดพระแสงศร ๓ องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรอัคนีวาต พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศร ๓ องค์นี้เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ‘ประชาธิปกศักดิเดชน์’ ซึ่งมาจากความหมายของศัพท์วรรคสุดท้ายที่ว่า ‘เดชน์’ แปลว่า ‘ลูกศร’ ส่วนเบื้องบนมีรูปพระแสงจักรและพระแสงตรีศูลอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ มีบังแทรกตั้งอยู่ ๒ ข้าง กับมีลายกนกแทรกอยู่ระหว่างพื้น พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๘ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีลักษณะเป็นรูปกลมโดยมีรูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหนือบัวบาน หมายถึง ‘แผ่นดิน’ พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูมและมีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี มีแท่นรองรับตั้งฉัตรบริวาร ๒ ข้างเป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า ‘อานันทมหิดล’ ซึ่งแปลความหมายว่า ‘เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน’ พระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย โดยความยินดีของประชาชนชาวไทย เปรียบประหนึ่งพระองค์เป็น ‘พระโพธิสัตว์’ เสด็จฯ มาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร์ทั้งมวล พระราชลัญจกรนี้พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีลักษณะเป็นรูปกลมรีแนวตั้ง ประกอบด้วยรูป ‘พระที่นั่งอัฐทิศ’ ประกอบด้วยวงจักร ตรงกลางจักรมีอักขระเป็น ‘อุ’ หรือ ‘เลข ๙’ รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่ง อัฐทิศ แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน โดยมีวันพระบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่ง อัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปด นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภาแทนที่จะทรงรับจากราชบัณฑิต ซึ่งแตกต่างจากรัชกาลก่อน ๆ 
.
พระราชลัญจกรนี้พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตรานี้แก่สถาบันอุดมศึกษากลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ พร้อมพระราชทานนาม ‘ราชภัฏ’ แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งหมายถึง ‘คนของพระราชา’ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งในเครือ ทั้งยังมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นภาพประธานในตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ในรัชกาลของพระองค์ ได้แก่ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี และงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ อีกด้วย

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑๐

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๑๐ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ มีลักษณะเป็นรูปกลมรี โดยประกอบด้วย ‘พระวชิระ’ คือ เทพศาสตราของพระอินทร์ นอกจากนี้ยังแปลว่า ‘สายฟ้าและเพชร’ นอกจากนั้นยังมีแบบตามพระราชนิยมในรัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ โดยด้านบนของพระวชิระมี ‘พระเกี้ยว’ ซึ่งเป็นแบบตามพระราชนิยมในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวงแทนคำว่า ‘อลงกรณ์’ ซึ่งแปลว่า ‘เครื่องประดับ’ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย ‘มหาวชิราลงกรณ’ เปล่งรัศมีเป็นสายฟ้า ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า พร้อมด้วยฉัตรบริวารอยู่ทั้ง ๒ ข้าง 

พระราชลัญจกรนอกจากเนื้อหาตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้นยังเป็นเครื่องมงคลที่แสดงถึงพระราชอิสริยยศอีกด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในหมวดพระราชสิริซึ่งประกอบด้วย พระสุพรรณบัตร ดวงพระราชสมภพและ พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ซึ่งจะต้องเชิญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมกับเครื่องมงคลอื่น ๆ ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของพระราชลัญจกรประจำรัชกาลต่าง ๆ ในมหาจักรีบรมราชวงศ์

'หม่อมไกรสร' ไพรีผู้พินาศ ประมาทเพราะอำนาจ กำเริบน้อยไปถึงมาก พาชีวิตพลาดจนตัวตาย

หากจะพูดถึงเจ้านายที่ชีวิตขึ้นสุด ลงสุดคือ มีอำนาจวาสนาถึงสูงสุด มียศศักดิ์ได้ทรงกรมถึง 'กรมหลวง' ร่วงลงต่ำสุด จนถูกถอดยศเหลือแค่ 'หม่อม' ก่อนถูกประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก 'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร นั้นถือได้ว่าเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจบารมีมาก ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองเริ่มเข้ารูปเข้ารอย และเจ้านายเริ่มเข้ามามีบทบาทในการกำกับกิจการบ้านเมือง 

พระองค์เจ้าไกรสรเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ได้เข้ามามีส่วนในการจัดระเบียบพระสงฆ์ ส่งเสริมกิจการของพระพุทธศาสนา ได้กำกับ 'กรมสังฆการี' ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับการศึกษาและพระราชศรัทธาของพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นเจ้านายเพียงไม่กี่พระองค์ที่ได้สถาปนาให้ทรงกรม โดยแรกได้ทรงกรมที่ 'กรมหมื่นรักษ์รณเรศ' เคียงคู่กับพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ของรัชกาลที่ ๒ คือ 'กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์' ซึ่งกาลต่อมาก็คือ 'พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ ๓ เรียกได้ว่าทรงงานคู่กันมาตลอดรัชกาล แม้จะมีศักดิ์เป็น 'พระปิตุลา' หรือ อา ของรัชกาลที่ ๓ แต่ว่าทั้งสองพระองค์มีพระชันษารุ่นราวคราวเดียวกัน ร่วมงานกันมาอย่างยาวนานต่อเนื่องเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนยากของ ร.๓ เลยก็ว่าได้ 

พระองค์เจ้าไกรสร เป็นกำลังสำคัญในการก้าวขึ้นสู่พระราชอำนาชของรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ ๒ ทรงสวรรคต เพราะนอกเหนือจากบุญญาบารมีทางการเมืองของในหลวงรัชกาลที่ ๓ แล้ว พระองค์เจ้าไกรสรทรงเป็นโต้โผหลักร่วมกับเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ อาทิ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์, กรมหมื่นศักดิพลเสพ, เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค), พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค) ในการสนับสนุนให้ 'กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์' เป็นพระเจ้าแผ่นดิน และพยายามกำจัดคู่แข่งทางการเมือง โดยเฉพาะ 'วชิรญาณภิกขุ' หรือ 'เจ้าฟ้ามงกุฎ' ซึ่งกาลต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ให้ต้องพลาดจากราชบัลลังก์ ทั้งยังตั้งตัวเป็นศัตรูมาอย่างต่อเนื่องอย่างที่เรียกว่า 'จองเวร' ก็ว่าได้ 

เริ่มต้นความเป็น 'ไพรี' หรือ 'ศัตรู' ของพระองค์เจ้าไกรสรที่มีต่อ 'เจ้าฟ้ามงกุฎ' นั้นสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งเมื่อรัชกาลที่ ๒ ทรงสวรรคต เพราะพระองค์เป็นหนึ่งในโต้โผตามที่กล่าว ทั้งยังแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจน โดยเริ่มต้นจากการ 'หน่วงเหนี่ยว กักขัง' 'วชิรญาณภิกขุ' ซึ่งผนวชมาก่อนสวรรคตราว ๒ สัปดาห์ 

เมื่อรัชกาลที่ ๒ สวรรคต ก็ได้ลวงว่ามีพระบรมราชโองการให้เข้าเผ้า ฯ แต่เมื่อมาถึงพระราชวังหลวงกลับถูก 'กักบริเวณ' เพื่อจัดการเรื่องผู้สืบราชสมบัติเสร็จสิ้นเสียก่อน ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว แล้วแจ้งความจริงแก่พระองค์ (ดีที่พระองค์ทรงเตรียมใจด้วยทรงปรึกษาเรื่องการขึ้นครองราชย์มาก่อนแล้ว โดยเจ้านายผู้ใหญ่ที่นับถือทรงบอกกล่าวแล้วว่ายังมิควร เรื่องนี้จึงช่วยได้เยอะ) 

จากนั้นเมื่อทรงทราบทุกเรื่องแจ้งตลอดแล้วจึงได้เข้าถวายบังคมพระบรมศพ แต่ก็ทรงโดนพระองค์เจ้าไกรสรเข้าประกบพร้อมทรง 'ข่มขู่' จาก 'บันทึกความทรงจำ' พระยาสาปกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ระบุไว้ว่า “พระจอมเกล้าฯ เสด็จเข้าไป พอเห็นสวรรคตแล้วก็ทรงพระกรรแสงโฮขึ้น หม่อมไกรสรก็เข้าไปกอดไว้แล้วคลําดู ดูที่จีวรกลัวจะซ่อนพระแสงเข้าไป พระจอมเกล้าฯ ก็ตกพระทัยรับสั่งว่าขอชีวิตไว้อย่าฆ่าเสียเลย พระนั่งเกล้าฯ รับสั่งว่าท่านอย่ากลัว ไม่มีใครทําอะไรหรอกอย่าตกพระทัย พี่น้องกันทั้งนั้น ทําอย่างไรได้เวลานั้นโดยท่านตกพระทัย พระบังคลไหลออกมาเปียกสบงเป็นครึ่งผืน” 

นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอย่างยาวนานกว่า ๒๗ พรรษา

ครั้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 'พระองค์เจ้าไกรสร' ได้รับการสถาปนาให้เป็น 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ทรงกำกับกรมวัง มีหน้าที่ตัดสินคดีความ คุมเบี้ยหวัดของพระราชวงศ์และขุนนาง ทรงคุม 'กรมสังฆการี' อยู่ในกำมือ เรียกว่ามีอำนาจอิทธิพลมาก นั่นทำให้พระราชวงศ์หลายพระองค์ต้องทรงมีอาการหมางเมินต่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ด้วยความกริ่งเกรง 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' นั่นเอง 

แต่ถึงจะครองเพศบรรพชิตก็ใช่ว่าจะแกล้งไม่ได้ 'พระวชิรญาณภิกขุ' ขึ้นชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา มีภูมิรู้ทางภาษาบาลีอย่างเอกอุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบในด้านนี้ของพระองค์ วันหนึ่งจึงทรงอาราธนาพระองค์เข้าสอบความรู้พระปริยัติธรรมสนามหลวงโดยมีรัชกาลที่ ๓ ทรงเสด็จฯ ออกทรงฟังการสอบความรู้พระปริยัติธรรมด้วยทุกวัน ซึ่งปรากฏว่า 'พระวชิรญาณภิกขุ' แปลบาลีได้อย่างไม่ติดขัดจนถึงประโยคที่ ๕ เมื่อผ่านพ้นการแปลในประโยคนี้รวม ๓ วัน ก่อนจะขึ้นในวันใหม่ 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ก็ได้เข้ามาทรงทักท้วงกับ พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมลีโลกยาราม กลางที่ประชุมกรรมการแปลโดยเสียงที่ได้ยินกันทั่วว่า...

"นี่จะปล่อยกันไปถึงไหน" คืออารมณ์ว่าจะปล่อยให้แปลไปสบาย ๆ แบบนี้ได้ยังไง จน 'พระวชิรญาณภิกขุ' ต้องทูลฯ รัชกาลที่ ๓ ขอหยุดแปล ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ทรงทราบก็ไม่ทรงขัดศรัทธา อีกทั้งยังทรงพระราชทานพัดยศเปรียญธรรม ๙ ประโยค อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติชั้นสูงสุดแห่งคณะสงฆ์ไทยให้ทรงถือ ก็แสดงให้เห็นชัดว่า ร.๓ ท่านไม่ได้ทรงขุ่นข้องหมองใจใด ๆ ยกเว้นเพียง พระองค์เจ้าไกรสรที่ยังทรงคิดรังควานต่อไป 

เมื่อเล่นงานตรง ๆ ไม่ได้เพราะ ร.๓ ไม่ทรงเล่นด้วย พระองค์เจ้าไกรสร ก็หันมาปล่อยข่าวปลอม สืบเนื่องจากความเป็นปราชญ์ในด้านบาลีของพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ อีกทั้งยังทรงเป็นนักศึกษา นักค้นคว้า ทำให้มีผู้คนไปนมัสการพระองค์ ณ วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) ซึ่งพระองค์จำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีการปล่อยข่าวว่า 'พระวชิรญาณภิกขุ' ซ่องสุมผู้คนเพื่อหวังผลทางการเมือง ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงทราบเข้าจึงให้ย้ายพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในปี พ.ศ ๒๓๗๙ เพื่อให้พ้นข้อครหา

ปล่อยข่าวปลอมไม่สำเร็จงั้นก็แกล้งอย่างอื่นต่อ หลังจากที่ 'พระวชิรญาณภิกขุ' มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ได้ทรงสถาปนาธรรมยุติกนิกายขึ้น โดยยึดพระวินัยอย่างเคร่งครัด ทั้งการนุ่งห่มก็เรียบร้อย พระภิกษุต้องสำรวมขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นจุดที่ 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' นำมากลั่นแกล้งได้อีก โดยคราวนี้พระองค์ให้คนในสังกัดไปดักรอใส่บาตรพระธรรมยุติ โดยสิ่งที่ใส่ในบาตรคือ 'ข้าวต้ม' ร้อน ๆ คือ ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าในสมัยก่อนยังไม่มี 'ถลกบาตร' หรือ 'สลกบาตร' ซึ่งเสมือนถุงที่ใส่บาตรให้พระได้ถือกันร้อน มีแต่เชิงบาตรไว้ตั้งเมื่อรับบาตรเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อโยมในสังกัดของ 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ตักบาตรข้าวต้มร้อนๆ แก่พระธรรมยุติ พระท่านก็ปฏิเสธไม่ได้ แถมยังต้องสำรวม ในการรับบาตรนี้พระทั้งหลายก็มือพอง แขนพอง กลับวัดกันไป นี่ก็อีกหนึ่งวิบากที่ร่ำลือกันถึงความ 'จองเวร' จาก 'กรมหลวงรักษ์รณเรศ' 

แต่มีอำนาจก็เสื่อมอำนาจได้ หากมิมีคุณธรรมควบคุมตนกรณีของ พระองค์เจ้าไกรสรก็เช่นกัน พระองค์ทรงมีความหวังว่าพระองค์จะได้เป็นวังหน้าในครั้งที่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงทิวงคต อีกทั้งยังทรงกระทำการด้วยอำนาจบาตรใหญ่หลายเรื่อง เช่น การตัดสินคดีความอย่างลำเอียงด้วยเห็นแก่สินบน ซ่องสุมผู้คนอย่างมิเหมาะควร กระทำตนเยี่ยงพระมหากษัตริย์ในงานลอยประทีป ณ กรุงเก่า และเมืองเขื่อนขันธ์ ซึ่งมีผู้คนเห็นกันอย่างถ้วนทั่ว หรือแม้กระทั่งเรื่องส่วนพระองค์ที่ทรงมิได้ร่วมหลับนอนกับพระชายาหรือหม่อมห้ามในวัง แต่กลับไปคลุกอยู่กับคนโขนละครซึ่งเป็นชายแต่โปรดฯ ให้แต่งกายเป็นหญิง ซึ่งนับว่าออกลูกมั่นใจว่าไม่มีใครกล้าเป็น 'ศัตรู' กับพระองค์มากไปสักหน่อย 

จากเหตุดังกล่าวในปี พ.ศ. ๒๓๙๑ 'ไพรี' ของพระองค์ จึงเริ่มขึ้นในรูปใบฏีกาที่ยื่นร้องทุกข์การปฏิบัติราชการและพฤติกรรมของพระองค์เป็นจำนวนมาก มากจนเกิดเป็นการจับกุมและต้องตั้งศาลเพื่อตัดสินคดีความของพระองค์ขึ้น ไล่จากเบาคือ เรื่องไม่บรรทมกับพระชายาหรือหม่อมห้าม ซึ่งเป็นเรื่องส่วนพระองค์โดยพระองค์ให้การว่า "ใช้มือกำคุยหฐาน (อวัยวะเพศ) ของกันและกันจนสุกกะ (น้ำกาม) เคลื่อนเท่านั้น" อีกทั้ง "การไม่อยู่กับลูกเมียนั้น ไม่เกี่ยวข้องแก่การแผ่นดิน" เรื่องทำตนเทียมกษัตริย์นั้น ในงานลอยประทีปนั้นก็มีมูลเพียงรับไว้บางส่วน 

แต่ก็ยังไม่ร้ายแรงที่สุด มาหนักตรงเรื่อง 'กินสินบาทคาดสินบน' ซึ่งมีการพิสูจน์ได้หลายเรื่อง โดยเรื่องที่บันทึกไว้ก็มีเรื่องของ 'พระยาธนูจักรรามัญ' ซึ่งถวายฎีกาฟ้องพระองค์ว่าตัดสินคดีไม่ชอบ เมื่อตุลาการชำระความก็ปรากฏว่าผิดจริง นำไปสู่การรื้อการพิจารณาอีกหลายคดี ส่วนเรื่องใหญ่ที่สุดก็คือการซ่องสุมผู้คน ซึ่งว่ากันว่าขุนนางคนไหนที่มีไพร่พล หากยอมสวามิภักดิ์พระองค์ก็จะนับว่าเป็นพวก แต่ถ้าใครไม่ยอมก็จะจองเวรหาเรื่องเอาผิดอยู่เนือง ๆ ซึ่งเรื่องการซ่องสุมผู้คน พระองค์ทรงให้การว่า...

“พระองค์มิได้ทรงจะก่อการกบฏ แต่เป็นการเตรียมไว้หากจะมีการผลัดแผ่นดิน ก็จะไม่ยอมเป็นข้าใคร" คือถ้ารัชกาลที่ ๓ สวรรคต ใครจะครองราชย์ต่อไม่ได้หากไม่ใช่พระองค์เอง ทั้งยังให้การกับตุลาการว่าหากได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจะตั้ง 'กรมขุนพิพิธโภคภูเบนทร์' เป็นวังหน้า ซึ่งคำให้การทั้งปวง ทำให้ตุลาการผู้ชำระความที่เป็นทั้งพระราชวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ต้องประชุมกันอย่างเคร่งเครียด

ไล่ ๆ กับที่ 'พระองค์เจ้าไกรสร' กำลังเริ่มโดนไต่สวน มีเกร็ดเล่าว่ามีผู้มาถวายพระพุทธรูปองค์หนึ่งแด่ 'วชิรญาณภิกขุ' หรือ ครั้นเมื่อได้มาแล้วบรรดาศัตรูผู้คิดปองร้ายแก่พระองค์ล้วนแล้วแต่แพ้ภัยตนเอง พ่ายลงไปเสียสิ้น พระองค์จึงถวายนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า 'พระไพรีพินาศ' อันหมายถึงการสิ้นศัตรูในคราวแรก ทั้งยังทรงตั้งนามเจดีย์ศิลาเล็ก ๆ องค์หนึ่งว่า 'พระไพรีพินาศเจดีย์' อีกด้วย โดยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ได้มีค้นพบว่าในพระเจดีย์มีกระดาษแผ่นหนึ่งประทับตราสีแดงและปรากฏข้อความว่า "พระสถูปเจดีย์ศิลาบัลลังก์องค์ จงมีนามว่าพระไพรีพินาศ ตตเทอญ" และอีกด้านเขียนว่า "เพราะตั้งแต่ทำมาแล้ว คนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ" ซึ่งหากนับแล้วไม่เพียงแต่ พระองค์เจ้าไกรสร แต่ยังมีคณะบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องพินาศไป ซึ่งจะนำมาเสนอในบทความต่อ ๆ ไป 

กลับมาที่พระองค์เจ้าไกรสร เมื่อตุลาการพิจารณาเป็นความสัตย์ ในหลวงรัชกาลที่ ๓ จึงทรงให้ถอด 'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ' ให้เหลือแต่เพียง 'หม่อมไกรสร' และตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า "…การที่ตัวได้ดีมียศศักดิ์ขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ยิ่งกว่าเจ้านายทุกๆ พระองค์ จึงได้คิดกำเริบใจขึ้น แต่ก่อนนั้นยังกำเริบน้อยๆ เดี๋ยวนี้มากขึ้นๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ได้ ๒๕ ปีแล้ว บัดนี้ก็ถึงปรารถนาจะเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้ตัวรำลึกถึงความหลังดู ... ความชั่วของตัวมันฟุ้งเฟื่องเลื่องฦๅไปทั่วนานาประเทศทั้งปวง หาควรไม่เลย ต่างคนต่างมีใจโกรธแค้นยิ่งนัก แล้วยังมาคิดมักใหญ่ใฝ่สูง จะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง อย่าว่าแต่คนเขาจะยอมให้เป็นเลย แต่สัตว์เดียรัจฉานมันก็ไม่ยอมให้ตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน…"

แต่เรื่องความ 'จองเวร' ของ 'หม่อมไกรสร' ก็จัดว่าไม่ธรรมดา แม้จะถูกตัดสินความผิดถึงประหาร จนในวาระสุดท้าย ที่ 'วชิรญาณภิกขุ' จะขอขมาเพื่อจะทรงยกโทษกรรมเวรที่ทรงกระทำต่อกันมาด้วยดอกไม้ธูปเทียน นอกจากหม่อมไกรสรจะไม่รับแล้ว ยังกลับไปกำทรายแล้วตอบกลับว่า "จะขอผูกเวรไปทุกชาติเท่าเม็ดกรวดเม็ดทราย!!" ซึ่งเรื่องนี้ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงประทานเล่าไว้ในคราหนึ่ง 

'หม่อมไกรสร' ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ณ วัดปทุมคงคา เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม ๓ ค่ำ ปีวอก สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๑๐ ตรงกับวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ ขณะนั้นหม่อมไกรสรมีพระชันษาได้ ๕๖ ปี และนับเป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้

ความเชื่อเรื่องเคราะห์ร้ายและอัปมงคล เหตุจากคนหรือจากเคราะห์กรรม

'303' กลัว กล้า อาฆาต ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องหนึ่งในช่วงยุค 90 (ปี 2541) ใครที่เกิดไม่ทันคงจะงง งง เพราะนี่คือชื่อภาพยนตร์ไทยที่รวบรวมดาราวัยรุ่นในยุคนั้นมาเล่นหนังสยองขวัญ ซึ่งนักแสดงที่ยังคงมีงานแสดงอยู่ในวงการและคนยุคนี้พอจะรู้จักก็มี อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม และ ชาย ชาตโยดม 

ส่วนหนังสยองขวัญในยุค 2000 (ปี 2545) อีกเรื่องหนึ่งที่ชื่อแปลก ๆ ก็คือ '999-9999' ต่อติดตาย นำแสดงโดย ฮิวโก้ จุลจักร และ ศรีริตา เจนเซ่น คือชื่อเรื่องเอามาจากเบอร์โทรศัพท์ในยุคที่เรายังไม่มี Smart Phone เหมือนทุกวันนี้ 

ทั้งหมดทั้งมวลที่เกริ่นมาไม่มีอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์ครับ แต่ความน่าสนใจมันอยู่ที่ตัวเลขที่เขานำมาผูกกับชื่อเรื่องต่างหาก ซึ่งผมจะชวนทุกท่านมาอ่านเรื่องราวของตัวเลขที่ผู้คนในประเทศไทยและในต่างประเทศยึดถือ ด้วยความเชื่อว่ามันเป็นเลขอาถรรพ์ที่มีอิทธิพลต่อชีวิต 

ทั้งนี้ทั้งนั้นผมเรียบเรียงขึ้นมาอย่างสังเขปเพื่อให้ได้อ่านกันเพลิน ๆ ส่วนใครจะเชื่ออย่างไรนั้นแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคลครับ

ตัวเลขอย่าง 303 หรือ 999-9999 เป็นตัวเลขสมมติที่ยังไม่ได้มีความเชื่ออะไรไปจับต้องมากนัก อาจจะมีเลข 9 ที่ ถือว่าเป็นเลขดีของไทยเรา 

แต่เลขที่มีความเชื่อว่าจะให้โทษ เป็นเลขร้าย ๆ มันมีอะไรบ้าง ซึ่งก่อนจะไปติดตามกันผมต้องบอกก่อนว่า 'จริงหรือไม่จริงทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวคุณเอง'

เริ่มต้นด้วย '305' มีคนเขานำไปวิเคราะห์ด้วยหลักฮวงจุ้ยของจีน เลขนี้แปลว่า 'ไม่ - เกิด' ซึ่งก็เท่า 'ตาย' บางท่านเขาก็ว่า เลขนี้เป็นเลขผีเหมือนเลข 13 ของฝรั่ง เป็นเลขของช่วงเวลาที่ผีจะออกมามากที่สุดคือ 3.05 อีกทั้งยังมีเหตุการณ์พบศพคนตายอยู่ในห้อง 305 อยู่เนือง ๆ สุดท้าย ก็เลยกลายเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่า 305 คือเลขร้าย แล้วคุณว่ามันร้ายจริงไหม? 

เลข '4' ตามความเชื่อของคนจีนถือเป็นเลขไม่เป็นมงคล คนจีนไม่ชอบเลข 4 เพราะออกเสียงคล้ายกับคำว่า 'ตาย' (ซี้) ซึ่งอันนี้ผมว่าเราก็น่าจะทราบกันอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เฉพาะแค่คนจีน เพราะเลข '4' ตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น ถือเป็นเลขไม่เป็นมงคลเช่นกัน เนื่องจากในภาษาญี่ปุ่น 4 ออกเสียงเป็น 'ชิ' ซึ่งคำว่า 'ความตาย' ในภาษาญี่ปุ่นก็ออกเสียง 'ชิ' เช่นเดียวกัน (อันนี้มันคล้ายกันจริงไหม ผู้รู้มาตอบที) 

ต่อมาคือเลข 6 หรือ 666 ฝรั่งเขาว่ามันคือ เลขของซาตาน เป็นเลขอาถรรพ์ เป็นความวิตถาร และอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะมันโยงไปถึงความเจ็บป่วย (Sick) ที่มีเสียงพ้องกันกับเลข 6 (Six) แค่ต่างกันตรงท้ายเสียง (เออ!! ก็โยงไปได้) ส่วนพี่ไทยเขาก็ถือว่าเลข 6 นั้นไม่ค่อยดี เนื่องจากเวลาออกเสียงคำออกมา มันไปพ้องกับความไม่เป็นมงคลคือ หก ตก ล้ม หล่น อะไรแบบนั้น ผิดกับชาวจีนที่เลข 6 คือเลขแห่งความราบรื่น 

เลข 7 ตามความเชื่อของคนไทยถือว่าไม่เป็นมงคล ด้วยความเชื่อทางโหราศาสตร์ที่ว่า 'โทษทุกข์ ทายเสาร์' เลข 7 จึงเป็นเลขแห่งความทุกข์ทั้งหลาย (อันนี้ผมเคยได้ยินคนทำนายทายทักอยู่) ที่สำคัญเลข 7 มีความเกี่ยวข้องกับทฤษฎี The seven year itch โดยเขาระบุว่าหากคู่ใดก็ตามที่เป็นแฟนกันมาแล้ว 7 ปี หากยังไม่แต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน จะต้องมีเหตุให้เลิกรา (อันนี้ถูกนำไปโยงหลายเรื่องอยู่) แต่กลับกันถ้าคุณเป็นนักพนัน เลข 7 คือเลขนำโชคของคุณ 

เลข 8 ตัวเลขที่ใคร ๆ เขาก็ว่าดี แต่เมื่อเบิ้ลตัวเลขกลายเป็น '88' ฝรั่งเขาถือว่าเป็นตัวเลขของ 'พรรคนาซี' ผู้ก่อสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสมาชิกพรรคจะตะโกนคำว่า Heil Hitler เพื่อแสดงความสดุดีต่อท่านผู้นำ ทีนี้เมื่อมีคนคิดเยอะนำเอามาเขียนเป็นตัวย่อในภาษาอังกฤษจะได้เป็น 'HH' ซึ่งดูคล้ายเลข '88' ทั้งตัวอักษร H เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษในลำดับที่ 8 เหล่า 'นีโอนาซี' จึงประยุกต์นำเอาตัวเลข 88 มาใช้เพื่อสื่อถึงความภักดีต่อ 'นาซี'

เลข 9 คนไทย คนจีน เขาว่าดี แต่เลข 9 ตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น กลับไม่เป็นมงคล เนื่องจากเลข 9 ในภาษาญี่ปุ่นอ่านออกเสียงว่า 'คุ' ซึ่งพ้องเสียงกับคำที่หมายถึง 'ความยากลำบาก' ในภาษาญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจึงถือว่าเลข 9 เป็นเลขที่ไม่ดี 

เลข 11 เป็นเลขแห่งจุดจบ ซึ่งโยงมาจากเหตุก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 เดือน 9 ปี 2001 (พ.ศ.2544) เครื่องบินสองลำพุ่งชนตึกแฝดตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่มีลักษณะคล้ายเลข 11 ในเที่ยวบินที่ 11 และยังมีอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับเลข 11 จึงทำให้เชื่อว่าเป็นเลขที่ไม่ดี โดยเฉพาะเมื่อต้องมารำลึกถึงการสูญเสียในเหตุการณ์ 9/11 ดังกล่าว 

13 เลขแห่งความโชคร้ายที่สุดของฝรั่ง ยิ่งถ้าเป็นวันศุกร์ 13 นี่ยิ่งอัปมงคลสุด ๆ ด้วยชาวคริสต์มีความเชื่อว่าเลขนี้เกี่ยวเนื่องกับอาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูคริสต์ที่เรียกกันว่า 'เดอะ ลาสต์ ซัปเปอร์' (The Last Supper) ที่มีสาวกร่วมโต๊ะกับพระเยซูคริสต์รวม 13 คน พ่วงด้วยความเชื่อว่าวันศุกร์เป็นวันโชคร้ายเพราะเป็นวันที่พระเยซูคริสต์ถูกตรึงกางเขน ผนวกกับมันเป็นวันที่ 'อดัมกับอีฟ' กัดแอปเปิ้ลต้องห้ามของพระผู้เป็นเจ้าในสวนเอเดนจนต้องถูกขับไล่ออกมา ทั้งยังเชื่อว่าเป็นวันที่ 'อดัมกับอีฟ' ตายจากโลกอีกด้วย ฉะนั้นพอเลข 13 รวมกับวันศุกร์ จึงเป็นวันที่เลวร้ายมากสำหรับฝรั่งเขา 

แต่เรื่องเลข 13 นี้เป็นความเชื่อที่ลามไปทั้งโลก เช่น อาคารต่าง ๆ เกือบทั่วโลกจะไม่มีชั้น 13 นักเดินเรือจะไม่ยอมออกเดินเรือในวันที่ 13 จนหนักขนาดที่มีกลุ่มคนที่กลัวเลข 13 จนกลายเป็นโรคทางจิตที่เรียกว่า 'ไตรสไกเดกา โฟเบีย' (Triskaideka Phobia) ไม่มงคลไม่เท่าไหร่ แต่กลัวจนเป็นโรคอันนี้ก็เกินไป 

เลข 17 ตัวเลขที่ชาวอิตาลีเชื่อว่า อัปมงคลพอ ๆ กับเลข 13 เพราะเมื่อเขียนเลข 17 ในแบบโรมันจะได้ 'XVII' พอสลับตัวอักษรจะได้ 'VIXI' ซึ่งพ้องกับคำว่า 'VISSI' ซึ่งมีความหมายว่า 'ฉันเคยมีชีวิตอยู่' แปลตรง ๆ ก็คือ “ฉันได้ตายไปแล้ว” ซึ่งมักปรากฏอยู่ป้ายหลุมศพของชาวโรมัน ซึ่งอาคารต่าง ๆ ในอิตาลีนั้นมักจะไม่มีชั้น 17 สายการบินหลายสายของอิตาลีจะไม่มีที่นั่งหมายเลข 17 โรงแรมหลายแห่งไม่มีห้องหมายเลข 17 อันนี้เขาเล่ากันว่าลามไปถึงรุ่นของรถยนต์ เช่น รถฝรั่งเศสยี่ห้อเรโนลต์ รุ่น R17 พอไปขายในอิตาลีต้องเปลี่ยนชื่อรุ่นเป็น R177 ฯลฯ 

อายุ 25 'เบญจเพส' ตามคติพราหมณ์คัมภีร์พฤติกรรมศาสตร์เขาว่า “บุรุษใดต้องเบญจเพส หมายถึง การเข้าสู่โชคและเคราะห์ที่รุนแรงไม่ทางบวกก็เป็นลบต่อชีวิต” แต่จะดีหรือไม่ดีมันก็คงแล้วแต่จังหวะของชีวิตล่ะครับ ต้องมีสติ ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม (25 หรือ เบญจเพส นี้ 'ไม่เกี่ยวข้องกับสตรี' นะครับ ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าไม่เกี่ยวกับสาว ๆ) 

วันที่ 26 'วันแห่งแผ่นดินไหว' ที่มีคนโยงไปเชื่อมโยงกับสถิติการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลก โดยเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้เกิด 'คลื่นยักษ์สึนามิ' ในภาคใต้ฝั่งอันดามันของบ้านเราเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และต้องใช้ระยะเวลานาน กว่าที่แผลในจิตใจของคนทั้งโลกจะกลับมาหายดี 

จากตัวเลขไม่ดีทั้งหมดที่เล่ามา คุณจะเห็นได้ว่าบางตัวเลข บางประเทศถือว่าเป็นเลขที่ดี บางตัวเลขไม่มีผลหรือเกี่ยวข้องกับเขาเลย บางตัวเลขเป็นเลขของเหตุการณ์ที่เป็นแผลในใจมากกว่าจะเป็นเลขอัปมงคล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยความเชื่อด้านตัวเลขมันก็ย่อมต้องมีอิทธิพลต่อคนเราไม่มากก็น้อย ทั้งนี้แล้วแต่ความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเขียนเล่ามาถึงตรงนี้ก็คือ

ตัวเลขไม่ว่าจะดีหรือร้ายแค่ไหน กรรมหรือการกระทำต่างหากคือเครื่องกำหนดชีวิตของเรา

'พระนิรันตราย' พระผู้ 'ปราศจากอันตราย' พระพุทธรูปสำคัญสมัย 'รัชกาลที่ ๔'

‘พระนิรันตราย’ พระสำคัญของชาติอีกองค์หนึ่ง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในหอพระสุราลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปโบราณสององค์ซ้อนกัน 'องค์เดิม' (องค์เดิมอยู่ด้านในก่อนสร้างอีกองค์ใหม่ / องค์นอก) เป็นพระพุทธรูปทองคำ ศิลปะแบบทวารวดี ราวพุทธศตวรรษ ๑๔-๑๕ ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ นิ้ว องค์สูง ๔ นิ้ว ขัดสมาธิเพชร ข้อพระบาทไขว้กันอย่างหลวม ๆ พระหัตถ์ประสานกันบนพระเพลา โดยพระหัตถ์ขวาซ้อนเหนือพระหัตถ์ซ้าย 

ส่วนพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงเป็นเส้นติดต่อกันคล้ายปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกป้าน พระโอษฐ์ค่อนข้างกว้าง พระกรรณยาวเกือบจรดพระอังสะ พระเศียรประกอบด้วยขมวดพระเกศา มีเกตุมาลาอยู่เบื้องบนปราศจากรัศมี องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์เรียบ ไม่มีริ้ว ห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวาของอุตราสงค์พาดผ่านข้อพระกรซ้าย ประทับนั่งบนปัทมาสน์ (ฐานดอกบัว) มีกลีบบัวคว่ำบัวหงายประกอบทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง ซึ่งฐานปัทมาสน์นี้ได้สร้างเพิ่มเติมในภายหลัง

ใน 'ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ' พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่กำนันอินและนายยังบุตรชาย ไปพบขณะขุดหามันนกในบริเวณชายป่าห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณสามเส้น พบเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ จึงได้นำมามอบให้ 'พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ' ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา โดยขุดพบเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ พระเกรียงไกรกระบวนยุทธจึงบอกกรมการเมืองและ 'พระยาวิเศษฤๅไชย' เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา กรมการเมืองฉะเชิงเทราทั้งหลายจึงพร้อมใจกันนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จากนั้นพระองค์ก็ได้สอบถามที่ไปที่มาและได้พระราชทานเงินตรากับกรมการเมือง และ ๒ พ่อลูก โดยมีบันทึกไว้ว่า...

“สองพ่อลูกมีกตัญญูต่อพระพุทธศาสนาและพระเจ้าแผ่นดิน ขุดได้พระทองคำแล้วไม่ทำลาย หรือซื้อขายเป็นประโยชน์ส่วนตัว แล้วยังมีน้ำใจมาทูลเกล้าฯ ถวาย…” พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเงินตราให้เป็นรางวัล ๗ ชั่ง แล้วมีพระบรมราชโองการดำริให้ช่างทำฐานเงินกะไหล่ทองประดิษฐานไว้

จากนั้นจึงโปรดฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปทองคำไปประดิษฐาน ณ หอพระเสถียรธรรมปริตรคู่กับพระกริ่งทองคำองค์น้อย และพระพุทธรูปสำคัญอื่น ๆ อีกหลายองค์ โดยที่พระทองคำองค์นี้ยังไม่มีพระนามใด ๆ 

ที่มาแห่งชื่อ 'นิรันตราย' นั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ เกิดมีขโมยได้มาลักเอาพระกริ่งทองคำองค์น้อยไปถึงในหอพระ แทนที่จะลักพระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่กว่า และอยู่คู่กัน พระองค์ทรงมีพระราชดำริความว่า “พระพุทธรูปซึ่งกำนันอินทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นทองคำทั้งแท่งและใหญ่กว่าพระกริ่ง ควรที่คนร้ายจะลักเอาองค์ใหญ่ไป แต่กลับละไว้ เช่นเดียวกับผู้ที่ขุดได้ไม่ทำอันตราย เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่แคล้วคลาดถึง ๒ ครั้ง” พระองค์จึงทรงถวายพระนามพระพุทธรูปทองคำว่า 'พระนิรันตราย' แปลว่า 'ปราศจากอันตราย' และโปรดเกล้าฯ ให้ หล่อองค์ใหม่ครอบองค์เดิมมาจนถึงทุกวันนี้ 

โดยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ พระราชทานแบบส่วนให้ 'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' และกลุ่มช่างในพระองค์ หล่อพระพุทธรูปประทับสมาธิเพชรให้ต้องตามพุทธลักษณะด้วยทองคำบริสุทธิ์ ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้วครึ่ง สวมครอบพระพุทธรูปนิรันตรายองค์เดิมอีกชั้นหนึ่ง และให้หล่อด้วยเงินบริสุทธิ์อีกองค์เป็นคู่กัน โปรดเกล้าฯ ให้ถวายพระนามว่าพระนิรันตรายทุกองค์ เฉพาะองค์ทองคำให้เชิญไปประดิษฐานในพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ อาทิ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีทำบุญตรุษตัดส่งปีเก่า) พระราชพิธีสงกรานต์ 

ปัจจุบันเจ้าพนักงานภูษามาลายังคงรักษาแบบแผนโบราณราชประเพณี โดยอัญเชิญพระนิรันตรายไปประดิษฐานในพระราชพิธีสำคัญ ๆ ต่าง ๆ อาทิ ในการบำเพ็ญพระราชกุศลวันเฉลิมพระชนมพรรษา และงานพระราชกุศลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นต้น  

กลับมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ กันต่อ นอกจากพระองค์จะทรงหล่อ พระองค์ใหม่ / องค์นอก ครอบพระองค์เดิมแล้วนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปพิมพ์เดียวกันพระนิรันตราย (องค์นอก) เนื้อทองเหลือง มีลักษณะเพิ่มเติมจากพระนิรันตรายเดิม คือ ประดับด้วยซุ้มเรือนแก้ว ทำเป็นพุ่มพระศรีมหาโพธิ์ประกอบ ยอดซุ้มประดับลายพระมหามงกุฎ และจารึกบท 'อิติปิโส ภควา' ๙ วรรค เป็นอักษรขอมประดับตามซุ้ม ส่วนฐานประดับรูปโค เจาะรูบริเวณปากโค น้ำสรงพระนิรันตรายจะไหลออกทางปากโค ซึ่งศีรษะโค แสดงเครื่องหมายพระสกุล 'โคตมะ' ของพระพุทธเจ้า จัดสร้างขึ้นจำนวน ๑๘ องค์เท่ากับปีที่ครองราชย์ เพื่อพระราชทานพระอารามฝ่ายธรรมยุต จำนวน ๑๘ แห่ง แต่ยังไม่กะไหล่ทองก็สวรรคตเสียก่อน 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จและนำไปพระราชทานยังวัดธรรมยุตตามพระราชประสงค์ของพระบรมราชชนก โดยวัดทั้ง ๑๘ แห่ง ได้แก่...

๑.วัดบวรนิเวศวิหาร 
๒.วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 
๓.วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 
๔.วัดเสนาสนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา 
๕.วัดนิเวศธรรมประวัติฯ จ.พระนครศรีอยุธยา 
๖.วัดบรมนิวาส 
๗.วัดมกุฏกษัตริยาราม 

๘.วัดเทพศริรินทราวาส 
๙.วัดโสมนัสวิหาร 
๑๐.วัดราชาธิวาส 
๑๑.วัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี 
๑๒.วัดปทุมวนาราม 
๑๓.วัดราชผาติการาม 
๑๔.วัดสัมพันธวงศาราม 
๑๕.วัดเครือวัลย์ 
๑๖.วัดบุปผาราม 
๑๗.วัดบุรณศิริมาตยาราม 
๑๘.วัดยุคันธราวาส จ.นนทบุรี

สำหรับท่านที่อยากไปสักการะพระนิรันตรายนั้นสามารถไปได้ตามรายชื่อวัดดังกล่าว เพียงแต่อาจจะต้องสอบถามก่อนว่าเปิดให้เข้าสักการะหรือไม่ 

เชื่อว่าถ้าท่านผู้อ่าน ๆ ได้เข้าไปสักการะองค์พระแล้ว ก็จะได้ 'ปราศจากอันตราย' เช่นเดียวกับนามขององค์พระ

ขอบเขตสุดซับซ้อนแห่ง 'โลกนรก' ใต้ความเชื่อตามหลักศาสนาพุทธ 'หลากขุม-คลุมหลากบาป' เตือนใจยามดำรงชีวี ให้หมั่นทำแต่ความดี

(22 ก.ย. 67) วันนี้ขอนำเข้าเรื่องจากการเข้าวัดของผม โดยอุปนิสัยส่วนตัวผมเป็นคนชอบเข้าวัด แต่ช่วงหลัง ๆ เข้าวัดน้อยลงไปมาก เนื่องจากภารกิจส่วนตัว ทีนี้ได้มีโอกาสได้อ่านถึงเรื่องราวของวัดที่มีรูปปั้นจำนวนมากที่แสดงถึง นรก สวรรค์ เช่น วัดไผ่โรงวัว จ.สุพรรณบุรี, วัดแสนสุข ฯ จ.ชลบุรี และ วัดป่าหลักร้อย จ.นครราชสีมา อย่าง 2 วัดหลังนี้ ทั้งชลบุรีและนครราชสีมา ผมได้เคยไปมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ถ้าไม่นับเรื่องของการหยอดทำบุญที่มีให้หยอดเยอะไปหมด ก็ไปอยู่หลายครั้ง 

ผมว่าสิ่งหนึ่งที่พอจะยกมาเป็นอนุสตินั่นก็คือ การได้ระลึกถึงศีล การได้ระลึกถึงความดี การได้ระลึกถึงความตาย เพราะรูปปั้นเหล่านั้นได้แสดงให้เห็นถึงผลจากกรรมต่าง ๆ ย้ำด้วยการนำเอาภาพทัศน์ของ 'นรก' มาเป็นกุศโลบายในการ 'ทำดี' ละเว้น 'ชั่ว' เพราะการ 'ทำชั่ว' มันเป็นหนทางไปสู่ 'นรก' 

จากตรงนี้แหละ ที่ผมอยากจะยกเอาเรื่องของ 'นรก' มาขยาย เล่าให้ทุกคนได้อ่าน เพื่อให้เราได้รู้จัก 'นรก' กันมากขึ้น...

เริ่มต้นกับคำที่คุ้นเคย นั่นคือคำว่า 'นรกอเวจี' ผมเชื่อว่าคำนี้หลายคนคงรู้จัก แต่คุณรู้หรือไม่? ความจริงแล้ว 'อเวจี' เป็นแค่ส่วนหนึ่งของนรกเท่านั้น (ก่อนอื่นต้องบอกว่า 'นรก' ที่ผมยกมาเป็นความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนใครจะมีนรกแบบไหน หรือเชื่อ / ไม่เชื่ออย่างไรแล้วแต่วิจารณญาณนะครับ) 

ทีนี้ถ้าอเวจีคือ ส่วนหนึ่งของนรก แล้วโลกของ 'นรก' หรือ 'นรกภูมิ' ในศาสนาพุทธนั้นเป็นอย่างไร ? 

'นรกภูมิ' คือ ดินแดนหนึ่งที่เชื่อกันว่าผู้ที่ทำบาปตอนยังเป็นมนุษย์เมื่อเสียชีวิตแล้วจะต้องไปเกิดในนรก และถูกลงโทษตามคำพิพากษาของพญามัจจุราช จาก 'ไตรภูมิกถา' นรกภูมิเป็นดินแดนหนึ่งในกามภพ อันเป็นหนึ่งในภพทั้งสาม คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ รวมเรียกว่า 'ไตรภพ' หรือ 'ไตรภูมิ'

นรกของพระพุทธศาสนาต่างจากนรกของศาสนาอื่นๆ อยู่บ้าง เช่น ในศาสนาฝั่งตะวันตกนั้นเชื่อว่าเมื่อเราตายไป ทุกคนจะต้องไปรับคำพิพากษาในนรกภูมิ ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาของพระเจ้า ไม่ใช่แค่เป็นเพราะบาปกรรมที่ตนได้กระทำเมื่อมีชีวิต หรืออย่างเรื่องระยะเวลาในการถูกลงโทษในนรก จะเป็นไปตามโทษานุโทษซึ่งอาจจะกินเวลานาน แต่ไม่ได้ยาวนานชั่วกัปชั่วกัลป์ เมื่อพ้นโทษจากนรกแล้วจะได้กลับไปเกิดในโลกที่สูงขึ้นตามแต่กรรมดีที่ได้กระทำไว้หรือตามแต่ผลกรรมที่เหลืออยู่ แล้วแต่กรณี 

สำหรับ คติไตรภูมินั้น 'โลกนรก' หรือ 'นิรยภูมิ' เป็นส่วนหนึ่งของอบายภูมิหรือทุคติภูมิ 4 อันประกอบด้วยพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลสุดลูกหูลูกตา มีนรกอีกหลายขุมซ้อนทับกันหลายชั้น แต่ละชั้นก็มีนรกบริวารรวมอีกนับร้อย โดยมี 'นิรยบาล' เป็นผู้ควบคุมการลงทัณฑ์ 

นิรยภูมิจะแบ่งออกเป็น 'มหานรก' หรือ 'นรกขุมใหญ่' ทั้งหมด 8 ขุม ตั้งซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ และแยกกันอย่างชัดเจนอยู่ลึกลงไปใต้โลกมนุษย์ เรียงจากชั้นบนสุดลงไปยังชั้นล่างสุด แต่ละขุมของมหานรกสามารถแบ่งตามโทษจากเบาสุดไปจนถึงหนักสุดได้ดังนี้...

1.) 'สัญชีวนรก' หรือ 'นรกไม่มีวันแตกดับ' เป็นนรกสำหรับผู้ที่เบียดเบียนผู้อื่น สัตว์นรกจะถูกทรมานจากนิรยบาลด้วยสารพัดวิธีจากคมอาวุธจนตาย ก่อนที่ 'ลมกรรม' พัดมา ทำให้คืนชีพมารับโทษทัณฑ์ต่อ ต้อง เกิด-ตาย วนเวียนอยู่เช่นนั้นจนครบอายุขัย อายุของสัตว์นรกในสัญชีวนรก คือ 500 ปี โดย 1 วันนรก เท่ากับ 9 ล้านปีโลกมนุษย์

2.) 'กาฬสุตตนรก' หรือ 'นรกเส้นด้ายดำ' เป็นนรกสำหรับผู้ที่ทำร้ายผู้มีพระคุณหรือทำลายชีวิตสัตว์โลก สัตว์นรกในขุมนี้จะถูกตีด้วยด้ายดำจนเป็นเส้นตามร่างกาย ก่อนจะถูกเฉือนด้วยคมอาวุธตามรอยนั้น อายุของสัตว์นรกในกาฬสุตตนรก คือ 1,000 ปี โดย 1 วันนรก เท่ากับ 3 โกฏิ (1 โกฏิ เท่า 10 ล้าน) กับอีก 6 ล้านปีโลกมนุษย์

3.) 'สังฆาฏนรก' หรือ 'นรกบดขยี้' เป็นนรกสำหรับผู้ที่ไร้ความเมตตา ชื่นชอบการทารุณกรรม สัตว์นรกในขุมนี้จะถูกกระหน่ำตีด้วยค้อนเหล็กแล้วบดทับด้วยลูกไฟกับภูเขาเหล็ก อายุของสัตว์นรกในสังฆาฏนรก คือ 2,000 ปี โดย 1 วันนรก เท่ากับ 14 โกฏิกับอีก 5 ล้านปีโลกมนุษย์

4.) 'โรรุวนรก' หรือ 'นรกแห่งเสียงคร่ำครวญ' เป็นนรกสำหรับเหล่าคนโลภ ฉ้อโกง ร่างของสัตว์นรกขุมนี้ จะถูกตรึงให้นอนคว่ำหน้า หัว มือ และเท้าจมอยู่ในดอกบัวเหล็กที่เปลวเพลิงลุกท่วม ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด แต่ไม่ตาย อายุของสัตว์นรกในโรรุวนรก คือ 4,000 ปี โดย 1 วันของนรกขุมนี้เท่ากับ 23 โกฏิกับอีก 4 ล้านปีโลกมนุษย์ 

5.) 'มหาโรรุวนรก' หรือ 'นรกแห่งเสียงคร่ำครวญอย่างยิ่งยวด' เป็นนรกสำหรับคนจิตใจโหดเหี้ยม อำมหิต ทำความชั่วทั้งหลายด้วยจิตอาฆาตพยาบาท ดอกบัวเหล็กของนรกขุมนี้จะเพิ่มคมตามกลีบดอก โดยสัตว์นรกต้องจมอยู่ในดอกบัวเหล็กทั้งตัว อายุของสัตว์นรกในมหาโรรุวนรก คือ 8,000 ปี โดย 1 วันนรก เท่ากับ 921 โกฏิกับอีก 6 ล้านปีโลกมนุษย์

6.) 'ตาปนรก' คือ 'นรกแห่งความร้อนรุ่ม' เป็นนรกสำหรับคนบาปที่เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ และความเห็นแก่ได้ สัตว์นรกขุมนี้จะถูกหลาวเหล็กแท่งใหญ่ราวต้นตาลเสียบพร้อมเปลวไฟพวยพุ่ง ก่อนถูกสุนัขนรกฉุดกระชากลงมากิน อายุของสัตว์นรกในตาปนรก คือ 16,000 ปี โดย 1 วันนรกเท่ากับ 1,842 โกฏิกับอีก 12 ล้านปีโลกมนุษย์

7.) 'มหาตาปนรก' คือ 'นรกแห่งความร้อนรุ่มอย่างยิ่งยวด' เป็นนรกสำหรับผู้ที่เคยฆ่าคนและฆ่าสัตว์เป็นหมู่มาก ๆ โดยไม่คำนึงถึงชีวิตผู้อื่น สัตว์นรกในขุมนี้ต้องอยู่ในกำแพงและภูเขาเหล็กที่เต็มไปด้วยหนามแหลม พร้อมลมกรดพัดพาร่างไปโดนหนามเสียบ อายุของสัตว์นรกขุมนี้คือ ครึ่งกัลป์ (1 กัลป์ เท่ากับระยะเวลาที่อายุของมนุษย์ไขลงจากอสงไขยปี จนถึง 10 ปี แล้วไขขึ้นจาก 10 ปี จนถึงอสงไขยปีอีกรอบ ครบ 1 คู่ เรียกว่า 1 กัลป์ ซึ่งอสงไขยปีเท่ากับเลข 1 ตามด้วยเลขศูนย์ 140 ตัว)

8.) 'อเวจีนรก' คือ 'นรกอันแสนสาหัสไร้ความปรานี' เป็นมหานรกที่ลึกและกว้างใหญ่ที่สุด เป็นนรกสำหรับผู้ทำกรรมหนักอย่างหาที่สุดมิได้ เช่น ฆ่าบุพการี ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต และยุยงให้คณะสงฆ์แตกแยก ขุมนรกขุมนี้ ล้อมด้วยกำแพงเหล็กที่เปลวไฟลุกท่วม สัตว์นรกจะถูกเพลิงเผาผลาญตามกรรมของตน ด้วยอิริยาบถต่างๆ ทั้ง นั่ง ยืน หรือนอน อยู่ภายในห้องสี่เหลี่ยม โดยมีหลาวเหล็กเสียบทะลุร่างตรึงให้อยู่กับที่ ไม่สามารถขยับร่างกายได้ อายุของสัตว์นรกในอเวจีนรก คือ 1 กัลป์

นอกจาก 'มหานรก' ทั้ง 8 ขุมแล้ว ในแต่ละขุมยังมี 'ยมโลกนรก' อยู่อีก 320 ขุม ใน 4 ทิศ ของมหานรก แบ่งไปทิศละ 10 ขุม เรียกว่า 'อุสสทนรก' ดังนี้... 

1.) 'คูถนรก' คือนรกที่เต็มไปด้วยหนอนตัวใหญ่คอยกัดกินสัตว์นรกที่ผ่านเข้ามา
2.) 'กุกกุฬนรก' คือนรกที่เต็มไปด้วยเถ้าถ่านคอยเผาสัตว์นรกให้กลายเป็นจุณ
3.) 'อสิปัตตนรก' คือนรกที่มีต้นมะม่วงใหญ่หลอกล่อให้สัตว์นรกมาพักพิง แต่อย่าหวังจะได้พัก เพราะใบมะม่วงจะกลายเป็นหอกหล่นลงมาแทงสัตว์นรกเบื้องล่าง พอจะหนี ก็จะมีกำแพงเหล็กติดเปลวเพลิงขวางกั้นพร้อมสุนัขนรกและแร้งนรกคอยรุ่มฉีกกินสัตว์นรก
4.) 'เวตรณีนรก' คือนรกที่เต็มไปด้วยน้ำเค็มและเครือหวายหนามเหล็กล้อมสัตว์นรก ซึ่งหนามจะทิ่มแทงให้เกิดแผล นอกจากนั้นยังมีไฟลุกท่วมอยู่กลางน้ำกับดอกบัวกลีบคมที่มีเปลวเพลิงติดอยู่ตลอด โดยมีนิรยบาลใช้เบ็ดเกี่ยวลากขึ้นมาบนฝั่งเพื่อทำทัณฑ์ทรมานไปเรื่อย ๆ 

นอกจาก 'นรก' ที่อยู่ใต้โลกมนุษย์อย่าง 'นรกอเวจี' แล้วนั้น ยังมีนรกที่อยู่ไกลออกไปจากโลก ติดเชิงเขาจักรวาลอันไกลโพ้นเรียกว่า 'โลกันตนรก' เป็นมหานรกอีกขุมหนึ่ง ซึ่งเปิดรับผู้ที่กระทำทรมานบุพการีหรือทำร้ายผู้ทรงศีลโดยเฉพาะ 

ใน 'โลกันตนรก' มีสภาพมืดสนิท ไม่มีแสงดาว แสงเดือน หรือแสงตะวัน สัตว์นรกจะมีสภาพเสมือนคนหลับตาในเดือนดับข้างแรม สัตว์นรกที่มาเกิดในโลกันตนรก จะมีสภาพแปลกประหลาด มีสรีระร่างกายใหญ่โต มีเล็บมือและเล็บเท้ายาว ต้องใช้เล็บมือและเท้าเกาะอยู่ตามเชิงเขาจักรวาลห้อยโหนโยนตัว โดยเอาหัวลงมาข้างล่างชั่วนิรันดร์และต้องทรมานอยู่ในความมืด หากพลัดตกลงจากเขา ก็จะไปตกในทะเลดำซึ่งเป็นน้ำกรดอันเย็นเฉียบ ทำให้ต้องรีบตะเกียกตะกายปีนกลับขึ้นไปห้อยโหนเช่นเดิม

จะเห็นได้ว่า 'นรก' ในทางศาสนาพุทธที่ผมเล่ามานั้น มีความซับซ้อนมากมายหลากหลายขุม ครอบคลุมสัตว์นรกผู้กระทำบาปแตกต่างกันไป แม้เรื่องของ 'นรก' อาจจะเป็นเพียงกุศโลบายที่ถูกบันทึกไว้เตือนใจ ในการดำรงตนให้อยู่ในศีลอันปกติ แต่อย่างน้อยการเตือนใจนี้ ก็ทำให้ชาวพุทธอย่างเราได้ระลึกอยู่เสมอว่า ในยามมีชีวิตอยู่นั้น เราควรกระทำแต่ความดี เมื่อจากไปแล้วจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในโลกนรก ไม่ว่าจะขุมไหนก็ตาม

บันทึกเรื่องราวตราตรึงจิตตราบนิจนิรันดร์ แม้ถ่ายทอดได้เพียงเศษเสี้ยว ‘พระราชกรณียกิจ’

ในหลวงในดวงใจ เรื่องราวประทับของนักเล่าเรื่องแห่ง THE STATES TIMES 

วันที่ 13 ตุลาคม 2567 วันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ 'วันนวมินทรมหาราช' เวียนมาบรรจบเป็นปีที่ 8 แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี นักเล่าเรื่องราวอย่างผมก็ยังอยากจะเล่าเรื่องราวของพัฒนากรผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะเรื่องราวของพระองค์ท่านช่างมีมากมายเสียเหลือเกิน ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าประเทศไทยช่างโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์อย่างพระองค์ท่าน 

ผมเองไม่ได้มีความเก่งกาจอะไรในการจะมานั่งเล่าเรื่องราว หรือมานั่งเขียนบทความอะไร แต่ด้วยโอกาสจาก THE STATES TIMES ที่อยากให้มาถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 จากการที่เป็นคนชอบอ่านและเป็นคนชอบทำ ทำให้มีเรื่องราวต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะช่วงที่จัดรายการ “ตามรอยพระบาทยาตรา”มีเรื่องราวจำนวนมากที่ได้นำมาเล่า ซึ่งในบทความนี้ผมขอยกเรื่องเล่าประทับใจมาให้คุณได้อ่านกันเพลิน ๆ ดังนี้ 

เริ่มต้นการเล่าเรื่องของผม บอกเลยผมไม่มีความมั่นใจมากมายอะไรนัก และคิดอยู่หลายวันว่าจะเล่าเรื่องราวอะไรดี จนตัดสินใจได้ว่าจะเริ่มต้นเล่าเรื่องราวด้วยการยกเพลงพระราชนิพนธ์ “แผ่นดินของเรา” มานำเสนอ เพราะผมเองเป็นนักดนตรี และทำมาหากินเกี่ยวกับดนตรีมาตั้งแต่เริ่มมีหน้าที่การงาน และเชื่อว่าความมหัศจรรย์ของบทเพลงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาเพียง 10 นาที พระราชนิพนธ์เพลง ๆ นี้ เพลงที่แรกมีเพียงไม่กี่ห้อง แต่เมื่อเติมเต็มกลับกลายเป็นเพลงที่สร้างให้จิตใจของเรามีสำนึกในการรักบ้าน รักเมือง ซึ่งการนำเรื่องของบทเพลงนี้เป็นปฐม จะช่วยทำให้ผมเล่าเรื่องราวได้ดี ซึ่งการเล่าเรื่องเพลงพระราชนิพนธ์ในครั้งแรก ทำให้ผมมีความมั่นใจที่มากขึ้น ทั้งยังเล่าเรื่องราวของพระองค์ต่อไปได้อีกหลายตอน 

มาถึงเรื่องของป่า ที่ผมยกมาเล่าก็เป็นเพียงแค่เรื่องราวเล็กที่ได้ไปสัมผัสป่าในภาคเหนือจากการไปทำฝายแม้ว ได้เห็นป่าที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ หนาแน่น จนได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ท่านหนึ่งว่า ป่าที่คุณเห็นคือป่าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ปลูกเสริม เนื่องจากพระองค์ทรงทอดพระเนตรเมื่อทรงพระราชดำเนินผ่านทางอากาศโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ทรงเห็นว่าเขาตรงบริเวณนั้นหัวโล้น ทั้งยังแห้งแล้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียงครู่เดียวเท่านั้นที่พระองค์ทรงบินผ่าน ทรงจำได้และทรงมีพระราชดำริให้ร่วมมือกันของแต่ละหน่วยงานในพื้นที่ปลูกต้นไม้สายพันธุ์เดียวกับป่าในพื้นที่เสริมและปล่อยให้ธรรมชาติทำหน้าที่ของมันในการฟื้นฟูตนเอง โดยหลังจากปลูกเสริมพื้นที่บริเวณนั้น พร้อมกับปล่อยให้ป่าได้ฟื้นฟูสุดท้ายจากป่าบนภูเขาหัวโล้นก็กลับมาเป็นป่าสมบูรณ์อีกครั้ง อีกทั้งพระองค์ท่านยังทรงสำทับด้วยประโยคสำคัญว่า 
“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” ซึ่งปัจจุบันนี้หลายคนคงหลงลืมไปแล้ว จนเกิดเหตุการณ์อุทกภัยดินโคลนถล่มเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ 

เรื่องถัดมาที่ผมยกมาเล่าก็คือเรื่องของ 'น้ำ' จากพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ว่า 'น้ำคือชีวิต หากไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้' เป็นภาคต่อจากเรื่องของป่า จากแนวพระราชดำริว่าการทำลายป่าในพื้นที่ต้นน้ำจำนวนมากเป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้ง ก่อให้เกิดภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เมื่อมีป่า จึงก่อให้เกิดน้ำ และการจัดการน้ำคือโอกาสในการมีกิน มีใช้ ของประชาชน ผมก็ยกเรื่องราวในการไปโครงการหลวงและศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ การไปพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา และการไปทำฝายแม้วในอีกหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตอนแรกผมไม่เชื่อว่าฝายเล็ก ๆ จะสร้างผลอะไรให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ หรือทางน้ำอะไรได้ แต่เมื่อได้ลงมือทำแล้วกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกเพียง 1 ปีให้หลัง ก็ได้พบกับการเปลี่ยนแปลงของหน้าดิน ทางน้ำ ต้นไม้ จนต้องมาเล่าให้กับชาว THE STATES TIMES ฟัง ว่าสิ่งเล็ก ๆ ที่เราได้มีส่วนร่วม ตามแนวพระราชดำริมันสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศให้กับป่าได้จริง และเมื่อเราได้รู้จักการชะลอน้ำจนเกิดป่า เมื่อถึงหน้าแล้งเราก็ยังมีน้ำ เมื่อเข้าหน้าฝนเราก็จะไม่เจอน้ำหลาก นี่คือสิ่งเล็ก ๆ ที่สร้างประโยชน์มหาศาล 

เรื่อง 'นักการเมืองให้ปลา พระราชาให้เบ็ด' เป็นหัวข้อที่ผมยกขึ้นมาหลังจากได้เห็นภาพหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งบันทึกอยู่ใน ‘สมุดภาพโครงการตามพระราชดำริ’ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 ก็เลยไปลองหาข้อมูลต่อ โดยเฉพาะความสนใจเรื่องของ ‘ที่ดินทำกิน’ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุคแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนไทย อันมีเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก และเป็นเรื่องหลักที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานให้เป็นมรดกของปวงชนชาวไทย โดยนับเนื่องมาตั้งแต่ปี 2507 จากโครงการเริ่มต้น 10,000 ไร่ ในจ.เพชรบุรีไปสู่ที่ดินทำกินหลายแสนไร่ทั่วประเทศ เกี่ยวเนื่องพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องที่ดินนี้ ผมขอยกบทความของท่านอดีตประธานองคมนตรี ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เรื่อง ‘พระบารมีคุ้มเกล้าฯ’ ในหนังสือ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี’ โดยมีใจความบางส่วนบางตอนที่เล่าเรื่อง ‘การปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกิน’ ความว่า...

“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการณ์ไกลในอนาคตว่า ยิ่งนานวันชาวไร่ชาวนาจะยิ่งไม่มีที่ดินทำกิน เพราะความยากจนของเขาเหล่านี้ พวกที่เคยมีที่ดินต้องยอมสูญเสียกรรมสิทธิ์ให้แก่นายทุน และกลายมาเป็นผู้เช่าหรือไร้ที่ดินทำกินในที่สุด จึงมีพระราชดำริที่จะปฏิรูปที่ดินทำกิน เพื่อช่วยราษฎรที่ยากจนให้มีที่ดินทำกินตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยทรงดำเนินโครงการเป็นแบบอย่างเริ่มจาก ‘โครงการจัดสรรและพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง’ 

เรื่องต่อไปที่ผมประทับใจและอยากยกขึ้นมาอีก 1 เรื่องก็คือเรื่องของ 'ต้นกาแฟ' 2 – 3 ต้น โดยเรื่องราวนี้เกิดขึ้นหลังจากก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวงในปี 2512 ด้วยพระราชปณิธานของพระองค์ที่จะช่วย 'ชาวไทยภูเขา' ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ในปี 2517 พระองค์ได้เสด็จ ฯ หมู่บ้านหนองหล่ม ในพื้นที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ แล้วผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นคือ 'ปู่พะโย่' ได้ทูลเกล้า ฯ ถวาย เมล็ดกาแฟที่ได้พันธุ์มาจาก UN จำนวน 1 กิโลกรัม ซึ่งมาจากต้นกาแฟ 2 – 3 ต้น พระองค์ทรงสนใจว่าต้นกาแฟที่ว่าอยู่ตรงไหน จึงได้เสด็จ ฯ ด้วยรถยนต์พระที่นั่ง ต่อด้วยการทรงม้าที่เพื่อไปทอดพระเนตรต้นกาแฟที่ปลูกไว้เหนือหมู่บ้าน พระองค์ทอดพระเนตรแล้วก็ได้ตรัสว่า "จะกลับมาช่วยอีกครั้ง" จนมาปี 2518 พระองค์ทรงกลับไปที่หมู่บ้านแห่งนี้พร้อมเมล็ดพันธุ์กาแฟ 'อาราบิก้า' เพื่อส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาได้ปลูก จนเป็นที่มาของ 'กาแฟโครงการหลวง' จากดอยสูง กาแฟพันธุ์ดีที่ส่งขายไปสู่มูลนิธิโครงการหลวงและบริษัทกาแฟชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ 

เรื่องราวที่ผมยกขึ้นมานี้ เป็นเรื่องราวแห่งความประทับใจที่ผมเล่าไปพร้อมรอยยิ้มและน้ำตา ในช่องทางของ THE STATES TIMES ซึ่งเรื่องที่เล่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวของโครงการต่าง ๆ หลายพันโครงการ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนของพระองค์ 

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

‘รามัญประเทศ’ จาก ‘สุธรรมวดี’ สู่ ‘หงสาวดี’ ร่องรอยอาณาจักรสำคัญสู่ชนกลุ่มน้อยแห่งสุวรรณภูมิ

'มอญ' เป็นชนชาติเก่าแก่ ที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมากชนชาติหนึ่ง จากพงศาวดารพม่ากล่าวว่า "มอญเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่ากินเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล" โดยอาณาจักรเริ่มแรกของมอญ มีตำนานกล่าวว่าเริ่มต้นขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย แถบแคว้นมณีปุระ โดย 'พระเจ้าติสสะ' มีเมืองหลวงชื่อ 'ทูปินะ' 

ต่อมาในราวปี พ.ศ. 241 เกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้น พระโอรสของพระเจ้าติสสะ 2 พระองค์จึงรวบรวมไพร่พลอพยพลงเรือสำเภามาถึงยังบริเวณอ่าวเมาะตะมะซึ่งเป็นที่ราบ ล้อมรอบด้วยภูเขาเกลาสะ ชัยภูมิเหมาะสมแก่การสร้างเมืองและเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันข้าศึกได้ดี จึงลงหลักปักฐานสร้างเมืองใหม่จนรุ่งเรืองด้วยการค้าขาย และมีสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเทศอินเดียและลังกา ทั้งรับเอาอารยธรรมของอินเดียมาใช้ ทั้งทางด้านอักษรศาสตร์และศาสนา 

ซึ่งความเจริญนั้นกระจายตัวอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสะโตง ครอบคลุมเมืองสะเทิม หรือ สุธรรมวดี เมืองเมาะตะมะ และเมืองพะโค หรือหงสาวดี โดยเมืองทั้ง 3 นี้ มีความเจริญก่อตัวเป็นรูปธรรมไล่เลี่ยกับอาณาจักรทวาราวดี ทางฝั่งไทย แต่ทั้ง 3 เมือง ต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน ซึ่งบริเวณนี้ในเอกสารของจีนและอินเดียเรียกว่า 'ดินแดนสุวรรณภูมิ' 

ก่อนที่ 'พระเจ้าสีหะราชา' บุตรบุญธรรมของพระราชโอรสในพระเจ้าติสสะ ได้สถาปนาอาณาจักรมอญขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีชื่อว่า 'อาณาจักรสุธรรมวดี' หรือ 'อาณาจักรสะเทิม' จากจารึกกัลยาณี กล่าวว่า มีเมืองหลวงอยู่ ณ ตีนเขาเกลาสะ ทางใต้ของเมืองสะเทิมมีพระเจดีย์ชเวซายัน บรรจุพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 ในกัลป์นี้ รวมถึงองค์ที่พระควัมปตินำมาจากลังกา ซึ่งอาณาจักรแห่งนี้มีความเจริญทั้งในด้านการค้าขาย ด้านการเกษตร ด้านการชลประทาน และด้านศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งทั้งคนมอญและคนพม่าเชื่อว่า พระโสณะ พระอุตตระ ได้นำพระพุทธศาสนามาประกาศที่สุวรรณภูมิ สุวรรณภูมิที่ว่าก็คือ 'สะเทิม' หรือ 'สุธรรมวดี' อันมีพื้นที่ครอบคลุมจากสะเทิมไปจรดอาณาจักรทวาราวดี 

'อาณาจักรสุธรรมวดี' หรือ 'อาณาจักรสะเทิม' ถือได้ว่าเป็น 'รามัญประเทศ' ยุคแรก มีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องมาถึง 59 พระองค์ เริ่มจาก 'พระเจ้าสีหะราชา' มาจนล่มสลายในสมัยของ 'พระเจ้ามนูหะ' ราวปี พ.ศ.1600 สืบเนื่องมาจากการรุกราน 'พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1' ของเขมร ได้เข้ายึดครองลพบุรี ก่อให้เกิดการอพยพใหญ่ของมอญทวารวดีเข้าสู่หงสาวดีและสะเทิม จากนั้นพวกเขมรก็เลยคืบเข้ามา จนทำให้ 'พระเจ้ามนูหะ' ต้องไปขอความช่วยเหลือจาก 'พระเจ้าอโนรธา' แห่งอาณาจักรพุกามให้ยกทัพมาช่วยต้านทานกองทัพเขมร แต่ 'พระเจ้าอโนรธา' กลับฉวยโอกาสยึดครองอาณาจักรสะเทิม โดยปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า “พระองค์รับสั่งให้ยกทัพมายังกรุงสะเทิม นำพระไตรปิฎก นักปราชญ์ราชบัณฑิต ช่างศิลป์ และจับตัวพระเจ้ามนูหะกษัตริย์แห่งกรุงสะเทิมพร้อมด้วยพระมเหสีกลับไปพุกาม เมื่อยึดได้แล้วก็ถือโอกาสขยายอำนาจเข้ามาจนถึงลพบุรี ทั้งนี้ภายหลังพม่ายอมคืนลพบุรีให้เขมร โดยมีข้อแม้ว่าเขมรต้องยอมรับอำนาจเหนือดินแดนที่พม่าตีได้” 

ยุคที่สองของ 'รามัญประเทศ' คือยุค 'ราชวงศ์เมาะตะมะ-หงสาวดี' หรือ 'ยุคอาณาจักรหงสาวดี' เมื่ออาณาจักรพุกามอ่อนแอลงจากการรุกรานของมองโกล พระเจ้าฟ้ารั่ว (มะกะโท) ได้ทรงกอบกู้เอกราชมอญจากพุกามและสถาปนา 'อาณาจักรหงสาวดี' มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมาะตะมะ อีกทั้งยังมีพันธมิตรที่เข้มแข็ง เพราะพระองค์มีมเหสีเป็นราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหง แห่งสุโขทัยซึ่งเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เป็นอย่างมากในเวลานั้น 

ต่อมาในสมัย 'พญาอู่' ได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ เมืองพะโคหรือหงสาวดี มาจนถึงยุคราชบุตรของพระองค์คือ 'พระเจ้าราชาธิราช' พงสาวดีในยุคของพระองค์ประสบภาวะสงครามเกือบตลอดรัชสมัย โดยเฉพาะกับ 'อาณาจักรอังวะ' ในสมัยของ 'พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง' แต่พระเจ้าราชาธิราชทรงใช้พระราโชบายยุยงให้อังวะกับรัฐต่าง ๆ แตกกัน จึงสามารถป้องกันอาณาจักรไว้ได้ โดยในสมัยของ 'พระเจ้าราชาธิราช' นั้น แม้จะมีสงครามเกือบตลอดเวลา แต่อาณาจักรหงสาวดีก็เป็นอาณาจักรที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ครอบคลุมตั้งแต่ชายฝั่งทะเลอ่าวเบงกอลจากแม่น้ำอิรวดี ไปจรดทางตะวันออกที่แม่น้ำสาละวิน 

อาณาจักรมอญยุคนี้มาเจริญสูงสุดในสมัยของ 'พระนางเชงสอบู' ต่อด้วยสมัย 'พระเจ้าธรรมเจดีย์' เนื่องจากในระยะนั้นพม่าตกอยู่ในภาวะสงครามภายใน ทำการสู้รบกันเอง มอญจึงมีโอกาสในการทะนุบำรุงประเทศอย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือ กิจการในพุทธศาสนา ได้แก่ การบูรณะองค์พระเจดีย์ชเวดากอง การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 และเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่ใหญ่โต มีเมืองท่าที่สำคัญหลายแห่งในหลายลุ่มน้ำ เช่น เมาะตะมะ สะโตง พะโค พะสิม 

มอญในยุคหงสาวดีต้องสิ้นสุดลงในสมัยของ 'พระเจ้าสการะวุตพี' เพราะถูกพม่าแห่ง 'ราชวงศ์ตองอู' นำโดย 'พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้' และขุนศึกคู่พระทัยอย่าง 'บุเรงนอง' บุกประชิดถึง 3 ครั้ง จนขาดกำลังในการต้านทาน อีกทั้งพันธมิตรอย่าง 'สอพินยา' เจ้าเมืองเมาะตะมะ ที่เป็นพี่เขยของ 'พระเจ้าสการะวุตพี' ก็แข็งเมืองไม่นำกำลังมาช่วย (ก่อนที่ 'สอพินยา' จะโดนกองทัพตองอูสังหารในเวลาต่อมา)  หงสาวดีจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่าใน พ.ศ. 2082 โดยพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ได้รวมมอญกับพม่าเข้าเป็นชาติเดียวกัน ด้วยการรับอารยธรรมต่าง ๆ ของมอญมาใช้ในราชสำนักพม่า ให้ชาวมอญเข้ารับราชการในตำแหน่งหน้าที่สำคัญ ๆ ของกองทัพ รวมทั้งย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงหงสาวดี 

ยุคที่สาม 'ยุคอาณาจักรหงสาวดีใหม่' หลังจากสมัยของ 'พระเจ้าบุเรงนอง' แห่งราชวงศ์ตองอู ชาวมอญไม่สามารถทนการกดขี่ข่มเหงจากพม่าได้อีก จึงได้เกิดกบฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปลายราชวงศ์ตองอู ขณะที่พม่าต้องทำสงครามทั้งกับจีนฮ่อและไทย มอญได้ถือโอกาสรวบรวมกำลังพลก่อการโดยมีผู้นำคือ 'สมิงทอพุทธิเกษ' (หรือพุทธิกิตติ) กู้เอกราชคืนมาจากพม่าพร้อมประกาศอิสรภาพในปีพ.ศ. 2283 ก่อนจะยกทัพไปตีเมืองอังวะเพื่อทำลายล้างอาณาจักรพม่าที่อังวะซึ่งกำลังอ่อนแอให้สิ้นซากแต่ทำไม่สำเร็จแต่ก็ได้ยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้ของพม่าไว้ได้ทั้งหมด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2290 'พญาทะละ' ได้ยึดอำนาจสมิงทอพุทธิเกษ พร้อมทั้งได้ขยายอาณาเขตของหงสาวดีออกไปอย่างกว้างขวาง สามารถยึดพม่าตอนบนได้ใน พ.ศ. 2294 บุกเข้ายึดอังวะได้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2294 เชื้อพระวงศ์อังวะถูกจับไปพะโค ซึ่งดูเหมือนว่ามอญกำลังจะรวมพม่าเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิมอญได้สำเร็จ แต่ความประมาทอย่างหนึ่งที่กลายเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของหงสาวดี อันเป็นปัจจัยทำให้พม่าสามารถพลิกฟื้นและตีกลับได้ก็คือการรีบยกทัพกลับพะโคหลังจากได้ชัยชนะ โดยทิ้งกองทัพไว้เพียงสามกองทัพเพื่อต้านการลุกฮือของพม่า 

จากความผิดพลาดที่กล่าวมา ทำให้หัวหน้าหมู่บ้านชเวโบ (หรือมุกโชโบ) ชื่อ 'อองไชยะ' กล้าที่จะนำสมัครพรรคพวกเข้าตีกองทหารมอญที่ 'พญาทะละ' ทิ้งไว้จนแตกยับเยิน และแม้พญาทะละจะส่งกองทัพมอญไปสู้อีกกี่ครั้งก็ถูกต้านทานและได้รับความเสียหายกลับมาทุกครั้ง อีกทั้งทัพพม่าก็ได้ขยายตัวขึ้นเป็นกองทัพขนาดใหญ่และเข้มแข็ง เข้ารุกคืบ ยึดพื้นที่ตอนเหนือคืนไว้ได้เป็นส่วนมาก จากนั้น 'อองไชยะ' จึงได้สถาปนาราชวงศ์พม่าขึ้นใหม่คือ 'ราชวงศ์โก้นบอง' (คองบอง) พร้อมกับสถาปนาตนเองเป็น 'พระเจ้าอลองพญา' เพื่อนำพม่าต่อสู้กับมอญ 

เมื่อตีเท่าไหร่ก็ไม่แตก ทางทัพมอญจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีป้องกันเขตแดน โดยพยายามยึดพื้นที่ทางใต้เพื่อแสดงความเป็น 'รามัญประเทศ' ไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้งยังออกกฎต่าง ๆ เพื่อให้ไม่มีความเป็นพม่าอยู่ในพื้นที่ ทั้งประหารเจ้านายพม่าข้างอังวะ และเชื้อพระวงศ์ตองอูจนหมดสิ้น ทั้งยังบังคับให้พม่าทางใต้แต่งกายให้เป็นมอญทั้งหมด 

แต่เพียงแค่การป้องกันคงไม่เป็นผล เพราะในปี พ.ศ. 2295 พระเจ้าอลองพญา นอกจากจะยึดพม่าตอนบนไว้ได้ทั้งหมดแล้ว ยังรุกคืบมาลงมายังพม่าทางใต้เรื่อย ๆ จนถึง ปี พ.ศ. 2300 อาณาจักรมอญก็ได้ปิดฉากลง โดยมี 'พญาทะละ' เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของมอญ เพราะมอญต้องพ่ายแพ้อังวะอย่างราบคาบ จนคนมอญต้องอพยพหนีตายไปทั่วสารทิศ ในการณ์นี้ 'พระเจ้าอลองพญา' ได้แสดงสัญลักษณ์แห่งชัยชนะเหนือมอญ โดยการเปลี่ยนชื่อ 'เมืองพะโค' จาก 'พะโค' ไปเป็น 'ย่างกุ้ง' ซึ่งแปลว่า 'สิ้นสุดสงคราม' ทำให้ 'รามัญประเทศ' ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวมอญกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า โดยไม่มีโอกาสฟื้นตัวได้อีกจนกระทั่งปัจจุบัน 

ประหาร 5 ยุวกษัตริย์ เส้นทางครองอำนาจสีโลหิต สู่การเถลิงราชบัลลังก์สมัยกรุงศรีอยุธยา

ถ้าใครได้ชมซีรี่ส์เรื่อง 'แม่หยัว' ในตอนแรก จะปรากฏฉากการประหารยุวกษัตริย์พระองค์หนึ่งด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา และการประหารยุวกษัตริย์ที่เราได้เห็นนั้นไม่ใช่แค่พระองค์เดียว แต่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นรวม 5 ครั้ง ตลอด 200 กว่าปีแห่งความเป็นราชธานีของกรุงศรีอยุธยา มีพระองค์ใดบ้าง ? และเหตุแห่งการประหารเกิดขึ้นเพราะอะไร ? ผมเรียบเรียงมาให้อ่านกันดังนี้ครับ 

ยุวกษัตริย์พระองค์แรกแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์คือ 'สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์' หรือ 'สมเด็จพระเจ้าทองลัน'พระราชโอรสใน 'สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1' หรือ 'ขุนหลวงพะงั่ว' กษัตริย์พระองค์แรกจากวงศ์สุพรรณภูมิและพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์เป็นพระมาตุลาของ 'สมเด็จพระราเมศวร' พระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาอยู่ราว 1 ปี 'ขุนหลวงพะงั่ว' จึงเสด็จ ฯ มาถึงกรุงศรี ฯ (น่าจะยกกองทัพมาด้วยเพื่อทวงราชบัลลังก์) ด้วยความเกรงในพระราชอำนาจ 'สมเด็จพระราเมศวร' จึงถวายพระราชบัลลังก์ให้กับพระมาตุลาของพระองค์ส่วนพระองค์ก็เสด็จฯ กลับลพบุรี โดย 'สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1' หรือ 'ขุนหลวงพะงั่ว' ครองบัลลังก์อยู่ 18 ปี ก็สวรรคต บรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญ 'สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์' องค์รัชทายาทขึ้นครองราชย์สืบต่อในปี พ.ศ 1931 แต่ผ่านไปเพียงแค่ 7 วันเท่านั้น 'สมเด็จพระราเมศวร' ก็ทรงยกกองกำลังมาจากลพบุรี แล้วเข้ายึดอำนาจอย่างเสร็จสรรพ ตามสิทธิธรรมที่พระราชบัลลังก์นี้ เป็นของพระองค์มาก่อน โดยพระองค์รับสั่งให้กุมตัว 'สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์' ยุวกษัตริย์วัย 15 พรรษา ไปสำเร็จโทษ ณ วัดโคกพระยา ซึ่งพงศาวดารบันทึกไว้ว่า 

“สมเด็จพระราเมศวรเสด็จฯ ลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในพระราชวังได้ กุมเอาเจ้าทองจันทร์ได้ ให้พิฆาตเสียวัดโคกพระยา แล้วพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ” 

ยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 2 ที่ทรงตกเป็นเหยื่อแห่งการช่วงชิงราชบัลลังก์ก็คือ 'สมเด็จพระรัษฎาราช' ผู้มีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสใน 'สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4' หรือ 'สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร' ซึ่งทรงครองราชย์อยู่เพียง 4 ปี ก็สวรรคตด้วยไข้ทรพิษในปี พ.ศ. 2076 และไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ บรรดาขุนนางได้สนับสนุนให้ 'สมเด็จพระรัษฎาราช' ขึ้นครองราชย์ ซึ่งในเหล่าขุนนางทั้งหลายนั้น เชื่อกันว่ามีโต้โผใหญ่ที่อาจจะมีศักดิ์เป็น 'ตา' ของ 'สมเด็จพระรัษฎาราช' เป็นผู้ผลักดัน เพียงเพราะอยากได้อำนาจผ่านหลาน โดยมองข้าม 'พระไชยราชา' พระอนุชาของสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรอันเกิดจากพระสนม ผู้ครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งเรื่องราวก็เป็นไปตามคาดเวลาผ่านไปเพียงไม่เกิน 5 เดือน 'พระไชยราชา' ก็ยกทัพมายึดกรุงศรีอยุธยา พร้อมกับกุมตัว 'สมเด็จพระรัษฎาราช' ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ณ วัดโคกพระยา ซึ่งเป็นฉากที่เราได้เห็นในซีรี่ย์เรื่อง 'แม่หยัว' นั่นเอง จากนั้นพระไชยราชาก็ปราบดาภิเษกเป็น 'สมเด็จพระไชยราชาธิราช' 

แต่ทว่าเหมือนกรรมจะตาม 'สมเด็จพระไชยราชาธิราช' ทัน เพราะยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 3 ที่ต้องเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งการแย่งชิงอำนาจนั้นก็คือ 'สมเด็จพระยอดฟ้า' หรือ 'สมเด็จพระแก้วฟ้า' พระราชโอรสของ 'สมเด็จพระไชยราชาธิราช' กับ แม่อยู่หัว (แม่หยัว) ศรีสุดาจันทร์ นั่นเอง โดย 'สมเด็จพระยอดฟ้า' ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาของพระองค์ในปี พ.ศ. 2089 ในขณะที่ทรงมีพระชนมายุ 11 พรรษา ซึ่งอำนาจที่แท้จริงนั้นไม่น่าจะเป็นของพระองค์เพราะในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกว่า 

"นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ผู้เป็นสมเด็จพระชนนีช่วยทำนุบำรุงประคองราชการแผ่นดิน การเมืองยามนั้นยังวุ่นวาย พระเฑียรราชา เชื้อพระวงศ์ฝ่ายสมเด็จพระไชยราชาธิราช น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการประคับประคองราชการแผ่นดินได้ แต่กลับเกรงราชภัย หนีไปผนวชที่วัดราชประดิษฐาน ตำบลท่าทราย ในกรุงศรีอยุธยา ตลอดรัชกาลสมเด็จพระยอดฟ้า.....” 

นั่นก็คืออำนาจทั้งหมดอยู่ที่ 'แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์' ซึ่งพระองค์มีเรื่องลับลมคมนัยอยู่กับ 'ขุนวรวงศา' และเรื่องกำลังแดงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปฏิปักษ์บางกลุ่มก็กำจัดได้ บางกลุ่มก็ยังคงเป็นเสี้ยนหนาม และถ้า 'สมเด็จพระยอดฟ้า' ทรงเติบใหญ่จนคุมไม่ได้การณ์ข้างหน้าก็จะเป็นภัย ทำให้ 'แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์' ออกอุบายดำเนินการรุกฆาตด้วยการเอา 'ขุนวรวงศา' ขึ้นเป็นกษัตริย์ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ว่า

“....จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสปรึกษาด้วยหมู่มุขมนตรีทั้งปวงว่า พระยอดฟ้าโอรสเรายังเยาว์นัก สาละวนแต่จะเล่น จะว่าราชการแผ่นดินนั้น เห็นเหลือสติปัญญานัก อนึ่งหัวเมืองฝ่ายเหนือเล่าก็ยังมิปกติ จะไว้ใจแต่ราชการมิได้ เราคิดจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดิน กว่าราชบุตรเราจะจำเริญวัยขึ้น จะเห็นเป็นประการใด ท้าวพระยามุขมนตรีรู้พระอัชฌาสัยก็ทูลว่า ซึ่งตรัสโปรดมานี้ก็ควรอยู่....” 

ซึ่งแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ก็รวบรัดตัดตอนตั้งพระราชพิธีราชาภิเษก ยกขุนวรวงศาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินจากนั้นก็ดำเนินการสำเร็จโทษ 'สมเด็จพระยอดฟ้า' โดยมีบันทึกไว้ว่า

“ครั้นศักราช 891 ปีฉลู เอกศก (พ.ศ.2072) ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ขุนวรวงศาธิราชเจ้าแผ่นดิน คิดกันกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ให้เอาพระยอดฟ้าไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดโคกพระยา แต่พระศรีศิลป์น้องชายพระชนม์ได้เจ็ดพรรษานั้นเลี้ยงไว้ สมเด็จพระยอดฟ้าอยู่ในราชสมบัติปีกับสองเดือน” 

ต่อมาอีกราวเกือบ 100 ปี ยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 4 ที่ต้องมีชะตากรรมถูกสำเร็จโทษก็คือ 'สมเด็จพระเชษฐาธิราช' หรือ 'สมเด็จพระบรมราชาที่ 2' พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน 'สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม' ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษาเศษ โดยพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ด้วยการสนับสนุนจาก “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” ขุนนางสำคัญตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่าท่านออกญาฯ คือโอรสลับของ 'สมเด็จพระเอกาทศรถ' ซึ่งในกาลต่อมาท่านออกญาฯ ก็ยึดอำนาจขึ้นครองราชย์เป็น 'สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง'

จุดหักเหของ 'สมเด็จพระเชษฐาธิราช' เกิดขึ้นเมื่อพระองค์ทรงครองราชย์ผ่านไปแล้ว 4 เดือน มารดาของ “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” ได้ถึงแก่กรรม จึงมีขุนนางน้อยใหญ่ไปช่วยงานกันมาก ครั้นเมื่อ “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” เสด็จ ฯ ขึ้นว่าราชการจึงทำให้มีขุนนางเข้าเฝ้าฯ เป็นจำนวนน้อย ด้วยความเยาว์หรืออย่างไรก็ไม่ทราบเมื่อมีขุนนางเพ็ดทูลว่า “ออกญากลาโหมคิดกบฏเป็นแน่แท้” พระองค์ก็ทรงเชื่อตามนั้น ก็เลยทรงรับสั่งให้ทหารขึ้นประจำป้อมล้อมวัง พร้อมรับสั่งให้ขุนมหามนตรีไปลวงออกญากลาโหม ว่าพระองค์รับสั่งให้เฝ้า ฯ แต่ฝั่งออกญา ฯ ได้ทราบแผนเสียก่อน จนออกปากว่า "เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้ว เราจะทำตามรับสั่ง" ว่าแล้วจึงยกกองกำลัง 3,000 นาย เข้ายึดวังหลวงพร้อมกับไล่ตามจับกุมตัว “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” ซึ่งเสด็จฯ หนีไปได้ที่ป่าโมกน้อย ก่อนกุมตัวพระองค์ไปสำเร็จโทษ โดย “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” ทรงครองราชย์อยู่ราว 1 ปีเศษ 

ยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 5 ซึ่งเป็นพระองค์สุดท้ายคือ “สมเด็จพระอาทิตยวงศ์” ทรงเป็นพระราชโอรสใน “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม” เป็นพระราชอนุชาของ “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบรมเชษฐาด้วยพระชนมายุเพียง 9 พรรษา ในปี พ.ศ. 2172 ด้วยพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ก็คงไม่ต่างจากเด็กทั่วไปที่ทรงเล่นสนุกไปตามประสา จนผ่านไปราว 30 กว่าวัน เหล่าขุนนางทั้งหลายต่างอดรนทนไม่ได้ จึงรวมตัวกันพร้อมด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปขอร้อง “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” ให้ขึ้นครองราชย์ เพื่อเห็นแก่อาณาประชาราษฎร์และสมณชีพราหมณ์ทั้งหลาย (ตรงนี้อยากให้อ่านเพลิน ๆ โดยผมแนะนำว่าควรหาเอกสารอื่นประกอบ เนื่องจากมีบางอย่างบ่งชี้ว่าอาจจะเป็นแผนการทางการเมืองของออกญาฯ มีชื่อท่านนั้น) เมื่อเป็นดังนี้ท่านออกญาฯ จึงไม่สามารถปฏิเสธการร้องขอได้ จึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” แล้วทรงถอด “สมเด็จพระอาทิตยวงศ์” ออกจากกษัตริย์ แต่ยังคงให้ทรงประทับอยู่ภายในพระราชวังหลวงกับพระนมพี่เลี้ยงก่อนที่ต่อมาจะถูกไล่ออกจากวัง ไปปลูกเรือนเสาไม้ไผ่ 2 ห้อง 2 หลัง อยู่ข้างวัดท่าทราย มีคนรับใช้ตักน้ำหุงข้าวให้ 2 คน เท่านั้น ถึงตรงนี้เดาได้เลยว่า “สมเด็จพระอาทิตยวงศ์” คงทำตัวไม่ถูก และคงจะทรงอึดอัดขัดข้องพระทัยมิใช่น้อย จนถึงปี พ.ศ. 2172 เมื่อ พระองค์เจริญพระชนมายุได้ 16 พรรษา จึงทรงเกิดทิฐิมานะขึ้น โดยพระองค์ทรงรวบรวมขุนนางที่ถูกออกจากราชการได้ราว 200 คน เป็นกองกำลังยกเข้าไปในวังเพื่อหมายจะยึดอำนาจคืน แต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ โดนทหารของ “ออกญากลาโหมสุริยวงศ์” หรือในขณะนั้นคือ “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” จับกุมได้จึงถูกนำตัวไปสำเร็จโทษเฉกเช่นเดียวกับพระบรมเชษฐาของพระองค์ 

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงสังเกตได้ว่าบรรดายุวกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ล้วนแล้วแต่ตกเป็นเหยื่อของการช่วงชิงอำนาจของผู้มากบารมีที่เข้มแข็งที่สุดในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งแน่นอนว่ายุวกษัตริย์ทั้งหลายแม่จะครองราชย์ตามโบราณราชประเพณี แต่กระนั้นก็คงไม่มีพลังใด ๆ พอที่จะปกป้องตนเอง จึงทำให้ต้องถูกสำเร็จโทษตกไปตามกัน ซึ่งการแย่งชิงอำนาจราชบัลลังก์ของกรุงศรีอยุธยานั่นเอง ที่เป็นปัจจัยให้ราชธานีแห่งนี้ ค่อย ๆ เสื่อมถอย อ่อนแอ จนถึงกาลล่มสลายในปี พ.ศ. 2310

‘พระยาประดิพัทธภูบาล’ ข้าราชการผู้ภักดี พระยายืนชิงช้าคนสุดท้าย ผู้ริเริ่มสารพันในสยาม

"พวกเกล้ากระหม่อมเป็นจีน ได้พระเจ้าแผ่นดินในพระราชวงศ์จักรีชุบเลี้ยง พระราชทานนามสกุล สุขสบายกันอยู่ในประเทศไทย ก็จะขอตอบแทนพระคุณในครั้งนี้ มันจะฆ่า ก็ไม่เสียดายชีวิต” 

ประโยคสำคัญจาก “มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) เมื่อครั้งที่ได้มาขอตามเสด็จฯ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” หลังจากที่พระองค์ทรงได้รับการปล่อยตัวจากคณะราษฎร โดยมีเงื่อนไขว่าพระองค์ต้องเสด็จฯ ออกจากสยาม ซึ่ง ณ ขณะนั้นพระองค์ยังไม่ทรงทราบว่าจะเสด็จฯ ไป ณ ที่ใด พระยาประดิพัทธฯ จึงได้ทูลกับพระองค์ว่า "ขอตามเสด็จฯ  จะขอพาไปอยู่บ้านของตระกูล ณ ระนอง ที่ปีนัง” โดยกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงตอบว่า "ทางคณะราษฎรประกาศว่า ใครมาติดต่อสนิทสนมกับพวกตระกูลบริพัตร จะถูกจับกุม ไต่สวนปลดออกจากตำแหน่งราชการ เจ้าคุณอย่ามากับฉันเลย” 

พระยาประดิพัทธฯ เป็นข้าราชการอีก ๑ ท่านที่แสดงให้เห็นชัดถึงความจงรักภักดี ไม่มีความเกรงกลัวคณะราษฎร ด้วยการเข้าเยี่ยมทูลกระหม่อมบริพัตรฯ อย่างสม่ำเสมอระหว่างที่พระองค์ถูกจับเป็นองค์ประกันของคณะราษฎร จนเมื่อพระองค์ได้รับการปล่อยตัว ก็ทูลฯ เชิญกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ไปพักอยู่บ้านของตระกูล ณ ระนอง ที่ปีนังจนได้ โดยพระองค์ไปประทับอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะย้ายไปประทับอยู่ที่บันดุง ประเทศอินโดนีเซียในเวลาต่อมา นอกจากเข้าเฝ้าฯ และทูลเชิญเสด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตแล้วนั้น พระยาประดิพัทธฯ ยังเดินทางไปเข้าเฝ้า ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่วัง หลังจากทราบข่าวว่าคณะราษฎรปล่อยตัวออกมา ทั้งยังไปเข้าเฝ้าฯ เจ้านายอีกหลายต่อหลายพระองค์ 

“มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) เป็นบุตรของ “พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี” (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง และสมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร เป็นหลานของ “พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี” (คอซู้เจียง ณ ระนอง) ชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓ ต้นสกุล ณ ระนอง “พระยาประดิพัทธภูบาล” เกิดที่เกาะปีนัง ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่ยังเด็ก จนเมื่อโตขึ้นพอจะสามารถศึกษาต่อ จึงได้กราบถวายบังคมลาไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษ โดยท่านเป็นคนไทยคนที่ ๒ ที่ได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ ก่อนจะกลับมารับราชการสนองพระเดชพระคุณล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ โดยเริ่มจากเป็นล่ามกิตติมศักดิ์ประจำสถานทูตลอนดอน ก่อนจะกลับมารับราชการในกระทรวงต่างประเทศ ทำหน้าที่สำคัญในฐานะผู้อำนวยการงานเสด็จฯ เยี่ยมเกาะลังกา จากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จฯ ไปยังยุโรปด้วยเป็นพิเศษในที่ “หลวงสุนทรโกษา” ได้ติดตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ ในราชการต่างประเทศเกือบทั่วโลก สามารถใช้ภาษาได้หลากหลายทั้ง ภาษาอังกฤษ มลายู และภาษาจีน 

ด้วยความรู้ด้านภาษา ทั้งยังจบเนติบัณฑิตจากอังกฤษ ทำให้เมื่อครั้งเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ในคดี “พระยอดเมืองขวาง” จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการ เพื่อร่วมว่าความในฐานะทนายแผ่นดิน  

ในรัชสมัยของ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๖ “พระยาประดิพัทธฯ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์ ปีนัง สหพันธรัฐมลายา ซึ่งท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปฏิบัติหน้าที่นี้ ซ่งท่านก็ได้รับหน้าที่ทั้งยังประสานงานทั่วทิศ ทั้งในส่วนของรัฐต่าง ๆ ทั้งกลันตัน ตรังกานู ที่เคยอยู่ในอาณัติของสยาม นอกจากดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ท่านยังเชื่อมต่อการค้าขาย ก่อให้เกิดเศรษฐกิจอันดีต่อภาคใต้ของสยามเรื่อยมา 

ต่อมาในรัชสมัย ของ“พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๗ เมื่อท่านได้กลับมารับราชการในสยาม ท่านได้รับเกียรติให้เป็น “พระยายืนชิงช้า” ในพระราชพิธีตรียัมปวายในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ซึ่งเป็นพระยายืนชิงช้าคนสุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เหตุเพราะรัชกาลที่ ๗ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชประเพณีนี้ เพราะในขณะนั้นสภาพบ้านเมืองประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการจัดพิธีนี้ในแต่ละครั้งก็ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศจำเป็นต้องประหยัดงบประมาณแผ่นดิน จึงทรงเห็นสมควรให้ยกเลิกพระราชพิธีตรียัมปวาย "โล้ชิงช้า" ตั้งแต่นั้น ตราบจนปัจจุบัน 

นอกจากเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์แล้ว ชื่อของ “มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) ยังปรากฏไปอีกหลายแห่ง สืบเนื่องจากคุณงามความดีที่ท่านได้กระทำไว้ ซึ่งผมขอยกมาเล่าให้อ่านกันเพลิน ๆ โดยสังเขปดังนี้ 

ถนน “ประดิพัทธ์” ถนนที่มีความยาวประมาณ ๑.๘ กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างถนนพหลโยธินตรงแยกสะพานควายไปยังถนนพระรามที่ ๖ ตรงแยกสะพานแดง เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการขยายกิจการของกรมทหารและกิจการของราชการขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้กรมกองต่าง ๆ ต้องออกมาตั้งที่ทำการในบริเวณทุ่งสะพานควายและใกล้เคียง แต่ถนนที่จะเชื่อมต่อถนนหลักกับถนนหลักนั้นยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากที่ดินบางผืนมีเจ้าของและต้องทำการซื้อเพื่อเวนคืน เมื่อการณ์เป็นดังนี้ “พระยาประดิพัทธฯ” จึงได้มอบที่ดินส่วนตัวเป็นประเดิมเพื่อให้ใช้ตัดถนนเชื่อมต่อดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ ทางการจึงให้เกียรติโดยนำชื่อของท่านมาตั้งเป็นชื่อถนน เดิมถนนเส้นนี้ชื่อ “ถนนพระยาประดิพัทธ์” แต่กาลเวลาทำให้กร่อนไปเหลือแค่ราชทินนามของท่าน (แต่ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ พื้นที่ถนนเส้นนี้กลับกลายเป็นที่รวมกำลังพลของคณะก่อการไปเสียฉิบ) 

นอกจากถนน “ประดิพัทธ์” แล้ว พระยาประดิพัทธฯ ได้มอบที่ดินจำนวน ๒๗ ไร่ ๒ งาน ๘ วา  เป็นโฉนดที่ดินที่ ๕๘๓๖ สาระบาญเล่มที่ ๕๙  น่าที่ ๓๖ ตั้งอยู่ในตำบลคลองเตย  อำเภอพระโขนง  จังหวัดพระประแดงนครเขื่อนขันธ์ ให้เป็นสาธารณประโยชน์ในช่วงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ ๖ ที่ได้ตัดเป็นถนน “สุนทรโกษา” เดิมถนนเส้นนี้มีชื่อเต็ม ๆ ว่าถนน “หลวงสุนทรโกษา” ซึ่งราชทินนามของท่านเมื่อแรกรับราชการ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมศุลกากรในปัจจุบัน 

ที่ดินผืนนี้ในบริเวณใกล้กันยังได้ตัดเป็นทางเชื่อมแยก ที่เรียกกันว่าห้าแยก “ณ ระนอง” และถนน ณ ระนอง ซึ่งมีที่มาจากนามสกุลของท่าน โดยทั้งห้าแยกและถนนนี้อยู่ในพื้นที่คลองเตยเชื่อมต่อระหว่างถนนรัชดาภิเษก ถนนพระรามที่ ๓ ถนนสุนทรโกษา และถนน ณ ระนอง 

ที่สำคัญที่ดินผืนนี้ปัจจุบันนอกจากถนนที่ตัดผ่านและแยกดังกล่าวแล้วยังเป็นที่ตั้งของ “โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์” อีกด้วย 

“สวนสนประดิพัทธ์” ชื่อชายหาดแห่งนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับท่านโดยตรง เนื่องจากเป็นชื่อที่มาจาก “พันธุ์ต้นสน” ที่ท่านได้นำเข้ามาปลูกซึ่ง “สนประดิพัทธ์” นี้ เป็นสนใน “วงศ์สนทะเล” อันมีถิ่นกำเนิดในเกาะชวาและหมู่เกาะซุนดาน้อย ประเทศอินโดนีเซีย เหตุที่นำมาปลูกนั้นนอกจากความสวยงามแล้ว “ราก” ของสนพันธุ์นี้ เป็นปมคล้ายกับพืชตระกูลถั่ว ซึ่งช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน โดยการตรึงไนโตรเจนเช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่ว อีกทั้งยังพบว่ามีเส้นใยขนาดเล็กมากมายภายในปม และจุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนตํ่าทำให้สามารถปลูกอื่น ๆ แซมได้ โดยมีสนปกคลุมในฐานะพืชยืนต้น ลดการพังทลายของดินและดินถล่ม ไม่แปลกที่ตลอดหาดในอำเภอหัวหินจะมีทิวสนประดิพัทธ์ปลูกตลอดแนวของชายหาด ก็เพื่อป้องกันการพังทลายของดินนั่นเอง

นอกจาก “สนประดิพัทธ์” แล้ว “พระยาประดิพัทธภูบาล” ยังเป็นผู้นำ “ปาล์มน้ำมัน” อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยเข้ามาริเริ่มปลูกขึ้นในที่สถานีทดลองยางคอหงส์ จังหวัดสงขลา และที่สถานีกสิกรรมพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี โดยแรกเริ่มนั้นนำมาปลูกในฐานะพืชประดับเพื่อความสวยงาม จนกระทั่งประเทศใกล้เคียงอย่างมาเลเซียมีการปลูกปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างได้ผล ทางไทยจึงได้เริ่มศึกษาอย่างจริงจัง และเห็นว่าทางภาคใต้มีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับทางมาเลเซีย ประกอบกับต้นปาล์มน้ำมันที่นำเข้ามาก่อนหน้าเจริญเติบโตดี จึงได้มีการส่งเสริมปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างจริงจังในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยเริ่มที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล พื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ เป็นที่แรก 

มีข้อสังเกตว่าตระกูล “ณ ระนอง” ของท่าน “มหาอำมาตย์ตรีพระยาประดิพัทธภูบาล” (คอยู่เหล ณ ระนอง) นับเป็นตระกูลนักบุกเบิก ริเริ่ม ตัวจริง โดยเฉพาะการเพื่อต่อยอดด้านเศรษฐกิจ เช่น เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมแร่ดีบุก ตระกูลแรกในประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มนำ “ยางพารา” มาปลูกในสยาม ฯลฯ ด้วยอาจจะเป็นเพราะตระกูลนี้มีความตั้งใจ มีความขยันหมั่นเพียรเป็นที่ตั้ง จึงทำให้การงานรุ่งเรืองขึ้นได้อย่างเด่นชัดแม่จะเริ่มต้นตระกูลจากการเป็น “กรรมกร” ก่อนจะผันตัวมาเป็นพ่อค้าก็ตาม อีกทั้งยังเป็นตระกูลที่มีความสำนึกในบุญคุณแผ่นดิน มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้มีแต่ความเจริญอยู่ในตระกูลมาอย่างยาวนาน เฉกเช่นกับการแสดงถึงความจงรักภักดีของ “พระยาประดิพัทธภูบาล” ที่ไม่เกรงกลัวภัยใด ๆ จากคณะราษฎร ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตนหรือคนในตระกูลก็ตาม ซึ่งตรงนี้สามารถยืนยันได้ด้วยบันทึกของ “พระองค์เจ้าอินทุรัตนาบริพัตร” พระธิดาของทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ในเหตุทูลฯ เชิญเสด็จบ้าน ณ ระนอง ที่ปีนัง โดยทรงนิพนธ์ไว้ว่า

“สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” ได้ทรงมีพระดำรัสต่อพระยาประดิพัทธฯ ว่า “เจ้าคุณมากับเรา แต่พวกลูกหลานในตระกูล ณ ระนอง ยังอยู่ในเมืองไทยกัน เขาจะลำบาก ถูกกลั่นแกล้ง” 

“พระยาประดิพัทธภูบาล” ท่านตอบว่า "ใต้ฝ่าพระบาทไม่ต้องเป็นห่วง เกล้ากระหม่อมก่อนจะมานี่ ได้เรียกพวกคนในตระกูล ณ ระนอง มาประชุมบอกแล้วว่าจะตามเสด็จฯ  แล้วถ้าเขาจะมาแกล้งก็ทนรับ เขาจะมาฆ่าก็ยอมตายกัน ตอบแทนผู้มีพระคุณ" 

“พระยาประดิพัทธภูบาล” ถึงแก้อนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๙ ด้วยอายุสิริรวม ๙๖ ปี ขอกราบคารวะท่านสักหนึ่งคำรบ นี่ละครับ !!! ข้าราชการผู้ภักดีจากตระกูล ณ ระนอง

ช่วงเวลามาตรฐานแห่งสยามประเทศ พระอัจฉริยภาพของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔

ในช่วงหลายวันก่อนเพื่อนผมคนหนึ่งได้ส่งคลิปซึ่งตัดมาจากภาพยนตร์เรื่อง “ทวิภพ” ปี ๒๕๔๗ นำแสดงโดย “รังสิโรจน์ พันธุ์เพ็ง” และ “ฟลอเรนซ์ วนิดา เฟเวอร์” โดยฉากที่ตัดมานั้นคือการสนทนากันเรื่องของ “บางกอกมีนไทม์” (Bangkok Mean Time) ซึ่งกำหนดขึ้นจากการคำนวณของ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๔ เพื่อใช้เป็นการนับเวลามาตรฐานของสยาม ซึ่งในข้อนี้พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพทางการด้านคำนวณ ทางดาราศาสตร์ และภูมิศาสตร์ของพระองค์ ซึ่งการคำนวณเหล่านี้เชื่อมโยงไปถึงการคำนวณปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นที่ หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ ที่ทรงคำนวณไว้ได้อย่างเที่ยงตรง แต่ “บางกอกมีนไทม์” (Bangkok Mean Time) คืออะไร ? และเชื่อมโยงไปสู่ GMT หรือ Greenwich Mean Time หรือไม่ อย่างไร ? ค่อย ๆ ไล่เรียงอ่านกันไปเพลิน ๆ นะครับ 

เบื้องแรกสยามเรานั้นมีการนับเวลากันเป็นโมงยาม มีอุปกรณ์ท้องถิ่นทำจากะลามะพร้าวเจาะแล้วนำไปลอยน้ำเรียกกันว่า “นาฬิเก” ซึ่งตัวโอ่งน้ำและตัวกะลาจะมีการวัดขนาดเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ เมื่อจะใช้ก็เติมน้ำให้ได้ตามาตรวัดแล้วนำ “นาฬิเก” ไปลอย พอนาฬิเกมีน้ำเข้าเต็มแล้วจมลงก็จะถือว่าเป็น ๑ ชั่วโมง “นาฬิกา” ถ้าวัดกันในกลางวันคนวัดก็จะตี “ฆ้อง” เราก็จะได้ยินเสียงดัง “โมง” และแน่นอน !!! เมื่อวัดกันตอนกลางคืนก็จะตี “กลอง” เราก็จะได้ยินว่า “ทุ่ม” ซึ่งก็เป็นที่มาของหน่วยเรียกเวลาแบบของไทยเรา ซึ่งยังไม่เป็นมาตรฐานมากนัก (หอกลองหน้าเป็นยังไงไปชมกันได้ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง ตรงข้ามวัดโพธิ์ ส่วนตัวกลองไปชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๔ นั้น พระองค์ทรงเป็นนักศึกษาค้นคว้า ทรงสนพระทัยในด้านดาราศาสตร์ ทรงศึกษาตำราจากต่างประเทศทั้งจากฝั่งอังกฤษและอเมริกาได้อย่างทะลุปรุโปร่ง จนกระทั่งพระองค์ได้ทรงคำนวณการเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างสุริยุปราคาได้ล่วงหน้าถึง ๒ ปี จากการคำนวณในครั้งนั้นทำให้พระองค์ได้ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการ "สถาปนาเวลามาตรฐานประเทศไทย" โดยทรงวัดจุดเริ่มต้นจากตำบลกรีนิช ประเทศอังกฤษแล้วทรงวัดมาที่สยาม ทำไม ? ถึงต้องวัดจากกรีนิชประเทศอังกฤษ อันนี้มาจากตำราต่าง ๆ ที่ปรากฏในช่วงรัชสมัยของพระองค์นั้น เป็นตำราดาราศาสตร์ เพื่อการเดินเรือ (เนื่องจากเขาสังเกตดวงดาวในเวลาเดินเรือ) ทั้งตำราของอังกฤษเอง หรือจะเป็นตำราของอเมริกาก็ตาม จะอ้างอิงจากเมืองท่าของอังกฤษซึ่งถือว่าเป็นมหาอำนาจในขณะนั้น ในทุก ๆ ครั้งที่ผ่านหอนาฬิการิมท่าก็จะเทียบเวลา ไป - กลับ เข้า – ออก โดยทุกลำเรือมักจะมีนาฬิกาอยู่ ๒ เรือน คือเรือนใหญ่เป็นเวลาของกรีนิช เรือนเล็กเป็นเวลาที่ปรับตามท้องถิ่นของประเทศที่เดินทางไปติดต่อ ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ท่านทรงได้ศึกษาจนเข้าใจ ก่อนจะทรงคำนวณระยะห่างของชั่วโมงตามองศาที่เปลี่ยนไป จนได้เวลาของสยามที่ค่อนข้างแน่นอนตามที่พระองค์ได้ทรงอธิบายเอาไว้ใน “พระกระแสรับสั่งรัชกาลที่ ๔ เรื่องสุริยุปราคา เมื่อปีมะโรง พศ. ๒๔๑๑ ต้นฉบับของขุนวรจักรธรานุภาพ และตำราวัดพระอาทิตย์ของพระจอมเกล้า” ว่า 

"ลองติชูต" (Longitude) ๑๐๐ องศา ๓๐ ลิปดา ตะวันออก ห่างจาก "กรีนุวิศมินไตม์" (Greenich Mean Time ) อยู่ ๖ ชั่วโมง ๔๒ นาที 

แต่จริง ๆ แล้วนักวิชาการหลายท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่าในหลวงรัชกาลที่ ๔ นั้นพระองค์ไม่ได้วัดองศามาที่กรุงเทพ ฯ แต่เทียบวัดไปที่บริเวณจังหวัดเพชรบุรี (เขาวัง - พระนครคีรี) ไม่ใช่ที่กรุงเทพฯ เพราะการเทียบวัดครั้งนั้นเป็นไปเพื่อพยากรณ์การเกิดสุริยุปราคาเป็นหลัก ซึ่งตรงนี้ยังเป็นข้อถกเถียงที่อาจจะยังสรุปไม่เรียบร้อยนัก แต่อย่างไรก็ดี ณ เวลานั้น พระองค์ทรงให้กำเนิดเวลามาตรฐานประเทศไทย ก่อนนานาอารยประเทศ ๑๖ ปี 

จากการกำหนดเวลาดังกล่าวจึงเป็นเหตุสำคัญที่พระองค์ทรงมีรับสั่งให้สร้างหอนาฬิกาขึ้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระที่นั่งภูวดลทัศไนย” ขึ้นทางด้านเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม (เดิม) ตรงพุทธนิเวศน์ ในเขตพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งองค์นี้เป็นตึกสูง ๕ ชั้น ชั้นบนสุดติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่ทั้ง ๔ ด้าน มีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวง เพื่อทำหน้าที่บอกและรักษาเวลามาตรฐาน นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงกำหนดให้เส้นแวง ๑๐๐ องศา ๒๙ ลิปดา ๕๐ พิลิปดาตะวันออก เป็นเส้นแวงหลักผ่านพระที่นั่งภูวดลทัศไนย 

ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้มีเจ้าหน้าที่รักษาเวลามาตรฐาน ประจำหอนาฬิกาหลวง ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งงานทางวิทยาศาสตร์ไทยชุดแรกอันได้แก่ เจ้าหน้าที่เทียบเวลากลางวันจากดวงอาทิตย์ คือ ‘พันทิวาทิตย์’ และเจ้าหน้าที่เทียบเวลากลางคืนจากดวงจันทร์ คือ ‘พันพินิตจันทรา’ คอยสังเกตและบันทึกการเคลื่อนที่ผ่านของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่เส้นเมอริเดียนของ“พระที่นั่งภูวดลทัศไนย” สำหรับพระที่นั่งภูวดลทัศไนยนั้นต่อมาถูกรื้อลงในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อสร้างทิมดาบใหม่

นอกจากนี้รัชกาลที่ ๔ พระองค์ยังได้ทรงสังเกตดวงอาทิตย์บนท้องฟ้ามานานหลายปี ทรงพบว่า การขึ้น-ตก และแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในเดือนต่าง ๆ นั้น แตกต่างกัน ทำให้ที่หอนาฬิกาหลวงจึงมีการคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นรายวันทุกๆ วัน เพื่อตั้งปรับเวลาที่หอนาฬิกาหลวงตามที่ได้คำนวณไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เป็น เวลามาตรฐานกรุงเทพปานกลาง หรือที่เรียกว่า “บางกอกมีนไทม์” (Bangkok mean time) นั่นเอง

นอกจาก “พระที่นั่งภูวดลทัศไนย” รัชกาลที่ ๔ ยังโปรดเกล้าฯ ให้ “พระบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม” ทรงออกแบบสร้างหอนาฬิกาตรงมุขเด็จของพระที่นั่งจักรีอีกแห่งหนึ่ง แต่มิได้ระบุชื่อและปีที่สร้าง แต่เชื่อว่าพระองค์มีพระราชประสงค์จะให้ชาวเรือขึ้นล่องแม่น้ำเจ้าพระยามองเห็น และเทียบเวลาเดินเรือได้สะดวก ซึ่งพระองค์มีพระราชดำริเกี่ยวกับการสถาปนาระบบเวลามาตรฐาน ไว้ในบันทึกการประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ไว้ว่า

"...จะเป็นเหตุให้เขาหัวเราะเยาะเย้ยได้ว่าเมืองเรา ใช้เครื่องมือนับทุ่มโมง เวลาหยาบคายนักไม่สมควรเลย เพราะเหตุฉะนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพินิจพิจารณาตรวจตราคำนวณความดำเนินพระอาทิตย์ ให้ฤดูทั้งปวงสอบกับนาฬิกา ที่ดีมาหลายปีทรงทราบถ้วนถี่ทุกประการ แจ้งในพระราชหฤทัยแล้ว..."

ภายหลังใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้มีการประชุมสภาสากลอุทกนิยม ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อแบ่งภาคเวลา โดยกำหนดให้ตำบลกรีนิช เป็นจุดแรกของการกำเนิดเวลา ประเทศไทยจึงได้มีการกำหนดเวลามาตรฐานใหม่ จากเส้นแวงที่ ๑๐๐ ตะวันออก ซึ่งพาดผ่านพระบรมมหาราชวัง มาเป็นเส้นแวงที่ ๑๐๕ องศาตะวันออก จังหวัดอุบลราชธานี โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้ใช้อัตราเวลาทั่วราชอาณาจักรไทย เป็น ๗ ชั่วโมงก่อนเวลาที่กรีนิชตั้งแต่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓ นับตั้งแต่นั้น

“บางกอกมีนไทม์” (Bangkok mean time) เวลามาตรฐานของกรุงเทพฯ ที่เทียบจากมาตรฐานเวลาสากลของโลกที่ตำบลกรีนิช ประเทศอังกฤษ โดยวัดมุมในแผนที่ออกมาจากเมืองกรีนิชถึงกรุงเทพฯ ได้ที่ประมาณ ๑๐๐ องศา ๓๐ ลิปดา

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงคำนวณไว้ตั้งแต่ในปลายรัชสมัยของพระองค์คือ พ.ศ. ๒๔๑๑ ความแม่นยำของการคำนวณนี้ รวมไปถึงการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์นั้น ล้วนตรงตามเวลาที่พระองค์ท่านคำนวณไว้ทุกประการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านโดยแท้ 

หากวันนี้ท่านอยากจะเห็นหน้าตาของหอนาฬิกาที่ใกล้เคียงกับสมัยที่แรกสร้างนั้นท่านสามารถไปชมได้ที่ “หอนาฬิกาหลวงจำลอง” แถวถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง ตรงข้ามกับวัดโพธิ์ ซึ่งตัวนาฬิกาเดิมที่รื้อถอนลงในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงกลาโหม ส่วนหอนาฬิกาหลวงจำลองนั้นสร้างขึ้นในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี โดยยังคงรูปแบบเดิมไว้ แต่ย้ายตำแหน่งมาตั้งเคียงอยู่กับหอกลองที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยเช่นกัน ทั้งหมดออกแบบโดย ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา สถาปนิกระดับตำนาน ผู้เป็นโหลนของ “กรมขุนราชสีหวิกรม” ผู้สร้างหอนาฬิกาหลังเดิมในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั่นเอง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top